ผู้เขียน หัวข้อ: โยนิโสมนสิการในทัศนะของพระธรรมปิฏก :ป.อ.ปยุตโต  (อ่าน 7412 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


               

โยนิโสมนสิการในทัศนะของพระธรรมปิฏก {ป.อ.ปยุตโต}

    พระธรรมปิฎกอธิบายความหมายของโยนิโสมนสิการ (Crltical Reflection) ไว้ดังนี้ ในระบบการศึกษาอบรม โยนิโสมนสิการ เป็นการฝึกใช้ความคิด  ให้รู้จักคิดอย่างถูกวิธี  คิดอย่างมีระเบียบรู้จักคิดวิเคราะห์ไม่มองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างตื้นผิวเผิน  เป็นขั้นสำคัญในการสร้างปัญญาที่บริสุทธิ์ เป็นอิสระทำให้ทุกคนช่วยตนเองได้  และนำไปสู่จุดมุ่งหมายของพุทธธรรมอย่างถ่องแท้”

    มีกิจกรรมหลายอย่างที่ คนทั่วไปมักจะเรียกว่า “การคิด”  เช่นคนคนหนึ่งพยายามนึกถึงที่อยู่เก่าของตน เราก็อาจพูดว่าเขากำลังคิดถึงเลขบ้าน หรืออีกคนหนึ่งคิดว่าพรุ่งนี้เขาจะไปเล่นเทนนิส การคิดที่กล่าวมานี้ตรรกวิทยาไม่ถือว่าเป็น“การคิดด้วยเหตุผล” (reasoning) เพื่อการตัดสินใจ

    ขอทำความเข้าใจว่าการคิดด้วย เหตุและผลต่างจากการนึกคิดเรื่องในอนาคตอย่างไร โปรดดูตัวอย่างต่อไปนี้  สมมติว่าเรานัดเพื่อนคนหนึ่งว่าจะไปถึงบ้านของเขาในเวลาอีกหนึ่งชั่วโมง แต่เมื่อสำรวจดูว่าจะไปได้อย่างไร ก็พบว่าถ้าเดินไปจะต้องใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง  แต่ถ้าคอยอีก 15 นาทีแล้วไปรถประจำทางจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที  รวมเวลาโดยใช้ 45 นาที ถ้าจะไปโดยรถประจำทางทันเวลาที่นัดหมายกันไว้  ดังนั้น  จึงตัดสินใจใช้รถประจำทาง การตัดสินใจเช่นนี้เป็นการใช้เหตุผล

    อย่างไร ก็ตามการคิดด้วยเหตุผลยังแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ เช่นการคิดโดยแยกประเภท (thinking by classification)  การคิดโดยตัดประเด็น (thinking by classification)  การคิดโดยตัดประเด็น (thinking by elimination)  การคิดแบบอุปนัย (inductive thinking) การคิดแบบนิรนัย  (deductive thinking)  และการคิดแบบไตร่ตรองหรือการคิดสะท้อน (reflective thinking)  ทั้งหมดนี้เป็นการคิดตามแนวปรัชญาตะวันตก  ผู้ที่สนใจสามารถหาอ่านได้จากวารสารศึกษาศาสตร์ ฉบับที่ 8 สาขาปรัชญาการศึกษา  เรื่องการคิด โดย ดร.สาโรช บัวศรี  สำหรับการคิดแบบโยนิโสมนสิการเป็นการคิดตามแนวปรัชญาตะวันออก โดยอาศัยหลักธรรมในพระพุทธศาสนา มีผู้กล่าวพาดพิงถึงการคิดแบบโยนิโสมนสิการหลายท่าน อาทิ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ  และพระราชวรมุนี (ประยูร   ธมมจิตโต)   แต่ผู้ที่ได้วิเคราะห์และเสนอแนวคิดแบบโยนิโสมนสิการอย่างละเอียด คือ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)  ดังนั้นจึงเป็นการสมควรที่จะนำข้อคิดเห็นของท่านมาเสนอไว้ในที่นี้   ว่า โดยรูปศัพท์  โยนิโสมนสิการ  ประกอบด้วยโยนิโส กับมนสิการ  โยสิโส มาจาก โยนิ แปลว่า เหตุ ต้นเค้า แหล่งเกิด ปัญญาอุบาย  วิธี  ทาง ส่วนมนสิการ แปลว่า  การทำในใจ  การคิด คำนึง นึกถึง ใส่ใจ  พิจารณา  เมื่อรวมเข้าเป็นโยนิโสมนสิการ  ท่านแปลสืบทอดกันมาว่า การทำในใจโดยแยบคาย…”
    กล่าวอีกนัยหนึ่ง  การทำในใจโดยแยบคายก็คือการคิดเป็น คือคิดถูกต้องตามความเป็นจริงอาศัยการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ  และคิดเชื่อมโยงตีความข้อมูลเพื่อนำไปใช้ต่อไป

การทำในใจโดยแยบคายนี้ ความหมายอาจแยกเป็นลักษณะต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้...
1. อุบาย มนสิการ  แปลว่า  คิดพิจารณาโดยอุบาย คือคิดอย่างมีวิธีหรือคิดถูกวิธี  หมายถึง ถูกวิธีที่จะเข้าถึงความจริง  สอดคล้องเข้าแนวสัจจะทำให้หยั่งรู้สภาวะลักษณะและสามัญลักษณะของสิ่งทั้งหลาย
2. ปถมสิการ แปลว่า คิดเป็นทาง หรือคิดถูกทาง  คือคิดได้ต่อเนื่องเป็นลำดับจัดลำดับได้หรือมีลำดับมีขั้นตอนแล่นไปเป็นแถว เป็นแนว หมายถึง ความคิดเป็นระเบียบตามแนวเหตุผล  เป็นต้น ไม่ยุ่งเหยิงสับสน ไม่ใช่วกเวียนติดพันประเดี๋ยวเรื่องนี้ ที่นี่  เดี๋ยวเตลิดออกไปเรื่องนั้นที่โน้น หรือกระโดดไปกระโดดมา  ต่อเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้  ทั้งนี้รวมทั้งความสามารถที่จะชักความนึกคิดเข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง

3. กา รณมนสิการ  แปลว่าคิดตามเหตุ คิดค้นเหตุ คิดหาผล หรือคิดอย่างมีเหตุผล หมายถึง การคิดสืบค้นตามแนวความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยที่สืบทอดกัน พิจารณาสืบสาวหาสาเหตุให้เข้าใจถึงต้นเค้า  หรือแหล่งที่มาซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาตามลำดับ
4. อุป ปาทกมนสิการ แปลว่าคิดให้เกิดผล  คือใช้ความคิดให้เกิดผลที่พึงประสงค์เล็งถึงกาคิดอย่างมีเป้าหมาย  ท่านหมายถึง การคิดพิจารณาที่ทำให้เกิดกุศลธรรม  เช่น ปลุกเร้าให้เกิดความเพียรการรู้จักคิดที่จะทำให้หายหวาดกลัวให้หายโกรธ  การพิจารณาที่ทำให้มีสติ  หรือทำให้จิตใจเข้มแข็งมั่นคง เป็นต้น
   ลักษณะต่าง ๆ ของความคิดที่กล่าวมาข้างต้นนั้นพอสรุปได้ว่า  คิดถูกวิธี คิดมีระเบียบ คิดมีเหตุผล และคิดเป็นกุศล

   พระธรรมปิฎกได้นำเอาคำแปลเป็นภาษาอังกฤษมาลงไว้ให้พิจารณาด้วยดังนี้
   “Proper mind-work; proper attention; systematic attention; reasoned attention; attentive consideration; reasoned
   consideration; considered attention; careful consideration; careful attention; ordered thinking; orderly reasoning; genetical reflection; critical reflection; analytical reflection.”


   พระธรรมปิฏกยังกล่าวต่อไปว่า “ถ้ามองในแง่ของขอบเขต โยนิโสมนสิการ กินความกว้าง ครอบคลุมตั้งแต่ความคิดในแนวทางของศีลธรรมการคิดตามหลักความดีงามและหลัก ความจริงต่างๆ  ที่ตนได้ศึกษาหรือรับการอบรมสั่งสอนมา  มีความรู้ความเข้าใจดีอยู่แล้ว เช่น คิดในทางที่จะเป็นมิตรคิดรัก คิดปรารถนาดีมีเมตตา คิดที่จะให้หรือช่วยเหลือเกื้อกูล  คิดในทางที่จะเข้มแข็ง  ทำการจริงจังไม่ย่อท้อ  เป็นต้น  ซึ่งไม่ต้องใช้ปัญญาลึกซึ้งอะไร ตลอดขึ้นไปจนถึงการคิดแยกแยะองค์ประกอบและสืบสาวหาสาเหตุปัจจัยที่ต้องใช้ ปัญญาละเอียดประณีต  เนื่องด้วยโยนิโสมนสิการมีขอบเขตกว้างขวางอย่างนี้  ปกติชนทุกคนสามารถใช้โยนิโสมนสิการได้
   ถ้ามองในแง่หน้าที่ โยนิโสมนสิการก็คือ  ความคิดที่สกัดอวิชชาตัณหา  หรือการคิดเพื่อสกัดตัดหน้าอวิชชาและตัณหา

   ลักษณะของความคิดตามอวิชชาตัณหาเป็นดังต่อไปนี้...
   1. เมื่อ อวิชชาเป็นตัวเด่น ความคิดมีลักษณะติดตันวกวนอยู่ที่แง่หนึ่งตอนหนึ่งอย่างพร่ามัวขาดความ สัมพันธ์ไม่รู้ทางไป หรือไม่ก็ฟุ้งซ่านสับสนไม่เป็นระเบียบ  ปรุงแต่งอย่างไร้เหตุผล  เช่นภาพในความคิดของคนหวาดกลัว
   2. เมื่อ ตัณหาเป็นตัวเด่น ความคิดมีลักษณะโน้มเอียงไปตามความยินดียินร้าย ความชอบใจไม่ชอบใจ  หรือความติดใจขัดใจ ติดพันครุ่นอยู่กับสิ่งหรือเรื่องที่ชอบหรือชังนั้นและปรุงแต่งความคิดไปตาม ความชอบความชังของตน
   อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดลึกลงไปอีกในด้านสภาวะอวิชชาเป็นฐานก่อตัวของตัณหาและตัณหาเป็นตัว เสริมกำลังให้แก่อวิชชา  ดังนั้น ถ้าจะกำจัดความชั่วร้ายให้สิ้นเชิงก็จะต้องกำจัดให้ถึงอวิชชา



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


               

   วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ
   ในทัศนะของพระธรรมปิฎก อธิบายได้ว่า วิธีโยนิโสมนสิการพอประมวลเป็นแบบใหญ่ได้ 10 วิธี ดังต่อไปนี้
   1. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย  วิธีนี้เป็นวิธีคิดตามหลักปฏิจจสมุปบาท เป็นแบบพื้นฐาน โดยพิจารณาปัญหา หาหนทางแก้ไขด้วยการค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์ ส่งผลสืบทอดกันมา  แนวปฏิบัติของวิธีนี้มีอยู่ 2 แนว คือ...

   ก. คิดแบบปัจจัยสัมพันธ์ โดยถือหลักว่า สิ่งทั้งหลายย่อมต้องอาศัยซึ่งกันและกันจึงเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น  เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี  เพราะสิ่งนี้ดับ  สิ่งนี้จึงดับ”
   ข. คิดแบบสอบสวนหรือตั้งคำถาม เช่น อุปาทานมีเพราะอะไรเป็นปัจจัยฯ เมื่อคิดแบบโยนิโสมนสิการจึงรู้ได้ด้วยปัญญาว่า อุปาทานมีเพราะตัณหาเป็นปัจจัย ตัณหามีเพราะอะไรเป็นปัจจัย เมื่อคิดแบบโยนิโสมนสิการจึงรู้ด้วยปัญญาว่า ตัณหามีเพราะเวทนาเป็นปัจจัย


   2. วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบหรือกระจายเนื้อหา  เป็นการคิดที่มุ่งให้มองและรู้จักสิ่งทั้งหลายตามสภาวะของมันเอง เป็นวิภัชชวิธี หรือวิธีคิดแบบวิเคราะห์เป็นการคิดพิจารณาที่แยกแยะโดยถือเอานามรูปเป็นหลัก คือไม่มองสัตว์บุคคลตามสมมุติบัญญัติ  ว่าเป็นเขาเป็นเรา เป็นนายนั่นนายนี่ แต่มองตามสภาวะแยกออกไปว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรม กำหนดส่วนประกอบทั้งหลายที่รวมกันอยู่แต่ละอย่างว่า อย่างนั้นเป็นรูป อย่างนี้เป็นนาม เมื่อแยกแยะออกไปแล้วก็มีแต่นามกับรูป หรือนามธรรมกับรูปธรรม ในเวลาที่พบเห็นสัตว์ และสิ่งต่างๆ ก็จะมองว่าเป็นเพียงกองแห่งนามธรรมและรูปธรรมเป็นกระแสความคิดที่คอยช่วย ต้านทานไม่ให้หลงใหลติดยึดสมมุติบัญญัติมากเกินไป  ให้มองเห็นเป็นเพียงสภาวะว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์เป็นคน พระธรรมปิฎกยกตัวอย่างการใช้ความคิดแนวนั้น ดังต่อไปนี้
   
   ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ช่องว่างอาศัยเครื่องไม้ เถารัด ดินฉาบ และหญ้ามุงล้อมเข้าย่อมถึงความนับว่าเรือนฉันใด  ช่องว่างอาศัยกระดูก เอ็น เนื้อ และหนังแวดล้อมแล้วย่อมถึงความนับว่ารูปฉันนั้น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ การคุมเข้าการประชุมกัน การประมวลเข้าด้วยกันแห่งอุปทานขันธ์ 5 เหล่านี้  เป็นอย่างนี้...

3. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์  หรือวิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา หมายถึงการรู้เท่าทันความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย เช่น มีการเกิด เปลี่ยนแปลงและดับสลายไปในที่สุด เป็นต้น  เป็นการรู้เท่าทันว่าสิ่งทั้งหลายที่เป็นธรรมชาติย่อมเกิดจากเหตุปัจจัยและ ขึ้นต่อเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน วิธีคิดแบบนี้แบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอน คือ
 ขั้นที่หนึ่ง คือ  รู้เท่าทันและยอมรับความจริง
 ขั้น ที่สอง คือ  การคิดแก้ไขและทำการไปตามเหตุปัจจัย เป็นการปฏิบัติด้วยปัญญากล่าวคือ เมื่อรู้และเข้าใจเหตุปัจจัยแล้วก็จัดการที่ด้วยเหตุปัจจัยนั้น

   
   4. วิธีคิดแบบอริยสัจ  หรือ คิดแบบแก้ปัญหาเป็นวิธีคิดที่สามารถขยายให้ครอบคลุมวิธีคิดแบบอื่นๆ  ได้ทั้งหมด มีวิธีคิด 2 วิธี คือ
       4.1 วิธีคิดตามเหตุผล เป็นการสืบสาวจากผลไปหาเหตุแล้วแก้ไขที่เหตุนั้น  ตามปกติจะจัดเป็น 2 คู่ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
    คู่ที่ 1  ทุกข์เป็นผล  เป็นตัวปัญหาเป็นสถานการณ์ที่ไม่ต้องการสมุทัยเป็นเหตุ เป็นที่มาของปัญหา เป็นจุดที่ต้องการแก้ไข
    คู่ที่ 2  นิโรธเป็นผล  เป็นภาวะสิ้นปัญหาเป็นจุดหมายที่ต้องการจะเข้าถึงมรรคเป็นเหตุเป็นข้อปฏิบัติที่ต้องการกระทำในการแก้ไขสาเหตุ เพื่อบรรลุจุดหมาย คือ ภาวะสิ้นปัญหาอันได้แก่ความดับทุกข์
       4.2 วิธีคิดที่ตรงจุดตรงเรื่อง เป็นการคิดอย่างตรงไปตรงมา นำเอาสิ่งหรือเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องมาใช้ในการแก้ปัญหา  ไม่นำสิ่งหรือเรื่องที่ใช้ปฏิบัติไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง

   กล่าว โดยสรุปหลักการหรือสาระสำคัญของวิธีคิดแบบอริยสัจก็คือการเริ่มต้นจากปัญหา หรือความทุกข์ที่ประสบ  โดยกำหนดและทำความเข้าใจว่าปัญหาคือความทุกข์นั้นให้ชัดเจนแล้วสืบค้นหา สาเหตุเพื่อเตรียมแก้ไข ในเวลาเดียวกันกำหนดเป้าหมายของตนให้แน่ชัดว่าคืออะไร  จะเป็นไปได้หรือไม่และเป็นไปได้อย่างไร  แล้วคิดวางวิธีปฏิบัติที่จะกำจัดสาเหตุของปัญหา ให้สอดคล้องกับการที่จะบรรลุจุดหมายที่กำหนดไว้นั้น  ในการคิดตามวิธีนี้ จะต้องตระหนักถึงกิจหรือหน้าที่อันพึงปฏิบัติต่ออริยสัจแต่ละข้ออย่างถูกต้องด้วย

   5. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์  เป็นวิธีคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย  คือพิจารณาให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างธรรม (หลักการ) กับอรรถ (ความมุ่งหมาย) คำว่าหลักการในที่นี้ หมายถึง หลักความจริง หลักความดีงาม หลักการปฏิบัติ หรือหลักที่จะนำไปใช้ปฏิบัติรวมทั้งหลักคำสอนที่จะให้ประพฤติปฏิบัติและการ ทำการได้ถูกต้อง  ส่วนความมุ่งหมายก็หมายถึงจุดหมายหรือประโยชน์ที่ต้องการ  หรือสาระที่พึงประสงค์  ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องหลักการและความมุ่งหมายจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง  การปฏิบัติที่ถูกต้องนี้สำคัญมาก  อาจกล่าวได้ว่า เป็นตัวตัดสินว่าการกระทำนั้นๆ จะสำเร็จผล  บรรลุจุดมุ่งหมายได้หรือไม่

   6. วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก วิธีคิดแบบนี้เป็นการคิดที่ใช้หลักว่าจะต้องพิจารณาปัญหาให้ครบทุกด้าน ได้แก่ ด้านดี (อัสสาทะ)  ด้านเสีย (อทีนนวะ) ต่อจากนั้นจึงหาทางออก (นิสสรหะ)  หรือทางแก้ปัญหา



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



พระธรรมปิฎกกล่าวว่า  การคิดแบบนี้มีลักษณะที่พึงย้ำ 2 ประการ คือ...
      6.1 การที่จะใช้ชื่อว่ามองเห็นตามเป็นจริงนั้น  จะต้องมองเห็นทั้งด้านดีและด้านเสียหรือทั้งคุณและโทษของสิ่งนั้นๆ ไม่ใช่มองเพียงด้านหนึ่งด้านใดด้านเดียว
       6.2 เมื่อจะแก้ปัญหาหรือลงมือปฏิบัติจะต้องมองเห็นจุดหมายหรือทางออก นอกเหนือจากการที่รู้คุณและโทษของสิ่งนั้นๆ การคิดหาทางออกด้วยวิธีการดังกล่าวต้องพิจารณาไปพร้อมๆ กับการพิจารณาผลดีผลเสียจะทำให้หาทางออกได้ดีที่สุดและปฏิบัติได้ถูกต้องที่สุด


   7. วิธีคิดแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม   วิธีคิดแบบนี้ใช้กันมากในชีวิตประจำวันเพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอย ปัจจัย 4 คำว่าคุณค่าแท้หมายถึงประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายในแง่ที่สนองความต้องการของ ชีวิตโดยตรงหรือที่มนุษย์นำมาใช้แก้ปัญหาของตนเพื่อความดีงาม ความดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิตหรือเพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนและของผู้อื่น คุณค่านี้อาศัยปัญญาเป็นเครื่องตีค่าหรือวัดราคาจะเรียกว่าคุณค่าที่สนองปัญญาก็ได้  เช่นคุณค่าของอาหารอยู่ที่ประโยชน์ของมันสำหรับหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงชีวิต อยู่ได้ มีสุขภาพดี เป็นอยู่อย่างผาสุก มีกำลังเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญกิจหน้าที่ เป็นต้น  ส่วนคุณค่าเทียมนั้นหมายถึง  ประโยชน์ในแง่การปรนเปรอ  การเสพเสวยเวทนา อาศัยตัณหาเป็นเครื่องวัดคุณค่าหรือวัดราคา  จะเรียกว่าคุณค่าตอบสนองตัณหาก็ได้ เช่น  อาหารที่มีคุณค่าที่ความเอร็ดอร่อย   เสริมความสนุกสนานเป็นเครื่องแสดงฐานะความหรูหรา  เป็นต้น
       วิธีคิดแบบคุณค่าแท้นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริงแล้ว ยังเกื้อกูลแก่ความเจริญงอกงามของกุศลธรรม เช่น  ความมีสติ เป็นต้น ต่างจากคุณค่าเทียมที่พอกเสริมด้วยตัณหา ซึ่งไม่ใคร่เกื้อกูลแก่ชีวิต ทำให้อกุศลธรรม เช่น ความโลภ  ความมัวเมา ความริษยา มานะ ทิฎฐิ เจริญขึ้นอย่างไม่มีขอบเขต

   8. วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม  เป็นวิธีคิดที่ส่งเสริมชักนำไปในทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์  เป็นการขัดเกลาและบรรเทาปัญหา พระธรรมปิฎกอธิบายว่าในเหตุการณ์หรือประสบการณ์เดียวกัน คนหนึ่งอาจคิดปรุงแต่งไปในทางดีงาม  เป็นประโยชน์  อีกคนหนึ่งอาจปรุงแต่งไปในทางไม่ดีไม่งาม เป็นโทษ  ทั้งนี้เนื่องมาจากการฝึกฝนอบรมและประสบการณ์ที่ได้สะสมมา  นอกจากนี้แม้แต่บุคคลเดียวกัน  มองของอย่างเดียวกันหรือมีประสบการณ์เดียวกัน  แต่ต่างขณะ ต่างเวลา  ก็อาจคิดแตกต่างออกไปครั้งละอย่างได้ คราวหนึ่งร้าย คราวหนึ่งดี   ทั้งนี้โดยเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว
       วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรมหรือโยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศลในที่นี้  จึงมีความสำคัญในแง่ที่ทำให้เกิดความคิดและการกระทำที่ดีงามเป็นประโยชน์ในขณะนั้น ๆ  และในแง่ที่ช่วยแก้ไขนิสัยเคยชินร้ายๆ  ของจิตที่ได้สะสมไว้แต่เดิมพร้อมกับสร้างนิสัยความเคยชินใหม่ที่ดีงามให้แก่ จิต ไปในเวลาเดียวกัน
       ในกรณีที่ความคิดอกุศล เกิด ขึ้นแล้ว  พระธรรมปิฎกได้ยกตัวอย่างในวิตักกสัณฐานสูตรว่า พระพุทธเจ้าทรงแนะนำหลักทั่วไปในการแก้ความคิดอกุศลไว้เป็น 5 ขั้นคือ...

      8.1) คิดนึกใส่ใจเรื่องอื่นที่ดีงามเป็นกุศล เช่น นึกถึงเรื่องที่ทำให้เกิดเมตตา แทนเรื่องที่ทำให้เกิดโทสะ เป็นต้น  ถ้ายังไม่หาย
       8.2) พึงพิจารณาโทษของความคิดที่เป็นอกุศลเหล่านั้นว่า ไม่ดีไม่งาม ก่อผลร้ายนำความทุกข์อย่างไรมาให้ ถ้ายังไม่หาย
       8.3) พึงใช้วิธีต่อไปคือ ไม่คิดถึง ไม่ใส่ใจในความชั่วร้ายที่เป็นอกุศลนั้นเลย ถ้ายังไม่หาย
       8.4) พึงพิจารณาสังขารสัณฐานของความคิดเหล่านั้น  ว่าความคิดนั้นเป็นอย่างไร เกิดจากเหตุปัจจัยอะไร  ถ้ายังไม่หาย
       8.5) พึงขบฟัน เอาลิ้นดุนเพดาน  อธิษฐานจิตคือตั้งใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยว ข่มใจระงับความคิดนั้นเสีย


   9. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน  วิธีคิดแบบนี้บางทีเรียกว่า วิธีคิดแบบมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์  และมีข้อที่ต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษคือ  การที่มีผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของการเป็นอยู่ในปัจจุบัน  หรือมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์
   ความคิดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหมายถึง  การคิดในแนวทางของความรู้ หรือคิดด้วยอำนายปัญญา การคิดแบบนี้ถือว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นอยู่ในขณะนี้  หรือเป็นเรื่องที่ล่วงไปแล้ว หรือเป็นเรื่องของกาลภายหน้า  ก็จัดเข้าไปเป็นการปัจจุบันทั้งสิ้น
   ความ คิดถึงอดีตและอนาคต  ตามแนวทางของปัญญาที่เป็นเรื่องของกิจในปัจจุบันจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในทาง ปฏิบัติ  ช่วยให้การปฏิบัติในปัจจุบันถูกต้องได้ผลดียิ่งขึ้น  และสนับสนุนให้มีการตระเตรียมวางแผนล่วงหน้า  นับว่าเป็นวิธีคิดที่มีประโยชน์มาก

   10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท  มาจาก วิภัชชวาท  วิภัชชแปลว่าแยกแยะ จำแนกหรือแจกแจง ใกล้เคียงคำที่ใช้ในปัจจุบันว่าวิเคราะห์วาท แปลว่า  การกล่าว การพูด  การแสดงคำสอน  วิภัชชวาทจึงแปลว่า  การพูด จำแนก  พูดแยกแยะหรือแสดงคำสอนแบบวิเคราะห์ ลักษณะสำคัญของการคิดและการพูดแบบนี้คือ  การมองและแสดงความจริงโดยแยกแยะออกให้เห็นแต่ละแง่ละด้านครบทุกแง่ทุกด้าน  วิธีคิดแบบนี้สามารถจำแนกออกเป็นลักษณะต่างๆ ได้ดังนี้

   10.1 จำแนกด้วยแง่ความจริง  แบ่งซอยออกเป็น 2 อย่าง คือจำแนกตามแง่ด้านต่างๆ  ตามที่เป็นจริงของสิ่งนั้นๆ  โดยมองทีละด้านอย่างหนึ่ง  และจำแนกโดยมองหรือแสดงความจริงของสิ่งนั้นๆ ให้ครบทุกแง่ทุกด้านอีกอย่างหนึ่ง
   10.2  จำแนกส่วนประกอบ  คือวิเคราะห์แยกแยะองค์ประกอบของสิ่งนั้นๆ เพื่อให้รู้เท่าทันภาวะของสิ่งนั้นๆ  เป็นการคิดในแง่เดียวกันกับการคิดวิธีที่สอง  (วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ) ที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น

   10.3  จำแนกโดยลำดับขณะ  คือแยกแยะวิเคราะห์ปรากฏการณ์ตามลำดับความสืบทอดแห่งเหตุปัจจัย  ซอยออกไปเป็นแต่ละขณะๆ ให้มองเห็นตัวเหตุปัจจัยที่แท้จริง ตัวอย่างเช่น เมื่อโจรขึ้นบ้านและฆ่าคนตายเพราะความโลภ  คำพูดนี้ใช้ได้เพียงเป็นสำนวนพูดให้เข้าใจกันง่าย แต่เมื่อวิเคราะห์ทางด้านกระบวนธรรมที่เป็นไปภายในจิตอย่างแท้จริง  จะพบว่าความโลภเป็นเหตุของการฆ่าไม่ได้  โทสะต่างหากที่เป็นเหตุของการฆ่า  ดังนี้เป็นต้น
   10.4 จำแนกโดยความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย คือสืบสาวว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นจะเกิดขึ้นหรือดับลงก็ด้วยเหตุปัจจัย  เป็นวิธีคิดที่ตรงกับวิธีที่ 1 ที่กล่าวแล้วข้างต้น  ความคิดแบบจำแนกโดยสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยช่วยให้มองเห็นความจริงนั้น   และตามแนวคิดนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระธรรมอย่างที่เรียกว่าเป็นกลาง คือไม่กล่าวว่า สิ่งนี้มี หรือสิ่งนี้ไม่มี   แต่ทรงกล่าวว่าเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้ไม่มี  เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มีการแสดงความจริงอย่างนี้  นอกจากจะเรียกว่าอิทัปัจจยตาหรือ ปฏิจจสมุปบาทแล้ว ยังเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า   มัชเฌนธรรมเทศนา  หรือเรียกสั้นๆ ว่าวิธีคิดแบบมัชเฌนธรรม

   10.5 จำแนกโดยเงื่อนไข คือมองความจริงโดยพิจารณาเงื่อนไขประกอบด้วย เช่น ถ้ามีผู้กล่าวว่า  บุคคลนี้ควรคบหรือไม่ หรือถิ่นสถานนี้ควรเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่  ถ้าพระภิกษุเป็นผู้ตอบว่า ถ้าคบแล้วหรือเข้าไปเกี่ยวข้องแล้วอกุศลธรรมเจริญ  กุศลธรรมเสื่อมก็ไม่ควรคบ  ไม่ควรเกี่ยวข้อง แต่ถ้าอกุศลเสื่อม กุศลธรรมเจริญจึงควรคบควรเกี่ยวข้อง
   ถ้าถามในแง่ การศึกษาว่า  ควรปล่อยให้เด็กพบเห็นสิ่งต่างๆ ในสังคมอย่างอิสระเสรีหรือไม่  ถ้าจะตอบก็ต้องวินิจฉัยโดยพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ เช่น  เด็กมีความพร้อมหรือไม่  ประสบการณ์เดิมเป็นอย่างไร  เด็กรู้จักใช้โยนิโสมนสิการโดยปกติหรือไม่  มีบุคคลหรืออุปกรณ์คอยช่วยเหลือหรือไม่  สิ่งหรือเรื่องที่เด็กจะได้พบเห็นในประสบการณ์นั้น  มีผลกระทบรุนแรงเพียงใด  ดังนี้เป็นต้น

   10.6  จำแนกโดยวิภัชชวาท  คือใช้วิภัชชวาทในรูปการตอบปัญหาในบรรดาวิธีตอบปัญหา 4 วิธี  ซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า วิภัชชพยากรณ์  วิธีตอบปัญหาทั้ง 4 วิธีนั้น คือ
  ก. เอกังสพยากรณ์  การตอบแง่เดียว
   ข. วิภัชชพยากรณ์ การแยกแยะตอบ
   ค. ปฏิปุจฉาพยากรณ์  การตอบโดยย้อนถาม
   ง. ฐปนะ การยั้งหรือหยุด พับปัญหาเสีย ไม่ตอบ


   พระธรรมปิฎกอธิบายว่า วิธีตอบ 4 วิธีนี้ แบ่งตามลักษณะของปัญหา  หมายความว่าปัญหาแบ่งออกเป็น 4 ประเภท  ดังตัวอย่างต่อไปนี้ :
       (1) เอกังสพยากรณียปัญหา  ปัญหาที่ควรตอบเด็ดขาด  เช่น ถามว่าสิ่งที่ไม่เที่ยง ได้แก่ จักษุใช่ไหม?  พึงตอบได้ทีเดียวแน่นอนลงไปว่า ใช่
       (2) วิภัชชพยากรณียปัญหา  ปัญหาที่ควรแยกแยะหรือจำแนกตอบเช่น  ถามว่า สิ่งที่ได้มาไม่เที่ยงได้แก่จักษุใช่ไหม?  พึงแยกแยะตอบว่า ไม่เฉพาะแต่จักษุเท่านั้น แม้โสตะ ฆานะ เป็นต้น ก็ไม่เที่ยง
       (3) ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา  ปัญหาที่ควรตอบโดยย้อนถามเช่น จักษุฉันใดโสตะก็ฉันนั้น โสตะฉันใดจักษุก็ฉันนั้น  ใช่ไหม? พึงย้อนถามว่า  มุ่งความหมายในแง่ใด  ถ้าถามโดยหมายถึงแง่ใช้ดูหรือเห็นก็ไม่ใช่ แต่ถ้ามุ่งความหมายในแง่ที่ว่าไม่เที่ยง ก็ใช่
       (4) ฐปนียปัญหา ปัญหาที่พึงยับยั้งหรือพับเสียไม่ควรตอบ เช่นถามว่า  ชีวะกับสรีระคือสิ่งเดียวกันใช่ไหม?  พึงยับยั้งเสีย ไม่ต้องตอบ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 01, 2012, 01:36:18 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


                   

สรุปวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ
พระ ธรรมปิฎกกล่าวสรุปว่า  วิธีคิดที่เป็นแบบโยนิโสมนสิการทั้ง 10 วิธีนี้ มีขั้นตอนการทำงานที่แบ่งออกได้เป็นสองช่วง คือช่วงรับรู้อารมณ์ หรือประสบการณ์จากภายนอกและช่วงคิดค้น พิจารณาอารมณ์หรือเรื่องราวที่เก็บเข้ามาภายในแล้ว  วิธีคิดทั้ง 10 วิธีนี้ ต่างก็อาศัยกันและกัน รับกันและสัมพันธ์กัน ดังนั้นวิธีการศึกษา  เผชิญสถานการณ์และแก้ปัญหาชีวิตจึงต้องบูรณาการความคิดเหล่านี้  รู้จักเลือกรูปแบบวิธีคิดมาผสมกลมกลืนกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างแนวปฏิบัติอย่างถูกต้องตรงกับความจริงในทางสายกลาง
อนึ่งเมื่อพูดเชิงวิชาการในแง่การทำหน้าที่ พระธรรมปิฏกสรุปว่าวิธีโยนิโสมนสิการทั้งหมดสามารถสรุปได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ

(1) โยนิโสมนสิการแบบปลุกปัญญา  มุ่งให้เกิดความรู้แจ้งตามสภาวะ เน้นที่การขจัดอวิชชา เป็นฝ่ายวิปัสสนา มีลักษณะเป็นการส่องสว่าง ทำลายความมืด หรือชำระล้างสิ่งสกปรก ให้ผลไม่จำกัดกาล  หรือเด็ดขาด นำไปสู่โลกุตรสัมมาทิฎฐิ
(2) โยนิโสมนสิการแบบสร้างเสริมคุณภาพจิต  มุ่งปลุกเร้ากุศลธรรม เน้นที่การสกัดหรือข่มตัณหา เป็นฝ่ายสมถะ  มีลักษณะเป็นการเสริมสร้างพลังหรือปริมาณฝ่ายดีขี้นมากดข่มทับหรือบังฝ่ายชั่วไว้  ให้ผลขึ้นแก่การชั่วคราวหรือเป็นเครื่องตระเตรียมหนุนเสริมความพร้อมและ สร้างนิสัยที่นำไปสู่โลกียสัมมาทิฎฐิ



วิธีคิดแบบ โยนิโสมนสิการ เป็นวิธีคิดที่มีประโยชน์มาก
เพราะสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกเวลา
และจะเป็นเรื่องที่เร้าให้เกิดกุศลธรรม เช่นความรู้สึกเมตตากรุณา
และความเสียสละเป็นต้น  อันจะเป็นผลดีแก่ความเจริญงอกงามของตน
ผู้ใดก็ตามเมื่อเข้าใจหลักการนี้แล้ว อาจใช้โยนิโสมนสิการแก้ได้
แม้แต่ทัศนคติและจิตนิสัยไม่ดีที่สร้างมาเป็นเวลานานจนชิน

โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธำรง  บัวศรี



   บรรณานุกรม
   พระธรรมปิฎก  (ป.อ.ปยุตโต).  พุทธธรรม  เล่มที่ 4,
   ฉบับปรับปรุงและขยายความ. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, 2542.
   พระ ราชวรมุนี  (ประยูร ธมมจิตโต).  ขอบฟ้าแห่งความรู้
   เอกสารพัฒนากระบวนการเรียนรู้อันดับที่ 5 กรมวิชาการ

   กระทรวงศึกษาธิการ.  โรงพิมพ์คุรุสภา  ลาดพร้าว, 2541.
   สาโรช  บัวศรี. การคิด.”สารานุกรมศึกษาศาสตร์. 8 :9 – 11 มกราคม-ธันวาคม 2531.
   Popkin, R.H. and Stroll. Phllosophy Made Slmple. New York
   : Made Simple Books Inc., 1956.


   

จากสารานุกรมศึกษาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 2546
จาก... หนังสือเราคือครู  60 ปี มศว  หน้า 31-43