สังขารทุกข์สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกวัดบวรนิเวศวิหารคัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงวิธีพิจารณากำหนดรู้จักทุกข์โดยความเป็นทุกข์ มีประการต่างๆ มาแล้ว จักได้แสดงต่อไปถึงวิธีพิจารณากำหนดรู้จักทุกข์โดยเป็นสังขาร อันเรียกว่าสังขารทุกข์ ทุกข์โดยเป็นสังขาร หรือสังขารเป็นทุกข์ สังขารนั้นแปลว่าผสมปรุงแต่ง หมายถึงทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างที่ธาตุทั้งหลายมาผสมปรุงแต่ง หรือเหตุปัจจัยทั้งหลายมาผสมปรุงแต่ง ให้เป็นนั่น ให้เป็นนี่
ท่านแสดงจำแนกไว้กว้างๆ เป็น ๒ คือ อุปาทินนกสังขาร และ อนุปาทินนกสังขาร สังขารที่มีผู้ครอง หรือมีอะไรครอง เรียกว่า อุปาทินนกสังขาร สังขารที่ไม่มีผู้ครอง หรือไม่มีอะไรครอง เรียกว่า อนุปาทินนกสังขารอธิบายโดยมากนั้น
ชี้เอาตัวผู้ครอง
หรือสิ่งที่ครองว่า
จิตใจ อุปาทินนกสังขาร นั้นคือสังขารที่มีจิตใจครอง เช่น ร่างกายของมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย
ที่ยังดำรงชีวิตอยู่
อนุปาทินนกสังขาร นั้นคือสังขารที่ไม่มีจิตใจครอง เช่น ต้นไม้ ภูเขา ทุกๆ อย่างที่บังเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และทุกๆ อย่างที่มนุษย์สัตว์ปรุงแต่งขึ้น เช่น บ้านเรือน รวงรัง และทุกๆ อย่างเป็นอนุปาทินนกสังขาร แม้ร่างกายของมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายที่ไม่มีใจครอง เป็นศพไปแล้ว ก็เรียกว่าอนุปาทินนกสังขารเหมือนกันอีกอย่างหนึ่งพระอาจารย์
ทางปฏิบัติบางท่านได้อธิบายว่า ผู้ครองหรือสิ่งอะไรที่ครองนี้ได้แก่
อุปาทาน คือความยึดถือ
สังขารที่อุปาทานยึดถืออยู่เป็น อุปาทินนกสังขาร สังขารที่ไม่มีอุปาทานยึดถืออยู่เรียกว่า อนุปาทินนกสังขารแม้สังขารร่างกายนี้ จิตใจที่เป็นส่วนสังขารนี้ คือขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ยังมีอุปาทานคือความยึดถือ ว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา ดังที่ตรัสเรียกว่า
อุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ
ปัญจุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ ๕ ก็เป็น
อุปาทินนกสังขาร ขันธ์ ๕ นี้เอง ของพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีอุปาทานยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา
แม้ยังดำรงชีวิตอยู่ ก็เรียกว่าอนุปาทินนกสังขารแม้ว่าสิ่งที่ไม่มีใจครอง เช่น บ้านเรือน ทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่เจ้าของยังมีอุปาทานคือยึดถืออยู่ว่าเป็นของเรา ก็เรียกว่าอุปาทินนกะสังขาร แต่สำหรับพระอรหันต์ ไม่มีอุปาทานยึดถืออะไรๆ ในโลก แม้แต่ปัจจัยบริขารของท่านเอง เช่น บาตร จีวร เป็นต้น ก็ไม่ยึดถือด้วยอุปาทานว่าของเรา ก็เรียกว่าอนุปาทินนกสังขาร สังขารที่ไม่มีอุปาทานครองแต่ว่าจะอธิบายอย่างไรก็ตาม ทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างที่มี
ปัจจัยปรุงแต่ง ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งหลาย ที่เป็น
ภายในก็ได้แก่ขันธ์ ๕ ของตนเอง
ที่เป็น
ภายนอกก็ได้แก่ทรัพย์สมบัติ กับทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่าง ที่เป็นวัตถุก็ตาม ที่ไม่เป็นวัตถุก็ตาม ก็เรียกว่าสังขารทั้งนั้น ที่เป็นวัตถุนั้นก็ได้แก่เป็นสิ่งต่างๆ ที่ เห็นได้ ได้ยินได้ ทราบกลิ่นได้ ทราบรสได้ ถูกต้องได้ เป็นต้นว่า ร่างกายของมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย บ้านเรือน ต้นไม้ ภูเขา จะมีใจครอง หรือไม่มีใจครองก็ตาม ก็เป็นวัตถุทั้งหมด
สังขารในขันธ์ ๕ส่วนที่ไม่ใช่วัตถุนั้นคือ
อาการของใจที่เป็นภายใน ก็ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และสังขารในขันธ์ ๕ ดังกล่าวมานี้ ก็ได้แก่ความคิดปรุงหรือความปรุงคิด ซึ่งเป็นความปรุงแต่งเหมือนกัน คือว่า เมื่อเห็นอะไร ได้ยินอะไร
ซึ่งเป็นวิญญาณ เป็นสัมผัสถึงใจ ก็เกิดเวทนาเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง ในสิ่งนั้นๆ แล้วก็เกิด
สัญญาคือจำได้หมายรู้
สังขารในขันธ์ ๕ ก็นำเอาสิ่งที่จำได้นี่เอง มา
คิดปรุงหรือปรุงคิดไปต่างๆ คิดดีก็เป็นกุศล คิดไม่ดีก็เป็นอกุศล คิดเป็นกลางๆ ก็เป็นอัพยากฤตคือเป็นกลางๆ
ดั่งนี้จึงเรียกว่าสังขาร ไม่ใช่เป็นวัตถุ แต่เป็นนามธรรม ส่วนที่เป็นวัตถุนั้นเรียกว่าเป็นรูปธรรมและแม้ วิญญาณ เวทนา สัญญา ในขันธ์ ๕ นั้น ก็เป็นสังขารเหมือนกัน เพราะเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง ดังเช่น
วิญญาณ ที่หมายถึงว่ารู้คือเห็นหรือได้ยินเป็นต้น ก็เกิดมาจาก
อายตนะภายใน อายตนะภายนอกประจวบกัน เช่น ตากับรูปมาประจวบกันจึงเห็น เสียงกับหูมาประจวบกันจึงได้ยิน แต่อันที่จริงนั้น เมื่ออธิบายอย่างละเอียดแล้ว
ไม่ใช่ตากับรูป หูกับเสียง อย่างเดียว ต้องมีมโนคือใจเข้าประกอบด้วย คือตากับรูป และมโนคือใจมาประจวบกัน จึงเห็น หูกับเสียง และมโนคือใจมาประจวบกัน
จึงได้ยินจมูกกับกลิ่น และมโนคือใจมาประจวบกัน จึงได้ทราบ
กลิ่น ลิ้นกับรส กับมโนคือใจมาประจวบกัน
จึงได้ทราบรส กายและโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และมโนคือใจมาประจวบกัน
จึงได้ทราบถึงสิ่งถูกต้องทางกาย การเห็นรูปก็ดี การได้ยินเสียงก็ดี การได้ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องก็ดี เรียกว่า
วิญญาณ ดั่งที่เราพูดว่า ได้เห็น ได้ยิน และได้ทราบต่างๆ ดังกล่าว
เพราะฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ถ้าหากว่าไม่มีการผสมปรุงแต่งดังกล่าว เช่นตากับรูปและมโนคือใจไม่มารวมกัน
จักขุวิญญาณ ความรู้รูปทางตา คือการเห็นรูปก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นสังขาร
คือสิ่งผสมปรุงแต่ง และเมื่อเป็นวิญญาณที่สัมผัสเข้าถึงจิตใจ จึงได้เกิดเวทนา คือ
ความรู้เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์เพราะฉะนั้น แม้
เวทนาก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง และเมื่อเป็นเวทนาขึ้นแล้ว เวทนากับรูปเสียงเป็นต้น ก็มาผสมปรุงแต่งขึ้นในความคิดของคน คือคนก็คิดปรุงขึ้นมา หรือปรุงคิดขึ้นมา อาศัยเวทนา อาศัยตา อาศัยรูป อาศัยวิญญาณ ที่ผ่านมานั้น
สัญญาก็จำได้ สัญญาความจำนั้นก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง คือว่า จำสุข จำทุกข์ จำกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ในรูปที่ตาเห็น ในเสียงที่หูได้ยิน เป็นต้น
เพราะฉะนั้น สัญญาความจำก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง และเมื่อมาคิดปรุงหรือปรุงคิดไปตามสัญญาที่จำได้หมายรู้นั้น ก็เป็นสังขารในขันธ์ ๕ เรียกว่าสังขารตรงตัว คือเป็นความคิดปรุง หรือเป็นความปรุงแต่ง (เริ่ม ๑๘๑/๑) เพราะฉะนั้น จึงเป็นสังขารทั้งหมด ที่เป็นสังขารส่วนที่เป็น
นามธรรม หรือไม่ใช่เป็นวัตถุ ไม่ใช่เป็นรูป เหล่านี้เป็นสังขารทั้งนั้น คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง
สังขตลักษณะและ
สังขารนี้ได้ตรัสแสดงเอาไว้ว่าประกอบด้วย
สังขตลักษณะ ลักษณะคือเครื่องกำหนดหมายแห่งสิ่งผสมปรุงแต่งคือสังขารทั้งหลาย ว่ามี ๓ ประการ
ที่แปลความว่า ความเกิดขึ้นปรากฏ ๑ ความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ ๑ เมื่อยังตั้งอยู่ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ ๑ สังขารย่อมมีลักษณะ ๓ ประการดั่งนี้ เพราะฉะนั้น
สังขารนี้จึงเป็นตัวทุกข์โดยตรง เป็นที่ตั้งของทุกข์ทั้งหลาย ที่แสดงไว้เป็นข้อๆ ไป ถ้าไม่มีสังขาร ทุกข์ทั้งหลายที่แสดงเป็นข้อๆ ไปก็มีไม่ได้ แต่เมื่อมีสังขาร ทุกข์ที่แสดงไว้เป็นข้อๆ ไปก็มีได้
เพราะฉะนั้นตัวทุกข์จึงอยู่ที่สังขารได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ในที่อื่นอีกว่า แปลความว่า
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และดับไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความเข้าไปสงบแห่งสังขารเป็นสุข ดั่งนี้ และได้มี
ภิกษุณีภาษิตที่แสดงว่า
นางวชิราภิกษุณีกล่าวไว้ว่า
ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น
จึงแสดงว่าสังขารเป็นตัวทุกข์ เพราะว่าสังขารเกิดก็ชื่อว่าทุกข์เกิด สังขารดับก็ชื่อว่าทุกข์ดับ สังขารตั้งอยู่ก็ชื่อว่าทุกข์ตั้งอยู่ ดั่งนี้ คือ สังขารทุกข์ ทุกข์โดยเป็นสังขาร หรือสังขารเป็นทุกข์
วิปรินามทุกข์อนึ่ง อาการที่สังขารต้องเกิดต้องดับ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวนั้น ก็แสดงว่า ความสำคัญของทุกข์อยู่ที่ตัวความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง
เพราะต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงจึงต้องเป็นทุกข์ เข้าในลักษณะของทุกข์ประการที่ ๓ ว่า วิปรินามทุกข์ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง หรือว่าทุกข์โดยเป็นความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเป็นตัวทุกข์ ในข้อนี้ก็ตรงกับคำว่าทุกข์ ซึ่งแปลตามศัพท์ว่าทนอยู่ได้ยาก อันหมายความว่าทนอยู่ไม่ได้ เพราะต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จึงชื่อว่าเป็นทุกข์ทั้งหมด
ทุกข์คือเกิดดับแม้เป็น
สุขเวทนาคือความที่เสวยอารมณ์เป็นสุข คือรู้สึกว่าเป็นสุขทางกายทางใจ เป็นสุขเวทนาทางกายทางใจ สุขนั้นตามศัพท์ว่าทนง่าย ทนสบาย คือมีความสุขสบายกายสบายใจ
แต่แม้สุขเองที่เป็นสุขเวทนาก็ต้องเป็นทุกข์คือทนอยู่ไม่ได้เหมือนกัน ต้องดับคือต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปและแม้ตัวทุกข์เองที่เป็นทุกข์เวทนา คือความเสวยอารมณ์เป็นทุกข์ทางกายทางใจ เป็นความไม่สบายกายไม่สบายใจ ก็ทนอยู่ไม่ได้เหมือนกัน ต้องดับเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เวทนาทั้งสุขทั้งทุกข์นี้จึงเป็นสิ่งที่เกิดๆ ดับๆ เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวสุข ดังที่ทุกๆ คนประสบกันอยู่
เพราะฉะนั้น จึงรวมเข้าในคำว่า ทุกขสัจจะ สัจจะคือทุกข์นี้ทั้งหมด เพราะเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ฉะนั้น นางวชิราภิกษุณีจึงได้กล่าวว่า ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ ดั่งนี้ คือเป็นทุกข์ไปทั้งหมด อันหมายถึงทุกข์คือสังขารดั่งที่กล่าวแล้ว และแม้สุขทุกขเวทนาเองก็เป็นสังขารดังกล่าว จึงตกอยู่เข้าในลักษณะนี้ทั้งหมดทุกขสัจจะแต่ข้อนี้นั้นเป็นสัจจะคือความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ต้องมาพิจารณาจึงจะมีความเข้าใจ เพราะ ทุกขสัจจะ นี้เป็นทุกข์อย่างละเอียดที่มีอยู่ตามความเป็นจริง ส่วนสุขทุกข์ธรรมดา ที่ทุกคนประสบกันอยู่นั้นเป็นสุขทุกขเวทนา เป็นอารมณ์ของใจที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สุดแต่ความประจวบทางอายตนะ คือตาประจวบกับรูป หูประจวบกับเสียง ดั่งที่กล่าวมาแล้ว จึงเกิดเป็นสุขเวทนา เป็นทุกขเวทนา หรือเป็นอุเบกขาเวทนา และทั้งหมดนี้ก็ตกอยู่ใน ทุกขอริยสัจจ์ ทั้งหมด คือเป็นสิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
ฉะนั้น การแสดงทุกขสัจจะดังที่กล่าวมานี้ ที่แสดงจัดเข้าในทุกข์ ๓ ข้อ คือ ทุกขทุกข์ ทุกข์คือทุกข์ หรือทุกข์โดยเป็นทุกข์ สังขารทุกข์ ทุกข์คือสังขาร หรือว่าทุกข์โดยเป็นสังขาร กับ วิปรินามทุกข์ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง โดยความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง จึงเป็นสัจจะที่ลุ่มลึก เมื่อพิจารณาไป พิจารณาไปจึงจะมองเห็น และจะเห็นว่าไม่ขัดกันกับสุขทุกข์ที่เป็นเวทนา
ซึ่งอยู่ในอารมณ์ของใจ ซึ่งทุกคนประจวบอยู่ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องทุกข์ พบกับทุกข์ สุขเวทนาบ้าง ต้องพบกับทุกข์เวทนาบ้าง เป็นธรรมดา แต่เวทนาดังกล่าวนี้ก็เป็นสิ่งที่แสดงความไม่เที่ยง แสดงความเกิดดับให้ทุกคนเห็นอยู่ ดั่งที่ได้กล่าวแล้วว่า เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวสุข คือสุขเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ก็เกิดทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นก็ดับไป แล้วก็เกิดสุข ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ จึงตกเข้าใน
ทุกขสัจจะ นี้ ทั้งหมด
และเมื่อหัดพิจารณาให้มองเห็น สัจจะ คือความจริงข้อนี้
ก็จะทำให้ จิตใจสบาย พ้นจากทุกข์ได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
-http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-272.htm**สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑= อุปาทินนกสังขาร และ อนุปาทินนกสังขาร