ผู้เขียน หัวข้อ: นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ใช่แค่คิดเอา  (อ่าน 1167 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ใช่แค่คิดเอา (18)
-http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXdOREV6TURrMU5RPT0=&sectionid=TURNd053PT0=&day=TWpBeE1pMHdPUzB4TXc9PQ==-

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ในการพูดนั้นก็ไม่ได้ไปจำกัดว่าเป็นด้านมืดหรือด้านสว่าง ไม่ได้ไปมองในแง่แบ่งแยกว่าด้านมืดหรือด้านสว่าง แต่มองว่าอะไรเป็นอะไร เป็นอย่างไร ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ในเรื่องที่กำลังพูดถึง คือที่เขานิมนต์ให้พูด



ถ้าแยกเป็นด้าน ก็บอกว่า อะไรด้านไหนเกี่ยวข้องควรจะรู้ในการพูดคราวนั้นๆ เมื่อเรื่องมาถึง ก็พูดให้ชัดเจนกันไป มุ่งที่ความรู้



ทั้งนี้ ขออธิบายประกอบหน่อยหนึ่งว่า หนังสือเล่มที่ ท่านบ.ก.พูดถึงนั้นก็เหมือนกับหนังสือเล่มอื่นของอาตมาโดยส่วนมาก คือ เป็นเรื่องที่พูดตามสถานการณ์ ตามเรื่องที่เขานิมนต์ เป็นเพียงเรื่องที่แทรกเข้ามาในกระแสของงาน พูดเสร็จแล้วก็ไปขึ้นเตียงคนไข้ และทำงานที่ค้างอยู่ต่อไป เมื่อเขาลอกเทปมาว่าขอพิมพ์ ก็ตรวจให้ อะไรควรให้ชัดขึ้นก็เขียนเติมให้เรียบร้อยไป



เรื่องอย่างนี้จะเข้าใจได้ก็ต้องตั้งจิต วางท่าทีให้ถูก ดูเรื่องราวข้อมูลให้ชัด ให้ตลอด ไม่ควรคิดอยู่แต่ในเหตุผลที่เป็นกรอบความคิดของตน



แล้วท่านบ.ก.ก็ว่าอาตมาวิจารณ์ประวัติศาสตร์ของคริสต์ศาสนาในแง่ลบ ที่จริงสาระเป็นการเล่าเรื่อง เล่าเหตุการณ์ ให้ข้อมูล



ถ้าเป็นเรื่องข้างนอกหรือทั่วไปในโลก ตำราต่างๆ เขาก็เล่าไว้อย่างนี้แหละมากมาย ที่จริงน่าจะหาความรู้กันให้จริงจัง เอาง่ายๆ ไปอ่านใน Encyclopaedia Britannica จะได้เรื่องได้ราวยิ่งชัดขึ้นอีกเยอะ



ส่วนเรื่องที่เข้ามาเกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อเรื่องมีขึ้นแล้วก็พึงให้รู้กันไว้ เป็นเรื่องของความรู้ จะเป็นบทเรียน หรือเป็นข้อเตือนใจ ก็คือช่วยในการที่จะแก้ปัญหาและสร้างสรรค์



พร้อมกันนั้นจุดมุ่งของการเล่าเรื่องทั้งหมดก็ชัด โดยมาลงที่ว่าให้คนไทยชาวพุทธมีความภูมิใจที่ถูกต้อง คือภูมิใจในลักษณะดีงามที่ท่านบาทหลวงนั่นแหละได้สรรเสริญไว้ (คือ บาทหลวงฌอง เดอบูร์ ชาวฝรั่งเศส มาเมืองไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เขียนจดหมายเหตุไว้ว่า 'ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะมีประเทศใดในโลกที่มีศาสนาอยู่มากมาย และแต่ละศาสนาสามารถปฏิบัติพิธีการของตนได้อย่างเสรีเท่ากับประเทศสยาม') เป้ามาลงที่นี่



ก็เหมือนกับพูดว่า จะอย่างไรๆ ก็ตาม จะเขียนให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ ฉันไม่ไปยุ่งด้วย แต่ก็ขอให้คนไทยรักษาลักษณะที่ดีงามอันนี้ แล้วจริงไหม นี่ก็คือการเน้นย้ำให้คนไทยมั่นอยู่ในลักษณะแห่งความมี tolerance คือขันติธรรม หรือความใจกว้างอยู่ร่วมด้วยดีกับคนที่แตกต่างกันได้ ที่โลกต้องการนั่นเอง



ความภูมิใจในความดีงามที่มีอยู่ และพยายามรักษาไว้แบบที่ว่านี้ มิใช่เป็นความลำพองใจที่จะไปเหยียดหยามดูถูกใครๆ แต่เป็นเครื่องผูกพันคนไว้กับความดีงาม ที่เกื้อกูลทั้งแก่ตนและคนอื่น



แล้วครึ่งกว่าของหนังสือที่ท่านบ.ก.ว่านั้น ก็ว่าด้วยปัญหาภายในของพุทธศาสนาในเมืองไทยนี่เอง (ด้านมืดของคนที่เรียกว่าชาวพุทธไทย) ซึ่งจะต้องใส่ใจแก้ไข ให้ปรับปรุงพัฒนาตัวเอง ก้าวจากขั้นเตรียมความรู้ มาถึงตอนปฏิบัติ นี่คือจุดเน้นของหนังสือ



หนังสือที่เขียนมุ่งให้ความรู้และการแก้ไขปรับปรุงตัวเองอย่างนี้ควรมีให้มาก จึงน่าจะชวนท่านบ.ก.ให้มาช่วยกันในเรื่องอย่างนี้



สังคมไทยกำลังต้องการความรู้และการปรับแก้ตัวเอง ไม่ควรมามัววิจารณ์คนโน้นคนนี้กันอยู่โดยยังไม่รู้ข้อมูลความเป็นมาอะไรให้ชัดเจน โดยเฉพาะไม่เคยได้มาถามมาคุยให้รู้ใจจริงและทิศทางที่จะไปกันให้สิ้นสงสัยโปร่งโล่ง



ท่านบ.ก.บอกด้วยว่า อาตมาได้เขียนหนังสือจำนวนหนึ่งขึ้นชี้แจงแสดงเหตุผลว่า พุทธศาสนามีสถานะสำคัญโดดเด่นในประวัติศาสตร์ของสังคมไทย อันนี้ท่านเขียนไปๆ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าอาตมาเอาพลังที่ไหนมากนักหนามาเขียนหนังสือ แค่ประเด็นเดียวนี้ตั้ง 'a number of' ในเมื่อหนังสือรวมทุกเรื่องทุกด้านของอาตมา พระท่านว่ามี 300 กว่าเล่ม ถ้าเป็นอย่างที่ท่านว่าก็ต้องเกิน 300 ไปอีกเยอะ



แท้จริงที่เขียนจริงจังในแง่นี้ค่อนข้างโดยตรง ก็คือเล่มที่เขียนตามนิมนต์ให้แก่หนังสือของพุทธมณฑลเมื่อปี 2530 นั่นแหละ นอกนั้นโดยปกติก็เป็นเรื่องพูด และเสริมประกอบเรื่องอื่นๆ ที่โน่นที่นี่



แล้วทั้งหมดนั้นสาระก็ไม่ได้มุ่งไปที่เรื่องสถานะของพุทธศาสนาว่าโดดเด่นสำคัญ แต่เน้นในแง่ของความดีงามที่ควรช่วยกันรักษา และคุณประโยชน์ที่ทำไว้และพึงช่วยกันทำต่อไป



แล้วที่ว่าหนังสือเหล่านั้นของอาตมา เหล่าบุคคลในมหาวิทยาลัยสงฆ์เข้าใจกันว่าสนับสนุนทัศนะที่ว่าพุทธศาสนาควรแก่ฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ อันนั้นอาตมาไม่อาจจะรู้ได้ ถ้าท่านบ.ก.ทราบแล้วมาบอกไว้ก็ดีแล้ว ส่วนท่านในมหาวิทยาลัยสงฆ์จะยอมรับอย่างนั้นหรือไม่ก็ไม่ทราบ อาตมาไม่ล่วงรู้ไปถึงได้



แต่ถึงอย่างไร นี่ก็เป็นเรื่องของความรู้ที่เป็นกลางๆ เหมือนน้ำเหมือนลม ใครจะเอาไปใช้ในทางไหนก็ได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือไม่ใช่เป็นเหตุให้ใครๆ ไปริเริ่มการเรียกร้องขึ้นมา การเรียกร้องนั้นเขาทำเป็นอิสระของเขา แต่เมื่อเรียกร้องเริ่มแล้วจะเอาหนังสือนี้ไปหนุนก็ไม่เห็นจะเสียหาย น่าจะมีแต่ดี เพราะจะช่วยให้ไม่ออกนอกทิศทางที่ดีไขว้เขวไป


http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXdOREV6TURrMU5RPT0=&sectionid=TURNd053PT0=&day=TWpBeE1pMHdPUzB4TXc9PQ==

.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)