โรคหัวใจ รู้ไว ตายช้า/คอลัมน์ Health Line สายตรงสุขภาพ
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000137151-
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
9 พฤศจิกายน 2555 14:31 น.
จากสถิติระบุไว้ว่า อัตราคนไทยป่วยด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้นสูงถึง 17,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายวัย 40 และหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป โรคหัวใจ จึงถือเป็นอีกโรคหนึ่งซึ่งคร่าชีวิตคนไทยไปปีละไม่น้อย แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกกังวลจนทำให้คุณต้องกินไม่ได้นอนไม่หลับ ถ้าหากคุณรู้เคล็ดลับในการป้องกันและรักษา ตลอดจนหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้
นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา กล่าวว่า ในบรรดาโรคหัวใจที่มีอยู่มากมายหลายชนิดนั้น โรคหัวใจหลอดเลือดตีบ ถือว่า “อันตราย” มากที่สุด เพราะเป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้
ต้นตอของโรคเกิดจากไขมันมาเกาะที่หลอดเลือดหัวใจ และโดยปกติ หลอดเลือดหัวใจของคนเราสามารถ “หด” หรือ “ขยาย” ตัวได้ ขึ้นกับความต้องการของร่างกายในขณะนั้น แต่เมื่ออายุมากขึ้น ไขมันมาพอกที่หลอดเลือดเยอะขึ้น ส่งผลให้หลอดเลือดเสื่อม ไม่อาจขยายตัวได้ดี ทางเดินของเลือดถูกสกัดไว้ และเมื่อหัวใจตีบตันเกิน 50-70 เปอร์เซ็นต์ อาการของโรคก็จะเริ่มฟ้องออกมา
*5 สัญญาณอันตราย โรคหลอดเลือดหัวใจ*
อาการหลักๆ ที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าว่าโรคหลอดเลือดหัวใจมาเยือนคุณแล้ว มีอยู่ 5 ประการ คือ
1.เจ็บแน่นหน้าอกที่จำเพาะกับหัวใจ
2.เหนื่อยง่าย
3.ใจสั่น
4.กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
5.เสียชีวิตแบบปัจจุบัน
อาการ 3 ข้อแรกนั้น แต่ละคนสามารถรับรู้ได้ อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ นายแพทย์แห่งคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา บอกว่า สามารถใช้เทคนิคฉีดสีเพื่อวินิจฉัยได้ว่าใครเป็นโรคหัวใจ ถ้าฉีดสีแล้วเห็นว่าเส้นเลือดหัวใจตีบ ก็จะรักษาด้วยการทำบอลลูนเพื่อถ่างตรงจุดที่เส้นเลือดตีบให้ขยายขึ้น แต่เชื่อแน่ว่า คงไม่มีใครอยากเห็นตัวเองเจ็บป่วยถึงขั้นนั้น ทางที่ดีก็คือ การรู้ปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเป็นโรคหัวใจ
*8 ปัจจัยเสี่ยง*
1.ประวัติครอบครัว ถ้าคนในครอบครัวแบบสายตรง หมายถึงพ่อแม่พี่น้องร่วมสายเลือดเป็นโรคหัวใจ อัตราเสี่ยงที่คุณจะเป็นด้วย ก็ย่อมมีเหมือนกัน
2.ไขมันในเลือดสูง
3.ความดันโลหิตสูง
4.เบาหวาน
5.การสูบบุหรี่
6.โรคอ้วน
7.การไม่ออกกำลังกาย
8.ลักษณะนิสัยการกิน
*เคล็ดลับออกกำลังกาย*
มีคำถามว่า ผู้ที่เป็นโรคหัวใจสามารถออกกำลังกายได้ไหม และออกเท่าไหร่ถึงจะพอดี นายแพทย์เขตต์ ให้ความรู้ว่า โดยปกติ คนเรานั้น ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ สามารถทำได้ไม่จำกัด แต่การออกกำลังกายที่ดี ควรจะอยู่ที่ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยปริมาณเวลาแต่ละครั้งอยู่ที่ 30 นาที
แต่สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจแล้ว นายแพทย์หนุ่ม ชี้ว่า ต้องดูเป็นรายๆ ไป เพราะสมมติว่า คนคนหนึ่งเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ และยังไม่ได้รับการรักษา ยังมีการเจ็บอกอยู่ แต่ไปออกกำลังกายหนัก ก็จะทำให้เจ็บหน้าอกหรืออาจหนักถึงขั้นหัวใจวายได้ ในทำนองเดียวกัน การยกน้ำหนักหรือการเล่นเวท ทำให้เกิดการเกร็งหรือเบ่งกล้ามเนื้อและต้องกลั้นหายใจ ก็อาจกระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจได้ หรือคนที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไปออกกำลังกายหนักๆ โอกาสที่จะวูบก็มีได้ เช่นเดียวกับโรคลิ้นหัวใจตีบ หากออกกำลังกายหนักเกินไป ก็มีโอกาสหมดสติได้เช่นกัน
ดังนั้น วิธีการที่แพทย์หนุ่มแห่งคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนาให้ความเห็น ก็คือ ถ้าคุณเป็นโรคหัวใจแล้ว ควรจะต้องปรึกษาแพทย์ว่าออกกำลังกายแค่ไหนถึงจะเหมาะสม
*เกร็ดคำถาม*
ข้อใดป้องกันโรคหัวใจ
1.ทานอาหารเสริม
2.ทานกระเทียม
3.ทานน้ำมันปลา
4.ไม่สูบบุหรี่
เฉลย. ข้อ 4 มีหลักฐานที่ได้รับการยอมรับมาแล้วทั่วโลก ว่า สิ่งที่ป้องกันโรคหัวใจได้จริง ไม่มีอาหารเสริมมาเกี่ยวข้องเลย ทางป้องกันที่ดีที่สุดคือออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมา
***ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 07.00-08.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000137151.