โรคข้อเข่าเสื่อม - รักษาอย่างไรให้ได้ผล
-http://www.dailynews.co.th/article/1490/164523-
หลายคนรู้จักและคุ้นเคยกับ “โรคข้อเข่าเสื่อม” เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเคยประสบด้วยตนเองหรือเกิดกับคนใกล้ชิดก็ตาม แต่เป็นที่ทราบกันว่ามันสร้างความทรมานและเป็นอุปสรรคกับการดำเนินชีวิตอย่างมาก...ฉบับนี้ผมจึงหยิบยกแนวทางการดูแลรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมาเล่าสู่กันฟังครับ
“โรคข้อเข่าเสื่อม” เกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อที่หุ้มอยู่รอบส่วนปลายของกระดูก ซึ่งทำหน้าที่กระจายน้ำหนัก รองรับแรงกระแทกที่กดลงมาถูกทำลาย เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของข้อ เช่น ข้อโก่งงอผิดรูป, มีน้ำสะสมในข้อเพิ่มขึ้น, กระดูกงอผิดปกติ, กล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อหย่อนยาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดอาการปวดและบวมที่ข้อ สร้างความเจ็บปวดทรมานในการใช้ชีวิตประจำวัน
ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมนับว่ามีโอกาสเสี่ยงมากกว่า และในขณะเดียวกันเรายังพบโรคนี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ เช่น คนที่มีน้ำหนักตัวมาก, อาชีพที่ต้องเดินขึ้น–ลงบันไดบ่อย ๆ หรือต้องนั่งงอเข่านาน ๆ เป็นต้น
และเป็นที่น่าสังเกตว่า โรคนี้พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปครับ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงนับว่าโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของไทยเราครับ
อาการข้อฝืดนานกว่า 30 นาที ในช่วงตื่นนอนตอนเช้า คือข้อสังเกตหนึ่งที่คนไข้ควรพิจารณาตนเอง และรีบไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่ทันท่วงทีครับ ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยโดยดูอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีอาการปวดบริเวณเข่า, มีเสียงดังในเข่าเวลาขยับ หรืออาจมีสนับเข่าที่ผิดรูปไป เป็นต้น พอตรวจร่างกายแล้วพบอาการตามนี้ ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมล่ะครับ
แนวทางหนึ่งของการดูแลข้อเข่าไม่ให้เสื่อม หรือดูแลรักษาข้อเข่าที่เสื่อมแล้วไม่ให้เสื่อมมากขึ้นไปอีก เชื่อว่าบางท่านคงเคยได้ยินนั่นคือ “เวชศาสตร์ฟื้นฟู” คำนี้หมายรวมถึงกายภาพบำบัดและอาชีวะบำบัดด้วยครับ ซึ่งการถนอมเข่าด้วยวิธีกายภาพบำบัดหรือการออกกำลังกายและการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม ซึ่งมีรายละเอียดและวิธีการมากมาย จะช่วยถนอมเข่าให้อยู่กับเราไปได้อีกยาวนาน และอาจช่วยให้ท่านไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดก็เป็นได้ ตามสถิติของสถาบันเวชศาสตร์ฟื้นฟูหลายแห่ง สามารถจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเข่าได้มากถึง 20-40% ในภาพรวม
บทบาทของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม จะใช้การรักษาที่เรียกว่าการอนุรักษ์ครับ นั่นก็คือ การรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งจะไม่มีการผ่าตัดเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเหมาะสมกับคนไข้ข้อเข่าเสื่อมในระยะเริ่มแรก หรือในผู้ที่มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ แต่ถ้าเป็นในระยะรุนแรงมาก เช่น ปวดมาก บวมมาก ขยับไม่ได้ และเป็นมานานมาก อาจต้องหันไปพึ่งการผ่าตัดด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อแทน แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูมีหน้าที่คือการให้คำแนะนำเรื่องท่าทางการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง ทั้งการนั่ง ยืน และการเดิน รวมถึงให้คำแนะนำเรื่องการดูแลควบคุมน้ำหนักตัว ซึ่งจะเน้นการออกกำลังกายและการควบคุมอาหารเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องนำข้อแนะนำทั้งหมด (โดยไม่มีข้อยกเว้น) ไปปฏิบัติเป็นประจำในวิถีดำเนินชีวิตประจำวัน (Life Style) อย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัยให้ได้ ก็จะรอดพ้นจากการผ่าตัดได้แน่นอนครับ
นอกจากการให้คำแนะนำแล้ว การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู มีตั้งแต่การ “รักษาด้วยยา” ซึ่งเป็นยาลดอาการอักเสบในกรณีที่ข้อเข่าเกิดการอักเสบเฉียบพลัน หรือคนที่เป็นข้อเข่าเสื่อมเรื้อรังแต่เกิดอาการปวดขึ้นมาเฉียบพลัน มีทั้งยาแบบกิน และแบบทา และอาจมีผ้าพันข้อเข่ามาช่วยเสริม ซึ่งจะช่วยให้เกิดความร้อนบริเวณข้อเข่า ช่วยบรรเทาอาการปวดได้
นอกจากนี้ยังมียาในกลุ่ม “ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์” ยาเหล่านี้จะไปช่วยลดการอักเสบของเข่าได้ แต่แพทย์จะไม่แนะนำให้ทานติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ เพราะอาจส่งผลเสียต่อไตและกระเพาะอาหารได้ ส่วนคนที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดและทานยาประจำโรคอยู่ ก็ไม่แนะนำให้ทานครับ เพราะยานี้จะทำให้เกล็ดเลือดเกิดการแข็งตัวมากขึ้น มีโอกาสไปอุดตันที่หลอดเลือดได้ครับ
“ยาบำรุงข้อเข่า” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ ซึ่งจะช่วยชะลอการเสื่อมของกระดูกอ่อนที่เคลือบผิวข้อเข่า ยาตัวนี้คือ กลูโคซามีน ซัลเฟต ซึ่งแพทย์เวชศาสตร์ฯ ผู้ให้การรักษาบอกผมว่า คนไข้ที่ได้รับยาดังกล่าวแล้วมีอาการดีขึ้น แต่ต้องทานต่อเนื่องประมาณ 3–6 เดือน และสามารถทานต่อเนื่องได้นานถึง 3 ปี โดยไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ครับ
อีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยรักษาและฟื้นฟูโรคข้อเข่าเสื่อมก็คือ “เครื่องอัลตราซาวด์” ซึ่งมีคลื่นความถี่สูงและทำให้เกิดความร้อน ทำให้เลือดบริเวณข้อเข่ามีการไหลเวียนดีขึ้น ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวและลดอาการปวดได้ครับ
การรักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู มิได้ช่วยให้ข้อเข่าเสื่อมที่เป็นอยู่นั้นหายขาดไปได้ครับ เพียงแต่จะช่วยชะลอความเสื่อมไม่ให้เกิดเร็วขึ้นกว่าปกติ ช่วยให้อาการปวดที่เป็นทุเลาลงได้ แต่ถามว่าในอนาคตมีสิทธิที่จะกลับมาปวดได้อีกหรือไม่ ตอบเลยว่าได้ครับ เพราะความเสื่อมของร่างกายนั้นเกิดขึ้นได้ทุกวัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิต การใช้ขาและเข่าในชีวิตประจำวัน การเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง หมั่นออกกำลังกล้ามเนื้อขาอย่างถูกวิธี อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ดังนั้นท่านใดที่ใช้การรักษาแบบเวชศาสตร์ฟื้นฟูไปประมาณ 3–6 เดือน แล้วไม่ดีขึ้น กรณีนี้อาจต้องหันไปพึ่งการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ฉบับหน้าผมจะมาเล่าถึงเทคโนโลยีการผ่าตัดเหล่านี้ให้ฟังครับ.
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
.