แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
@ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก
ฐิตา:
๗๒. ๑ ตะแกรงสามอัน
มีคนคนหนึ่งกระหืดกระหอบไปหานักปรัชญาท่านหนึ่ง
แล้วพูดขึ้นมาว่า “ข้ามีข่าวจะมาบอกกับท่าน”
นักปรัชญาชิงพูดขึ้นมาก่อนว่า
“เรื่องที่ท่านจะเล่าร่อนผ่านตะแกรงมาสามครั้งแล้วหรือยัง?”
ชายคนนั้นไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร? จึงถามขึ้นว่า
“ตะแกรงสามอัน ตะแกรงสามอันไหน?”
“ตะแกรงอันแรกคือ ความจริง ข่าวที่ท่านจะเล่าเป็นความจริงหรือเปล่า?”
ชายนั้นตอบว่า “ไม่รู้เหมือนกัน ข้าฟังมาจากที่เขาเล่า”
นักปรัชญาพูดต่อว่า “ตอนนี้เจ้าไปลองใช้ตะแกรงอันที่สองไปตรวจสอบดู
ข่าวที่ท่านจะบอกข้า แม้จะไม่ใช่ความจริง แต่ก็ควรจะเป็นข่าวที่มีเจตนาดี”
ชายนั้นลังเลสักครู่แล้วพูดว่า “ไม่ เป็นเจตนาตรงข้ามกันเลย”
นักปรัชญาพูดต่อว่า “ถ้าอย่างนั้นเราใช้ตะแกรงอันที่สาม
ข้าจะถามเจ้าอีกครั้ง ข่าวที่ทำให้เจ้าเร่งรีบอย่างนี้เป็นข่าวสำคัญหรือเปล่า?”
ชายคนนั้นรู้สึกเขินนิดๆ แล้วตอบว่า “ไม่ได้สำคัญอะไร?”
นักปรัชญานั้นพูดต่อว่า “เรื่องที่เจ้าจะเล่าให้ข้าฟัง ไม่ใช่เรื่องจริงแล้วก็
ไม่ได้มีเจตนาดี แล้วก็ไม่สำคัญ งั้นก็อย่าเล่าเลย ข่าวนั้นจะได้ไม่รบกวนจิตใจ
ทั้งของเจ้าและของข้า”
อย่าได้เชื่ออะไรง่ายๆต่อคำพูดที่มีผู้พูดให้ร้ายคนอื่น
นอกจากเจ้าจะรู้จริงๆว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง
และไหนๆถ้าเจ้ารู้ความจริงแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องนำเรื่องนี้ไปเล่าให้คนอื่นฟัง
นอกจากเจ้าจะคิดว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องบอกให้ผู้อื่นรับรู้
และขณะที่เจ้าพูด พึงนึกไว้เสมอว่า เบื้องบนก็กำลังฟังเรื่องราว
จากปากของเจ้าเหมือนกัน
มีคำพังเพยบทหนึ่งกล่าวว่า
“คำพูดดีๆหนึ่งคำอาจทำให้คนหัวเราะได้
คำพูดร้ายๆหนึ่งคำก็อาจทำให้คนกระโดดขึ้นมาได้เหมือนกัน”
บ่อยครั้งที่คำพูดของเราทำให้ผู้อื่นได้รับผลประโยชน์หรือเปล่า?
หรือทำความเสียหายให้ผู้อื่น? หากก่อนจะพูดได้ผ่านการไตร่ตรอง
มาครั้งหนึ่งก่อนแล้วเจ้าจะรู้ว่า มีหลายๆคำพูดที่ไม่มีความจำเป็นต้องพูดออกมา
การฝึกฝนเช่นนี้บ่อยๆจะทำให้เราสามารถควบคุมลิ้นของเรา
ไม่ให้พูดเพ้อเจ้อออกมา
แล้วไปทำร้ายผู้อื่น เมื่อคนเราสามารถควบคุมลิ้นได้
ก็สามารถควบคุมทุกอย่างในตัวได้
ในคัมภีร์ก็มักพูดว่า
“พูดมากอาจผิดพลาดได้ง่าย รู้จักสงบวาจาคือการมีปัญญา
ต่อแต่นี้ไป ขอให้เจ้าระวังสิ่งที่เจ้าจะพูดออกมา
ก็จะทำให้นาวาชีวิตของเจ้ามุ่งหน้าไปสู่ทิศทางที่ต่างจากเดิม
ฐิตา:
๗๒. ๒ ยืนหยัดอยู่ในคุณค่าของตัวเอง
มีลูกศิษย์คนหนึ่งมักจะคอยถามพระอาจารย์ด้วยคำถามเดิมๆทุกวัน
“อาจารย์ครับ อะไรคือคุณค่าของชีวิตที่แท้จริงครับ?”
วันหนึ่งพระอาจารย์นำก้อนหินก้อนหนึ่ง แล้วพูดกับศิษย์ว่า
“เจ้าจงนำก้อนหินก้อนนี้ไปขายที่ตลาด แต่ไม่ต้องขายจริงๆหรอกนะ
เพียงแต่ให้คนตีราคาก็พอ แล้วคอยดูว่า แต่ละคนจะตีราคาก้อนหิน
ก้อนนี้สักเท่าไร?”
ลูกศิษย์นั้นจึงนำก้อนหินไปขายที่ตลาด บางคนก็บอกว่าก้อนหินก้อนนี้
ใหญ่ดี สวยดีให้ราคาสองบาท บางคนก็บอกว่าก้อนหินก้อนนี้มาทำเป็น
ลูกตุ้มชั่งน้ำหนักได้ ก็ตีราคาให้สิบบาท ที่สุดแต่ละคนก็ตีราคาไปต่างๆ
นานา แต่ราคาที่ให้สูงสุดคือสิบบาท ลูกศิษย์รู้สึกดีใจ กลับไปบอกอาจารย์ว่า
“ก้อนหินที่ไม่มีประโยชน์อะไรนี้ ยังขายได้ถึงสิบบาท น่าจะขายออกไปจริงๆ”
อาจารย์พูดขึ้นว่า“อย่าเพิ่งรีบขายก่อน ลองพาไปขายในตลาดทองคำดู
แต่ก็อย่าขายออกไปจริงๆ”
ลูกศิษย์จึงนำก้อนหินก้อนนั้นไปขายในตลาดทองคำ เริ่มต้นมีคนตีราคาให้
หนึ่งพันบาท คนที่สองตีราคาให้หนึ่งหมื่นบาท สุดท้ายมีคนให้ถึงหนึ่งแสนบาท
ลูกศิษย์รู้สึกดีใจ รีบกลับไปรายงานพระอาจารย์ถึงผลพลอยได้ที่นึกไม่ถึง
พระอาจารย์กล่าวต่อไปอีกว่า “นำก้อนหินนี้ไปตีราคาที่ตลาดเพชร”
ลูกศิษย์จึงนำไปที่ตลาดค้าเพชร คนแรกให้ราคาหนึ่งแสน สองแสน
สามแสน ไปเรื่อยๆ เมื่อพ่อค้าเห็นไม่ยอมขายสักที จึงให้เขาตีราคาเอง
แต่ลูกศิษย์นั้นกล่าวว่า “พระอาจารย์ไม่ให้ขาย” จึงนำก้อนหินนั้นกลับไป
พูดกับพระอาจารย์ว่า “ก้อนหินก้อนนี้คนให้ราคาถึงเรือนแสนแล้ว”
“ใช่แล้ว ตอนนี้อาจารย์ไม่อาจสอนเจ้าถึงเรื่องคุณค่าของชีวิตเพราะ
เพราะเจ้ามองชีวิตของเจ้าเหมือนกับการตีราคาของตลาด คุณค่าของชีวิต
คนเรา ควรจะอยู่ในจิตใจของตนเอง ต้องมีสายตาของนักค้าเพชรที่เก่งที่สุด
เสียก่อน จึงจะมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตคนเรา”
คุณค่าของคนเรา ไม่ได้อยู่ที่ราคาที่อยู่ข้างนอก แต่อยู่ที่เราให้ราคาของตัวเอง
ราคาของเราทุกคนเป็นสิ่งที่ไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบ ยอมรับตัวเอง ฝึกฝนตัวเอง
ให้ช่องว่างกับตัวเองได้เติบโต พวกเราก็จะกลายเป็น “สิ่งที่มีค่าจนประเมินไม่ได้”
อุปสรรคทุกอย่างที่เกิดขึ้น ความปวดร้าวที่เกิดขึ้นทุกครั้ง ความทุกข์ที่โหม
กระหน่ำ ก็มีความหมายอยู่ในตัวของมัน
ฐิตา:
๗๒. ๓ แม่ไก่ที่มีปัญญาและเมตตา
ศูนย์วิจัยเกี่ยวกับสัตว์แห่งหนึ่งของยุโรป มีอาจารย์ท่านหนึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับ
ไก่ เขาเอาใจใส่และเฝ้าสังเกตชีวิตความเป็นอยู่ของไก่แต่ละชนิดอย่างละเอียด
วันหนึ่ง เขาได้พบไข่ของไก่ป่าหลายฟองในป่า เขาจึงพาไข่ของไก่ป่านั้นกลับไป
พอดีมีแม่ไก่ตัวหนึ่งออกไข่มาหลายใบ เขาจึงหยิบไข่ของแม่ไก่นั้นออกไป แล้ว
หยิบไข่ของไก่ป่าใส่แทน แม่ไก่นั้นเห็นแล้วก็ลังเลสักครู่ แต่ก็รีบไปฟักไข่
นั้นอย่างเดิม ดูแล้วอ่อนโยนและระมัดระวังยิ่งนัก เหมือนกับกำลังฟักไข่
ของตนเองปานนั้น
ผ่านไปอีกสักระยะหนึ่ง ไก่ป่าน้อยก็แตกออกมาจากไข่ แม่ไก่ก็พาพวกเขา
ไปในป่าใกล้ๆ ใช้ตีนคุ้ยเขี่ยดินให้ร่วนออกมา เพื่อหาหนอนที่อยู่ใต้ราก
แล้วร้องเรียกให้ไก่ป่าน้อยเหล่านั้นมากิน
นักวิจัยนั้นรู้สึกตกตะลึง เพราะเมื่อก่อนนั้นลูกไก่ของแม่ไก่นี้ เคยกินแต่อาหารสัตว์
ที่คนนำมาให้กิน แต่ครั้งนี้แม่ไก่กลับรู้ว่า ไก่ป่าน้อยไม่กินอาหารสัตว์
กินแต่อาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
อีกครั้งหนึ่งที่นักวิจัยนั้นทดลอง นำเอาไข่เป็ดมาให้แม่ไก่นั้นฟัก
แม่ไก่นั้นก็ยังคงฟักไข่ออกมาอย่างระมัดระวัง จนกลายเป็นลูกเป็ดน้อย
แล้วก็พาลูกเป็ดน้อยนั้น ไปที่ริมสระ แล้วให้ลูกเป็ดเหล่านั้นได้ว่ายน้ำ
สองเรื่องราวเหล่านี้ทำให้นักวิจัยนั้นเข้าใจถึงหลักการที่คนเรามักจะนึกว่า
สัตว์นั้นโง่เขลาเบาปัญญา ไม่มีความรู้สึก
แต่จริงๆแล้ว สัตว์ก็มีความรักความเมตตา และมีปัญญาอยู่ในนั้นด้วย
ฐิตา:
๗๓. เจริญสติในชีวิตประจำวัน
มักจะมีผู้ถามบ่อยๆว่า จะบำเพ็ญภาวนาอย่างไร?
และควรจะปฏิบัติธรรมวิธีไหน?
แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าสามารถปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้
ปฏิบัติในสิ่งแวดล้อมที่มีมายาและกิเลสได้
ลูกชายของคนทำขนมปังคนหนึ่ง เป็นคนมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
และเนื่องจากมีบ้านอยู่ใกล้วัด จึงนำขนมปัง 10 ลูก ไปถวายให้กับ
พระอาจารย์ที่วัดทุกวัน เมื่อพระอาจารย์รับประเคนแล้ว
ก็จะเหลือลูกหนึ่งให้นำกลับไปทุกครั้ง และพูดกับเขาว่า
“ข้ามอบให้กับเจ้า ไว้คุ้มครองลูกหลานของเจ้าต่อไปในภายภาคหน้า”
วันหนึ่ง ชายหนุ่มนั้นคิดในใจว่า “ข้าส่งขนมปังไปให้ ทำไมต้องส่งกลับคืนมาด้วย
ท่านอาจารย์ต้องมีความนัยอะไรแอบแฝงอยู่เป็นแน่”
ดังนั้นชายหนุ่มนั้นจึงถามพระอาจารย์ถึงเรื่องนี้
พระอาจารย์ตอบว่า “ขนมปังเป็นสิ่งที่เจ้านำมา และข้ากลับมอบคืนให้เจ้า
ข้าทำผิดตรงไหน?”
ชายหนุ่มนั้นเคยมีวาสนาต่อการปฏิบัติมาก่อนจึงเข้าใจ
ได้ทันทีว่า เหตุปัจจัยที่ตนเองสร้างมา ย่อมจะต้องเป็นผู้รับผลอันนั้น
คิดได้ดังนั้นแล้ว จึงขอบวชกับพระอาจารย์นั้น
พระอาจารย์พูดต่อว่า “ในอดีตเจ้าเคยสร้างแต่บุญกุศล
และตอนนี้ยังเชื่อฟังคำของข้า ต่อแต่นี้ไปให้เรียนธรรมและอยู่ปฏิบัติใกล้ชิดกับข้า
ผ่านไปอีกระยะหนึ่ง วันหนึ่ง พระหนุ่มนั้น นำเอาความสงสัยเรื่องหนึ่งไปถาม
พระอาจารย์ว่า “หลังจากที่ศิษย์บวชเรียนมาจนถึงวันนี้ ยังไม่เคยได้รับคำชี้แนะ
เคล็ดวิธีในการปฏิบัติปฏิบัติธรรมเลย”
พระอาจารย์ตอบด้วยเสียงเรียบสงบว่า “ทำไมจะไม่ได้สอนธรรมะให้เจ้า
เจ้ายกน้ำชามา ข้าก็รับไว้ เจ้ายกข้าวมา ข้าก็กิน เมื่อเจ้าแสดงความคารวะ
ข้าก็พยักหน้ารับ ตรงไหนไม่ใช่เคล็ดวิธีในการปฏิบัติธรรม?
หากอยากจะเห็นจิตของตนเอง ก็จะเห็นได้ทันที
หากย้ำคิด จะเดินผิดทางทันที
พระหนุ่มนั้นเข้าใจถึงคำสอนได้ในทันทีเหมือนกัน
การปฏิบัติธรรมหนีไม่พ้นจากเรื่องราวในชีวิตประจำวัน
หากให้แยกออกจากชีวิตที่เป็นอยู่ในแต่ละวัน
จะรู้ธรรมได้ยาก การเดิน ยืน นอน นั่ง การเคลื่อนไหวนิ่งเงียบ
ไม่มีสิ่งไหนที่ไม่ใช่เครื่องมือทำสติ เพียงแค่รู้อยู่ในปัจจุบันขณะ
ใช้จิตรู้ได้ทันท่วงที ทุกๆสิ่งคือหนทางแห่งมรรค
ฐิตา:
๗๓. ๑ รักตัวเองแล้วก็ทำร้ายตนเอง
คนที่เรารักที่สุดไม่มีใครเกินกว่ารักตัวเอง
คนที่เราเกลียดที่สุด ก็คือตัวเอง
ตั้งแต่เล็กจนโต คนส่วนใหญ่มักจะทำอยู่เรื่องหนึ่งคือ
ทำอย่างไรถึงจะให้ตนเองพอใจ
ตั้งแต่วัยทารก เมื่อผ้าอ้อมเปียก ก็จะร้องไห้เพื่อจะบอกให้คนอื่นรู้
เมื่อหิว ก็แสดงออกโดยการร้องไห้ เมื่อเจ็บป่วยก็ร้องไห้อีก
เมื่อผู้อื่นทำให้ตนเองไม่พอใจก็ร้องอีก
ส่วนใหญ่ก็ใช้การร้องไห้ ร้อง ร้อง ร้อง
จนผู้อื่นทำให้ตนเองพอใจจึงจะหยุด
เมื่ออยู่ในวัยเด็ก จะกินอะไรต้องกินให้ได้ จะเอาก็จะเอาให้ได้
จะทิ้งก็ทิ้งเลย จะคลานก็คลาน ไม่สนใจผู้อื่นว่าจะเป็นอย่างไร
จะทำอะไรก็ทำเลย ก็คือการทำให้ตัวเองพอใจก็แล้วกัน
โตขึ้นมาอีกหน่อย คิดจะเล่น ก็เล่น เล่นของไปชิ้นหนึ่งก็จะเปลี่ยนไป
เป็นอีกชิ้นหนึ่งประเดี๋ยวเล่นกับคนนี้ เดี๋ยวก็ไปเล่นกับคนโน้น
เล่นทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจนค่ำเหมือนกับเล่นได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย
ก็เพื่อสนองความต้องการของตนเอง
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น รู้สึกสนใจเพื่อนต่างเพศ
มักจะมองครูอาจารย์เหมือนศัตรู
แสดงการต่อต้านออกมาเพื่อแสดงถึงความไม่พอใจ
แสดงกิริยาร้ายๆเพื่อเรียกร้องความสนใจ
หรือปิดกั้นตัวเองเพื่อหลบหลีกปมด้อยในใจของตนเอง
ไม่ว่าจะใช้วิธีการอย่างไรหรือลักษณะอย่างไร ก็เป็นเพื่อเรียกร้อง
ความเอาใจใส่และความสนใจจากคนอื่น
ใช้การแสดงออกลักษณะนี้ ก็เพื่อสนองความพอใจของตนเอง
วัยหนุ่มสาว ก็แย่งชิงสาวกับเพศเดียวกัน ที่ไม่ถูกกันก็กล่าวโทษกันไปมา
แสวงหาความท้าทาย เสกสรรปั้นแต่งให้ตัวเอง แสวงหาความรัก
เต็มไปด้วยความใฝ่ฝัน เพื่อให้ตนเองก้าวไปข้างหน้า
ไม่ว่าจะจมลงไปสู่สิ่งที่เลว หรือมุ่งข้างหน้า
ทั้งสองสิ่งก็เป็นไปเพื่อสนองความพอใจของตนเอง
เมื่อมาถึงวัยกลางคน ไม่ใช่เพื่อขยายกิจการให้ใหญ่โต
ก็หลีกหนีไปจากโลกของตัวเอง
กระโดดเข้าไปเล่นการเมือง
ลงทุนกิจการต่างๆ เล่นบทนอกใจภรรยา ทำตัวเป็นข่าว
เพราะที่เป็นอยู่ไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการของตนเอง
ดังนั้นจึงไปสร้างกิเลสเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อเข้าสู่วัยชรา หวังจะให้ลูกหลานมาห่วงใย คู่ทุกข์ยากยังอยู่เป็นเพื่อน
และจากโลกนี้ไปอย่างไม่เจ็บไข้ได้ป่วย
รำพึงรำพันถึงชีวิตที่ผ่านมาเพื่อปลอบประโลมใจให้กับตัวเอง
ใช้ความนับหน้าถือตาของผู้อื่น มายืนยันความความมั่นใจของตนเอง
ไม่ว่าจะปิดบังซ่อนเร้นชีวิตที่ผ่านมาอย่างไร
ก็ยังไม่สามารถทำความพอใจให้กับตนเองได้
ทุกคนย่อมต้องการให้ผู้อื่นมาเติมเต็มให้ อ่อนข้อให้ สร้างความพอใจให้
แต่...ผู้อื่นก็มีความต้องการเช่นนั้นพอๆกับเรา
มีความหวังที่จะอยากได้สิ่งต่างๆมาสนองความต้องการเหมือนกัน
ความต้องการและความหวังจากผู้อื่นเช่นที่ว่านี้ย่อมจะเป็นจริงได้ยาก
ดังนั้นเมื่อต่างฝ่ายเริ่มต้นที่จะอยากได้จากฝ่ายตรงข้าม
ย่อมเกิดความเคืองแค้นทั้งคู่ จากเรื่องของบุคคลต่อบุคคล
ก็กลายเป็นระหว่างกลุ่ม ระหว่างประเทศต่อประเทศ ต่อสู้แย่งชิงกันไปมา
ก็เพื่อมาตอบสนองความพึงใจของตนเอง ของกลุ่ม ของประเทศ
คนมีปัญญาย่อมมีกิเลสน้อย พอใจในสิ่งที่ตนเองมี และสามารถแบ่งปัน
ให้ผู้อื่นได้ตามสมควร แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่
เลยต้องให้ผู้อื่นมาเติมเต็มให้กับความต้องการของตัวเอง สุดท้ายก็มี
แต่ความทุกข์ที่ต้องแบก และกลายเป็นทาสของกิเลสในที่สุด
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version