สัมมาสังกัปปะมุ่งให้มี
ภาวะจิตที่ปลอดโปร่งเป็นอิสระ เพื่อให้ความคิดเดินตามแนวความเป็นจริงได้คล่องตัว ไม่เอนเอียง ยึดติด หรือปัดเหไปข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อจะได้ความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงไม่บิดเบือน การใช้คำปฏิเสธจึงเหมาะสมที่สุดแล้ว
ด้วยเหตุนี้ สัมมาสังกัปปะ ที่ทรงแสดงความหมาย
โดยแยกเป็น เนกขัมมสังกัปป์ (ความดำริปลอดกาม/โลภะ) อพยาบาทสังกัปป์ (ความดำริปลอดพยาบาท) และ อวิหิงสาสังกัปป์ (ความดำริปลอดวิหิงสา) จึงได้ทั้งความดี ความกว้างครอบคลุม และความบริสุทธิ์ คือ
ก)
ในแง่ความดี (จำเพาะ) คือ ดำริหรือคิดแต่การที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละ การที่จะรักใคร่ไมตรีมีเมตตา และการที่จะมีกรุณาช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นความทุกข์ยาก
ข)
ในแง่ความจริง (ไม่มีขอบเขต) คือ จะดำริ คิดการ หรือพิจารณาอะไรอย่างไรก็ได้ แต่ต้องไม่มีความเห็นแก่ตัว ความอยากได้กามอามิส ความขัดเคืองไม่พอใจ หรือการที่จะรังแกกลั่นแกล้งข่มเหงใครๆ เข้ามาปะปน แอบแฝง ชักจูงไป หรือทำให้เอนเอียง
ธรรมที่เป็นองค์ของมรรค ต้องมีความเป็นจริงของธรรมชาติ ที่จะบูรณาการเข้าไปในระบบการดำเนินชีวิตได้อย่างนี้ พร้อมกันนั้นก็เป็นหลักการใหญ่ ที่ขยายขอบเขตออกไปได้ไม่สิ้นสุด รวมทั้งปฏิบัติได้ทุกสถานการณ์ไม่ใช่ธรรมหรือข้อปฏิบัติจำเพาะเรื่อง ดังเช่น
สังคหวัตถุ จะเห็นว่า
ถ้าเป็นหลักธรรมที่ตรัสทั่วๆ ไป หรือสำหรับใช้ประโยชน์เฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี ก็จะมีลักษณะหนุนย้ำ (positive) และกระฉับกระเฉง (active) เช่น สังคหวัตถุ ๔ (หลักการสงเคราะห์ หรือสร้างสามัคคี ๔ อย่าง คือ ทาน-ให้ปัน ปิยวาจา-พูดจาน่ารัก อัตถจริยา-บำเพ็ญประโยชน์ สมานัตตตา-เอาตัวเข้าสมาน ร่วมสุขร่วมทุกข์) แม้แต่
สัมมาวาจา ซึ่งเมื่อแสดงความหมายแบบในองค์มรรค ว่าได้แก่ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดเพ้อเจ้อแต่เมื่อนำไปตรัสในชื่อว่า
วจีสุจริต ๔ ก็ทรงเปลี่ยนเป็นคำฝ่ายดีที่ตรงข้าม ดังพุทธพจน์ว่า
ภิกษุทั้งหลาย วจีสุจริต ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ
พูดจริง (สจฺจวาจา) ๑ พูดไม่ส่อเสียด (อปิสุณวาจา) ๑ พูดอ่อนหวาน (สณฺหวาจา) ๑ พูดด้วยปัญญา (มนฺตาภาสา=พูดด้วยความรู้คิด) ๑ ภิกษุทั้งหลาย วจีสุจริต ๔ ประการดังนี้แล
ที่กล่าวมานี้เป็นเหตุผลหลัก นอกจากนี้เป็นเหตุผลประกอบ
๒. โดยความกว้างขวางครอบคลุม ซึ่งเป็นเหตุผลทางหลักภาษาที่มาหนุนเหตุผลในข้อก่อน
คำบาลีที่มี “อ” ปฏิเสธนำหน้า ในหลายกรณี มิได้หมายความเพียงไม่ใช่สิ่งนั้น แต่หมายถึงสิ่งที่ตรงข้าม เช่น คำว่า
อกุศล มิได้หมายถึงมิใช่กุศล (ซึ่งอาจเป็น
อัพยากฤต คือ เป็นกลางๆ ไม่ใช่ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว) แต่หมายถึง ความชั่วที่ตรงข้ามกับกุศลทีเดียว คำว่า
อมิตร มิได้หมายถึงคนที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่มิตร แต่หมายถึง
ศัตรูทีเดียว ดังนี้เป็นต้น
ยิ่งกว่านั้น อาจหมายครอบคลุมหมด ทั้งสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งนั้น และสิ่งใดก็ตามที่มิใช่และไม่มีสิ่งนั้น
ในสัมมาสังกัปปะนี้ “อ” มีความหมายปฏิเสธแบบครอบคลุม คือทั้งที่ตรงข้ามและที่ไม่มี เช่น
อพยาบาทสังกัปป์ ก) หมายถึงความดำริกอปรด้วยเมตตา ที่ตรงข้ามกับพยาบาทด้วย
ข) หมายถึงความดำริที่บริสุทธิ์ ปลอดโปร่ง ปราศจากพยาบาท เป็นกลางๆ ด้วย
๓. โดยความเด็ดขาดสิ้นเชิง การใช้คำที่มี “อ” ปฏิเสธนี้ นอกจากมีความหมายกว้างแล้ว ยังมีความหมายหนักแน่นเด็ดขาดยิ่งกว่าคำตรงข้ามเสียอีก เพราะการใช้คำปฏิเสธในที่นี้
มุ่งเจาะจงปฏิเสธสิ่งนั้นไม่ให้มีโดยสิ้นเชิง คือ ไม่ให้มีเชื้อหรือร่องรอยเหลืออยู่ เช่น
อพยาบาทสังกัปป์ ในที่นี้ หมายถึงความดำริที่ไม่มีพยาบาท
หรือความคิดร้ายแง่ใดส่วนใดเหลืออยู่ในใจเลย เป็นเมตตาโดยสมบูรณ์ ไม่มีขอบเขตจำกัด เป็นการเน้นขั้นถึงที่สุด ไม่เหมือนคำสอนบางลัทธิที่สอนให้มีเมตตากรุณา แต่เป็นเมตตากรุณาตามคำจำกัดของผู้สั่งสอน มิใช่ตาม
สภาวะของธรรม จึงมีขอบเขตตามบัญญัติสำหรับใช้แก่กลุ่ม หรือหมู่ชนพวกหนึ่ง หรือสัตวโลกชนิดหรือประเภทใดประเภทหนึ่ง แล้วแต่ตกลงกำหนดเอาศึกษาธรรมคือเข้าใจธรรมชาติ ต้องมองความหมายโดยไม่ประมาท
มีข้อควรสังเกตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง
สัมมาทิฏฐิ กับ
สัมมาสังกัปปะอีกอย่างหนึ่ง คือ เมื่อเทียบกับ
กิเลสหลักที่เรียกว่า
อกุศลมูล ๓ อย่าง คือ โลภะ โทสะ และโมหะ แล้ว จะเห็นว่า
สัมมาทิฏฐิ เป็นตัวกำจัด
กิเลสต้นตอที่สุด คือ
โมหะ ส่วน
สัมมาสังกัปปะ กำจัดกิเลสที่รองหรือต่อเนื่องออกมา
คือ เนกขัมมสังกัปป์ กำจัดราคะ หรือโลภะ และอพยาบาทสังกัปป์ กับอวิหิงสาสังกัปป์ กำจัดโทสะ จึงเป็นความต่อเนื่องประสานกลมกลืนกันทุกด้าน อย่างไรก็ดี การก้าวหน้ามาในองค์มรรคเพียง ๒ ข้อเท่านั้น ยังนับว่าเป็นขั้นต้นอยู่ การเจริญปัญญายังไม่ถึงขั้นสมบูรณ์เต็มที่ตามจุดหมาย และแม้การปฏิบัติธรรมแต่ละข้อก็มิใช่จะสมบูรณ์ตามขอบเขตความหมายของธรรมข้อนั้นๆ ทันที แต่ต้องคลี่คลายเจริญขึ้น
ตามลำดับ ดังนั้น ในที่นี้จึงควรทำความเข้าใจว่า ในสัมมาสังกัปปะ ๓ ข้อนั้น
เนกขัมมสังกัปป์ บางทีก็หมายเอาเพียงขั้นหยาบแบบสัญลักษณ์ คือ การคิดออกบวช หรือปลีกตัวออกไปจากความเป็นอยู่ของผู้ครองเรือน อพยาบาทสังกัปป์ ก็มุ่งเอาการเจริญเมตตาเป็นหลัก และอวิหิงสาสังกัปป์ ก็มุ่งเอาการเจริญกรุณาเป็นสำคัญ ปัญญาที่เจริญในขั้นนี้ แม้จะเป็นสัมมาทิฏฐิ มองเห็นตามความเป็นจริง แต่ก็ยังไม่บริสุทธิ์
เป็นอิสระรู้แจ้งเห็นจริงเต็มที่ จนกว่าจะถึงขั้นมีอุเบกขา ที่จิตลงตัวได้ที่ มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาจิตใจตามหลักสมาธิด้วย
ธรรมทั้งหลายนั้น เป็นสภาวะของธรรมดา พูดง่ายๆ ว่าเป็นธรรมชาติ การที่จะเข้าใจความหมายของมันได้ถูกต้องชัดเจนและครบถ้วน มิใช่เพียงแค่มาบอกมาจำกันไป แต่จะต้อง
รู้จักมันตามที่มีอยู่เป็นไป โดยสัมพันธ์กันกับธรรมหรือสภาวะอื่นๆ ทั้งหลายในชีวิตจิตใจที่เป็นอยู่จริงและขยายคลี่คลายไปกับการพัฒนาของชีวิตจิตใจนั้น จึงเป็นเรื่องที่ควรศึกษาโดยไม่ประมาท
แม้แต่เมตตา ซึ่งเป็นคุณธรรมที่เริ่มเจริญได้ตั้งแต่ระยะต้นๆ ของการปฏิบัติธรรม ก็มิใช่ข้อธรรมที่ง่ายนักอย่างที่มักเข้าใจกันอย่างผิวเผิน เพราะเมตตาอย่างที่พูดถึงกันง่ายๆ ทั่วๆ ไปนั้น หายากนักที่จะเป็นเมตตาแท้จริง ดังนั้น เพื่อช่วยป้องกันความเข้าใจผิดที่เป็นผลเสียหายต่อการปฏิบัติธรรม ในขั้นต้นนี้ ควรทราบหลักเบื้องต้นบางอย่างไว้เล็กน้อยก่อน
เมตตา หมายถึง
ไมตรี ความรัก ความหวังดี ความปรารถนาดี ความเข้าใจดีต่อกัน ความเอาใจใส่ ใฝ่ใจ หรือต้องการ ที่จะสร้างเสริมประโยชน์สุขให้แก่เพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย
ว่าโดยสาระ เมตตา คือ ความอยากให้ผู้อื่นเป็นสุข และอยากทำให้เขาเป็นสุข เมตตาเป็นธรรมกลางๆ
กลางทั้งในแง่ผู้ควรมีเมตตา และในแง่ผู้ควรได้รับเมตตา ทุกคนจึงควรมีต่อกัน ทั้งผู้น้อยต่อผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ต่อผู้น้อย คนจนต่อคนมี และคนมีต่อคนจน ยาจกต่อเศรษฐี และเศรษฐีต่อยาจก คนฐานะตํ่าต่อคนฐานะสูง และคนฐานะสูงต่อคนฐานะตํ่า คฤหัสถ์ต่อพระสงฆ์ และพระสงฆ์ต่อคฤหัสถ์
เมตตาเป็น
ธรรมพื้นฐานของใจขั้นแรก ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งทำให้มองกันในแง่ดีและหวังดีต่อกัน
พร้อมที่จะรับฟังและพูดจาเหตุผลของกันและกัน ไม่ยึดเอาความเห็นแก่ตัว หรือความเกลียดชังเป็นที่ตั้ง