ผู้เขียน หัวข้อ: ความหมายของกรรมที่น่าพิจารณา :พระพรหมคุณาภรณ์  (อ่าน 1704 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


ความหมายของกรรมที่น่าพิจารณา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม

คัดลอกจาก: เชื่อกรรม รู้กรรม แก้กรรม
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ 15044 โดย: mayrin 13 พ.ค. 48

ตอน ๑ กรรมโดยหลักการ
ความหมายและประเภทของกรรม
ก่อนจะพูดเรื่องกรรมนั้น เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า กรรมมีความหมายอย่างไร แม้แต่เรื่องความหมายของคำก็เป็นปัญหาเสียแล้ว

ก. ความหมายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน
ลองไปถามชาวบ้านดูว่า “กรรม” แปลว่า อะไร เอาคำพูดในภาษาไทยก่อน บางทีเราพูดว่า “แล้วแต่บุญแต่กรรม” กรรมในที่นี้หมายถึงอะไร
กรรมในที่นี้มาคู่กับบุญ พอกรรมมาคู่กับบุญ เราก็แปลบุญเป็นฝ่ายดี บุญอาจเป็นการกระทำที่ดีหรือผลดีที่จะได้รับ ส่วนกรรมก็กลายเป็นการกระทำชั่วหรือผลชั่วที่ไม่น่าพอใจ
นี่คือความหมายหนึ่งที่ชาวบ้านเข้าใจ ดังนั้นชาวบ้านส่วนมากพอได้ยินคำว่า กรรม แล้วไม่ชอบ เพราะมีความรู้สึกในทางไม่ดี มองกรรมว่าเป็นเรื่องร้าย
จากตัวอย่างนี้ คำว่า กรรมและบุญ จึงเป็นเครื่องชี้ชัดอย่างหนึ่งว่า คนเข้าใจความหมายของกรรมในทางไม่ดี เอาบุญเป็นฝ่ายข้างดี แล้วเอากรรมเป็นฝ่ายตรงข้าม

อีกตัวอย่างหนึ่งว่า คนผู้หนึ่งไปประสบเคราะห์ร้าย บางคนก็บอกว่า “เป็นกรรมของเขา” คนนั่งเรือไปในทะเล เรือแตก จมน้ำตาย หรือถูกพายุพัดมาแล้วเรือล่มตายไป อุบัติเหตุอย่างนี้ บางคนบอกว่าเป็นกรรมของเขา
   คำว่า กรรมในที่นี้เรามองในแง่เป็นผลร้ายที่เขาได้รับ เป็นเคราะห์ หรือเป็นผลไม่ดีที่สืบมาแต่ปางก่อน
นี่ก็แสดงว่า เรามองคำว่ากรรมในแง่อดีต หรือมองในแง่ว่าเป็นเรื่องผ่านมาแล้วมาแสดงผล และเป็นเรื่องที่ไม่ดี ได้ ๒ แง่ คือ ๑ เป็นเรื่องข้างไม่ดี ๒ เพ่งเน้นในทางอดีต
ในเวลาเดียวกันก็มองไปในแง่เป็นผลด้วย อย่างที่พูดว่า “จงก้มหน้ารับกรรมไปเถิด” ที่ว่ารับกรรม ก็คือรับผลของกรรม

นายคนหนึ่งไปลักของเขามา ถูกจับได้ขังคุก คนอื่นก็มาปลอบใจว่า เอ็งก้มหน้ารับกรรมไปเถิดนะ เราทำมาไม่ดี กรรมในที่นี้กลายเป็นผล คือเป็นผลของกรรมนั่นเอง
นี้คือความหมายของกรรมที่เราใช้กันในภาษาไทย

ในฐานะที่เป็นผู้เล่าเรียนศึกษาแล้ว ลองวินิจฉัยดูว่า ความหมายเหล่านี้ถูกหรือไม่ ความหมายที่เน้นไปในทางไม่ดี เป็นเรื่องไม่ดีคู่กับบุญ เป็นเรื่องที่เน้นอดีต และมองไปที่ผลอย่างนี้ ถูกหรือไม่
เมื่อพิจารณาตรวจดู เราก็จะมองเห็นได้ชัดว่า ถ้าเอาหลักธรรมแท้ๆ มาวินิจฉัยแล้ว ความหมายเหล่านี้คลาดเคลื่อนได้เพียงแง่เดียว ข้างเดียว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความหมายที่แท้จริง
เพราะว่า กรรม” นั้นแปลว่า การกระทำ เป็นกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้ บุญก็เป็นกรรม บาปก็เป็นกรรม หมายความว่าบุญคู่กับบาป แต่คนไทยมีบ่อยๆ ที่เอาบุญมาคู่กับกรรม เอากรรมเป็นข้างร้าย


ส่วนที่ว่า ก้มหน้ารับกรรมไป ก็เป็นการมองที่ผล แต่ที่จริงนั้นกรรมเป็นตัวการกระทำ ซึ่งจะเป็นเหตุต่อไป ส่วนผลของกรรม ท่านเรียกว่า วิบาก หรือจะเรียกว่าผลเฉยๆ ก็ได้ ตัวกรรมเองแท้ๆ นั้นไม่ใช่ผล
ในเมื่อ “กรรม” ในภาษาที่เราใช้กันนี้ มีความหมายคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับหลักที่แท้จริง ก็เป็นเครื่องแสดงว่า ได้มีความเข้าใจไขว้เขวในเรื่องกรรมเกิดขึ้น
เพราะภาษาเป็นเครื่องแสดงว่า คนมีความเข้าใจอย่างไร เพราะฉะนั้นในขั้นต้นนี้เราจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า กรรมคือะไร

ถ้าประชาชนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ากรรมเป็นเรื่องการกระทำที่ชั่ว เราก็ต้องแก้ไขความเข้าใจให้เห็นว่า กรรมนี้เป็นคำกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้
ถ้าเป็นฝ่ายดีก็เรียกว่าบุญ หรือบุญกรรม ถ้าเป็นฝ่ายชั่วก็เรียกว่า บาป หรือบาปกรรม หรือมิฉะนั้นก็เรียกว่า กุศลกรรม และอกุศลกรรม

จะต้องชี้แจ้งให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง นี้เป็นเรื่องพื้นฐานขั้นต้นๆ ซึ่งได้เห็นชัดๆ ว่าแม้แต่ความหมายเราก็ไข้วเขวกันแล้ว

ข. ความหมายที่ถูกต้องตามหลัก
เมื่อเรารู้ความเข้าใจของชาวบ้านไขว้เขวไป เราก็ต้องชักจูงเขาเข้ามาหาความเข้าใจที่แท้จริง คำถามข้อแรกก็คือความหายตามหลักว่าอย่างไร
ผมจะลองยกข้อความในพระสูตรหนึ่ง ชื่อว่า วาเสฏฐสูตร มาพูดสักนิดหนึ่ง ในพระสูตรนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลเป็นชาวนาก็เพราะกรรม เป็นโจรก็เพราะกรรม เป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม เป็นกษัตริย์ก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตก็เพราะกรรม ฯลฯ เป็นโน่นเป็นนี่ก็เพราะกรรม

จากข้อความที่ได้ฟังกันแค่นี้ ก็ขอให้มาสำรวจดูกันว่าใครเข้าใจคำว่ากรรมในความหมายว่าอย่างไร ถ้าบอกชาวบ้านว่า ที่เป็นชาวนานี่ก็เพราะกรรม
เขาก็คงคิดว่าหมายถึงชาติก่อนได้ทำกรรมอะไรบางอย่างไว้ จึงทำให้ชาตินี้ต้องมาเกิดป็นชาวนา หรือถ้าบอกว่าเป็นกษัตริย์เพราะกรรม เขาก็คงจะเข้าใจไปว่า คนนี้คงจะได้ทำอะไรดีไว้ อาจจะให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ชาตินี้จึงมาเกิดเป็นกษัตริย์

แต่ลองไปดูในพระสูตรสิว่า ท่านหมายถึงอะไร ในพระสูตร คำว่าเป็นชาวนาเพราะกรรม เป็นต้นนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองเลยว่า นายคนนี้ เขาดำนา หว่านข้าว ไถนา เขาก็เป็นชาวนา การที่เขาทำนานั่นเอง ก็ทำให้เขาเป็นชาวนา คือเป็นไปตามการกระทำ อันได้แก่อาชีพการงานของเขา

อีกคนหนึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดิน เขาก็เป็นปุโรหิตตามอาชีพการงานของเขา ส่วนนายคนนี้ไปลักของเขา ไปปล้นเขาก็กลายเป็นโจร
ตกลงว่า กรรมในที่นี้หมายถึง การกระทำ ที่เป็นอาชีพการงานทั้งหลาย เป็นขั้นของการกระทำประจำตัวที่มองเห็นเด่นชัดง่ายๆ หยาบๆ ปรากฏออกมาภายนอก

นี่คือความหมายของกรรมที่น่าพิจารณา ซึ่งเห็นได้ว่าท่านมุ่งเอาสิ่งซึ่งมองเห็นปัจจุบันนี่แหละเป็นหลักก่อน เพราะการกระทำนี้เป็คำกลางๆ ไม่ได้พูดว่าเมื่อไร พอพูดขึ้นมาว่ากรรม ก็ต้องมองที่ปัจจุบันเป็นจุดเริ่มก่อน แต่ถ้าพูดจำกัดลงไปว่าการกระทำเมื่อไรก็เมื่อนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรือนาคตก็ตาม การกระทำนั้นๆ ก็เป็นกรรมทั้งนั้น

แต่เมื่อจะดูความหมายที่ลึกเข้าไป ก็ต้องมองให้ถึงจิตใจ เมื่อมองลึกเข้าไปถึงจิตใจ เราก็คงจะจำได้ถึงพุทธพจน์ ที่ให้คำจำกัดความบอกความหมายของกรรมว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม” ตกลงว่า เจตนาคือตัวความคิดจงใจ เจตจำนง
ความตั้งจิตคิดมุ่งหมายนี่แหละเป็นกรรม เมื่อบุคคลจงใจ มีเจตนาอย่างใดแล้ว ก็แสดงออกมาเป็นการกระทำทางกายบ้าง แสดงออกมาทางวาจาเป็นการพูดบ้าง นี้ก็คือ ความหมายที่แท้จริงของกรรมที่ค่อยๆ มองละเอียดเข้ามา
เมื่อมองหยาบๆ ข้างนอก กรรม ก็คืออาชีพ การทำงาน การดำเนินชีวิตของเขา แต่มองลึกเข้าไปถึงจิตใจ กรรม ก็คือตัวเจตนา

ค. ประเภทของกรรม
จากนี้เราก็มาแบ่งประเภทของกรรมออกไป เมื่อว่าโดยทางแสดงออก ถ้าแสดงออกทางกาย เคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ ก็เป็น กายกรรม ถ้าแสดงออกทางวาจาโดยพูดออกมา ก็เป็นวจีกรรม ถ้าแสดงออกทางใจอยู่ในระดับความคิด คิดปรุงแต่งไปต่างๆ ก็เป็น มโนกรรม
กรรมโดยทั่วไปนั้น เมื่อจำแนกโดยคุณภาพก็แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือเป็นกรรมดี เรียกว่า กุศลกรรม และเป็นกรรมชั่ว เรียกว่า อกุศลกรรม
ในบางแห่งท่านจำแนกออกไปเป็นหลายอย่างมากกว่านี้ เช่น กรรมที่ ๑ กรรมดำ กรรมที่ ๒ กรรมขาว กรรมที่ ๓ กรรมทั้งดำทั้งขาว และกรรมที่ ๔ กรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม แบบนี้เป็นการอธิบายละเอียดขึ้นไปอีก

กรรมดำ คืออะไร ยกตัวอย่างเช่น อกุศลกรรม มองให้เห็นหยาบๆ ก็คือการกระทำที่เป็นการเบียดเบียน ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
กรรมขาว ก็คือกรรมที่ตรงข้ามกับกรรมดำนั้น ซึ่งไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่เป็นการเบียดเบียน แต่เป็นการช่วยเหลือส่งเสริม ทำให้ผู้อื่นมีความสุข
กรรมทั้งดำทั้งขาว ก็คือ กรรมที่ปะปนกัน มีทั้งการกระทำที่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน และไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน
สุดท้ายมาถึงกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ยกตัวอย่างเช่น โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งบางทีก็เรียกว่ากรรมเหมือนกัน แต่เป็นกรรมที่ไม่ดำไม่ขาว และเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม กรรมแบบนี้กลับทำให้เราสิ้นกรรมไปด้วยซ้ำ

เมื่อมองละเอียดลงไปถึงความหมายที่แยกประเภทอย่างนี้ เราก็เห็นชัดขึ้นมาว่า กรรมนั้นอยู่ที่ตัวเราทุกๆ คน ที่ประพฤติปฏิบัติดำเนินชีวิตอยู่ทุกเวลานี่เอง
เริ่มตั้งแต่ความรู้สึกนึกคิด การพูดจา เคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ ตลอดจนปฏิบัติการต่างๆ แม้แต่ที่เรียกว่า การปฏิบัติธรรมชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ การเจริญโพชฌงค์ ๗ ก็เป็นกรรมทั้งนั้น ไม่พ้นเรื่องกรรมเลย
จะเห็นว่ากรรมในความหมายนี้ละเอียดกว่ากรรมที่เคยพูดในเรื่องไปหักขาไก่ เผาป่าคลอกสัตว์ หรืออะไรทำนองนั้น จึงต้องแยกแยะกันให้ละเอียด
เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว จะอธิบายกันอย่างไรให้เห็นว่า ทำไมการกระทำจึงออกผลอย่างนั้นอย่างนี้ได้ นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณา แต่ที่พูดมานี้ถือว่าเป็นความเข้าใจพื้นฐานขั้นต้น ที่ว่าจะต้องพูดกันในเรื่องความหมายของกรรมให้ชัดเจนเสียก่อนว่ากรรมคืออะไร

กรรมในฐานะกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล
แง่ที่จะต้องเข้าใจเกี่ยวกับกรรมยังมีอีกหลายอย่าง เช่น เราจะต้องมองกรรมในแง่ของกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล
กรรมเป็นเรื่องของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย พระพุทธศาสนาถือหลักการใหญ่ที่ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และเรื่องกรรมก็อยู่ในกฎแห่งเหตุปัจจัยนี้
หลักเหตุปัจจัยในพระพุทธศาสนา ก็คือ หลักปฏิจจสมุปบาทและกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งในหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น ลองไปแยกแยะปฏิจจสมุปบาทที่จำแนกเป็นองค์ ๑๒ คู่

ท่านจะสรุปให้เห็นว่าองค์ ๑๒ ของปฏิจจสมุปบาท หรือปัจจยาการนั้น ประมวลเข้าแล้วก็เป็น ๓ ส่วน คือ เป็นกิเลส กรรม และวิบาก
จะเห็นว่ากรรมเป็นส่วนหนึ่งในปฏิจจสมุปบาทนั้น คือส่วนที่เรียกว่ากรรมในวงจรที่เรียกว่า ไตรวัฏฏ์ ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก

หมวดที่ ๑ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เรียกว่าเป็น กิเลส
หมวดที่ ๒ สังขาร ภพ เรียกว่าเป็น กรรม
หมวดที่ ๓ คือนอกจากนั้น มีวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ เป็นต้น เรียกว่า เป็น วิบาก มี ๓ ส่วนอย่างนี้


การศึกษาเรื่องกรรม ถ้าจะเอาละเอียดแล้วต้องเข้าไปถึงหลักปฏิจจสมุปบาท ถ้าต้องการพูดเรื่องกรรมให้ชัดเจน ก็หนีไม่พ้นที่จะศึกษาให้ลึกลงไปถึงหลักธรรมใหญ่ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทนี้
เพราะที่มาของหลักกรรมอยู่ที่ปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง จะต้องแจกแจงให้เห็นว่าองค์ของปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ประการนั้น มาออกลูกเป็นกิเลส กรรม และวิบากอย่างไร

จากนั้นก็ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของกิเลส กรรม และวิบาก เช่น คนมีความโลภ เป็นกิเลส เมื่อมีความโลภเกิดขึ้นแล้ว ก็ไปทำกรรม เช่น ไปลักของเขา ถ้าได้มาสมหวังก็ดีใจมีความสุข เรียกว่าเป็น วิบาก
เมื่อเขาจับไม่ได้ก็ยิ่งมีความกำเริบอยากได้มากขึ้น ก็ไปทำกรรมลักขโมยอีก เลยเกิดเป็นวงจรกิเลส กรรม วิบาก เรื่อยไป
แต่ถ้าถูกขัด คือโลภ ไปลักของเขา ถูกขัดขวางก็เกิดโทสะ เป็นกิเลส ก็เกิดการต่อสู้กัน ฆ่ากัน ทำร้ายกัน เป็นกรรมขึ้นมาอีกแล้วก็เกิดวิบาก คือเจ็บปวดเดือดร้อน วุ่นวาย เกิดความทุกข์ ซึ่งอาจรวมทั้งถูกจับไป ถูกลงโทษ ดังนี้เป็นต้น
นี้เป็นเรื่องของกิเลส กรรม วิบาก ที่อยู่ในวงจรปฏิจจสมุปบาท คือการที่ต้องมองเรื่องกรรมตามแนวของกฏเกณฑ์แห่งเหตุและผล หรือเรื่องความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่เราเรียกว่า อิทัปปัจจยตา อันนี้ขอข้ามไปก่อน

กฎแห่งกรรม ในฐานะเป็นเพียงอย่างหนึ่งในนิยาม ๕
เมื่อเราเข้าใจแง่ต่างๆ ในเบื้องต้นเกี่ยวกับกรรมแล้ว ก็ควรเข้าใจต่อไปด้วยว่า กรรมนี้เราถือว่าเป็นกฎอย่างหนึ่ง เรามักจะเรียกว่า “กฎแห่งกรรม
กฎแห่งกรรมนี้ ศัพท์ทางวิชาการแท้ๆ ท่านเรียกว่า กรรมนิยาม ซึ่งก็แปลตรงๆ ว่ากฎแห่งกรรม เป็นกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลอย่างหนึ่ง
แต่ในทางพุทธศาสนา ท่านบอกว่า กฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลนี้ มิใช่มีเฉพาะกรรมนิยามอย่างเดียว กฎอย่างนี้มีหลายกฎ ท่านประมวลไว้ว่ามี ๕ กฎด้วยกัน เรียกว่า นิยาม ๕ หรือกฎ ๕ มีอะไรบ้าง จะยกให้กรรมนิยามเป็นข้อที่ ๑ ก็ได้ ดังนี้

๑. กรรมนิยาม กฎแห่งกรรม ได้แก่กฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลเกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ เช่นที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
๒. จิตตนิยาม กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่น เมื่อจิตอย่างนี้เกิดขึ้นจะมีเจตสิกอะไรประกอบได้บ้าง ถ้าเจตสิกอันนี้เกิดขึ้น จะมีเจตสิกไหนเกิดร่วมได้ อันไหนร่วมไม่ได้

เมื่อจิตจะขึ้นสู่วิถีออกรับอารมณ์ มันจะดำเนินไปอย่างไร ก่อนออกจากภวังค์ก็มีภวังคจลนะ (ภวังค์ไหว) แล้วจึงภวังคุปัจเฉท (ตัดภวังค์) จากนั้นมีอะไรต่อไปอีกจนถึงชวนจิต แล้วกลับตกภวังค์อย่างเดิมอีก อย่างนี้เรียกว่ากฎแห่งการทำงานของจิต คือจิตตนิยาม


๓. พีชนิยาม กฎเกี่ยวกับพืชพันธุ์ เช่น ปลูกมะม่วงก็เกิดเป็นมะม่วง ปลูกมะนาวก็เกิดเป็นต้นมะนาว ปลูกเมล็ดพืชอะไรก็ออกผล ออกต้นเป็นพืชชนิดนั้น อย่างนี้เรียกพีชนิยาม

๔. อุตุนิยาม กฏเกณฑ์เกี่ยวกับอุตุ อุตุคือเรื่องอุณหภูมิ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ กฏเกณฑ์เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ พูดอย่างชาวบ้านก็เช่น อากาศร้อนขึ้น เราก็เหงื่อออก อากาศเย็นลงเย็นมากๆ เข้า น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง หรือถ้าร้อนมากขึ้น น้ำก็กลายเป็นไอ นี้เรียกว่า อุตุนิยาม

๕. ธรรมนิยาม กฎแห่งธรรม คือ ความเป็นเหตุเป็นผลกันของสิ่งทั้งหลาย หรือความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เช่น คนเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เป็นต้น

ตกลงว่า กฎนี้มีตั้ง ๕ กฎ กรรมนิยามเป็นเพียงกฎหนึ่งใน ๕ กฎนั้น การที่เราจะวิเคราะห์พิจารณาสิ่งทั้งหลายจึงอย่าไปยึดถือว่าทุกอย่างต้องเป็นเรื่องของกรรมทั้งนั้น
มิฉะนั้นจะกลายเป็นทัศนะที่ผิดพลาด เพราะพระพุทธศาสนาสอนไว้แล้ว ว่ากฏธรรมชาติมี ๕ อย่างหรือนิยาม ๕ กรรมนิยามเป็นเพียงกฎหนึ่ง
เมื่ออะไรเกิดขึ้นอย่าไปบอกว่าเป็นเพราะกรรมเสมอไป ถ้าบอกอย่างนั้นจะผิด
ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. เหงื่อออก ถามว่า นาย ก. เหงื่อออกเพราะอะไร ถ้าเป็นเพราะอากาศร้อน ลองวินิจฉัยซิว่าอยู่ในนิยามไหน

ถ้าว่าอะไรๆ ก็เป็นเพราะกรรม ถ้าอย่างนั้นนาย ก. เหงื่อออกก็เพราะกรรมสิ ลองบอกซิว่า เป็นกรรมอะไรของนาย ก. ที่ต้องเหงื่อออก ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก นาย ก. เหงื่อออกเพราะอากาศร้อน นี่เรียกว่า อุตุนิยาม
แต่ไม่แน่เสมอไป บางทีนาย ก. เหงื่อออกไม่ใช่เพราะร้อนก็มี เช่น นาย ก. ไปทำความผิดไว้ พอเข้าที่ประชุม เขาเกิดสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด นาย ก. มีความหวาดกลัวมาก ก็อาจจะกลัวจนเหงื่อออก ในกรณีนี้ นาย ก. เหงื่อออกเพราะอะไร ตรงนี้ตอบได้ว่า เพราะกรรม นี่คือกรรมนิยาม
ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น แม้แต่เป็นปรากฏการณ์อย่างเดียวกันบางทีก็เกิดจากเหตุคนละอย่าง เราจะต้องเอานิยาม ๕ มาวัดวิเคราะห์ว่า มันเกิดจากอะไร

อย่างที่ยกตัวอย่างมาแล้วว่า เหงื่อออก อาจจะเป็นเพราะเขารู้ตัวว่าได้ทำความผิดไว้ ตอนนี้หวาดกลัวว่าจะถูกจับได้จึงเหงื่อออก ถ้าอย่างนี้ก็เป็นกรรมนิยาม แต่ถ้าอยู่ดีๆ เขาไม่ได้ทำอะไร อากาศมันร้อนหรือไปออกกำลังมากๆ ใครๆ ก็เหงื่อออกได้ เป็นธรรมดา นี่เป็นอุตุนิยาม

อีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าน้ำตาไหล เป็นเพราะอะไร เป็นนิยามอะไร ต้องวินิจฉัยจับนิยามให้ดี ในเวลาตัดสินเรื่องกรรม ถ้าเข้าใจเรื่องนิยาม ๕ จะช่วยในการอธิบายเรื่องกรรมได้มาก
คนเสียใจร้องไห้ก็น้ำตาไหล แต่ดีใจก็น้ำตาไหลได้เหมือนกัน อันหนึ่งเป็นจิตตนิยาม เป็นไปตามการทำงานของจิต จิตที่มีความปลาบปลื้มดีใจ หรือเสียใจก็ทำให้น้ำตาไหล แต่อาจจะบวกกับเหตุผลที่มาจากกรรมนิยาม
เช่น เสียใจในความผิดที่ได้กระทำไว้ แต่ก็ไม่แน่เสมอไป บางทีเราไม่ได้ดีใจหรือเสียใจสักหน่อย แต่เราไปถูกควันไฟรมเข้า ก็น้ำตาไหล แล้วอันนี้เป็นนิยามอะไร ก็เป็นอุตุนิยาม ฉะนั้นการวินิจฉัยสิ่งต่างๆ อย่าไปลงโทษกรรมเสียทั้งหมด

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ใครก็ตามที่ยึดถือว่าอะไรๆ ทุกอย่างล้วนเป็นผลเกิดจากกรรมทั้งสิ้นนั้น เป็นคนที่ถือผิด เช่น ในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ พระองค์ก็ตรัสไว้
มีพุทธพจน์ในสฬายตนวรรค สังยุตตนิกาย พระสุตตันตปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๑๘ ข้อ ๔๒๗ ว่า
โรคบางอย่างเกิดจากการบริหารกายไม่สม่ำเสมอก็มี เกิดจากอุตุคือสภาพแวดล้อมแปรปรวนเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากเสมหะเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากดีเป็นสมุฏฐานก็มี

เกิดจากสมุฏฐานต่างๆ ประกอบกันก็มี เกิดจากกรรมก็มี แปลว่าโรคบางอย่างเกิดจากกรรม แต่หลายอย่างเกิดจากอุตุนิยมบ้าง เกิดจากความแปรปรวนของร่างกายบ้าง เกิดจากการบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ เช่น พักผ่อนน้อยเกินไป ออกกำลังกายเกินไป เป็นต้นบ้าง

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 28, 2012, 06:51:10 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


กรรมเป็นเพียงเหตุหนึ่งเท่านั้น จะโทษกรรมไปทุกอย่างไม่ได้
ยกตัวอย่าง คนเป็นแผลในกระเพาะอาหาร บางทีเป็นเพราะฉันยาแก้ไข้แก้ปวด เช่น แอสไพรินในเวลาท้องว่าง พวกยาแก้ไข้แก้ปวดเหล่านี้เป็นกรด บางทีมันก็กัดกระเพาะทะลุ อาจจะทำให้ถึงกับมรณภาพไปเลย
ยาแก้ไข้แก้ปวดบางอย่างมีอันตรายมาก เขาจึงห้ามฉันเวลาท้องว่าง ต้องให้มีอะไรในท้องจึงฉันได บางคนเลือดไหลในกระเพาะ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด ที่แท้เป็นเพราะกินยาแก้ไข้แก้ปวดนี่เอง นี้ก็เป็นเหตุอันหนึ่ง

แต่บางคนเป็นแผลในกระเพาะอาหาร เพราะความวิตกกังวล คิดอะไรต่างๆ ไม่สบายใจ กลุ้มใจบ่อยๆ คับเครียดจิตใจอยู่เสมอเป็นประจำ
จึงทำให้มีกรดเกิดขึ้นในกระเพาะอาหาร แล้วกรดนี้มันก็กัดกระเพาะของตัวเองเป็นแผล จนกระทั่งเป็นโรคร้ายแรง ถึงกับต้องผ่าตัดกระเพาะทิ้งไปครึ่งหนึ่งก็มี
จะเห็นว่าผลอย่างเดียว แต่เกิดจากเหตุคนละอย่าง ที่ฉันแอสไพริน หรือยาแก้ปวดแก้ไขแล้วกระเพาะทะลุ เป็นอุตุนิยาม แต่ที่คิดวิตกกังวลกลุ้มใจอะไรต่ออะไรแล้วเกิดแผลในกระเพาะเป็น กรรมนิยาม
จิตใจไม่ดีมีอกุศลมากก็ทำให้โรคเกิดจากกรรมได้มากมาย อย่างที่เป็นกันมากเวลานี้คือโรคเครียด ก็โรคกรรม หรือโรคเกิดจากกรรมนั่นเอง (กรรมนิยาม ผสมด้วยจิตตนิยาม)
แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องเอาหลักเรื่องนิยาม ๕ มาวินิจฉัย อย่าไปลงโทษกรรมทุกอย่าง แล้วบางอย่างก็เกิดจากนิยามต่างๆ หลายนิยามมาประกอบกัน
เป็นอันว่าเราควรรู้จักนิยาม ๕ ไว้ เวลาสอนชาวบ้านจะได้ให้พิจารณาเหตุผลโดยรอบคอบ
เข้าใจหลักกรรม โดยแยกจากลัทธิที่ผิดทั้งสาม

ก. สามลัทธิเดียรถีย์ มิใช่พุทธ
แง่ต่อไป คือ จะต้องแยกหลักกรรมออกจากลัทธิผิดๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เรียกว่า ติตถายตนะ ๓
ติตถายตนะ แปลว่า ประชุมแห่งลัทธิ ลัทธิเดียร์ถีย์ มี ๓ ลัทธิ

ลัทธิที่ ๑ ถือว่า บุคคลจะได้สุขก็ดี จะได้ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี ล้วนเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนทั้งสิ้น (ฟังให้ดี ระวังนะ จะสับสนกับพระพุทธศาสนา) ลัทธินี้เรียกว่า บุพเพกตวาท
ลัทธิที่ ๒ บอกว่า บุคคลจะได้สุขก็ดี จะได้ทุกข์ก็ดี ได้ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี ล้วนเป็นเพราะเทพผู้ยิ่งใหญ่บันดาลให้ทั้งสิ้น คือพระผู้เป็นเจ้าบันดาลให้เป็น ลัทธินี้เรียกว่า อิศวรนิรมิตวาท หรือ อิสสรนิมมานเหตุวาท
ลัทธิที่ ๓ ถือว่า บุคคลจะได้สุขก็ดี จะได้ทุกข์ก็ดี ได้ไม่สุขได้ไม่ทุกข์ก็ดี ล้วนแต่เป็นเรื่องบังเอิญ เป็นไปเองลอยๆ แล้วแต่โชคชะตา ไม่มีเหตุปัจจัย ลัทธินี้เรียกว่า อเหตุวาท

หลักเหล่านี้มีมาในพระคัมภีร์ทั้งนั้น ติตถายตนะ ทั้ง ๓ ท่านกล่าวไว้ทั้งในพระสูตรและในอภิธรรม ในพระอภิธรรมท่านเน้นไว้ในคัมภีร์วิภังค์ พระไตรปิฎก เล่ม ๓๕ ข้อ ๙๔๐
แต่ในพระสูตรก็มีในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต พระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ ข้อ ๕๐๑ แต่เรามักไม่เอามาพูดกัน ส่วนนิยาม ๕ อยู่ในคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม ซึ่งอธิบายถึงเรื่องกฎเกณฑ์แห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

นิยาม ๕ นั้น สำหรับเอาไว้พิจารณาความเป็นเหตุปัจจัยให้รอบคอบ อย่าไปเอาอะไรเข้ากรรมหมด
ส่วนติตถายตนะหรือประชุมลัทธิ ๓ พวก ก็ผิดหลักพระพุทธศาสนา ได้แก่

๑. บุพเพกตวาท ถือว่าอะไรๆ ก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อน
๒. อิศวรนิรมิตวาท ถือว่าจะเป็นอะไรๆ ก็เพราะเทพผู้ยิ่งใหญ่บันดาล หรือพระผู้เป็นเจ้าบันดาล
๓. อเหตุวาท ถือว่าสิ่งทั้งหลายอะไรจะเกิดขึ้น ไม่มีเหตุปัจจัย แล้วแต่จะบังเอิญเป็นไป คือลัทธิโชคชะตา


สามลัทธินี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นลัทธิที่ผิด เหตุผลคือเพราะมันทำให้คนไม่มีฉันทะ ไม่มีความเพียรที่จะทำอะไร เนื่องจากเป็นความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ หรือไปขึ้นต่อตัวการภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ ไม่ขึ้นกับการกระทำของเรา

ข. ลัทธิกรรมเก่า คือ ลัทธินิครนถ์
โดยเฉพาะลัทธิที่ ๑ นั้น ถือว่าอะไรๆ ก็แล้วแต่กรรมปางก่อน มันจะเป็นอย่างไรก็สุดแต่กรรมเก่า เราจะทำอะไรก็ไม่มีประโยชน์ กรรมปางก่อนกำหนดไว้หมดแล้ว แล้วเราจะไปทำอะไรได้ ก็ต้องปล่อย คอยรอ แล้วแต่มันจะเป็นไป
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลัทธินี้เป็นลัทธิของพวกนิครนถ์ หัวหน้าชื่อว่า นิครนถนาฏบุตร ให้ไปดูพระไตรปิฏก เล่ม ๑๔ พระสูตรแรก เทวทหสูตร ตรัสเรื่องนี้โดยเฉพาะก่อนเลย
ส่วนในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ตรัสเรื่องนี้ไว้รวมกัน ๓ ลัทธิ แต่ในเทวทหสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ตรัสเฉพาะเรื่องลัทธิที่ ๑ ไม่ตรัสลัทธิอื่นด้วย

ลัทธินิครนถ์นี้ถือว่า อะไรๆ ก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำให้สิ้นกรรมโดยไม่ทำกรรมใหม่ และเผากรรมเก่าให้หมดสิ้นไปด้วยการบำเพ็ญตบะ ลัทธินี้ต้องแยกให้ดีจากพุทธศาสนา
ต้องระวังตัวเราเองด้วยว่าจะผลุนผลันหรือผลีผลามตกลงไปใน ๓ ลัทธินี้ โดยเฉพาะลัทธิกรรมเก่าที่ถือว่าอะไรๆ ก็แล้วแต่กรรมเก่าเท่านั้น
คำว่า “กรรม” นี้เป็นคำกลางๆ เป็นอดีตก็ได้ ปัจจุบันก็ได้ อนาคตก็ได้ พุทธศาสนาเน้นปัจจุบันมาก กรรมเก่าไม่ใช่ไม่มีผล มันมีผลสำคัญ แต่มันเสร็จไปแล้ว และเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดผลในปัจจุบัน
ซึ่งเราจะต้องใช้ปัญญาแยกแยะ เพื่อทำกรรมที่ดี และแก้ไขปรับปรุงตัวให้เกิดผลที่ดีต่อไปภายหน้า
นี่พูดกันทั่วๆ ไป โดยหลักการก็คือ ต้องพยายามแยกให้ถูกต้อง มี ๓ ลัทธินี้ ที่จะต้องทำความเข้าใจเสียก่อนเป็นเบื้องต้น

ค. อันตรายเกิดขึ้นมา เพราะวางอุเบกขาแบบเฉยโง่
ก่อนจะผ่านไป มีเกร็ดแทรกอีกนิดหนึ่ง คือ ความเชื่อถือที่คลาดเคลื่อนนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งทำให้การปฏิบัติผิดได้ เช่น การถือแต่ลัทธิกรรมเก่า
บางทีก็ทำให้เรามองคนว่าที่เขาประสบผลร้าย เกิดมายากจน หรือได้รับเคราะห์กรรมต่างๆ ก็เพราะเป็นกรรมของเขาเท่านั้น เมื่อเราบอกว่านี่เป็นกรรมของเขาแล้ว เราก็เลยบอกว่าให้เขาก้มหน้ารับกรรมไป เราก็ไม่ต้องไปช่วยอะไร
เมื่อถือว่าเป็นกรรมของเขา เราก็วางเฉย แถมยังบอกว่าเราปฏิบัติธรรมด้วย คือถืออุเบกขา วางเฉยเสีย ไม่ช่วย คนก็เลยไม่ต้องช่วยเหลือกัน
คนที่ได้รับเคราะห์ ได้รับความทุกข์ยากลำบาก ก็ต้องลำบากต่อไป
มีฝรั่งพวกหนึ่งติเตียนพุทธศาสนาว่าสอนคนแบบนี้

เราต้องพิจารณาตัวเองว่า เราสอนอย่างนั้นจริงหรือเปล่า แต่ตามหลักพุทธศาสนาที่แท้นั้น ไม่ได้สอนอย่างนี้ เรื่องอย่างนี้มีความละเอียดอ่อน (ทางปัญญา)
เราบอกว่า คนประสบเคราะห์กรรม ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อน ก็กรรมของเขา ให้เขาก้มหน้ารับกรรมไป อย่างนี้ถูกไหม อย่างนี้ถือว่าวางอุเบกขาใช่หรือไม่
อุเบกขาแปลว่าอะไรแน่ อุเบกขา คือความวางเฉยในแง่ที่วางใจเป็นกลาง ในเมื่อเขาสมควรจะต้องรับผิดชอบตัวเอง เช่นเกี่ยวกับความเป็นธรรม เพื่อรักษาความเป็นธรรมแล้ว ต้องวางใจเป็นกลางก่อน


เมื่อจะต้องลงโทษก็ลงโทษไปตามเหตุผล คือตามกรรมที่เขาทำ เช่น ศาลจะทำหน้าที่ให้ถูกต้อง เมื่อคนทำความผิดมา ผู้พิพากษาก็ต้องวางใจเป็นกลาง แล้วตัดสิน ถ้าเขาเป็นผู้ผิด ก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมายกบิลเมือง อย่างนี้เรียกว่า วางอุเบกขา
การวางอุเบกขานั้นเป็นไปพร้อมกับการรักษาธรรม คือในจิตใจมีเจตนาที่จะรักษาธรรมไว้ เมื่อจะช่วยคนก็ต้องไม่ให้เสียธรรม ถ้าหากคิดเมตตากรุณาช่วยโจรแล้วเสียธรรมก็ผิด
เมตตากรุณาต้องไม่เกินอุเบกขา เมตตา-กรุณา-มุทิตา รักษาคน แต่อุเบกขานั้นรักษาธรรมไว้ ในกรณีที่ไม่ได้รักษาธรรมเลย และก็ไม่ช่วยคน อย่างนี้ผิด นี่ว่าอย่างรวบรัดแบบพูดกันง่ายๆ
ถ้าเราไปเจอคนทุกข์ยากขัดสนข้นแค้น เราจะอ้างว่าเป็น (ผล) กรรมของเขาแต่ชาติปางก่อน ให้เขาก้มหน้ารับกรรมไป การอ้างอย่างนี้ผิดถึง ๓ ด้าน ๓ ขั้นตอน

๑. ถ้าเป็นผลกรรมชาติก่อน นี่ก็คือเขาได้รับผลของกรรมนั้นแล้ว คือเกิดมาจน สภาพปัจจุบันคือสภาพที่ได้รับผลแล้ว ไม่ใช่สภาพรอผล
เมื่อผลกรรมเก่าออกไปแล้ว หน้าที่ของเราที่จะทำต่อสภาพปัจจุบันที่เขาทุกข์ยาก ก็คือ ต้องใช้เมตตากรุณาไปช่วยเหลือ
เหมือนกับกรณีเด็กว่ายน้ำไม่เป็น เล่นซน ไม่เชื่อฟังพ่อแม่แล้วไปตกน้ำ การที่เขาตกน้ำก็เป็นการรับ (ผล) กรรมของเขาแล้ว ตอนนี้เขากำลังทุกข์ ถึงตอนที่เราต้องใช้ความกรุณาไปช่วย จะไปอ้างว่าเป็น (ผล) กรรมของเขาแล้วปล่อยให้เด็กตาย ย่อมไม่ถูกต้อง

๒. คนเราทำกรรมดี-ชั่ว ต่างๆ มักจะปนๆ กันไป บางคนทั้งที่ทำความดีมาก แต่เวลาจะตายจิตแว่บไปนึกถึงกรรมไม่ดี เลยพลาดมาเกิดไม่ดี
เราพวกมนุษย์ปุถุชนไม่ได้หยั่งรู้เรื่องอย่างนี้เพียงพอที่จะตัดสิน แต่ภาพปัจจุบันคือเขาทุกข์เดือดร้อนเป็นที่ตั้งของกรุณา จึงต้องใช้ธรรมข้อกรุณาเข้าไปช่วยเหลือ

๓. ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งหรืออย่างเดียวกันอาจเกิดจากเหตุปัจจัยต่างอย่าง หรือหลายเหตุปัจจัยประกอบกัน อย่างที่พูดแล้วในเรื่องนิยาม ๕ เหตุปัจจัยในอดีตก็มี เหตุปัจจัยในปัจจุบันก็มี เหตุปัจจัยภายในก็มี เหตุปัจจัยภายนอกก็มี
ในเรื่องความยากจนนี้ ถ้าเป็นสภาพสังคม ขอให้ลองไปดูอย่างจักกวัตติสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑)หรือ กูฏทันตสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๙)
จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงเน้นเหตุปัจจัยและการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารการปกครองบ้านเมือง อย่างนี้เป็นตัวอย่าง ซึ่งจะต้องไม่มองข้ามไป อย่ามองอะไรแบบทึกทักทันทีง่ายๆ

หลักธรรมประเภทนี้ทรงสอนไว้เพื่อให้รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ไม่ใช่มองแบบตีคลุม
ในกรณีอย่างนี้ ถ้าเราถืออุเบกขาวางเฉย ก็กลายเป็น อัญญาณุเบกขา คือเฉยโง่ กลายเป็นบาปอกุศลไป เพราะวางเฉย โดยไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่เหมือนกรณีที่มีคนลักขโมยของ แล้วถูกจับคุมขัง เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วเราจึงวางอุเบกขา เพื่อรักษาธรรม

ฉะนั้น ถ้าหากคนเขามีความทุกข์ยากเดือดร้อน เรื่องอะไรจะไม่ช่วย การช่วยนั้นก็เป็นการทำกรรมดีของตัวเราเองด้วย และก็เป็นการเมตตากรุณาช่วยเขา ให้เขาทำความดี
โดยเมื่อได้รับการช่วยเหลือนั้นแล้ว เขาก็มีโอกาสแก้ไขปรับปรุงตัวและมีกำลังที่จะไปทำกรรมดีอื่นๆ ต่อไป แต่การช่วยที่ดีที่สุดคือการช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้
ทั้งนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาในรายละเอียด แต่การที่จะบอกเหมาลงไปว่า คนได้รับทุกข์ยากเดือดร้อน เป็นกรรมของเขาปล่อยให้เขารับกรรมไป อย่างนี้ไม่ถูก ต้องมีหลักว่าเป็นเรื่องของการรักษาธรรมหรือไม่ เหล่านี้เป็นแง่ต่างๆ ที่จะมาช่วยในการพิจารณาเรื่องกรรม

-http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp-prayuth/lp-prayuth-25.htm