ประวัติ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร)
-http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/sd-wat-thep/sd-wat-thep-hist-01.htm-
วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร
เรียบเรียงจากที่โพสท์ใน เว็บไซต์ saktaling.com
ในตำนานวัดเทพศิรินทร์ (
www.watdebsirin.com) ยุคที่ 5 ได้กล่าวถึงท่านเมื่อครั้งได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสไว้ดังนี้
“ในปีแรกเป็นเจ้าอาวาส ท่านมีอายุ ๒๗ ปี พรรษา ๗ อยู่ที่กุฏีหม่อมแย้มในคณะใต้ซึ่งอยู่มาแต่เดิมประมาณ ๓ ปี ภายหลังพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้น มีกระแสรับสั่งให้ย้ายมาอยู่ที่กุฏีเจ้าพระยานรรัตน ฯ ในคณะกลาง เพื่อสะดวกในทางปกครอง เมื่อก่อนเป็นเจ้าอาวาสก็ได้โปรดให้เป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลปราจีนบุรีอยู่ตำแหน่งหนึ่งแล้ว ทั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดให้เป็นผู้กำกับวัดสัมพันธวงศ์อีกส่วนหนึ่ง ท่านปฎิบัติการเป็นที่ต้องพระราชประสงค์โดยมาก ดังจะเห็นได้จากความในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งซึ่งสำเนาดังนี้
ที่ ๒๔ /๖๔๒
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันที่ ๑๑ กันยายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๘
กราบทูล กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
หม่อมฉันได้รับหนังสือฉบับหมายเลขที่ ๑๐๘ ลงวันที่ ๙ เดือนนี้ ส่งรายงานพระอมราภิรักขิตตรวจจัดการศึกษามณฑลปราจีนบุรีนั้น ได้ตรวจดูตลอด แล้วเห็นว่า พระอมราภิรักขิตมีความสังเกตและความจดจำละเอียดนัก ทั้งได้เอาใจใส่ตริตรองในการที่จะทำมาก ควรจะสรรเสริญ และดูเป็นผู้เข้าใจปรุโปร่งในเขตแขวงเหล่านั้นมาก เพราะเป็นชาติภูมิ สมควรแก่ที่จะจัดการศึกษา และการในแถบนั้นให้เจริญได้ แต่จะเว้นเสีย ไม่แสดงความพอใจ อันเกิดขึ้นในใจแล้วอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ คือ ดีใจว่า วัดเทพศิรินทร์ได้สมภารอันพึงหวังใจได้ดังนี้
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
( พระบรมนามาภิไธย ) สยามินทร์
เมื่อเริ่มรับหน้าที่เจ้าอาวาสนั้น มีภิกษุที่อยู่ประจำวัด 46 รูป สามเณร 30 รูป ในการรับอุปสมบทกุลบุตรนั้น โดยที่ท่านมีพรรษา 7 เหตุนี้ในการอุปสมบทกรรม จึงเป็นแต่พระอุปสัมปทาจารย์ เพราะมีพรรษายุกาลยังไม่ถึงองค์กำหนดที่ควรจะเป็นพระอุปัชฌายะได้ ในระยะนี้จึงได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จมาเป็นพระอุปัชฌายะประจำ
ครั้นถึงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2442 มีพระบรมราชโองการทรงตั้งเป็นกรรมการในมหามกุฎราชวิทยาลัย มีสำเนาทรงตั้งดั่งนี้
สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ผู้ปกครองอุปถัมภ์มหามกุฎราชวิทยาลัย โดยพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระบรมพุทธศาสนา และความหวังพระราชหฤทัยต่อการเชิดชูเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตั้งพระอมราภิรักขิต เป็นกรรมการในมหามกุฎราชวิทยาลัย ขอพระคุณจงมีอัธยาศัยประกอบไปด้วยความกรุณา มีวิริยะอันแรงกล้าในการที่จะบำรุงวิทยาลัยให้เจริญ จำแนกพระปริยัติธรรมสรรพวิทยาศาสโนวาทให้แพร่หลายไพบูลย์ยิ่งขึ้น ด้วยความกตัญญูพระคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้พระคุณมีความผาสุกสิริสวัสดิ์ เจริญในพระบรมพุทธศาสนาสืบไปสิ้นกาลนาน ฯ เทอญ
พระราชทานแต่ ณ วันที่ ๒๐ กันยายน รัตนโกสินทร์สก ๑๑๘ เป็นปีที่ ๓๒ หรือวันที่ ๑๑๒๗๑ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
ต่อมาปีขาล พ.ศ. 2445 ทรงเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระราชมุนี มีสำเนาดั่งนี้
ให้เลื่อนพระอมราภิรักขิต เป็นพระราชมุนีตรีปิฎกาลังการ สถิต ณ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร พระอารามหลวง มีนิตยภัตต์ราคาเดือนละ 4 ตำลึง 1 บาท มีฐานานุศักดิ์ ควรตั้งฐานานุกรมได้ 3 รูปคือ พระครูปลัด 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1 รวม 3 รูป
ครั้นถึงวันที่ 19 กรกฎาคมในปีนั้น โปรดให้เป็นเจ้าคณะมณฑลมีสำเนาทรงตั้ง ดั่งนี้
สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ผู้เป็นพระบรมพุทธศาสนูปถัมภก มีพระราชประสงค์จะทรงทำนุบำรุงสังฆมณฑลให้เจริญยิ่งขึ้นเป็นการสืบพระพุทธ ศาสนาให้รุ่งเรืองถาวรสืบไป
มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาพระราชมุนี ตรีปิฎกาลังการ สถิต ณ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร เป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี ขอพระคุณจงมีอัธยาศัยประกอบไปด้วยวิริยะอันแรงกล้า ในการที่จะจัดการคณะสงฆ์ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ และให้พระปริยัติธรรมสรรพวิทยาศาสโนวาทแพร่หลายไพบูลย์ยิ่งขึ้น ขอให้พระคุณมีความผาสุกสิริสวัสดิ์เจริญในพระบรมพุทธศาสนาสืบไปสิ้นกาลนาน เทอญ
พระราชทานตำแหน่งนี้ แต่วันที่ ๑๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์สก ๑๒๑ เป็นปีที่ ๓๕ หรือวันที่ ๑๒๓๐๓ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
ท่านที่มาพักอยู่เรียนในยุคนี้มีหลายรูป เมื่อปีขาล พ.ศ. 2445 พระญาณรักขิต (จันทร์ สิริจนโท) พระมหาทา กิตติวณโณ เปรียญเอก พระมหาอ้วน ติสโส เปรียญโท และพระครูโอภาสธรรมภาณ (สา คมภีโร) รวม 4 รูป มาจากจังหวัดอุบลราชธานี พักอยู่ที่วัดนี้พรรษาหนึ่ง แล้วกลับไปยังจังหวัดนั้นอีก แต่พระมหาทาอาพาธ ถึงมรณภาพวันที่ 12 ธันวาคม ศกนั้น
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(จันทร์ สิริจันโท)
พระญาณรักขิต (จันทร์ สิริจนโท) แต่ก่อนเคยมาอยู่เรียนพระปริยัติธรรมที่วัดนี้ 2 ครั้ง คือครั้งแรกใน พ.ศ. 2423 สมัยนั้นท่านพระอริยมุนี (เอม) เป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์ มาอยู่เมื่ออายุได้ 24 ปี เรียนอยู่ 3 ปี ไม่ทันเข้าสอบ พอสิ้นท่านพระอริยมุนี (เอม) ก็ย้ายไปอยู่วัดบุปผาราม จังหวัดธนบุรี
ครั้งที่ 2 เป็นพระครูวิจิตรธรรมภาณี มาจากนครจำปาศักดิ์ พักอยู่ในปลายยุคพระธรรมไตรโลกาจารย์ (เดช ฐานจาโร) เป็นเจ้าอาวาส ท่านมาช่วยสอนภาษาบาลีในสำนักนี้ด้วย สมณศักดิ์สุดท้าย คือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ
พระมหาอ้วนนั้น พ.ศ. 2439 เคยมาเรียนคราวหนึ่ง ในสมัยนั้นหม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร เป็นเจ้าอาวาส เมื่อสอบได้ชั้นเปรียญตรีแล้ว จึงย้ายไปอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร สมณศักดิ์สุดท้าย คือ สมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพฯ.
พระเทพสิทธาจารย์
(จันทร์ เขมิโย)
เมื่อปีระกา พ.ศ. 2452 พระจันทร เขมิโย (เป็นศิษย์ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล) ก็มาอยู่เล่าเรียนอีกรูปหนึ่ง อยู่ 4 ปี เล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี ได้รับพัดตราธรรมจักรไว้เป็นประกาศนียบัตร ส่วนบาลี สอบไล่ได้ประโยค ป.ธ. 2 แล้วออกไปอยู่ที่วัดศรีเทพประดิษฐ์ ในจังหวัดนครพนม สมณศักดิ์สุดท้าย ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสิทธาจารย์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส)
พระจูม พนธุโล มาเล่าเรียนอีกรูปหนึ่ง พร้อมกับพระจันทร์ เขมิโย ผู้เป็นพระอาจารย์ ได้เป็นเปรียญตรี ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรม ที่ “พระครูสังฆวุฒิกร” ซึ่งเป็นฐานานุกรมของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ อยู่จำพรรษาที่วัดเทพศิรินทราวาส เป็นเวลานานถึง 15 ปี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จึงได้ส่งท่านไปเป็นเจ้าวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี และเป็นอุปัชฌายะคณะธรรมยุตในมณฑลนั้น ออกจากบัญชีวัดนี้แต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2468 ต่อมาเป็นพระญาณดิลก แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระราชเวที เจ้าคณะมณฑลอุดร สมณศักดิ์สุดท้าย คือได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเจดีย์ ในปี พ.ศ.2488
เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ปฏิบัติการสนองพระเดชพระคุณได้ 3 ปี ประจวบกับโรคเบียดเบียนทำให้ทุพพลภาพไม่สามารถจะดำรงตำแหน่งนั้นต่อไป จึงทูลลาออก เพื่อพักผ่อนรักษาร่างกายตามควร
ปีมะเมีย พ.ศ. 2449 โปรดเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี มีสำเนาดั่งนี้
ให้เลื่อนพระราชมุนี เป็นพระเทพกวี ศรีวิสุทธินายก ตรีปิฎกปรีชา มหาคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี สถิต ณ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร พระอารามหลวง มีนิตยภัตต์ราคาเดือนละ 6 ตำลึงกึ่ง มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป พระครูปลัด 1 พระครูสังฆวิชัย 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1 รวม 4 รูป
ต่อมาปีมะแม พ.ศ. 2450 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงตั้งท่านซึ่งมีพรรษา 15 ให้เป็นพระอุปัชฌายะ ในวัดเทพศิรินทราวาส กับทั้งวัดขึ้นของวัดนี้ และวัดธรรมยุตในมณฑลปราจีนบุรี วัดเสน่หา ในอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม วัดสัมปทวน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดเดียวกันนั้นด้วยแต่บางคราวท่านก็ยังได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เสด็จมาเป็นพระอุปัชฌายะในวัดนี้บ้าง เช่นในคราวอุปสมบทสามเณรที่เป็นเปรียญเป็นต้น
ในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2453 โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ มีสำเนาประกาศดั่งนี้
อนึ่งทรงพระราชดำริว่า พระราชาคณะที่ดำรงคุณธรรมปรีชาสามารถสมควรจะเลื่อนอิสริยยศและพระ สงฆ์ ที่สมควรจะเป็นพระราชาคณะมีอีกหลายรูป
จึ่งทรงพระกรุณาโปรด เกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเทพกวี เป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ ปรีชาญาณดิลก ตรีปิฎกคุณาลงกรณ์ ยติคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี สถิต ณ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร พระอารามหลวง มีนิตยภัตต์ราคาเดือนละ ๒๘ บาท มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๖ รูป พระครูปลัด ๑ มีนิตยภัตต์เดือนละ ๔ บาท ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑ พระครูสังฆพินิจ ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ รวม ๖ รูป
ถึงปีมะเส็ง พ.ศ. 2460 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงตั้งให้เป็นแม่กองสอบวิชานักธรรมตรีในมณฑลปราจีนบุรี เป็นกรรมการในสนามหลวง สอบความรู้พระปริยัติธรรม เป็นกรรมการในมหาเถรสมาคมโดยลำดับ
ในปีวอก พ.ศ. 2463 เป็นแม่กองสนามสาขาแห่งสนามหลวง และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงตั้งให้เป็นแม่กองสอบนักธรรมสนามมณฑลจันทบุรีด้วยในปีนั้น
ต่อมา เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2464 โปรดให้สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นที่พระสาสนโสภณ เจ้าคณะ รองคณะธรรมยุติกนิกาย จารึกนามในหิรัญบัฎ มีสำเนาประกาศดั่งนี้
อนึ่งทรงพระราชดำริว่า พระธรรมไตรโลกาจารย์เป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกสุตาคมได้สอบไล่ได้ ถึงชั้นบาเรียนเอกในมหามกุฎราชวิทยาลัย ชั้นบาเรียนเอก 7 ประโยค มีความอุตสาหะวิริยภาพ รับภาระเป็นอาจารย์สอนพระปริยัติธรรมแก่ภิกษุ สามเณรในวัดเทพศิรินทราวาสมาแต่ในรัชกาลที่ 5 ภายหลังโปรดให้เป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส เป็นผู้มั่นคงในสมณปฏิบัติ มีศีลาจารวัตร์เป็นที่น่าเลื่อมใส มีความรอบรู้ในอรรถธรรม ชำนาญเชิงเทศนาโวหาร อรรถาธิบาย เป็นที่นิยมนับถือแห่งศาสนิกบริษัท ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิตเป็นอันมาก และเป็นผู้ที่ได้กระทำคุณประโยชน์ ในทางทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และการศึกษาให้เจริญมาเป็นอันมาก มีอาทิ คือได้เป็นกรรมการแห่งมหามกุฎราชวิทยาลัย เป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี และเป็นพระอุปัชฌายะให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตร ในวัดเทพศิรินทราวาส และในมณฑลปราจีนบุรี ฝ่ายธรรมยุตติกาทั่วไป ทั้งได้เป็นแม่กองสอบวิชานักธรรมชั้นตรี ในสนามมณฑลปราจีนบุรี และเป็นกรรมการในมหาเถรสมาคม เป็นกรรมการสอบความรู้พระปริยัติธรรมในสนามหลวง และเป็นแม่กองสนามสาขาแห่งสนามหลวง เป็นต้น พระธรรมไตรโลกาจารย์ มีความอุตสาหะปฏิบัติการในตำแหน่งต่าง ๆ โดยเรียบร้อยสม่ำเสมอ
อีกประการหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธทรงผนวช ได้ทรงวิสาสะคุ้นเคยกับพระธรรมไตรโลกาจารย์ ก็ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนด้วยตลอดทาง ได้ทรงมีโอกาสทรงทราบ คุณสมบัติของพระธรรมไตรโลกาจารย์ โดยตระหนักแน่ สมควรจะเพิ่มสมณศักดิ์ให้ดำรงตำแหน่งอันสูงได้
จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา เลื่อนพระธรรมไตรโลกาจารย์เป็น พระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฎว่า พระสาสนโสภณ วิมลญาณอดุลย์ตรีปิฎก คุณประสาทนวิภูสิต ธรรยุติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี สังฆนายก สถิต ณ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร พระอารามหลวง เจ้าคณะรองธรรมยุตติกนิกาย มีฐานานุศักดิ์ ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือพระครูปลัดอรรถจริยานุกิจพิพิธธรรมโกศลวิมลสุตาคม อุดมคณานุนายก ตรีปิฎกญาณวิจิตร์ ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูพิสิษสรเวท ๑ พระครูพิเศษสรวุฒิ ๑ พระครูสังฆวุฒิกร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ รวม ๘ รูป
ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 ทรงตั้งให้เป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี และมณฑลจันทบุรี
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2469 ทรงตั้งให้เป็นกรรมการในราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2471 ทรงตั้งให้เป็นกรรมการที่ปรึกษาในการทำนุบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึงเดือนพฤศจิกายนในศกนั้นเอง โปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ดำรงฐานันดรมหาสังฆนายก เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ จารึกนามในสุพรรณบัฎ มีข้อความประกาศสถาปนาตามใบกำกับสุพรรณบัฎดั่งนี้
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนายุกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๗๑ พรรษา ปัจจุบันนสมัยสูรยคตินิยมนาคสมพัตสร พฤศจิกายนมาส ษัษฐสุรทิน มงคลวารโดยกาลบริจเฉท
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี เทพยปรียมหาราชรวิวงศ อสัมภินพงศพีระกษัตร บุรุษรัตนราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสำศุทธเคราหณี จักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร มหามกุฎวงศวีรสูรชิษฐ ราชธรรมทศพิธอุต์กฤษฏนิบุณ อดุลยกฤษฎาภินีร์หาร บูรพาธิการสุสาธิต ธันยลักษณวิจิตรเสาภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคมานท สนธิมตสมันตษมาคม บรมราชสมภาร ทิพยเทพาวดาร ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยศักดิเดช สรรพเทเวศปริยานุรักษ มงคลลัคนเนมาหวัย สุโขทัยธรรมราชา อภิเนาวศิลปศึกษาเดชนาวุธ วิชัยยุทธศาสตรโกศล วิมลนรรยพินิต สุจริตสมจารภัทรภิชญานประติภานสุนทร ประวรศาสโนปสดมภก มูลมุขมาตยวรนายกมหาเสนานี สราชนาวีพยูหโยธโพยมจร บรมเชษฐโสทรสมมตเอกราชชยยศสธิคมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร ศรีรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิษิกต์ สรรพทศทิควิชิตเดโชไชย สกลมไหศวรยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชันยาศรัย พุทธาทิไตรรัตนศรณารักษ์ วิศษฎศักดิอัครนเรศวราธิบดี เมตตากรุณาศีตลหฤทัย อโนปไมยบันยการ สกลไพศาลมหารัษฎราธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริว่า พระสาสนโสภณ ดำรงในรัตตัญญูมหัตตาธิคุณ มีปรีชาญาณแตกฉานในมคธปริวรรตน์และอรรถธรรมวินัยด้วยดี ตั้งอยู่ในสพรหมจารีวิหารโดยสมณากัปปมรรยาท มั่งคงดำรงจาตุปาริศุทธศีลสมบัติไม่ท้อถอย เป็นที่บังเกิดประสาทการแก่พุทธมามกชนทุกชั้น มีอาตมาหิตและปาหิตกรณคุณตามความประกาศสถาปนาเป็นเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุตติกนิกาย เมื่อพระพุทธศาสนายุกาล ๒๔๖๔ พรรษานั้นแล้ว ต่อมาพระสาสนโสภณยิ่งเจริญด้วยอุตสาหวีรยภาพไม่ย่อหย่อนในการประกอบศาสนา กิจให้รุ่งเรืองสมกับเป็นธรรมทายาท อนึ่ง พระธรรมเทศนามงคลวิเศษกถา เป็นเทศนาพิเศษอย่างหนึ่ง ซึ่งพระมหาเถรเจ้าผู้ถวายย่อมทรงคุณวุฑฒิอันมโหฬาร เป็นอุตตมคุรุสถานียบุทคลของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้พระสาสนโสภณถวายสืบจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระสาสนโสภณได้สนองพระเดชพระคุณมาจนรัชกาลปัจจุบันด้วยความเอาใจใส่ สอดส่องทั้งพระบรมพุทโธวาทและรัฎฐภิปาล นโยบายเป็นอย่างดี และเป็นผู้กระทำคุณประโยชน์ในทางบำรุงพระพุทธศาสนา และการศึกษาพระธรรมวินัยให้เจริญมาเป็นอันมาก มีอาทิคือ เป็นผู้อำนวยการสอบความรู้พระปริยัตติธรรมทุกประโยคในสยามรัฎฐ เป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี และมณฑลจันทบุรี เป็นผู้ชำระพิมพ์พระบาลีไตรปิฎก อันควรแก้ไขพิมพ์ขึ้นใหม่ และเป็นธุระในการพิมพ์พระคัมภีร์อรรถกถา ชำระต้นฉบับให้ถูกต้องเป็นเบื้องต้น จนถึงตรวจใบพิมพ์เป็นที่สุด และยังพยายามสั่งสอนบรรพชิตคฤหัสถ์สัทธิวิหาริกอันเตวาสิก ตลอดประชาพุทธมามกชนทุกหมู่เหล่า ให้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติเป็นสาธุชนสัตบุรุษ ต้องตามพระบรมพุทโธวาท เพราะความเป็นผู้ช่างขวนขวาย สำเหนียกความรู้ให้เทียมทันสมควรสมัย แสวงหาวิธีที่จะปลูกศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ให้เจริญงอกงามไพบูลย์ภีโยภาพแก่ชนนิกร อุตส่าห์แสดงธรรมสั่งสอนเป็นเนืองนิตย์ มีวิจารณในฉันทจริตอาศยานุศัยแห่งสรรพเวไนย จัดการให้ธรรมสวนมัยประโยชน์สำเร็จด้วยดีโดยนิยมแห่งกาละเทศะ ด้วยปรีชาฉลาดในเทศนาลีลาวิธี ดั่งที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ เป็นที่ทรงนับถือเป็นอันมาก อนึ่งนอกจากกิจพระพุทธศาสนาโดยตรง พระสาสนโสภณยังเอาใจใส่ในการศึกษาสยามอักษรศาสตร์แห่งกุลบุตรเป็นอย่างดี ได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการในราชบัณฑิตยสภา และสำหรับการบริหารพระอาราม ได้ทรงตั้งให้เป็นกรรมการที่ปรึกษาในการทำนุบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม บัดนี้พระสาสนโสภณ ก็เจริญด้วยพรรษายุกาลสถาวีรธรรม อันให้อุปสัมปาเทตัพพาทิกิจทวียิ่งขึ้นตามทางพระวินยานุญาตเป็นหลักอยู่รูปหนึ่งในธรรมยุตติกสงฆมณฑล มีพุทธสมัยวิมลญาณปรีชาและศีลาจารวัตรมั่นคงในธรรมปฏิบัติ เป็นที่นิยมนับถือแห่งพุทธุปาสิตบริษัททั่วพุทธเกษตรสากล มีนิสสิตานุยนต์แพร่หลายทั้งในสกรัฎฐ์ และวิเทศรัฎฐพุทธศาสนิกบัณฑิต สมควรจะเป็นอุตดรมหาคณิสสราจารย์ที่สมเด็จพระราชา คณะผู้ใหญ่สังฆนายก มีอิสริยยศยิ่งกว่าสมณนิกรคามวาสีอรัณยวาสีฝ่ายเหนือทั้งปวง เพื่อเป็นศรีแห่งพระบวรพุทธศาสนาสืบไป
จึ่งมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสูรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนา พระสาสนโสภณ เป็นสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลคัมภีร์ญาณสุนทร มหาอุตดรคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี สถิต ณ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร พระอารามหลวง เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ มีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมได้ ๑๐ รูป คือพระครูปลัดสัมพิพัฑฒนศีลาจารย์ ญาณวิมล สกลคณิสสรอุตดรสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูเมธังกร พระครูคู่สวด ๑ พระครูวรวงศ์ พระครูคู่สวด ๑ พระครูธรรมราต ๑ พระครูธรรมรูจี ๑ พระครูสังฆวิจารณ์ ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑.
ขอพระคุณผู้รับราชทินนามเพิ่มอิสริยยศในครั้งนี้ จงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอนช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ สามเณรในคณะและในพระอารามตามสมควรแก่กำลัง และอิสริยยศที่พระราชทานนี้ และขอจงจิรสถิติกาลเจริญอายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิวิรุฬหิไพบูลย์ในพระพุทธศาสนาเทอญ.
ปีชวด พ.ศ. 2467 สามเณรเจ้าฟ้าฉายเมือง และสามเณรเจ้าฟ้าขุนศึก โอรสเจ้าฟ้าผู้ครองนครเชียงตุง มีประสงค์จะศึกษาพระปริยัติธรรมตามหลักสูตรที่นิยมในกรุงเทพ ฯ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า โปรดให้รับมาอยู่เล่าเรียนในวัดนี้ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม ศกนั้น และภิกษุอีก 2 รูป คือพระญี่หลวง พระญี่น้อย ซึ่งมากับสามเณรเจ้าฟ้าทั้งสอง ก็พักอยู่ด้วย พระธรรมธราจารย์ สังฆนายกแห่งสงฆ์ในแคว้นนั้น เป็นผู้กำกับและนำสามเณรเจ้าฟ้าทั้งสองมา เมื่อการเรียบร้อยแล้วจึงกลับออกไป ท่านผู้นี้ยังหนุ่มท่วงทีเป็นผู้สงบและแช่มชื่น
.