ผู้เชี่ยวชาญแนะ 5 วิธีป้องกันอันตรายใน “ห้างสรรพสินค้า”
-http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000112663-
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
13 กันยายน 2555 11:32 น.
1.รถเข็น
รถเข็นในห้างดิสเคานต์สโตร์เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยยอดฮิตที่ผู้ปกครองนิยมฝากบุตรหลานเอาไว้ในนั้น แต่รถเข็นไม่ใช่อุปกรณ์ที่มั่นคงเพียงพอสำหรับให้เด็กยืน ทำให้บางคนหกล้มบาดเจ็บได้ นอกจากนั้น เด็กส่วนหนึ่งเมื่อลงไปยืนในรถเข็นก็มักจับขอบรถเข็นเอาไว้เพื่อกันล้ม ถ้าผู้ปกครองเข็นไม่ระวัง ปล่อยให้ขอบของรถเข็นไปเสียดสีกับสิ่งต่างๆ ในห้างก็อาจทำให้มือของบุตรหลานบาดเจ็บได้
การใช้รถเข็นที่อันตรายอีกประการหนึ่ง คือ การนำรถเข็นมาแข่งกันในห้าง ซึ่งอันตรายอาจเกิดขึ้นได้หากไปชนเข้ากับชั้นวางสินค้า ลูกค้า หรือพลิกคว่ำ นั่นเอง
2.บันไดเลื่อน
กรณีของบันไดเลื่อนซึ่งเป็นข่าวครึกโครมอยู่ในช่วงนี้ เชื่อว่า คงมีหลายๆ ครอบครัวระมัดระวังกับการใช้บันไดเลื่อนกันมากขึ้น และ ดร.สุภาพร ก็ได้ฝากคำแนะนำในการใช้บันไดเลื่อนมาด้วยว่า
“การใช้บันไดเลื่อนในเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังอย่าให้ลูกสอดนิ้วเข้าไปตามจุดต่างๆ ควรสอนให้ลูกยืนนิ่ง และมองตรงไปข้างหน้า อย่านั่งเพราะนิ้วมือนิ้วเท้าจะติดได้ หรือถ้ามีรถเข็นเด็ก ขึ้นลิฟต์ดีกว่า นอกจากนั้น ควรตรวจดูเสื้อผ้า ผม เชือกผูกรองเท้า ว่า มันเข้าไปติดหรือเปล่า ถ้าติดจริงๆ ต้องรีบตะโกนบอกให้คนช่วยกดปุ่มหยุดบันไดเลื่อน”
3.ลิฟต์
กรณีของลิฟต์ สิ่งที่น่ากลัวคือ การสอดแขน ขา เข้าไปขัดประตูลิฟต์ไว้ไม่ให้ปิด เพราะประตูอาจหนีบอวัยวะติดไปกับลิฟต์ด้วย ในจุดนี้ ดร.สุภาพร แนะนำว่า
“ถ้าไม่ทันก็คือไม่ทัน รอคราวหน้าดีกว่า นอกจากนั้นต้องดูช่องระหว่างลิฟต์กับพื้นอาคาร เพราะเท้าของเด็กนั้นเล็ก อาจตกลงไปได้ กรณีนี้ อาจสอนลูกง่ายๆ เช่น ให้คนข้างในออกมาก่อนแล้วลูกค่อยเข้าไป เพราะนั่นหมายความว่าลิฟต์จอดสนิทแล้ว ถือเป็นการสอนมารยาทเด็กไปด้วยในตัว”
4.มุมสำหรับเด็ก
บางห้างจะมีจัดโซนสำหรับเด็กเอาไว้ ซึ่งในโซนเหล่านั้นจะมีเครื่องเล่นต่างๆ ไว้คอยบริการด้วย อย่างไรก็ดี ของเล่นบางชิ้นก็สูงเกินกว่าที่เด็กจะขึ้นลงเองได้อย่างปลอดภัย หรือหากเล่นแล้วมีการโยก-เขย่า-หมุน ก็อาจทำให้เด็กพลัดตกลงมาได้ ในจุดนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรดูแลอย่างใกล้ชิด
5.จุดจัดแสดงสินค้า โดยเฉพาะเครื่องแก้ว
อีกหนึ่งจุดที่อาจเกิดอันตรายกับเด็ก (และกระเป๋าสตางค์ของพ่อแม่) ก็คือ มุมเครื่องแก้ว เพราะเด็กเล็กไม่ระวังตัวเพียงพออาจปัดเครื่องแก้วตกแตก หรือบาดตามร่างกายได้ ในจุดนี้ ดร.สุภาพร ยังชี้ด้วยว่า ในมุมเสื้อผ้าเองก็อันตรายไม่แพ้กัน เพราะในราวแขวนเสื้อนั้น เด็กมักชอบมุดไปมุดมาเล่นเป็นที่สนุกสนาน แต่ถ้าหากร่างกายไปเกี่ยวเสื้อผ้า หรือไปติดเข้า ก็อาจทำให้เสื้อผ้าทั้งราวล้มลงมาทับเป็นอันตรายได้เช่นกัน
นอกจากนั้น สิ่งอำนวยความสะดวกที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกจุดหนึ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายในเด็ก นั่นก็คือ ขอบกั้นที่ทางห้างสร้างขึ้น หลายครั้งที่ทางห้างจัดการแสดงที่ชั้น 1 เรามักพบเห็นพ่อแม่ผู้ปกครองพาบุตรหลานขึ้นมายืนบนขอบกั้นเหล่านั้นตามชั้น 2, 3, 4 เพื่อหวังให้ลูกดูการแสดงได้ชัดเจน แต่นั่นยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะพลัดหลุดจากมือพ่อแม่หล่นลงมาได้ จึงไม่ควรกระทำการดังกล่าวโดยเด็ดขาด
สำหรับคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าเป็นการแสดงที่น่าสนใจจริงๆ จะพาลูกมานั่งชมที่เวที ทีมงานก็ขอเรียนว่าอาจไม่ดีสำหรับเด็กเสมอไป เพราะลำโพงของการแสดง โดยมากแล้วมักเปิดเสียงดังมาก เรียกว่าเปิดเผื่อลูกค้าทุกคนที่เดินอยู่ในห้างเลยก็ว่าได้ หากพาเด็กๆ มานั่งหน้าเวทีอาจได้โรคเกี่ยวกับหูกลับบ้านเป็นของแถม
ทั้งหมดนี้ อาจสะท้อนได้ถึงบางสิ่งบางอย่างที่ผู้ประกอบการไทยควรกลับไปคิดทบทวนถึงการให้บริการของตนเอง เพราะถ้าขึ้นชื่อว่าห้างสรรพสินค้า ไม่ว่าจะนิยามตนเองว่าเป็นห้างไฮโซ หรือห้าง Low Price สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรระลึกเอาไว้เสมอ ก็คือ การมุ่งสร้างความพึงพอใจให้กับผู้มาใช้บริการ หรือก็คือ “ลูกค้า” เป็นอันดับหนึ่ง และความปลอดภัยในการใช้บริการก็เป็นหนึ่งสิ่งที่เจ้าของห้างสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ อยู่ที่ว่าวันนี้ ผู้ประกอบการมีความใส่ใจมากพอแล้วหรือยัง
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000112663.