นางในวรรณคดี : นางกินรี (มโนราห์)"ชาตินี้น้องตามพี่ หากชาติหน้ามีขอให้พี่ตามน้อง" เหตุไฉน? แผ่นดินล้านนา แหล่งกำเนิด “สุธนชาดก” แท้ ๆ กลับไม่มีนาฏศิลป์ประเภทใดถ่ายทอดเรื่องราวของนางกินรีหลงเหลืออยู่ แต่เรื่องราวของนางกินรีที่ผูกเรื่องขึ้นในแผ่นดินล้านนา กลับไปถูกถ่ายทอดเรื่องราว จนโด่งดังในดินแดนอุษาอาคเนย์
จาก
ปัญญาสชาดกสู่
พระสุธนคำฉันท์ วรรณกรรมพื้นบ้านเรื่อง
พระสุธน-มโนราห์ ปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์บาลีปกรณ์เรื่อง “
ปัญญาสชาดก” (อ่านปัน-ยาด-สะ-ชา- ดก) ซึ่งไม่ปรากฏนามผู้ประพันธ์ รู้แต่ว่าเป็นพระภิกษุชาวล้านนา เขียนขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๐๐๐-๒๑๐๐
ปัญญาสชาดก แปลตรงตัวว่า “ชาดก ๕๐ เรื่อง” เป็นงานเขียนในลักษณะประชุมนิทานเก่าแก่ที่เล่าสืบต่อกันมา หนึ่งในนั้นมี “
สุธนชาดก” รวมอยู่ด้วย นิทานปัญญาสชาดกมีเนื้อหาสนุก แฝงธรรมะอย่างแยบยล ได้รับความนิยมสูง และแพร่ขยายไปยังดินแดนใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว เช่น สยาม ลาว สิบสองปันนา พม่า โดยเฉพาะในพม่าเรียกนิทานเรื่องนี้ว่า
ซิมเมปัญญาสะ (
Zimme Pannasa) “ซิมเม” หมายถึงเชียงใหม่ จึงเป็นอันยืนยันได้ว่านิทานเรื่องนี้เขียนขึ้นในเชียงใหม่อย่างแน่นอน
ในสมัยอยุธยา ได้นำเอาปัญญาสชาดกมารจนาเป็น
“พระสุธนคำฉันท์” แต่สำนวนฉบับอยุธยาอ่านยาก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) พระยาอิศรานุภาพ (อ้น) จึงประพันธ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง
ชาตินี้น้องตามพี่ หากชาติหน้ามีขอให้พี่ตามน้อง มโนราห์ หรือ
โนรา ที่คนปักษ์ใต้นิยมเรียกสั้น ๆ ได้หยิบยกนิทานเรื่อง
พระรถ-เมรี (พระสุธน-มโนราห์) มาเล่นโดยเคารพเนื้อหาดั้งเดิมผสมผสานรสสำเริงบันเทิงคดีเป็นเรื่องหลัก
เรื่องราวของพระรถ – เมรี (พระสุธน-มโนราห์) เป็นเรื่องราวที่กล่าวถึงความรักระหว่าง
“มนุษย์” กับ
“อมนุษย์” (กินรี : ครึ่งคนครึ่งสัตว์หิมพานต์) อันเป็นภพที่เกิดมาใช้กรรมต่อเนื่องจากชาติปางก่อนที่ทั้งคู่เคยเป็น “พระรถ-เมรี” ชาติก่อนนั้นก็รักกันปิ่มว่าจะขาดใจ พระรถเป็นมนุษย์เช่นเคย และนางเมรีก็เป็นอมนุษย์อีกเหมือนเดิม ซ้ำหนักกว่าชาติก่อนคือเป็นถึง “ยักษินี"
ความแตกต่างด้าน “ชาติพงศ์วงศา” คือฐานันดรกีดกั้นพรมแดนแห่งรัก จุดเด่นของเรื่องนี้คือคำสาปแช่งของเมรี ที่ต้องกรีดเลือดสังเวยรัก ขณะเร่ร้องติดตามหา “พระรถ”
ผู้ทอดทิ้งนางและหลบหนี ด้วยวลีอมตะว่า
“ชาตินี้น้องตามพี่ หากชาติหน้ามีขอให้พี่ตามน้อง”ภพชาติมีจริง พระรถ
จำต้องเกิดมาไถ่ “หนี้สิเนหา” คืนให้แก่เมรี
ผู้ที่กลับชาติมาเกิดใหม่เป็นกินรี ชื่อ “มโนราห์” ชาตินี้มีปีกมีหาง พร้อมจะบินหนีความรักเพื่อลบรอยแค้นได้ทุกขณะ
ชาดกปิดเรื่องด้วย “พรานบุญ” ผู้ใช้เวทย์มนต์ บ่วงบาศก์จับนางกินรีขณะบินลงมาเล่นน้ำที่สระอโนดาต เมื่อจับได้แล้วนำนางไปถวายพระสุธนซึ่งขณะนั้นออกเสด็จประพาสป่า ด้วยบุพเพสันนิวาส พระสุธนเกิดความเสน่หานางมโนราห์จนยากเกินถ่ายถอน แต่แล้วความรักครั้งนี้ก็ถูกสกัดโดยปุโรหิต ด้วยต้องการจะยกลูกสาวของตนให้เป็นชายาพระสุธนแทน จึงคิดอุบายกำจัดนางกินรี อ้างคำทำนายว่าอมนุษย์นางนี้เป็นกาลีบ้านกาลีเมือง ต้องจับ “บูชายัญ” ทำให้นางมโนราห์ขอปีกขอหางคืน โดยแสร้งพิไรรำพันทำท่าคล้ายจะกระโดดเข้ากองไฟฆ่าตัวตาย แต่แล้วเมื่อได้คืนมาพลันถลาบินหนีกลับสู่ป่าหิมพานต์
ด้วย
อานุภาพแห่งความรักบวกแรงแห่งกรรม พระสุธนต้องระทมทุกข์ออกตามหานาง นานอยู่นานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ในที่สุดก็สมหวัง ลบล้างคำสาปแช่งแต่ภพชาติก่อนได้สำเร็จ
ฝ่ายนาฏเมรีศรีสวัสดิ บรรทมเหนือแท่นรัตน์ปัจถรณ์
ดาวเดือนเลื่อนลับยุคันธร จะใกล้แสงทินกรอโณทัย
ฟื้นกายชายเนตรนฤมล มิได้ยลพระยอดพิศมัย
แสนโศกปริเทวนาใน อรทัยทุ่มทอดสกลกาย
พระรถ เมรี เป็นนิทานบรรพชนลาว ล้านช้าง มีจดไว้ในต้นเรื่องตำนานพงศาวดารล้านช้าง เมื่อลาวล้านช้างเคลื่อนย้ายจากบริเวณสองฝั่งโขง ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็มีนิทานตำนานพระรถ เมรี ติดลงมาด้วย แล้วใช้แต่งบทขับไม้ในพระราชพิธีสมโภชชั้นสูง ได้แก่ การสมโภชพระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระเจ้าลูกเธอขึ้นพระอู่และโสกันต์
พงศาวดารล้านช้าง ระบุว่างั่วอิน ลูกชายคนที่ห้าของขุนบรม แยกครัวลงมาครองเมืองอโยธยา สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารอยุธยา ว่าเจ้านครอินทร์ เชื้อสายขุนหลวงพะงั่ว (พ่องั่ว) เป็นกษัตริย์รัฐสุพรรณภูมิ ยึดอำนาจเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา...
สุจิตต์ วงษ์เทศ หน้า ๗๗ มติชนรายสัปดาห์
ฉบับประจำวันที่ ๑๑-๑๗ มกราคม ๒๕๕๖
โดย กิมเล้ง -http://www.sookjai.com/index.php?topic=49700.0