อิ่มกาย อิ่มใจ > สุขภาพกับชีวิต

รวมเคล็ดไม่ลับ กับการใช้ยา

(1/5) > >>

sithiphong:
ยา...อันตราย ถ้าใช้ไม่เป็น?
-http://health.kapook.com/view47820.html-




ยา…อันตราย ถ้าใช้ไม่เป็น? (e-magazine)

          จริงอยู่ที่ยาเป็นสิ่งดีมีคุณอนันต์ แต่ขณะเดียวกันก็มีโทษมหันต์ ถ้าใช้ไม่เป็น โดยความเข้าใจของคนส่วนใหญ่มักนึกว่า "ยา" คือ สิ่งที่ใช้บรรเทาหรือรักษาให้เราหายจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ แล้วจะมีโทษมหันต์ได้อย่างไร แต่แท้จริงแล้วยาเปรียบเสมือนดาบสองคม หากรู้จักใช้อย่างถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์ สามารถนำไปแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของคนเราได้ ช่วยให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวขึ้น เจ็บปวดน้อยลง แต่ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้องหรือถูกวิธี นอกจากจะทำให้ไม่หายจากโรคแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ดูสักนิดก่อนใช้ยา

          ก่อนที่จะหยิบหยูกยามาใช้ คุณควรระมัดระวังสักนิด โดยต้องศึกษาวิธีการใช้ยาอย่างละเอียด อ่านคำเตือน และข้อควรระวังก่อนใช้ยานั้น ๆ และเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษานั่นเอง ก่อนกินยาทุกครั้งต้องดูให้แน่ใจว่า ยานั้นต้องกินก่อน หรือหลังอาหาร หรือพร้อมอาหาร ในขนาดหรือปริมาณเท่าไร ยาก่อนอาหารควรกินก่อนอาหาร ประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ส่วนยาหลังอาหารส่วนมากกินหลังอาหารหนึ่งชั่วโมง แต่บางชนิดจะระบุให้กินหลังอาหารทันที จึงต้องแน่ใจว่า ยานั้น ๆ ใช้อย่างไร นอกจากนี้การกินยาควรกินกับน้ำธรรมดา หรือน้ำอุ่น ไม่ควรกินกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ไม่ควรกินยากับน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้เช่นกัน

ยากับลูกน้อย

          การใช้ยาที่ควรระวังเป็นพิเศษก็คือ การใช้ยาในเด็ก ต้องแน่ใจว่า ยาที่ได้มานั้นสำหรับเด็กเท่านั้น และการใช้ยาจะต้องถามแพทย์หรือเภสัชกรให้แน่ใจ หรือดูฉลากยาให้ละเอียดด้วยว่าเด็กมีน้ำหนักตัวเท่าไร ถ้าเด็กตัวเล็ก น้ำหนักน้อย ยาบางชนิดจะระบุให้ใช้ในปริมาณที่ต่ำกว่าเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า แม้ว่าจะอายุเท่ากันก็ตาม เช่น การใช้ยาลดไข้ พาราเซตามอลกับเด็ก ถ้ารับประทานเกินขนาด อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้




เก็บยาให้เป็น

          สำหรับการเก็บรักษายา ควรเก็บไว้บนที่สูงที่เด็กเอื้อมไม่ถึง อย่าปล่อยให้ยาโดนแสงแดด หรือความชื้น หรือเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง เพราจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพเร็วกว่ากำหนด เมื่อเปิดใช้ยาแล้วควรปิดฝาให้สนิทป้องกันฝุ่น แมลง หรือความชื้นเข้า ไม่ควรเก็บยาหลาย ๆ ชนิดไว้ในขวดเดียวกัน เพราะอาจทำให้ยาเสียได้ ไม่ควรเก็บยาไว้นาน ๆ ต้องดูวันหมดอายุของยา อย่าเผลอกินยาที่หมดอายุแล้ว เพราะอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน

          นอกจากนี้ แม้ยาบางชนิดจะไม่ระบุวันหมดอายุไว้ที่แผงยา หรือบรรจุภัณฑ์ แต่โดยทั่วไปสภาพของยาจะมีอายุอยู่ได้นานเป็นเวลาประมาณ 2-3 ปี หลังจากวันที่ผลิต แต่ยาบางชนิดเมื่อเปิดใช้แล้วก็อาจมีอายุการใช้สั้น เช่น ยาหยอดตา ซึ่งจะมีอายุหลังเปิดใช้เพียง 1 เดือนเท่านั้น หรือยาปฏิชีวนะที่ต้องผสมน้ำสำหรับให้เด็กรับประทาน หลังจากผสมน้ำแล้วยาตัวนั้นจะมีอายุอยู่ได้เพียง 7 วัน หมายความว่าหลังจาก 7 วันแล้วไม่ควรนำยานั้นมาใช้อีกต่อไป

ใช้ให้ถูก

          วิธีการใช้ยาแต่ละชนิดเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทราบและใช้ให้ถูกวิธีดังกล่าวแล้ว ตัวอย่างการใช้ยาให้ถูกวิธี เช่น การกินยาฆ่าเชื้อราที่ผิวหนัง หากเป็นชนิดรับประทานวันละ 1 เม็ด ควรรับประทานเวลาเช้า เพื่อให้ยาสามารถซึมออกมากับเหงื่อช่วงที่ร่างกายเราเคลื่อนไหวในเวลากลางวัน หรืออย่างแคลเซียมคาร์บอเนต ก็ต้องรับประทานหลังอาหารเพราะตัวยาจะถูกดูดซึมได้ดีเมื่อกระเพาะมีการหลั่งกรดออกมามาก หรืออย่างยาระบายไม่ควรกินร่วมกับนม เพราะอาจทำให้เกิดอาการคลื่นเหียน อาเจียน ท้องเสียได้

          ส่วนยาประเภทซัลฟา ให้กินหลังอาหารและดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อป้องกันมิให้ยาตกตะกอน ซึ่งอาจมีส่วนทำให้เป็นนิ่วที่ไตได้ในภายหลัง เป็นต้น และเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง ในการไปพบแพทย์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่า ขณะนี้คุณกำลังกินยาอะไรอยู่บ้าง ถ้าจำไม่ได้ ให้นำยาทั้งหมดไปให้แพทย์ดูด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้สั่งยาไม่ซ้ำ หรือยาที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อกัน และอย่าลืมแจ้งด้วยว่าคุณแพ้ยาอะไร ตลอดจนควรบอกให้แพทย์ทราบว่าคุณมีโรคประจำตัว หรือกำลังป่วยด้วยโรคอะไร เช่น โรคตับ โรคไต โรคกระเพาะอาหาร หรือกำลังตั้งครรภ์ เพื่อที่แพทย์จะได้เลี่ยงการจ่ายยาที่เป็นอันตรายกับโรคที่คุณเป็นอยู่นั้น

          ก่อนจะใช้ยา ให้คุณคิดถึงหลักเกณฑ์ ถูกต้อง ถูกวิธี ถูกเวลา ถูกเงื่อนไข ถูกขนาด และถูกกับโรค จึงจะสัมฤทธิ์ผล และมีประสิทธิภาพต่อการรักษาโรคอย่างแท้จริงและมีความปลอดภัย


ลิขสิทธิ์บทความของ e-magazine.info
ติดตามบทความ สุขภาพ หรืออ่าน แมกกาซีน

-http://www.e-magazine.info/site/-

-http://www.e-magazine.info/site/category/article/healthy/-

.


sithiphong:
ตะเวณเที่ยว โปรดยาลืมยา
-http://www.e-magazine.info/site/2012/09/%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B7/-

http://www.e-magazine.info/site/2012/09/%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B7/

ถึงเวลาแบกเป้าเข้าป่าเข้าเขากันแล้ว เรื่องของร่างกายแน่นอนว่าจะต้องพร้อม

 แต่ทว่าเจ้ากระเป๋าใบเบ้อเริ่มของคุณมีที่ว่างพอสำหรับหยูกยาที่ควรตระเตรียมขณะออกเที่ยวแล้วหรือยัง หากแต่ว่าคุณๆ นักท่องเที่ยวจะไม่แน่ใจว่าควรหยิบยาอะไรไป วันนี้อีแมกกาซีนมีคำตอบ

ภญ.จินตนา แสงโพธิ์ จากโรงพยาบาลภูเขียว เผยว่า ยาที่ทุกคนควรพกติดกระเป๋าไปเที่ยวด้วยนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งนัก เพราะบางครั้งระหว่างทาง คุณอาจไม่ได้พบกับร้านขายยา ซึ่งแน่นอนว่า ผลร่ายที่เกิดกับร่างกายจะทำให้การออกเที่ยวหมดสนุดไปได้อย่างแน่นอน

ยาสามัญประจำบ้านที่ควรพกติดเป้ไปท่องเที่ยว

1. ยาเม็ดแก้เมารถ เมาเรือ ไดเมนไฮดริเนท

เป็นยาในกลุ่มแอนตี้ฮิสตามีนออกฤทธิ์โดยตรงที่อวัยวะควบคุมการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเมารถ เมาเรือ วิธีใช้เพื่อป้องกันอาการเมารถ เมาเรือ ในผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 30 นาที ไม่ควรรับประทานเมื่อมีอาการแล้ว เพราะยาจะปนออกมากับอาเจียนโดยที่ไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย

ยานี้เมื่อรับประทานแล้วจะทำให้เกิดอาการง่วงซึม ดังนั้น ไม่ควรขับขี่ยานยนต์ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล

2. ยาเม็ดบรรเทาปวด ลดไข้ พาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม

ใช้สำหรับลดไข้ หรือบรรเทาอาการปวด ให้รับประทานทุก 4 หรือ 6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ ในขนาด...

- ผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด

- เด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1/2-1 เม็ด

- ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ครั้ง และเมื่อหายจากอาการปวดหรือไข้แล้วให้หยุดยา ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 5 วัน และห้ามใช้ยานี้รักษาอาการปวดเมื่อยจากการทำงานหนัก

3. ยาเม็ดแก้แพ้คลอร์เฟนิรามีน

บรรเทาอาการแพ้หรือลมพิษที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ขนาดและวิธีใช้ของยานี้ คือ รับประทานยาทุก 4-6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ

- ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 12 เม็ด

- เด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด และไม่เกินวันละ 6 เม็ด

- ยานี้อาจทำให้ง่วงซึม จึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถ การทำงานกับเครื่องจักรกล


4. ผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส)

สรรพคุณของยาตำรับนี้ จะช่วยทดแทนการเสียน้ำในรายที่มีอาการท้องเสีย หรือในรายที่อาเจียนมาก และป้องกันการช็อคเนื่องจากร่างกายขาดน้ำ วิธีใช้ คือ ละลายยาในน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว ประมาณ 250 มิลลิลิตร (1 แก้ว) ให้ดื่มมาก ๆ เมื่อเริ่มมีอาการท้องร่วง ถ้าถ่ายบ่อยให้ดื่มบ่อยครั้งขึ้น ถ้าอาเจียนด้วยให้ดื่มทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง

เด็กอายุมากกว่า 2 ปี-ผู้ใหญ่ ให้ดื่ม 1 แก้ว ต่อการถ่ายอุจจาระ 1 ครั้ง หรือตามความกระหาย

เด็กอ่อน-เด็กอายุ 2 ปี ให้ดื่มทีละน้อย สลับกับน้ำเปล่าประมาณวันละ 3 ซอง หรือมากพอที่ผู้ป่วยต้องการ และดื่มต่อไปจนกว่าอาการจะดีขึ้น

5. ยาเม็ดลดกรดอะลูมินา-แมกนีเซีย

ประกอบด้วยตัวยาอะลูมิเนียมไฮดร็อกไซด์ และ แมกนีเซียมไฮดร็อกไซด์ ซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่าง เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วยาจะไปเจือจางกรดในกระเพาะอาหาร มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เนื่องจากมีกรดในกระเพาะอาหารมาก หรือมีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้

การรับประทานให้รับประทานยาครั้งแรกเมื่อมีอาการปวดท้อง หรือจุกเสียด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ โดยเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน พร้อมด้วยน้ำสัก 1-2 แก้ว หากอาการยังไม่หาย ก็ให้รับประทานต่อ โดยรับประทานก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง หรือหลังอาหาร 1 ชั่วโมง แล้วแต่สะดวก

6. ยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง

มีตัวยาที่เป็นสารระเหยง่าย มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ได้แก่ เมธิลซาลิซิเลต การบูร เมนธอล น้ำมันกานพลู ยูคาลิปตัส น้ำมันสน เป็นต้น มีสรรพคุณทำให้ผิวหนังระคายเคือง ทำให้บริเวณที่ทายามีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ผิวหนังจะมีสีแดง และรู้สึกร้อนขึ้น เลือดมีการหมุนเวียนดี กล้ามเนื้อคลายตัว จึงทำให้บรรเทาอาการปวดได้ และยังมีสรรพคุณเป็นยาชาเฉพาะที่ ทำให้ลดความเจ็บปวด และลดอาการคันได้ด้วย

ใช้ทาและนวดบริเวณที่ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และยังสามารถใช้บรรเทาอาการปวดบวม คัน เนื่องจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ โดยทั่วไปใช้ทาวันละ 3-4 ครั้ง


7. ยาใส่แผล โพวิโดน-ไอโอดีน

ใช้เมื่อเกิดแผลถลอกหรือแผลมีเลือดออก สิ่งสำคัญที่สุด คือ การห้ามเลือด และการทำความสะอาด โดยการทำความสะอาดแผลสามารถทำได้ด้วยการใช้สบู่และน้ำ หรือใช้น้ำสะอาดเพียงอย่างเดียวล้างบริเวณแผล เพื่อชำระสิ่งสกปรก

ลิขสิทธิ์บทความของ e-magazine.info

ติดตามบทความ สุขภาพ หรืออ่าน แมกกาซีน

(ติดต่อขอใช้บทความที่ฝ่ายการตลาด)

ที่มาข้อมูล : www.e-magazine.info


.


sithiphong:
ต้อหินกับการใช้ยา
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000123923-
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    
10 ตุลาคม 2555 00:35 น.


การมองเห็นของคนปกติ



การมองเห็นของคนเป็นต้อหิน



ต้อหินอาจพบในเด็กเล็กได้โดยจะมีตาโตและกระจกตาขุ่น


โดย...รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์
       ภาควิชาจักษุวิทยา
       
       การเกิดโรคต้อหิน อาจพบได้ในผู้สูงอายุ ผู้ที่สายตาสั้น หรือยาวมากๆ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และยังเชื่อว่า เกิดจากกรรมพันธุ์ แต่สาเหตุสำคัญอีกอย่างที่ทำให้เกิดต้อหินได้เช่นกัน ก็คือ การใช้ยาหยอดตาประเภท สเตียรอยด์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เพราะยากลุ่มนี้สามารถรักษาอาการคัน และระคายเคืองตาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยรักษาโรคภูมิแพ้ต่างๆ ได้ด้วย จึงทำให้คนทั่วไปนิยมซึ้อมาใช้เอง หรือนำตัวอย่างยาที่เคยได้รับจากจักษุแพทย์ไปหาซื้อมาใช้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดวงตาได้รับปริมาณยามากเกินไป ความดันตาจะสูงขึ้นจนถึงขั้นทำให้เกิดโรคต้อหิน ตาจะมัวลงเรื่อยๆ จนถึงขั้นตาบอดสนิทได้
       
       ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินจากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ นอกจากจะพบในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือการอักเสบเรื้อรังที่ตา และจำเป็นต้องรักษาด้วยการหยอดยาลดการอักเสบประเภทสเตียรอยด์แล้ว ยังพบได้ในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานานทั้งยารับประทาน ยาฉีด ยาพ่นจมูก รวมถึงยาป้ายผิวหนังบริเวณใบหน้า หรือรอบดวงตา เช่น โรคผื่นแพ้ที่ผิวหนัง ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยภาวะภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติที่ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยโรคหอบหืดเรื้อรัง เป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ และไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เพราะอาจเป็นได้ทั้งต้อหินและต้อกระจก
       
       การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคต้อหิน จำเป็นต้องไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวัดความดันตา และวางแผนการรักษา สำหรับมาตรฐานการรักษาต้อหินในปัจจุบันมี 3 วิธี ได้แก่ การใช้ยาซึ่งอาจต้องใช้ยาหยอดตาหลายชนิดร่วมกัน การรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ และการผ่าตัด ซึ่งจะใช้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา ส่วนการนวดตา หรือการใช้สมุนไพรยังไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นมาตรฐานการรักษาต้อหินในปัจจุบันครับ
       
       ฉะนั้น ก่อนการใช้ยาทางตาต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรเสมอ ควรอ่านเอกสารกำกับยาเพื่อดูข้อบ่งใช้และผลข้างเคียงให้เข้าใจ รวมถึงการใช้ยาหยอดตาอย่างต่อเนื่องควรอยู่ในความดูแลของจักษุแพทย์ โดยเฉพาะยาที่อาจมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ข้อสังเกตเบื้องต้นคือ ยาที่ขึ้นต้นหรือลงท้ายว่า เด็กซ์ (Dex)
       
       แต่ถ้าเป็นยาที่ไม่อันตราย เช่น น้ำตาเทียม ยาล้างตา ก็สามารถซื้อมาใช้เองได้ครับ
       
       ***
       
       กิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช
       12 ต.ค.อบรม “Palliative and end of life care” โดย ผศ.นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ แก่บุคลากรทางการแพทย์ ดาวน์โหลดใบสมัครที่ www.si.mahidol.ac.th/education สอบถาม โทร.0 2411 6430
       14 ต.ค.บรรยาย “เลี้ยงทารกให้ง่ายๆ สบายๆ สไตล์ศิริราช” โดย รศ.กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์ และ อ.พิกุล ขำศรีบุศ แก่ผู้ปกครองฟรี ณ ตึกสยามินทร์ ชั้น 7 รพ.ศิริราช สำรองที่นั่ง โทร. 0 2419 5722, 0 2419 7626

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000123923

.



sithiphong:
รู้ไว้ใช่ว่า! อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงก่อนการทานยาปฏิชีวนะ
-http://men.kapook.com/view49895.html-




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
   
          ยาปฏิชีวนะ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ยาแก้อักเสบ นั้น ถูกนำมาใช้รักษาโรคหลายต่อหลายชนิดเลย ไม่ว่าจะเป็น อาการเจ็บคอ ไข้หวัด หรืออาการอักเสบต่าง ๆ เพราะยาชนิดนี้จะเข้าไปยับยั้งการเจริญเติบโต และช่วยฆ่าเชื้อโรคในร่างกายนั่นเอง ซึ่งนอกจากจะต้องทานยาให้ครบจำนวนตามที่แพทย์สั่งแล้ว ก่อนทานยาทุกครั้งก็ควรจะทานอาหารรองท้องไว้ด้วย ซึ่งเชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ทราบข้อมูลรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับยาชนิดนี้ และรับประทานเข้าไปแบบไม่ถูกต้อง วันนี้เราก็เลยนำเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับอาหาร 5 ประเภทที่คุณควรหลีกเลี่ยงก่อนการทานยาปฏิชีวนะมาฝากกันดังนี้



 1. แอลกอฮอล์

          แอลกอฮอลที่กล่าวถึงนั้น ไม่ได้หมายถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง น้ำเชื่อม หรือของเหลวอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อีกด้วย เพราะแอลกอฮอล์นั้นจะเข้าไปขัดขวางการดูดซึมตัวยา ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของตัวยาลดลง นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์กดประสาท ซึ่งหากคุณทานร่วมกันกับยาปฏิชีวนะ ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติก็เป็นได้ หากเป็นไปได้ก็พยายามทานยากับน้ำเปล่าจะดีที่สุด



2. ผลิตภัณฑ์จากนมวัว

          ถึงแม้การบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมวัวจะทำให้สุขภาพของคุณแข็งแรง แต่หากคุณทาน หรือดื่มนมพร้อม ๆ กับยาคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ เพราะแคลเซียมในน้ำนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมวัวนั้น จะทำให้ยาจับตัวกันเป็นก้อน จนร่างกายไม่สามารถดูดซึมตัวยาได้ หรืออาจจะดูดซึมยาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้การทานยากับผลิตภัณฑ์จากนมวัวนั้น ยังทำให้เกิดอาการท้องเสีย เป็นผลข้างเคียงตามมาอีกด้วย



3. อาหารที่มีไฟเบอร์สูง

          หลังจากที่คุณทานยาปฏิชีวนะแล้ว ควรพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไฟเบอร์สูง อย่างเช่น พวกผักใบเขียวและอาหารประเภทถั่ว เพราะอาหารทั้งสองชนิดนี้จะเข้าไปรบกวนการทำงานของลำไส้ ทำให้ร่างกายดูดซึมตัวยาได้น้อยลง นอกจากนี้บางรายยังทำให้เกิดอาการท้องเสียขั้นรุนแรงอีกด้วย



4. อาหารที่มีค่าความเป็นกรดสูง

          อาหารที่มีค่าความเป็นกรดสูง อันได้แก่ มะนาว มะเขือเทศ หรือน้ำอัดลมต่าง ๆ ไม่เพียงแต่จะเข้าไปขัดขวางการดูดซึมและยับยั้งฤทธิ์ยาเท่านั้น แต่อาหารประเภทนี้ยังส่งผลต่อปริมาณยาที่ร่างกายขับออกมาด้วย ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรจะทานอาหารประเภทนี้ หลังจากที่คุณทานยาผ่านไปแล้ว 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด



5. อาหารหนัก

          ก่อนที่คุณจะทานยาไม่ควรรับประทานอาหารหนักหรือย่อยยาก อย่างเช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว หรืออาหารฟาสต์ฟู้ด เพราะเป็นอาหารที่ย่อยยากและทำให้ลำไส้ของคุณทำงานหนักขึ้น อีกทั้งอาหารเหล่านี้ยังทำให้ร่างกายดูดซึมยาได้น้อยลงด้วย ดังนั้นก่อนทานยาคุณจึงควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และเป็นอาหารเบา ย่อยง่าย ๆ อย่างเช่น ขนมปัง ข้าวต้ม หรือโจ๊กจะดีกว่า

          หากคุณอยากจะให้ยาออกฤทธิ์ได้เต็มที่ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารดังที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อไม่ให้อาหารเหล่านั้นเข้าไปขัดขวางการดูดซึม และลดประสิทธิภาพในการรักษาของยาด้วย รู้แบบนี้แล้วก็อย่าลืมนำไปปฏิบัติกันด้วยนะครับ


http://men.kapook.com/view49895.html

.

sithiphong:
พบยานอนหลับตัวใหม่ “ฟีนาซีแพม” แรงกว่า 10 เท่า เสพกับเหล้าถึงตาย!
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000006787-
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 มกราคม 2556 17:01 น.

พบยานอนหลับชนิดใหม่ “ฟีนาซีแพม” ระบาดภาคใต้ แรงกว่ายานอนหลับทั่วไป 10 เท่า ออกฤทธิ์นาน 60 ชั่วโมง ทำผู้ใช้ยาง่วงมึน สับสน เสียการทรงตัวและความจำ เสพร่วมกับเหล้าอาจถึงตาย ด้าน อย.เอาผิดได้แค่ยาไม่ตรงฉลาก เหตุยังไม่เป็นสารควบคุมในไทย ชี้ ถูกนำมาใช้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย เตรียมชงคณะกรรมการประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์ฯประเภท 2



       วันนี้ (17 ม.ค.) นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงกรณีการพบการลักลอบนำเข้ายานอนหลับชนิดใหม่ ซึ่งกำลังระบาดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ว่า สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จ.สงขลา ได้ส่งของกลางยานอนหลับชนิดใหม่จำนวน 2,940 เม็ด มาให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ทำการตรวจวิเคราะห์ โดยลักษณะยาดังกล่าวด้านหนึ่งมีสัญลักษณ์พร้อมตัวเลข 028 และอีกด้านมีตัวเลข 5 บรรจุในแผงพลาสติกใสสีแดง-อะลูมิเนียม บนแผงมีข้อความตัวอักษร “Erimin 5” ซึ่งจากการตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบ “ฟีนาซีแพม (Phenazepam หรือ Fenazepam)” ซึ่งเป็นยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนส์ (Benzodiazepines) มีฤทธิ์แรงกว่า ไดอาซีแพม (Diazepam) ซึ่งเป็นยานอนหลับที่คนส่วนใหญ่รู้จักถึง 10 เท่า และออกฤทธิ์ได้ยาวนานกว่า 60 ชั่วโมง
       
       “ผู้ที่ใช้ยาดังกล่าวจะมีอาการง่วงซึม มึนงง สับสน สูญเสียการทรงตัว และสูญเสียความทรงจำ หากหยุดยาทันทีหลังได้รับยาขนาดสูง หรือเป็นระยะเวลานานอาจเกิดอาการถอนยา และถ้าใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์ หรือสารที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิเอตส์ หรือยานอนหลับอื่นๆ อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบการนำฟีนาซีแพมไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งกลุ่มผู้เสพนิยมเรียกยานี้ ว่า Phenny, P, Bonsai, Bonsai Supersleep และ 7 bromo-5 ส่วนการเสพมีหลายวิธี ได้แก่ การกิน การอมใต้ลิ้น การสูด และการฉีดเข้าเส้น ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกาก็มีรายงานพบผู้เสพยาชนิดนี้เสียชีวิตจากการได้รับยาเกินขนาดด้วย” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
       
       นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ปกติแล้วยา Erimin 5 จะตรวจพบสารไนเมตาซีแพม ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 และไม่มีการอนุมัติทะเบียนตำรับในประเทศไทย แต่จากการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างของกลาง Erimin 5 แล้วพบฟีนาซีแพมนั้น จึงสันนิษฐานว่า อาจมีการนำฟีนาซีแพมมาผลิตเป็นยา Erimin 5 ทดแทน ไนเมตาซีแพม เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย เนื่องจากฟีนาซีแพมยังไม่ได้จัดเป็นสารควบคุมในประเทศไทย รวมทั้งในอนุสัญญาสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการเฝ้าระวังและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของสารนี้ต่อไป



       นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า รายงานข้อมูลระบุว่า Erimin 5 เป็นยาที่ผลิตโดยบริษัท Sumimoto Pharmaceuticals ในประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย ตัวยาสำคัญชื่อ ไนเมตาซีแพม (Nimetazepam) ขนาดยา 5 มก.เป็นยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนส์ มีการอนุญาตให้ใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ในประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย โดยเป็นสารควบคุม สำหรับประเทศไทยตัวยาดังกล่าวจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ยานี้ไม่มีการอนุมัติทะเบียนตำรับในประเทศไทย ซึ่งยาที่ถูกจับได้จึงเป็นยาที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศอื่นทั้งสิ้น โดยพบว่ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิดในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งนิยมเรียกยานี้ในชื่อ five-five หรือ Happy 5 ดังนั้น ยาดังกล่าวที่ตรวจพบสารสำคัญไม่ตรงตามที่ระบุไว้ จึงเข้าลักษณะของวัตถุออกฤทธิ์ปลอม ซึ่งผู้ขายมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท ส่วนผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ามีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท แต่ไม่สามารถเอาผิดในเรื่องการผสมสารฟีนาซีแพมได้ เนื่องจากสารดังกล่าวไม่ได้เป็นสารควบคุมในประเทศไทยและสหประชาชาติว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
       
       “อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะนำเรื่องเข้าคณะกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทได้ในปลายเดือนมกราคมนี้ เพื่อประกาศให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ซึ่งสามารถใช้ได้ภายในสถานพยาบาลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น” เลขาฯ อย.กล่าว
       
       อนึ่ง สารฟีนาซีแพมได้ถูกสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกในประเทศรัสเซีย เมื่อปี พ.ศ.2517 และนำไปใช้ในทางการแพทย์ในประเทศรัสเซียและบางประเทศในยุโรปตะวันออกรักษาโรคระบบประสาท และโรคลมชัก โดยใช้ประมาณ 1- 1.5 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อวัน

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version