อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 24 : ตัณหาวรรค

(1/3) > >>

ฐิตา:



เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 24 : ตัณหาวรรค
01.เรื่องปลาชื่อกปิละ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภปลาชื่อกปิละ  ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า  มนุชสฺส  เป็นต้น

ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า   มีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่ากปิละ  เป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก   เพราะความเป็นพหุสูตทำให้พระกปิละมีลาภสักการะและบริวารมาก  และได้กลายเป็นคนหัวดื้อสำคัญตนว่ามีความฉลาดมากกว่าภิกษุอื่น  อะไรที่เหมาะที่ควร  พระกปิละก็บอกไม่เหมาะไม่ควร  ส่วนอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร  พระกปิละก็บอกว่าเหมาะว่าควร  เมื่อภิกษุทั้งหลายมีความเห็นแตกต่างตรงกันข้ามว่ากล่าวตักเตือน   พระกปิละก็จะโต้ตอบว่า เป็นคำวิจารณ์ของพวกไม่มีความรู้   ด้วยเหตุนี้พวกภิกษุผู้มีศีลจึงทอดทิ้งไม่ยอมคบหากับพระกปิละ ในขณะที่พระทุศีลทั้งหลายพากันไปแวดล้อมพระกปิละ  ในวันอุโบสถวันหนึ่ง  ขณะที่พระทั้งหลายกำลังสวดพระปาฏิโมกข์อยู่นั้น   พระกปิละกล่าวว่า  ไม่มีธรรม ไม่มีวินัย  จะมีประโยชน์อะไรกับการที่จะฟังหรือไม่ฟังพระปาฏิโมกข์   จากนั้นก็ได้ลุกขึ้นจากอาสนะไม่ฟังพระปาฏิโมกข์ 

เพราะผลของอกุศลกรรมครั้งนี้  ทำให้พระกปิละได้ไปเกิดในอเวจีมหานรกในระหว่างสมัยของพระกัสสปพุทธเจ้า  และพระโคตมพุทธเจ้า    ในกาลต่อมา พระกปิละได้มาเกิดเป็นปลาใหญ่ในแม่น้ำอจิรวดี  ตัวมีสีเหมือนทองคำ  แต่มีปากเหม็นมาก   วันหนึ่งปลาตัวนี้ถูกชาวประมงจับได้  และเพราะเป็นปลาตัวใหญ่มากและมีตัวเหลืองอร่ามเหมือนทอง  จึงได้ถูกนำขึ้นเรือไปขึ้นน้อมเกล้าถวายพระราชา  พระราชาได้ทรงนำปลาประหลาดตัวนี้ไปยังสำนักพระศาสดา   เมื่อปลาอ้าปากออกเท่านั้น   ทั่วทั้งวัดพระเชตวันก็เหม็นคละคลุ้ง  พระราชากราบทูลถามพระศาสดาถึงสาเหตุที่ปลาตัวนี้มีกลิ่นปากเหม็นมาก  พระศาสดาได้ตรัสกับพระราชาและมหาชนที่มาชุมนุมกันว่า  “มหาบพิตร  ปลานี้  ได้เป็นภิกษุชื่อกปิละ  เป็นพหูสูต  มีบริวารมาก  ในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ  ถูกความทะยานอยากในลาภครอบงำแล้ว  ด่าบริภาษพวกภิกษุผู้ไม่ถือคำของตน  ยังพระศาสนา  ของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ  ให้เสื่อมลงแล้ว  เขาบังเกิดในอเวจีด้วยกรรมนั้นแล้ว  บัดนี้เกิดเป็นปลาด้วยเศษแห่งวิบาก  ก็เพราะเธอบอกพระพุทธวจนะ  กล่าวสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้าสิ้นกาลนาน  จึงได้อัตตภาพมีสีเหมือนทองคำนี้  ด้วยผลแห่งกรรมนั้น  เธอได้เป็นผู้ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย  กลิ่นเหม็นจึงฟุ้งออกจากปากของเธอ  ด้วยผลแห่งกรรมนั้น”


พระศาสดาได้ตรัสถามปลากปิละว่าในชาติหน้าจะไปเกิด ณ ที่ไหน   ปลากปิละกราบทูลว่า  จะกลับไปเกิดในอเวจีมหานรกอีกครั้งหนึ่ง  เมื่อกราบทูลจบ มันก็ได้สะบัดหัวของตัวเองฟาดกับเรือจนเสียชีวิต  สร้างความสังเวชและสยดสยองให้แก่มหาชนที่มาชุมนุมกัน  ณ  ที่นั้น

พระศาสดาทรงตรวจดูวารจิตของมหาชน ที่มาชุมนุมกันอยู่นั้นแล้ว  ทรงทราบว่าธรรมที่เหมาะสมกับอัธยาศัยของพวกเขาคือความใน กปิลสูตร ในสุตตนิบาต  จึงตรัสว่า  “นักปราชญ์ทั้งหลาย  ได้กล่าวการประพฤติธรรม 1  การประพฤติพรหมจรรย์  1  นั่น  ว่าเป็นแก้วอันสูงสุด”  จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สี่พระคาถานี้ว่า

มนุชสฺส   ปมตฺตจาริโน
ตณฺหา  วฑฺฒติ  มาลุวา  วิย
โส  ปริปฺลวติ  หุราหุรํ
ผลมิจฺฉํว  วนสฺมึ  วานโร ฯ

ยํ  เอสา  สหตี  ชมฺมี
ตณฺหา  โลเก  วิสตฺติกา
โสกา  ตสฺส  ปวฑฺฒนฺติ
อภิวุฏฺฐํว  วีรณํ  ฯ

โย  เจตํ  สหตี  ชมฺมี
ตณฺหํ  โลเก  ทุรจฺจยํ
โสกา  ตมฺหา  ปปตนฺติ
อุทพินฺทุว  โปกฺขรา  ฯ

ตํ  โว  วทามิ   ภทฺทํ  โว
ยาวนฺเตตฺถ  สมาคตา
ตณฺหาย  มูลํ  ขนถ
อุสีรตฺโถว  วีรณํ
มา  โว  นฬํ  โสโตว
มาโร  ภญฺชิ  ปุนปฺปุนํ.

ตัณหา  ดุจเถาย่านทราย
ย่อมเจริญแก่คนผู้มีปกติประพฤติประมาท
เขาย่อมเร่ร่อนไปสู่ภพน้อยใหญ่  
ดังวานรตัวปรารถนาผลไม้โลดไปในป่า ฉะนั้น.

ตัณหานั่นเป็นธรรมชาติลามก
มักแผ่ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆในโลก
ย่อมครอบงำบุคคลใดได้
ความโศกทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น
ดุจหญ้าคมบางอันฝนตกรดแล้วเจริญอยู่  ฉะนั้น.

แต่ผู้ใด  ย่อมย่ำยีตัณหานั่น
ซึ่งเป็นธรรมชาติลามก  ยากที่ใครในโลกจะล่วงไปได้
ความโศกทั้งหลาย  ย่อมตกไปจากผู้นั้น
 เหมือนหยาดน้ำฝนตกไปจากใบบัว  ฉะนั้น.

เพราะฉะนั้น  เราบอกกะท่านทั้งหลายว่า
ความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย
บรรดาที่ประชุมกันแล้ว  ณ  ที่นี้
ท่านทั้งหลาย  จงขุดรากตัณหาเสียเถิด
ประหนึ่งผู้ต้องการแฝก  ขุดหญ้าคมบางเสีย ฉะนั้น
มารอย่าระรานท่านทั้งหลายบ่อยๆ  ดุจกระแสน้ำระรานไม้อ้อ  ฉะนั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   บุตรของชาวประมงทั้ง 500 ถึงความสังเวช  ปรารถนาการทำที่สุดแห่งทุกข์  จึงบวชในสำนักพระศาสดา  และทำที่สุดแห่งทุกข์  ต่อกาลไม่นานเท่าไร หลังจากนั้นทุกท่าน เป็นผู้ปฏิบัติอเนญชาวิหารธรรมและสมาปัตติธรรมเช่นเดียวกับพระศาสดา.


ฐิตา:


02.เรื่องนางลูกสุกร

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภนางลูกสุกรกินคูถตัวหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า  ยถาปิ  มูเล  เป็นต้น

วันหนึ่ง   พระศาสดาเสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์  เพื่อบิณฑบาต  ทอดพระเนตรเห็นนางลูกสุกรตัวหนึ่ง  จึงได้ทรงทำการแย้มพระโอษฐ์ให้ปรากฏ  เมื่อพระอานนทเถระทูลถามถึงสาเหตุแห่งการแย้มพระโอษฐ์นั้น  พระศาสดาตรัสว่า   เมื่อครั้งอดีต  “นางลูกสุกรนั่น  ได้เกิดเป็นแม่ไก่  อยู่ในที่ใกล้โรงฉันแห่งหนึ่ง  ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากกุสันธะ  นางไก่นั้น  ฟังเสียงประกาศธรรมของภิกษุผู้เป็นโยคาวจรรูปหนึ่ง  สาธยายวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่  จุติจากอัตตภาพนั้นแล้ว  ได้เกิดในราชตระกูล  เป็นราชธิดาพระนามว่า  อุพพรี  ในกาลต่อมา  พระนาง เสด็จเข้าไปยังสถานที่ถ่ายอุจจาระ  ทอดพระเนตรเห็นหมู่หนอนแล้ว  ยังปุฬวกสัญญาให้เกิดขึ้นในที่นั้น  ได้ปฐมฌานแล้ว  พระนางดำรงอยู่ในอัตตภาพนั้นจนสิ้นอายุ  จุติจากอัตตภาพนั้นแล้ว  เกิดในพรหมโลก  พระนางครั้นจุติจากอัตตภาพนั้นแล้ว  สับสนอยู่ด้วยอำนาจคติ  จึงเกิดแล้วในกำเนิดสุกรในบัดนี้  เราเห็นเหตุนี้  จึงได้ทำการแย้มให้ปรากฏ”

ภิกษุทั้งหลายสดับเรื่องที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วได้ความสังเวชเป็นอันมาก  พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศโทษของราคะตัณหา  ประทับยืนอยู่ระหว่างถนนนั่นเอง  ตรัสพระธรรมบท  ห้าพระคาถานี้ว่า

ยถาปิ  มูเล  อนุปทฺทเว  ทฬฺเห
ฉินฺโนปิ  รุกฺโข  ปุนเรว  รูหติ
เอวมฺปิ  ตณฺหานุสเย  อนูหเต
นิพฺพตฺตตี  ทุกฺขมิทํ  ปุนปฺปุนํ ฯ

ยสฺส  ฉตฺตึสติโสตา
มนาปสฺสวนา  ภุสา
มหา  วหนฺติ  ทุทฺทิฏฺฐึ
สงฺกปฺปา  ราคนิสฺสิตา ฯ

สวนฺติ  สพฺพธี  โสตา
ลตา  อุพฺพิชฺช  ติฏฐติ
ตญจ  ทิสฺวา  ลตํ  ชาตํ
มูลํ  ปญฺญาย  ฉินฺทถ ฯ

สริตานิ  สิเนหิตานิ  จ
โสมนสฺสานิ  ภวนฺติ  ชนฺตุโน
เต  สาตสิตา  สุเขสิโน
เต  เว  ชาติชรูปคา  นรา ฯ

ตสิณาย  ปุรกฺขตา  ปชา
ปริสปฺปนฺติ  สโสว  พาธิโต
สํโยชนสงฺคสตฺตา
ทุกฺขมุเปนฺติ  ปุนปฺปุนํ  จิราย ฯ

ตสิณาย  ปุรกฺขตา  ปชา
ปริสปฺปนฺติ  สโสว  พาธิโต
ตสฺมา  ตสิณํ  วิโนทเย  ภิกฺขุ
อากงฺขํ  วิราคมตฺตโน  ฯ

ต้นไม้  เมื่อรากไม่มีอันตราย  ยังมั่นคง
ถึงบุคคลตัดแล้ว   ย่อมงอกขึ้นได้อีกทีเดียว  แม้ฉันใด
ทุกข์นี้  เมื่อตัณหานุสัย  อันบุคคลยังขจัดไม่ได้แล้ว
ย่อมเกิดขึ้นร่ำไป  แม้ฉันนั้น.

กระแส(แห่งตัณหา)  36
อันไหลไปในอารมณ์เป็นที่พอใจ
เป็นธรรมชาติกล้า  ย่อมมีแก่บุคคลใด
ความดำริทั้งหลายอันใหญ่  อาศัยราคะนำบุคคลนั้น  ผู้มีทิฏฐิชั่วไป.

กระแส(แหงตัณหาทั้งหลาย)
ย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง 
ตัณหาดุจเถาวัลย์แตกขึ้นแล้วย่อมตั้งอยู่
ก็ท่านทั้งหลายเป็นตัณหานั้น   
เป็นดังเถาวัลย์เกิดแล้ว  จงตัดรากเสียด้วยปัญญา.

โสมนัสทั้งหลายที่ซ่านไป  และเปื้อนตัณหาดุจยางเหนียว 
ย่อมมีแก่สัตว์  สัตว์ทั้งหลายนั้น
อาศัยความสำราญ  จึงเป็นผู้แสวงหาความสุข
นระเหล่านั้นแล  ย่อมเป็นเข้าถึงชาติชรา.

หมู่สัตว์อันตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว
ย่อมกระเสือกกระสน  เหมือนกระต่าย
อันนายพรานดักได้แล้ว  ฉะนั้น
หมู่สัตว์  อันตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว
ย่อมกระเสือกกระสน  เหมือนกระต่ายที่นายพรานดักได้แล้ว  ฉะนั้น
เพราะเหตุนั้น  ภิกษุหวังธรรมเป็นที่สำรอกกิเลสแก่ตน
พึงบรรเทาตัณหาผู้ทำความดิ้นรนเสีย.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:



03.เรื่องวิพภันตกภิกษุ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน  ทรงปรารภวิพภันตกภิกษุ  ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า  โย  นิพฺพนฏฺโฐ เป็นต้น

ภิกษุสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระรูปหนึ่ง   บำเพ็ญสมณธรรมจนได้ฌาน 4  วันหนึ่ง  เข้าไปบิณฑบาตที่บ้านของลุงของตน  พบหญิงงามเกิดนึกรักขึ้นมา  จึงสึกออกไปแต่งงานกับหญิงนั้น   เมื่อออกไปอยู่กินกับหญิงนั้นแล้ว  มีนิสัยเกียจคร้านไม่ยอมทำการงาน  จึงถูกขับไล่ออกจากบ้าน  ไปคบหาสมาคมกับพวกนักเลง  ถูกเจ้าหน้าบ้านเมืองจับกุมตัวจะนำไปสู่หลักประหาร   พระมหากัสสปเถระ  ขณะออกบิณฑบาต  ก็ไปประสบเหตุพอดีกับที่เขาถูกจับมือไพร่หลังจะนำตัวไปประหารชีวิต  จึงได้ขอให้เจ้าหน้าที่ผ่อนเครื่องจองจำ  พระมหากัสสปเถระ แนะนำว่า “เธอจงระลึกถึงกัมมัฏฐานที่เธอเคยสั่งสมแล้วในกาลก่อนเถิด”  เขาเกิดได้สติและกระทำตามคำแนะนำ  สามารถทำให้จตุตถฌานบังเกิดได้อีกครั้งหนึ่ง  พอถึงตอนนี้แม้ว่าจะเขาถูกพวกเจ้าหน้าที่และพวกชาวบ้านที่มามุงดูข่มขู่คุกคามด้วยอาวุธใดๆ  เขาก็ไม่แสดงอาการหวาดหวั่นพรึง   เจ้าหน้าที่เกิดความแปลกใจจึงได้ทูลรายงานให้พระราชาทรงทราบ  และพระราชาได้รับสั่งให้ปล่อยตัวเขา  และทรงนำเรื่องนี้เข้ากราบทูลพระศาสดา  พระศาสดาได้เปล่งโอภาสประหนึ่งไปประทับอยู่เบื้องหน้าของเขา  แล้วตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

โย  นิพฺพนฏฺโฐ  วนาธิมุตฺโต
วนมุตฺโต  วนเมว  ธาวติ
ตํ  ปุคฺลเมว  ปสฺสถ
มุตฺโต  พนฺธนเมว  ธาวติ ฯ

บุคคลใด  มีอาลัยดุจหมู่ไม้อันตั้งอยู่ในป่าออกแล้ว
น้อมไปในป่า(คือตปธรรม)  พ้นจากป่าแล้ว
ยังแล่นไปสู่ป่าตามเดิม
ท่านทั้งหลาย  จงดูบุคคลนั้นนั่นแล
เขาพ้นแล้ว(จากเครื่องผูก)  ยังแล่นไปสู่เครื่องผูกตามเดิม.

เขานั่งฟังธรรมเทศนานี้  อยู่บนปลายหลาว  ในระหว่างพวกราชบุรุษ  เริ่มตั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแล้ว  ยกจิตขึ้นสู่ไตรลักษณ์  พิจารณาซึ่งสังขารทั้งหลาย  บรรลุโสดาปัตติผล   เสวยสุขเกิดแต่สมาบัติ  เหาะขึ้นสู่เวหาสมาสู่สำนักพระศาสดาโดยทางอากาศ  ถวายบังคมพระศาสดาแล้วบวช  ได้บรรลุพระอรหัตตผล  ณ ท่ามกลางบริษัทพร้อมด้วยพระราชานั่นเอง.

ฐิตา:


04.เรื่องเรือนจำ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภเรือนจำ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  น  ตํ  ทฬฺหํ เป็นต้น

วันหนึ่ง  ภิกษุ  30  รูปจากชนบท  เข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี   ขณะที่ภิกษุเหล่านี้เดินบิณฑบาตอยู่นั้น  ได้ผ่านไปทางเรือนจำแห่งหนึ่ง  ก็ได้แลเห็นพวกโจรถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำคือ  ขื่อ  คา  เชือกและตรวน เป็นต้น  เมื่อเข้าไปเฝ้าพระศาสดาในตอนเย็น  ได้กราบทูลถามว่า  “ พระเจ้าข้า  วันนี้ พวกข้าพระองค์  กำลังเที่ยวไปบิณฑบาต  เห็นโจรเป็นอันมาก  ในเรือนจำ  ถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำคือขื่อเป็นต้น  เสวยทุกข์มาก  พวกเขา  ย่อมไม่อาจเพื่อจะตัดเครื่องจองจำเหล่านั้นหนีไปได้  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ขึ้นชื่อว่าเครื่องจองจำชนิดอื่น  ที่มั่นคงกว่าเครื่องจองจำเหล่านั้น  มีอยู่หรือหนอ ?”

พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  เครื่องจองจำเหล่านั้น  จะชื่อว่าเครื่องจองจำอะไร   ส่วนเครื่องจองจำคือกิเลส  กล่าวคือ  ตัณหา  ในสวิญญาณกทรัพย์  และอวิญญาณกทรัพย์ทั้งหลาย  มีทรัพย์คือ  ข้าวเปลือก  บุตร  และภรรยาเป็นต้น  เป็นเครื่องจองจำที่มั่นคงกว่า  เครื่องจองจำคือขื่อเป็นต้นเหล่านั้น  ร้อยเท่า  พันเท่า  แสนเท่า  แต่โบราณกาลบัณฑิตทั้งหลาย  ตัดเครื่องจองจำแม้ชนิดใหญ่  ที่ตัดได้ยากเหล่านี้  เข้าไปบวชอยู่ในป่าหิมพานต์ได้” และได้ทรงนำอดีตนิทานเรื่องพระโพธิสัตว์ตัดความอาลัยรักในภรรยาและบุตรมาเล่า ว่า  เมื่อท่านออกไปบวชยังอภิญญาให้เกิด เล่นฌานอยู่ในป่าหิมพานต์นั้น  ท่านได้เปล่งอุทานว่า “เครื่องผูกคือบุตรและภรรยา  เครื่องผูกคือกิเลส  อันบุคคลตัดได้โดยยาก  ชื่อแม้เห็นปานนี้  เราได้ตัดแล้ว”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สองพระคาถานี้ว่า

น  ตํ  ทฬฺหํ  พนฺธนมาหุ  ธีรา
ยทายสํ   ทารุชปพฺพชญฺจ
สารตฺตรตฺตา   มณิกุณฑเลสุ
ปุตฺเตสุ  ทาเรสุ  จ  ยา  อเปกฺขา ฯ

เอตํ  ทฬฺหํ  พนฺธนมาหุ  ธีรา
โอหารินํ  สิถิลทุปฺปมุญฺชํ
เอตํปิ  เฉตฺวาน  ปริพฺพชนฺติ
อนเปกฺขิโน  กามสุขํ  ปหาย  ฯ

เครื่องจองจำใด  เกิดแต่เหล็ก  เกิดแต่ไม้
และเกิดแต่หญ้าปล้อง 
ผู้มีปัญญาทั้งหลาย  หากล่าวเครื่องจองจำนั้น
ว่าเป็นของมั่นคงไม่.

ความกำหนัดใด  ของชนทั้งหลายผู้กำหนัดยินดียิ่งนัก
ในแก้วมณีและหุ้มหูทั้งหลาย  และความเยื่อใยในบุตร  ในภรรยาทั้งหลายใด   
นักปราชญ์ทั้งหลาย  กล่าวความกำหนัดและความเยื่อใยนั่นว่า
เป็นเครื่องจองจำอันมั่นคง  มีปกติเหนี่ยวลง  อันหย่อนแต่เปลื้องได้โดยยาก
นักปราชญ์ทั้งหลาย  ตัดเครื่องผูกแม้นั้นแล้ว
เป็นผู้ไม่มีใยดี  ละกามสุขแล้วบวช.

เมื่อการแสดงพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย   มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:



05.เรื่องพระนางเขมา

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร  พระนามว่าเขมา  ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า  เย  ราครตา  เป็นต้น

พระนางเขมาเป็นพระมเหสีเอกของพระเจ้าพิมพิสาร   พระนางมีพระสิริโฉมงดงามมาก  เพราะได้เคยตั้งความปรารถนาไว้แทบบาทมูลของพระปทุมุตรพุทธเจ้า   พระนางไม่ทรงต้องการจะไปเฝ้าพระศาสดาเพราะทรงเกรงว่าพระศาสดาจะทรงตำหนิโทษความงามของพระนาง   จึงได้ทรงหลีกเลี่ยงอยู่ตลอดมา  แต่พระเจ้าพิมพิสารมีพระประสงค์จะให้พระนางเสด็จไปเฝ้าพระศาสดาที่พระเวฬุวันให้ได้  จึงรับสั่งให้นักประพันธ์เพลงแต่งเพลงพรรณนาความงามและความรื่นรมย์ของพระเวฬูวัน จนพระนางเขมาได้สดับแล้ว  มีความหลงใหลอยากจะเสด็จไปชม

เมื่อพระนางเขมาเสด็จเข้าไปในวัดพระเวฬุวันนั้น   พระศาสดาทรงแสดงธรรมให้แก่มหาชนได้ฟังกันอยู่   พระองค์จึงทรงเนรมิตร่างนางงามผู้หนึ่ง  ยืนถือพัดก้านตาลถวายงานพัดอยู่ที่ข้างพระองค์  และรูปหญิงนี้เห็นได้เฉพาะพระนางเขมาเท่านั้น  เมื่อพระนางเข้ามาสู่ที่ประชุมฟังธรรมนั้น  ทอดพระเหตุเห็นหญิงงามนั้นแล้วก็นำมาเปรียบเทียบกับความงามของพระนาง  ได้เห็นประจักษ์ว่านางงามที่ถวายงานพัดพระศาสดาอยู่นั้นมีความงามเลิศล้ำกว่าพระนางมาก  ขณะที่พระนางจ้องพระเนตรมองดูนางงามอยู่นั้น  พระศาสดาได้บันดาลให้ร่างของนางงามนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับคือ เป็นหญิง กลางคน เป็นหญิงชรา  เจ็บป่วย  สิ้นชีวิต  มีหนอนชอนไชออกมาจากซากศพ และเหลืออยู่แต่เพียงกองกระดูก  เมื่อเห็นเป็นเช่นนี้  พระนางเขมาก็ทรงประจักษ์ถึงความไม่เที่ยงและความปราศจากแก่นสารของความงาม

พระศาสดา   ทรงตรวจดูวารจิตของพระนางเขมาแล้ว  จึงตรัสว่า  “เขมา  เธอคิดว่า  สาระมีอยู่ในรูปนี้หรือ ?  เธอจงดูความที่รูปนั้นหาสาระมิได้  ในบัดนี้”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

เย   ราครตฺตานุปตนฺติ  โสตํ
สยํ  กตํ  มกฺกฎโกว   ชาลํ
เอตมฺปิ  เฉตฺวาน  วชนฺติ  ธีรา
อนเปกฺขิโน  สพฺพทุกฺขํ  ปหาย ฯ

สัตว์ผู้กำหนัดแล้วด้วยราคะ
ย่อมตกไปสู่กระแสตัณหา
เหมือนแมลงมุม  ตกไปยังใยที่ตัวทำไว้เอง  ฉะนั้น
ธีรชนทั้งหลาย   ตัดกระแสตัณหาแม้นั้นแล้ว
เป็นผู้หมดห่วงใย  ละเว้นทุกข์ทั้งปวง.

เมื่อจบพระธรรมเทศนา  พระนางเขมา  บรรลุพระอรหัตตผล  เพระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่มหาชน.
พระศาสดาตรัสถามพระราชาว่า  ควรจะให้พระนางเขมาบวช หรือว่าจะให้ปรินิพพาน   พระราชาตรัสว่า  ควรจะให้พระนางบวช  เมื่อพระนางบรรพชาแล้ว  ก็ได้เป็นพระอัครสาวิกา.


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version