ผู้เขียน หัวข้อ: องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๒.สัมมาสังกัปปะ)  (อ่าน 2204 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


                 

ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
๒. สัมมาสังกัปปะ
 
คำจำกัดความ และความหมายของสัมมาสังกัปปะ
 องค์มรรคข้อที่ ๒ นี้ มีคำจำกัดความตามคัมภีร์ ซึ่งถือเป็นหลักทั่วไป ดังนี้
 ภิกษุทั้งหลาย  สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน? เนกขัมมสังกัปป์ อพยาบาทสังกัปป์ อวิหิงสาสังกัปป์ นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ
 นอกจากนี้ ยังมีคำจำกัดความแบบแยกออกเป็น ระดับโลกิยะ และระดับโลกุตตระ ดังนี้
 ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน? เรากล่าวว่าสัมมาสังกัปปะมี ๒ อย่าง คือ สัมมาสังกัปปะที่ยังมีอาสวะ ซึ่งจัดเป็นฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์ อย่างหนึ่ง กับสัมมาสังกัปปะที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ และเป็นองค์มรรคอย่างหนึ่ง
 สัมมาสังกัปปะ  ที่ยังมีอาสวะ... คือ  เนกขัมมสังกัปป์  อพยาบาทสังกัปป์ อวิหิงสาสังกัปป์...
 สัมมาสังกัปปะ ที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรค คือ  ความระลึก (ตักกะ)  ความนึกคิด (วิตักกะ)  ความดำริ (สังกัปป์) ความคิดแน่วแน่ (อัปปนา) ความคิดแน่นแฟ้น (พยัปปนา) ความเอาใจจดจ่อลง   วจีสังขาร   ของบุคคลผู้มีจิตเป็นอริยะ   มีจิตไร้ อาสวะ ผู้พร้อมด้วยอริยมรรค ผู้กำลังเจริญอริยมรรคอยู่...

 เพื่อรวบรัด ในที่นี้ จะทำความเข้าใจกันแต่เพียงคำจำกัดความแบบทั่วไป ที่เรียกว่าเป็นขั้นโลกิยะ เท่านั้น ตามคำจำกัดความแบบนี้ สัมมา-สังกัปปะ คือ ความดำริชอบ หรือความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง ตรงข้ามกับความดำริผิด ที่เรียกว่า มิจฉาสังกัปปะ ซึ่งมี ๓ อย่าง คือ
๑. กามสังกัปป์ หรือ กามวิตก คือ ความดำริที่เกี่ยวข้องกับกาม ความนึกคิดในทางที่จะแสวงหาสิ่งเสพ ความคิดอยากได้ หรือหมกมุ่นพัวพันติดข้องอยู่กับสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕ หรือสิ่งสนองตัณหา อุปาทานต่างๆ ความคิดในทางเห็นแก่ตัว เป็นความนึกคิดในฝ่ายราคะ หรือโลภะ
๒. พยาบาทสังกัปป์ หรือ พยาบาทวิตก คือ ความดำริที่ประกอบด้วยความขัดเคือง ไม่พอใจ เคียดแค้น ชิงชัง คิดเห็นในแง่ร้ายต่างๆ ความขาดเมตตา เป็นความนึกคิดในฝ่ายโทสะแง่ถูกกระทบ
๓. วิหิงสาสังกัปป์ หรือ วิหิงสาวิตก คือ ความดำริในทางที่จะเบียดเบียน ทำร้าย การคิดที่จะข่มเหง รังแก ต้องการก่อทุกข์ ทำให้คนและสัตว์ทั้งหลายเดือดร้อน ไม่มีความกรุณา เป็นความนึกคิดในฝ่ายโทสะแง่จะออกไปกระทบ

 ความดำริหรือแนวความคิดแบบนี้ เป็นเรื่องปรกติของคนส่วนมาก เพราะตามธรรมดา เมื่อปุถุชนรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะโดยการเห็น ได้ยิน ได้สัมผัส เป็นต้น ก็ตาม จะเกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่าง คือ ถ้าถูกใจ ก็ชอบ ติดใจ อยากได้ พัวพัน คล้อยตาม ถ้าไม่ถูกใจ ก็ไม่ชอบ ขัดใจ ขัดเคือง ชัง ผลัก แย้ง เป็นปฏิปักษ์ จากนั้น ความดำริ นึกคิดต่างๆ ก็จะดำเนินไปตามแนวทางหรือตามแรงผลักดันของความชอบและไม่ชอบนั้น

 ด้วยเหตุนี้ ความคิดของปุถุชนโดยปกติ จึงเป็นความคิดเห็นที่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง มีความพอใจและไม่พอใจของตนเข้าไปเคลือบแฝงชักจูง ทำให้ไม่เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นของมันเองล้วนๆ

 ความนึกคิดที่ดำเนินไปจากความถูกใจ ชอบใจ เกิดความติดใคร่ พัวพัน เอียงเข้าหา ก็กลายเป็นกามวิตก ส่วนที่ดำเนินไปจากความไม่ถูกใจ ไม่ชอบใจ เกิดความขัดเคือง ชิงชัง เป็นปฏิปักษ์ มองในแง่ร้าย ก็กลายเป็นพยาบาทวิตก ที่ถึงขนาดพุ่งออกมาเป็นความคิดรุกราน คิดเบียดเบียน อยากทำร้าย ก็กลายเป็นวิหิงสาวิตก ทำให้เกิดทัศนคติ (หรือเจตคติ) ต่อสิ่งต่างๆ อย่างไม่ถูกต้อง

 ความดำริหรือความนึกคิดที่เอนเอียง ทัศนคติที่บิดเบนและถูกเคลือบแฝงเช่นนี้ เกิดขึ้นก็เพราะการขาดโยนิโสมนสิการแต่ต้น คือ มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน รับรู้อารมณ์เข้ามาทั้งดุ้น โดยขาดสติสัมปชัญญะ แล้วปล่อยความนึกคิดให้แล่นไปตามความรู้สึก หรือตามเหตุผลที่มีความชอบใจ ไม่ชอบใจเป็นตัวนำ ไม่ได้ใช้ความคิดวิเคราะห์แยกแยะส่วนประกอบและความคิดสืบสาวสอบค้นเหตุปัจจัย ตามหลักโยนิโสมนสิการ

 โดยนัยนี้ มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจผิดพลาด ไม่มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จึงทำให้เกิด มิจฉาสังกัปปะ คือ ดำริ นึกคิด และมีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างผิดพลาดบิดเบือน และมิจฉาสังกัปปะนี้ก็ส่งผลสะท้อนให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ เข้าใจและมองเห็นสิ่งทั้งหลายอย่างผิดพลาดบิดเบือนต่อไปหรือยิ่งขึ้นไปอีก องค์ประกอบทั้งสอง คือ มิจฉาทิฏฐิ และมิจฉา-สังกัปปะจึงส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน

 ในทางตรงข้าม การที่จะมองเห็นสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามที่มันเป็นของมันเองได้ ต้องใช้โยนิโสมนสิการ ซึ่งหมายความว่า ขณะนั้นความนึกคิด ความดำริต่างๆ จะต้องปลอดโปร่ง เป็นอิสระ ไม่มีทั้งความชอบใจ ความยึดติด พัวพัน และความไม่ชอบใจ ผลัก แย้ง เป็นปฏิปักษ์ต่างๆ ด้วย ข้อนี้มีความหมายว่า จะต้องมีสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ และองค์ประกอบทั้งสองอย่างนี้ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับในฝ่ายมิจฉานั่นเอง

 โดยนัยนี้ ด้วยการมีโยนิโสมนสิการ ผู้นั้นก็มีสัมมาทิฏฐิ คือ มองเห็นและเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เมื่อมองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง จึงมีสัมมาสังกัปปะ คือ ดำริ นึกคิด และตั้งทัศนคติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้อง ไม่เอนเอียง ยึดติด ขัด ผลัก หรือเป็นปฏิปักษ์ เมื่อมีความดำรินึกคิดที่เป็นอิสระจากความชอบใจ ไม่ชอบใจ เป็นกลางเช่นนี้  จึงทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง คือ เสริมสัมมาทิฏฐิให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น จากนั้นองค์ประกอบทั้งสองก็สนับสนุนกันและกันหมุนเวียนต่อไป


มีต่อค่ะ...


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



 ในภาวะจิตที่มีโยนิโสมนสิการ จึงมีความดำริซึ่งปลอดโปร่ง เป็นอิสระ ปราศจากความเอนเอียง ทั้งในทางติดคล้อยเข้าข้าง และในทางเป็นปฏิปักษ์ ผลักเบือนหนี ตรงข้ามกับมิจฉาสังกัปปะ เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ มี ๓ อย่างเช่นเดียวกัน คือ
๑. เนกขัมมสังกัปป์ หรือ เนกขัมมวิตก คือ ความดำริที่ปลอดโลภะ หรือประกอบด้วยอโลภะ ความนึกคิดที่ปลอดโปร่งจากกาม ไม่หมกมุ่นพัวพันติดใคร่ในสิ่งเสพสนองความอยากต่างๆ ความคิดที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ความคิดเสียสละ และความคิดที่เป็นคุณหรือเป็นกุศลทุกอย่าง  จัดเป็นความนึกคิดที่ปลอดราคะหรือโลภะ
 ๒. อพยาบาทสังกัปป์ หรือ อพยาบาทวิตก คือ ความดำริที่ไม่มีความเคียดแค้น ชิงชัง ขัดเคือง หรือการเพ่งมองในแง่ร้ายต่างๆ โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม คือ เมตตา ซึ่งหมายถึงความปรารถนาดี ความมีไมตรี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข จัดเป็นความคิดที่ปลอดโทสะ
 ๓. อวิหิงสาสังกัปป์ หรือ อวิหิงสาวิตก คือ ความดำริที่ปลอดจากการเบียดเบียน ปราศจากความคิดที่จะก่อทุกข์แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้ามคือ กรุณา ซึ่งหมายถึงความคิดช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ เป็นความคิดที่ปลอดโทสะเช่นเดียวกัน


ข้อสังเกต และเหตุผลในการใช้คำเชิงปฏิเสธ
 มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง ที่อาจมีผู้ยกขึ้นอ้าง ซึ่งขอชี้แจงไว้ ณ ที่นี้ด้วยครั้งหนึ่งก่อน คือเรื่องธรรมฝ่ายดีหรือกุศล ซึ่งตรงข้ามกับฝ่ายชั่วหรืออกุศล ในพุทธธรรมแทนที่จะใช้ศัพท์ตรงข้าม มักใช้แต่เพียงแค่ศัพท์ปฏิเสธ ทำให้มีผู้คิดเห็นไปว่าพุทธธรรมเป็นคำสอนแบบนิเสธ (negative) และเฉยเฉื่อย (passive) เพียงแต่ไม่ทำความชั่ว อยู่เฉยๆ ก็เป็นความดีเสียแล้ว
 อย่างที่นี้  ตรงข้ามกับพยาบาทสังกัปป์ในฝ่ายมิจฉาสังกัปป์  ฝ่าย สัมมาสังกัปป์แทนที่จะเป็นเมตตา กลับเป็นเพียงอพยาบาทสังกัปป์ คือ ปฏิเสธฝ่ายมิจฉาเท่านั้น
 ความเข้าใจเช่นนี้ผิดพลาดอย่างไร จะได้ชี้แจงต่อๆ ไปตามโอกาส แต่เฉพาะเรื่องนี้ จะชี้แจงเหตุผลแก้ความเข้าใจผิด เพียงสั้นๆ ก่อน

 การที่ธรรมฝ่ายกุศล (ในกรณีอย่างนี้) ใช้ถ้อยคำที่(เหมือน)เป็นเพียงปฏิเสธธรรมฝ่ายอกุศลเท่านั้น เช่น เปลี่ยนจาก “วิหิงสา” เป็น “อวิหิงสา” มีเหตุผลดังนี้
 ๑. โดยธรรมดาแห่งระบบการพัฒนาของชีวิต หรือโดยความเป็นจริงแห่งการพัฒนาของชีวิตที่เป็นระบบของธรรมชาติ
 อย่างที่กล่าวแล้วว่า มรรคเป็นทางสายเดียว แต่มีองค์ประกอบ ๘ การที่ชีวิตเจริญงอกงามก้าวหน้าไปในมรรค ก็หมายถึงการที่องค์ทั้ง ๘ ของมรรคนั้น เป็นปัจจัยหนุนกันและพัฒนาพร้อมไปด้วยกัน ถ้าใช้คำนิยมของยุคสมัยก็ว่า พัฒนาอย่างบูรณาการเป็นองค์รวม

 ไม่เฉพาะมองเป็นช่วงเวลา แม้แต่ในทุกๆ ขณะ องค์ทั้ง ๘ ของมรรค ก็ทำหน้าที่ของตนๆ อย่างประสานซึ่งกันและกัน ความเจริญก้าวไปในมรรค ก็คือ การพัฒนาของชีวิต ที่องค์มรรคทั้ง ๘ ก้าวประสานไปด้วยกันทั้งระบบครบทุกส่วน
 ได้บอกแล้วว่า องค์มรรคทั้ง ๘ นั้น รวมได้เป็น ๓ หมวด คือ ด้านศีล ที่เป็นพฤติกรรมการแสดงออกทางกายวาจาและสื่อสารกับภายนอก ด้านสมาธิหรือด้านจิตใจ ที่เป็นเจตจำนงคุณธรรมความรู้สึก และด้านปัญญา ที่เป็นเรื่องของความรู้-คิด-หยั่งเห็น-เข้าใจ

 ถ้าพูดในแง่จริยธรรม ก็บอกว่า จริยธรรมจะถูกต้อง เป็นพรหมจริยะได้ ต้องให้ความถูกต้องมีอยู่และดำเนินไปในชีวิตทั้ง ๓ ด้านพร้อมกันอย่างประสานสอดคล้อง คือ ทั้งด้านพฤติกรรมที่แสดงออกภายนอกทางกายวาจา ทั้งด้านจิตใจ และทั้งด้านปัญญา
 ดังนั้น ขณะที่พูดดีทำดี ก็ต้องมีเจตนากอปรด้วยคุณธรรมและความรู้สึกที่ดี พร้อมทั้งมีความคิดความเข้าใจที่ดีด้วย
 ในทำนองเดียวกัน ในภาวะจิตใจและความรู้สึกที่ดี ด้านพฤติกรรมกายวาจาตลอดจนการใช้ตาหูดูฟังก็ต้องดีงามสงบสำรวมด้วย ด้านปัญญาก็คิดเห็นชอบและมีความรู้เข้าใจตระหนักชัดสอดคล้องกัน
 ด้านปัญญาก็เช่นนั้นเหมือนกัน ขณะที่คิดพิจารณาทำความรู้เข้าใจต่างๆ ก็ต้องมีสภาพจิตดีมีความรู้สึกที่เป็นกุศล เช่น ไม่ขัดเคือง ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง และพฤติกรรมกายวาจารวมทั้งการใช้อินทรีย์ทั้งหลาย (เช่น ตา หู) ก็ต้องสงบสำรวมดีงามด้วยเช่นเดียวกัน


 รวมความว่า ในกิจกรรมทุกครั้งทุกขณะของชีวิต ที่คนกำลังกระทำ ถ้าเขาทำถูกทำดี องค์มรรค ทั้ง ๘ ข้อ ทั้ง ๓ ด้าน ก็ดำเนินไป รวมเป็นการดำเนินชีวิตถูกต้อง หรือวิถีชีวิตดีงาม ที่เรียกว่ามรรค (ถ้าทำไม่ถูกไม่ดี ก็เป็นมิจฉา ไม่เป็นมรรค)
 กิจกรรมที่ว่านั้น ไม่เฉพาะกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมทางกายวาจา แต่รวมทั้งกิจกรรมนามธรรมในใจและในทางปัญญาด้วย
 สงสัยว่า ในเวลาที่ใจสดชื่นเอิบอิ่มเบิกบานผ่องใส หรือคิดเหตุผลคิดแก้ปัญหาคิดวางแผนอะไรอยู่ หรือแม้แต่นั่งสมาธิอยู่นิ่งๆ หรือเจริญวิปัสสนาในข้อตามดูรู้ทันจิตของตนอยู่ บางทีร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรเลย จะมีพฤติกรรมที่ถูกที่ดี เป็นพูดชอบ ทำชอบ (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ) ได้อย่างไร

ตอบว่า นี่ละคือคำตอบที่ว่า ทำไมองค์มรรคบางข้ออย่างสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา และสัมมากัมมันตะ จึงมีความหมายที่แสดงไว้เป็นคำปฏิเสธ
 ธรรมที่จะเป็นองค์ของมรรค ต้องมีความหมายกว้างขวางครอบคลุมความเป็นจริงของชีวิต ที่ทุกส่วนทำงานหรือทำหน้าที่ประสานกันเป็นระบบหนึ่งเดียว ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยกัน ที่เรียกว่ามรรคนั้นได้
 ขณะที่ทำกิจกรรมทางจิตใจ หรือทำกิจกรรมทางปัญญาอยู่นิ่งๆ ถึงแม้ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ก็พูดชอบ=มีสัมมาวาจา ทำชอบ=มีสัมมากัมมันตะได้ เหมือนอย่างที่พูดด้วยคำง่ายๆ ว่า ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะใด แม้แต่เวลาคิด ก็มีศีล ในความหมายที่ว่า ขณะนั้นเว้น ว่าง หรือปราศจากวจีทุจริตและกายทุจริตทั้งหลาย ไม่มีการพูดเท็จและการทำร้ายเบียดเบียนต่างๆ ลึกลงไปก็คือไม่มีเจตนาที่จะทำการร้ายเหล่านั้น หรือไม่มีภาวะทางจิตหรืออาการทางความคิดใดๆ ที่จะโยงไปสู่กรรมชั่วร้ายเหล่านั้นเลย

 ยิ่งในข้อสัมมาสังกัปปะ ที่เป็นด้านปัญญา ก็ยิ่งชัดเจนมาก ท่านให้ความหมายของสัมมาสังกัปปะ ว่าเป็นความดำริหรือคิดนึกที่ปลอดจากความโลภ อยากได้ อยากเสพ ไม่มีความพยาบาทขัดเคือง และเป็นวิหิงสาคือไม่มีการเบียดเบียน
 ความใคร่กามและความโลภ พยาบาท และวิหิงสา ก็ดี ความเผื่อแผ่เสียสละ เมตตา และกรุณา ที่ตรงข้ามกับสามอย่างแรกนั้น ก็ดี เป็นสภาพจิตหรือคุณสมบัติของจิตใจ แต่ในที่นี้มาเป็นเครื่องประกอบของความคิดในหมวดปัญญา

 ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่ต้องการในที่นี้คือปัญญา คือจะพัฒนาปัญญาให้แจ่มชัด บริสุทธิ์ ตรงตามจริง เป็นประโยชน์ และเกื้อหนุนชีวิตให้งอกงามไปในมรรคยิ่งขึ้น สภาพจิตหรือคุณสมบัติฝ่ายจิตที่มาประกอบองค์มรรคข้อนี้ จะต้องเอื้อต่อการทำงานและการพัฒนาของปัญญา ให้ได้ผลอย่างที่กล่าวนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงความหมายขององค์มรรคข้อนี้ไว้ในรูปเป็นคำปฏิเสธ ซึ่งได้ทั้งความกว้างขวาง และความโปร่งโล่งบริสุทธิ์



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



 สัมมาสังกัปปะมุ่งให้มีภาวะจิตที่ปลอดโปร่งเป็นอิสระ เพื่อให้ความคิดเดินตามแนวความเป็นจริงได้คล่องตัว ไม่เอนเอียง ยึดติด หรือปัดเหไปข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อจะได้ความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงไม่บิดเบือน การใช้คำปฏิเสธจึงเหมาะสมที่สุดแล้ว
 ด้วยเหตุนี้ สัมมาสังกัปปะ ที่ทรงแสดงความหมายโดยแยกเป็น เนกขัมมสังกัปป์ (ความดำริปลอดกาม/โลภะ) อพยาบาทสังกัปป์ (ความดำริปลอดพยาบาท) และ อวิหิงสาสังกัปป์ (ความดำริปลอดวิหิงสา) จึงได้ทั้งความดี ความกว้างครอบคลุม และความบริสุทธิ์ คือ

 ก) ในแง่ความดี (จำเพาะ) คือ ดำริหรือคิดแต่การที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละ การที่จะรักใคร่ไมตรีมีเมตตา และการที่จะมีกรุณาช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นความทุกข์ยาก
 ข) ในแง่ความจริง (ไม่มีขอบเขต) คือ จะดำริ คิดการ หรือพิจารณาอะไรอย่างไรก็ได้ แต่ต้องไม่มีความเห็นแก่ตัว ความอยากได้กามอามิส ความขัดเคืองไม่พอใจ หรือการที่จะรังแกกลั่นแกล้งข่มเหงใครๆ เข้ามาปะปน แอบแฝง ชักจูงไป หรือทำให้เอนเอียง

 ธรรมที่เป็นองค์ของมรรค ต้องมีความเป็นจริงของธรรมชาติ ที่จะบูรณาการเข้าไปในระบบการดำเนินชีวิตได้อย่างนี้ พร้อมกันนั้นก็เป็นหลักการใหญ่ ที่ขยายขอบเขตออกไปได้ไม่สิ้นสุด รวมทั้งปฏิบัติได้ทุกสถานการณ์ไม่ใช่ธรรมหรือข้อปฏิบัติจำเพาะเรื่อง ดังเช่นสังคหวัตถุ
 จะเห็นว่า ถ้าเป็นหลักธรรมที่ตรัสทั่วๆ ไป หรือสำหรับใช้ประโยชน์เฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี ก็จะมีลักษณะหนุนย้ำ (positive) และกระฉับกระเฉง (active) เช่น สังคหวัตถุ ๔ (หลักการสงเคราะห์ หรือสร้างสามัคคี ๔ อย่าง คือ  ทาน-ให้ปัน   ปิยวาจา-พูดจาน่ารัก   อัตถจริยา-บำเพ็ญประโยชน์  สมานัตตตา-เอาตัวเข้าสมาน ร่วมสุขร่วมทุกข์)

 แม้แต่ สัมมาวาจา ซึ่งเมื่อแสดงความหมายแบบในองค์มรรค ว่าได้แก่ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดเพ้อเจ้อแต่เมื่อนำไปตรัสในชื่อว่า วจีสุจริต ๔ ก็ทรงเปลี่ยนเป็นคำฝ่ายดีที่ตรงข้าม ดังพุทธพจน์ว่า
 ภิกษุทั้งหลาย   วจีสุจริต ๔ ประการนี้   ๔ ประการเป็นไฉน   คือ พูดจริง (สจฺจวาจา) ๑ พูดไม่ส่อเสียด (อปิสุณวาจา) ๑ พูดอ่อนหวาน (สณฺหวาจา) ๑  พูดด้วยปัญญา (มนฺตาภาสา=พูดด้วยความรู้คิด) ๑ ภิกษุทั้งหลาย  วจีสุจริต ๔ ประการดังนี้แล
 ที่กล่าวมานี้เป็นเหตุผลหลัก นอกจากนี้เป็นเหตุผลประกอบ

 ๒. โดยความกว้างขวางครอบคลุม ซึ่งเป็นเหตุผลทางหลักภาษาที่มาหนุนเหตุผลในข้อก่อน
 คำบาลีที่มี “อ” ปฏิเสธนำหน้า ในหลายกรณี มิได้หมายความเพียงไม่ใช่สิ่งนั้น แต่หมายถึงสิ่งที่ตรงข้าม เช่น คำว่า อกุศล มิได้หมายถึงมิใช่กุศล (ซึ่งอาจเป็นอัพยากฤต คือ เป็นกลางๆ ไม่ใช่ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว) แต่หมายถึง ความชั่วที่ตรงข้ามกับกุศลทีเดียว คำว่า อมิตร มิได้หมายถึงคนที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่มิตร แต่หมายถึงศัตรูทีเดียว ดังนี้เป็นต้น

 ยิ่งกว่านั้น อาจหมายครอบคลุมหมด ทั้งสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งนั้น และสิ่งใดก็ตามที่มิใช่และไม่มีสิ่งนั้น
 ในสัมมาสังกัปปะนี้ “อ” มีความหมายปฏิเสธแบบครอบคลุม คือทั้งที่ตรงข้ามและที่ไม่มี เช่น อพยาบาทสังกัปป์
 ก) หมายถึงความดำริกอปรด้วยเมตตา ที่ตรงข้ามกับพยาบาทด้วย
 ข) หมายถึงความดำริที่บริสุทธิ์ ปลอดโปร่ง ปราศจากพยาบาท เป็นกลางๆ ด้วย

 ๓. โดยความเด็ดขาดสิ้นเชิง การใช้คำที่มี “อ” ปฏิเสธนี้ นอกจากมีความหมายกว้างแล้ว ยังมีความหมายหนักแน่นเด็ดขาดยิ่งกว่าคำตรงข้ามเสียอีก เพราะการใช้คำปฏิเสธในที่นี้ มุ่งเจาะจงปฏิเสธสิ่งนั้นไม่ให้มีโดยสิ้นเชิง คือ ไม่ให้มีเชื้อหรือร่องรอยเหลืออยู่ เช่น อพยาบาทสังกัปป์ ในที่นี้ หมายถึงความดำริที่ไม่มีพยาบาท หรือความคิดร้ายแง่ใดส่วนใดเหลืออยู่ในใจเลย เป็นเมตตาโดยสมบูรณ์ ไม่มีขอบเขตจำกัด เป็นการเน้นขั้นถึงที่สุด

 ไม่เหมือนคำสอนบางลัทธิที่สอนให้มีเมตตากรุณา แต่เป็นเมตตากรุณาตามคำจำกัดของผู้สั่งสอน มิใช่ตามสภาวะของธรรม จึงมีขอบเขตตามบัญญัติสำหรับใช้แก่กลุ่ม หรือหมู่ชนพวกหนึ่ง หรือสัตวโลกชนิดหรือประเภทใดประเภทหนึ่ง แล้วแต่ตกลงกำหนดเอาศึกษาธรรมคือเข้าใจธรรมชาติ ต้องมองความหมายโดยไม่ประมาท

 มีข้อควรสังเกตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสัมมาทิฏฐิ กับสัมมาสังกัปปะอีกอย่างหนึ่ง คือ เมื่อเทียบกับกิเลสหลักที่เรียกว่าอกุศลมูล ๓ อย่าง คือ โลภะ โทสะ และโมหะ แล้ว จะเห็นว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นตัวกำจัดกิเลสต้นตอที่สุด คือโมหะ   ส่วน สัมมาสังกัปปะ กำจัดกิเลสที่รองหรือต่อเนื่องออกมา คือ เนกขัมมสังกัปป์ กำจัดราคะ หรือโลภะ และอพยาบาทสังกัปป์ กับอวิหิงสาสังกัปป์ กำจัดโทสะ จึงเป็นความต่อเนื่องประสานกลมกลืนกันทุกด้าน

 อย่างไรก็ดี การก้าวหน้ามาในองค์มรรคเพียง ๒ ข้อเท่านั้น ยังนับว่าเป็นขั้นต้นอยู่ การเจริญปัญญายังไม่ถึงขั้นสมบูรณ์เต็มที่ตามจุดหมาย และแม้การปฏิบัติธรรมแต่ละข้อก็มิใช่จะสมบูรณ์ตามขอบเขตความหมายของธรรมข้อนั้นๆ ทันที แต่ต้องคลี่คลายเจริญขึ้นตามลำดับ
 ดังนั้น ในที่นี้จึงควรทำความเข้าใจว่า ในสัมมาสังกัปปะ ๓ ข้อนั้น เนกขัมมสังกัปป์ บางทีก็หมายเอาเพียงขั้นหยาบแบบสัญลักษณ์ คือ การคิดออกบวช หรือปลีกตัวออกไปจากความเป็นอยู่ของผู้ครองเรือน อพยาบาทสังกัปป์ ก็มุ่งเอาการเจริญเมตตาเป็นหลัก และอวิหิงสาสังกัปป์ ก็มุ่งเอาการเจริญกรุณาเป็นสำคัญ

 ปัญญาที่เจริญในขั้นนี้ แม้จะเป็นสัมมาทิฏฐิ มองเห็นตามความเป็นจริง แต่ก็ยังไม่บริสุทธิ์เป็นอิสระรู้แจ้งเห็นจริงเต็มที่ จนกว่าจะถึงขั้นมีอุเบกขา ที่จิตลงตัวได้ที่ มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาจิตใจตามหลักสมาธิด้วย
 ธรรมทั้งหลายนั้น เป็นสภาวะของธรรมดา พูดง่ายๆ ว่าเป็นธรรมชาติ การที่จะเข้าใจความหมายของมันได้ถูกต้องชัดเจนและครบถ้วน มิใช่เพียงแค่มาบอกมาจำกันไป แต่จะต้องรู้จักมันตามที่มีอยู่เป็นไป โดยสัมพันธ์กันกับธรรมหรือสภาวะอื่นๆ ทั้งหลายในชีวิตจิตใจที่เป็นอยู่จริงและขยายคลี่คลายไปกับการพัฒนาของชีวิตจิตใจนั้น จึงเป็นเรื่องที่ควรศึกษาโดยไม่ประมาท

 แม้แต่เมตตา ซึ่งเป็นคุณธรรมที่เริ่มเจริญได้ตั้งแต่ระยะต้นๆ ของการปฏิบัติธรรม ก็มิใช่ข้อธรรมที่ง่ายนักอย่างที่มักเข้าใจกันอย่างผิวเผิน เพราะเมตตาอย่างที่พูดถึงกันง่ายๆ ทั่วๆ ไปนั้น  หายากนักที่จะเป็นเมตตาแท้จริง ดังนั้น เพื่อช่วยป้องกันความเข้าใจผิดที่เป็นผลเสียหายต่อการปฏิบัติธรรม ในขั้นต้นนี้ ควรทราบหลักเบื้องต้นบางอย่างไว้เล็กน้อยก่อน
 เมตตา หมายถึง ไมตรี ความรัก ความหวังดี ความปรารถนาดี ความเข้าใจดีต่อกัน ความเอาใจใส่ ใฝ่ใจ หรือต้องการ ที่จะสร้างเสริมประโยชน์สุขให้แก่เพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย
 ว่าโดยสาระ เมตตา คือ ความอยากให้ผู้อื่นเป็นสุข และอยากทำให้เขาเป็นสุข
 เมตตาเป็นธรรมกลางๆ กลางทั้งในแง่ผู้ควรมีเมตตา และในแง่ผู้ควรได้รับเมตตา ทุกคนจึงควรมีต่อกัน ทั้งผู้น้อยต่อผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ต่อผู้น้อย คนจนต่อคนมี และคนมีต่อคนจน ยาจกต่อเศรษฐี และเศรษฐีต่อยาจก คนฐานะตํ่าต่อคนฐานะสูง และคนฐานะสูงต่อคนฐานะตํ่า คฤหัสถ์ต่อพระสงฆ์ และพระสงฆ์ต่อคฤหัสถ์
 เมตตาเป็นธรรมพื้นฐานของใจขั้นแรก ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งทำให้มองกันในแง่ดีและหวังดีต่อกัน พร้อมที่จะรับฟังและพูดจาเหตุผลของกันและกัน ไม่ยึดเอาความเห็นแก่ตัว หรือความเกลียดชังเป็นที่ตั้ง



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



 การที่กล่าวว่า เมตตา (รวมทั้งพรหมวิหารข้ออื่นๆ ด้วย) เป็นธรรมของผู้ใหญ่นั้น อันที่จริงความเดิมเป็น “ธรรมของท่านผู้เป็นใหญ่” คือแปลคำว่า “พรหม” ในพรหมวิหารว่า “ท่านผู้เป็นใหญ่”
 “พรหม” คือ ท่าน(เทพ)ผู้เป็นใหญ่ ของศาสนาพราหมณ์นี้ เมื่อนำมาใช้ในพระพุทธศาสนา หมายถึง “ผู้ประเสริฐ” คือ ผู้มีจิตใจกว้างขวางยิ่งใหญ่ หรือยิ่งใหญ่ด้วยคุณธรรมความดีงาม มิใช่หมายถึงผู้ใหญ่เพียงในความหมายอย่างที่เข้าใจกันสามัญ

 ทุกคนควรมีพรหมวิหาร ทุกคนควรมีจิตใจกว้างขวางยิ่งใหญ่ ไม่เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ในเมื่อปัจจุบันเข้าใจกันแพร่หลายทั่วไปเสียแล้วว่า พรหมวิหารมีเมตตาเป็นต้น เป็นธรรมของผู้ใหญ่ ก็ควรทำความเข้าใจในแง่ที่ว่า ความหมายเช่นนั้นมุ่งเอาความรับผิดชอบเป็นสำคัญ คือ เน้นว่า ในเมื่อทุกคนควรบำเพ็ญพรหมวิหาร ผู้ใหญ่ ในฐานะที่เป็นตัวอย่างและเป็นผู้นำ ก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติให้ได้ก่อน
 ถ้าไม่รีบทำความเข้าใจกันอย่างนี้ ปล่อยให้ยึดถือปักใจกันว่า เมตตา ก็ดี พรหมวิหารข้ออื่นๆ ก็ดี เป็นธรรมของผู้ใหญ่ ก็จะกลายเป็นความเข้าใจที่เคลื่อนคลาดไขว้เขว การตีความและทัศนคติของคนทั่วไปต่อธรรมข้อนี้ก็จะคับแคบและผิดพลาดไปหมด

 ข้อควรสังเกตสำคัญอีกอย่างหนึ่งของเมตตา ก็คือ สมบัติ และวิบัติของเมตตา สมบัติ ได้แก่ ความสมบูรณ์หรือผลสำเร็จที่ต้องการของเมตตา วิบัติ ได้แก่ ความล้มเหลว ความไม่สำเร็จ การปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนผิดพลาด
 เมื่อว่าตามหลัก
 สมบัติของเมตตา คือ ระงับพยาบาทได้ (พฺยาปาทุปสโม เอติสฺสา สมฺปตฺติ)  วิบัติของเมตตา คือ การเกิดสิเนหะ (สิเนหสมฺภโว วิปตฺติ)๑

 ในแง่สมบัติไม่มีข้อสังเกตพิเศษ แต่ในแง่วิบัติมีเรื่องที่ต้องสังเกตอย่างสำคัญ สิเนหะ หมายถึง เสน่หา ความรักใคร่เยื่อใยเฉพาะบุคคล ความพอใจโปรดปรานส่วนตัว เช่น ปุตตสิเนหะ ความรักอย่างบุตร ภริยาสิเนหะ ความรักใคร่ฐานภรรยา เป็นต้น
 สิเนหะ เป็นเหตุให้เกิดความลำเอียง ทำให้ช่วยเหลือกันในทางที่ผิดได้ อย่างที่เรียกว่าเกิดฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะรัก หรือเพราะชอบกัน) ที่ได้ยินพูดกันว่า “ท่านเมตตาฉันเป็นพิเศษ” “นายเมตตาเขามาก” เป็นต้นนั้น เป็นเรื่องของสิเนหะ ซึ่งเป็นความวิบัติของเมตตามากกว่า หาใช่เมตตาไม่

ส่วนเมตตาที่แท้จริงนั้น เป็นคุณสมบัติที่ช่วยรักษาความเที่ยงธรรม เพราะเป็นธรรมกลางๆ ปรารถนาดีต่อทุกคนสมํ่าเสมอกัน มิใช่เป็นความรักใคร่ผูกพันส่วนตัว แต่ทำให้มีภาวะจิตที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ที่จะเอนเอียงเข้าข้าง และไม่มีความเกลียดชังคิดร้ายมุ่งทำลาย มีไมตรี จึงพิจารณาตัดสินและกระทำสิ่งต่างๆ ไปตามเหตุผล มุ่งประโยชน์สุขที่แท้จริงแก่คนทั้งหลายทั่วไป มิใช่มุ่งสิ่งที่เขาหรือตนชอบหรืออยากได้อยากเป็น เมตตาที่แท้จริงจะเป็นไปในแบบที่ว่า

 พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงมีพระทัยเสมอกัน ทั้งต่อนายขมังธนู (ที่รับจ้างมาลอบสังหารพระองค์) ต่อพระเทวทัต ต่อโจรองคุลิมาล ต่อช้างธนบาล (ที่พระเทวทัตปล่อยมาเพื่อฆ่าพระองค์) และต่อพระราหุล ทั่วทุกคน
 ประโยชน์ของเมตตาจะเห็นได้ เช่นในกรณีของการถกเถียง ขัดแย้งในทางเหตุผล และการโต้วาทะ ทำให้ต่างฝ่ายยอมพิจารณาเหตุผลของกันและกัน ช่วยให้คู่โต้บรรลุถึงเหตุผลที่ถูกต้องได้ เช่น เมื่อนิครนถ์ผู้หนึ่งมาเฝ้าสนทนาใช้คำพูดรุนแรงตำหนิพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงสนทนาโต้ตอบตามเหตุผล จนในที่สุดนิครนถ์นั้นกล่าวว่า
 เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าก็เลื่อมใสต่อท่านพระโคดมผู้เจริญ เป็นความจริง ท่านพระโคดมเป็นผู้อบรมแล้วทั้งกาย อบรมแล้วทั้งจิต
 “น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีเลย ท่านพระโคดมถูกข้าพเจ้าพูดกระทบกระแทก  แต่งคำมาไล่เรียงต้อนเอาถึงอย่างนี้   ก็ยังมีผิวพรรณสดใส  มีสีหน้าเปล่งปลั่งอยู่ได้ สมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แก้ไขความคิดที่ไม่ดี ด้วยวิธีแห่งปัญญา

 ในกรณีที่มีมิจฉาสังกัปปะเกิดขึ้น เมื่อจะแก้ไข ก็ไม่ควรใช้วิธีดึงดัน กลัดกลุ้ม หรือฟุ้งซ่านต่อไปอย่างไร้จุดหมาย แต่ควรใช้วิธีการแห่งปัญญา โดยใช้โยนิโสมนสิการ คือ มองดูมัน เรียนรู้จากมัน คิดสืบสาวหาเหตุ และพิจารณาให้เห็นคุณโทษของมัน เช่นพุทธพจน์ที่ว่า
 ภิกษุทั้งหลาย  ก่อนสัมโพธิกาล  เมื่อเราเป็นโพธิสัตว์  ยังมิได้ตรัสรู้ ได้มีความคิดเกิดขึ้นว่า: ถ้ากระไร เราพึงแยกความดำริออกเป็น ๒ ฝ่าย ดังนี้แล้ว จึงได้แยกกามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก ออกเป็นฝ่ายหนึ่ง และแยกเนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก และอวิหิงสาวิตก ออกเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง

 เมื่อเราไม่ประมาท มีความเพียร มุ่งมั่นอยู่นั่นเอง เกิดมีกามวิตกขึ้น เราก็รู้ชัดว่ากามวิตกขึ้นแล้วแก่เรา ก็แหละ กามวิตกนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นสองฝ่ายบ้าง ทำให้ปัญญาดับ จัดเป็นพวกสิ่งบีบคั้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
 เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ก็ดี กามวิตกนั้น ก็สลายหายไป เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นก็ดี....ว่ามันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งตนเอง และผู้อื่น ทั้งสองฝ่ายก็ดี ว่ามันทำให้ปัญญาดับ จัดเป็นพวกสิ่งบีบคั้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพานก็ดี กามวิตกนั้นก็สลายหายไป เราจึงละ จึงบรรเทากามวิตก ที่เกิดขึ้นมาๆ ทำให้หมดสิ้นไปได้ทั้งนั้น

 เมื่อเราไม่ประมาท...เกิดมีพยาบาทวิตกขึ้น...เกิดมีวิหิงสาวิตกขึ้น เราก็รู้ชัด (ดังกล่าวมาแล้ว) จึงละ...จึงบรรเทาพยาบาทวิตก...วิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นมาๆ ทำให้หมดสิ้นไปได้ทั้งนั้น
 ภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งคิดคำนึงถึงความดำริใดๆ มาก ใจของเธอก็ยิ่งน้อมไปทางความดำรินั้นๆ ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งคิดคำนึงถึงกามวิตกมาก เธอก็ละทิ้งเนกขัมมวิตกเสีย ทำแต่กามวิตกให้มาก จิตของเธอนั้นก็น้อมไปทางกามวิตก...ฯลฯ...ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งคิดคำนึงถึงเนกขัมมวิตกมาก เธอก็ละทิ้งกามวิตกเสีย ทำแต่เนกขัมมวิตกให้มาก จิตของเธอนั้น ก็น้อมไปทางเนกขัมมวิตก...


 พึงระลึกทบทวนว่า สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ ที่ได้บรรยายมานี้เป็นองค์มรรคทั้ง ๒ ในหมวดปัญญา
 การปฏิบัติธรรมในช่วงขององค์มรรค ๒ ข้อต้นนี้ สรุปได้ด้วยพุทธพจน์ว่า
 ภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ อย่าง ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินปฏิปทาอันไม่ผิดพลาด และเป็นอันได้เริ่ม ก่อต้นกำเนิด ของความสิ้นอาสวะแล้ว ธรรม ๔ อย่างนั้น คือ เนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก สัมมาทิฏฐิ


-http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8207/