ผู้เขียน หัวข้อ: ปัญญากับความว่าง :สมเด็จพระญาณสังวร  (อ่าน 1218 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




ปัญญากับความว่าง
พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ทุกคนมีปัญญาและก็มีกิเลสควบคู่กันทั้งสองอย่าง
ไม่มีผู้ใดที่จะมีกิเลสอย่างเดียว
ไม่มีผู้ใดที่จะมีปัญญาอย่างเดียว
ความแตกต่างกันมีเพียง
บางคนมีปัญญาน้อย จึงมีกิเลสมาก
บางคนมีปัญญามาก จึงมีกิเลสน้อย
อาจกำหนดตายตัวได้ว่า
ถ้ามีปัญญามาก แล้วกิเลสจะต้องมีน้อย

ในทางตรงกันข้ามถ้ามีปัญญาน้อยแล้วจะต้องมีกิเลสมาก
เพื่อให้เข้าใจอย่างถูกต้อง จำเป็นต้องขยายความว่า
ปัญญาในที่นี้หมายถึงปัญญาที่แท้จริง
ปัญญาที่แท้จริงคือ สัมมาปัญญา ปัญญาในทางที่ชอบ
ส่วนปัญญาที่ไม่แท้จริงคือมิจฉาปัญญา ปัญญาในทางไม่ชอบ

ที่กำลังพูดถึงอยู่นี้กำลังพูดถึง
ปัญญาที่แท้จริงคือปัญญาที่ชอบเท่านั้น
ไม่หมายถึง ปัญญาที่ไม่ชอบ



เมื่อเข้าใจความหมายที่แท้จริงของปัญญาแล้ว
ก็คงจะเข้าใจกันง่ายขึ้นว่า เหตุไฉนจึงกล่าวว่า

ผู้มีปัญญามากจะมีกิเลสน้อย ผู้มีปัญญาน้อยจะมีกิเลสมาก
เพราะกิเลส นั้นจะกำราบปราบด้วยอาวุธร้ายเพียงไรหาสำเร็จไม่
นอกจากจะกำราบปราบด้วยปัญญาเท่านั้น

ปัญญาเท่านั้นจะทำให้กิเลสพ่ายแพ้
ยอมถอยหนีไปจากใจ ให้ที่แก่ปัญญาโดยดี
ข้อสำคัญคือปัญญาเท่านั้น
ที่จะทำให้มีตาสามารถเห็นว่าตนเป็นผู้มีกิเลสมากน้อยเพียงไร

ปัญญามากตาก็จะสว่างมาก เห็นได้ชัดมาก
ปัญญาน้อยตาก็จะสว่างน้อย เห็นได้ชัดน้อย
กิเลสจะหลบยากจากผู้มีตาปัญญามาก
แต่กิเลสจะหลบพ้นได้จากผู้มีตาปัญญาน้อย



ใจของทุกคนเปรียบเหมือนห้องห้องหนึ่ง
มีของในห้องมาก ก็มีความว่างในห้องน้อย
มีของในห้อง น้อยก็มีความว่างในห้องมาก
จะเปรียบปัญญาเป็นความว่าง กิเลสเป็นของก็ได้
ถ้าต้องการให้ห้องว่างมาก

ก็ต้องพยายามนำของออกจากห้องให้มาก
นั่นก็คือถ้าต้องการให้ปัญญามีมาก
ก็ต้องพยายามถอดถอนกิเลสออกให้มาก
คือใช้ปัญญาที่มีอยู่นั่นเองถอดถอนกิเลสที่มีอยู่ให้น้อยลง

ทันทีที่กิเลสน้อยลงปัญญาจะเพิ่มขึ้น เกิดขึ้นแทนที่กิเลส
เหมือนย้ายของออกนอกห้อง
ทันทีที่ของชิ้นหนึ่งพ้นจากห้องไป
ความว่างจะเพิ่มขึ้น เกิดขึ้นแทนที่ของชิ้นนั้น



ผู้ฝึกอบรมจิตน่าจะพิจารณาให้เห็นความต้องการของตนว่า
ต้องการเป็นผู้มีกิเลสน้อย มีปัญญามากยิ่งกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่
ถ้าต้องการเช่นนั้นก็จำเป็นต้องใช้ปัญญาที่มีอยู่ไม่ว่ามากหรือน้อยเพียงใด
ถอดถอนกิเลสที่มีอยู่ออกให้ได้

ทันทีที่ถอดถอนออกได้ ปัญญาจะเพิ่มขึ้นทันทีแน่นอน
แม้ว่าบางทีเจ้าตัวจะยังไม่ทันรู้สึกถึงความเพิ่มขึ้นของปัญญา
พร้อมกับ ความลดลงของกิเลส แต่ก็จะเพิ่มขึ้นจริง
ก็เหมือนดังเปรียบกับห้องที่มีของและความว่าง นั่นเอง

ลงว่าของลดไปจากห้อง ความว่างจะไม่เพิ่มข้นย่อมเป็นไปไม่ได้
จิตใจของเราทุกคน เปรียบเป็นเช่นนั้นจริง
ของคือความรกของห้อง
กิเลสคือความรกของจิตใจ
ลงว่ากิเลสลดลงจากจิตใจ ปัญญาจะไม่เพิ่มขึ้นย่อมไม่มี



ทุกเวลานาทีที่ผ่านไป ห้องที่นำมาเปรียบก็ตาม จิตใจก็ตาม
ต้องมีความเปลี่ยนแปลง มีสิ่งเพิ่มขึ้นและน้อยลงอย่างแน่นอน
ห้องนั้นแม้จะไม่ยกของไปวางเพิ่ม
ฝุ่นละอองก็เป็นสิ่งที่เพิ่มขึ้นเองได้

ทำให้ความว่างจากฝุ่นละอองลดน้อยลงได้
จิตใจก็ทำนองเดียวกัน
แม้จะไม่เพิ่มกิเลสอย่างจงใจ แต่กิเลสก็เพิ่มขึ้นเองได้
กลบทับปัญญาที่อยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว
เหมือนพื้นห้องที่ปราศจากการกวาดถู
ย่อมมีฝุ่นละอองสุมทับอยู่ข้างบนได้



ผู้ฝึกอบรมจิตทั้งหลายพึงรอบคอบระวังพื้นจิตใจ
อย่าให้ปัญญาอยู่นิ่งจนกิเลสท่วมทับได้
แต่จงพยายามทำสติ ใช้ปัญญาเท่าที่มีอยู่
ให้เคลื่อนไหวสลัดกิเลสให้หลุดพ้นจนเต็มความสามารถ

กิเลสนั้นถึงอย่างไรก็เอาชนะปัญญาไม่ได้ ต้องพ่ายแพ้ในที่สุด
สำคัญอยู่ที่ว่า จะต้องเข้มแข็งในการใช้ปัญญา
ไม่ว่ากิเลสจะมาในรูปใดต้องไม่อ่อนแอ พ่ายแพ้
โลภก็ตาม โกรธก็ตาม หลงก็ตาม ไม่ว่าจะมาในรูปใด

ต้องมั่นใจในปัญญาของตน
แล้วเพียรพยายามอย่างเข้มแข็งให้ติดต่อกันเอาชนะให้ได้
ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นผู้แพ้
คำว่าเสมอตัวไม่มีสำหรับ กิเลสกับปัญญา


-http://www.oknation.net/blog/times/2010/11/06/entry-5

.