โศลกที่สิบสี่ "เล่นเกมกับจิต" เก็บไปทีละจังหวะ เน้นทุกลมหายใจเข้าออก
อย่าได้มั่นใจ หลงใหล ได้ปลื้ม
วันนี้ทำได้ มีสติเท่าทัน
ก็อย่าหมายว่าจะรักษาอารมณ์นั้นได้อีก
อย่าได้มั่นใจเอาอะไรแน่นอนกับจิต
จิตจะซัดส่าย กวัดแกว่งหาที่เกาะเกี่ยว
หาอะไรไม่ได้ ก็เข้าไปยึดอดีตและอนาคต
นี่คือธาตุแท้ของจิต ไม่ใช่เรื่องแปลก
ดังนั้นต้องพร้อมเสมอ รู้เท่า รู้ทัน รู้กัน รู้แก้
ฉลาดในการเล่นเกมกับจิต
เกมแห่งการดูจิต เห็นจิต ทุกขณะจิต
จนกว่าจะถึงวันที่ไม่หวั่นไหวอีก
การที่จิตกวัดแกว่ง ซัดส่ายเข้าไปเกาะเกี่ยว
อดีตบ้าง
อนาคตบ้าง อารมณ์ที่ปรากฏเฉพาะหน้าบ้าง
เป็นเรื่องปกติของจิต เนื่องจากจิตดำรงอยู่ได้ด้วยการ
อาศัยอารมณ์เหล่านี้นี่เอง
อารมณ์เหล่านี้เป็นอาหารของจิต ผู้คนทานอาหารเข้าไปเพื่อใช้เป็นพลังงานให้ร่างกายนี้ดำเนินไปได้ฉันใด จิตก็ต้องการอาหารเพื่อให้จิตดำรงอยู่ได้ฉันนั้นเหมือนกัน ชีวิตจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยการทานอาหารกายและอาหารใจ แต่จะมีใครบ้างสนใจอาหารใจ มีแต่สนใจอาหารกาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารครบ ๕ หมู่ อาหารเสริม อาหารบำรุง อาหารอร่อยๆ ล้วนแล้วแต่เป็นอาหารทางกายทั้งสิ้น เนื่องจากไม่สนใจกับอาหารใจ ดังนั้นใจจึงทานอาหารสะเปะสะปะ ล้วนแล้วแต่เป็นอาหารพิษ
ต่อชีวิต เป็นพิษต่อความว่าง แต่กลับบำรุงอัตตาทั้งนั้น ถ้าหากดูแลอาหารใจให้มากกว่านี้ ความเข้าใจว่า เป็นเรา (
เอตํ มม) เป็นของเรา (
เอโสหมสฺมิ) เป็นตัวตนของเรา (
เอโส เม อตฺตา) ก็คงไม่เจริญงอกงามอย่างนี้ พึงเข้าใจว่า อัตตาที่แท้นั้นไม่มี แต่เป็นเพราะการปล่อยจิตให้ทานอาหารโดยไม่เลือก ไม่ได้รับการดูแลนี่เองจึงทำให้
อวิชชา ตัณหา และอุปาทานมีกำลังเข้าไปยึดขันธ์นี้เป็นอัตตา และมีกำลังแก่กล้าขึ้นไปเรื่อยๆ
อาหารแห่งอัตตาที่อร่อยมากก็คือ
อดีตและอนาคต จิตเข้าไปทานอดีตและอนาคตหล่อเลี้ยงอัตตาให้อุดมสมบูรณ์
สารอาหารของอดีตและอนาคตก็คือ ตัณหา เมื่อจิตเสพสารอาหารคือตัณหา
ผลที่ปรากฏก็คือ ความปั่นป่วน สับสน วุ่นวาย ห้ำหั่น เข่นฆ่า ทำร้าย ทำลายกันและกันของมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ ช่องทางเสพอาหารทางกายนั้นมีปากเป็นทางเข้า หรือไม่ก็ใช้สายยางสอดเข้าไป แต่การทานอาหาร
ทางจิตนั้น
มีช่องทางถึง ๓ ช่อง บ่งบอกถึงจิตทานอาหารมากเหลือเกิน ทานทุกขณะจิต ทานทุกลมหายใจ ช่องที่หนึ่ง
ผัสสาหาร อาหารคือสัมผัส ได้แก่ อาหารที่เกิดจากการกระทบระหว่างอายตนะภายในและอายตนะภายนอก จุดกระทบเป็นจุดที่กำลังกิน กินทางตาเรียกว่า จักขวาหาร กินทางหู เรียก โสตาหาร กินทางจมูก เรียก ฆานาหาร กินทางลิ้น เรียกชิวหาหาร กินทางใจเรียกว่า มนาหาร การกระทบทำให้ชีวิตมนุษย์ดำเนินไป โดยมากจิตเสพผัสสาหารที่มีตัณหาเป็นสารอาหารล้วน
ช่องทางที่สอง
มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือเจตจำนง ได้แก่ การปรุงแต่งของจิตที่เรียกว่า สังขาร จิตก็เสพเจตจำนงที่ประกอบด้วยตัณหาเข้าไป
ช่องทางที่สาม
วิญญาณาหาร อาหารคือการรับรู้ ได้แก่ การรับรู้ที่ประกอบด้วยตัณหา จิตก็เสพการรับรู้ที่มีสารอาหารคือตัณหาเข้าไป
คนเราไม่สนใจอาหารใจที่เป็นพิษนี่เลย ปล่อยจิตเสพอาหารไปตามชอบใจ จนอัตตา (Ego) อ้วนพี ยับยั้งไม่อยู่ กล้าแกร่ง ใครไปแตะต้อง เพียงแค่ใช้สายตามองนิดเดียว อัตตาจะแผลงฤทธิ์ออกมาทันที พิษของอัตตาก็คือ โลกที่เต็มไปด้วยสารพิษทุกวันนี้ แต่มนุษย์ไม่สามารถเห็นได้ เพราะเป็น
วิบากกรรมของมนุษย์ ดุจดังหนอนที่เกิดในของเน่าเหม็น บอกให้หนอนทราบอย่างไร ก็ไม่มีทางเข้าใจ รู้ได้เลย
โศลกว่า “
ฉลาดในการเล่นเกมกับจิต” หันกลับมาใส่ใจกับ
อาหารใจกันเถิด หันมาใส่ใจกับวิธีที่ใจทานอาหารเถิด ไม่ว่าจะเป็นอาหารและวิธีทานอาหารล้วนสำคัญมาก เกมที่จะไม่ให้จิตทานสารอาหาร
แห่งตัณหา ก็คือ เกมการอยู่กับปัจจุบัน ให้จิตทานปัจจุปันนาหาร สารอาหารที่อยู่ในปัจจุบันนี้มีผลต่อการทำลายพิษที่มีในจิต คือ
ตัณหา มีผลทำให้อัตตาห่อเหี่ยว ทำให้อัตตาไร้พลัง ทำให้อัตตาสูญสลายไปในที่สุด
นี่เป็นการดำรงอยู่ของพระอริยะ พระโยคาวจรพึงเลือกทานแต่ปัจจุปันนาหาร ไม่ทานอตีตาหารและอนาคตาหาร เกมอยู่ที่นี่ เป็นเกมการเลือกทานอาหาร ต้องเล่นเกมกับจิต หลอกล่อจิตให้ทานปัจจุปันนาหารให้ได้
เพื่อผลแห่งความบริสุทธิ์แห่งจิตเองปัจจุบันขณะจึงเป็นกุญแจแห่งอิสรภาพ พูดง่ายแต่ทำยาก ผู้ที่ปฏิบัติ
กัมมัฏฐานจึงจะทราบว่า การดำรงตนอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันนั้นยากอย่างไร จิตไม่คุ้นกับการอยู่ในปัจจุบัน จิตคุ้นกับการอยู่กับอดีตกับอนาคต
เพราะในอดีตกับอนาคตนั้นมีที่ที่ให้จิตเล่นได้ เคลื่อนไหวได้อิสระ แต่ในปัจจุบันนั้นจิตไม่มีที่ให้เล่น ยิ่งไปกว่านั้นตัวมันเองทำท่าจะหายไปด้วย เพราะปัจจุบันนั้น
เป็นเพียงขณะที่ไม่เหลือที่ให้จิตได้ดำรงอยู่ได้เลย
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะ
อัตตานั้นถ่ายทอดความเป็นใหญ่ลงในความคิด
อาศัยความคิดเป็นทางเดินอาหารหล่อเลี้ยง
ความคิดนั่นแหละเป็นอดีตและเป็นอนาคตเรียบร้อยแล้ว มันจึงอาศัยช่องทางนี้เสพอาหาร เกมของเราก็คือ ทำอย่างไรจึงจะอยู่ในปัจจุบันขณะได้ ก็ต้องอาศัยสติเท่านั้นไม่มีทางอื่น สติเป็นท่อหล่อเลี้ยงปัจจุปันนาหาร
เมื่อสติเกิดขึ้นเมื่อใด ปัญญาก็เกิดเมื่อนั้น ปัญญาเกิดเมื่อใดปัจจุบันขณะก็เกิดเมื่อนั้น
ปัญญาเกิดเมื่อใด
อนัตตาก็เกิดเมื่อนั้น
อนัตตาปรากฏเมื่อใด อัตตาก็สลายไปเมื่อนั้น เกมของเราจึงอยู่ที่ไม่ให้จิตได้คิด คนทั่วไปย่อมไม่เข้าใจว่า คนไม่คิดจะอยู่ได้หรือ เป็นไปได้หรือ เพราะธรรมชาติของจิตนั้นต้องคิด เกมของเราอยู่ที่ว่า
ให้จิตอยู่ในปัจจุบันขณะ ไม่สนใจมันจะคิดหรือไม่คิด แต่เกมอยู่ที่ทำอย่างไรจะให้อยู่กับปัจจุบันเท่านี้พอ
ขอเพียงแต่มีสติเห็นปัจจุบันขณะ นั่นแหละจึงจะได้คำตอบว่า
จิตไม่คิดมีความหมายอย่างไร ขออย่าได้นำความหมายในศัพท์ว่าจิตมาอธิบายไว้ตรงนี้ เมื่อนั้นท่านจะพลาดโอกาสเล่นเกมทันที
ปัจจุบันมิใช่กาลเวลา
แต่เป็นขณะที่ไร้กาล กาลเวลามีได้เฉพาะในอดีตและอนาคตเท่านั้น
ปัจจุบันเป็นศูนยตา เป็นอนัตตา ไม่มีสภาวะแห่งสวลักษณะอยู่ภายใน ปัจจุบันมีแต่สภาวะที่เป็นจริง ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากผัสสะ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการปรุงแต่ง ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการเข้าไปรับรู้ ผัสสะสักว่าผัสสะ เจตจำนงเป็นเพียงเจตจำนง รับรู้สักว่ารับรู้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่พาหิยะว่า
“
ดูกรพาหิยะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเธอเห็น จักเป็นสักแต่ว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าแต่ฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักแต่ว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักแต่ว่ารู้แจ้ง...เมื่อนั้นเธอย่อมไม่มี ในกาลใด เมื่อเธอไม่มี ในกาลนั้นเธอย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์”
มาพิจารณาพระพุทธดำรัสนี้จะเห็นว่า
การไม่เข้าไปปรุงแต่ง ไม่ให้อาหารของอัตตา กินก็สักแต่ว่ากิน สัมผัสก็สักว่าสัมผัส เจตจำนงก็สักแต่เจตจำนง รับรู้สักว่าแต่รับรู้ เมื่อนั้นจิตก็ไม่อาจเสพสารอาหารตัณหาได้อีก ก็ไม่อาจได้ช่องเลี้ยงอัตตาได้อีก
โศลกว่า “เก็บไปทีละจังหวะ เน้นทุกลมหายใจเข้าออก”
อย่าได้รีบเร่ง คาดคิด กังวล เมื่อใดที่เกิดความคิด เมื่อนั้นก็แพ้ในเกมทันที ความคิดเป็นอันตราย เพราะความคิดเป็นเหยื่อล่อของอัตตา เมื่อมีความคิดอดีตและอนาคตก็เกิด ความคิดที่อยากคืออนาคต อยากได้อยากเป็นเหมือนวันก่อน ก็เป็นอนาคต พลังแห่งฉันทะถ้าเกินเส้น ล้ำแดนไปเพียงนิดก็จะกลายเป็นตัณหา คือสารอาหารทันที
พยายามเน้นทีละจังหวะ ไม่มาก ไม่น้อย ไม่ก่อน ไม่หลัง มีแต่ลมหายใจเข้าออก ไม่คาดหวังผล ไม่ใส่ใจผลข้างเคียง มีแต่ลมหายใจ ถ้าหากพิจารณาเปรียบเทียบกับการจุดไฟแบบโบราณก็จะเข้าใจยิ่งกว่าเดิมว่า ให้เน้นทุกจังหวะ เน้นทุกขณะอย่างไร เมื่ออุปกรณ์มีพร้อม วิธีการถูกต้อง ให้เริ่มลงมือทันที ใช้ไม้สีกระบอกจุดไฟ สีจนกว่าจะเกิดความร้อน สีจนกว่าจะเกิดควัน สีจนกว่าจะเกิดประกายไฟ และสีจนกว่าไฟจะติดเชื้อที่อยู่ในกระบอก
ความต่อเนื่องตรงนี้คือปัจจุบัน ไม่มีระหว่างให้เว้น ไม่มีเส้นคั่นอดีต อนาคต เป็นแต่ปัจจุบันคือการสีไฟเท่านั้น ไม่มี
ความคิดใดเข้าไปช่วยให้ร้อน ช่วยให้ควันเกิด ช่วยให้ไฟลุก นั่นแหละเกม
การสีไฟทางจิตหละ
ปัจจุบันมิใช่เป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ เริ่มต้นด้วยวิธีการสังเกตตนเอง
เมื่อใดที่เข้าไปตามรู้ความคิด เมื่อนั้นสติก็จะเกิดขึ้น ปัจจุบันมิใช่สิ่งทำให้เกิดขึ้น แต่เป็นขณะที่ดำรงอยู่ในความเป็นจริง เพียงแค่รู้สึกตัว ปัจจุบันก็ปรากฏ
ปัจจุบันเป็นเหมือนศูนยตาที่เป็นความจริง แต่ที่ไม่เห็นศูนยตาหรืออนัตตา
ก็เพราะไม่อาจอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง โศลกว่า “
อย่าได้มั่นใจเอาอะไรแน่นอนกับจิต” ตราบใดที่ไฟยังไม่ลุก ตราบใดที่ไฟแห่งปัญญายังไม่คงที่ ตราบใดที่สติยังไม่คงมั่น ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งด้วย
ปัญญาญาณ ตราบนั้นก็อย่าได้มั่นใจกับจิตที่เราเล่นเกมไป เพราะจิตจะยินยอมเมื่อถูกสติแจ่มชัดในขณะนี้ แต่ในขณะอื่นไม่แน่ว่าจะเป็นเหมือนเดิม วันนี้ดูเหมือนสงบระงับ เหมือนกับว่า
ตนได้ลิ้มรสแห่งความสุขอันเกิดจากสงบนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า มื้อหน้าจะเป็นเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเกมกับจิตนี้เป็นเกมตลอดเวลา ไม่ใช่เกมในขณะเฉพาะขณะที่อยู่ในรูปแบบเท่านั้น จึงพบเห็นเสมอว่า ผู้ปฏิบัติธรรมหลายต่อหลายคนแพ้ต่อเกมดูจิต เกมทานอาหารปัจจุบัน ทั้งที่เคยเล่นชนะมาบ้างแล้วในบางครั้ง
แต่นั่นเป็นการผ่อนปรนของอัตตาในบางขณะเท่านั้นพระเถระผู้หนึ่งเข้าใจว่าตนนั้นเอาชนะอัตตาแล้ว เข้าใจว่า ตนดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะแล้ว ตนเองบริสุทธิ์แล้ว เป็นผู้ชนะในเกมแล้ว แต่หารู้ไม่ว่า อัตตาได้ซ้อนมิติเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ซ้อนเข้าไปให้หลงคิดและหลงยึดว่า ตนนั้นบรรลุแล้ว ตนนั้นเป็นอิสระแล้ว ตนนั้นได้ไม่ได้เสพอาหารแห่งตัณหาแล้ว อยู่มาวันหนึ่งมีสามเณรที่เป็นผู้หลุดพ้นแล้วอย่างแท้จริงทราบถึงการถูกอัตตาลวงพระเถระอยู่อย่างนั้น ครั้นจะบอกโดยตรงก็ไม่เป็นผลแน่
และยิ่งจะทำให้พระเถระนั้นอาจล่วงเกินทางความคิด เป็นจิตอกุศล ผูกพันกลายเป็นเวรกรรมต่อไป สามเณรจึงได้เล่นเกมซ้อนเกม เพื่อให้เผยอัตตาที่หลบอยู่ด้านหลังฉากให้ออกมาปรากฏต่อพระเถระให้ได้
พอได้จังหวะและเวลา สามเณรจึงประลองฤทธิ์กับพระเถระ โดยพระเถระแปลงการเป็นกวาง สามเณรแปลงเป็นเก้ง พระเถระแปลงร่างเป็นนก สามเณรแปลงร่างเป็นกระรอก พระเถระแปลงร่างเป็นสิงห์โต สามเณรแปลงร่างเป็นงู พระเถระแปลงร่างเป็นช้าง สามเณรแปลงร่างเป็นเสือ ทันใดนั้นเสือได้ทำทีกระโจนเข้าหาช้าง ช้างตกใจร้องลั่นวิ่งกระเจิง สามเณรจึงเตือนสติว่า ก็เมื่อบรรลุแล้วยังจะตกใจกลัวตายอยู่หรือ
เพียงเท่านั้นพระเถระจึงได้สติทันทีว่า ตนนั้นถูกอัตตาลวงเข้าให้ หลงผิดคิดว่าตนนั้นเป็นผู้บรรลุแล้ว อย่าได้ประมาทดูเบาในการเล่นเกมกับจิต ในที่นี้ใช้คำว่าเล่นเกม
ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า การเล่นเกมนั้นมีความพิเศษในเกม
ที่มีกฎกติกา มีผลแพ้ชนะ มีลักษณะของกรอบของเกมที่ชัด
แท้ที่จริงแล้ว
การเล่นเกมนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง
มีความสำคัญถึงขั้นเวียนว่ายตายเกิด และถึงขั้นหลุดพ้นจากสังสารวัฏ
เป็นเดิมพันเลยทีเดียว นี่คือ
โศลกที่สิบสี่แห่ง
คัมภีร์สุวิญญมาลาเขียนโดย puzinnian ที่ 2 วันจันทร์, สิงหาคม 22, 2554-http://puzinnian.blogspot.com/2011/08/blog-post_22.html