ผู้เขียน หัวข้อ: องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา(๓.สัมมาวาจา ๔.สัมมากัมมันตะ ๕.สัมมาอาชีวะ)  (อ่าน 2224 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


                 

ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
๓.สัมมาวาจา ๔.สัมมากัมมันตะ ๕.สัมมาอาชีวะ

 
คำจำกัดความ และความหมายพื้นฐาน
 องค์มรรค ๓ ข้อนี้ เป็นขั้นศีลด้วยกัน จึงรวมมากล่าวไว้พร้อมกัน เมื่อพิจารณาความหมายตามหลักฐานในคัมภีร์ ปรากฏคำจำกัดความดังนี้

๑.  ภิกษุทั้งหลาย สัมมาวาจา เป็นไฉน? นี้เรียกว่าสัมมาวาจา คือ
 ๑) มุสาวาทา เวรมณี   เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ
 ๒) ปิสุณาย วาจาย เวรมณี ” วาจาส่อเสียด
 ๓) ผรุสาย วาจาย เวรมณี ” วาจาหยาบคาย
 ๔) สมฺผปฺปลาปา เวรมณี ” การพูดเพ้อเจ้อ

๒. ภิกษุทั้งหลาย สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน? นี้เรียกว่าสัมมากัมมันตะ คือ
 ๑) ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการตัดรอนชีวิต
 ๒) อทินฺนาทานา เวรมณี      ” การถือเอาของที่เขามิได้ให้
 ๓) กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี   ” การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย”

๓.  ภิกษุทั้งหลาย สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน? นี้เรียกว่าสัมมาอาชีวะ คือ อริยสาวกละมิจฉาอาชีวะ  เสีย หาเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ

 นอกจากนี้ ยังมีคำจำกัดความแบบแยกเป็น ระดับโลกิยะ และ ระดับโลกุตตระ อีกด้วย เฉพาะระดับโลกิยะ มีคำจำกัดความอย่างเดียวกับข้างต้น ส่วนระดับโลกุตตระ มีความหมายดังนี้
 ๑. สัมมาวาจา ที่เป็นโลกุตตระ ได้แก่
 ความงด ความเว้น ความเว้นขาด เจตนางดเว้นจากวจีทุจริตทั้ง ๔ ของท่านผู้มีจิตเป็นอริยะ มีจิตไร้อาสวะ ผู้พร้อมด้วยอริยมรรค กำลังเจริญอริยมรรคอยู่
 ๒. สัมมากัมมันตะ ที่เป็นโลกุตตระ ได้แก่ ความงด ความเว้น ความเว้นขาด เจตนางดเว้นจากกายทุจริตทั้ง ๓ ของท่านผู้มีจิตเป็นอริยะ...
 ๓. สัมมาอาชีวะ ที่เป็นโลกุตตระ ได้แก่ ความงด ความเว้น ความเว้นขาด เจตนางดเว้นจากมิจฉาอาชีวะของท่านผู้มีจิตเป็นอริยะ...

ความหมายแบบขยาย ในคำสอนทั่วไป
 จากความหมายหลักอันเป็นประดุจแกนกลาง ของระบบการฝึกอบรมขั้นศีลธรรมที่เรียกว่าอธิศีลสิกขานี้ พุทธธรรมก็กระจายคำสอนออกไป เป็นข้อปฏิบัติและหลักความประพฤติต่างๆ ในส่วนรายละเอียด หรือในรูปประยุกต์อย่างกว้างขวางพิสดาร เพื่อให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติทั้งแก่บุคคลและสังคม เริ่มแต่หลักแสดงแนวทางความประพฤติที่ตรงกันกับในองค์มรรคนี้เอง ซึ่งเรียกว่า กรรมบถ และหลักความประพฤติอันเป็นมนุษยธรรม ที่เรียกว่า เบญจศีล เป็นต้น

 อย่างไรก็ดี คำสอนในรูปประยุกต์ ย่อมกระจายออกไปเป็นรายละเอียดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อให้เหมาะสมกับบุคคล กาละ เทศะ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในการสอนครั้งนั้นๆ ในที่นี้ มิใช่โอกาสที่มุ่งเพื่ออธิบายคำสอนเหล่านั้น จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะรวบรวมรายละเอียดมาแสดง ยิ่งพุทธธรรมเป็นคำสอนที่มีระบบแน่นอนอยู่แล้ว การแสดงแต่เพียงหลักศูนย์กลางให้เกิดความเข้าใจแบบรวบยอด ก็เป็นการเพียงพอ ส่วนคำสอนในรูปประยุกต์ต่างๆ ก็ปล่อยให้เป็นสิ่งสำหรับผู้ต้องการข้อธรรมที่เหมาะสมกับอัธยาศัย ระดับการครองชีพ และความประสงค์ของตน จะพึงแสวงต่อไป

 เมื่อกล่าวโดยสรุป สำหรับคำสอนในรูปประยุกต์ ถ้ามิใช่ประยุกต์ในส่วนรายละเอียดให้เหมาะกับบุคคล กาลเวลา สถานที่ และโอกาสจำเพาะกรณีแล้ว หลักใหญ่สำหรับการประยุกต์ก็คือ สภาพหรือระดับการครองชีวิต โดยนัยนี้ จึงมีศีลหรือข้อบัญญัติ ระบบความประพฤติต่างๆ ที่แยกกันออกไปเป็นศีลสำหรับคฤหัสถ์ และศีลสำหรับบรรพชิต เป็นต้น

 ผู้ศึกษาเรื่องศีล จะต้องเข้าใจหลักการ สาระสำคัญ และที่สำคัญยิ่งคือ วัตถุประสงค์ของศีลเหล่านั้น ทั้งในส่วนรายละเอียดที่ต่างกัน และส่วนรวมสูงสุดที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงจะชื่อว่ามีความเข้าใจถูกต้อง ไม่งมงาย ปฏิบัติธรรมไม่ผิดพลาด และได้ผลจริง

   ในที่นี้ จะแสดงตัวอย่างการกระจายความหมายขององค์มรรคขั้นศีลเหล่านี้ ออกไปเป็นหลักความประพฤติที่บังเกิดผลในทางปฏิบัติ
   หลักความประพฤติที่นำมาแสดงเป็นตัวอย่างนี้ เป็นหลักที่กระจายความหมายออกไปโดยตรง มีหัวข้อตรงกับในองค์มรรคทุกข้อ เป็นแต่เรียงลำดับฝ่ายกายกรรม (ตรงกับสัมมากัมมันตะ) ก่อนฝ่ายวจีกรรม (ตรงกับสัมมาวาจา) และเรียกชื่อว่ากุศลกรรมบถบ้าง สุจริตบ้าง ความสะอาดทางกาย วาจา (และใจ) บ้าง สมบัติแห่งกัมมันตะบ้าง ฯลฯ มีเรื่องตัวอย่างดังนี้

   เมื่อพระพุทธเจ้าประทับ ณ เมืองปาวา ในป่ามะม่วงของนายจุนทะกัมมารบุตร นายจุนทะมาเฝ้า ได้สนทนาเรื่องโสไจยกรรม (พิธีชำระตนให้บริสุทธิ์) นายจุนทะทูลว่า เขานับถือบัญญัติพิธีชำระตัวตามแบบของพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือเต้านํ้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย บูชาไฟ ถือการลงนํ้าเป็นวัตร
   บัญญัติของพราหมณ์พวกนี้มีว่า แต่เช้าตรู่ทุกวัน เมื่อลุกขึ้นจากที่นอนจะต้องเอามือลูบแผ่นดิน ถ้าไม่ลูบแผ่นดิน ต้องลูบมูลโคสด หรือลูบหญ้าเขียว หรือบำเรอไฟ หรือยกมือไหว้พระอาทิตย์ หรือมิฉะนั้นก็ต้องลงนํ้าให้ครบ ๓ ครั้ง ในตอนเย็น อย่างใดอย่างหนึ่ง

   พระพุทธเจ้าตรัสว่า บัญญัติเรื่องการชำระตัวให้สะอาดของพวกพราหมณ์นี้ เป็นอย่างหนึ่ง ส่วนการชำระตัวให้สะอาดในอริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง หาเหมือนกันไม่ แล้วตรัสว่า คนที่ประกอบ อกุศลกรรมบถ ๑๐ (ปาณาติบาต อทินนาทาน ฯลฯ ที่ตรงข้ามกับ กุศลกรรมบถ ๑๐) ชื่อว่ามีความไม่สะอาด ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ คนเช่นนี้ ลุกขึ้นเช้า จะลูบแผ่นดิน หรือจะไม่ลูบ จะลูบโคมัย หรือจะไม่ลูบ จะบูชาไฟ จะไหว้พระอาทิตย์ หรือไม่ทำ ก็ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง เพราะอกุศลกรรมบถเป็นสิ่งที่ ทั้งไม่สะอาด ทั้งเป็นตัวการทำให้ไม่สะอาด แล้วตรัส กุศลกรรมบถ ๑๐ ที่เป็นเครื่องชำระตัวให้สะอาด คือ

ก. เครื่องชำระตัวทางกาย ๓ ได้แก่ การที่บุคคลบางคน
 ๑. ละปาณาติบาต เว้นขาดจากการตัดรอนชีวิต วางทัณฑะ วางศัสตรา มีความละอายใจ กอปรด้วยเมตตา ใฝ่ใจช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ปวงสัตว์โลก
 ๒. ละอทินนาทาน เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งที่เขามิได้ให้ ไม่ยึดถือทรัพย์สินอุปกรณ์อย่างใดๆ ของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นของที่อยู่ในบ้าน หรือในป่า ซึ่งเขามิได้ให้ อย่างเป็นขโมย
 ๓. ละกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ไม่ล่วงละเมิดในสตรี เช่นอย่างผู้ที่มารดารักษา ผู้ที่บิดารักษา ผู้ที่พี่น้องชายรักษา ผู้ที่พี่น้องหญิงรักษา ผู้ที่ญาติรักษา ผู้ที่ธรรมรักษา (เช่นกฎหมายคุ้มครอง) หญิงมีสามี หญิงหวงห้าม โดยที่สุดแม้หญิงที่หมั้นแล้ว



มีต่อค่ะ...

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 02, 2013, 12:18:03 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


                 

ข. เครื่องชำระตัวทางวาจา ๔ ได้แก่ การที่บุคคลบางคน
๑. ละมุสาวาท เว้นขาดจากการพูดเท็จ เมื่ออยู่ในสภาก็ดี อยู่ในที่ประชุมก็ดี อยู่ท่ามกลางญาติก็ดี อยู่ท่ามกลางชุมนุมก็ดี อยู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี ถูกเขาอ้างตัวซักถามเป็นพยานว่า เชิญเถิดท่าน ท่านรู้สิ่งใดจงพูดสิ่งนั้น เมื่อไม่รู้ เขาก็กล่าวว่า ไม่รู้ เมื่อไม่เห็น ก็กล่าวว่า ไม่เห็น เมื่อรู้ ก็กล่าวว่า รู้ เมื่อเห็นก็กล่าวว่า เห็น ไม่เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้ ไม่ว่าเพราะเหตุแห่งตนเอง หรือเพราะเหตุแห่งคนอื่น หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสใดๆ
 ๒. ละปิสุณาวาจา เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด ไม่เป็นคนที่ฟังความข้างนี้ แล้วเอาไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนฝ่ายนี้ หรือฟังความข้างโน้น แล้วเอามาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายคนฝ่ายโน้น เป็นผู้สมานคนที่แตกร้าวกัน ส่งเสริมคนที่สมัครสมานกัน ชอบสามัคคี ยินดีในสามัคคี พอใจในความสามัคคี ชอบกล่าวถ้อยคำที่ทำให้คนสามัคคีกัน
 ๓. ละผรุสวาจา เว้นขาดจากวาจาหยาบ กล่าวแต่ถ้อยคำชนิดที่ไม่มีโทษ รื่นหู น่ารัก จับใจ สุภาพ เป็นที่พอใจของพหูชน เป็นที่ชื่นชมของพหูชน
 ๔. ละสัมผัปปลาปะ  เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ  พูดถูกกาล พูดคำจริง พูดเป็นอรรถ พูดเป็นธรรม พูดเป็นวินัย กล่าววาจาเป็นหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีกำหนดขอบเขต ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร


 ค. เครื่องชำระตัวทางใจ ๓ ได้แก่ อนภิชฌา (ไม่คิดจ้องเอาของคนอื่น) อพยาบาท และสัมมาทิฏฐิ เฉพาะ ๓ ข้อนี้ เป็นความหมายที่ขยายจากองค์มรรค ๒ ข้อแรก คือ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ จึงไม่คัดมาไว้ในที่นี้

   บุคคลผู้ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ถึงตอนเช้าตรู่ ลุกขึ้นจากที่นอน จะมาลูบแผ่นดิน ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงจะไม่ลูบแผ่นดิน ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง ฯลฯ ถึงจะยกมือไหว้พระอาทิตย์ ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงจะไม่ยกมือไหว้พระอาทิตย์ ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง... เพราะว่า กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เป็นของสะอาดเองด้วย เป็นตัวการที่ทำให้สะอาดด้วย...”
   ที่ว่าความหมายซึ่งขยายออกไปในรูปประยุกต์ อาจแตกต่างกันตามความเหมาะสมกับกรณีนั้น ขอยกตัวอย่าง เช่น
   เมื่อกล่าวถึง บุคคลที่ออกบวชแล้ว นอกจากศีลบางข้อจะเปลี่ยนไป และมีศีลเพิ่มใหม่อีกแล้ว แม้ศีลข้อที่คงเดิมบางข้อ ก็มีความหมายส่วนที่ขยายออกไป ต่างจากเดิม ขอให้สังเกตข้อเว้นอทินนาทาน และเว้นมุสาวาทต่อไปนี้ เทียบกับความหมายในกุศลกรรมบถข้างต้น
   ละอทินนาทาน เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ ถือเอาแต่ของที่เขาให้ หวังแต่ของที่เขาให้ มีตนไม่เป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่
   ละมุสาวาท เว้นขาดจากการพูดเท็จ กล่าวแต่คำสัตย์ ธำรงสัจจะ ซื่อตรง เชื่อถือได้ ไม่ลวงโลก


   มีข้อสังเกตสำคัญในตอนนี้อย่างหนึ่ง คือ ความหมายท่อนขยายขององค์มรรคขั้นศีลเหล่านี้แต่ละข้อ ตามปรกติจะแยกได้เป็นข้อละ ๒ ตอน ตอนต้นกล่าวถึงการละเว้นไม่ทำความชั่ว ตอนหลังกล่าวถึงการทำความดีที่ตรงข้ามกับความชั่วที่งดเว้นแล้วนั้น พูดสั้นๆ ว่า ตอนต้นใช้คำนิเสธ ตอนหลังใช้คำแนะหนุน เรื่องนี้ เป็นลักษณะทั่วไปอย่างหนึ่ง ของคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่มักใช้คำสอนควบคู่ ทั้งคำนิเสธ (negative) และคำแนะหนุน (positive) ไปพร้อมๆกัน ตามหลัก “เว้นชั่ว บำเพ็ญดี

 เมื่อถือการเว้นชั่วเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว ก็ขยายความในภาคบำเพ็ญดีออกได้เรื่อยไป ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเท่าที่ขยายเป็นตัวอย่างในองค์มรรคเหล่านี้เท่านั้น
 ตัวอย่างเช่นข้อเว้นอทินนาทาน ในที่นี้ยังไม่ได้ขยายความในภาคบำเพ็ญดีออกเป็นรายละเอียดการปฏิบัติที่เด่นชัด แต่ก็ได้มีคำสอนเรื่องทาน เป็นหลักธรรมใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนา ไว้อีกส่วนหนึ่งต่างหากแล้ว ดังนี้เป็นต้น

ตะวันตกไม่รู้จักจริยธรรมแบบธรรมชาติและเป็นระบบ
 เคยมีปราชญ์ฝ่ายตะวันตกบางท่าน เขียนข้อความทำนองตำหนิพระพุทธศาสนาไว้ว่ามีคำสอนมุ่งแต่ในทางปฏิเสธ (negative) คือ สอนให้ละเว้นความชั่วอย่างนั้นอย่างนี้ฝ่ายเดียว ไม่ได้สอนย้ำชักจูงเร่งรัดพุทธศาสนิกชนให้ขวนขวายทำความดี (positive) ไม่ได้แนะนำว่าเมื่อเว้นชั่วนั้นๆแล้ว จะพึงทำความดีอย่างไรต่อไป มีคำสอนเป็นสกวิสัย (subjective) เป็นได้เพียง จริยธรรมแห่งความคิด (an ethic of thoughts) เป็นคำสอนแบบถอนตัวและเฉยเฉื่อย (passive) ทำให้พุทธศาสนิกชนพอใจแต่เพียงแค่งดเว้นทำความชั่ว คอยระวังเพียงไม่ให้ตนต้องเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับบาป ไม่เอาใจใส่ขวนขวายช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ด้วยการลงมือทำการปลดเปลื้องความทุกข์และสร้างเสริมประโยชน์สุขจริงจัง แม้ให้เมตตากรุณา ก็เพียงโดยตั้งความหวังความปรารถนาดีแผ่ออกด้วยใจอย่างเดียว

 เรื่องนี้ โดยเฉพาะเหตุผลในการแสดงความหมายของหลักธรรมสำคัญด้วยคำหรือข้อความเชิงปฏิเสธ ได้อธิบายแล้วในตอนก่อน ที่ว่าด้วยสัมมาสังกัปปะ (ดู หน้า ๒๗๖–๒๘๑) แต่ยังมีข้อปลีกย่อยบางอย่างที่ควรทราบเพิ่มเติมอีก ในแง่ที่ฝรั่งเรียกว่าจริยธรรม (ethic) ซึ่งเป็นเรื่องระดับศีล จึงพูดไว้ ณ ที่นี้

 นักปรัชญาและเทววิทยาผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ที่ชาวตะวันตกรู้จักกันมาก ได้อ้างข้อความจากพระไตรปิฎก มาสนับสนุนทัศนะของตนที่ว่า คำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นเพียงขั้นปฏิเสธ (negative) โดยยกคำจำกัดความองค์มรรคข้อสัมมากัมมันตะข้างต้นกำกับไว้ในข้อเขียนของตน (วจนะที่อ้างเป็นของพระสารีบุตร) ว่า

   ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สัมมากัมมันตะเป็นไฉน? การเว้นปาณาติบาต การเว้นอทินนาทาน การเว้นกาเมสุมิจฉาจาร นี้แล ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ชื่อว่าสัมมากัมมันตะ


   สำหรับผู้ศึกษาที่เข้าใจความหมายเชิงระบบของมรรค และทราบแนวทางที่จะขยายความหมายในทางปฏิบัติขององค์มรรคทั้งหลาย ออกไปสู่ธรรมปลีกย่อยต่างๆ ที่เป็นข้อปฏิบัติเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณีได้มากมาย ตามที่ชี้แจงมาแล้ว ย่อมเห็นได้ทันทีว่า หากท่านผู้เขียนคำตินี้วิจารณ์ไว้ด้วยเจตนาดี ข้อเขียนของท่านน่าจะต้องเกิดจากการได้อ่าน หรือรับทราบพุทธธรรมมาแต่เพียงข้อปลีกย่อยต่างส่วนต่างตอนไม่ต่อเนื่องเป็นสาย และเกิดจากการไม่เข้าใจระบบแห่งพุทธธรรมโดยส่วนรวม

   จากความเป็นระบบและการกระจายหมายในทางปฏิบัตินั้น เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า ระบบศีลธรรมของมรรคไม่มีลักษณะจำกัดด้วยความเป็น negative หรือ passive หรือ subjective หรือเป็นเพียง an ethic of thoughts
   การที่คำจำกัดความขององค์มรรคขั้นศีล ต้องมีรูปลักษณะเป็นคำปฏิเสธเช่นนั้น ขอกล่าวถึงข้อสังเกตและเหตุผลปลีกย่อย เพิ่มเติมจากหลักใหญ่ที่พูดไปแล้วในตอนก่อน คือ

 ๑. ศีลในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพุทธธรรม ย่อมมิใช่เทวโองการ ที่กำหนดให้ศาสนิกประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้าง สุดแต่เทวประสงค์ ด้วยอาศัยศรัทธาลอยๆ แบบภักดี ซึ่งไม่จำเป็นต้องทราบเหตุผลเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน แต่ศีล เป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นตามหลักเหตุผลของกฎธรรมชาติ ซึ่งผู้ปฏิบัติตามจะต้องมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นระบบ แม้จะยังไม่มีปัญญารู้แจ่มแจ้งชัดเจน มีเพียงศรัทธา ศรัทธานั้นก็จะต้องเป็นอาการวตีศรัทธา ซึ่งอย่างน้อยจะต้องมีพื้นความเข้าใจในเหตุผลเบื้องต้น พอเป็นฐานสำหรับเกิดปัญญารู้แจ่มชัดต่อไป

 ๒. ในกระบวนการปฏิบัติธรรมหรือการฝึกอบรมตนนั้น เมื่อมองในแง่ลำดับสิ่งที่จะต้องทำให้ประณีตยิ่งขึ้นไปตามขั้น ก็จะเริ่มด้วย ละเว้นหรือกำจัดความชั่วก่อน แล้วจึงเสริมสร้างความดีให้บริบูรณ์ จนถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นในที่สุด เหมือนจะปลูกพืชต้องชำระที่ดิน กำจัดสิ่งเป็นโทษก่อน แล้วจึงหว่านพืชและบำรุงรักษาไปจนได้ผลที่หมาย

   ในระบบแห่งพุทธธรรมนั้น เมื่อมองในแง่ที่ว่านี้ ศีลเป็นข้อปฏิบัติขั้นเริ่มแรกที่สุด มุ่งไปที่ความประพฤติพื้นฐาน จึงเน้นที่การละเว้นความชั่วต่างๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น พูดย้ำให้เห็นสิ่งที่ต้องการกำจัดอย่างชัดเจนเสียก่อน แล้วจึงขยายขอบเขตยกระดับความประพฤติให้สูงขึ้นไปในด้านความดี ด้วยอาศัยการปฏิบัติในขั้นสมาธิและปัญญาเข้ามาช่วยมากขึ้นๆ โดยลำดับ
   อย่างไรก็ดี ที่ว่านี้เป็นการพูดตามหลักทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติ บางทีกลับเริ่มโดยเน้นฝ่ายดีก่อน เช่น วางทานก่อนศีล หรือควบคู่ผสมผสานกันไป ซึ่งเป็นเรื่องของเทคนิค หรือกลวิธีด้วย

 ๓. ในระบบการฝึกอบรมของไตรสิกขา ศีลยังมิใช่ข้อปฏิบัติให้ถึงจุดหมายสูงสุดโดยตัวของมันเอง แต่เป็นวิธีการเพื่อก้าวหน้าไปสู่ความเจริญขั้นต่อไป คือสมาธิ สมาธิจึงเป็นจุดหมายจำเพาะของศีล โดยนัยนี้คุณค่าในด้านจิตใจของศีล จึงมีความสำคัญมาก
   คุณค่าทางจิตใจในขั้นศีล ก็คือ เจตนาที่จะงดเว้น หรือการไม่มีความดำริในการที่จะทำความชั่วใดๆ อยู่ในใจ ซึ่งทำให้จิตใจบริสุทธิ์ปลอดโปร่ง ไม่มีความคิดวุ่นวายขุ่นมัวหรือกังวลใดๆ มารบกวน จิตใจจึงสงบ ทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย เมื่อมีจิตใจสงบเป็นสมาธิแล้ว ก็เกิดความคล่องตัวในการที่จะใช้ปัญญา คิดหาเหตุผล และหาทางดำเนินการสร้างสรรค์ความดีต่างๆ ให้ได้ผลในขั้นต่อไป

 ๔. พุทธธรรมถือว่า จิตใจเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ระบบจริยธรรมจึงต้องประสานต่อเนื่องกันโดยตลอด ทั้งด้านจิตใจ และความประพฤติทางกายวาจาภายนอก ในการกระทำต่างๆ นั้น จิตใจเป็นจุดเริ่มต้น จึงกำหนดที่ตัวเจตนาในใจเป็นหลัก เพื่อให้การกระทำความดีต่างๆ เป็นไปด้วยความจริงใจอย่างแน่นอน มิใช่แต่เพียงไม่หลอกลวงคนอื่นเท่านั้น แต่หมายถึงการไม่หลอกลวงตนเองด้วย เป็นการกำจัดหนทางไม่ให้เกิดปัญหาทางจิตในด้านความขัดแย้งของความประพฤติ



มีต่อค่ะ...


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


                 

 ๕. องค์มรรคขั้นศีลสอนว่า ความรับผิดชอบขั้นพื้นฐานที่สุดของบุคคลแต่ละคน ก็คือ ความรับผิดชอบต่อตนเอง ในการที่จะไม่ให้มีความคิดที่จะทำความชั่วด้วยการเบียดเบียนหรือล่วงละเมิดต่อผู้อื่น อยู่ในจิตใจของตนเลย เมื่อมีความบริสุทธิ์นี้รองรับอยู่เป็นเบื้องต้นแล้ว ความรับผิดชอบนั้น จึงขยายกว้างออกไปถึงขั้นเป็นการธำรงรักษาและเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้า แห่งคุณธรรมของตน ด้วยการขวนขวายทำความดี บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่คนอื่นๆ พูดสั้นๆ ว่า มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ในการที่จะละเว้นความชั่ว และรับผิดชอบต่อผู้อื่น ในการที่จะทำความดีแก่เขา

 ๖. การกำหนดความหมายของศีลในแง่ละเว้นความชั่ว เป็นการกำหนดข้อปฏิบัติอย่างกว้างขวางที่สุด คือเพ่งเล็งไปที่ความชั่ว ย้ำถึงเจตจำนงที่ไม่มีเชื้อแห่งความชั่วเหลืออยู่เลย ส่วนในฝ่ายความดี เป็นเรื่องที่จะพึงขยายออกไปได้อย่างไม่มีเขตจำกัด จึงไม่ระบุไว้

   ตามความเป็นจริง ความดีเป็นเรื่องกว้างขวางไม่มีที่สิ้นสุด มีรายละเอียด แนวทาง และวิธีการ ยักเยื้องไปได้มากมายตามฐานะและโอกาสต่างๆ ส่วนความชั่วที่จะต้องเว้น เป็นเรื่องแน่นอนตายตัว เช่น ทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ ควรละเว้นการพูดเท็จด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่โอกาสและวิธีการที่จะทำความดีที่ตรงข้ามกับการพูดเท็จนั้นต่างกัน การวางหลักกลาง จึงระบุแต่ฝ่ายเว้นชั่วไว้เป็นเกณฑ์ ส่วนรายละเอียด และวิธีการกระทำในขั้นบำเพ็ญความดี เป็นเรื่องในขั้นประยุกต์ให้เหมาะสมกับฐานะ โอกาส และสภาพชีวิตของบุคคลต่อไป

 ๗. การปฏิบัติตามองค์มรรคทุกข้อ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนในการที่จะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ดังนั้น องค์มรรคแต่ละข้อจะต้องเป็นหลักกลางๆ ที่ทุกคนปฏิบัติตามได้ ไม่จำกัดด้วยฐานะ กาลสมัย ท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อมจำเพาะอย่าง เช่น การเว้นอทินนาทาน เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ แต่การให้ทานต้องอาศัยปัจจัยอื่นประกอบ เช่น ตนมีสิ่งที่จะให้ มีผู้ที่จะรับ และเขาควรได้รับ เป็นต้น

   ในกรณีที่ไม่อยู่ในฐานะและโอกาส เป็นต้น ที่จะให้ เจตนาที่ปราศจากอทินนาทาน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจบริสุทธิ์ เป็นพื้นฐานแก่สมาธิได้แล้ว แต่ในกรณีที่อยู่ในฐานะและโอกาส เป็นต้น ที่จะให้ การไม่ใส่ใจหรือหวงแหน จึงจะเกิดเป็นความเศร้าหมองขุ่นมัวแก่จิตใจ และการให้จึงจะเป็นเครื่องส่งเสริมคุณธรรมของตนให้มากยิ่งขึ้น
   โดยนัยนี้ ความหมายหลัก จึงอยู่ในรูปเป็นคำปฏิเสธ คือ การละเว้นหรือปราศจากความชั่ว ส่วนความหมายที่ขยายออกไปในฝ่ายทำความดีจึงเป็นเรื่องของการประยุกต์ดังกล่าวแล้ว

 ๘. ในทางปฏิบัติ เมื่อพิจารณาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมกำลังบำเพ็ญคุณธรรมความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือประเภทใดประเภทหนึ่งอยู่เป็นพิเศษ ในเวลาเช่นนั้นเขาย่อมจะต้องพุ่งความคิดความสนใจจำเพาะเจาะจงลงในสิ่งที่ปฏิบัตินั้น ในกรณีเช่นนี้ ความรับผิดชอบของเขาต่อความประพฤติด้านอื่นๆ ย่อมมีเพียงเป็นส่วนประกอบ คือเพียงไม่ให้เกิดความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่งหรือความเสียหายด้านอื่นขึ้นมา เป็นสำคัญ

   ประโยชน์ที่ต้องการจากศีล ในกรณีเช่นนี้ จึงได้แก่การช่วยควบคุมรักษาความประพฤติในด้านอื่นๆ ของเขาไว้ ป้องกันไม่ให้เสียหลักพลาดลงไปในความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้มีพื้นฐานที่มั่นคง สามารถบำเพ็ญความดีที่เป็นเรื่องจำเพาะในขณะนั้นๆ ได้โดยสมบูรณ์

ความแตกต่างระหว่างศีล ในพระพุทธศาสนา กับศาสนาเทวนิยม
 อนึ่ง มีข้อสังเกตบางอย่างที่ควรทราบ เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างศีลในพระพุทธศาสนา กับศีลในศาสนาเทวนิยม (รวมถึงเรื่องกรรม  ความดี ความชั่ว) ดังนี้

 ๑. ในพุทธธรรม ศีลเป็นหลักความประพฤติที่กำหนดขึ้นตามหลักเหตุผลของกฎธรรมชาติ ส่วนในศาสนาเทวนิยม ศีลเป็นเทวโองการ ที่กำหนดขึ้นโดยเทวประสงค์

 ๒. ในแง่ปฏิเสธ ศีลในความหมายของพุทธธรรม เป็นหลักการฝึกตนในการเว้นจากความชั่ว จึงเรียกศีลที่กำหนดเป็นข้อๆ ว่า สิกขาบท (ข้อฝึก-training rule) ส่วนศีลในศาสนาเทวนิยม เป็นข้อห้าม หรือคำสั่งห้ามจากเบื้องบน(divine commandment)

 ๓. แรงจูงใจที่ต้องการในการปฏิบัติตามศีลแบบพุทธธรรม ได้แก่อาการวตีศรัทธา คือ ความมั่นใจ (confidence) ในกฎแห่งกรรม โดยมีความเข้าใจพื้นฐาน มองเห็นเหตุผลว่าพฤติกรรมและผลของมันจะต้องเป็นไปตามแนวทางแห่งเหตุปัจจัย
   ส่วนแรงจูงใจที่ต้องการในการปฏิบัติตามศีลของศาสนาเทวนิยม ได้แก่ศรัทธาแบบภักดี (faith) คือ เชื่อ ยอมรับ และทำตามสิ่งใดๆ ก็ตามที่กำหนดว่าเป็นเทวประสงค์ มอบความไว้วางใจให้โดยสิ้นเชิง ไม่ต้องถามหาเหตุผล

 ๔. ในพุทธธรรม การรักษาศีลตามความหมายที่ถูกต้อง ก็คือ การฝึกตน ในทางความประพฤติ เริ่มแต่เจตนาที่จะละเว้นความชั่วอย่างนั้นๆ จนถึงประพฤติความดีงามต่างๆ ที่ตรงข้ามกับความชั่วนั้นๆ
 ส่วนในศาสนาเทวนิยม การรักษาศีล ก็คือ การเชื่อฟัง และปฏิบัติตามเทวโองการโดยเคร่งครัด

 ๕. ในพุทธธรรม การประพฤติปฏิบัติในขั้นศีล นอกจากให้เกิดการอยู่ร่วมสังคมที่เกื้อกูลไม่เบียดเบียนกันแล้ว มีวัตถุประสงค์เฉพาะ คือ เพื่อเป็น บาทฐานของสมาธิ กล่าวคือ เป็นระบบการฝึกอบรมบุคคลให้มีความพร้อมและความสามารถที่จะใช้กำลังงานของจิตให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ในทางที่จะก่อให้เกิดปัญญาและนำไปสู่ความหลุดพ้น หรืออิสรภาพสมบูรณ์ในที่สุด ส่วนการไปสวรรค์เป็นต้น เป็นเพียงผลพลอยได้ของวิถีแห่งความประพฤติโดยทั่วไป
   แต่ในศาสนาเทวนิยม การประพฤติศีลตามเทวโองการ เป็นเหตุให้ได้รับความโปรดปรานจากเบื้องบน เป็นการประพฤติถูกต้องตามเทวประสงค์ และเป็นเหตุให้พระองค์ทรงประทานรางวัลด้วยการส่งไปเกิดในสวรรค์

 ๖. ในพุทธธรรม ผลดีหรือผลร้ายของการประพฤติหรือไม่ประพฤติศีล เป็นสิ่งที่เป็นไปเองโดยธรรมชาติ คือ เป็นเรื่องการทำงานอย่างเที่ยงธรรมเป็นกลางของกฎธรรมชาติ ที่เรียกว่า กฎแห่งกรรม  การให้ผลนี้ แสดงออกตั้งต้น ตั้งแต่จิตใจ กว้างออกไปจนถึงบุคลิกภาพ และวิถีชีวิตทั่วไปของบุคคลผู้นั้น ไม่ว่าในชาตินี้หรือชาติหน้า
 ส่วนในศาสนาเทวนิยม ผลดีผลร้ายของการประพฤติตามหรือการละเมิดศีล (เทวโองการ) เป็นเรื่องของการให้ผลตอบแทน (retribution) ผลดีคือการได้ไปเกิดในสวรรค์ เป็นฝ่ายรางวัล (reward) ส่วนผลร้ายคือไปเกิดในนรก เป็นฝ่ายการลงโทษ (punishment) การจะได้ผลดีหรือผลร้ายนั้นย่อมสุดแต่การพิพากษา หรือวินิจฉัยโทษ (judgment) ของเบื้องบน


 ๗. ในแง่ความเข้าใจเกี่ยวกับความดีความชั่ว ทางฝ่ายพุทธธรรมสอนว่า ความดี เป็นคุณค่าที่รักษาและส่งเสริมคุณภาพของจิต ทำให้จิตใจสะอาดผ่องใสบริสุทธิ์ หรือยกระดับให้สูงขึ้น จึงเรียกว่าบุญ (good, moral หรือ meritorious) เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเจริญงอกงามแก่จิตใจ เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นหรืออิสรภาพทั้งทางจิตใจและทางปัญญา เป็นการกระทำที่ฉลาด ดำเนินตามวิถีแห่งปัญญา เอื้อแก่สุขภาพจิต จึงเรียกว่า กุศล (skilful หรือ wholesome)
    ส่วนความชั่ว เป็นสภาพที่ทำให้คุณภาพของจิตเสื่อมเสีย หรือทำให้ตกต่ำลง จึงเรียกว่าบาป (evil) เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่ชีวิตจิตใจ ไม่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น เป็นการกระทำที่ไม่ฉลาด ไม่เอื้อแก่สุขภาพจิต จึงเรียกว่า อกุศล (unskilful หรือ unwholesome)
    ส่วนในศาสนาเทวนิยม ความดีความชั่ว กำหนดด้วยศรัทธาแบบภักดีต่อองค์เทวะเป็นมูลฐาน คือเอาการเชื่อฟังยอมรับและปฏิบัติตามเทวประสงค์และเทวบัญชาหรือไม่ เป็นหลัก โดยเฉพาะความชั่ว/บาป หมายถึงการผิดหรือล่วงละเมิดต่อองค์เทวะ (sin) ในรูปใดรูปหนึ่ง

 ๘. จากพื้นฐานที่แตกต่างกันนี้ ทำให้เกิดความแตกต่างกันต่อไปอีกอย่างน้อย ๒ ประการ คือ
 ก) ศีลในพุทธธรรม จึงต้องเป็นคำสอนที่ต่อเนื่องกันตามเหตุผลเป็นระบบจริยธรรม เพราะผู้ปฏิบัติจะประพฤติได้ถูกต้องต่อเมื่อมีความเข้าใจในระบบและเหตุผลที่เกี่ยวข้องเป็นพื้นฐานอยู่ด้วย
      ส่วนศีลหรือจริยธรรมทั่วไปในศาสนาเทวนิยม ย่อมเป็นประกาศเทวโองการ หรือคำแถลงเทวประสงค์เป็นเรื่องๆ ข้อๆ ต่างๆ กันไป แม้นำมารวบรวมไว้ก็ย่อมเรียกว่า “ประมวล” ไม่ใช่ ระบบ เพราะผู้ปฏิบัติต้องการความเข้าใจอย่างมากก็เฉพาะในความหมายของสิ่งที่จะต้องปฏิบัติเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเข้าใจในระบบและเหตุผลที่เกี่ยวข้อง เพราะถือว่าระบบและเหตุผลต่างๆ ทั้งปวงอยู่ในพระปรีชาขององค์เทวะหมดสิ้นแล้ว อันผู้ปฏิบัติไม่พึงสงสัย เพียงแต่เชื่อฟัง มอบความไว้วางใจ และปฏิบัติตามเทวโองการเท่านั้นเป็นพอ

   ข) ศีลหรือระบบจริยธรรมแบบพุทธ เป็นหลักกลางๆ และเป็นสากล กำหนดโดยข้อเท็จจริงตามกฎธรรมชาติ (หมายถึงสารัตถะของศีลในฝ่ายธรรมอันเกี่ยวด้วยบุญบาป ไม่ใช่ในความหมายฝ่ายวินัย อันเกี่ยวด้วยการลงโทษ) เช่น พิจารณาผลหรือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงานของจิต ผลต่อพฤติกรรม นิสัย และบุคลิกภาพ เป็นต้น จึงไม่อาจวางข้อจำกัดที่เป็นการแบ่งแยกเพื่อผลประโยชน์เฉพาะพวก เฉพาะกลุ่ม หรือเอาความพอใจของตนเป็นเครื่องวัดได้
  ไม่จำกัดว่า คนศาสนานี้เท่านั้นมีกรุณาจึงเป็นคนดี คนศาสนาอื่นมีกรุณาก็เป็นคนดีไม่ได้ ฆ่าคนศาสนานี้เท่านั้นเป็นบาป ฆ่าคนศาสนาอื่นไม่บาป คนศาสนานี้เท่านั้นให้ทานไปสวรรค์ได้ คนศาสนาอื่นประพฤติอย่างไรไม่เชื่อฉันเสียอย่างเดียวตกนรกหมด ฆ่าสัตว์ไม่บาปเพราะสัตว์ (รวมทั้งที่ไม่เป็นอาหาร-) เป็นอาหารของคน (เพราะคนไม่เป็นอาหารของเสือและสิงโต-) ดังนี้เป็นต้น
  จะมีการจำกัดแบ่งแยกได้ เช่นว่าบาปมากบาปน้อยเป็นต้นอย่างไร ก็เป็นไปโดยข้อเท็จจริงตามกฎธรรมชาติ เช่น พิจารณาผลและปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงานของจิต เป็นต้น ดังกล่าวแล้ว
  ส่วนในศาสนาเทวนิยม หลักเหล่านี้ย่อมกำหนดให้จำกัดหรือขยายตามเทวประสงค์อย่างไรก็ได้ ดุจเป็นวินัยบัญญัติ หรือนิติบัญญัติ เพราะองค์เทวะทรงเป็นทั้งผู้ตรากฎหมายและผู้พิพากษาเอง

 ๙. เนื่องจากศีลเป็นหลักกลางๆ กำหนดด้วยข้อเท็จจริงตามกฎธรรมชาติเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติตามแนวพุทธธรรม จึงต้องเป็นผู้กล้ายอมรับและกล้าเผชิญหน้าความจริง ความดี ชั่ว ถูก ผิด มีอยู่ เป็นข้อเท็จจริงอย่างไร ก็ต้องกล้ายอมรับความจริงตามที่เป็นเช่นนั้น ส่วนตนจะปฏิบัติหรือไม่แค่ไหนเพียงไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และต้องกล้ายอมรับการที่ตนปฏิบัติดีไม่ดีตามข้อเท็จจริงนั้น มิใช่ถือว่าไม่ชั่ว เพราะตัวอยากทำสิ่งนั้น ข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ มิได้ขึ้นต่อการวัดด้วยการอยากทำหรือไม่ของตน ถ้ามีอันถึงกับจะทำกรรมที่ให้ตกนรกสักอย่างหนึ่ง การที่ยอมรับพูดกับตนเองว่า กรรมนั้นไม่ดี แต่ตนยอมเสียสละตกนรก ยังดีกว่าหลอกตัวเองว่ากรรมนั้นไม่เป็นกรรมชั่ว

   มีสิ่งที่อาจถือว่าเป็นข้อได้เปรียบ ของศีลแบบเทวโองการ คือ
   ๑. ตัดการพิจารณาเรื่องถูก-ผิด จริง-ไม่จริง ออกเสีย กล่าวได้ว่า เมื่อเชื่อเสียแล้ว ศรัทธาล้วนแบบภักดี ย่อมได้ผลในทางปฏิบัติที่รวดเร็วเร่งเร้าและเข้มแข็งหรือรุนแรงกว่า แต่จะเกิดปัญหาขึ้นต่อไป โดยเฉพาะในยุคแห่งเหตุผลว่า ทำอย่างไรจึงจะให้เชื่อได้ และปัญหาในระยะยาวเกี่ยวกับความปลอดภัยในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่ไม่ศรัทธาเหมือนตน ปัญหาเรื่องความมั่นคงของศรัทธานั้น และการไม่มีโอกาสเข้าถึงอิสรภาพทางปัญญา (บางข้ออาจไม่ต้องพิจารณา ถ้ามนุษย์ต้องการมีชีวิตอยู่เพียงเป็นสัตว์สังคมที่แยกกันอยู่เป็นกลุ่มๆ)

 ๒. สำหรับสามัญชนทั่วไป ย่อมเข้าถึงความหมายของศีลตามแบบศรัทธาล้วนได้ง่ายกว่า และศีลแบบนี้ก็ควบคุมความประพฤติของคนสามัญได้เป็นอย่างดี ดังนั้น แม้ในหมู่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อย ความเข้าใจในเรื่องบุญบาปจึงยังคงมีส่วนที่คล้ายกับศาสนาเทวนิยมแฝงอยู่ด้วย เช่น เห็นศีล เป็นข้อห้าม (แต่ลางเลือนว่าใครเป็นผู้ห้าม) เห็นผลของบุญบาปเป็นอย่างผลตอบแทน เป็นรางวัลหรือการลงโทษ เป็นต้น แต่ปัญหาก็คงเป็นอย่างเดียวกับข้อ ๑ คือ ทำอย่างไรจะให้เชื่อกันอยู่ได้ตลอดไป

 ๓. การบัญญัติกรรมไม่ดีบางอย่าง ที่เห็นว่ายังจำเป็นต้องทำ เพื่อผลประโยชน์บางอย่างของตน ให้เป็นกรรมที่ไม่ผิดไปเสีย จัดเป็นวิธีจูงใจตัวเองได้อย่างหนึ่ง พุทธธรรมยอมรับว่า วิธีจูงใจตนเองนั้น เป็นสิ่งที่ได้ผลมากอย่างหนึ่ง เพราะเป็นเหตุปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นในเรื่องนั้นๆ เช่น บัญญัติว่าฆ่าสัตว์ไม่บาป ก็ทำให้เบาใจและไม่รู้สึกสะกิดใจในการฆ่าสัตว์ แต่การจูงใจแบบนี้ทำให้เกิดผลร้ายในด้านอื่น และไม่เป็นวิถีทางแห่งปัญญา

 พุทธธรรมนิยมให้เป็นอยู่ด้วยการรับรู้ความเป็นจริงจะแจ้งในทุกขั้นทุกตอน ให้รู้จักเลือกตัดสินใจด้วยตนเอง พุทธธรรมสอนให้ใช้วิธีจูงใจตนเองบ้างเหมือนกัน แต่สอนโดยให้ผู้นั้นรู้เข้าใจในเรื่องที่จะใช้จูงใจนั้นตามข้อเท็จจริงแล้วให้นำไปใช้ด้วยตนเอง เรื่องที่ใช้จูงใจนั้นต้องไม่มีแง่ที่เสียหาย และให้ใช้เฉพาะในกรณีที่ช่วยเป็นพลังในการทำความดีอย่างอื่นให้ได้ผลยิ่งขึ้น


-http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8208/