พระพุทธรัตนสถาน เมื่อเดือนก่อน ผมได้ติดตามรายการ จากจดหมายเหตุกรุงศรี ซึ่งนำเสนอในช่วงข่าวภาคค่ำทางช่องเจ็ดสี เป็นตอน ภาพจิตรกรรมบนฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ภายในพระบรมมหาราชวัง แต่พลาดชมตอนแรกๆ จึงเกิดสงสัยว่าอาคารหลังนี้ตั้งอยู่ส่วนไหนของพระบรมมหาราชวัง จึงลองค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตดู พบแหล่งข้อมูลที่น่าสนใจจากเวบไซต์นิตยสารหญิงไทย
*http://www.yingthai-mag.com/detail.asp?ytcolumnid=3328&ytissueid=723&ytcolcatid=2&ytauthorid=265 จึงอยากจะขออนุญาตนำมาเผยแพร่ให้อ่านต่อกันครับ นอกจากนี้ ผมยังต้องการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาศฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีอีกด้วย เพราะภาพจิตรกรรมชุดนี้เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระองค์ท่านครับ
:Bauhinia P.ดังพระราชดำริที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมศิลปากรเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ณ พระพุทธรัตนสถาน บริเวณพื้นที่ระหว่างช่องพระบัญชรจำนวน 8 ช่อง เป็นศิลปกรรมที่อนุรักษ์กรรมวิธีดั้งเดิม สอดประสานกับวิวัฒนาการตามยุคสมัย ทำให้สามารถกำหนดลักษณะศิลปกรรมตามแนวพระราชดำรินี้ได้ว่า คือศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 9 การสร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถานตามแนวพระราชดำริครั้งนี้ กล่าวได้ว่า เป็นการฟื้นฟูวิชาช่างที่ห่างเหินไประยะหนึ่งให้คงไว้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้ยั่งยืนสืบไป
พระพุทธรัตนสถานตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางของพระบรมมหาราชวัง เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว ประดับด้วยหินอ่อนทั้งหลัง มีอาคารประกอบ ได้แก่ ศาลาโถง 2 หลัง เสาประทีป 4 ต้น
พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย (พระแก้วขาว)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระพุทธรัตนสถานขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 7.5 นิ้ว สูงเฉพาะองค์ 12.5 นิ้ว สูงจากฐานถึงพระรัศมี 20.4 นิ้ว ส่วนฐานรองด้วยดอกบัวทองคำเป็นกลีบ 3 ชั้น เกสรประดับด้วยเนาวรัตน์ ฐานแข้งสิงห์ทำด้วยทองคำจำหลักลายประดับพลอยสี เป็นพระพุทธรูปแก้วผลึกขาว ที่ช่างเรียกว่า เพชรน้ำค้างหรือบุษย์น้ำขาว น้ำใสบริสุทธ์เอกอุ อัญเชิญมาจากนครจำปาศักดิ์ เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ เดิมประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
พระพุทธรัตนสถานจึงเป็นสถานที่บำเพ็ญพระราชกุศลของฝ่ายในตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา แม้ในสมัยต่อมา พระมหากษัตริย์จะมิได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังเช่นแต่ก่อน เมื่อประกอบพระราชพิธีสำคัญในรัชกาล นอกจากจะทรงปฏิบัติบำเพ็ญ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว มิได้เว้นที่จะมากระทำ ณ พระพุทธรัตนสถานตามธรรมเนียม ดังปรากฏพระราชกรณียกิจในหมายกำหนดการ
จนกระทั่งปี พ.ศ.2484 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดโจมตีกองทัพเรือ และสถานีรถไฟบางกอกน้อยเพื่อทำลายจุดยุทธศาสตร์ ระเบิดได้ตกลงที่พระบรมมหาราชวังข้างพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน 1 ลูก ด้วยแรงสั่นสะเทือนและน้ำหนักของลูกระเบิดทำให้ชายคาและผนังด้านทิศเหนือชำรุด โครงสร้างและส่วนประกอบภายในชำรุดเสียหาย จนกระทั่ง พ.ศ.2492 สำนักพระราชวังจึงได้ซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากแรงระเบิดก่อน และบูรณะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เช่นเดิมในปี พ.ศ.2496
ต่อมาในปี พ.ศ.2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้กรมศิลปากรเขียนถาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานขึ้นใหม่
แทนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2504 ซึ่งเป็นเรื่องราวพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจใน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลปัจจุบัน ช่วงระหว่าง พ.ศ.2488-2499 ด้วยทรงเห็นว่าไม่สอดคล้องกับภาพจิตรกรรมฝาผนังตอนบนซึ่งเขียนในสมัยรัชกาลที่ 4 อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ
พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย พระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรัตนสถาน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปในงานสมโภชวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จังหวัดนนทบุรี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ พ.ศ.2535
ทรงทราบว่ากรมศิลปากรสามารถดำเนินการลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังและอนุรักษ์ของเดิมไว้ได้ กรมศิลปากรจึงรับพระราชกระแสมาดำเนินการสำหรับนิทรรศการจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ตามแนวพระผนังชุดนี้ ใช้ขั้นตอนการทำงานร่วม 10 ปี
นับเป็นศิลปะจิตรกรรมไทยประเพณีแห่งยุคปัจจุบันอย่างแท้จริง สีสันที่ใช้นั้นสอดประสานกันทั้ง 8 ช่องพระบัญชร โดยใช้สีโบราณ เพราะพระองค์ท่านไม่โปรดสีทันสมัยอย่างสีอะครีลิค ขนาดของตัวบุคคลในภาพก็เป็นมุม ตานกมอง (
Bird's Eye View) ให้เหมือนจริงตามบุคคลทั้งในอดีตและปัจจุบัน นับเป็นมิติใหม่ของงานศิลปกรรมไทยที่ทรงคุณค่ายิ่งนัก โดยจัดแสดง ณ หอศิลป เจ้าฟ้า ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค - 13 มิ.ย เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
ปัจจุบันแนวการเขียนแบบโบราณนับวันจะหมดไป เพราะศิลปินยุคใหม่ได้รับอิทธิพลศิลปะสากลจากตะวันตกมาอย่างกว้างขวาง ทั้งรูปแบบ แนวคิด และการใช้สี อีกทั้งโอกาสที่จะสร้างศิลปกรรมแบบโบราณไม่มีแล้ว จึงดูเสมือนว่าศิลปินสมัยใหม่ได้ละทิ้งรูปแบบดั้งเดิมของช่างโบราณไปโดยไม่ตั้งใจ ฉะนั้น
ภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 8 ช่อง ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในโอกาสนี้ กล่าวได้ว่าเป็นการรักษาแบบแผนอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมประจำชาติไว้
ให้มีความเชื่อมต่อระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ สามารถยึดถือได้ว่า นี่คืองานศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 9 ได้อย่างภาคภูมิ
...
มีต่อค่ะ