ผู้เขียน หัวข้อ: ทำยังไงดีล่ะ เมื่อเพื่อนร่วมงานของคุณเป็นคนช่าง...  (อ่าน 1279 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
ทำยังไงดีล่ะ เมื่อเพื่อนร่วมงานของคุณเป็นคนช่าง...
-http://men.kapook.com/view44967.html-

ทำยังไงดีล่ะ เมื่อเพื่อนร่วมงานของคุณเป็นคนช่าง... (Men's Health)
เรื่อง นพ.ธิติพันธ์ ธานีรัตน์

          สถานที่ทำงานโดยเฉพาะองค์กรใหญ่ ต่างเป็นแหล่งรวมของคนทำงานที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านบุคลิกภาพ ประสบการณ์ แนวความคิด มีคนจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ที่ทำงาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่คุณอาจต้องใช้ชีวิตอยู่มากถึง 8 ชั่วโมงในแต่ละวัน การเข้าใจเพื่อนร่วมงาน เคารพซึ่งกันและกัน ปกป้องตนเองจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ จะช่วยให้คุณทำงานได้อย่างมีความสุข มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องย้ายงานเพราะไม่สามารถทนอยู่กับผู้ร่วมงานได้ วันนี้เราจะพูดถึงผู้ร่วมงานที่พอจะจำแนกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้ 8 แบบ ลองมาอ่านดูนะครับว่ามีแบบไหนกันบ้างที่มักสร้างปัญหาให้กับคุณ แล้วจะรับมือได้อย่างไร

ช่างจ้อ

          เพื่อนร่วมงานแบบนี้มักจะต้องมีในทุกที่ พวกช่างจ้อ ส่วนใหญ่จะไม่ประสงค์ร้ายหรือให้ร้ายใคร เป็นพวกชอบมีมิตรมากกว่าศัตรู มีความคิดอะไรอยู่ในใจ ก็ยินดีที่จะเล่าแจ้งให้คุณรู้ ทั้งเรื่องดีและไม่ดี สำคัญและไม่สำคัญ เป็นคนที่มีพลังงานในการคุยสูงมาก ทำงานไปพูดไปถือเป็นเรื่องถนัด การจ้อแบบนันสต็อปอาจทำให้คุณเสียสมาธิในการทำงาน พาลจะทำงานผิดพลาดเอาได้ แทนที่จะสร้างความขัดแย้งต่อกัน คุณอาจใช้วิธีที่บอกไปเลยว่าคุณสนใจเรื่องที่เขากำลังเล่าอยู่นะ แต่กลัวว่าจะทำงานเสร็จไม่ทัน คุณขอตั้งใจทำงานให้เสร็จเรียบร้อยก่อนแล้วค่อยคุยกันใหม่  และถ้าคุณตั้งใจจะคบเพื่อนคนนี้จริงจัง อาจจะขอนัดทานมื้อเที่ยงหรือมื้อเย็นด้วยกันเสียเลย เพื่อจะได้มีเวลาคุยกันเต็มที่ ข้อดีของเพื่อนช่างจ้อ คือ มักมีอารมณ์ดี (เกินเหตุ) และสามารถเข้าใจอะไร ๆ ได้ง่าย

ทำยังไงดีล่ะ เมื่อเพื่อนร่วมงานของคุณเป็นคนช่าง...

ช่างนินทา

          คนช่างนินทามักจะรู้รายละเอียดทุก ๆ เรื่องของทุกคน เรียกได้ว่าเป็นคนที่มีเน็ตเวิร์คกว้างไกล ว่ากันว่าพวกช่างนินทานิยมจะแบ่งปันเรื่องราวที่รู้มาของกันและกันเป็นการเพิ่มมวลความรู้ แน่นอนครับ คุณควรจะต้องฟัง (แบบฟังหูไว้หู) เพราะเรื่องนินทาส่วนใหญ่อาจเป็นความจริงทั้งหมด ความจริงผสมความแต่ง หรือไม่มีมูลความจริงเลยก็ได้ คุณต้องพิจารณาให้ดี ฟังแบบเงียบ ๆ ไม่ต้องออกความเห็นหรือร่วมผสมโรงด้วยจะดีกว่า

ช่างติ-ช่างบ่น

          มักจะมีสักคนในกลุ่มที่แทบจะไม่มีความสุขเลยในชีวิต จะหน้านิ่วคิ้วขมวดเป็นอาจิณ ถ้าไม่บ่นเรื่องดินฟ้าอากาศ เรื่องสุขภาพ เรื่องแฟน เรื่องครอบครัวก็จะต้องเป็นเรื่องงาน ซึ่งดูเหมือนจะเกิดขึ้นบ่อยสุด บางทีสิ่งที่เพื่อนคุณติติงหรือบ่น อาจจะเป็นเรื่องจริง แต่สิ่งที่ส่งผลต่อคุณคือ การต้องฟังเรื่องที่เป็นลบตลอดเวลา ไม่สร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการทำงานแน่ ๆ พาลจะทำให้คุณหดหู่และหงุดหงิดตามไปด้วย เพื่อนร่วมงานแบบนี้ไม่ได้ต้องการคำแนะนำหรืออยากได้ยินข้อแก้ต่างจากคุณ เพียงแต่ต้องการระบายอารมณ์ให้คุณฟัง วิธีที่คุณจะรับมือคือเปลี่ยนเรื่องคุย เพราะท้ายที่สุดเพื่อนคุณคงจะเข้าใจได้ว่าคุณคงไม่อยากได้ยินเรื่องบ่นอีกแล้ว

ช่างกระจายงาน

          ทั้งนี้ เราไม่ได้หมายถึงผู้จัดการหรือหัวหน้างานที่มีอำนาจในการกระจายงานให้คุณทำตามสายงานอย่างชัดเจน แต่หมายถึง เพื่อนประเภทที่อยู่ในทีมแล้วไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายตามหน้าที่ จะอะไรก็ตามแต่ แล้วโยนภาระนั้นมาให้คุณ อาจจะใช้วิธีอ้างเรื่องกำหนดการส่งงานที่ทีมต้องส่งให้ทัน ทำนองว่าถ้าไม่เสร็จก็ต้องโดนต่อว่าทั้งหมด ยิ่งคุณเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง คุณจะตกเป็นเป้าหมายของเพื่อนประเภทนี้ ถ้าคุณยอมช่วยหรือหลวมตัวบ่อยเข้างานนั้น ๆ อาจจะกลายเป็นหน้าที่ของคุณไปในที่สุด ทางที่ดีถ้าคุณเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบกัน คุณควรปฏิเสธตั้งแต่แรก บอกเหตุผลให้เข้าใจว่าคุณเองก็มีงานที่ต้องทำให้เสร็จตามกำหนดเช่นกัน นอกจากว่าคุณสามารถทำงานของตัวเองให้ลุล่วงก่อน และมีเวลาเหลือก็จะยินดีช่วย สื่อนัยว่าเป็นความตั้งใจที่คุณอยากช่วย ไม่ใช่การถูกเอาเปรียบด้วยวิธีโยนงานมาให้

ช่างขโมยความดีความชอบ

          เพื่อนร่วมงานประเภทนี้น่าจะทำให้คุณโมโหและเจ็บใจได้มากที่สุด ไม่อายที่จะขอรับความดีความชอบเพียงคนเดียว ยินดีน้อมรับคำชมเชยเมื่องานแล้วเสร็จ โดยไม่มีการแชร์ความสำเร็จหรือให้เครดิตเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นครั้งแรกก็ให้ถือเป็นความผิดพลาด แต่หากยังต้องทำงานร่วมกันอีกต่อไป คุณต้องกล้าพูดกับเพื่อนร่วมงานคนนี้ตรง ๆ ไปเลยว่าคุณต้องการให้คนอื่น (รวมทั้งเจ้านาย) ทราบว่าคุณมีส่วนร่วมในการทำโปรเจกต์นั้น ๆ และมีสิทธิ์ที่จะได้รับเครดิตเช่นกัน อย่ามองว่าไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรเพราะการทำงานที่ประสบความสำเร็จตรงตามเป้าหมายหรือเกินกว่าที่ตั้งไว้ มีผลต่อการเลื่อนตำแหน่งปรับขึ้นเงินเดือน รวมทั้งโบนัสประจำปีด้วยนะจะบอกให้

ทำยังไงดีล่ะ เมื่อเพื่อนร่วมงานของคุณเป็นคนช่าง...

ช่างฟ้อง

          เพื่อนร่วมงานแบบนี้มักจะมาในร่างเดียวกับช่างประจบทำตัวสนิทสนม เป็นคนโปรดของเจ้านาย เป็นหูเป็นตาแทนนาย บางทีถึงขั้นออกคำสั่ง (ที่นายยังไม่ได้สั่ง) แทนนาย ใครทำอะไรผิดนิดหน่อยก็ต้องถึงหูเจ้านาย เพื่อนร่วมงานแบบนี้มักไม่ค่อยมีเพื่อนที่จริงใจในบริษัท เลยต้องเอาความสนิทสนมกับนายมาเป็นอาวุธให้คนอื่นเกรงใจ เพื่อนช่างฟ้องบางรายอาจจะไม่แสดงตัวหรือเปิดเผย เป็นประเภทสายลับสายสืบในบริษัท คอยจับผิดความประพฤติของคนอื่น ๆ วิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานแบบนี้ง่ายครับ คือ คุณต้องทำงานให้ถูกต้อง ถูกระเบียบ ไม่หละหลวม เผื่อวันใดที่คุณต้องตกเป็นเหยื่อ คุณจะได้แก้ต่างให้ตัวเองด้วยข้อมูลหลักฐานและความถูกต้องที่คุณปฏิบัติมาตลอด ให้ถือเสียว่าเขาเป็นผู้คุมกฎที่คอยเตือนใจคุณไม่ให้ทำตัวนอกลู่นอกทางแล้วกัน

ช่างยุ

          ทำให้คนอื่นร้าวฉานคือบริการของเขา อย่าคิดว่าในเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชายจะไม่มีนะครับ เพื่อนประเภทนี้ถ้ามีข้อมูลว่าใครไม่กินเส้นกับใครแล้วล่ะก็ เขายินดีที่จะโหมฟีนใส่ไฟ ยิ่งได้เห็นความแตกแยก ถึงขั้นทะเลาะกันรุนแรงระหว่างเพื่อนร่วมงานยิ่งสุขใจ เพื่อนช่างยุมักจะมีคุณสมบัติพิเศษคือเป็นนอกสองหัว เหยียบเรือสองแคม เอาเรื่องที่คนโน้นพูดมาเล่าให้คนนี้ฟัง บวกกับการเสริมแต่งเพื่อจี้จุดอ่อนของแต่ละฝ่าย โดยอ้างความหวังดีเป็นที่ตั้งประเภทไม่อยากเล่าเลย แต่ได้ยินมาแล้วไม่สบายใจไม่อยากให้นายถูกพูดถึงในแง่ร้าย วิธีรับมือกับเพื่อนช่างยุ หากเกิดขึ้นกับตัวคุณ แนะนำให้คุณคุยกับคู่กรณีโดยตรง แล้วให้เผชิญหน้ากันทั้งคุณ เพื่อนที่มีปัญหากับคุณอยู่ก่อน รวมถึงเพื่อนช่างยุตัวเก่ง พร้อมกันทั้งสามคน ยืนยันกันไปเลยว่าใครพูดอะไร เมื่อไร อย่างไร รับรองว่าเพื่อนช่างยุของคุณจะเจื่อน ดีไม่ดีอาจไม่ยอมมาพบหน้า เพื่อเคลียร์ปัญหาด้วยซ้ำ

ช่างยืม

          เพื่อนร่วมงานแบบนี้มีเยอะนะครับ ยืมได้ทุกสิ่งอย่างไม่เว้นแม้แต่ของใช้ส่วนตัวของคุณ แล้วหากยิ่งเรามีน้ำใจยกให้ อีกฝ่ายก็จะยิ่งได้ใจ จากที่ยืมก็จะกลายเป็นยึดไปเลย สิ่งที่น่าปวดหัวก็คือการที่ต้องนั่งคอยทวงของที่ยืมเราไป วิธีแก้ไขคือ ถ้าคุณจำเป็นต้องใช้ของสิ่งนั้นแน่นอน ก็อย่าให้ยืมเลยดีกว่า อ้างไปเลยว่าคนสำคัญซื้อให้ สำหรับเรื่องเงิน ถ้าเป็นจำนวนที่คุณพอจะให้ได้ ก็ให้ยืมไป แต่ต้องไม่เกรงใจที่จะทวงคืนเมื่อถึงกำหนดเวลา ถ้าไม่ได้เงินก้อนเก่าคืน อย่ายอมให้ยืมก้อนใหม่เป็นอันขาด

          คงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อย ถ้าคุณทำงานในบริษัทหนึ่ง แล้วไม่มีเพื่อนร่วมงานคนไหนเข้าข่าย 8 ประเภทที่พูดมาทั้งหมดนี้เลย ก็ต้องถือว่าคุณโชคดีมากนะ เพราะเป็นอะไรที่ยากมากที่คุณจะใช้ชีวิตแยกตัวอย่างโดดเดี่ยวออกมาได้ภายใต้สังคมการทำงาน เอาเป็นว่า อยากให้เขาปฏิบัติต่อเราอย่างไรก็ขอให้แสดงน้ำใจปฏิบัติต่อเขาอย่างนั้นก่อน หากคุณโชคไม่ดี ทำดีแต่ยังได้ร้าย ก็ค่อยมาแก้ปัญหาเป็นกรณี ๆ ไปนะ เพราะเราเชื่อว่าการที่คุณมีจิตใจดี มีความเป็นมิตร ไม่ไร้น้ำใจ ย่อมนำมาซึ่งเพื่อนร่วมงานที่เป็นมิตรมากกว่าศัตรูอย่างแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
-http://www.mhthailand.com/main.php-
ฉบับเดือน กรกฎาคม 2555

.

http://men.kapook.com/view44967.html

.

คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)