อลังการ “ขบวนเรือพระราชพิธี” มรดกวัฒนธรรมล้ำค่าแห่งสยามประเทศ (+คลิป)
-http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9550000135355-
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
5 พฤศจิกายน 2555 18:09 น.
ขบวนเรือพระราชพิธี มรดกวัฒนธรรมล้ำค่า
เนื่องจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 ทำให้ “พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554” ที่จัดโดยกองทัพเรือจำเป็นต้องเลื่อนหมายกำหนดการมาเป็นในปี 2555 นี้
สำหรับการเสด็จทางน้ำที่เรียกว่า“ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” นั้นมีมายาวนานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา จวบจนถึงปัจจุบัน โดยแม่น้ำลำคลองถือเป็นเส้นทางสัญจรหลัก อีกทั้งในเวลารบทัพจับศึกก็จะใช้กระบวนทัพเรือเป็นสำคัญ เมื่อบ้านเมืองปราศจากสงครามก็จะมีการฝึกซ้อมกระบวนยุทธทางเรือกันในช่วงฤดูน้ำหลากซึ่งเป็นช่วงที่ราษฎรว่างจากการทำนา ประจวบกับเป็นช่วงของประเพณีการทอดกฐิน พระเจ้าแผ่นดินจึงเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนเรือเพื่อให้ไพร่พลได้รื่นเริงในการกุศล
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์งามล้ำเหนือแม่น้ำเจ้าพระยา
ไม่เพียงประเพณีถวายผ้าพระกฐินเท่านั้น ขบวนพยุหยาตราชลมารคในอดีตยังจัดขึ้นในคราวที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาท การอัญเชิญ พระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมืองเข้าประดิษฐานในเมืองหลวง การต้อนรับทูตต่างประเทศ เป็นต้น
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ถือเป็นต้นแบบมาจนปัจจุบัน คือขบวนพยุหยาตราฯ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยเรียกขบวนเรือว่า “ขบวนเพชรพวง” ซึ่งเป็นริ้วกระบวนยิ่งใหญ่ 4 สาย พร้อมริ้วเรือพระที่นั่งตรงกลางอีก 1 สาย มีเรือทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 100 ลำ นับเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์และนับเป็นต้นแบบสำคัญของขบวนพยุหยาตราฯ ในสมัยต่อมา
ริ้วขบวนเรือลอยลำในเจ้าพระยา
ความงดงามของขบวนเรือในสมัยนั้นได้ถูกบันทึกไว้โดย นิโคลาส แชแวร์ หนึ่งในคณะทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ว่า
“...ไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรืออื่นใดได้ เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่า 200 ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้น ใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายพร้อมกับเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทอง เสียงพายกระทบเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน...”
เรือทุกลำ คนทุกคนต่างเป็นส่วนสำคัญในขบวนเรือพระราชพิธี
เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 ข้าศึกได้เผาทำลายเรือจนหมดสิ้น จนในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ได้ทรงสร้างเรือขึ้นมาใหม่อีก 67 ลำ ทั้งเรือพระที่นั่ง เรือกระบวนปิดทอง เรือพิฆาต และเรือแซง ซึ่งเป็นเรือที่สำคัญๆ เป็นที่รู้จักมาจนทุกวันนี้ อีกทั้งในรัชกาลต่อๆ มาก็ยังมีการสร้างเรือเพิ่มขึ้นอีก บางลำได้ตกทอดมาถึงปัจจุบันและยังได้นำมาใช้ในพระราชพิธีต่างๆ เช่น เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 4 และมาสร้างขึ้นแทนลำเดิมอีกในรัชกาลที่ 6 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 และ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 6
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
ส่วนในรัชกาลปัจจุบัน ได้มีการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ขึ้นเมื่อปี 2537 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี 2539 โดยใช้ต้นแบบลำเดิมของเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเดิมโขนเรือเป็นรูปครุฑยุดนาค จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงมีพระราชดำริให้เพิ่มรูปพระนารายณ์ประทับยืนบนหลังครุฑ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามเรือลำใหม่นี้ว่านารายณ์ทรงสุบรรณ
เรือประกอบขบวนลำอื่นๆ
พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินนั้น เป็นพระราชพิธีที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ได้สูญหายไปในช่วงต้นรัตนโกสินทร์นานจวบจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคใหญ่ โดยทรงเสด็จทอดผ้าพระกฐินที่วัดอรุณราชวรารามฯ ตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมา
เหตุที่มีพระราชประสงค์ในการฟื้นฟู ก็ด้วยเสด็จยังโรงเก็บเรือพระราชพิธีที่คลองบางกอกน้อย ทอดพระเนตรเห็นเรืออยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงมีพระราชดำริว่า ถ้ามีการฟื้นฟูการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคขึ้นคงไม่สิ้นเปลืองอะไรมากนัก เพราะกำลังคนสามารถใช้คนของทหารเรือ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายทำขึ้นครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้แรมปี ส่วนประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีมากมายหลายประการ เช่น เรือพระราชพิธีต่างๆ อันสวยงามและทรงคุณค่าในทางศิลปะเหล่านี้ จะได้รับการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ
เรือประกอบขบวนลำอื่นๆ
อนึ่งขบวนพยุหยาตราในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 16 ในรัชกาลปัจจุบัน โดยขบวนเรือพระราชพิธีสองครั้งก่อนหน้านี้ก็คือขบวนเรือพระราชพิธี ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2549 และขบวนพยุหยาตราชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2550
ในครั้งนี้เป็นการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคใหญ่ 5 ริ้ว ใช้เรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง จำนวน 4 ลำ คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือรูปสัตว์ จำนวน 8 ลำ ได้แก่ เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือครุฑเหินเห็จ และเรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือดั้ง 22 ลำ
ประชาชนมาเฝ้ารอชมขบวนเรือ ริม 2 ฝั่งน้ำเจ้าพระยา
นอกจากนี้ยังมีเรืออื่นๆ อีก 18 ลำ รวมความยาวของขบวนเรือจากหัวขบวนถึงท้ายขบวน 1,280 เมตร และความกว้างขบวน 110 เมตร ใช้กำลังพลประจำเรือพระราชพิธี ทั้งสิ้นกว่า 2,200 นาย
ทั้งนี้ใน วันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00-17.00 น. ทางกองทัพเรือได้ทำการซ้อมใหญ่เสมือนจริงการฝึกซ้อมริ้วขบวนเรือพระราชพิธี ท่ามกลางความสนใจของประชาชนจำนวนมาก โดยกองทัพเรือจะทำการซ้อมใหญ่เสมือนจริงอีกครั้งในวันที่ 6 พ.ย. 2555 ในช่วงเวลาเดิม
ทำพิธีก่อนออกพายเรือ
จากนั้นในวันที่ 9 พ.ย. 2555 ช่วงเวลาประมาณ 15.00-17.00 น. จะเป็นวันงานพระราชพิธี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค โดยริ้วขบวนเรือพระราชพิธีจะเริ่มจากท่าวาสุกรี ไปสิ้นสุดที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งรัฐบาลได้ขอเชิญชวนหน่วยงานราชการ ร้านค้า และประชาชนที่อยู่บริเวณขบวนเรือผ่านทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งโต๊ะหมู่บูชา เครื่องราชสักการะพร้อมประดับธง ภปร. และธงชาติไทย ตามอาคารบ้านเรือนโดยพร้อมเพรียงกัน
สำหรับประชาชนชาวไทยผู้สนใจสามารถร่วมรับชมความงดงามของริ้วขบวนเรือพระราชพิธีอย่างใกล้ชิดที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทั้งในวันซ้อมใหญ่ 6 พ.ย. และในวันพระราชพิธี(วันจริง) 9 พ.ย. ซึ่งนี่นับเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมของสยามประเทศอันล้ำค่ายิ่
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9550000135355.