สัญญาวิจิตรก็เพราะจิตวิจิตร
ที่สุดแล้วก็คือจิตนั่นเอง จิตมันวิจิตรพิศดารมาก สามารถจะทำชีวิตของสัตว์ทั้งหลายให้ประหลาดต่างกัน จิตถ้ายิ่งมาบวกกับ
สมาธิก็ยิ่งมีวิจิตรพิศดาร มีพลัง มีอำนาจ มีผลเป็นไปต่างๆ ฉะนั้นพวกที่เขามีฤทธิ์มาจากจิต
จิตที่มีสมาธิแล้วก็เกิดฤทธิ์ อิทธิฤทธิ์ แสดงอิทธิฤทธิ์ สามารถที่จะแทรกลงไปในแผ่นดิน เดินบนน้ำ ทำของใหญ่ให้เป็นของเล็ก ทำของเล็กให้เป็นของใหญ่ นี่คือ
อำนาจของจิต ฟังเสียง เสียงไกล สามารถมองเห็นสิ่งที่ไกลด้วยทิพพยจักษุ อะไรเหล่านี้เกิดจากความวิจิตรของจิต
สมัยนี้เขามีเครื่องไม้เครื่องมือ นั่นก็เป็นเครื่องจากจิตเหมือนกันแหละ อยู่ที่นี่ก็สามารถจะมองไปเห็นทั่วโลกพร้อมในเวลาเดียวกัน ถ่ายทอดออก ที.วี เชื่อมสัมพันธ์กัน นี่ก็เรื่องของจิต ทีนี้วิทยาศาสตร์เขาเจริญเขาก็พิสูจน์ได้มากขึ้นว่า ในร่างกายนี้เซลล์มันแตกดับมากมาย ในวินาทีนี่มากมาย เซลล์ของสัตว์ของมนุษย์นี่ประมาณ หกสิบเจ็ดสิบล้านตัว แตกดับวินาทีนี่มากมาย
แต่มันก็เกิดชดเชย นี่มันก็เรียกว่าไปตรงคำสอนของพระพุทธเจ้าแสดงไว้ แต่พระพุทธเจ้าพิสูจน์ด้วยปัญญา ไม่ได้ใช้กล้อง ไม่ได้ใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์มาจับ ร่างกายทุกเซลล์นี่แตกสลายอยู่ ฉะนั้นเมื่อบุคคลได้เจริญสติสัมผัส สัมพันธ์เข้าไปที่ร่างกายจะรู้สึกเลยว่า ร่างกายมันไม่ได้อยู่นิ่ง มันมีความรู้สึกไหวกระเพื่อม
เพราะว่ามันมีความแตกดับสลายตัวหรือมันรู้สึกมันพริ้วๆ อยู่ทั่วกาย ไหวๆ ๆ นี่คือรูป เซลล์ก็คือรูปแต่ละรูปๆ มันแตกดับ
การ เข้าไปเห็นอย่างนี้มันได้ประโยชน์อะไร เห็นแล้วได้อะไร
ก็คืออยากจะต้องการจะถอนความถือมั่นว่ามันเที่ยง มันเป็นตัวตน เป็นเราเป็นของเรา ถ้ามันไม่เห็นแตกดับก็เห็นเที่ยงอยู่อย่างนั้น ไม่เห็นมันดับตรงไหนนั่งอยู่ก็ไม่เห็นดับ แต่ถ้ามีญานปัญญาเข้าไปหยั่งรู้จะเห็นความสลาย สลาย สลายตัว
เห็นไม่เที่ยงก็เห็นทุกข์ สิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ แล้วก็เห็น
อนัตตา คือบังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน ฉะนั้นต้องเข้าไปหยั่งเห็น การปฏิบัติจึงว่าต้องให้
กำหนดให้ตรงปรมัตถ์ ตรงสภาวะ ถ้าเราไปดูที่ของ
สมมุติมันก็ไม่เห็น เราจะดูให้รู้แจ้งสิ่งหนึ่ง แต่เราไปมองอย่างอื่นมันจะไม่เห็น
เพราะฉะนั้นต้องกำหนดให้ตรงสภาวะ รูป นาม เวลากำหนดที่กายนี่จะต้องรู้เข้าไปที่ความรู้สึก หรือความไหว ความตึงความหย่อย ความเย็นความร้อน ความอ่อน ความแข็ง หรือความรู้สึกสบายไม่สบาย อันนั้นเป็นสภาวะ เป็นความรู้สึก
อย่างน้อยก็ค่อยไปสังเกตุความพะเยิบพะยาบเคลื่อนไหวของระบบการหายใจ ของหัวใจที่มันเต้น ของปอดที่มันขยับขยายอยู่ บางคนไม่รู้สึกดูลมหายใจเป็นแต่ไม่รู้สึก หาไม่เจอ ไม่เห็นมีความเคลื่อนไหว บางคนก็นึกว่าเคลื่อนไหวน่ะต้องขยับตัวถึงจะเคลื่อนไหว ที่บอกให้ดูเคลื่อนไหวไม่ได้หมายถึงว่าต้องขยับตัวถึงจะเคลื่อนไหว ถ้าขยับตัวก็เคลื่อนไหวอยู่แล้ว แต่ว่านั่งอยู่นิ่งๆ เฉยๆ นี่แหละแขนไม่ได้กระดุกกระดิกอะไร นิ่ง...
แต่มันเคลื่อนไหวอยู่ภายใน อย่างน้อยปอดสูบเอาลมเข้าไปขยับขยายออกดันหน้าท้อง หัวใจ พึบพับๆ เต้นอยู่ เป็นเหมือนเครื่องจักรมันทำงานมันไม่ได้อยู่นิ่ง แต่ทำไมหาไม่เจอ
บางคนกำหนดหาไม่เจอนะความรู้สึกในกาย เพราะว่าเราไปดู
สมมุติอยู่ ไปดูแค่สมมุติ ไปดูแค่ความหมาย ไปดูแค่รูปร่าง
ก็เลยสัมผัสปรมัตถ์ไม่เจอ เวลาไปกำหนดที่ปรมัตถ์จริงๆ สัมผัสปรมัตถ์ได้ถี่ถ้วนมากขึ้น
สมมุติความเป็นรูปร่างจะอันตรธานไป ไม่มีแขน ไม่มีขา หน้าตา ไม่มีนั่ง ไม่มีความหมายว่านั่ง ต้องเข้าใจว่าการที่เห็นรูปร่างท่าทางของกายที่นั่งนี่
ยังเป็นสมมุติ นั่งก็เป็นความหมาย เป็นสมมุติ
เวลาสติเข้าไปสัมผัสอยู่กับปรมัตถ์มากต่อเนื่องจริงๆ แล้วนี่ ไม่เห็นแล้ว แขน ขา หน้าตา รูปทรงสัญฐานหายไป ก็อย่าไปไขว่คว้ามาอีก เพราะมันเป็นสมมุติ ที่จริงมันต้อง
นึก ถึงจะ
เห็นแขน ขา หน้าตา รูปร่างนี่ แม้แต่ความหมายว่านั่ง จิตต้อง
นึก ถึงจะรู้ ถึงจะเห็น แต่เนื่องจากว่า เราเห็นมันอยู่ นานๆ
คุ้นเคยกับอันนี้มาก็เลยไม่ต้องนึก ไม่ต้องออกแรงนึกมาก
แต่เวลาจิตเข้าไปสู่สภาวปรมัตถ์ดีๆ มันไม่นึกมันไม่จำ ไม่ปรุง รูปร่างอัตรธานไปเพราะว่าเป็นเรื่องเกิดจากความนึกขึ้นมา ปรุงขึ้นมา แต่งขึ้นมา พอมันไม่นึก ไม่แต่งไม่ปรุงมันก็หายไป แต่บุคคลไปเข้าใจว่าการเห็นเป็นรูปร่างคือของจริง ก็เลยพยายามจะหา พอไม่เห็นก็จะหาให้เห็น มันก็ไป
วิปัสสนาไม่ได้ ต้องปล่อยไป มันไม่เห็นน่ะมันดีแล้ว
คัดสมมุติออกไปได้อย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ไม่เห็นแล้วก็ไม่มีอะไรจะดู มีแต่ว่างๆ ไม่มีอะไร นั่นก็ไปสมมุติ นั่นก็สมมุติอีกเหมือนกัน
สมมุติแห่งความเป็นรูปร่างไม่มี จะไปอยู่กับ
สมมุติความไม่มีอะไร ความไม่มีอะไร
ก็เป็นสมมุติอีกอันหนึ่ง อันนี้ก็ไม่ใช่
วิปัสสนา
วิปัสสนานั้นสติต้องรู้ปรมัตถ์อยู่ สติต้องมีอารมณ์เป็นสภาวะอยู่ตลอดอย่างน้อยก็ไปรู้ความรู้สึกที่กายมันไหว มันตึง มันหย่อน มันเย็น มันร้อน อ่อนแข็ง นี่เป็นสภาวะให้ได้กำหนดอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ว่าเว้น มีปวด มีเจ็บ มีเมื่อย มีชา มีร้อน มีเย็น มีไหว มีกระเพื่อมในกาย ตานี้บางคนมัน
มีสมาธิมากขึ้นปวดก็ไม่มี เจ็บก็ไม่มี ตึงก็ไม่มี อะไรก็ไม่รู้สึก ลมหายใจก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี สิ่งที่มันมีอยู่ขณะนั้นก็คือจิต จิตใจกำลังรู้ กำลังดู กำลังคิด กำลังนึก กำลังสงสัยนั่นแหละ กำลังพอใจ กำลังสงบ กำลังเอิบอิ่ม กำลังผ่องใส นั่นแหละคือสิ่งที่กำลังมีอยู่
ที่เป็นสภาวะนั่นแหละเป็นนามธรรม กำลังเป็นไป กำลังปรากฏ ไม่ได้ว่าง ไม่ใช่ว่ามันว่างเปล่าหรอก มีอยู่
มีจิต มีใจ มีธาตุรู้ สภาพรู้ ความรู้สึกในจิตใจมีอยู่
แต่เพราะว่ามองมุมมองไม่ถูก หามุมมองไม่ถูก ไปมองต่างมุมไปทางอื่น มันก็ไม่เห็น จิตใจความรู้สึกมันอยู่มุมนี้ แต่เราไปมองอีกมุมหนึ่ง ก็ไม่เห็น มุมของจิตมันก็คืออยู่ที่ตัวเอง อยู่ที่ใจนั่นน่ะ
อยู่ที่ตัวรู้ อยู่ที่ตัวหาตัวมองนั่นแหละ ก็ต้องย้อนกลับมาดูจึงจะเห็นจิตใจ เพราะไอ้ตัวที่หานั้นคือจิตใจอยู่
ตัวที่เที่ยวดูชาวบ้าน ดูสภาวะ ดูอันโน้นอันนี้ นั่นแหละคือจิต
ต้องรู้สึกแล้วรู้จักตัวเอง ฉะนั้นถ้าเข้าใจแล้ว
จะมีสภาวะให้รู้ให้ดูตลอดเวลา
วิปัสสนานั้นต้องเดินให้ตรง ตรงทาง
ให้ถูกต้องถูกทางคือรูป นาม คือปรมัตถ์ธรรม ผู้ปฏิบัติต้องทำความเข้าใจให้ได้ เข้าใจในการปฏิบัติจากการ
ฟัง แล้วก็ไป
ฝึก แล้วก็ไป
สังเกตุ แล้วก็ไป
รู้จัก รู้จักแล้วก็พยายาม
รู้เรื่อยๆ ไป
เจตสิกคือสิ่งปรุงแต่งในจิต อาศัยจิตเกิดร่วมกับจิต ฝ่ายดีก็มี เช่นมีศรัทธาความเชื่อ มีสติ นี่ก็เป็นตัวเจตสิก ปัญญาก็เป็นตัวเจตสิก คือไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขา เจตสิกก็หมายถึงธรรมชาติ เป็นธรรมชาติเหมือนกัน จิตก็เป็นธรรมชาติ เป็นปรมัตถ์ ฉะนั้นเมื่อสติก็เป็นเจตสิก เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวตน ก็ต้องถูกกำหนดรู้เหมือนกัน สติระลึกได้ เคยระลึกบ้างไหม สติระลึกรู้สติ สติระลึกรู้การไม่มีสติก็ได้ คือความหลง โมหะความเผลอความหลง เมื่อเผลอระลึกรู้ เมื่อมีสติระลึกเห็นความต่างกันระหว่างการมีสติกับการเผลอสติ ปัญญาก็เป็นเจตสิก สติก็ระลึกรู้ปัญญาก็ได้ เวลาขณะใดมันเกิดปัญญาขึ้น ระดับไหนก็ตาม แม้แต่ปัญญาที่กำลังเห็นรูปเห็นนาม หรือเห็นความเกิดดับของรูป นาม สติก็ระลึกรู้การรู้เห็น การที่มีปัญญาเกิดขึ้น
เมื่อสติระลึกที่ปัญญามันก็เกิดปัญญา ในปัญญาเกิดสติต่อสติ เกิดปัญญาต่อปัญญา คือเห็นว่าสติก็สักแต่ว่าสติ ปัญญาก็สักแต่ว่าปัญญา ไม่ใช่ตัวเราของเรา เมื่อสติรู้สติก็เกิดปัญญาที่เข้าไปรู้เข้าไปเห็น เข้าไปแจ่มแจ้งในสติว่า สักแต่ว่าเป็นธรรมชาติที่ระลึก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่เราสักหน่อย ความรู้ที่เกิดขึ้นขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวเราสักหน่อย ถ้ามันไม่ได้ถูกระลึกบ้าง ไม่ได้พิจารณาเข้ามามันก็เกิดอุปาทาน ยึดรูปไว้เป็นเรา เรามีสติดีเหลือเกิน เรามีปัญญาซะแล้ว เรามีปัญญาเห็นแจ้ง ที่รู้สึกเป็นเรานี่แหละ คือสติเป็นเรื่องดี ปัญญาเป็นเรื่องดี แต่เวลามันเกิดขึ้นมา อุปาทานมันตามติดมายึดเข้าไว้ ไม่หลุดพ้น แต่เมื่อถูกระลึกบ้าง พิจารณาเข้ามาบ้าง อุปาทานเขาก็เข้าครองไม่ได้ ก็ได้ปัญญา เห็นญาณะสักแต่ว่าญาณะ สติก็สักแต่ว่าสติ นี่เวลาปฏิบัตินี่มันก็ตีกลับ มันวกกันเข้ามา ตีรอบ รอบรู้ ปัญญาเขาจึงเรียกว่ารอบรู้ ดูรอบ รอบทั้งตัวมันเองที่จะต้องรู้เท่านั้น
เวทนาก็เป็นเจตสิก เวทนานี่มีทั้งเกิดที่กายเกิดที่ใจ ที่จริงเวทนาก็ประกอบกับจิต แต่ว่าจิตนี่มันเกิดที่กายก็มี เกิดที่เวทนา เวทนาเกิดที่กายแล้วก็เกิดที่จิต คือมโนวิญญานก็มี เกิดที่กายมันก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือ ทุกข์กายกับสุขกาย ทุกข์กายไม่สบายกายเป็นทุกขเวทนา สบายกายก็เป็นสุขก็เป็นสุขเวทนา ถ้ามันเกิดที่ใจที่มโนทวาร มโนวิญญานมันก็จะมีอยู่ ๓ คือ ดีใจ เสียใจ แล้วก็เฉยๆ ไม่ดีใจไม่เสียใจ เขาเรียกว่า อุเบกขาหรือเฉยๆ นี้ก็เป็นปรมัตถธรรม ต้องกำหนดรู้ เวทนา ท่านก็จัดเป็นสติปัฏฐานไปข้อหนึ่งเลยเรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นก็หัดพิจารณาบางคนถนัดดูเวทนาดูความรู้สึกก็จะเป็นทางให้รู้ว่า เวทนาก็สักแต่ว่าเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวเราของเรา วันนี้ก็คงมีเวทนากันพอสมควร ก็ขอสมมุติยุติลงไว้เพียงเท่านี้ ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ทุกท่านเทอญ
【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ -http://www.sookjai.com/index.php?topic=54298.msg82575#msg82575