สามีไปบวช เกี่ยวพันกับทรัพย์สินของสามีที่ได้มาระหว่างเป็นพระภิกษุกันอย่างไร ?
คอลัมน์ ฏีกาชีวิต โดย พิสิษฐ์ ชวาลาธวัช (มติชนรายวัน 18 สิงหาคม 2555)
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1345277754&grpid=&catid=02&subcatid=0207-
เรื่องที่ยกมาเขียนก็คงจะหนีไม่พ้นเกี่ยวกับครอบครัว สามีภริยา ทรัพย์สิน มรดก แต่วันนี้จะเขียนถึงเรื่องวัดด้วยว่าจะมีความเกี่ยวพันกับทรัพย์สินของสามีที่ได้มาระหว่างเป็นพระภิกษุกันอย่างไร
ทรัพย์สินที่ได้มาดังกล่าวซึ่งสามีของเธอระหว่างครองผ้าเหลืองบวชเป็นสมณเพศอยู่นั้น ภริยาจะฟ้องวัดว่าเป็นสินสมรสได้หรือไม่ และวัดจะอ้างว่าเป็นทรัพย์สินได้มาขณะที่พระภิกษุอยู่ในระหว่างเป็นสมณเพศตกเป็นสมบัติของวัดได้หรือไม่
เพื่อหาความบันเทิงอย่างมีสาระไว้คุยกันเล่นๆ หรือจริงสำหรับภริยาก็ได้ ก่อนอื่นต้องพูดให้หญิงผู้อยู่ในฐานะภริยาสบายใจก่อนว่า
กรณีสามีดื่มด่ำในพระธรรมตั้งแต่ก่อนบวชและตัดสินใจสละกิเลสไปบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนานั้น หาทำให้ความเป็นสามีภริยาตามกฎหมายสิ้นสุดลงไปไม่
ความเป็นครอบครัวก็ยังดำรงอยู่ ทรัพย์สินที่ได้มาอย่างสุจริตไม่ผิดกฎหมายมีเท่าใดไม่ต้องบอกไม่ว่ากันยังไงๆ ก็เป็นสินสมรสของสามีภริยาวันยังค่ำ เว้นแต่สินส่วนตัวที่แต่ละท่านมีอยู่แล้วก่อนสมรส ประเด็นของปัญหาที่ตั้งไว้เป็นเรื่องเล็ก บางกรณีก็เป็นเรื่องใหญ่นะท่าน ถ้าเกี่ยวกับที่ดินราคาเป็นล้าน จึงขอยกเป็นปัญหาไว้คุยกันเล่นยามว่างเท่านั้นเอง
แต่ถ้าคิดกันเองตอบกันเองตามความเข้าใจก็ยุ่งเหมือนกัน เชื่อว่าคงจะมีคำตอบว่าตกเป็นสมบัติของวัด เพราะคนไทยไม่อยากจะไปยุ่งกับวัด
ดังนั้น ก่อนจะเฉลยให้ฟัง ขอความกรุณาให้ท่านช่วยเขียนคำตอบไว้ในกระดาษกันก่อนดีไหมเอ่ย
กฎหมายเขียนไว้ว่า บรรดาทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุ
ให้สังเกตว่ากฎหมายเขียนไว้ว่า "เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ" เท่านั้น อย่าไปตะแบงขยายความให้มากกว่านี้ แต่ก็เคยมีคดีพิพาทอยู่เหมือนกัน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ศาลฎีกาตัดสินไว้ว่า "พระภิกษุได้รับมรดกที่ดิน (ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สิน) ก่อนอุปสมบท แต่มาโอนใส่ชื่อในโฉนดหลังจากอุปสมบทแล้ว เมื่อพระภิกษุมรณะลงที่ดินหาตกเป็นของอารามไม่ (ฏีกาที่ ๒๗๓/๒๔๗๕)
หวังว่า หากท่านอยู่ในฐานะภริยาคงจะใจชื้นขึ้นมาบ้าง หลังจากได้ยกกรณีดังกล่าวมาเขียนไว้ และเพื่อที่จะให้ชัดเจนมากขึ้นไป จะขอยกกรณีหนึ่งก็ได้มาเทียบเคียง
ก่อนบวชเป็นพระภิกษุและมรณภาพภายหลังบวชได้หลายพรรษา ปรากฏว่าก่อนชายผู้เป็นสามีบวชนั้น ได้ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง มีมูลค่าราคาเท่าใดอย่าสนใจก็แล้วกัน เพราะถ้าท่านรู้ราคาที่ดินแล้วจะตกใจ เรื่องที่เกิดขึ้นมีเหตุให้ผู้ให้เช่าซื้อเกิดไปทำนิติกรรมโอนให้ผู้เช่าซื้อล่าช้าไป
สามีในฐานะผู้เช่าซื้อที่ดินแปลงนั้นได้ฤกษ์บวชแล้ว จำใจต้องบวชข่มใจตัดกิเลสเสียแต่วันนี้ ภริยาและลูกๆ ได้แต่วิตกอยู่เหมือนกัน ใจหนึ่งก็ห่วงว่าฝ่ายผู้จะขายหาเหตุดึงเรื่องให้ล่าช้า และถ้าเกิดหลวงพี่เป็นอะไรถึงแก่ชีวิตภายหลังผู้ให้เช่าซื้อโอนที่ดินแปลงนั้นให้แล้ว จะตกเป็นสมบัติของวัดหรือไม่?
แต่ต้องตามใจให้สามีบวชจะคัดค้านได้อย่างไร ไม่อยากเป็นมารศาสนาให้คนเขาด่าเล่น
เกิดปัญหาระหว่างทายาทกับวัดจริงๆ ศาลฎีกาพิพากษาว่า การจดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทนั้น เป็นเพียงทำให้การได้มาสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่งเท่านั้น แม้ผู้มีชื่อในโฉนดจะถึงแก่กรรมในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศก็ตาม ที่พิพาทก็ไม่ตกเป็นสมบัติของวัด (ฎีกาที่ ๙๐๓/๒๕๓๖)
เมื่อที่พิพาทไม่ตกเป็นสมบัติของวัดโดยผลของกฎหมาย ที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ภริยาและลูกในฐานะทายาทตามกฎหมายอย่าได้สงสัย
เอาละ ขอแตกประเด็นใหม่ ถ้ากรณีพระภิกษุได้ทรัพย์สินมาระหว่างเป็นพระภิกษุ เพราะมีผู้ศรัทธาทำบุญให้จะถือว่าทรัพย์สินที่ได้มา "เป็นสินสมรสหรือไม่"? ไว้เฉลยคราวหน้า
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1345277754&grpid=&catid=02&subcatid=0207.