ผู้เขียน หัวข้อ: กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก :›››สมเด็จพระญาณสังวร  (อ่าน 1273 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก

›››สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมจิต ในเบื้องต้นขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

การปฏิบัติกรรมฐานนั้น จะต้องประกอบด้วยกายวิเวกความสงบสงัดทางกาย จิตตวิเวกความสงบสงัดจิตใจ และอุปธิวิเวกความสงบสงัดกิเลส กายวิเวกความสงบสงัดทางกายนั้น ก็หมายถึงจะต้องปลีกกายออกไปสู่ที่สงบสงัด ดังเช่นที่ตรัสสอนเอาไว้ในต้นสติปัฏฐาน ว่าไปสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือว่าเรือนว่าง แม้ว่าการมาสู่สถานที่นี้ อันเป็นที่ที่จัดไว้สำหรับปฏิบัติทางกรรมฐาน อันเป็นที่วิเวกคือสงบสงัด ก็ชื่อว่าเป็นการปลีกมาสู่ที่สงบสงัดได้

กายวิเวกในขั้นศีล
และอีกอย่างหนึ่งกายวิเวกนั้นก็หมายถึงศีล เช่นศีล ๕ เมื่อตั้งใจงดเว้นจากความประพฤติผิดศีล ๕ ก็เป็นการปลีกกรรมทางกายทางวาจา ให้สงบสงัดจากภัยเวรทั้งหลาย ศีลจึงเป็นเป็นกายวิเวก

เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะหาป่าไม่ได้ ไม่สะดวกที่จะไปอยู่โคนไม้หรือเรือนว่างอย่างอื่น ก็ให้ทำกายนี้แหละให้สงบสงัดจากภัยเวรด้วยศีล และทำกายนี้แหละให้ประกอบด้วยความสำรวมระวัง คือสำรวมกายสำรวมวาจา ดั่งที่ ทุกๆ คนพากันนั่งอยู่อย่างสงบสงัด ดั่งในบัดนี้ ก็ชื่อว่าทำกายวิเวกความสงบสงัดทางกาย และเมื่อได้กายวิเวกดั่งนี้ ก็เป็นที่ตั้งของจิตตวิเวกคือความสงบจิตใจ

จิตตวิเวกในขั้นสมาธิ
อันจิตตวิเวกคือสงบทางจิตใจนี้ ก็คือสงบจิตใจจากนิวรณ์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเครื่องกั้นจิตไว้ไม่ให้ได้สมาธิ ไม่ให้ได้ปัญญา ก็ได้แก่ทำจิตให้สงบสงัดจากกามฉันท์ ความยินดีพอใจในกามทั้งหลาย คือในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง ที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจทั้งหลาย ไม่ส่งใจไปในกามเหล่านี้ และก็สงบจากกิเลสกามคือตัวความใคร่ ความปรารถนาของจิตใจโดยตรง ทำจิตใจให้สงบ

และนอกจากสงบสงัดจากกามฉันท์แล้ว ก็สงบสงัดจากพยาบาท คือความกระทบกระทั่ง ขึ้งเคียดโกรธแค้นขัดเคือง มุ่งปองร้าย สงบสงัดจากถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม สงบสงัดจากความฟุ้งซ่านรำคาญใจ สงบสงัดจากความเคลือบแคลงสงสัยทั้งหลาย เมื่อจิตใจได้ความสงบสงัดดั่งนี้ ก็เป็นจิตตวิเวก

อุปธิวิเวกในขั้นปัญญา
อุปธิวิเวกความสงบสงัดกิเลสนั้น เมื่อกล่าวโดยส่วนรวม ก็คือสงบสงัดจากโลภโกรธหลง หรือราคะความติดใจยินดี โทสะความขัดเคืองประทุษร้ายใจตัวเอง โมหะความหลง สงบสงัดจากตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากไปต่างๆ ดิ้นรนทะยานอยากไปในกามบ้าง ในภพความเป็นนั่นเป็นนี่บ้าง ในวิภพความไม่เป็นนั่นเป็นนี่บ้าง

สงบสงัดจากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น โดยตรงก็คือความยึดมั่นถือมั่นในนามรูปนี้ ว่าเป็นตัวเราของเรา
ความสงบสงัดจากกิเลสดังกล่าวนี้ต้องใช้ปัญญาเป็นข้อสำคัญ ส่วนความสงบสงัดจิตใจที่เป็นจิตตวิเวกนั้น ใช้สมาธิเป็นข้อสำคัญ ความสงบสงัดทางกายที่เป็นกายวิเวกนั้น ต้องใช้ศีลเป็นข้อสำคัญ รวมความว่า ต้องปฏิบัติให้มีศีล ให้มีสมาธิ และให้มีปัญญาที่เป็นภาคพื้น อันจะเป็นเครื่องรองรับ สั่งสม การปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาที่ยิ่งขึ้นไป

จิตเที่ยวไปในอารมณ์
ในการปฏิบัติทั้งปวงนี้ ต้องอาศัยจิตใจ กับอารมณ์ เป็นหลักสำคัญ จิตใจนั้นก็คือธาตุรู้ ที่รู้อะไรๆ ได้ ไม่มีสรีระสัณฐาน ดังที่ทุกคนก็มีอยู่ด้วยกัน อารมณ์นั้นก็คือเรื่อง เรื่องที่จิตใจคิด เรื่องที่จิตใจรู้ เรื่องที่จิตใจครุ่นคิดถึง เหล่านี้เรียกว่าอารมณ์ และอาการที่จิตคิดนั้นเรียกว่าวิตกความตรึก หรือว่าเรียกคู่กันว่า วิตกความตรึก วิจารความตรอง วิตกคือความตรึกพร้อมทั้งวิจารคือความตรองนี้ เป็นที่เที่ยวไปของใจ จิตใจนี้เที่ยวไปด้วยวิตกคือความตรึกนึกคิดดังกล่าวนี้นั้นเอง

นิวรณ์เกี่ยวกับวิตกโดยตรง
เพราะฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาจึงได้มีสอน ให้มีสติที่จะตั้งกำหนดดูให้รู้จักวิตก คือความตรึกตรองของจิตใจ จะเป็นกามฉันท์ขึ้นมา ก็ต้องอาศัยวิตก ถ้าไม่มีวิตกคือความตรึกนึกคิดเสียเพียงอย่างเดียว กามฉันท์ก็ไม่เกิด จะเป็นพยาบาทขึ้นมาก็ต้องมีวิตก คือความตรึกนึกคิด ถ้าไม่มีความตรึกนึกคิด พยาบาทก็ไม่เกิด

จะมีถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มขึ้นมา ก็ทำให้วิตกคือความตรึกนึกคิดนี้ง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนั่นเอง คือถ้าไม่วิตกนึกคิดเพราะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ก็กลายเป็นถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ทำให้ความตรึกนึกคิดนี้ขาดช่วงเป็นระยะๆ ตามแต่ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนั้นจะเกิดขึ้นเพียงไร (เริ่ม ๑๙๔/๒) จะมีความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ก็เพราะมีวิตกคือความตรึกนึกคิด ถ้าไม่ตรึกนึกคิดเสีย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจก็ไม่เกิด จะมีวิจิกิจฉาคือความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ก็เพราะมีวิตกคือความตรึกนึกคิด ถ้าหากว่าไม่ตรึกนึกคิด วิจิกิจฉาคือความสงสัยก็ไม่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น บรรดานิวรณ์ทั้งหลายเหล่านี้ ๔ ข้อ เว้นแต่ข้อถีนมิทธะ เนื่องด้วยวิตกนึกคิดโดยตรง เพราะจิตวิตกคือตรึกนึกคิด จึงบังเกิดนิวรณ์ทั้ง ๔ ข้อเหล่านั้น แต่ว่าถ้าขาดวิตกนึกคิดเพราะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ก็เป็นนิวรณ์อีกข้อหนึ่งเหมือนกัน ก็ตกว่าโดยปรกตินั้น คนเราจะต้องเที่ยวไปกับวิตกคือความตรึกนึกคิด เว้นแต่เมื่อหลับ เมื่อตื่นอยู่ดั่งนี้ ก็ต้องมีความวิตกนึกคิด

ข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวแก่วิตก
วิธีปฏิบัติกับความวิตกนึกคิดนั้น ก็คือต้องมีสติ พร้อมกับทั้งสัมปชัญญะคือความรู้ตัว ถ้าวิตกนึกคิดไปในทางของนิวรณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นกิเลส ก็เป็นความตรึกนึกคิดที่ไม่ดี เป็นอกุศลวิตก แต่ถ้าเป็นไปในกรรมฐาน เป็นไปในเมตตากรุณา เป็นไปในกุศลกิริยา คือการทำบุญทั้งหลาย ก็เป็นวิตกนึกคิดที่ดี เป็นกุศลวิตก

เพราะฉะนั้น ในทางกรรมฐาน จึงต้องมีการปฏิบัติกับตัววิตก
คือความตรึกนึกคิดนี้เอง เป็นข้อสำคัญ นำอารมณ์เข้ามาสู่จิตใจ จิตใจท่องเที่ยวไปในอารมณ์ ก็ด้วยความวิตกนึกคิด และอารมณ์นี้ก็มี ๒ อย่าง คืออารมณ์ที่เป็นที่ตั้งของกิเลส เช่นนิวรณ์ทั้งปวง หรือรวมเป็นโลภโกรธหลง หรือราคะโทสะโมหะ และอารมณ์ที่เป็นฝ่ายกุศล เป็นอารมณ์ของกรรมฐานทั้งหลาย หรือเป็นอารมณ์ของบุญกิริยาทั้งหลาย

เครื่องนำอารมณ์ที่ดีมาสู่จิตใจ
เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีสติ และสติที่จะทำให้จิตใจได้อารมณ์ที่ดี ได้วิตกคือความตรึกนึกคิดที่ดี ก็คือสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้นั่นเอง แต่ว่าแม้กรรมฐานข้ออื่นๆ นอกจากสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ ก็ใช้ได้ ทำให้จิตได้อารมณ์ที่ดี เป็นที่ตั้งของใจ

และเมื่อปฏิบัติตามหลักที่ตรัสแสดงไว้ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ แม้บทใดบทหนึ่ง ก็เป็นเครื่องนำอารมณ์ที่ดีมาสู่จิตใจ นำจิตใจให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ดี ทำวิตกคือความตรึกนึกคิดให้บังเกิดขึ้นแก่จิตใจในทางที่ดี สติปัฏฐานจึงเป็นข้อสำคัญที่จะเป็นเครื่องนำให้เกิดอารมณ์ที่ดี เกิดวิตกคือความตรึกนึกคิดที่ดี และก็นำให้ได้กายวิเวก คือความสงบสงัดทางกาย จิตตวิเวกความสงบสงัดทางจิตใจ อุปธิวิเวกความสงบสงัดกิเลสทางปัญญา ก็เป็นอันว่าเป็นเครื่องสนับสนุนให้ได้ศีล ให้ได้สมาธิ ให้ได้ปัญญา เพิ่มพูนสั่งสมศีลสมาธิปัญญาที่มีเป็นพื้นอยู่แล้ว


อุปนิสสัย วาสนา บารมี
พื้นนี้สำคัญมากเรียกว่า นิสสัย หรืออุปนิสสัย วาสนา บารมี
   ทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์ที่แปลว่าผู้มีใจสูง ก็คือเป็นผู้ที่มีศีลมีสมาธิมีปัญญา เป็นพื้นอยู่ด้วยกันแล้ว หรือว่ายกขึ้นมาเพียงข้อเดียวว่าปัญญา มนุษย์ที่แปลว่ามีจิตใจสูง ก็คือมีความรู้สูง คือมีปัญญาสูงนั้นเอง และก็ไม่ใช่เพียงปัญญาอย่างเดียว ย่อมมีศีลมีสมาธิติดมาด้วย เพราะปัญญาเป็นพื้น นี้เป็นพื้นส่วนที่ดี

อาสวะ อนุสัย
นอกจากนี้ยังมีพื้นส่วนที่ชั่ว ที่เรียกว่าอาสวะอนุสัย อาสวะก็คือหมักดอง อนุสัยก็คือนอนจม ก็คือกิเลสที่ดองจิตสันดานอยู่ นอนจมอยู่ในจิตสันดาน แสดงออกมาก็เป็นราคะโทสะโมหะ ดั่งที่ปรากฏ หรือเป็นนิวรณ์ดั่งที่ปรากฏ
   เพราะฉะนั้น คนเราทุกๆ คน จึงทั้งพื้นที่เป็นส่วนดี ที่เป็นส่วนของศีลของสมาธิของปัญญา มีพื้นทั้งที่เป็นส่วนชั่วคืออาสวะอนุสัยทั้งหลาย เพราะฉะนั้น คนเราโดยปรกติในบางคราว เมื่อพื้นส่วนดีนำก็ทำดี ในเมื่อพื้นส่วนชั่วนำก็ทำชั่ว

ทำไมจะต้องปฏิบัติกรรมฐาน
เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิบัติในกรรมฐาน เพื่อที่จะให้พื้นที่เป็นส่วนดีนี้ปรากฏขึ้นมา นำให้เพิ่มพูน กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก สงัดกาย สงัดจิต สงัดกิเลส และเพิ่มพูนบุญกิริยา อันสำเร็จด้วยทานบ้าง ด้วยศีลบ้าง ด้วยภาวนาบ้าง คือให้เพิ่มพูน ศีล สมาธิ ปัญญา
   พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บังเกิดขึ้นในโลก ก็เพราะพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ทั้งหลาย ได้ทรงปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ อันประกอบด้วยศีลสมาธิปัญญาเหล่านี้นี่แหละ พร้อมทั้งสติ พร้อมทั้งความเพียร ปฏิบัติสั่งสมส่วนที่ดีที่เป็นวาสนาบารมีดังกล่าวแล้ว จนบริบูรณ์ ที่บริบูรณ์นั้นก็คือกำจัดอาสวะอนุสัยได้หมดสิ้น ถ้ายังกำจัดอาสวะอนุสัยไม่หมดสิ้น ก็ยังไม่บริบูรณ์ เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ก็ได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ตามพระธรรมที่ทรงสั่งสอน

และบัดนี้พระธรรมที่ทรงสั่งสอนก็ยังมีอยู่ ดั่งเช่นสติปัฏฐานที่สวดกันอยู่นี้ ที่ปฏิบัติกันอยู่นี้ ก็ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายจึงสมควรที่จะได้มีสติ และมีญาณคือความหยั่งรู้ ตามพระธรรมที่ทรงสั่งสอน พิจารณาให้เกิดสติให้เกิดปัญญา ดึงใจให้ใฝ่ปฏิบัติสั่งสมศีลสมาธิปัญญา หรือวิเวกทั้ง ๓ นั้น ให้มากยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ และคอยป้องกันไม่ให้อาสวะอนุสัยฟุ้งขึ้นมา อันจะนำให้ประกอบอกุศลกรรม กรรมที่ชั่วผิดต่างๆ ทางกายทางวาจาทางใจ

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม
อันสรุปเข้าได้ก็ในโอวาททั้ง ๓ ข้อ คือเว้นจาก คือไม่กระทำบาปอกุศลทั้งหลาย อุปสมบทคือเข้าถึงทำกุศลบุญทั้งหลายให้ถึงพร้อม และชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส ให้ปฏิบัติอยู่ดั่งนี้เป็นประจำ ย่อมจะนำให้เกิดความสวัสดี แก่ชีวิตของตนเองยิ่งๆ ขึ้นไป

ต่อจากนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป


-http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-295.htm