อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
อสังขตสังยุตต์วรรคที่ ๑
อสังขตสังยุตต์ อรรถกถาวรรคที่ ๑ และที่ ๒ บทว่า
อสํขตํ ได้แก่ อันปัจจัยไม่กระทำแล้ว.
บทว่า
หิเตสินา แปลว่า ผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล.
บทว่า
อนุกมฺปเกน แปลว่า อนุเคราะห์อยู่.
บทว่า
อนุกมฺปํ อุปาทาย ความว่า กำหนดด้วยจิตคิดช่วยเหลือ. ท่านอธิบายว่า อาศัย ดังนี้ก็มี.
บทว่า
กตํ โว ตํ มยา ความว่า ศาสดาเมื่อแสดงอสังขตะและทางแห่งอสังขตะนี้
ชื่อว่าทำกิจแก่เธอทั้งหลายแล้ว กิจคือการแสดงธรรมไม่วิปริตของศาสดาผู้อนุเคราะห์ ก็เพียงนี้เท่านั้น.
ส่วนการปฏิบัติต่อจากนี้ เป็นกิจของสาวกทั้งหลาย.
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
เอตานิ ภิกฺขเว รุกฺขมูลานิ ฯเปฯ อมฺหากํ อนุสาสนี ดังนี้ ด้วยบทนี้ ทรงแสดงเสนาสนะคือโคนไม้.
ด้วยบทว่า
สุญฺญาคารานิ นี้ ทรงแสดงสถานที่ที่สงัดจากชนและด้วยบททั้งสองทรงบอกเสนาสนะที่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางกายและใจ
ชื่อว่าทรงมอบมรดกให้.
บทว่า
ฌายถ ความว่า จงเข้าไปเพ่งอารมณ์ ๓๘ ด้วย
อารัมมณูปนิชฌาน และเพ่งขันธ์และอายตนะเป็นต้นด้วย
ลักขณูปนิชฌาน โดยเป็น
อนิจจลักษณะเป็นต้น. ท่านอธิบายว่า
จงเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนา.
บทว่า มา ปมาทตฺถ แปลว่า
อย่าประมาท.
บทว่า มา ปจฺฉา วิปฺปฏิสาริโน อหุวตฺถ
ความว่า ชนเหล่าใด เมื่อก่อนเวลาเป็นหนุ่มไม่มีโรค สมบูรณ์ด้วยความสบาย ๗ อย่างเป็นต้น ทั้งศาสดาก็อยู่พร้อมหน้า ละเว้นโยนิโสมนสิการเสีย เสวยสุขในการหลับนอน ทำตัวเป็นอาหารของเรือดทั้งคืนทั้งวัน ประมาทอยู่ ชนเหล่านั้น ภายหลัง เวลาชรา มีโรค ตาย วิบัติ ทั้งศาสดาก็ปรินิพพานแล้ว นึกถึงการอยู่อย่างประมาทก่อนๆ นั้น และพิจารณาเห็นความตายที่มีปฏิสนธิว่าเป็นเรื่องหนัก ย่อมเดือดร้อน แต่เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงดังนี้ จึงตรัสว่า มา ปจฺฉา วิปฺปฏิสาริโน อหุวตฺถ ดังนี้.
บทว่า อยํ โว อมฺหากํ อนุสาสนี มีอธิบายว่า นี้เป็นอนุศาสนีคือโอวาทแต่สำนักของเรา
เพื่อเธอทั้งหลายว่า ฌายถ มา ปมาทตฺถ
จงเพ่ง อย่าประมาท ดังนี้.
บทที่ควรจะกล่าว ในบทว่า
กาเย กายานุปสฺสี ดังนี้ เป็นต้นนั้น ข้าพเจ้าจักกล่าวข้างหน้า.
ในบทว่า
อนฺตํ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
ชื่อว่า
อันตะ เพราะไม่มีความยินดีด้วยอำนาจตัณหา. ชื่อว่า
อนาสวะ เพราะไม่มีอาสวะ ๔. ชื่อว่า
สัจจะ เพราะเป็นปรมัตถสัจจะ. ชื่อว่า
ปาระ เพราะอรรถว่าเป็น
ส่วนนอกจาก
วัฏฏะ คือฝั่งโน้นหมายถึงวิวัฏฏะ. ชื่อว่า
นิปุณะ เพราะอรรถว่าละเอียด. ชื่อว่า
สุทุททสะ เพราะเป็นธรรมที่เห็นได้แสนยาก. ชื่อว่า
อชัชชระ เพราะไม่คร่ำคร่าด้วยชรา. ชื่อว่า
ธุวะ เพราะอรรถว่ามั่นคง. ชื่อว่า
อปโลกินะ เพราะเป็นธรรมไม่บุบสลาย. ชื่อว่า
อทัสสนะ เพราะใครๆ ไม่พึงเห็นได้ด้วย
จักษุวิญญาณ. ชื่อว่า
นิปปปัญจะ เพราะไม่มีกิเลสเครื่องเนิ่นช้าคือ
ตัณหามานะและทิฏฐิ ชื่อว่า
สันตะ เพราะอรรถว่าเป็นสภาวะ. ชื่อว่า
อมตะ เพราะไม่มีความตาย. ชื่อว่า
ประณีต เพราะอรรถว่าสูงสุด. ชื่อว่า
สิวะ เพราะอรรถว่ามีความเยือกเย็น. ชื่อว่า
เขมะ เพราะปราศจากอันตราย. ชื่อว่า
ตัณหักขยะ เพราะเป็นปัจจัยให้สิ้นตัณหา.
ชื่อว่า
อัจฉริยะ เพราะควรปรบมือให้ เพราะอรรถว่าตั้งมั่นมาแต่สมาธิ. เรื่องที่ไม่เคยมีเคยเป็นนั่นแหละ ชื่อว่า
อัพภูตะ ควรจะกล่าวว่า ไม่เกิดแล้วมีอยู่. ชื่อว่า
อนีติกะ เพราะปราศจากทุกข์. ชื่อว่า
อนีติกธรรมะ เพราะเป็นธรรมปราศจากทุกข์ เป็นสภาวะ. ชื่อว่า
นิพพาน เพราะไม่มีตัณหาเครื่องร้อยรัด. ชื่อว่า
อัพยาปัชฌะ เพราะไม่มีความเบียดเบียน. ชื่อว่า
วิราคะ โดยเป็นปัจจัยแก่การบรรลุธรรมเครื่องคลายกำหนัด. ชื่อว่า
สุทธิ เพราะเป็นธรรมบริสุทธิ์โดยปรมัตถ์ ชื่อว่า
มุตติ เพราะเป็นธรรมพ้นจากภพ ๓ ชื่อว่า
อนาลยะ เพราะไม่มีอาลัย ชื่อว่า
ทีปะ เพราะอรรถว่าเป็นที่พึ่ง ชื่อว่า
เลณะ เพราะอรรถว่าควรที่จะพัก ชื่อว่า
ตาณะ เพราะอรรถว่าเป็นที่ต้านทาน ชื่อว่า
สรณะ เพราะอรรถว่ากำจัดภัย. อธิบายว่า ทำภัยให้พินาศ. ชื่อว่า
ปรายนะ เพราะเป็นที่ดำเนินไป เป็นที่ไป เป็นที่พึ่งอาศัยเบื้องหน้า.
บทที่เหลือในที่นี้ มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นเอง ดังนี้แล.
จบอรรถกถาวรรคที่ ๑ และที่ ๒
จบอรรถกถาสังขตสังยุต
:http://www.84000.org/tipitaka/pitakaPics by :
Googleอกาลิโกโฮม *
สุขใจดอทคอม อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ