ผู้เขียน หัวข้อ: ท่านมาอย่างไร ท่านไปอย่างนั้น :เสฐียรพงษ์ วรรณปก  (อ่าน 1389 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


ท่านมาอย่างไร ท่านไปอย่างนั้น 
ปาฐกถาของศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต
ปรารภถึง อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
ในงานสวดอภิธรรมศพ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
ณ ศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทราวาส

สมัยผมเป็นสามเณรมาอยู่ที่วัดทองนพคุณ ธนบุรี สมัยนั้นได้ยินพระเณรกล่าวขานกันถึงภิกษุหนุ่มเปรียญ ๙ ประโยค นามว่า สุชีโวภิกขุควบคู่กับชื่อ เสถียร โพธินันทะ คนหลังนี้ทราบว่าอายุยังน้อยอยู่ เป็นผู้เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา และว่ากันว่าเป็นศิษย์ของสุชีโวภิกขุ ด้วย ผมมาอยู่วัดทองนพคุณเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ทราบว่าท่านลาสิกขาก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี วัดที่ท่านสุชีโวภิกขุ บวชอยู่ชื่อ วัดกันมาตุยาราม เป็นวัดเล็ก ๆ อยู่ในย่านการค้าขายของคนจีน ที่พลุกพล่านมาก อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าว่า ท่านแหวกตลาดเข้าไปวัดอย่างทุลักทุเล เพื่อไปฟังพระหนุ่มรูปนี้เทศน์ ความรับรู้ของผมเกี่ยวกับบุคคลทั้งสองนี้ ผ่านคนอื่นเล่า มีหลายเรื่องที่ประทับใจ ขอนำมาเล่าให้ฟัง ขอเริ่มด้วยเรื่องลูกศิษย์ แล้วเลยไปยังเรื่องของอาจารย์ภายหลัง ดังนี้ครับ

๑. เรื่องแรกคือความเป็นคนมีความจำเลิศของผู้เป็นศิษย์ คือเสถียร โพธินันทะ ท่านอ่านพระไตรปิฎกภาษาไทยแล้ว อยากทราบว่าตรงนั้น ๆ ต้นฉบับภาษาบาลีว่าอย่างไร ก็ไปถามท่านสุชีโวผู้เป็นอาจารย์ ท่านก็เปิดพระไตรปิฎกให้ดู และบอกวิธีค้นด้วย ต้องดูข้อให้ตรงกัน ส่วนหนึ่งนั้นฉบับภาษาไทย กับบาลี อาจคลาดเคลื่อนได้ เสถียร โพธินันทะ ไปเปิดตามอาจารย์บอก อ่านกลับไปกลับมาสองสามเที่ยว ก็จำได้หมด เวลาไปพูดที่ไหนก็อ้างภาษาบาลีเป็นหน้า ๆ เป็นที่อัศจรรย์

สมัยต่อมา เสถียร โพธินันทะ ได้เป็นอาจารย์สอนพระนิสิตของมหามกุฏราชวิทยาลัย ท่านพาพระพม่า พระลังกา เที่ยวชมวัดต่าง ๆ บางโอกาส ท่านพูดภาษาบาลีกับพระเหล่านั้นคล่องแคล่ว จนพระนิสิตถามว่า อาจารย์มิได้เรียนบาลี แต่ทำไมพูดบาลีได้ อาจารย์เสถียร ตอบว่า “ผมจำศัพท์ แล้วเอาศัพท์มาต่อ ๆ กัน ก็เห็นพระพม่า พระลังกาท่านเข้าใจนี่ครับ” ว่าแล้วอาจารย์ท่านก็ยกตัวอย่างให้ฟัง ท่านจะบอกพระพม่า พระลังกาว่า “ที่นครปฐมนี้ แต่ก่อนเป็นป่า มีเสือเยอะ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว” ท่านก็พูดเป็นบาลี (ขออนุญาตสะกดแบบไทย) ว่า
อตีเต อิทัง ฐานัง อรัญญานิ พหู พยัคฆา อิทานิ นัตถิ นัตถิ
พระนิสิตก็ฮากันตรึม เพราะบาลีของอาจารย์เป็น “บาลีเถื่อน” ไม่มีไวยากรณ์ แต่ก็ฟังรู้เรื่อง

พูดถึงความจำเป็นเลิศของลูกศิษย์ ก็ต้องโยงถึงอาจารย์ สุชีโวภิกขุผู้เป็นอาจารย์นั้น ข่าวว่ามีความจำเป็นเลิศ พระสูตรไหนข้อความไหน อยู่ในพระไตรปิฎกหน้าไหน ว่าอย่างไร ท่านจะอ้างได้ฉับ ๆ ว่าอย่างนั้น ตอนก่อนโน้น ผมไม่ทราบ เพราะไม่เคยได้สัมผัสกับท่าน ปาฐกถาที่ท่านแสดงตามสถานที่ต่าง ๆ ผมก็ไม่เคยฟัง มีหนังสือเท่านั้น ที่ผมหามาอ่านอยู่บ้าง ข้อเขียนของท่านส่วนมากอ่านที่นิตยสาร “ธรรมจักษุ”
ทราบมาอีกว่า สุชีโว ภิกขุ เป็นพระหนุ่มรูปเดียวในยุคนั้นที่เทศน์ภาษาฝรั่งให้ชาวต่างชาติฟังได้คล่องแคล่ว สมัยโน้นต้องนับว่าอัศจรรย์นะครับ ที่มีพระรู้ภาษาต่างชาติ และมีความรู้ความแตกฉานในพระไตรปิฎก ถ้ามีขึ้นสักรูปสองรูป ก็เป็นที่โจษจันกล่าวขวัญด้วยความชื่นชม

เมื่อโตขึ้น อายุประมาณ ๑๘-๑๙ ผมได้เรียนสูงขึ้น คือเรียนบาลีประโยค ๗ ประโยค ๘ ผมได้อ่านหนังสือมากขึ้น ได้อ่านพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ได้อ่านคุณลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนา ตลอดถึงรวมปาฐกถาโดยสุชีโว ภิกขุ จึงได้รู้จักอาจารย์สุชีพผ่านงานเขียน งานพูด แต่ก็ยังไม่รู้จักตัว
จนวันหนึ่ง ผมแปล สมันตปาสาทิกา-อรรถกถาพระวินัย สำหรับใช้เป็นหลักสูตรบาลีประโยค ๗ ผมติดขัด ข้อความอ้างอิงที่ผู้แต่งท่านยกมา ไม่บอกที่มา (ส่วนมากมักไม่บอก ถ้าบอกก็บอกเพียงชื่อสูตร ชื่อนิกาย) ผมอยากจะทำฟุตโน้ตบอกที่มาด้วย ค้นที่ไหนก็ไม่พบ มีเพื่อนบอกว่า ไปถามอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ซิ

ผมก็ไปพบท่านที่มหามกุฏราชวิทยาลัย ตอนนั้นท่านลาสิกขาแล้ว มาเป็นอาจารย์สอนที่มหามกุฎฯ ผมอ่านประโยคบาลี ย่อหน้านั้นให้ท่านฟังเพียงสามสี่ประโยค ท่านก็บอกว่าสำนวนนี้เป็นสำนวนจุลนิเทศ มหานิเทศ ให้ไปดูพระไตรปิฎกเล่มที่เท่านั้น ข้อที่เท่านั้น เล่นเอาผมทึ่งเลย “โอ นี่คือตู้พระไตรปิฎกเดินได้จริง ๆ”
ผมมาได้รู้จักอาจารย์สุชีพ จริง ๆ หลังจากผมลาสิกขาออกมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว บังเอิญผมสึกก็เหมือนไม่สึก ต้องทำงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาตลอด ทั้งในด้านการบรรยายธรรม และการสอนในสถานศึกษา ตลอดจนการเขียนบทความ เขียนตำราทางพระพุทธศาสนา ผมติดขัดอะไรผมก็โทรศัพท์ไปเรียนถามท่านที่บ้าน ท่านก็ตอบข้อข้องใจผมทุกครั้ง ความเมตตาปรานีฉันอาจารย์ตอบศิษย์ผมจึงนับถือท่านเป็น “อาจารย์” ของผมมาแต่บัดนั้น นับถือด้วยใจ ไม่ค่อยได้พบเป็นส่วนตัวบ่อยนัก ยิ่งบ้านท่านผมก็ยังไม่เคยไป

วันหนึ่งในงานศพ ผมไปไหว้คุณแม่ภรรยาของท่าน คุณแม่บอกว่า “คุณเสฐียรพงษ์หรือ รู้จักคุ้นเคยดี ได้พูดกันทางโทรศัพท์เสมอ” ครับ บางครั้งผมโทรศัพท์ไปกราบเรียนถามท่านอาจารย์ คุณแม่รับโทรศัพท์ จึงจำเสียงผมได้

ผมได้ร่วมงานทางวิชาการกับอาจารย์ที่ราชบัณฑิตยสถาน เป็นกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล พจนานุกรมศัพท์พระไตรปิฎก ที่สำนักงานเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการจัดทำคำถามคำตอบเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ประทับใจในความเป็นพหูสูต ในความเป็นคนมีความจำเป็นเลิศ ท่านอายุแปดสิบแล้วนะครับ สุขภาพแข็งแรง ขนาดเดินขึ้นตึกสำนักงานเอกลักษณ์สามสี่ชั้น ฉับ ๆ โดยไม่เกาะราวบันไดเลย ใครเลยจะรู้ว่าท่านจะรีบด่วนจากเรา ไป

มันสมองของท่านยังแจ๋ว จำพระพุทธวจนะได้คล่องปาก ขึ้นใจ เวลาท่านเสนอความเห็นอะไรออกมา ท่านต้องอ้างพระบาลีก่อนแล้วก็อธิบายให้พวกเราฟัง การประชุมแต่ละครั้งจึงเป็นการเข้าเรียน ฟังคำบรรยายจากอาจารย์ไปในตัว
แน่นอนท่านมีเทคนิควิธีจดจำพุทธวจนะเป็นแบบของท่าน ท่านเคยเล่าถึงพระอานนท์ว่า ได้รับคำชมเชยจากพระพุทธองค์ว่ามีคติ ท่านอธิบายว่า “มีคติ” ในที่นี้คือมีแบบหรือมีวิธีการจดจำพุทธวจนะ ทำให้ผมกระจ่างขึ้น แต่ลืมถามว่า พระอานนท์มีวิธีการจำอย่างไร รวมทั้งอาจารย์สุชีพมีวิธีจำอย่างไร ก็ลืมถามเช่นเดียวกัน น่าเสียดายจริง ๆ

เท่าที่สังเกตเอาเอง ท่านใช้ ๒ วิธีคือ
(๑) ย่อคำ เช่น ทศพลญาณ ก็ย่อว่า “ฐา-กัม-สัพ-นา-นา-อิน-ฌา-ป-จุ-อา อย่างนี้ก็จำได้ไม่ลืมว่า พลญาณ ๑๐ ประการของพระพุทธเจ้าคืออะไร
(๒) แต่งเป็นฉันท์ปัฐยาวัตร สรุปเนื้อหาเลียนแบบการนับทศพิธราชธรรม (ทานัง สีลัง ปริจจาคัง อาชชวัง มัททวัง ตปัง อักโกธัง อวิหิงสัญจะ ขันติญจะ อวิโรธนัง) แต่งเป็นโศลกอย่างนี้จำได้ไม่ลืม

๒. นอกจากจำแม่นแล้ว ท่านยังเคร่งครัดต่อพระพุทธวจนะอย่างยิ่งอีกด้วยท่านอาจารย์จะไม่ยอมเขียนหรือพูดอะไรที่ไม่มีที่อ้างอิงเป็นอันขาด แม้ว่าเรื่องนี้จะฟังสมเหตุสมผลอย่างไรก็ตาม ขอยกเรื่องการทำร่างคำถามคำตอบเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พวกเรากรรมการทุกคนจะได้รับมอบหมายให้ไปร่างคำตอบต่อคำถาม เป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษมา เพื่อตรวจแก้ในที่ประชุม ศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ร่างคำตอบเกี่ยวกับทรรศนะพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอาจารย์สุมนก็ร่ายยาว เป็นเหตุเป็นผล สละสลวยไพเราะยิ่ง ลงท้ายว่า “ใครทำลายสิ่งแวดล้อม ก็เท่ากับทำลายชีวิตตัวเองและคนอื่น” อะไรทำนองนั้น

ท่านอาจารย์สุชีพพูดว่า เออ ตรงนี้ไม่มีพุทธวจนะรองรับนะ ผมว่าตัดออกดีไหม หรือท่านอาจารย์จะว่าอย่างไร เราก็ต้อง “ตัดก็ตัดค่ะ/ครับ” สิครับ ช่วยกันทำคำถามคำตอบปีละ๔๕ ข้อ ไม่สั้นไม่ยาว แต่เราก็ปรับแล้วปรับอีกไม่รู้กี่ครั้ง ท่านอาจารย์บอกว่า “ไม่ทันพิมพ์ปีงบประมาณนี้ก็ไม่เป็นไร ดีกว่าปล่อยออกมาผิดพลาด ขายหน้าเขาเปล่า ๆ “

ท่านย้ำเสมอว่า พวกเราต้องอ้าง “หลัก “ไว้ จะพูด จะเขียน ดีหรือไม่ดีอย่างไร ไม่เป็นไร ขอให้แม่นในหลักไว้ พระพุทธองค์ทรงส่งพระอรหันต์สาวก ๖๐ รูปไปประกาศพระศาสนา พระองค์ทรงย้ำเตือนว่า ให้ประกาศพรหมจรรย์ (พระศาสนา) ให้สมบูรณ์ทั้งอรรถะและพยัญชนะ ท่านว่าอย่างนั้นในพระพุทธศาสนา มีพูดถึงพระโพธิสัตว์หลายประเภท เช่นประเภทสัทธาธิกะ (ยิ่งด้วยศรัทธา) ประเภทวิริยาธิกะ (ยิ่งด้วยความเพียร) ประเภทปัญญาธิกะ (ยิ่งด้วยปัญญา) ท่านอาจารย์สุชีพนับเป็นประเภทหลัง ไม่เป็นพระโพธิสัตว์ก็น้อง ๆ พระโพธิสัตว์แหละครับเพราะกิริยาของท่านมุ่งทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและมนุษย์ทั้งมวล ท่านมีความสุขมากที่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแก่คนทั้งปวง

ท่านชอบความรู้ และผู้รู้เป็นอย่างยิ่ง ดังชอบเอ่ยถึงบทบาทของพระเถระ พระเถรีอุบาสก อุบาสิกา ที่เป็นเอตทัคคะในทางด้านปัญญาให้ฟังเสมอ บางเรื่องผมก็ไม่เคยได้ยินเพราะอ่านน้อย ฟังมาน้อย ก็ได้รับทราบจากท่านอาจารย์นี่แหละครับ ท่านเล่าว่าพระสารีบุตรอัครสาวกนั้น วันไปกราบทูลลาพระพุทธเจ้าไปนิพพาน (ในกรณีนี้แปลว่าตาย คือพระอรหันต์ตาย หรือ ขันธนิพพาน=ดับขันธ์) ท่านไปปัดกวาดลานพระคันธกุฎี ที่ประทับของพระพุทธองค์ ลาดอาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ให้พระพุทธองค์ไว้เรียบร้อย เป็นการปรนนิบัติพระพุทธองค์เป็นครั้งสุดท้าย กราบทูลลานิพพาน

เล่าไปก็สอนเราไปด้วยว่า ท่านเคารพพระสารีบุตรเหลือเกิน มีความกตัญญูกตเวทิตาธรรมอย่างยิ่ง แล้วก็เสริมอีกเรื่องคือ ตอนที่พระสารีบุตรก่อนนอนหันศีรษะไปยังทิศที่พระอัสสชิอยู่ ทิศหัวนอนของท่านจึงไม่แน่นอนจนเพื่อนพระภิกษุด้วยกันหาว่าท่านพระสารีบุตรยังไหว้ทิศตามธรรมเนียมพราหมณ์อยู่ ที่จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระอัสสชิอาจารย์ของท่านต่างหาก

ท่านเล่าถึงประวัตินางกุณฑลเกสีเถรี ที่ถูกสามีลวงไปฆ่า แต่รอดมาได้เพราะใช้ปัญญาหลังบวชเป็นภิกษุณีแล้วก็ได้รับยกย่องว่ามีปัญญามากให้ฟังวันหนึ่ง ความจริงเรื่องอย่างนี้ ผมและศึกษานักธรรมบาลีก็รู้อยู่แล้ว ไม่น่าจะตื่นเต้น แต่มันตื่นเต้นตรงที่ ท่านอาจารย์เล่าด้วยความซาบซึ้ง ซาบซึ้งในคำพูดของนางกุณฑลเกสีที่ว่า “ขึ้นชื่อว่าปัญญา เขาไม่ได้ให้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน หากมีไว้เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของชีวิต”
ความที่ท่านมีปัญญา เป็นพหูสูต ท่านได้เจียระไนพระไตรปิฎกออกมาเป็นหนังสือเล่มใหญ่บ้าง เล็กบ้าง จำนวนมาก เพื่อเป็นคู่มือศึกษาพระพุทธศาสนา อาทิ

(๑) พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน สรุปเนื้อหาพระไตรปิฎก เดิมทีมี๕ เล่ม ภายหลังรวมเป็นเล่มเดียว
(๒) คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา เล่มนี้กลั่นจากพระไตรปิฎกแล้วสรุปประเด็นสำคัญ ๆ ที่ถือว่าเป็นลักษณะเด่นจริง ๆ ๑๐ ประการ
(๓) ศาสนาเปรียบเทียบ
(๔) ประวัติศาสตร์ศาสนา
(๕) อาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก
(๖) พจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนาไทย-อังกฤษ อังกฤษ-ไทย

(๗) ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เป็นหนังสือที่เบาสมอง อ่านแล้วเพลิดเพลินและได้ความรู้ธรรมะ เพราะท่านแต่งเป็นแบบ “นิยายอิงธรรมะ” ท่านบอกว่า ได้แบบอย่างมาจาก “The pilgrim of Kamanita” (หรือกามนิต วาสิษฐี) ของคาร์ลเยลเลรุป โดยที่เรื่องกามนิต วาสิษฐีผู้แต่งอาศัยข้อมูลทางฝ่ายมหายาน กับเถรวาทแต่งขึ้นมา ท่านเห็นว่า ท่านน่าจะเอาข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ของฝ่ายเถรวาทล้วน ๆ มาแต่งเรื่องทำนองนี้บ้าง จึงได้แต่งหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา
ปรากฏว่าเป็นที่ชอบอกชอบใจของผู้อ่านไปตาม ๆ กัน เพราะอ่านเพลิน แถมได้ความรู้ทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย มิใช่เฉพาะหลักธรรม หากรวมถึงภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ของชมพูทวีปสมัยพุทธกาลอีกด้วย

(๘) เรื่องอื่น ๆ ทำนองใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เช่น กองทัพธรรม เชิงผาหิมพานต์ ลุ่มน้ำนัมมทา นันทะ-ปชาบดีถ้าจะกล่าวว่า อาจารย์สุชีพเป็นผู้จุดประกายแห่งการเผยแพร่พุทธธรรมแนวใหม่(แนวนิยายอิงธรรมะ) เป็นคนแรกก็คงไม่ผิดนักหลังจากนั้นก็เกิดนักเรียน “ตระกูลสุชีพ” อีกหลายท่าน บางท่านก็เป็นศิษย์โดยตรง บางท่านก็เป็นศิษย์โดยอ้อม อาทิ “ธรรมโฆษ" (แสง จันทร์งาม) แต่ง ลีลาวดี บทบาทหลวงพี่เรวตะของสีกาลีลาวดี เป็นที่ติดอกติดใจภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยเหลือเกิน วศิน อินทสระ แต่ง พระอานนท์พุทธอนุชา เล่าบทบาทพระอานนท์ติดสอยห้อยตามพระพุทธเจ้าได้ลึกซึ้งดังหนึ่งว่า เราผู้อ่านได้โดยเสด็จไปด้วย “กนกพร” (จำนงค์ ทองประเสริฐ) แต่งเรื่อง การกู้ชาติของเจ้าชายสิทธัตถะ เสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับเชื้อสายของเจ้าชายสิทธัตถะ “กนกบุญ” (อดิศักดิ์ ทองบุญ) เขียน คำให้การของพระเทวทัต สาธยายถึงเสือสำนึกบาปให้ผู้ฟังได้ขนพองสยองเกล้าได้ดีจริง ๆ ยังแผ่อานิสงส์มาถึงนักเรียนรุ่นหลังเช่น “ไต้ตามทาง” เขียนเรื่อง สองทศวรรษในดงขมิ้น อีกด้วย
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นนักปราชญ์ (ผู้รู้ทั่วถึง ผู้ประเสริฐ) เป็นบัณฑิต (ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา) เป็นพหูสูต (ผู้สดับตรับฟังมาก ผู้คงแก่เรียน) เป็นรัตนอุบาสก (อุบาสกแก้ว) เต็มตามความหมายของศัพท์ ท่านได้ละโลกนี้ไปแล้วตามธรรมดาของสังขาร ฝากไว้แค่จริยาอันน่าเลื่อมใส น่าชื่นชม ให้อนุชนรุ่นหลังได้ดำเนินรอยตาม

ท่านมาอย่างใด ไปอย่างนั้น ตามคติของท่าน
ว่าแต่พวกเราเถอะ มาอย่างไร แล้วจะไปอย่างไรกันบ้างละหนอ


-http://www.dharma-gateway.com/ubasok/ubasok_hist/ubasok-sucheep-02.htm