เยือนถิ่นวังหน้า เที่ยวย้อนอดีต ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
-http://travel.kapook.com/view54866.html-
ประวัติความเป็นมา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นับเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2402 แต่เดิมเป็น "พระราชวังบวรสถานมงคล" หรือ "วังหน้า" ซึ่งประกอบด้วยพระที่นั่งและพระตำหนักอันนับเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่งดงามอีกแห่งหนึ่ง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ขึ้นที่ พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ นับว่าเป็นบ่อเกิดของพิพิธภัณฑ์ในสมัยต่อมา
จากนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "มิวเซียม" ณ ศาลาสหทัยสมาคม หรือ หอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวัง และมีพิธีเปิดหอมิวเซียมหรือพิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 กรมศิลปากร จึงถือเอาวันที่ทรงประกอบพิธีเปิดมิวเซียมเป็นวันกำเนิดของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานประเภททั่วไป และใน พ.ศ. 2418 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำโบราณศิลปวัตถุออกจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานตามหลักวิชาสากล มีการแบ่งโบราณวัตถุ เป็น 3 ประเภท และจัดแบ่งเป็นห้อง ๆ ไป ได้แก่ โบราณศิลปวัตถุของไทย 1 ห้อง เครื่องราชูปโภคและเครื่องต้น 1 ห้อง และศิลปวัตถุจากต่างประเทศอีก 1 ห้อง พิพิธภัณฑสถานนี้เปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมเป็นครั้งแรก เป็นที่สนใจของประชาชนมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงเป็นพิเศษเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทุกปี


ครั้งต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2430 กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ทิวงคต จึงได้มีประกาศยกเลิกตำแหน่งพระอุปราชแล้ว ทำให้สถานที่ในพระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานจากหอคองคอเดีย ไปตั้งจัดแสดงที่พระราชวังบวรสถานมงคลเฉพาะด้านหน้า 3 องค์ โดยใช้พระที่ นั่งด้านหน้า คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เรียกว่า "พิพิธภัณฑ์วังหน้า"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลทั้งหมด ให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้น และได้จัด พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ให้เป็นสถานที่จัดแสดง ศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน สมุดไทย ตำราโบราณ เรียกว่า หอสมุดวชิรญาณ อีกทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา และต่อมาประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลได้จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร จึงได้เข้าสังกัดกับกรมศิลปากร และได้ประกาศตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2477





ประเภทการจัดแสดง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดเป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี และชาติพันธุ์วิทยา ปัจจุบันแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ประวัติศาสตร์ชาติไทย จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาของชนชาติไทยและประวัติศาสตร์ชาติไทยโดยสังเขป โดยจัดแสดง ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
2. ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี เป็นการจัดแสดงวิวัฒนาการของศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย ลำดับตามยุคสมัย โดยจัดแสดงที่อาคารมหาสุรสิงหนาทและอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
3. ประณีตศิลป์และชาติพันธุ์วิทยา จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างประณีต หรือเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันแต่โบราณ เช่น เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องถม เครื่องมุก เครื่องดนตรี เครื่องไม้จำหลัก เครื่องประกอบการเล่นมหรสพต่าง ๆ เครื่องแต่งกายและผ้าโบราณ เครื่องถ้วย อาวุธโบราณ ราชยานคานหาม ราชรถและเครื่องประกอบการพระราชพิธีพระบรมศพ เป็นต้น โดยจัดแสดงที่อาคารหมู่พระวิมานและโรงราชรถ
4. อาคารโบราณสถาน จัดแสดงอาคารหมู่พระที่นั่งในพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่เดิม รวมทั้งอาคารที่เคลื่อนย้ายมาจากพระราชวังต่าง ๆ เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ตำหนักแดง พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย ศาลาลงสรง เป็นต้น



นอกจากนี้ ยังมีโบราณวัตถุที่สำคัญมากมาย เช่น พระพุทธสิหิงค์, พระชัย, พระพุทธรูปโปรดมหิศรเทพบุตร, พระพุทธรูปประทับรอยพระพุทธบาท, พระทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ, พระหลวงพ่อนาก, พระไภษัชยคุรุ, พระหายโศก, พระพุทธรูปห้ามสมุทร, พระคเณศ ตู้ลายรดน้ำ, ศิลาจารึกหลักที่ 1, เศียรพระโพธิสัตว์, พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์, บานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม, พระที่นั่งราเชนทรยาน และเวชยันราชรถ เป็นต้น
อีกทั้งยังมี "หอแก้วศาลพระภูมิพระราชวังบวรสถานมงคล" ที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อม ๆ กับพระราชวังบวรสถานมงคลหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย เนื่องจากสร้างขึ้นเป็นที่สถิตของพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินที่สร้างวัง ดังนั้น เมื่อสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว จึงต้องสร้างศาลสำหรับเทวดาเจ้าของที่เป็นการทดแทนด้วย ซึ่งได้รับการนับถือเป็นเทพเจ้าผู้รักษาพระราชวังบวรสถานมงคล อันเป็นที่เคารพสักการะของชาววังหน้ามาแต่อดีตกาล ปัจจุบันนับถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งประจำกรมศิลปากร
.