ผู้เขียน หัวข้อ: อารมณ์: รากฐานแห่งตันตระ  (อ่าน 2415 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
อารมณ์: รากฐานแห่งตันตระ
« เมื่อ: สิงหาคม 06, 2010, 06:09:41 am »



อารมณ์: รากฐานแห่งตันตระ
วิจักขณ์ พานิช

ด้วยเหตุที่ว่าชีวิตที่แท้เปี่ยมไปด้วยความเป็นไปได้ที่ไม่มีขีดจำกัด ในทางกลับกันชีวิตจึงเสี่ยงต่อความโกลาหลที่มากตามไปด้วย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกมองพื้นที่ว่างอันกว้างใหญ่ของจิตเป็นสิ่งที่น่าพึงปรารถนาหรือน่าหวั่นไหว มุมมองแตกต่างที่ว่าจะนำพาให้เราได้ไปพบกับทางเลือกของการพัฒนาศักยภาพแห่งการตื่นรู้ สู่การใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมในทุกลมหายใจเข้าออกเพื่อเผชิญหน้ากับสัจธรรมความเป็นอนิจจังดังกล่าว หรือทางเลือกที่จะ “ควบคุม” ความเป็นไปได้ที่โกลาหลด้วยการไม่ยอมรับสรรพสิ่งตามที่เป็นจริง จากนั้นจึงพยายามปิดกั้นศักยภาพอันไพศาลนั้นออกไปจากชีวิตเสีย

การควบคุมดูจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า อาจด้วยเพราะผลที่เห็นได้ชัดถนัดตา และดูเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุอย่างฉับไว ไม่ว่าจะเป็นระดับสังคมที่เห็นกันได้ดาษดื่นจากผู้มีอำนาจทั้งหลาย เช่น เจ้านายควบคุมลูกน้อง พ่อแม่ควบคุมลูก ครูควบคุมนักเรียน รัฐบาลควบคุมสื่อ รถถังควบคุมประชาชน เป็นต้น

แต่การควบคุมที่ว่านั้น กำลังทำให้คนส่วนใหญ่กลายเป็นคนเก็บกด เมื่อคนเราไม่รู้จักที่จะเผชิญหน้ากับแง่มุมที่หลากหลายของชีวิตอย่างที่มันควรจะเป็น ชีวิตในแต่ละวันจึงกำลังถูกควบคุมความเป็นไปได้ที่กว้างใหญ่ จนไม่หลงเหลือพื้นที่ภายในให้กับการเรียนรู้ เราต่างกำลังถูกจองจำในทุกๆด้าน ยิ่งเราเลือกที่จะควบคุมชีวิต หรือสยบยอมชีวิตให้กับการควบคุมมากเท่าไหร่ ดูเหมือนความเครียดของผู้คนในโลกสมัยใหม่ก็ดูจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นคำถามที่ว่าทางออกแห่งการควบคุมและกดทับ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วล่ะหรือ เรารู้สึกปลอดภัยและมั่นคงกับการดำรงชีวิตอยู่มากขึ้น หรือการควบคุมที่ว่านั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ส่งผลดีใดๆนอกเสียจากความจำเป็นที่ต้องเพิ่มดีกรีของการควบคุมให้เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆอย่างไม่รู้จบ






การแบ่งขั้วระหว่าง “โลก” กับ “ธรรม”
 
ผู้คนจำนวนมากเมื่อตระหนักว่าชีวิตพบกับทางตัน ก็ตัดสินใจเลือกที่จะผละจากปัญหาแล้วหันหน้าเข้าหาวัด แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ในปัจจุบัน แม้แต่ในบริบทของศาสนธรรม กลับไม่มีคำสอนที่สามารถช่วยบรรเทาความสับสนของผู้คนให้ลดน้อยลงได้ สิ่งที่เรามักได้ยินได้ฟังจากปากของชาววัด กลับเป็นข้อความในแง่ปฏิยัติหรือปฏิเวธที่ถอดเอามาจากพระคัมภีร์ อย่างไม่มีนัยของความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติของการสร้างสัมพันธ์กับอารมณ์ในชีวิตจริงเอาเสียเลย

“เลิกยึดมั่นกับมันเสีย อดีตมันผ่านไปแล้ว อนาคตยังมาไม่ถึง ปล่อยวางมันซะ แล้วชีวิตจะพบกับความสุขสงบที่แท้”

“โลภ โกรธ หลง เป็นเรื่องบ้าๆของอารมณ์ จงควบคุมสติให้อยู่กับลมหายใจ อย่ามัวพลัดหลงไปกับอารมณ์ร้ายพวกนั้น”

“ความสุข ความทุกข์ เป็นเรื่องทางโลก ผู้ที่เข้าใจธรรมะ มีชีวิตอยู่เหนือสุข เหนือทุกข์”
“อย่าเสียใจ อย่าร้องไห้ไปเลย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง”
“ความรัก คือ บ่อเกิดของความทุกข์”

...เป็นต้น
 
การยัดเยียดหลักการทางธรรมให้พอกทับหลักการทางโลกนั้น อาจทำให้รู้สึกโล่งใจไปได้สักพัก แต่หากผู้ฟังเลือกที่จะ “เชื่อ” คำสอนเหล่านั้น ชีวิตทางธรรมที่ไปรับเอามาก็ดูจะไม่มีอะไรต่างไปจากชีวิตแบบเดิมๆ เพราะมันยังคงเป็นชีวิตแห้งๆ เต็มไปด้วยหลักการล้านแปด อันปราศจากความชุ่มชื้นแห่งประสบการณ์ตรงของการเดินทางด้านใน แม้จะได้ชื่ออันสวยหรูว่าเป็น “ชีวิตทางธรรม” ก็ตามที

แม้แต่ในเรื่องของการฝึกจิตภาวนา บ่อยครั้งก็ยังหนีไม่พ้นกลเกมแห่งการควบคุมอีกเช่นเดียวกัน เทคนิคมากมายที่ถูกนำมาใช้ไปในลักษณะของเป้าหมายสูงสุด เพื่อควบคุมอารมณ์ด้านลบไม่ให้ออกมามีอิทธิพลเหนืออารมณ์ด้านบวก จนถูกมองว่าเป็นกลวิธีการแก้ปัญหาความทุกข์ที่ปลายเหตุอย่างได้ผลทันตา ความสุขสงบจากการภาวนาจึงอาจกลายเป็นสิ่งเสพติดชนิดหนึ่งไปโดยปริยาย เมื่อนั้นการภาวนาก็หาได้เป็นกระบวนการฝึกฝนที่จะทำให้เราสามารถเผชิญหน้ากับทุกแง่มุมของชีวิตได้อย่างปราศจากความกลัว

มันได้กลับกลายเป็น “การลาพักร้อนจากชีวิต”หรือ “ทางเบี่ยงจิตวิญญาณ” ซึ่งหากเราฝึกฝนจนมีความชำนาญมากพอ ก็อาจจะค้นพบหนทางที่จะภาวนาแล้วหลีกหนีจากความโกลาหลทางอารมณ์ที่รุมเร้า พักจิตไว้ในฌาณขั้นใดขั้นหนึ่ง แล้วพึงเสพความสุขสงบจนเป็นที่พอใจ หารู้ไม่ว่าสิ่งที่เราพยายามฝึกนั้น กลับไม่ได้ทำให้เราเติบโตทางจิตวิญญาณ หรือรู้จักชีวิตดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย เรากำลังพยายามแยกชีวิตออกเป็นสองส่วน “ชีวิตทางโลก” กับ “ชีวิตทางธรรม” ชีวิตที่แตกแยกส่วนเช่นนั้นยังห่างไกลจากความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ในศักยภาพความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงมากนัก

  มหาสิทธานาโรปะ ตันตราจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของพุทธวัชรยาน ได้ตระหนักรู้ในข้อจำกัดที่ว่านี้ ท่านใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตศึกษาหลักพุทธปรัชญาจนแตกฉาน ชื่อเสียงและความสามารถของท่านเป็นที่เคารพเกรงขาม จนได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของสถาบันการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดียอย่างมหาวิทยาลัยนาลันทา จนมาวันหนึ่งขณะนาโรปะกำลังนั่งอ่านพระคัมภีร์อย่างคร่ำเคร่ง เงามืดได้พาดทอเข้าปกคลุม นาโรปะหันไปพบกับหญิงแก่นางหนึ่ง เดินกะเผลกๆด้วยไม้เท้า สวมใส่เสื้อผ้าเก่าขาดลุ่ยคลุมผิวหนังเหี่ยวย่นอันเหม็นสาบ หญิงแก่มองมาที่นาโรปะ

“เจ้ากำลังอ่านอะไร”
“อาตมากำลังอ่านพระคัมภีร์ที่ว่าด้วยหลักพุทธปรัชญาขั้นสูง ที่อาตมาคงไม่สามารถอธิบายให้หญิงแก่อย่างท่านเข้าใจได้”
หญิงแก่จึงถามต่อว่า
“เจ้าเข้าใจคำทุกคำที่ว่าไว้ในพระคัมภีร์หรือเปล่า”
“แน่นอน อาตมาเข้าใจคำทุกคำตามพระคัมภีร์”

หญิงแก่ได้ยินดังนั้น ก็ดีใจยิ่งนัก แย้มยิ้ม หัวเราะ กระโดดโลดเต้น ควงไม้เท้า ร่ายรำไปรอบๆ
นาโรปะเห็นหญิงแก่มีความสุขเช่นนั้น จึงกล่าวต่อไปว่า
“มากไปกว่านั้น อาตมายังเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งทั้งหมดที่แฝงไว้ในพระคัมภีร์อีกด้วย”
พอได้ยินดังนั้น หญิงแก่ถึงกับทรุดฮวบลงไปกับพื้น ร้องไห้ครวญครางด้วยความเศร้าโศก
นาโรปะแทบจะไม่เชื่อสายตาตัวเอง รีบเข้าไปประคองหญิงแก่ พร้อมถามว่าทำไมถึงต้องโศกเศร้าถึงเพียงนั้น
หญิงแก่จึงตอบนาโรปะว่า

“เมื่อข้าเห็นมหาบัณฑิตผู้เลื่องลือสามารถหลอกตัวเองว่าสามารถเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งแห่งชีวิต ด้วยการเอาแต่นั่งอ่านพระคัมภีร์ไปวันๆ มันทำให้ข้ารู้สึกโศกเศร้ายิ่งนัก”

นาโรปะได้ยินคำของหญิงแก่ ก็ถึงกับหน้ามืด รู้สึกราวกับคำกล่าวนั้นได้ตอกย้ำให้เขาหวนตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตที่แท้ที่เขาไม่เคยได้สัมผัส


หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น นาโรปะถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ เขาไม่สามารถหลงระเริงอยู่กับเกียรติยศชื่อเสียงจอมปลอมที่คนรอบข้างต่างยกยอสรรเสริญถึงความรอบรู้ของเขาได้อีกต่อไป เขาตัดสินใจสละคราบนักบวช ละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วมุ่งหน้าสู่ป่าลึกทางทิศตะวันออก เพื่อตามหาคุรุผู้สามารถสอนหนทางแห่งการสัมผัสคุณค่าของการมีชีวิตที่แท้


ชีวิตของนาโรปะเป็นตัวอย่างของบุคคลผู้ซึ่งใช้เวลากว่าค่อนชีวิต ภายใต้เกราะป้องกันทางหลักการที่ล้ำลึก ชื่อเสียง เกียรติยศ สถานภาพ คำสรรเสริญเยินยอจากภายนอก กลับไม่ได้ทำให้ชีวิตภายในของเขาชุ่มชื้นอย่างที่ควรจะเป็น การศึกษาธรรมะโดยไม่รู้จักสร้างความสัมพันธ์กับอารมณ์นอกจากจะทำให้ชีวิตของเรากลายเป็นชีวิตธัมมะธัมโมที่ขาดความชุ่มชื้นแล้ว เรายังไม่สามารถที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับใครได้อีกด้วย เพราะเมื่อเราเลือกที่จะสร้างเกราะมาป้องกันเลือดเนื้อแห่งชีวิต เพื่อที่จะหลีกหนีต่อความทุกข์และความเจ็บปวด เราก็กำลังตัดขาดชีวิตของเราเองออกจากผู้คนรอบข้างไปด้วยพร้อมๆกัน แม้อาจจะมีความสัมพันธ์ที่ผิวเผินอยู่บ้าง แต่สายใยเหล่านั้นก็ออกจะตื้นเขินเกินกว่าที่จะเรียกได้ว่าเป็นสายสัมพันธ์ที่ยั่งยืนแท้จริง นั่นคือสาเหตุสำคัญที่ว่าหากเราจะมานั่งจิบน้ำชาถกเถียงกันเรื่องของพุทธศาสนากับการเปลี่ยนแปลงสังคมกันแล้ว การภาวนาเพื่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับทุกอารมณ์ ทุกความรู้สึก จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดต่อชีวิตนักต่อสู้ทางสังคมรุ่นใหม่ไฟแรงทั้งหลาย ไม่เช่นนั้นการทำงานเพื่อสังคมกับการฝึกฝนทางจิตวิญญาณก็ยังคงต้องเป็นของแสลงต่อกัน ราวกับน้ำกับน้ำมันที่แยกชั้น ไม่สามารถผสมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างลงตัวเสียที





สัมผัสพลังชีวิตบนจิตว่าง

นามธรรมที่เรียกกันว่าอารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกและสัญชาตญาณขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ ที่มีมาก่อนหลักวิธีคิดสูงส่งซับซ้อนที่ได้ถูกสร้างขึ้นมาในภายหลัง อารมณ์คือพลังชีวิตที่ถูกเร้าด้วยเหตุปัจจัยภายในและภายนอกอันอยู่เหนือการควบคุม จึงง่ายต่อการด่วนสรุปไปว่า อารมณ์คือต้นตอของความโกลาหล สับสน วุ่นวาย อันจะแปลงกลายเป็นปีศาจร้ายที่ชื่อความทุกข์ในที่สุด

ความหลงผิดที่ว่าเกิดมาจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างร้ายแรง เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ คือ เหตุปัจจัยภายในและภายนอกที่เลื่อนไหลต่างหาก อารมณ์เป็นเพียงสัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ธรรมดาๆที่มีเลือดเนื้อและความรู้สึก ในพุทธศาสนานั้นได้สอนไว้อย่างชัดเจนว่าเหตุปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่รายรอบตัวเราต่างก็ไม่จีรังยั่งยืน แปรเปลี่ยนไป คงอยู่ไม่ได้นาน และหาได้มีแก่นสารแห่งตัวตนที่แท้ ดังนั้นหากเราต้องการใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพ สิ่งที่เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ ก็คือ การสร้างความสัมพันธ์กับความเป็นไปตามธรรมชาติแห่งเหตุปัจจัยที่ว่านั้นอย่างถูกต้อง

พื้นฐานความเข้าใจในเรื่องของความไม่มีตัวตน เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ที่ละเอียดอ่อนของการดำเนินชีวิตในแต่ละขณะ ชีวิตที่แท้ประกอบไปด้วยการเลื่อนไหลของพลังงานอย่างเป็นพลวัต ผู้คนในโลกสมัยใหม่มักมีความเข้าใจไปว่า อารมณ์คือผลผลิตของความคิด และสมองคือกองบัญชาการแห่งการควบคุมอารมณ์ แต่หากเราลองเริ่มต้นสังเกตและสัมผัสการเลื่อนไหลของอารมณ์อย่างใกล้ชิด เราจะรู้ได้ทันทีว่า แท้จริงแล้วการเลื่อนไหลของอารมณ์นั้นมีความสัมพันธ์กับร่างกายในทุกๆส่วน อาจจะกล่าวได้ว่า ทุกอณูรูขุมขนของร่างกายมีความสามารถรับรู้ถึงพลังงานชีวิตที่ผุดขึ้นมา ณ วินาทีนั้นได้โดยไม่ต้องอาศัยการถอดความของสมองเลยแม้แต่น้อย





แบบฝึกหัดที่ ๑: อาณาปาณสติกับการตื่นรู้ทางอารมณ์

การใช้ลมหายใจช่วยในการฝึกฝนความรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่ว่าลมหายใจเป็นสิ่งมหัศจรรย์ลึกลับน่าพิศวง ลมหายใจ ก็คือร่างกายของเรานั่นเอง แต่เป็นร่างกายในลักษณะของการสัมผัสรับรู้การดำรงอยู่ในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น

เริ่มต้นด้วยการตามความรู้สึกของลมหายใจที่เลื่อนไหลกระทบปลายจมูก รู้สึกถึงความอุ่นที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อลมค่อยๆเข้าสู่ร่างกาย และรับรู้ถึงลมที่ค่อยๆเย็นลงเมื่อออกจากร่างกาย พยายามสูดหายใจให้เต็มปอดเพื่อสร้างความรู้สึกเปิดรับและผ่อนคลาย ค่อยๆตามลมหายใจเข้าออก ด้วยความมีสติอยู่ในทุกปัจจุบันขณะ หากจิตเริ่มฟุ้งด้วยภาพความคิดในอดีตและจินตนาการในอนาคต เราสามารถนำเทคนิคการเตือนสติตนเอง โดยเมื่อรู้ตัวว่าเริ่มคิด ให้บอกกับตัวเองในใจว่า “คิด!” แล้วจึงปล่อยวางการยึดมั่นในความคิดนั้น การเตือนตัวเองเช่นนี้จะทำให้เราสามารถตัดวงล้อแห่งความคิดฟุ้งซ่านแล้วสามารถกลับมามีสติอยู่ที่ลมหายใจได้อีกครั้ง

จากการฝึกสติที่ปลายจมูก ค่อยๆสังเกตถึงพลังแห่งการตื่นรู้ภายในที่ไหลเวียนอยู่ในทุกส่วนของร่างกาย หากสังเกตให้ดี เราจะรู้ว่าพลังแห่งการตื่นรู้ที่ว่ายังรวมถึงพื้นที่ว่างภายนอกรอบตัวเราอีกด้วย การค้นพบนี้จะนำเราไปสู่คำถามที่ว่า ร่างกายที่แท้จริงคืออะไรกันแน่?

ยิ่งเราสามารถผ่อนคลายร่างกายทุกส่วนได้มากเท่าไหร่ การตามลมหายใจที่ปลายจมูกก็ดูจะส่งผลต่อการสร้างสัมพันธ์กับพลังแห่งการตื่นรู้ในกายได้มากขึ้นเท่านั้น และที่น่าแปลกก็คือ ยิ่งเรามีสติอยู่ที่ลมหายใจมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งค้นพบจุดที่แข็งเกร็งตามส่วนต่างๆที่ร้องเรียกให้เราได้ปล่อยวางและผ่อนคลาย นั่นคือความหมายของบ่มเพาะการมีสติอยู่กับเนื้อกับตัว

แก่นภายในของร่างกายนั้นประกอบด้วยเส้นการไหลวิ่งของพลังงานบริเวณด้านหน้าของกระดูกสันหลัง จากกระดูกสะโพกถึงกระดูกศีรษะส่วนบน เส้นพลังงานที่ว่าจะค่อยๆปรากฏให้เราสัมผัสได้ก็ต่อเมื่อความตึงเครียดค่อยๆถูกปลดปล่อยออกไปทีละน้อย สรีระตามธรรมชาติของการไหลเวียนแห่งพลังงานจะเพิ่มความสำคัญต่อการฝึกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการฝึกอานาปาณสติเช่นนี้จะนำผู้ฝึกไปสู่ความผ่อนคลายที่ลึกขึ้นจนคุณรู้สึกราวกับว่าขอบเขตข้อจำกัดทางกายภาพของร่างกายค่อยๆอันตรธานไป จนร่างกายกลายเป็น “วัชรกายา” อันแสดงถึง ฐานแห่งความว่างที่ยอมให้สายธารแห่งการตื่นรู้ได้เลื่อนไหล ปมแห่งกรรมภายในค่อยๆคลี่คลาย ปลดปล่อยเป็นพลังงานทางความรู้สึกและอารมณ์ที่เทถ่ายในทุกอณู ให้เราได้สัมผัส รับรู้ และปล่อยวาง อย่างเป็นครรลอง




แบบฝึกหัดที่ ๒: สัมผัสการตื่นรู้ในทุกอณูของร่างกาย

เริ่มต้นด้วยการนอนราบกับพื้น ชันเขาแล้วใช้ผ้าหรือเข็มขัดรัดบริเวณเหนือหัวเข่า พอให้หัวเข่าสองข้างพอชนกัน เท้าสองข้างแยกออกพอประมาณเพื่อเพิ่มเสถียรภาพ มือสองข้างประสานกันไว้เหนือท้องน้อย จากนั้นให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ค่อยๆถ่ายเทความตึงแน่นไหลผ่านสิบจุดสัมผัสระหว่างร่างกายกับพื้นลงสู่ผืนดินเบื้องล่าง เริ่มจากฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ก้น แผ่นหลัง ข้อศอก หัวไหล่ และศีรษะตามลำดับ ใช้เวลาในการผ่อนคลายความเครียดในแต่ละจุดอย่างเต็มที่
จากนั้นให้สูดลมหายใจจากรูจมูกยาวไปยังบริเวณท้องน้อย ค่อยๆตามลมหายใจเข้าออกตามการยุบพอง จนสามารถสัมผัสจุดจักราบริเวณใต้สะดือหลังแนวกระดูกสันหลัง ที่ทำหน้าที่เป็นประตูสู่ความว่างอันไร้ขอบเขตได้ จากนั้นจึงพักจิตไว้ในพื้นที่ว่างนั้น ปลดปล่อย และผ่อนคลาย เสมือนตกอยู่ในภาวะดิ่งอิสระ

จากนั้นให้ปลดรัดและลดหัวเข้าสู่ท่านอนราบโดยสมบูรณ์ โดยอาจใช้เบาะรองช่วงขาให้สูงขึ้นเล็กน้อย ปล่อยมือทั้งสองไว้ข้างลำตัว การฝึกขั้นนี้จะเป็นการกำหนดจิตเพื่อสูดเอาลมหายใจนำพลังชีวิตหรือปราณไปสู่จุดต่างๆของร่างกาย เริ่มต้นด้วยหัวแม่เท้าทั้งสองข้าง พยายามปลดปล่อยหลักการความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ในหัวออกไปให้หมด แล้วตั้งจิตสูดลมหายใจจนไปถึงหัวแม่เท้า จากนั้นจึงขยายไปที่นิ้วอื่นๆ ฝ่าเท้า หน้าแข้ง หัวเข่า น่อง ก้น อวัยวะเพศ ท้องน้อย สะเอว แผ่นหลัง นิ้วมือ แขน ขึ้นมาเรื่อยๆจนถึงกระหม่อมศีรษะ

เราอาจจะเริ่มปฏิบัติด้วยการไม่รู้สึกอะไรเลย ทุกอย่างดูจะด้านตายไปหมด แต่เมื่อเราค่อยๆฝึกฝน ตามลมหายใจไปสู่จุดต่างๆของร่างกายที่ไร้ความรู้สึก ผ่านไปสักระยะหนึ่งร่างกายจะเริ่มแสดงสัญญาณของการกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เราเริ่มสัมผัสได้ถึงปฏิกิริยาตอบสนอง ความตื่นรู้จะค่อยๆปรากฎขึ้นด้วยประสาทสัมผัสที่แจ่มชัด เราจะเริ่มตระหนักได้ว่า แบบแผนตายตัวที่เรามีต่อความบีบคั้นในร่างกาย เกิดขึ้นจากส่วนของจิตใต้สำนึกหรือจิตสำนึกในขั้นต้นของการแข็งเกร็ง เรากำลังเก็บซ่อน ปมหรือแง่มุมบางอย่างของชีวิตไว้ในมุมมืด เป็นส่วนที่เราเพิกเฉย หรือไม่กล้าที่จะเข้าไปสร้างปฏิสัมพันธ์ เมื่อเราฝึกไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มพบว่าในบางบริเวณของความแข็งตึงค่อยๆคลายออก ปรากฎให้เรารับรู้ถึงปฏิกิริยาตอบสนอง เผยให้เราเห็นประกายแห่งความมีชีวิตชีวา ยิ่งร่างกายสามารถผ่อนคลายได้มากขึ้น เราก็ยิ่งสามารถสัมผัสถึงความว่างได้มากขึ้นตามไปด้วย ความว่างเป็นผลมาจากการผ่อนคลายและผ่อนพัก อันจะเป็นบาทฐานที่ทำให้เราสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ และความรู้สึก ได้อย่างเต็มที่



อ่านไดอาล๊อกเพิ่มเติม ได้
 
   http://webboard.wongnamcha.com/index.php?topic=38.0




ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: อารมณ์: รากฐานแห่งตันตระ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 06, 2010, 03:30:15 pm »
 :13: อนุโมทนาครับผม
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~