อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 24 : ตัณหาวรรค
ฐิตา:
06. เรื่องบุตรเศรษฐีชื่ออุคคเสน
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภอุคคเสน ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า มุญฺจ ปุเร เป็นต้น
ในกาลครั้งหนึ่ง คณะแสดงละครเร่ประกอบด้วยนักเต้นรำและนักกายกรรมจำนวน 500 คน ได้ไปเปิดการแสดงอยู่ที่พระลานหลวงในกรุงราชคฤห์ของพระเจ้าพิมพิสารเป็นเวลา 7 วัน ในคณะแสดงละครมีหญิงนักเต้นเยาว์วัยคนหนึ่งเป็นลูกชาวของนักแสดงกายกรรม ได้ขึ้นไปร้องรำทำเพลงอยู่บนปลายไม่ไผ่ยาวๆ นายอุคคเสนซึ่งเป็นบุตรชายของเศรษฐี เกิดหลงรักหญิงนักเต้นคนนี้มาก อยากจะแต่งงานกับนางให้ได้ แม้บิดามารดาจะห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง เมื่อแต่งงานกันแล้ว นายอุคคเสนก็ได้ติดตามคณะละครเร่ไปแสดงตามสถานที่ต่างๆ อุคคเสนเต้นรำเป็นแต่เล่นกายกรรมไม่เป็น จึงไม่เป็นที่ต้องการของคณะละครมากนัก เมื่อคณะละครเร่ได้ร่อนเร่ไปเปิดการแสดงตามที่ต่างๆ อุคคเสนจึงมีหน้าที่เป็นเพียงกุลีขนหีบเสื้อผ้าบ้างเป็นคนขับเกวียนบ้างเท่านั้นเอง
เมื่อกาลเวลาผ่านไป อุคคเสนก็มีบุตรชายคนหนึ่งเกิดกับหญิงนักเต้นสาวคนนี้ หญิงนักเต้นได้พูดหยอกล้อบุตรว่า “ไอ้ลูกของคนเฝ้าเกวียน ไอ้ลูกของคนหาบของ ไอ้ลูกของคนไม่รู้อะไร” อุคคเสนได้ยินคำพูดของภรรยาเช่นนั้น ก็เกิดความเจ็บใจ จึงไปหาพ่อตาซึ่งเป็นนักแสดงกายกรรม ขอให้ช่วยฝึกหัดการแสดงกายกรรมให้ หลังจากได้รับการฝึกฝนได้ไดไม่ถึงปีดี อุคคเสนก็มีความชำนาญในการแสดงกายกรรมเป็นอย่างมาก
จากนั้น อุคคเสนก็ได้กลับไปที่กรุงราชคฤห์ และได้มีการโฆษณาว่าอีก 7 วันนายอุคคเสนจะมาแสดงกายกรรม พอถึงวันที่ 7 เมื่อมีประชาชนมาชุมนุมเพื่อชมการแสดงเป็นจำนวนมาก โดยนายอุคคเสนก็ได้ไปยืนแสดงกายกรรมบนปลายไม้ไผ่สูงถึง 60 ศอก
ในวันนั้นพระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลก ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุคคเสนเข้าไปในข่ายคือพระญาณของพระองค์ และเขาจักได้บรรลุพระอรหัตตผล และการบรรลุธรรมจักมีแก่สัตว์จำนวน 8 หมื่น 4 พัน เพราะฟังธรรมจากพระองค์ ในวันรุ่งขึ้น พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ก็ได้เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต ซึ่งก็เป็นช่วงพอดีกับที่อุคคเสนกำลังแสดงกายกรรมบนปลายลำไม้ไผ่ พอเห็นพระศาสดาเสด็จมา ผู้ชมการแสดงก็ละสายตาจากการแสดงของนายอุคคเสนมาที่พระศาสดา นายอุคคเสนเห็นเช่นนั้นก็เกิดความเสียใจ นั่งเฉยอยู่บนปลายไม่ไผ่ พระศาสดาได้รับสั่งให้พระโมคคัลลานเถระไปเจรจาให้นายอุคคเสนะดำเนินการแสดงต่อไป เมื่อสิ้นสุดรายการการแสดงแล้ว ได้ตรัสกับเขาว่า “อุคคเสน ธรรมดาบัณฑิต ต้องละความอาลัยรักใคร่ในขันธ์ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันเสียแล้ว พ้นจากทุกข์ทั้งหลายมีชาติเป็นต้นจึงควร”
จากนั้น พระศาสดาจึงได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
มุญฺจ ปุเร มุญฺจ ปจฺฉโต
มชฺเฌ มุญฺจ ภวสฺส ปารคู
สพฺพตฺถ วิมุตฺตมานโส
น ปุน ชาติชรํ อุเปหิสิ ฯ
ท่านจงเปลื้อง(อาลัย) ในก่อนเสีย
จงเปลื้อง(อาลัย) ข้างหลังเสีย
จงเปลื้อง(อาลัย)ในท่ามกลางเสีย
จึงเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ
มีใจหลุดพ้นในธรรมทั้งปวง
จะไม่เข้าถึงชาติและชราอีก.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง การบรรลุธรรมพิเศษ ได้มีแล้ว แก่ชนเป็นอันมาก.
ฝ่ายอุคคเสน กำลังยืนอยู่ปลายไม่ไผ่ บรรลุพระอรหัตตผล พร้อมปฏิสัมภิทา ได้ลงจากลำไผ่มาสู่ที่ใกล้พระศาสดา ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ทูลขอพรรพชา พระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวา ตรัสกับนายอุคคเสนนั้นว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด” (ไม่มีคำต่อไปว่า จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด เพราะท่านเป็นพระอรหันต์มาก่อนบวชแล้ว)
ฐิตา:
07.เรื่องจูฬธนุคคหบัณฑิต
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า วิตกฺกมถิตสฺส เป็นต้น
ในกาลครั้งหนึ่ง ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง นำภัตตาหารไปฉันอยู่ในโรงฉัน หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยากจะดื่มน้ำ จึงไปที่บ้านหลังหนึ่ง เพื่อขอน้ำดื่ม และมีหญิงสาวคนหนึ่งตักน้ำมาถวายให้ดื่ม นางเห็นภิกษุนั้นแล้วเกิดความพึงพอใจ ต้องการจะได้ภิกษุมาเป็นสามี จึงกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ เมื่อมีความต้องการน้ำดื่ม ท่านก็พึงมาในเรือนนี้แหละแม้อีก” ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุนั้นเมื่อต้องการน้ำดื่มก็ได้ไปที่บ้านหลังนั้นเป็นประจำ ต่อมา นางได้นิมนต์ภิกษุนั้นไปฉันภัตตาหารที่บ้าน และได้ถือโอกาสบอกกับท่านว่า ที่บ้านของนางมีทุกสิ่งทุกอย่าง จะขาดก็แต่เพียงคนที่จะมาช่วยดูแลจัดการเท่านั้น ภิกษุพอได้ยินเช่นนั้นก็เกิดความรักในหญิงสาว และต้องการจะสึกออกไปครองรักกับนางมาก จนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ ร่างกายผ่ายผอม ภิกษุอื่นๆจึงได้นำเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระศาสดา พระศาสดาได้ตรัสเรียกภิกษุนั้นมาเฝ้า และตรัสเล่าว่า ผู้หญิงคนนี้เคยทำเรื่องไม่ดีแบบเดียวกันนี้กับภิกษุนี้มาแล้วในอดีตชาติ
โดยในครั้งนั้น ภิกษุนี้เป็นจูฬธนุคคหบัณฑิต ไปศึกษาอยู่ในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ในกรุงตักกสิลา หลังสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้ลูกสาวของอาจารย์เป็นภรรยา ขณะพากันเดินทางจะกลับบ้านของฝ่ายชาย พบโจรป่ากลางทาง เกิดการต่อสู้ระหว่างจูฬธนุคคหบัณฑิต กับหัวหน้าโจร ขณะที่จูฬธนุคคหบัณฑิตจับหัวหน้าโจรฟาดล้มลงที่พื้นดิน จึงร้องบอกให้ภรรยาส่งดาบให้ แต่ภรรยาเกิดรักในหัวหน้าโจรอย่างฉับพลัน แทนที่จะยื่นดาบนั้นให้สามีกลับยื่นให้แก่หัวหน้าโจร ให้หัวหน้าโจรฆ่าสามี จากนั้นได้ตรัสประชุมชาดกว่า จูฬธนุคคหบัณฑิค คือ ภิกษุรูปนี้ ส่วนหญิงที่เป็นภรรยา ก็คือ หญิงสาวแรกรุ่นคนนี้นี่เอง
แล้วทรงโอวาทภิกษุนั้นว่า “ หญิงนั้น ปลงบัณฑิตผู้เลิศ ในชมพูทวีปทั้งสิ้น จากชีวิต เพราะความสิเนหาในชายคนหนึ่ง ซึ่งตนเป็นครู่เดียวนั้นอย่างนี้ ภิกษุ เธอจงตัดตัณหาของเธอ อันปรารภหญิงนั้นเกิดขึ้นเสีย”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
วิตกฺกมถิตสฺส ชนฺตุโน
ติพฺพราคสฺส สุภานุปสฺสิโน
ภิยฺดย ตณฺหา ปวฑฺฒติ
เอส โข ทฬฺหํ กโรติ พนฺธนํ ฯ
วิตกฺกูปสเม จ โย รโต
อสุภํ ภาวยตี สทา สโต
เอโส โข พฺยนฺติกาหติ
เอสจฺฉินฺทติ มารพนฺธนํ ฯ
ตัณหา ย่อมเจริญยิ่งแก่ชนผู้ถูกวิตกย่ำยี
มีราคะจัด เห็นอารมณ์ว่างาม
บุคคลนั่นแล ย่อมทำเครื่องผูกให้มั่น.
ส่วนภิกษุใด ยินดีในธรรมเป็นที่เข้าไประงับวิตก
เจริญอสุภฌานอยู่มีสติทุกเมื่อ
ภิกษุนั่นแล จักทำตัณหาให้สูญสิ้นได้
ภิกษุนั่น จะตัดเครื่องผูกแห่งมารได้.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภิกษุนั้นบรรลุโสดาปัตติผล พระธรรมเทศนามีประโยชน์ แม้แก่บุคคลผู้มาประชุมกัน.
ฐิตา:
08.เรื่องมาร
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภมาร ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า นิฏฺฐํ คโต เป็นต้น
ในกาลครั้งหนึ่ง มีภิกษุจำนวนมากเดินทางมาที่วัดพระเชตวัน จึงไล่ให้พระราหุลเถระให้ลุกขึ้น ท่านไม่เห็นที่จะไปนอนในที่อื่น จึงได้ไปนอนที่หน้ามุขพระคันธกุฏีของพระศาสดา ในตอนนั้นท่านพระราหุลเถระสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว มารชื่อวสวัสดี ต้องการจะสร้างความกังวลพระทัยให้กับพระศาสดาโดยกลั่นแกล้งพระราหุลเถระผู้โอรส จึงได้แปลงร่างเป็นช้างใหญ่เอางวงรัดที่ศีรษะของพระเถระ แล้วส่งเสียงร้องเพื่อให้ตกใจกลัว พระศาสดาบรรทมในพระคันธกุฎี ทรงทราบว่าช้างนั้นเป็นมาร จึงตรัสว่า “ มาร คนเช่นท่านแม้ตั้งแสน ก็ไม่สามารถเพื่อจะให้ความกลัวเกิดแก่บุตรของเราได้ เพราะว่า บุตรของเรามีปกติไม่สะดุ้ง มีตัณหาไปปราศแล้ว มีความเพียรใหญ่ มีปัญญามาก”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
นิฏฺฐํ คโต อสนฺตตาสี
วีตตณฺโห อนงฺคโณ
อจฺฉินฺทิ ภวสลฺสานิ
อนฺติโมยํ สมุสฺสโย ฯ
วีตตณฺโห อนาทาโน
นิรุตฺติปทโกวิโท
อกฺขรานํ สนฺนิปาตํ
ชญฺญา ปุพฺพาปรานิ จ
ส เว อนฺติมสารีโร มหาปญฺโญ
(มหาปุริโสติ) วุจฺจติฯ
ผู้ใด ถึงความสำเร็จ มีปกติไม่สะดุ้ง
มีตัณหาไปปราศจากแล้ว
ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวนใจ
ได้ตัดลูกศรอันให้ไปสู่ภพทั้งหลายเสียแล้ว
กายนี้ของผู้นั้น ชื่อว่ามีในที่สุด ผู้ใดมีตัณหาไปปราศแล้ว
ไม่มีความถือมั่น ฉลาดในบทแห่งนิรุตติ
รู้ที่ประชุมแห่งอักษรทั้งหลาย
และรู้เบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งอักษรทั้งหลาย
ผู้นั้นแล มีสรีระมีในที่สุด เราย่อมเรียกว่าผู้มีปัญญามาก(เป็นมหาบุรุษ)”
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ฝ่ายมารผู้มีบาป คิดว่า “พระสมณโคดม ย่อมทรงรู้ว่าเป็นเรา” แล้วอันตรธานไปจากที่นั้น.
ฐิตา:
09.เรื่องอุปกาชีวก
พระศาสดา ทรงปรารภอาชีวกชื่ออุปกะ ในระหว่างทาง ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า สพฺพาภิภู เป็นต้น
ที่มาของการตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้มีว่า
ในสมัยหนึ่ง พระศาสดา ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ทรงยังกาลให้ล่วงไปที่ควงไม้โพธิ์ 7 สัปดาห์ ทรงถือบาตรและจีวรของพระองค์ เสด็จดำเนินไปสิ้นหนทางประมาณ 18 โยชน์มุ่งกรุงพาราณสี เพื่อจะทรงแสดงพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร แก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ได้ทอดพระเนตรเห็นอาชีวกชื่ออุปกะในระหว่างทาง ฝ่ายอุปากาชีวก เห็นพระศาสดาแล้ว ทูลถามว่า “ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณก็บริสุทธิ์ผุดผ่อง ผู้มีอายุ ท่านบวชเฉพาะใคร ? ใครเป็นศาสดาของท่าน ? หรือท่านชอบใจธรรมของใคร ?”
ลำดับนั้น พระศาสดา ตรัสว่า “เราไม่มีอุปัชฌาย์หรืออาจารย์” จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
สพฺพาภิภู สพฺพวิทูหมสฺมิ
สพฺเพสุ ธมฺเมสุ อนูปลิตฺโต
สพฺพญฺชโห ตณฺหกฺขเย วิมุตฺโต
สยํ อภิญฺยาย กมุทฺทิเสยฺยํ ฯ
เราเป็นผู้ครอบงำธรรมได้ทั้งหมด
รู้ธรรมทุอย่าง ไม่ติดอยู่ในธรรมทั้งปวง
ละธรรมได้ทุกอย่าง
พ้นแล้ว ในเพราะธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา
รู้เองแล้ว จะพึงอ้างใครเล่า ?(ว่าเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์).
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง อุปกาชีวก ไม่ยินดี ไม่คัดค้านพระดำรัสของพระตถาคต ได้แต่สั่นศีรษะ แลบลิ้น เดินทางที่ทางแคบๆ ไปสู่ที่พักของนายพรานแห่งหนึ่ง.
ฐิตา:
10. เรื่องท้าวสักกเทวราช
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภท้าวสักกเทวราช ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า สพฺพทานํ เป็นต้น
ในกาลครั้งหนึ่ง เทพดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประชุมกันแล้วตั้งปัญหาถามกัน 4 ข้อ คือ
1. บรรดาทานทั้งหลาย ทานชนิดไหนหนอแล ? บัณฑิตกล่าว่าเยี่ยม
2. บรรดารสทั้งหลาย รสชนิดไหน? บัณฑิตกล่าวว่ายอด
3. บรรดาความยินดีทั้งหลาย ความยินดีชนิดไหน? บัณฑิตกล่าวว่าเลิศ
4. ความสิ้นไปแห่งตัณหา บัณฑิตกล่าวว่า ประเสริฐที่สุด เพราะเหตุใด ?
ปรากฏว่าไม่มีเทพดาตนใดตอบคำถามเหล่านี้ได้ ท้าวสักกเทวราช จึงได้ทรงพาเทพดาทั้งหลายไปทูลถามปัญญาทั้ง 4 ข้อเหล่านี้แด่พระศาสดา ณ วัดพระเชตวัน พระศาสดาตรัสว่า “ดีละ มหาบพิตร อาตมภาพบำเพ็ญบารมี 30 ทัศ บริจาคมหาบริจาค แทงตลอดพระสัมพัญญุตญาณแล้ว เพื่อตัดความสงสัยของชนผู้เช่นพระองค์นี่แหละ ขอพระองค์จงทรงสดับปัญญาที่พระองค์ถามแล้วเถิด บรรดาทานทุกชนิด ธรรมทานยอดเยี่ยม บรรดารสทุกชนิด รสแห่งธรรมเป็นยอด บรรดาความยินดีทุกชนิด ความยินดีในธรรมประเสริฐ ส่วนความสิ้นไปแห่งตัณหาประเสริฐที่สุดแท้ เพราะความเป็นเหตุให้สัตว์บรรลุพระอรหัต”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ
สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ
ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ ฯ
ธรรมทาน ย่อมชนะทานทั้งปวง
รสแห่งธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง
ความยินดีในธรรม ย่อมชนะความยินดีทั้งปวง
ความสิ้นไปแห่งตัณหา ย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง การตรัสรู้ธรรม ได้มีแก่สัตว์ 8 หมื่น 4 พัน.
ท้าวสักกเทวราช ทรงสดับธรรมกถาพระศาสดา ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ทูลว่า “พระเจ้าข้า เพราะเหตุใด พระองค์จึงไม่รับสั่งให้ๆส่วนบุญแก่พวกข้าพระองค์ ในธรรมทานอันชื่อว่าเยี่ยมอย่างนี้ ? จำเดิมแต่นี้ไป ขอพระองค์ได้โปรดตรัสบอกแก่ภิกษุทั้งหลายให้ๆส่วนบุญแก่พวกข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า” พระศาสดาทรงรับคำของท้าวเธอแล้ว รับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พวกเธอทำการฟังธรรมใหญ่ก็ดี การฟังธรรมตามปกติก็ดี กล่าวอุปนิสินนกถาก็ดี โดยที่สุดแม้การอนุโมทนา แล้วพึงให้ส่วนบุญแก่สัตว์ทั้งปวง”
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version