แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

คำสอนของฮวงโป :บันทึกวาน-ลิง

<< < (3/5) > >>

ฐิตา:


   ๑๗.พุทธกิจ
   ถาม   ก็ในขณะแห่งการตรัสรู้นั้นเล่า พุทธะอยู่ที่ไหน ?
   ตอบ   คำถามของพวกเธอ พลุ่งออกมาจากหน ? ความรู้สึกเช่นนั้นของพวกเธอ โผล่ออกมาจากไหนกัน ? เมื่อใดคำพูดหยุดเงียบ การเคลื่อนไหวทุกอย่างหยุดสนิท ภาพและเสียงทุกชนิดอันตรธานไปหมด เมื่อนั้นแหละ พุทธกิจแห่งการปลดปล่อยสัตว์ ได้กำลังเป็นไป อย่างแท้จริง เมื่อเป็นดังนี้ พวกเธอจะแสวงหาพุทธะที่ไหนกัน ?

   พวกเธอไม่สามารถใส่หัวอีกหัวหนึ่งลงบนหัวของเธอ หรือใส่ปากอีกปาหนึ่งเข้าที่ปากของเธอ ยิ่งกว่านั้นอีก พวกเธอต้องเว้นขาดจากสิ่งที่แตกต่างตรงกันข้ามเป็นคู่ ๆ ทุกชนิดเสียทีเดียว ภูเขาก็เป็นภูเขา น้ำก็เป็นน้ำ บรรพชิตก็เป็นบรรพชิต ชาวบ้านก็เป็นชาวบ้าน แต่ว่าภูเขาเหล่านี้ แม่น้ำเหล่านี้ โลกเองทั้งหมด พร้อมทั้งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวทั้งหลาย ทั้งหมดนั้นไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่ตั้งอยู่ภายนอกจิตของเธอ !

   สากลโลกธาตุอันไพศาล ก็ตั้งอยู่แต่ภายในใจเธอเท่านั้น เมื่อเป็นดังนั้น จะมีที่อื่นที่ไหนอีกเล่า ที่จะหาพบสิ่งต่าง ๆ ที่มีปรากฏการณ์นานาชนิด ภายนอกของจิตไม่มีอะไรเลย ทิวเขาเขียวเป็นพดจับสายตาของพวกเธออยู่ทุกทางก็ดี ฟ้าอันเวิ้งว้างซึ่งเธอเห็นสว่างจ้าอยู่เหนือโลกก็ดี ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรสักเส้นผมเดียวที่อยู่นอกจากความคิดที่พวกเธอคิดมันขึ้น มาเอง ! ดังนั้นจึงเป็นอันว่า ภาพและเสียงแต่ละอย่างทุก ๆ อย่างเป็นเพียง จักษุแห่งปัญญาของพุทธะ

   ปรากฏการณ์ ทั้งหลาย ไม่เกิดขึ้นได้โดยลำพังตนเอง แต่อาศัยสิ่งแวดล้อมปรุงแต่ง และมันได้แก่ความปรากฏของสิ่งเหล่านั้นที่ปรากฏออกมาเป็นวัตถุและเรื่องราว ต่าง ๆ นั้นเอง ที่ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีวิชาความรู้ ชนิดที่เป็นของเหมาะเฉพาะตัวเป็นคน ๆ ไป ขึ้นมา

   พวกเธออาจพูดไปได้ตลอดทั้งวัน ถึงกระนั้นก็จะมีอะไรบ้างที่ได้พูดออกมา ? พวกเธออาจฟังไปได้ตั้งแต่เช้าจนพลบค่ำ ถึงกระนั้นก็มีอะไรบ้างที่เธอได้ยิน ? เพราะฉะนั้น แม้ว่าพระโคตรมะพุทธะจะได้ทรงประกาศธรรมเป็นเวลาถึง ๔๙ ปี โดยความจริงแล้วไม่มีถ้อยคำใด ๆ ซึ่งพระองค์ได้ตรัสเลย


   ๑๘.โพธิมิใช่เป็นภาวะ
   ถาม   สมมติว่าทั้งหมดนั้นเป็นเช่นนั้นจริงแล้วภาวะเช่นไรโดยเฉพาะเล่า ที่ถูกหมายถึงโดยความหมายของคำว่า โพธิ ?
   ตอบ   โพธิมิใช่เป็นภาวะ พระพุทธองค์มิได้ทรงลุถึงโพธิ สัตว์ทั้งปวงก็มิได้ไร้จากโพธิ มันมิใช่สิ่งที่ถึงได้ด้วยกาย หรือแสวงหาได้ด้วยใจ สัตว์ทั้งหลาย ทั้งปวง เป็นสิ่งที่มีภาวะเป็นอันเดียวกันกับโพธิ เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ฐิตา:


   ๑๙.โพธิมิได้เป็นสิ่งซึ่งต้องลุถึง

   ถาม   แล้วคนเราจะลุถึง “โพธิ-จิต” ได้อย่างไรกันเล่า ?
   ตอบ   โพธิ มิได้เป็นสิ่งซึ่งต้องลุถึง เดี๋ยวนี้นี่แหละ ถ้าพวกเธอสามารถเข้าใจ ซึมซาบ ถึงความที่มันเป็น สิ่งที่ไม่ต้องมีการลุถึงด้วยใจเธอเอง และเป็นผู้แน่ใจจริง ๆ ว่า ไม่มีอะไรเลยที่ใคร ๆ เคยลุถึง แล้วเธอจะเป็นผู้มีโพธิ-จิต ไปแล้วทันที

   เพราะเหตุที่ โพธิมิได้เป็นภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง มันจึงมิได้เป็นอะไร ๆ เพื่อให้เธอลุถึง เพราะฉะนั้นจึงมีคำจารึกเกี่ยวกับพุทธโคตมะ ไว้ว่า “เมื่อ ตถาคตยังท่องเที่ยวอยู่ ในพุทธสมัยของพระพุทธจ้าทีปังกร ก็ไม่มีอะไรแม้แต่นิดเดียวที่เราจะต้องบรรลุในเวลานั้นเอง ที่พระพุทธเจ้าทีปังกรได้ทรงพยากรณ์ว่า แม้แต่เราตถาคตก็เหมือนกัน จะเป็นพุทธะองค์หนึ่ง”

   ถ้าพวกเธอทราบโดยประจักษ์ว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นของอันเดียวกันกับโพธิมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกเธอจะหยุดคิดถึงโพธิในฐานะเป็นสิ่งที่ต้องลุถึง เธออาจได้ยินมาแล้วเมื่อไม่นานนี้เอง ที่คนเขาพูดกันถึงเรื่อง “การลุถึงโพธิ-จิต” แต่นั่นเรียกได้ว่า เป็นวิธีที่ฉลาดที่สุด ที่เขาใช้เพื่อขับไล่พุทธะไปเสียจากเธอ !

   โดยการปฏิบัติตามวิธีนั้น พวกเธอก็ได้แต่เพียงแสดงท่าทีว่าจะเข้าถึงพุทธภาวะให้สำเร็จ แม้เธอจะใช้เวลากัปแล้วกัปเล่าในการปฏิบัติเช่นนั้น เธอก็จะเข้าถึงได้เพียงสัมโภคกาย และนิรมานกายเท่านั้น แล้วข้อนั้นมันเกี่ยวอะไรกันเล่า กับพุทธภาวะดั้งเดิมและแท้จริง ของพวกเธอ ? ด้วยเหตุนี้แหละ จึงมีคำจารึกไว้ว่า “การแสวงหาพุทธะข้างนอก เพื่อให้ได้พุทธะที่มีรูปนั้นไม่มีอะไรเลยที่พวกเธอจะต้องทำ” ดังนี้

ฐิตา:


   ๒๐.ธาตุแท้

   ถาม   ถ้าชาวเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพุทธะ (สิ่งสูงสุด) อยู่ตลอดเวลาแล้ว ซึ่งจะอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีสัตว์ที่เกิดในกำเนิดทั้งสี่และอยู่ในภูมิทั้งหก ทำไมแต่ละตน ๆ จึงมีรูปลักษณะเฉพาะและความปรากฏต่าง ๆ กัน ตามกำเนิดและภูมิของตน ๆ ด้วยเล่า

   ตอบ   ธาตุแท้ซึ่งเป็นเนื้อหาของพุทธะนั้น เป็นสิ่ง ๆ เดียว ซึ่งเต็มเปี่ยมอยู่ทั้งหมด ไม่มีการล้น ไม่มีการพร่อง มันแทรกซึมอยู่ในภูมิแห่งความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหกภูมิถึงกระนั้นมันก็ยัง เป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งเต็มเปี่ยมอยู่เสมอทุกหนทุกแห่ง ดังนั้น ปรากฏการณอันมากมายนับไม่ถ้วนในสากลจักรวาลนี้ ทุก ๆ อย่างล้วนเป็นพุทธะ (สิ่งสูงสุด) นั้น ทั้งนั้น

   เนื้อหาแห่งพุทธะนี้อาจจะเปรียบกันได้กับปรอทจำนวนหนึ่งซึ่งเมื่อกระจัดกระจายไปทุก ทิศทุกทางแล้ว ย่อมกลับรวมตัวเป็นสิ่งสมบูรณ์สิ่งเดียวได้ในที่ทุกหนทุกแห่ง เมื่อยังไม่กระจัดกระจายมันเป็นธรรมชาติแห่งของสิ่งเดียว-ของสิ่งเดียวซึ่ง ประกอบอยู่ด้วยของทั้งหมด หรือของทั้งหมด ซึ่งประกอบกันเป็นของสิ่งเดียว

   ส่วนรูปร่างและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ซึ่งมันแสดงออกมาอีกทางหนึ่งนั้น เปรียบเหมือนกับที่อยู่อาศัย เหมือนกันแท้กับคนที่ยอมทิ้งโรงเลี้ยงสัตว์เพื่อเอาบ้านที่สบายฉันใด คนเราก็เปลี่ยนร่างที่เป็นกายมนุษย์เพื่อกายสวรรค์ และเปลี่ยนสูงขึ้นไปโดยทำนองนั้น จนกระทั่งถึงปัจเจกพุทธะ ชั้นโพธิสัตว์ และชั้นพุทธะทั้งหลาย

   แต่ปรากฏการณ์ทุก ๆ อย่างนั้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่พวกเธอได้แสวงหา หรือได้ทอดทิ้งโดยเสมอกันด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จึงเกิดมีผลคือความแตกต่างกันในระหว่างสิ่งเหล่านั้น แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไร ในข้อที่ว่า ตัวธรรมชาติเดิมอันเป็นเนื้อหาแท้ของสากลจักรวาลนั้น จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของการถูกทำให้แตกต่างกัน เช่นนั้น ?

ฐิตา:


   ๒๑.การสั่งสอน

   ถาม   ด้วยอาการอย่างไร ที่พุทธะทั้งหลายย่อมประกาศธรรมแก่สรรพสัตว์ เนื่องจากความเมตตาและความกรุณา อันมหาศาลของท่าน ?
   ตอบ   พวกเรากล่าวถึงความเมตตาและความกรุณาของท่านว่าเป็นสิ่งมหาศาล ก็เพราะว่า มันอยู่เหนือกฎแห่งความเป็นเหตุและผล (ดังนั้น มันจึงไม่มีของขีดจำกัด) โดยคำว่าเมตตาโดยแท้จริง หมายความว่า ไม่รู้สึกว่ามีพุทธะที่จะเป็นผู้ตรัสรู้ พร้อมกันนั้นคำว่า กรุณา โดยแท้จริง ย่อมหมายความว่าไม่รู้สึกว่ามีตัวสัตว์ทั้งหลายที่จะต้องปลดปล่อย

   โดยความจริงแล้ว ธรรมของพุทธะเหล่านั้น มิได้ถูกสอนโดยทางคำพูด หรือโดยวิธีทำความเข้าใจกันโดยวิธีอื่นใด ทางฝ่ายผู้ฟังนั้นเล่า ไม่มีใครได้ยิน หรือได้บรรลุอะไรเลย มันเหมือนกับศาสดาในฝัน สอนประชาชนในฝัน

   เมื่อกล่าวถึงการสั่งสอน ทั้งหมดเหล่านี้ ถ้าหากว่าเห็นแก่ทางอันประเสริฐนั้น อาตมาก็จะกล่าวแก่ท่าน จากความรู้อันลึกและนำท่านไปข้างหน้า และท่านอาจจะเข้าใจคำที่อาตมากล่าวได้โดยแน่นอน แต่สำหรับความเมตตา และความกรุณานั้น ถ้าสมมติว่าอาตมาจะเอาสิ่งต่าง ๆ มาคิด และทำการศึกษาถึงความคิดเห็นของคนอื่น ๆ เพื่อเห็นแก่พวกเธอ โดยการกระทำทั้งสองอย่างนี้จะไม่ช่วยให้พวกเธอเข้าถึงความรอบรู้ต่อจิตของ เธอเอง จากภายในตัวเธอเองได้เลย ดังนั้น ในที่สุดสิ่งทั้งสองนี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย

ฐิตา:


   ๒๒.ความขยันอย่างกระตือรือร้น
   ถาม   อะไรคือความหมายคำว่า “ความขยันอย่างกระตือรือร้น ?”
   ตอบ   ความขยันอย่างกระตือรือร้น ที่มีรูปแห่งการประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ถึงที่สุดนั้น คือความที่ความรู้สึกแตกต่างกันเป็นคู่ เช่นว่า “กายของฉัน” “ใจของฉัน” เป็นต้น ได้หมดไปจากใจของพวกเธอโดยสิ้นเชิง นั่นเอง

   ในทันทีที่พวกเธอเริ่มแสวงหาอะไรบางอย่าง ภายนอกจาก จิต ของเธอเอง พวกเธอย่อมเป็นเหมือนกลิราชาผู้เมาด้วยการล่าเนื้อ แต่พอพวกเธอห้ามกันจิตของพวกเธอเสียจากการท่องเที่ยวไปภายนอกตัวมันเองเท่า นั้น เธอเป็นกษันติฤาษีองค์หนึ่งขึ้นมาแล้ว ไม่มีกาย-ไม่มีจิต” นี้คือ ทาง ของพุทธะทั้งหลาย


   ๒๓.การสร้างความมีอยู่
   ถาม   ถ้ากระผมปฏิบัติ ทาง นี้ และเว้นขาดจากกรรมวิธีต่าง ๆ ทางสติปัญญาและการปรุงแต่งเสียให้หมดสิ้น กระผมจะเป็นผู้เที่ยงแต่ การบรรลุ ถึงจุดหมายปลายทางหรือไม่ ?
   ตอบ   การไม่ใช้สติปัญญาอะไรเลยเช่นนั้น เป็นการปฏิบัติตาม ทาง นี้อยู่แล้ว ! ทำไมจะต้องพูดถึงการบรรลุ หรือการไม่บรรลุเช่นนี้กันอีกเล่า ? เรื่องมันมีอย่างนี้ คือ ...

   โดยการคิดถึงอะไรบางอย่าง เธอย่อมสร้างความมีอยู่ (ของตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่ง) ขึ้นมาอย่างหนึ่ง และโดยการคิดถึงความไม่อะไร เธอย่อมสร้างความมีอยู่ (ของความไม่มีอะไร) ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง ขอให้การคิดในทำนองที่ผิด ๆ เช่นนี้ จงสูญสิ้นไปโดยเด็ดขาดเถิด แล้วก็จะไม่มีอะไรเหลืออยู่ ให้เธอเที่ยวแสวงอีกต่อไป

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version