อุบายวิธีถอดถอนอุปาทานขันธ์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
พระธรรมเทศนา
โดยพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
แสดง ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘คำว่า “จิต” เป็นความรู้เพียงเท่านั้น ไม่มีเรื่องราวอะไรมากนัก
ยิ่งมีความรู้อยู่โดยเฉพาะจิตก็ไม่มีเรื่อง
พอจิตกระเพื่อมตัวออกสู่ความคิดความปรุง ความจดจำ สำคัญมั่นหมายต่างๆ
ในสิ่งที่เคยผ่านเคยรู้เคยเห็นมาแล้ว นั่นจิตเริ่มก่อเรื่อง
และขยายตัวออกไปไม่มีที่สิ้นสุดยุติลงได้ เรื่องจึงมีอยู่เรื่อยๆ และขยายตัวออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งออกไปแล้วเข้าไม่ถูก
เหมือนกับก่อไฟแล้วดับไม่เป็น ไฟก็ลุกใหญ่
จิตคิดออกไปแล้ว ระงับดับความคิดของตนไม่ได้ จึงกลายเป็นเรื่องราวเข้ามาสู่ตนเอง ให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา
“
อกาลิโก” คือไม่กำหนดสถานกาลเวลา มีอยู่เช่นนั้นทุกหัวใจ
ถ้ามีแต่ความรู้เท่านั้นก็ไม่มีเรื่อง ถ้าเทียบก็เหมือนเมล็ดผลไม้
ที่มีแต่เมล็ดเท่านั้นมันก็ไม่มีเรื่องมาก แต่พอมันแตกออกมาเป็นต้นแล้ว
ก็มีใบ รากแก้ว รากฝอย เปลือก กระพี้ แก่น กิ่งน้อยใหญ่ ใบอ่อน ใบแก่
มีดอกผลเต็มไปหมดทั้งต้น ไม่สามารถจะพรรณนาได้
พอมันแตกออกจากเมล็ดแล้วเท่านั้น มันขยายตัวออกไป
จนไม่อาจที่จะนับได้ว่า รากแก้ว รากฝอย มีเท่าไร แผ่ออกไปกว้างแคบขนาดไหน
รากแก้วมันลงลึกขนาดไหน เปลือกก็หุ้มตัวกระพี้แก่นลำต้นขยายตัวออกไปเรื่อยๆ
กิ่งก้านสาขา ใบอ่อนใบแก่ กิ่งน้อยกิ่งใหญ่ ดอกใหม่ดอกเก่า
สลับซับซ้อนเต็มไปหมดในต้นไม้ต้นเดียวกัน จนไม่สามารถจะนับได้
นี่เราเทียบกับจิต ที่กระเพื่อมตัวออกคิดปรุงเรื่องต่างๆ ขยายตัวออกไป ไม่มีที่สิ้นสุด
เรื่องเก่าผ่านมานานเพียงไรก็ไปคิดได้หมด นำอารมณ์นั้นๆ มายุ่งตัวเอง
สิ่งที่ไม่เคยผ่าน ก็คิดไปเดาไปด้นไป สำคัญมั่นหมายไปเรื่อยๆ
ซึ่งล้วนแต่เรื่องยุ่งออกไปจากใจที่คิดปรุงทั้งนั้น
ถ้าเราไม่เคยเห็นความยุ่ง เวลาภาวนาจะรู้เรื่องความยุ่งไปเอง
ว่าจิตเป็นตัวยุ่งที่สุดในโลก ไม่มีสิ่งใดจะยุ่งยิ่งกว่าจิต
ร่างกายของเราเวลาหิวกระหายมา พอรับประทานเสียก็ระงับดับกันไป
กระหายน้ำ ดื่มเสียก็ระงับความกระหาย ไม่กวนอยู่ตลอดเวลาเหมือนจิต
เวลาง่วงเหงาหาวนอนก็พาพักผ่อนนอนหลับไปเสีย เวลาเมื่อยเพลียก็พักผ่อนเสีย
เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาก็บำบัดรักษาเสีย ก็ยังมีกาลมีเวลาระงับดับลง
พอเป็นความสุขกายสบายธาตุขันธ์บ้างส่วนจิตใจไม่เป็นอย่างนั้น ก่อกวนอยู่ตลอดเวลา
เพราะความกระเพื่อมตัวเป็นไปอยู่เสมอ และมีเครื่องผลักดันออกมาให้คิดให้ปรุงอยู่เช่นนั้น
จิตจึงเป็นเหมือน “ลูกฟุตบอล” นั่นเอง ถูกเตะให้กลิ้งไปนั่นกลิ้งไปนี่ กลิ้งไปกลิ้งมา
ถูกฝ่าเท้าของกิเลสทั้งเตะ ทั้งเหยียบย่ำทำลายขยี้จะเอาให้แหลกจริงๆ
แต่จิตก็เป็นสิ่งที่ทน ไม่มีอะไรที่จะทนยิ่งกว่าจิต เหนียวแน่นยิ่งกว่าจิต
จะทำลายให้ฉิบหายไปก็ฉิบหายไม่ได้ เป็นแต่เพียงความทุกข์ความทรมาน
เพราะสิ่งเหล่านั้นบีบบังคับเท่านั้นเอง นี่แหละจึงได้รู้ว่า
“เรื่องทั้งมวลออกจากจิตดวงเดียวนี้เท่านั้น” ไม่มีอะไรที่จะก่อเรื่องนอกจากจิตเป็นผู้ก่อ
การระงับเรื่องจึงต้องระงับที่ต้นเหตุ คือจิตเป็นต้นเหตุและผลิตผลขึ้นมาในจิตนั้นด้วย
จึงต้องระงับที่ตรงนั้นด้วยอุบายวิธีต่างๆอุบายวิธีนั้นก็ไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถนำมาใช้ได้ผล
เหมือนอุบายวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้
ที่ท่านเรียกว่า “สวากขาตธรรม” คือ ตรัสไว้ชอบ สมควรแก่การแก้กิเลส
หรือระงับดับกิเลสที่เกิดขึ้นกับตนได้ ด้วยความถูกต้องแม่นยำ
เหมาะสมกับการแก้กิเลสนั้นๆ ทุกประเภท
การที่กระทบความทุกข์ความลำบากนั้นน่ะกระทบด้วยกันทุกคน ไม่ว่าสัตว์ไม่ว่าบุคคล
ใครจะมีความรู้มากน้อยเพียงใดก็ต้องได้รับสัมผัส ได้รับรู้ความทุกข์
ที่ได้รับความกระทบกระเทือนอยู่ภายในจิตใจและร่างกายตลอดมา
แต่ไม่มีใครจะสามารถหาอุบายวิธีแก้ไขความกระทบกระเทือน
อันเป็นสิ่งสำคัญระหว่างจิตกับอารมณ์ที่ปรุงขึ้นมาภายในตนเองได้
จิตชอบถือสิ่งภายนอกเป็นนิมิตเป็นเครื่องหมาย
แล้วนำเข้ามาคิดปรุงแต่งต่างๆ ให้เกิดความทุกข์ความทรมานแก่ตนอุบายวิธีระงับดับสิ่งเหล่านี้ มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่เป็นผู้เฉลียวฉลาด
สามารถทำจนได้ผล แล้วทรงนำทั้งเหตุทั้งผลนั้น
มาสอนพุทธบริษัท คือสัตว์โลกทั่วๆ ไปให้รู้วิธีการ
ผู้ใดมีความสนใจเชื่อตามหลักธรรม ที่ทรงประพฤติปฏิบัติและได้ผลมาแล้ว
นำมาปฏิบัติตนตามที่ท่านสอนไว้ ผู้นั้นก็ได้รับผลไปโดยลำดับจนเป็นที่พึงพอใจ
การระงับดับทุกข์ จึงหมายถึงใจเป็นสำคัญ
เอา“ใจ”เป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา เพราะตัวนี้เป็นตัวการ
ถ้าพูดก็ว่าผู้ต้องหาคือจิตดวงนี้ คนขี้คุกขี้ตะรางก็คือจิตดวงนี้
ถูกกักถูกขังอยู่ใน “วัฏสงสาร” ภพน้อยภพใหญ่
ล้วนแล้วแต่เป็นภพที่ได้รับความทุกข์ความทรมาน รับวิบาก
คำว่า “วิบาก” ก็คือผล ผลที่เกิดขึ้นจากเหตุ
ก็ต้องทำให้ผู้กระทำนั้นได้รับความทุกข์ความลำบากในภพน้อยภพใหญ่
ท่องเที่ยวอยู่อย่างนั้นเพราะหาทางออกไม่ได้
พระพุทธเจ้าจึงทรงเปิดทางให้รู้ทางออกรู้วิธีออก เรียกว่า “นิยยานิกธรรม”
นำสัตว์โลกที่ติดข้องด้วยสิ่งมืดมัว อันเป็นเครื่องปิดบังทั้งหลายนี้
ให้ออกได้โดย “นิยยานิกธรรม”
สั่งสอนโดยลำดับๆ นับตั้งแต่ธรรมขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุดทาน การให้ทาน ก็เป็นธรรมแก้กิเลสประเภทหนึ่ง
คือความตระหนี่เหนียวแน่น ความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นคู่มิตรกับความโลภมาก
นี่เป็นกิเลสผูกมัดรัดรึงใจจนหาทางออกไม่ได้
ผู้ที่มีศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใส มีความพอใจในการให้ทาน
จึงชื่อว่าเป็นผู้แก้กิเลสตัวเหนียวแน่นอยู่ภายในจิตใจนี้ออกได้โดยลำดับ
จนกระทั่งเป็นผู้เสียสละไม่มีความอาลัยเสียดาย เป็นที่พอใจ
เมื่อได้เสียสละอะไรลงไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นมากน้อย เกิดเป็นความสุขขึ้นมาภายในใจ
นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากการแก้กิเลสตัวเหนียวแน่น ตัวตระหนี่ถี่เหนียว ตัวเห็นแก่ตัว
ตัวส่งเสริมให้เกิดความโลภมากไม่มีเมืองพอ จนเห็นความเบาบางประจักษ์ใจ
วัตถุนั้นเป็นอันหนึ่งต่างหาก ที่จะทำให้จิตไปเกาะไปยึด
แล้วสั่งสมกิเลสและความทุกข์ขึ้นแก่ตัวเอง
วัตถุนั้นไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญอะไรนัก
ที่สำคัญก็คือผู้ไปยึดไปถือวัตถุสิ่งของทองเงินเป็นต้น นี้แลคือผู้เป็นภัยต่อจิตใจ
ความยินดีในการเสียสละเพื่อประโยชน์ตามเหตุตามผลที่จะเสียสละมากน้อย
แก่บุคคลใด แก่สัตว์ตัวใด หรือแก่ผู้ใด
จนมีความเสียสละได้ด้วยความปีติยินดี พอใจ ไม่อาลัยเสียดาย
นี่เชื่อว่าเป็นผู้ชนะกิเลสประเภทนี้ไปแล้วโดยลำดับ มิหนำซ้ำยังเกิดความปลื้มอกปลื้มใจในเมื่อได้ทำตามความต้องการแล้ว
นี่คือผลแห่ง
การชนะกิเลสประเภทเหนียวแน่นนี้ออกได้
นี่ก็เรียกว่า “นิยยานิกธรรม” เป็นทางที่นำสัตว์ออกจากทุกข์
คือความผูกมัดรัดรึงเหล่านี้ ด้วยอำนาจของกิเลสตัวหวงแหนไปได้เป็นขั้นๆ
ศีล ก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน แก้กิเลสในข้อหนึ่งๆ นั้น
ปาณาฯ สัตว์มีชีวิต คนมีชีวิต อะไรมีชีวิต
ผู้นั้นเป็นผู้รักสงวนชีวิตของตนเท่าเทียมกันกับเรา
การไม่ทำเขาให้มีความกระทบกระเทือนหรือเจ็บช้ำ ตลอดถึงความล้มตายไป
ก็เพราะเห็น
คุณค่าของเขาของเรา ความไม่เห็นคุณค่าของเขาโดยความเห็นแก่ตัว เป็นกิเลสประเภทหนึ่ง
คนทั้งโลกสัตว์ทั้งโลก เห็นเป็นคนแต่เราคนเดียวแล้วทำลายคนอื่นสัตว์อื่นได้
โดยไม่มีความละอายบาป ไม่มีความนึกคิดในเรื่องบุญเรื่องบาปเลย
ขอแต่เป็นความพอใจของตน ใครจะฉิบหายวายปวงด้วยชีวิตจิตใจร่างกายอะไรก็ตาม
นี่เป็นกิเลสประเภทสำคัญมากเช่นเดียวกัน
การไม่ให้ทำเพราะเห็นความสำคัญแห่งชีวิตของเขาของเรานี้
เรียกว่าเป็นการแก้กิเลสประเภทที่เห็นแก่ตัว ใน
ลักษณะดังที่กล่าวมานี้ออกได้
อทินนาฯ พึงเทียบลักษณะเดียวกับ กาเม มุสา สุรา
ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของกิเลส เครื่องผูกมัดจิตใจของสัตว์
ให้ได้รับความทุกข์ความทรมานทั้งสิ้น เหล่านี้ล้วนแต่กิเลสด้วยกัน
จึงสอนวิธีแก้ด้วยการรักษาศีลข้อนั้น ๆ
ไม่ให้ใจกำเริบไปตามความละเมิดที่คิดอยากทำบาป ด้วยการทำลายศีลข้อนั้นๆ ไปในตัวพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเพื่อการแก้กิเลส
ไม่ใช่สั่งสอนอย่างปาวๆ หรือสอนอย่างไม่มีเหตุผล
พระองค์ทรงทราบหมดว่า กิเลสมันแทรกซ้อนอยู่ในอะไรบ้าง
จะทรงแก้ไขวิธีใด ทรงแยกแยะไว้หมด ให้ถึงตัวของกิเลสจริงๆ
ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของสัตว์โลก
และแสดงออกโดยอาการที่กล่าวมานี้
อาการ ๕ อย่าง ถ้าพูดถึงเรื่องศีลก็อาการ ๕ อย่าง
“
ปาณา อทินนา กาเม มุสา สุรา”
เป็นแต่ละประเภทๆ แห่งศีลธรรม เพื่อแก้กิเลส
และศีลธรรมเหล่านี้ก็คือ “ธรรม” นั่นเอง
แก้กิเลสประเภทนั้นๆ ที่หยาบคาย ด้วยธรรมห้าข้อที่ให้นามว่า “ศีล”
การทำลงไปนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องทำลายศีล
การคิดไม่ทำ หรืองดเว้นอยู่ภายในใจนั้นเป็นเรื่อง “ธรรม”
เป็นเรื่องแก้กิเลสอยู่ภายในใจ มีความหมายทุกสิ่งทุกอย่าง
ที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้อย่างไรต้องมีความหมายเต็มตัวทีเดียว
เราทั้งหลายมีความรักชอบในศีลในธรรมดังที่กล่าวมานี้
ชื่อว่าเป็นผู้รักธรรมในการแก้กิเลสอันเป็นข้าศึกต่อธรรม ดังที่กล่าวมานี้
ภาวนา คำว่า “ภาวนา” ยิ่งเป็นความละเอียดของจิตเข้าไปอีก
รวม
ความละเอียดของกิเลสเข้าไปเป็นชั้นๆ
ท่านจึงสอนให้เรียนเข้ามาหาตัวจิต ให้รู้เรื่องของจิต
จิตแสดงออกในอาการอย่างใด เช่นที่กล่าวเมื่อสักครู่นี้ว่า
“บ่อแห่งเหตุ บ่อแห่งความยุ่งเหยิงวุ่นวาย
ต้นเหตุของกองทุกข์อยู่ที่ไหน”
ก็คืออยู่ที่ใจ ท่านสอนให้ภาวนา ให้รู้ต้นเหตุ คือความคิดเป็นเหตุ
สอนให้บริกรรมภาวนาหรือให้กำหนดอารมณ์อันใดอันหนึ่ง
ให้เป็นเครื่องผูกจิตใจไม่ให้ไปคิดในแง่ต่างๆ
ซึ่งจะเป็นการสั่งสมกิเลสขึ้นมาโดยลำดับ
ให้จิตมีอารมณ์อันเดียวกับธรรมที่กำหนด ที่คำบริกรรมเท่านั้น
จนจิตมีความสืบต่อกันด้วยความรู้ที่เกี่ยวกับธรรมบทนั้นๆ ไม่ขาดวรรคขาดตอน แล้วกลายเป็นความสงบขึ้นมาภายในตน ท่านเรียกว่า “
จิตสงบ”
จิตแน่วแน่ไปแล้ว เรียกว่า “
จิตเป็นสมาธิ”