อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 25 : ภิกขุวรรค

(1/3) > >>

ฐิตา:



เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 25 : ภิกขุวรรค
01.เรื่องภิกษุ 5 รูป

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภภิกษุ  5  รูป  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  จกฺขุนา  สํวโร  สาธุ  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  ภิกษุ 5  รูป  ในกรุงสาวัตถี  สำรวมระวังทวาร 5 (ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย)  ต่างรูปต่างทวารกัน  ซึ่งแต่ละรูปก็อ้างว่าตนรักษาทวารที่รักษาได้ยากยิ่ง  เถียงกันไม่เป็นที่ยุติ  จึงได้นำเรื่องขึ้นทูลถามพระศาสดา  ว่าทวารไหนรักษายากยิ่งกว่ากัน ? พระศาสดา  ไม่ทรงทำให้ภิกษุรูปหนึ่งรูปใดน้อยใจ  ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  ทวารเหล่านั้นแม้ทั้งหมด  เป็นสิ่งที่รักษาได้โดยยากแท้ “  และใช้วิธีนำอดีตชาติของภิกษุนั้นแต่ละรูปมาทรงเล่า  เพื่อจะทรงสั่งสอนว่าภิกษุเหล่านี้เคยถึงความพินาศ เมื่อครั้งอดีตมาแล้วก็เพราะไม่สำรวมระวังทวารทั้ง  5 โดยทรงนำเรื่องตักกสิลาชาดกมาเล่า  จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสว่า “ธรรมดาภิกษุ  ควรสำรวมทวารแม้ทั้งหมด  เพราะว่า  ภิกษุสำรวมทวารเหล่านั้นนั่นแล  บ่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สองพระคาถานี้ว่า

จกฺขุนา   สํวโร  สาธุ
สาธุ  โสเตน  สํวโร
ฆาเนน  สํวโร  สาธุ
สาธุ  ชิวฺหาย  สํวโร ฯ

กาเยน  สํวโร  สาธุ
สาธุ  วาจาย  สํวโร
มนสา  สํวโร  สาธุ
สาธุ  สพฺพตฺถ  สํวโร
สพฺพตฺถ  สํวุโต  ภิกฺขุ
สพฺพทุกขา  ปมุจฺจติ ฯ

ความสำรวมทางตา  เป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ
ความสำรวมทางหู  เป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ
ความสำรวมทางจมูก  เป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ
ความสำรวมทางลิ้น  เป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ.

ความสำรวมทางกาย  เป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ
ความสำรวมทางวาจา  เป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ
ความสำรวมทางใจ  เป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ 
ความสำรวมในทวารทั้งปวง เป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ
ภิกษุสำรวมแล้วในทวารทั้งปวง ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง    ภิกษุ 5 รูป  บรรลุโสดาปัตติผล  พระธรรมเทศนามีประโยชน์  แม้แก่มหาชนผู้ประชุมกัน.


ฐิตา:


  02.เรื่องภิกษุฆ่าหงส์

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภภิกษุผู้ฆ่าสงส์ตัวหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  หตฺถสญฺญโต  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  ภิกษุรูปหนึ่ง  มีความเชี่ยวชาญในการในการดีดก้อนกรวด  สามารถดีดวัตถุที่เคลื่อนที่ได้โดยไม่พลาด  วันหนึ่ง  ภิกษุรูปนี้นั่งอยู่กับภิกษุอีกรูปหนึ่ง  หลังจากลงไปอาบน้ำในแม่น้ำอจิรวดีขึ้นมาแล้ว  ก็เห็นหงส์ 2 ตัวบินมาในอากาศ  จึงได้บอกกับภิกษุอีกรูปหนึ่งที่นั่งอยู่ด้วยกันว่า  จะเอาก้อนกรวดดีดไปที่ตาของหงส์ตัวหนึ่งที่บินมานั้น  ว่าแล้วก็ดีดก้อนกรวดไป   เมื่อหงส์ได้ยินเสียงก้อนกรวด  มันก็หันกลับมามอง ก้อนกรวดที่ภิกษุดีดไปนั้นก็ได้ถูกที่ตาข้างหนึ่งทะลุไปออกที่ตาอีกข้างหนึ่งของนกตัวนั้น   หงส์ตัวนั้นส่งเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดและม้วนตัวตกลงมาที่แทบเท้าของภิกษุนั้น

ภิกษุทั้งหลายที่เห็นเหตุการณ์ก็ได้นำภิกษุนั้นไปเฝ้าพระศาสดา  พระศาสดาทรงตำหนิการกระทำของภิกษุนั้น  แล้วตรัสว่า “ภิกษุ  เธอบวชในพระศาสนาที่เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ แต่กลับกระทำแล้วอย่างนี้  เพราะเหตุอะไร?  บัณฑิตในปางก่อน   เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติ แม้จะเป็นฆราวาสครองเรือนอยู่  ก็ยังรังเกียจการกระทำเช่นนี้ ส่วนเธอบวชในพระพุทธศาสนา หาได้รังเกียจแม้แต่น้อยไม่”   และได้ทรงนำเรื่องในชาดกเรื่องหนึ่งมาทรงเล่า  แล้วได้สรุปว่า “ภิกษุ  บัณฑิตในกาลก่อน  แม้จะมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น ก็ยังรังเกียจแม้แต่เรื่องทำผิดเล็กน้อย แต่เธอสิบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้เช่นด้วยกับเรา  ยังทำปาณาติบาตอยู่เช่นนี้  นับว่าได้ทำกรรมอันหนักยิ่งนัก  ธรรมดาภิกษุ  ควรเป็นผู้สำรวมด้วยมือ  เท้า  และวาจา”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

หตฺถสญฺญโต  ปาทสญฺญโต
วาจาย  สญฺญโต  สญฺญตุตฺตโม
อชฺฌตฺตรโต  สมาหิโต
เอโก  สนฺตุสิโต  ตมาหุ  ภิกขํ ฯ

บัณฑิตทั้งหลาย   กล่าวบุคคลผู้มีมือสำรวมแล้ว
มีเท้าสำรวมแล้ว  มีวาจาสำรวมแล้ว  มีตนสำรวมแล้ว
ยินดีในธรรมอันเป็นไปภายใน  มีจิตตั้งมั่นแล้ว
เป็นคนโดดเดี่ยว  สันโดษ  ว่า เป็นภิกษุ.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:


  03.เรื่องภิกษุชื่อโกกาลิกะ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภภิกษุชื่อโกกาลิกะ    ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  โย  มุขสญฺญโต  เป็นต้น

ภิกษุชื่อโกกาลิกะ  ด่าว่าพระอัครสาวกทั้งสอง คือ  พระสารีบุตรเถระ  และพระมหาโมคคัลลานเถระ  ครั้นมรณภาพแล้ว  ผลกรรมนี้ได้ส่งให้ไปเกิดในปทุมนรก  เมื่อภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้มาสนทนากัน  พระศาสดาทรงทราบ  ตรัสว่า  ภิกษุโกกาลิกะนี้เคยเดือดร้อนเพราะปากมาตั้งแต่ในอดีตชาติ และได้ทรงนำเรื่องในอดีตมาทรงเล่าว่า  ภิกษุโกกาลกะนี้เคยเกิดเป็นเต่า  ถูกหงส์ 2 ตัวคาบ  จะพาไปเที่ยวที่ถ้ำแห่งหนึ่ง  โดยเต่าคาบกลางไม้  ส่วนหงส์ 2  ตัวนั้นคาบที่ปลายไม้ตัวละข้าง แล้วทะยานบินขึ้นสู่อากาศ  พวกเด็กๆเห็นหงส์คาบเต่าบินมา  ก็ร้องตะโกนว่า  “หงส์หามเต่า ๆ” เต่าอายพวกเด็กๆ นึกอยากจะพูดว่า “เต่าหามหงส์  ไม่ใช่หงส์หามเต่า”  แต่พออ้าปากจะพูด ปากก็เลยหลุดจากไม้ที่คาบมา  ตกลงมาตายที่พื้นดิน  เมื่อทรงเล่าเรื่องในอดีตจบลงแล้ว  พระศาสดาตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  ธรรมดาเป็นผู้สำรวมปาก  ประพฤติเรียบร้อย   ไม่ฟุ้งซ่าน  มีจิตสงบ”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

โย  มุขสญฺญโต  ภิกขุ
มนฺตภาณี   อนุทธโต
อตฺถํ  ธมฺมญฺจ  ทีเปติ
มธุรนฺตสฺส  ภาสิตํ  ฯ

ภิกษุใด  สำรวมปาก
มีปกติกล่าวด้วยปัญญา
ไม่ฟุ้งซ่าน  แสดงอรรถและธรรม
ภาษิตของภิกษุนั้น  ย่อมไพเราะ .

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


ฐิตา:


  04.เรื่องพระธรรมารามเถระ

พระธรรมารามเถระ  พอได้ทราบข่าวว่า  พระศาสดาจะเสด็จดับขันธปรินิพพานภายใน  4  เดือนข้างหน้า  แทนที่จะกระทำอย่างภิกษุรูปอื่นๆ ที่คอยติดตามพระศาสดาอยู่ตลอดเวลา  กลับปลีกตัวเองไปบำเพ็ญสมณธรรม  โดยหวังจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก่อนที่พระศาสดาจะดับขันธ์ปรินิพพานให้ได้  ภิกษุทั้งหลายเข้าใจผิด  คิดว่าพระธรรมารามเถระ ไม่จงรักภักดีพระศาสดา  จึงได้นำความขึ้นกราบทูลให้ทรงทราบ  พระศาสดามีรับสั่งให้เรียกตัวมาเฝ้าแล้วตรัสถามถึงเหตุผล  เมื่อทรงทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงแล้ว  ได้ประทานสาธุการแก่พระธรรมารามเถระว่า  “ดีละ ๆ”  แล้วตรัสว่า   “ภิกษุทั้งหลาย  อันภิกษุผู้มีความรักในเราแม้รูปอื่น  พึงเป็นเช่นภิกษุธรรมารามนี้แหละ  แท้จริง  ภิกษุทั้งหลาย  เมื่อทำการบูชาด้วยระเบียบและของหอมเป็นต้น  หาชื่อว่าทำการบูชาแก่เราไม่  ผู้ปฎิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเท่านั้น  จึงชื่อว่าบูชาเรา”
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ธมมาราโม  ธมฺมรโต
ธมมํ  อนุวิจินฺตยํ
ธมฺมํ  อนุสสรํ  ภิกฺขุ
สทฺธมฺมา  น  ปริหายติ  ฯ

ภิกษุมีธรรมเป็นที่มายินดี  ยินดีแล้วในธรรม
ใคร่ครวญอยู่ซึ่งธรรม
ระลึกถึงธรรมอยู่
ย่อมไม่เสี่อมจากพระสัทธรรม.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ภิกษุนั้นบรรลุพระอรหัตตผล  พระธรรมเทศนามีประโยชน์  แม้แก่ชนผู้มาประชุมกัน.

ฐิตา:



05. เรื่องภิกษุคบภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน  ทรงปรารภภิกษุผู้คบภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  สลาภํ  นาติมญฺเญยฺย  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  ภิกษุรูปหนึ่ง รับคำเชิญจากภิกษุที่เป็นพวกเดียวกับพระเทวทัต ให้ไปพักด้วย  และได้พักอยู่ที่นั่น 2-3 วัน  หลังจากกลับมาอยู่วัดเดิมแล้ว  ภิกษุอื่นๆได้นำเรื่องนี้ขึ้นกราบทูลพระศาสดาว่า ภิกษุรูปนี้ไปสมาคมกับภิกษุที่เป็นพวกของพระเทวทัต   ถึงขนาดไปพักอยู่ที่วัดของพระเทวทัตเป็นเวลา 2-3  วัน  ไปฉัน  ไปจำวัตรกับภิกษุพวกนั้นด้วย   พระศาสดามีรับสั่งให้ภิกษุนั้นมาเฝ้า  ทรงถามว่าเป็นจริงอย่างที่ภิกษุทั้งหลายกล่าวหาหรือไม่ ภิกษุนั้นกราบทูลว่าได้ไปพักที่วัดแห่งนั้นเป็นเวลา  2-3 วันจริง  แต่ไม่ได้ยินดีคำสอนในลัทธิของพระเทวทัต

พระศาสดาได้ทรงตำหนิภิกษุนั้น  และได้ทรงชี้ว่าพฤติกรรมเช่นนั้นส่อไปในทางที่จะทำให้ผู้อื่นเชื่อว่าเป็นศิษย์ของพระเทวทัต  และตรัสว่า  “แม้เธอจะไม่ชอบใจลัทธิคำสอนของพระเทวทัตก็จริง  แต่การที่เธอไปที่นั่นส่อแสดงว่าเธอเป็นสาวกของพระเทวทัต”     และได้ทรงนำเรื่องในมหิฬามุขชาดกมาเล่า  แล้วตรัสว่า   “ภิกษุทั้งหลาย  ธรรมดาภิกษุ  พึงเป็นผู้ยินดีด้วยลาภของตนเท่านั้น  การปรารถนาลาภของคนอื่นไม่สมควร  เพราะบรรดาฌาน   วิปัสสนา  มรรค  และ  ผลทั้งหลาย  แม้ธรรมสักอย่างหนึ่ง  ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารถนาลาภของผู้อื่น  แต่คุณชาติทั้งหลายมีฌานเป็นต้น  ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ยินดีด้วยลาภของตนเท่านั้น”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า

สลาภํ  นาติมญเญยฺย
นาญฺเญสํ  ปิหยํ  จเร
อญฺเญสํ  ปิหยํ  ภิกฺขุ
สมาธิ  นาธิคจฺฉติ  ฯ

อปฺปลาโภปิ  เจ  ภิกขุ
สลาภํ  นาติมญฺญติ
ตํ เว เทวา  ปสํสนฺติ
สุทธาชีวํ  อตนฺทิตํ ฯ

ภิกษุไม่ควรดูหมิ่นลาภของตน
ไม่ควรเที่ยวปรารถนาลาภของผู้อื่น
ภิกษุเมื่อปรารถนาลาภของผู้อื่น
ย่อมไม่ประสบสมาธิ.

ถ้าภิกษุแม้เป็นผู้มีลาภน้อย
ก็ไม่ดูหมิ่นลาภของตน
เทวดาทั้งหลาย  ย่อมสรรเสริญภิกษุนั้นแล
ว่าผู้มีอาชีพหมดจด  ไม่เกียจคร้าน.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version