10 เคล็ดลับ…มัดใจคู่สมรส นั้นเป็นไฉน?/ดร.นพ.ยุทธนา ภาระนันท์
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
2 พฤศจิกายน 2555 07:30 น.
-http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000133894-
อย่างไหนสร้างสุขในชีวิตคู่ ในชีวิตครอบครัวได้ยั่งยืนกว่ากัน ระหว่าง ให้เงินทอง กับ ให้ความรัก
คมคิด: ความรักย่อมผูกพันทุกสิ่งไว้ ให้ถึงซึ่งความสุข ความบริบูรณ์ (Adapted from Colossians 3:14, 2012)
Q: คุณหมอครับ หมู่นี้ ผมกับภรรยารู้สึกเหมือนห่างๆ กันยังไงไม่รู้ครับ บางเรื่องผมทำไม่ได้อย่างที่เธอคาดหวัง เธอจะรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาทันที เวลาพูดคุยอะไรที่เห็นไม่ตรงกัน เธอก็เงียบไปเฉยๆ จะทำยังไงดีครับ
A: คุณหมอยุทธนา...อาจเป็นไปได้ว่าท่านและภรรยามีความปรารถนาลึกๆในใจที่ยังไม่ได้ตกลงกันอย่างเหมาะสม ประกอบกับการสื่อสารหรือแสดงออกซึ่งการคำนึงถึงความรู้สึกของกันและกันยังมีน้อย ทำให้เมื่อไม่ได้ดังหวัง ก็เลยไม่แสดงออกอะไร
มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง สามีทำงานต่างจังหวัด ภรรยาทำงานที่กรุงเทพฯ และต้องดูแลลูก 2 คน แม้สามีจะพยายามโทรมาหาบ่อยๆ แต่หลายเรื่องที่ภรรยาอึดอัดหรือเวลาเหนื่อย ต้องการกำลังใจ สามีก็ไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้มากนัก ผมจึงให้ทั้งสองได้พูดคุยกันว่า “จริงๆ แล้ว เราอยากเห็นครอบครัวเราเป็นอย่างไร?” ในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าครอบครัวเราไม่ต้องการเงินทองมากมาย แต่ต้องการความรักความเอาใจใส่ต่อกัน มากกว่า สามีจึงลาออกจากงาน แล้วกลับมาหางานทำใหม่ที่กรุงเทพฯ ทำให้ทั้งคู่ได้ชีวิตครอบครัวที่มีความสุขกลับคืนมา
เพื่อสร้างครอบครัวให้เข้มแข็งและมีความสุข วันนี้ ผมจึงขอนำเสนอกุญแจ 10 ดอกสร้างครอบครัวให้อบอุ่น (Family attachment) ผ่านแบบสำรวจถัดไปนี้ครับ (Adapted from Defrain & Stinnett. 1992)
แบบสำรวจความรักผูกพันทางอารมณ์ในครอบครัว (Family attachment check)
ช่วงที่ผ่านมา บรรยากาศครอบครัวของท่าน เป็นอย่างไรบ้าง? (กรุณา √ ข้อที่ตรงกับตัวท่าน)
1.ฉันและสมาชิกครอบครัวบอกความประทับใจที่มีต่อกันอยู่เสมอ
2.ยามทุกข์ยาก ทุกคนในครอบครัวยินดีให้การช่วยเหลือต่อกัน ไม่รู้สึกอึดอัดใจ
3.ฉันและสมาชิกครอบครัวรักษาคำพูด สัญญาที่มีให้กัน
4.ทุกคนในบ้านสามารถบอกความรู้สึกต่อกันได้อย่างเปิดเผย ไม่ลำบากใจ
5.ฉันและสมาชิกครอบครัวมีความเอื้ออาทร ให้กำลังใจกันในยามต้องการ
6.ฉันและทุกคนในบ้านกอดหรือสัมผัสสื่อความรักห่วงใยต่อกันอยู่เสมอ
7.ครอบครัวของฉัน ก่อนจะตัดสินใจทำอะไร จะคิดถึงความรู้สึกของกันและกัน
8.สมาชิกครอบครัวมีเวลาให้กันเสมอ แม้งานจะรัดตัวก็ตาม
9.สมาชิกครอบครัวสามารถรอคอยกันได้โดยไม่บ่นตำหนิกัน
10.แม้มีเรื่องกัน ทุกคนในครอบครัวสามารถขอโทษ ให้อภัยและคืนดีกันได้
แปลผลและข้อเสนอแนะ: ยิ่งมีมาก ยิ่งแสดงว่าครอบครัวมีความผูกพันทางอารมณ์เชิงบวกที่ดี ทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง มีความสุข เพื่อพัฒนาในเรื่องนี้ ผมมีหลักสูตรแนะนำ ได้แก่ สร้างสุขในครอบครัว...ด้วยพลังอีคิว, สู่ Happy genius family…ด้วยพลัง Smart Brain, Parenting skills…พ่อแม่วัยทีนต้องรู้ เป็นต้น สนใจกรุณาติดต่อ 02-9422420 ; yparanan@gmail.com
“ความรักนั้นก็อดทนนาน และเชื่อส่วนดีของกันและกันเสมอ” ท่านเห็นด้วยหรือไม่
ข้อมูลอ้างอิง
Defrain & Stinnett. (1992:15-26) อ้างแล้วใน สุลี ทองวิเชียรและคณะ.(2549:130).ครอบครัวและการทำงาน.กรุงเทพฯ:อรุณการพิมพ์.
Colossians 3:14 (2012). Biblica. Retrieved 28 May 2012. From
http://www.biblica.com/bibles บทความโดย
ดร. นพ. ยุทธนา ภาระนันท์ MD., FP., Ed.D.
yparanan@gmail.com
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษาและเวชศาสตร์ครอบครัว
.