ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)  (อ่าน 20000 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


สิ่งทั้งหลาย คือกระแสเหตุปัจจัย มิใช่มีตัวตนที่เที่ยงแท้เป็นจริง
 หลักปฏิจจสมุปบาท แสดงให้เห็นอาการที่สิ่งทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยต่อกันอย่างเป็นกระแส ในภาวะที่เป็นกระแสนี้ ขยายความหมายออกไปให้เห็นแง่ต่างๆ ได้ คือ
 - สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นปัจจัยแก่กัน
 - สิ่งทั้งหลายมีอยู่โดยความสัมพันธ์
 - สิ่งทั้งหลายมีอยู่ด้วยอาศัยปัจจัย
 - สิ่งทั้งหลายไม่มีความคงที่อยู่อย่างเดิมแม้แต่ขณะเดียว
 - สิ่งทั้งหลาย ไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง คือ ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน
 - สิ่งทั้งหลายไม่มีมูลการณ์ หรือต้นกำเนิดเดิมสุด

 พูดอีกนัยหนึ่งว่า อาการที่สิ่งทั้งหลายปรากฏเป็นรูปต่างๆ มีความเจริญความเสื่อมเป็นไปต่างๆ นั้น แสดงถึงสภาวะที่แท้จริงของมันว่า เป็นกระแสหรือกระบวนการ ความเป็นกระแสแสดงถึงการประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบต่างๆ รูปกระแสปรากฏเพราะองค์ประกอบทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน กระแสดำเนินไปแปรรูปได้เพราะองค์ประกอบต่างๆ ไม่คงที่อยู่แม้แต่ขณะเดียว องค์ประกอบทั้งหลายไม่คงที่อยู่แม้แต่ขณะเดียวเพราะไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน ตัวตนที่แท้จริงของมันไม่มีมันจึงขึ้นต่อเหตุปัจจัยต่างๆ เหตุปัจจัยต่างๆ สัมพันธ์ต่อเนื่องอาศัยกัน จึงคุมรูปเป็นกระแสได้ ความเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องอาศัยกัน แสดงถึงความไม่มีต้นกำเนิดเดิมสุดของสิ่งทั้งหลาย

 พูดในทางกลับกันว่า ถ้าสิ่งทั้งหลายมีตัวตนแท้จริง ก็ต้องมีความคงที่ ถ้าสิ่งทั้งหลายคงที่แม้แต่ขณะเดียว ก็เป็นเหตุปัจจัยแก่กันไม่ได้ เมื่อเป็นเหตุปัจจัยแก่กันไม่ได้ ก็ประกอบกันขึ้นเป็นกระแสไม่ได้ เมื่อไม่มีกระแสแห่งปัจจัย ความเป็นไปในธรรมชาติก็มีไม่ได้ และถ้ามีตัวตนที่แท้จริงอย่างใดในท่ามกลางกระแส ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างแท้จริงก็เป็นไปไม่ได้ กระแสแห่งเหตุปัจจัยที่ทำให้สิ่งทั้งหลายปรากฏโดยเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ดำเนินไปได้ ก็เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ เกิดแล้วสลายไป ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน และสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน

 ภาวะที่ไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ เกิดแล้วสลายไป เรียกว่า อนิจจตา ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยเกิดสลาย มีความกดดันขัดแย้งแฝงอยู่ ไม่สมบูรณ์ในตัว เรียกว่า ทุกขตา ภาวะที่ไร้ตัวตนที่แท้จริงของมันเอง เรียกว่า อนัตตตา

 ปฏิจจสมุปบาทแสดงให้เห็นภาวะทั้ง ๓ นี้ในสิ่งทั้งหลาย และแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องเป็นปัจจัยแก่กันของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น จนปรากฏรูปออกมาเป็นต่างๆ ในธรรมชาติ

 สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏมี จึงเป็นเพียงกระแสความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมา อาจเรียกสั้นๆ ว่า กระบวนธรรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำแปลของคำบาลีที่ท่านใช้ว่า ธรรมปวัตติ (ธมฺมปฺปวตฺติ)

 ภาวะและความเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ มีแก่สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นรูปธรรม ทั้งที่เป็นนามธรรม ทั้งในโลกฝ่ายวัตถุ ทั้งแก่ชีวิตที่ประกอบพร้อมด้วยรูปธรรมนามธรรม โดยแสดงตัวออกเป็นกฎธรรมชาติต่างๆ คือ ธรรมนิยาม-กฎความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล อุตุนิยาม-กฎธรรมชาติฝ่าย อนินทรียวัตถุ พีชนิยาม-กฎธรรมชาติฝ่ายอินทรียวัตถุรวมทั้งพันธุกรรม จิตตนิยาม-กฎการทำงานของจิต และกรรมนิยาม-กฎแห่งกรรม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องความสุขความทุกข์ของชีวิต และเป็นเรื่องที่จริย-ธรรมจะต้องเกี่ยวข้องโดยตรง

เรื่องที่ควรย้ำเป็นพิเศษ เพราะมักขัดกับความรู้สึกสามัญของคน คือ ควรย้ำว่า กรรมก็ดี กระบวนการแห่งเหตุผลอื่นๆ ทุกอย่างในธรรมชาติก็ดี เป็นไปได้ ก็เพราะสิ่งทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง (เป็นอนิจจัง) และไม่มีตัวตนของมันเอง (เป็นอนัตตา)
 
 ถ้าสิ่งทั้งหลายเป็นของเที่ยง มีตัวตนจริงแล้ว กฎธรรมชาติทั้งมวลรวมทั้งหลักกรรมย่อมเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้น กฎเหล่านี้ยังยืนยันด้วยว่า ไม่มีมูลการณ์หรือต้นกำเนิดเดิมสุดของสิ่งทั้งหลาย เช่น พระผู้สร้าง เป็นต้น

 สิ่งทั้งหลาย ไม่มีตัวตนแท้จริง เพราะเกิดขึ้นด้วยอาศัยปัจจัยต่างๆ และมีอยู่อย่างสัมพันธ์กัน ตัวอย่างง่ายๆ หยาบๆ เช่น เตียงเกิดจากนำส่วนประกอบต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามรูปแบบที่กำหนด ตัวตนของเตียงที่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านั้นไม่มี เมื่อแยกส่วนประกอบต่างๆ ออกหมดสิ้นแล้ว ก็ไม่มีเตียงอีกต่อไป เหลืออยู่แต่บัญญัติว่า “เตียง” ที่เป็นความคิดในใจ แม้บัญญัตินั้นเองที่มีความหมายอย่างนั้น ก็ไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง แต่ต้องสัมพันธ์เนื่องอาศัยกับความหมายอื่นๆ เช่น บัญญัติว่าเตียง ย่อมไม่มีความหมายของตนเอง โดยปราศจากความสัมพันธ์กับ การนอน แนวระนาบ ที่ตั้ง ช่องว่าง เป็นต้น



ในความรู้สึกสามัญของมนุษย์ ความรู้ในบัญญัติต่างๆ เกิดขึ้น
โดยพ่วงเอาความเข้าใจในปัจจัยและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยเหมือนกัน
แต่เมื่อเกิดความกำหนดรู้ขึ้นแล้ว ความเคยชินในการยึดติด
ด้วยตัณหาอุปาทาน ก็เข้าเกาะกับสิ่งในบัญญัตินั้น
จนเกิดความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นอย่างหนาแน่น บังความสำนึกรู้ และ
แยกสิ่งนั้น
ออกจากความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ
ทำให้ไม่รู้เห็นตามที่มันเป็น อหังการและมมังการจึงแสดงบทบาทได้เต็มที่
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 05, 2013, 09:46:36 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



สิ่งทั้งปวงอยู่ในกระแสเหตุปัจจัย ไร้มูลการณ์ ไม่ต้องมีผู้สร้างผู้บันดาล
 อนึ่ง ธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ย่อมไม่มีมูลการณ์ หรือเหตุต้นเค้า หรือต้นกำเนิดเดิมสุด เมื่อหยิบยกสิ่งใดก็ตามขึ้นมาพิจารณา ถ้าสืบสาวหาเหตุต่อไปโดยไม่หยุด จะไม่สามารถค้นหาเหตุดั้งเดิมสุดของสิ่งนั้นได้ แต่ในความรู้สึกสามัญของมนุษย์ มักคิดถึงหรือคิดอยากให้มีเหตุต้นเค้าสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ขัดกับธรรมดาของธรรมชาติ เรียกได้ว่าเป็น สัญญาวิปลาสอย่างหนึ่ง เหตุเพราะความเคยชินของมนุษย์ เมื่อเกี่ยวข้องกับสิ่งใดและคิดสืบสวนถึงมูลเหตุของสิ่งนั้น ความคิดก็จะหยุดจับติดอยู่กับสิ่งที่พบว่าเป็นเหตุแต่อย่างเดียว ไม่สืบสาวต่อไปอีก

 ความเคยชินเช่นนี้ จึงทำให้ความคิดสามัญของมนุษย์ในเรื่องเหตุผล เป็นไปในรูปที่ขาดตอนติดตัน และคิดในอาการที่ขัดกับกฎธรรมดา โดยคิดว่าต้องมีเหตุต้นเค้าของสิ่งทั้งหลายอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าคิดตามธรรมดาก็จะต้องสืบสาวต่อไปว่า อะไรเป็นเหตุของเหตุต้นเค้านั้น ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เพราะสิ่งทั้งหลายมีอยู่อย่างสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นปัจจัยสืบต่อกัน จึงย่อมไม่มีมูลการณ์หรือเหตุต้นเค้าเป็นธรรมดา ควรตั้งคำถามกลับซ้ำไปว่า ทำไมสิ่งทั้งหลายจะต้องมีเหตุต้นเค้าด้วยเล่า ?

 ความคิดฝืนธรรมดาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความเคยชินของมนุษย์ และสัมพันธ์กับความคิดว่ามีเหตุต้นเค้า คือ ความคิดว่า เดิมทีเดียวนั้น ไม่มีอะไรอยู่เลย ความคิดนี้เกิดจากความเคยชินในการยึดถืออัตตา โดยกำหนดรู้ขึ้นมาในส่วนประกอบที่คุมเข้าเป็นรูปลักษณะแบบหนึ่ง แล้ววางความคิดหมายจำเพาะลงเป็นบัญญัติ ยึดเอาบัญญัตินั้นเป็นหลัก เกิดความรู้สึกคงที่ลงว่าเป็นตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเห็นไปว่าเดิมสิ่งนั้นไม่มีแล้วมามีขึ้น

 ความคิดแบบชะงักทื่อติดอยู่กับสิ่งหนึ่งๆ ไม่แล่นเป็นสายเช่นนี้ เป็นความเคยชินในทางความคิดอย่างที่เรียกว่าติดสมมติ หรือไม่รู้เท่าทันสมมติ จึงกลายเป็นไม่รู้ตามที่มันเป็น เป็นเหตุให้ต้องคิดหาเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีอยู่เป็นนิรันดรขึ้นมาเป็นเหตุต้นเค้า เป็นที่มาแห่งการสำแดงรูปเป็นต่างๆ หรือเป็นผู้สร้างสิ่งทั้งหลาย ทำให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้นมากมาย เช่น สิ่งนิรันดรจะเป็นที่มาหรือสร้างสิ่งไม่เป็นนิรันดรได้อย่างไร ถ้าสิ่งเป็นนิรันดรเป็นที่มาของสิ่งไม่เป็นนิรันดร สิ่งไม่เป็นนิรันดรจะไม่เป็นนิรันดรได้อย่างไร เป็นต้น

 แท้จริงแล้ว ในกระบวนการอันเป็นกระแสแห่งความเป็นเหตุปัจจัยสืบเนื่องกันนี้ ย่อมไม่มีปัญหาแบบบ่งตัวตนว่ามีอะไรหรือไม่มีอะไรอยู่เลย ไม่ว่าเดิมทีเดียว หรือบัดนี้ เว้นแต่จะพูดกันในขั้นสมมติสัจจะเท่านั้น ควรย้อนถามให้คิดใหม่ด้วยซ้ำไปว่า ทำไมจะต้องไม่มีก่อนมีด้วยเล่า?

 แม้ความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายมีผู้สร้าง ซึ่งปรกติถือกันว่าเป็นความคิดธรรมดานั้น แท้จริงก็เป็นความคิดขัดธรรมดาเช่นกัน ความคิดเชื่อเช่นนี้เกิดขึ้น เพราะมองดูตามข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งเห็นและเข้าใจกันอยู่สามัญว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ ศิลปวัตถุ ฯลฯ ขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะการสร้างของมนุษย์ ฉะนั้น สิ่งทั้งหลายทั้งโลกก็ต้องมีผู้สร้างด้วยเหมือนกัน

 ในกรณีนี้ มนุษย์พรางตนเอง ด้วยการแยกความหมายของการสร้างออกไปเสียจากความเป็นเหตุเป็นปัจจัยตามปรกติ จึงทำให้เกิดการตั้งต้นความคิดที่ผิด

 ความจริงนั้น การสร้างเป็นเพียงความหมายส่วนหนึ่ง ของการเป็นเหตุปัจจัย การที่มนุษย์สร้างสิ่งใด ก็คือการที่มนุษย์เข้าไปร่วมเป็นเหตุปัจจัยส่วนหนึ่ง ในกระบวนการแห่งความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้ผลรวมที่ต้องการนั้นเกิดขึ้น แต่มีพิเศษจากกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยฝ่ายวัตถุล้วนๆ ก็เพียงว่า ในกรณีนี้ มีปัจจัยฝ่ายนามธรรมที่ประกอบด้วยเจตนาเป็นลักษณะพิเศษเข้าไปร่วมบทบาทด้วย แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังคงมีฐานะเป็นเพียงปัจจัยอย่างหนึ่งร่วมกับปัจจัยอื่นๆ และต้องดำเนินไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยจึงจะเกิดผลที่ต้องการ

 ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อมนุษย์จะสร้างตึก ก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นเหตุเป็นปัจจัยช่วยผลักดันเหตุปัจจัยต่างๆ ให้ดำเนินไปตามสายของมันจนเกิดผลสำเร็จ ถ้าการสร้างเป็นการบันดาลผลได้อย่างพิเศษกว่าการเป็นเหตุปัจจัย มนุษย์ก็เพียงนั่งนอนอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง แล้วคิดบันดาลให้เรือนหรือตึกเกิดขึ้นในที่ปรารถนาตามต้องการ ซึ่งเป็นไปไม่ได้

 การสร้างจึงมิได้มีความหมายนอกเหนือไปจากการเป็นเหตุปัจจัยแบบหนึ่ง และในเมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันอยู่ตามวิถีของมันเช่นนี้ ผู้สร้างย่อมไม่อาจมีได้ในตอนใดๆ ของกระบวนการ

 อย่างไรก็ดี การพิจารณาเหตุผลในปัญหาเกี่ยวกับเหตุต้นเค้า และผู้สร้าง เป็นต้นนี้ ถือว่ามีคุณค่าน้อยในพุทธธรรม เพราะไม่มีความจำเป็นต่อการประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ในชีวิตจริง แม้ว่าจะช่วยให้เกิดโลกทัศน์และชีวทัศน์กว้างๆ ในทางเหตุผลอย่างที่กล่าวข้างต้น ก็อาจข้ามไปเสียได้ ด้วยว่าการพิจารณาคุณค่าในทางจริยธรรมอย่างเดียว มีประโยชน์ที่มุ่งหมายคุมถึงอยู่แล้ว ในที่นี้จึงควรพุ่งความสนใจไปในด้านที่เกี่ยวกับชีวิตในทางปฏิบัติเป็นสำคัญ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 15, 2014, 12:58:29 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ถ้ารู้ไม่ทันกระแสเหตุปัจจัย ชีวิตจะตกเป็นทาส ถูกมันกระแทกบีบคั้น
 ดังได้กล่าวแล้วแต่ต้นว่า ชีวิตประกอบด้วยขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่มีสิ่งใดอื่นอีกนอกเหนือจากขันธ์ ๕ ไม่ว่าจะแฝงอยู่ในขันธ์ ๕ หรืออยู่ต่างหากจากขันธ์ ๕ ที่จะมาเป็นเจ้าของหรือควบคุมขันธ์ ๕ ให้ชีวิตดำเนินไป

 ดังนั้น ในการพิจารณาเรื่องชีวิต เมื่อยกเอาขันธ์ ๕ ขึ้นเป็นตัวตั้งแล้ว ก็เป็นอันครบถ้วนเพียงพอ
 ขันธ์ ๕ เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปตามกฎแห่งปฏิจจสมุปบาท คือมีอยู่ในรูปกระแสแห่งปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยสืบต่อกัน ไม่มีส่วนใดในกระแสคงที่อยู่ได้ มีแต่การเกิดขึ้นแล้วสลายตัวไป พร้อมกับที่เป็นปัจจัยให้มีการเกิดขึ้นแล้วสลายตัวต่อๆ ไปอีก ส่วนต่างๆ สัมพันธ์กัน เนื่องอาศัยกัน เป็นปัจจัยแก่กัน จึงทำให้กระแสหรือกระบวนการนี้ดำเนินไปอย่างมีเหตุผลสัมพันธ์ และคุมเป็นรูปร่างต่อเนื่องกันในภาวะเช่นนี้ ขันธ์ ๕ หรือ ชีวิต จึงเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ อยู่ในภาวะแห่งอนิจจตา ไม่เที่ยง ไม่คงที่ เกิดดับเสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา อนัตตตา ไม่มีส่วนใดที่มีตัวตนแท้จริง และไม่อาจยึดถือเอาเป็นตัว จะเข้ายึดครองเป็นเจ้าของ บังคับบัญชาให้เป็นไปตามความปรารถนาของตนจริงจังไม่ได้ ทุกขตา ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัวอยู่ทุกขณะ และพร้อมที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ได้เสมอ ในกรณีที่มีการเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความไม่รู้และยึดติดถือมั่น

 กระบวนการแห่งขันธ์ ๕ หรือชีวิต ซึ่งดำเนินไปพร้อมด้วยการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดทุกขณะ โดยไม่มีส่วนที่เป็นตัวเป็นตนคงที่อยู่นี้ ย่อมเป็นไปตามกระแสแห่งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์แก่กันล้วนๆ ตามวิถีทางแห่งธรรมชาติของมัน

แต่ในกรณีของชีวิตมนุษย์ปุถุชน ความฝืนกระแสจะเกิดขึ้น โดยที่จะมีความหลงผิดเกิดขึ้น และยึดถือเอารูปปรากฏของกระแสหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของกระแสว่าเป็นตัวตน และปรารถนาให้ตัวตนนั้นมีอยู่ คงอยู่ หรือเป็นไปในรูปใดรูปหนึ่ง

 ในเวลาเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนที่เกิดขึ้นในกระแสก็ขัดแย้งต่อความปรารถนา เป็นการบีบคั้นและเร่งเร้าให้เกิดความยึดอยากรุนแรงยิ่งขึ้น
ความดิ้นรนหวังให้มีตัวตนในรูปใดรูปหนึ่ง และให้ตัวตนนั้นเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ให้คงที่เที่ยงแท้ถาวรอยู่ในรูปที่ต้องการก็ดี ก็ยิ่งรุนแรงขึ้น เมื่อไม่เป็นไปตามที่ยึดอยาก ความบีบคั้นก็ยิ่งแสดงผลเป็นความผิดหวัง ความทุกข์ความคับแค้นรุนแรงขึ้นตามกัน พร้อมกันนั้น ความตระหนักรู้ในความจริงอย่างมัวๆ ว่าความเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน และตัวตนที่ตนยึดอยู่อาจไม่มีหรืออาจสูญสลายไปเสีย ก็ยิ่งฝังความยึดอยากให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น พร้อมกับความกลัว ความประหวั่นพรั่นพรึง ก็เข้าแฝงตัวร่วมอยู่ด้วยอย่างลึกซึ้งและซับซ้อน

ภาวะจิตเหล่านี้ก็คือ อวิชชา (ความไม่รู้ตามเป็นจริง หลงผิดว่ามีตัวตน) ตัณหา (ความอยากให้ตัวตนที่หลงว่ามีนั้นได้ เป็น หรือไม่เป็นต่างๆ) อุปาทาน (ความยึดถือผูกตัวตนในความหลงผิดนั้นไว้กับสิ่งต่างๆ)

 กิเลสเหล่านี้แฝงลึกซับซ้อนอยู่ในจิตใจ และเป็นตัวคอยบังคับบัญชา
พฤติกรรมทั้งหลายของบุคคลให้เป็นไปต่างๆ ตามอำนาจของมัน ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ตลอดจนเป็นตัวหล่อหลอมบุคลิกภาพและมีบทบาทสำคัญในการชี้ชะตากรรมของบุคคลนั้นๆ กล่าวในวงกว้าง มันเป็นที่มาแห่งความทุกข์ของมนุษย์ปุถุชนทุกคน

 โดยสรุป ข้อความที่กล่าวมานี้ แสดงการขัดแย้ง หรือปะทะกันระหว่าง กระบวนการ ๒ ฝ่าย คือ
 ๑. ความเป็นจริง ของกระบวนการแห่งชีวิต ที่เป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ อันเป็นกฎธรรมชาติที่แน่นอน คือ อนิจจตา ทุกขตา และอนัตตตา ซึ่งแสดงอาการออกมาเป็น ชาติ ชรา มรณะ ทั้งในความหมายแบบตื้นหยาบ และละเอียดลึกซึ้ง
 ๒. ความไม่รู้ตามเป็นจริง ซึ่งกระบวนการแห่งชีวิตนั้น โดยหลงผิดว่าเป็นตัวตนและเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ แฝงพร้อมด้วยความหวั่นกลัวและความกระวนกระวาย

พูดให้สั้นลงไปอีกว่า เป็นการขัดแย้งกันระหว่างกฎธรรมชาติ กับความยึดถือตัวตนไว้ด้วยความหลงผิด หรือให้ตรงกว่านั้นว่า การเข้าไปสร้างตัวตนขวางกระแสแห่งกฎธรรมชาติไว้

 นี้คือชีวิตที่เรียกว่า เป็นอยู่ด้วยอวิชชา อยู่อย่างยึดมั่นถือมั่น อยู่อย่างเป็นทาส อยู่อย่างขัดแย้งฝืนต่อกฎธรรมชาติ หรืออยู่อย่างเป็นทุกข์

 การมีชีวิตอยู่เช่นนี้ ถ้าพูดในทางจริยธรรม ตามสมมติสัจจะ
ก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นการมีตัวตนขึ้น ๒ ตน คือ ตัวกระแสแห่งชีวิตที่ดำเนินไปตามกฎธรรมชาติ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย แม้จะไม่มีตัวตนแท้จริง แต่กำหนดแยกออกเป็นกระแสหรือกระบวนการอันหนึ่งต่างหากจากกระแสหรือกระบวนการอื่นๆ เรียกโดยสมมติสัจจะว่าเป็นตน และใช้ประโยชน์ในทางจริยธรรมได้ อย่างหนึ่ง กับตัวตนจอมปลอม ที่ถูกคิดสร้างขึ้นยึดถือเอาไว้อย่างมั่นคงด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ดังกล่าวแล้ว อย่างหนึ่ง
 ตัวตนอย่างแรกที่กำหนดเรียกเพื่อความสะดวกในขั้นสมมติสัจจะโดยรู้สภาพตามที่เป็นจริง ย่อมไม่เป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นด้วยความหลงผิด แต่ตัวตนอย่างหลังที่สร้างขึ้นซ้อนไว้ในตัวตนอย่างแรก ย่อมเป็นตัวตนแห่งความยึดมั่นถือมั่น คอยรับความกระทบกระเทือนจากตัวตนอย่างแรก จึงเป็นที่มาของความทุกข์

 การมีชีวิตอยู่อย่างที่กล่าวข้างต้น นอกจากเป็นการแฝงเอาความกลัวและความกระวนกระวายไว้ในจิตใจส่วนลึกที่สุด เพื่อไว้บังคับบัญชาพฤติ-กรรมของตนเอง ทำให้กระบวนการแห่งชีวิตไม่เป็นตัวของตัวเอง หรือทำตนเองให้ตกเป็นทาสไปโดยไม่รู้ตัวแล้ว ยังแสดงผลร้ายออกมาอีกเป็นอันมาก คือ

- ทำให้มีความอยากได้อย่างเห็นแก่ตัว ความแส่หาสิ่งต่างๆ ที่จะสนองความต้องการของตนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และยึดอยากหวงแหนไว้กับตน โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้ใดอื่น

 - ทำให้เกาะเหนี่ยวเอาความคิดเห็น ทฤษฎี หรือทัศนะอย่างใดอย่างหนึ่งมาตีค่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตนหรือเป็นของตน แล้วกอดรัดยึดมั่นทะนุถนอมความคิดเห็น ทฤษฎีหรือทัศนะนั้นๆ ไว้ เหมือนอย่างป้องกันรักษาตัวเอง เป็นการสร้างกำแพงขึ้นมากั้นบังตนเองไม่ให้ติดต่อกับความจริง หรือถึงกับหลบตัวปลีกตัวจากความจริง ทำให้เกิดความกระด้างทื่อๆ ไม่คล่องตัวในการคิดเหตุผลและใช้วิจารณญาณ ตลอดจนเกิดความถือรั้น การทนไม่ได้ที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

 - ทำให้เกิดความเชื่อและการประพฤติปฏิบัติงมงายไร้เหตุผลต่างๆ ที่หวังว่าจะบันดาลผลให้ และยึดมั่นในความเชื่อความประพฤติและวิธีปฏิบัติเหล่านั้น เพราะรู้เห็นความสัมพันธ์ในทางเหตุผลของสิ่งเหล่านั้นอย่างลางๆ มัวๆ แม้จะไม่มีความแน่ใจ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีความห่วงใยในตัวตนที่สร้างขึ้นยึดถือมั่นไว้ กลัวจะเกิดความสูญเสียแก่ตัวตนนั้นได้ จึงรีบไขว่คว้ายึดฉวยเอาอะไรๆ ที่พอจะหวังได้ไว้ก่อน แม้จะอยู่ในรูปที่ลางๆ มืดมัวก็ตาม

 - ทำให้เกิดมีตัวตนลอยๆ อันหนึ่ง ที่จะต้องคอยยึดคอยถือ คอยแบกเอาไว้ คอยรักษาทะนุถนอมป้องกันไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนหรือสูญหาย พร้อมกันนั้น ก็กลายเป็นการจำกัดตนเองให้แคบ ให้ไม่เป็นอิสระ แบ่งแยกและพลอยถูกกระทบกระแทกไปกับตัวตนที่สร้างขึ้นยึดถือแบกไว้นั้นด้วย


 โดยนัยนี้ ความขัดแย้ง บีบคั้นและความทุกข์จึงมิได้มีอยู่เฉพาะในตัวบุคคลผู้เดียวเท่านั้น แต่ยังขยายตัวออกไปเป็นความขัดแย้ง บีบคั้น และความทุกข์แก่คนอื่นๆ และระหว่างกันในสังคมด้วย กล่าวได้ว่าภาวะเช่นนี้ เป็นที่มาแห่งความทุกข์ความเดือดร้อนและปัญหาทั้งปวงของสังคม ในฝ่ายที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 15, 2014, 01:00:24 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



มีปัญญารู้เท่าทัน จะได้ประโยชน์จากกฎธรรมชาติ ดุจเป็นนายเหนือมัน
 หลักปฏิจจสมุปบาทแบบประยุกต์ แสดงการเกิดขึ้นของชีวิตแห่งความทุกข์ หรือการเกิดขึ้นแห่งการ(มีชีวิตอยู่อย่าง)มีตัวตน ซึ่งจะต้องมีทุกข์เป็นผลลัพธ์แน่นอน เมื่อทำลายวงจรในปฏิจจสมุปบาทลง ก็เท่ากับทำลายชีวิตแห่งความทุกข์ หรือทำลายความทุกข์ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นจากการ(มีชีวิตอยู่อย่าง)มีตัวตน นี่ก็คือภาวะที่ตรงกันข้าม อันได้แก่ ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา อยู่อย่างไม่มีความหลงยึดถือติดมั่นในตัวตน อยู่อย่างอิสระ อยู่อย่างประสานกลมกลืนกับความจริงของธรรมชาติ หรืออยู่อย่างไม่มีทุกข์

 การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา หมายถึง การอยู่อย่างรู้เท่าทันสภาวะ และรู้จักถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติ การถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้เป็นอย่างเดียวกับการอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ การอยู่ประสาน
    กลมกลืนกับธรรมชาติ เป็นการอยู่อย่างอิสระ การอยู่อย่างเป็นอิสระ ก็คือการไม่ต้องตกอยู่ในอำนาจของตัณหาอุปาทาน หรือการอยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น การอยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็คือการมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา หรือการรู้และเข้าเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามวิถีทางแห่งเหตุปัจจัย

 มีข้อควรย้ำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอีกเล็กน้อย ตามหลักพุทธธรรม ย่อมไม่มีสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ หรือนอกเหนือธรรมชาติ ในแง่ที่ว่ามีอิทธิฤทธิ์บันดาลความเป็นไปในธรรมชาติได้ หรือแม้ในแง่ที่ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างหนึ่งอย่างใดกับความเป็นไปในธรรมชาติ สิ่งใดอยู่นอกเหนือธรรมชาติ สิ่งนั้นย่อมไม่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ คือย่อมพ้นจากธรรมชาติสิ้นเชิง สิ่งใดเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ สิ่งนั้นไม่อยู่นอกเหนือธรรมชาติ แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติ

 อนึ่ง กระบวนการความเป็นไปทั้งปวงในธรรมชาติย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีความเป็นไปลอยๆ และไม่มีการบันดาลให้เกิดขึ้นได้โดยปราศจากเหตุปัจจัย ความเป็นไปที่ประหลาดน่าเหลือเชื่อ ดูเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ หรืออัศจรรย์ใดๆ ก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น แต่ในกรณีที่เหตุปัจจัยในเรื่องนั้นสลับซับซ้อนและยังไม่ถูกรู้เท่าทัน เรื่องนั้นก็กลายเป็นเรื่องประหลาดอัศจรรย์ แต่ความประหลาดอัศจรรย์จะหมดไปทันทีเมื่อเหตุปัจจัยต่างๆ ในเรื่องนั้นถูกรู้เท่าทันหมดสิ้น ดังนั้น คำว่าสิ่งเหนือหรือนอกเหนือธรรมชาติ ตามที่กล่าวมาแล้ว จึงเป็นเพียงสำนวนภาษาเท่านั้น ไม่มีอยู่จริง

 ในเรื่องมนุษย์กับธรรมชาติ ก็เช่นกัน การที่แยกออกมาเป็นคำต่างหากกัน ว่ามนุษย์กับธรรมชาติก็ดี ว่ามนุษย์สามารถบังคับควบคุมธรรมชาติได้ก็ดี เป็นเพียงสำนวนภาษา แต่ตามเป็นจริงแล้ว มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งในธรรมชาติ และการที่มนุษย์ควบคุมบังคับธรรมชาติได้ ก็เป็นเพียงการที่มนุษย์ร่วมเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งและผลักดันปัจจัยอื่นๆ ในธรรมชาติให้ต่อเนื่องสืบทอดกันไปจนบังเกิดผลอย่างนั้นๆ ขึ้น เป็นแต่ในกรณีของมนุษย์นี้ มีปัจจัยฝ่ายจิต อันประกอบด้วยเจตนา เข้าร่วมในกระบวนการด้วย จึงมีการกระทำและผลการกระทำอย่างที่เรียกว่าสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยล้วนๆ ทั้งสิ้น มนุษย์ไม่สามารถสร้างในความหมายที่ว่าให้มีให้เป็นขึ้นลอยๆ โดยปราศจากการเป็นเหตุปัจจัยกันตามวิถีทางของมัน

ที่ว่ามนุษย์บังคับควบคุมธรรมชาติได้ ก็คือการที่มนุษย์รู้เหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะสัมพันธ์ส่งทอดเป็นกระบวนการให้เกิดผลที่ต้องการแล้ว จึงเข้าร่วมเป็นปัจจัยผลักดันปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นให้ต่อเนื่องสืบทอดกันจนเกิดผลที่ต้องการ

 ขั้นตอนในเรื่องนี้มี ๒ อย่าง อย่างที่ ๑ คือรู้ จากนั้น จึงมีอย่างหรือขั้นที่ ๒ คือ เป็นปัจจัยให้แก่ปัจจัยอื่นๆ ต่อๆ กันไป
 ใน ๒ อย่างนี้ อย่างที่สำคัญและจำเป็นก่อนคือ ต้องรู้ ซึ่งหมายถึงปัญญา เมื่อรู้หรือมีปัญญาแล้ว ก็เข้าร่วมด้วยเจตนาในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย อย่างที่เรียกว่าจัดการให้เป็นไปตามประสงค์ได้

 การเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งทั้งหลายด้วยความรู้หรือปัญญาเท่านั้น จึงจะชื่อว่าเป็นการถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้ หรือจะเรียกตามสำนวนภาษาก็ว่า สามารถบังคับควบคุมธรรมชาติได้ และเรื่องนี้มีหลักการอย่างเดียวกัน ทั้งในกระบวนการฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม หรือทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ

 ฉะนั้น ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า การถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้ เป็นอย่างเดียวกับการอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงของการเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันตามกฎธรรมดานี่เอง ทั้งนี้รวมถึงธรรมชาติด้านนามธรรมด้วย ซึ่งจะพูดเป็นสำนวนภาษาว่า สามารถบังคับควบคุมธรรมชาติฝ่ายนามธรรมได้ ควบคุมจิตใจของตนได้ ควบคุมตนเองได้ ก็ถูกต้องทั้งสิ้น
ดังนั้น การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทั้งในฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม ที่จะช่วยให้มนุษย์ถือเอาประโยชน์ได้ ทั้งจากกระบวนการฝ่ายจิตและกระบวนการฝ่ายวัตถุ

 ชีวิตแห่งปัญญา จึงมองลักษณะได้ ๒ ด้าน คือ ด้านภายใน มีลักษณะสงบเย็น ปลอดโปร่ง ผ่องใสด้วยความรู้เท่าทัน เป็นอิสระ เมื่อเสวยสุขก็ไม่สยบมัวเมาหลงระเริงลืมตัว เมื่อขาด พลาด หรือพรากจากเหยื่อล่อสิ่งปรนปรือต่างๆ ก็มั่นคง ปลอดโปร่งอยู่ได้ ไม่หวั่นไหว ไม่หดหู่ซึมเศร้าสิ้นหวังหมดอาลัยตายอยาก ไม่ปล่อยตัวฝากความสุขทุกข์ของตนไว้ในกำมือของอามิสภายนอกที่จะตัดสินให้เป็นไป ด้านภายนอก มีลักษณะคล่องตัว ว่องไว พร้อมอยู่เสมอที่จะเข้าเกี่ยวข้องและจัดการกับสิ่งทั้งหลาย ตามที่มันควรจะเป็น โดยเหตุผลบริสุทธิ์ ไม่มีเงื่อนปม หรือความยึดติดภายในที่จะมาเป็นนิวรณ์ เข้าขัดขวาง กั้นบัง ถ่วง ทำให้เขว หรือทำให้พร่ามัว
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 15, 2014, 01:26:50 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

               

ชีวิตที่แตกต่าง ระหว่างผู้มัวยึดมั่น กับท่านที่อยู่ด้วยปัญญา
 มีพุทธพจน์บางตอนที่แสดงให้เห็นลักษณะบางอย่าง ที่แตกต่างกันระหว่างชีวิตแห่งความยึดมั่นถือมั่น กับชีวิตแห่งปัญญา เช่น
 ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกข- เวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนา (เฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข) บ้าง อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่าง ระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ?

ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมเศร้าโศกคร่ำครวญ ร่ำไห้ รำพัน ตีอกร้องไห้ หลงใหลฟั่นเฟือนไป เขาย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ

 เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศรดอกหนึ่ง แล้วยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรทั้ง ๒ ดอก คือ ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ ฉันใด ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ก็ฉันนั้น...ย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ ทั้งทางกาย และทางใจ


 อนึ่ง เพราะถูกทุกขเวทนานั้นกระทบ เขาย่อมเกิดความขัดใจ เมื่อเขามีความขัดใจเพราะทุกขเวทนา ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนาก็ย่อมนอนเนื่อง เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็หันเข้าระเริงกับกามสุข  เพราะอะไร? เพราะปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมไม่รู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกไปจากกามสุข และเมื่อเขาระเริงอยู่กับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมไม่รู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสลายไป ข้อดีข้อเสีย และทางออก ของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเขาไม่รู้ตามที่มันเป็น อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา (= อุเบกขาเวทนา) ย่อมนอนเนื่อง

 ถ้าได้เสวยสุขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เรียกว่าปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ผู้ประกอบ  ด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราเรียกว่าผู้ประกอบด้วยทุกข์

 ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่คร่ำครวญ ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ตีอกร้องไห้ ไม่หลงใหลฟั่นเฟือน เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่เสวยเวทนาทางใจ

 เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศร แล้วยิงช้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ผิดไป เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้น ย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรดอกเดียว ฉันใด อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ก็ฉันนั้น...ย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ

 อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนานั้น เมื่อไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนา  ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น  ก็ไม่นอนเนื่อง เธอถูกทุกขเวทนากระทบ ก็ไม่หันเข้าระเริงกับกามสุข เพราะอะไร? เพราะอริยสาวกผู้เรียนรู้แล้ว ย่อมรู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกจากกามสุขไปอีก เมื่อเธอไม่ระเริงกับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นก็ไม่นอนเนื่อง เธอย่อมรู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสลายไป ข้อดี ข้อเสีย และทางออกของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเธอรู้ตามที่มันเป็น อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ก็ไม่นอนเนื่อง

 ถ้าเสวยสุขเวทนา เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเวทนาเธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าอริยสาวก ผู้ได้เรียนรู้ ผู้ปราศจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราเรียกว่า ผู้ปราศจากทุกข์
 ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่าง ระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้”


 ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรควรทำลาย เมื่อทำลายแล้วจะได้อะไร อะไรควรทำให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะได้อะไร ส่วนที่ว่า ในการทำลายและทำให้เกิดขึ้นนั้น จะต้องทำอะไรบ้าง เป็นเรื่องของ จริยธรรม ที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้า


ต่อที่>>>> ๕. คำอธิบายตามแบบ
- http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8134/


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

                 

๕. คำอธิบายตามแบบ
 คำอธิบายแบบนี้ มีความละเอียดลึกซึ้ง และกว้างขวางพิสดารมาก เป็นเรื่องทางวิชาการโดยเฉพาะ ผู้ศึกษาต้องอาศัยพื้นความรู้ทางพุทธธรรมและศัพท์วิชาการภาษาบาลีมาก และมีคัมภีร์ที่แสดงไว้เป็นเรื่องจำเพาะที่จะศึกษาได้โดยตรงอยู่แล้ว  จึงควรแสดงในที่นี้เพียงโดยสรุปพอเป็นหลักเท่านั้น

ก. หัวข้อและโครงรูป
 หัวข้อทั้งหมด ได้แสดงไว้ในตอนว่าด้วยตัวบทแล้ว จึงแสดงในที่นี้
แบบรวบรัด .ให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
 อวิชชา-สังขาร-วิญญาณ-นามรูป-สฬายตนะ-ผัสสะ-
    ๑       ๒ ๓     ๔  ๕      ๖
เวทนา-ตัณหา-อุปาทาน-ภพ-ชาติ-ชรามรณะ .... โสกะ  ปริเทวะ
   ๗      ๘  ๙ ๑๐  ๑๑ ๑๒
ทุกข์ โทมนัส อุปายาส = ทุกขสมุทัย
ส่วนฝ่ายดับ หรือทุกขนิโรธ ก็ดำเนินไปตามหัวข้อเช่นเดียวกันนี้
อนึ่ง โดยที่กระบวนธรรมของปฏิจจสมุปบาท หมุนเวียนเป็นวัฏฏะหรือวงจร ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดจบ ไม่มีเบื้องต้นเบื้องปลาย จึงควรเขียนใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในแง่นี้ ดังนี้
 
ข. คำจำกัดความองค์ประกอบ หรือหัวข้อ ตามลำดับ ก่อนแสดงคำจำกัดความและความหมายตามแบบ จะให้คำแปลและความหมายง่ายๆ ตามรูปศัพท์ เป็นพื้นฐานความเข้าใจไว้ชั้นหนึ่งก่อน ดังนี้

๑. อวิชชา ความไม่รู้แจ้ง คือ ไม่รู้ความจริง หรือไม่รู้ตามเป็นจริง
๒. สังขาร ความคิดปรุงแต่ง เจตจำนงและทุกสิ่งที่จิตได้สะสมไว้
๓. วิญญาณ ความรู้ต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ คือ การเห็น-ได้ยิน-ฯลฯ-รู้เรื่องในใจ
๔. นามรูป นามธรรมและรูปธรรม ชีวิตทั้งกายและใจ
๕. สฬายตนะ อายตนะ คือช่องทางรับรู้ ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๖. ผัสสะ การรับรู้ การประจวบกันของอายตนะ+อารมณ์(สิ่งที่ถูกรับรู้)+วิญญาณ
๗. เวทนา ความเสวยอารมณ์ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ
๘. ตัณหา ความทะยานอยาก คือ อยากได้ อยากเป็น อยากไม่เป็น
๙. อุปาทาน ความยึดติดถือมั่น การยึดถือค้างใจ การยึดถือเข้ากับตัว
๑๐. ภพ ภาวะชีวิตที่เป็นอยู่ สภาพชีวิต ผลรวมกรรมทั้งหมดของบุคคล
๑๑. ชาติ ความเกิด ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลายที่ยึดถือเอาเป็นตัวตน
๑๒. ชรามรณะ ความแก่-ความตาย คือ ความเสื่อมอินทรีย์-ความสลายแห่งขันธ์

 ต่อไปนี้ คือ คำจำกัดความองค์ประกอบ หรือหัวข้อทั้ง ๑๒ ตามแบบ
๑. อวิชชา = ความไม่รู้ทุกข์-สมุทัย-นิโรธ-มรรค (อริยสัจ ๔) และ (ตามแบบ อภิธรรม) ความไม่รู้หนก่อน-หนหน้า-ทั้งหนก่อนหนหน้า -ปฏิจจสมุปบาท
๒. สังขาร  = กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร  และ(ตามนัยอภิธรรม)ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร
๓. วิญญาณ =  จักขุวิญญาณ โสต~ ฆาน~ ชิวหา~ กาย~  มโนวิญญาณ  (วิญญาณ ๖)
๔. นามรูป =นาม (เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ; หรือ ตามแบบอภิธรรมว่า เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์) + รูป (มหาภูต ๔ และ รูปที่อาศัยมหาภูต ๔)
๕. สฬายตนะ = จักขุ-ตา  โสตะ-หู  ฆานะ-จมูก  ชิวหา-ลิ้น กาย-กาย  มโน-ใจ
๖. ผัสสะ   = จักขุสัมผัส  โสต~  ฆาน~  ชิวหา~  กาย~  มโนสัมผัส  (สัมผัส ๖)
๗. เวทนา =   เวทนาเกิดจากจักขุสัมผัส จากโสต~ ฆาน~ ชิวหา~ กาย~ และมโนสัมผัส (เวทนา ๖)
๘. ตัณหา =   รูปตัณหา (ตัณหาในรูป) สัททตัณหา (ในเสียง) คันธตัณหา  (ในกลิ่น)  รสตัณหา (ในรส)  โผฏฐัพพตัณหา (ในสัมผัสทางกาย)  ธัมมตัณหา (ในธรรมารมณ์) (ตัณหา ๖)
๙. อุปาทาน =   กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่างๆ) ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ คือ ความเห็น ลัทธิ ทฤษฎีต่างๆ)สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลและพรต ว่าจะทำให้คนบริสุทธิ์ได้)อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในการถืออัตตา สร้างตัวตนขึ้นมายึดถือไว้ด้วยความหลงผิด) 
๑๐. ภพ =   กามภพ รูปภพ อรูปภพ   อีกนัยหนึ่ง= กรรมภพ (ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิ-สังขาร) กับ อุปปัตติภพ (กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญา-ภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ)
๑๑. ชาติ =ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้มาซึ่งอายตนะต่างๆ หรือความเกิด ความปรากฏขึ้น ของธรรมต่างๆ เหล่านั้นๆ
๑๒. ชรามรณะ = ชรา (ความเสื่อมอายุ ความหง่อมอินทรีย์) กับ มรณะ  (ความสลายแห่งขันธ์ ความขาดชีวิตินทรีย์) หรือ ความเสื่อม กับ ความสลายแห่งธรรมต่างๆ เหล่านั้นๆ๑

 ค. ตัวอย่างคำอธิบายแบบช่วงกว้างที่สุด
 เพื่อให้คำอธิบายสั้นและง่าย เห็นว่าควรใช้วิธียกตัวอย่าง ดังนี้(อาสวะ-) อวิชชา เข้าใจว่าการเกิดในสวรรค์เป็นยอดแห่งความสุข เข้าใจว่าฆ่าคนนั้นคนนี้เสียได้เป็นความสุข เข้าใจว่าฆ่าตัวตายเสียได้จะเป็นสุข เข้าใจว่าถึงความเป็นพรหมแล้วจะไม่เกิดไม่ตาย เข้าใจว่าทำพิธีบวงสรวงเซ่นสังเวยแล้วจะไปสวรรค์ได้ เข้าใจว่าจะไปนิพพานได้ด้วยการบำเพ็ญตบะ เข้าใจว่าตัวตนอันนี้นั่นแหละจะได้ไปเกิดเป็นนั่นเป็นนี่ด้วยการกระทำอย่างนี้ เข้าใจว่าตายแล้วสูญ ฯลฯ จึง

 - สังขาร นึกคิด ตั้งเจตจำนงไปตามแนวทางหรือโดยสอดคล้องกับความเข้าใจนั้นๆ คิดปรุงแต่งวิธีการและลงมือกระทำการ (กรรม) ต่างๆ ด้วยเจตนาเช่นนั้น เป็นกรรมดี (บุญ) บ้าง เป็นกรรมชั่ว (อบุญ หรือบาป) บ้าง เป็นอาเนญชาบ้าง จึง
 - วิญญาณ เกิดความตระหนักรู้และรับรู้อารมณ์ต่างๆ เฉพาะที่เป็นไปตามหรือเข้ากันได้กับเจตนาอย่างนั้นเป็นสำคัญ พูดเพื่อเข้าใจกันง่ายๆ ก็ว่า จิตหรือวิญญาณถูกปรุงแต่งให้มีคุณสมบัติเฉพาะขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแบบใดแบบหนึ่ง เมื่อตาย พลังแห่งสังขารคือกรรมที่ปรุงแต่งไว้ จึงทำให้ปฏิสนธิวิญญาณที่มีคุณสมบัติเหมาะกับตัวมัน ปฏิสนธิขึ้นในภพ และระดับชีวิตที่เหมาะกัน คือถือกำเนิดขึ้น แล้ว

 - นามรูป กระบวนการแห่งการเกิด ก็ดำเนินการก่อรูปเป็นชีวิตที่พร้อมจะปรุงแต่งกระทำกรรมต่างๆ ต่อไปอีก จึงเกิดมีรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์  สังขารขันธ์ขึ้นโดยครบถ้วน  ประกอบด้วยคุณสมบัติและข้อ บกพร่องต่างๆ ตามพลังปรุงแต่งของสังขารคือกรรมที่ทำมา และภายในขอบเขตแห่งวิสัยของภพที่ไปเกิดนั้น สุดแต่จะเกิดเป็นมนุษย์ ดิรัจฉาน เทวดา เป็นต้น

 - สฬายตนะ แต่ชีวิตที่จะสนองความต้องการของตัวตน และพร้อมที่จะกระทำการต่างๆ โต้ตอบต่อโลกภายนอก จะต้องมีทางติดต่อกับโลกภายนอก สำหรับให้กระบวนการรับรู้ดำเนินงานได้ ดังนั้น อาศัยนามรูปเป็นเครื่องสนับสนุน กระบวนการแห่งชีวิตจึงดำเนินต่อไปตามพลังแห่งกรรม ถึงขั้น เกิดอายตนะทั้ง ๖ คือ ประสาท ตา หู จมูก ลิ้น กาย และเครื่องรับรู้อารมณ์ภายใน คือ ใจ จากนั้น

 - ผัสสะ กระบวนการแห่งการรับรู้ก็ดำเนินงานได้ โดยการเข้ากระทบหรือประจวบกันระหว่างองค์ประกอบสามฝ่าย คือ อายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) กับอารมณ์ หรืออายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์) และวิญญาณ (จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ) เมื่อการรับรู้เกิดขึ้นครั้งใด

 - เวทนา ความรู้สึกที่เรียกว่า การเสวยอารมณ์ ก็จะต้องเกิดขึ้นในรูปใดรูปหนึ่ง คือ สุขสบาย (สุขเวทนา) ไม่สบาย เจ็บปวด เป็นทุกข์          (ทุกขเวทนา) หรือไม่ก็เฉยๆ (อทุกขมสุขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา) และโดยวิสัยแห่งปุถุชน กระบวนการย่อมไม่หยุดอยู่เพียงนี้ จึง

 - ตัณหา ถ้าสุขสบาย ก็ชอบใจ ติดใจ อยากได้ หรืออยากได้ให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เกิดการทะยานอยากและแส่หาต่างๆ ถ้าเป็นทุกข์ ไม่สบาย ก็ขัดใจ ขัดเคือง อยากให้สูญสิ้นให้หมดไป หรือให้พ้นๆ ไปเสีย ด้วยการทำลายหรือหนีไปให้พ้นก็ตาม เกิดความกระวนกระวายดิ้นรนอยากให้พ้นจากอารมณ์ที่เป็นทุกข์ ขัดใจ หันไปหาไปเอาสิ่งอื่นอารมณ์อื่นที่จะให้ความสุขได้ หรือไม่ก็รู้สึกเฉยๆ คืออุเบกขา ซึ่งเป็นความรู้สึกเพลินๆ อย่างละเอียด จัดเข้าในฝ่ายสุข เพราะไม่ขัดใจ เป็นความสบายอย่างอ่อนๆ จากนั้น

 - อุปาทาน ความอยากเมื่อรุนแรงขึ้นก็กลายเป็นยึด คือยึดมั่นถือมั่นติดสยบหมกมุ่นในสิ่งนั้น หรือ เมื่อยังไม่ได้ก็อยากด้วยตัณหา เมื่อได้หรือถึงแล้ว ก็ยึดฉวยไว้ด้วยอุปาทาน และเมื่อยึดมั่นก็มิใช่ยึดแต่อารมณ์ที่อยากได้ (กามุปาทาน) เท่านั้น แต่ยังพ่วงเอาความยึดมั่นในความเห็น ทฤษฎี ทิฏฐิต่างๆ (ทิฏฐุปาทาน) ความยึดมั่นในแบบแผนความประพฤติและข้อปฏิบัติที่จะให้ได้สิ่งที่ปรารถนา (สีลัพพตุปาทาน) และความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน (อัตตวาทุปาทาน) พัวพันเกี่ยวเนื่องกันไปด้วย ความยึดมั่นถือมั่นนี้ จึงก่อให้เกิด

 - ภพ เจตนา เจตจำนงที่จะกระทำการ เพื่อให้ได้มาและให้เป็นไปตามความยึดมั่นถือมั่นนั้น และนำให้เกิดกระบวนพฤติกรรม (กรรมภพ) ทั้งหมดขึ้นอีก เป็นกรรมดี กรรมชั่ว หรืออาเนญชา สอดคล้องกับตัณหา อุปาทานนั้นๆ เช่น อยากไปสวรรค์ และมีความเห็นที่ยึดมั่นไว้ว่าจะไปสวรรค์ได้ด้วยการกระทำเช่นนี้ ก็กระทำกรรมอย่างนั้นๆ ตามที่ต้องการ พร้อมกับการกระทำนั้น ก็เป็นการเตรียมภาวะแห่งชีวิต คือขันธ์ ๕ ที่จะปรากฏในภพที่สมควรกับกรรมนั้นไว้พร้อมด้วย (อุปปัตติภพ) เมื่อกระบวนการก่อกรรมดำเนินไปเช่นนี้แล้ว ครั้นชีวิตช่วงหนึ่งสิ้นสุดลง พลังแห่งกรรมที่สร้างสมไว้ (กรรมภพ) ก็ผลักดันให้เกิดการสืบต่อขั้นตอนต่อไปในวงจรอีก คือ

 - ชาติ เริ่มแต่ปฏิสนธิวิญญาณที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับพลังแห่งกรรมนั้น ปฏิสนธิขึ้นในภพที่สมควรกับกรรม บังเกิดขันธ์ ๕ ขึ้นพร้อม เริ่มกระบวนการแห่งชีวิตให้ดำเนินต่อไป คือ เกิดนามรูป สฬายตนะ ผัสสะและเวทนาขึ้น หมุนเวียนวงจรอีก และเมื่อการเกิดมีขึ้นแล้ว ย่อมเป็นการแน่นอนที่จะต้องมี

 - ชรามรณะ ความเสื่อมโทรม และแตกดับ แห่งกระบวนการของชีวิตนั้น สำหรับปุถุชน ชรามรณะนี้ ย่อมคุกคามบีบคั้น ทั้งโดยชัดแจ้ง และแฝงซ่อน (อยู่ในจิตส่วนลึก) ตลอดเวลา ดังนั้น ในวงจรชีวิตของปุถุชน ชรามรณะจึงพ่วงมาพร้อมด้วย
 ..... โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ซึ่งเรียกรวมว่าความทุกข์นั่นเอง คำสรุปของปฏิจจสมุปบาทจึงมีว่า “กองทุกข์ทั้งปวง จึงเกิดมีด้วยอาการอย่างนี้

 อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นวัฏฏะ หรือวงจร จึงมิใช่มีความสิ้นสุดที่จุดนี้ แท้จริงองค์ประกอบช่วงนี้ กลับเป็นขั้นตอนสำคัญอย่างยิ่งอีกตอนหนึ่ง ที่จะทำให้วงจรหมุนเวียนต่อไป กล่าวคือ โสกะ (ความแห้งใจ) ปริเทวะ (ความร่ำไร) ทุกข์ โทมนัส (ความเสียใจ) อุปายาส (ความผิดหวังคับแค้นใจ) เป็นอาการสำแดงออกของการมีกิเลสที่เป็นเชื้อหมักดองอยู่ในจิตสันดาน ที่เรียกว่า “อาสวะอันได้แก่ความใฝ่ใจในสิ่งสนองความอยากทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ (กามาสวะ) ความเห็นความยึดถือต่างๆ เช่น ยึดถือว่า รูปเป็นเรา รูปเป็นของเรา เป็นต้น (ทิฏฐาสวะ) ความชื่นชอบอยู่ในใจว่าภาวะแห่งชีวิตอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นสิ่งดีเลิศ ประเสริฐ มีความสุข เช่น คิดภูมิใจหมายมั่นอยู่ว่าเกิดเป็นเทวดามีความสุขแสนพรรณนา เป็นต้น (ภวาสวะ) และความไม่รู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น (อวิชชาสวะ)

 ชรามรณะเป็นเครื่องหมายแห่งความเสื่อมสิ้นสลาย ซึ่งขัดกับอาสวะเหล่านี้ เช่นในด้านกามาสวะ ชรามรณะทำให้ปุถุชนเกิดความรู้สึกว่า ตนกำลังพลัดพราก หรือหมดหวังจากสิ่งที่ชื่นชอบที่ปรารถนา ในด้านทิฏฐาสวะ เมื่อยึดถืออยู่ว่าร่างกายเป็นตัวเราเป็นของเรา พอร่างกายแปรปรวนไป ก็ผิดหวังแห้งใจ ในด้านภวาสวะทำให้รู้สึกตัวว่า จะขาด พลาด พราก ผิดหวัง หรือหมดโอกาสที่จะครองภาวะแห่งชีวิตที่ตัวชื่นชอบอย่างนั้นๆ ในด้านอวิชชาสวะ ก็คือขาดความรู้ความเข้าใจมูลฐานตั้งต้นแต่ว่าชีวิตคืออะไร ความแก่ชราคืออะไร ควรปฏิบัติอย่างไรต่อความแก่ชรา เป็นต้น เมื่อขาดความรู้ความคิดในทางที่ถูกต้อง พอนึกถึงหรือเข้าเกี่ยวข้องกับชรามรณะก็บังเกิดความรู้สึกและแสดงอาการในทางหลงงมงาย หวาดกลัว และเกิดความซึมเศร้าหดหู่ต่างๆ ดังนั้น อาสวะจึงเป็นเชื้อ เป็นปัจจัยที่จะให้ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เกิดขึ้นได้ทันทีที่ชรามรณะเข้ามาเกี่ยวข้อง
 อนึ่ง โสกะ เป็นต้นเหล่านี้ แสดงถึงอาการมืดมัวของจิตใจ เวลาใดความทุกข์เหล่านี้เกิดขึ้น จิตใจจะพร่ามัวเร่าร้อนอับปัญญา เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ ก็เท่ากับพ่วงอวิชชาเกิดขึ้นมาด้วย อย่างที่กล่าวในวิสุทธิมัคค์

 ว่า: โสกะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ไม่แยกไปจากอวิชชา และธรรมดาปริเทวะก็ย่อมมีแก่คนหลง เหตุนั้น เมื่อโสกะเป็นต้นสำเร็จแล้ว อวิชชาก็ย่อมเป็นอันสำเร็จแล้ว 
 ว่า: ในเรื่องอวิชชา พึงทราบว่า ย่อมเป็นอันสำเร็จมาแล้วแต่ธรรมมีโสกะเป็นต้น 
 และว่า: อวิชชาย่อมยังเป็นไปตลอดเวลาที่โสกะเป็นต้นเหล่านั้นยังเป็นไปอยู่   
 โดยนัยนี้ ท่านจึงกล่าวว่า “เพราะอาสวะเกิด อวิชชาจึงเกิด”  และสรุปได้ว่า  ชรามรณะของปุถุชน ซึ่งพ่วงด้วยโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส  อุปายาส ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา หมุนวงจรต่อเนื่องไปอีกไม่ขาดสาย

มีต่อค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 23, 2013, 02:47:59 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ต่อค่ะ
 จากคำอธิบายตามแบบ ที่ได้แสดงมา มีข้อสังเกตและสิ่งที่ควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษ ดังนี้
 ๑. วงจรแห่งปฏิจจสมุปบาทตามคำอธิบายแบบนี้  นิยมเรียกว่า   “ภวจักร” ซึ่งแปลว่าวงล้อแห่งภพ หรือ “สังสารจักร” ซึ่งแปลว่า วงล้อแห่งสังสารวัฏ และจะเห็นได้ว่า คำอธิบายคาบเกี่ยวไปถึง ๓ ช่วงชีวิต คือ อวิชชา กับ สังขาร ช่วงหนึ่ง วิญญาณ ถึง ภพ ช่วงหนึ่ง และ ชาติ กับ ชรามรณะ (พ่วงด้วย โสกะ เป็นต้น) อีกช่วงหนึ่ง
 ถ้ากำหนดเอาช่วงกลาง คือ วิญญาณ ถึง ภพ เป็นชีวิตปัจจุบัน ช่วงชีวิตทั้ง ๓ ซึ่งประกอบด้วยองค์ (หัวข้อ) ๑๒ ก็แบ่งเป็น กาล ๓ ดังนี้

 ๑) อดีต  = อวิชชา สังขาร
 ๒) ปัจจุบัน = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
     ตัณหา อุปาทาน ภพ
 ๓) อนาคต = ชาติ ชรามรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

๒. เมื่อแยกออกเป็น ๓ ช่วงเช่นนี้ ย่อมถือเอาช่วงกลาง คือชีวิตปัจจุบัน หรือชาตินี้ เป็นหลัก และเมื่อถือเอาช่วงกลางเป็นหลัก ก็ย่อมแสดงความสัมพันธ์ในฝ่ายอดีตเฉพาะด้านเหตุ คือสืบสาวจากผลที่ปรากฏในปัจจุบันว่าเกิดมาจากเหตุอะไรในอดีต (= อดีตเหตุ-ปัจจุบันผล) และในฝ่ายอนาคตแสดงเฉพาะด้านผล คือสืบสาวจากเหตุในปัจจุบันออกไปว่าจะให้เกิดผลอะไรในอนาคต (= ปัจจุบันเหตุ-อนาคตผล) โดยนัยนี้ เฉพาะช่วงกลาง คือปัจจุบันช่วงเดียว จึงมีพร้อมทั้งฝ่ายผล และ เหตุ เมื่อมองตลอดสาย ก็แสดงได้เป็น ๔ ช่วง (เรียกว่า สังคหะ ๔ หรือ สังเขป ๔) ดังนี้

๑) อดีตเหตุ = อวิชชา สังขาร
 ๒) ปัจจุบันผล = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ
     ผัสสะ เวทนา
 ๓) ปัจจุบันเหตุ = ตัณหา อุปาทาน ภพ
 ๔) อนาคตผล = ชาติ ชรามรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)
 ๓. จากคำอธิบายขององค์ประกอบแต่ละข้อ จะเห็นความหมายที่

คาบเกี่ยวเชื่อมโยงกันขององค์ประกอบบางข้อ ซึ่งจัดเป็นกลุ่มได้ดังนี้

 ๑) อวิชชา กับ ตัณหา อุปาทาน
 - จากคำอธิบายของ อวิชชา  จะเห็นชัดว่า มีเรื่องของความอยาก (ตัณหา) และความยึดมั่น (อุปาทาน) โดยเฉพาะความยึดมั่นในเรื่องตัวตนเข้าแฝงอยู่ด้วยทุกตัวอย่าง เพราะเมื่อไม่รู้จักชีวิตตามความเป็นจริง หลงผิดว่ามีตัวตน ก็ย่อมมีความอยากเพื่อตัวตน และความยึดถือเพื่อตัวตนต่างๆ และในคำที่ว่า “อาสวะเกิด อวิชชาจึงเกิด” นั้น  กามาสวะ  ภวาสวะ  และ ทิฏฐาสวะ ก็เป็นเรื่องของตัณหาอุปาทานนั่นเอง ดังนั้นเมื่อพูดถึงอวิชชา จึงมีความหมายพ่วงหรือเชื่อมโยงไปถึงตัณหาและอุปาทานด้วยเสมอ

 - ในคำอธิบาย ตัณหา และ อุปาทาน ก็เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่า มีอวิชชาแฝงหรือพ่วงอยู่ด้วยเสมอ ในแง่ที่ว่า เพราะหลงผิดว่าเป็นตัวตน จึงอยากและยึดถือเพื่อตัวตนนั้น เพราะไม่รู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น จึงเข้าไปอยากและยึดถือในสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นเราเป็นของเรา หรืออยากได้เพื่อเรา เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัวทั้งสิ้น และในเวลาที่อยากและยึดถือเช่นนั้น ยิ่งอยากและยึดแรงเท่าใด ก็ยิ่งมองข้ามเหตุผล มองไม่เห็นสิ่งทั้งหลายตามสภาพของมัน และละเลยการปฏิบัติต่อมันด้วยสติปัญญาตามเหตุตามผล มากขึ้นเพียงนั้น โดยเหตุนี้ เมื่อพูดถึง ตัณหา อุปาทาน จึงเป็นอันพ่วงเอาอวิชชาเข้าไว้ด้วย

 โดยนัยนี้ อวิชชา ในอดีตเหตุ กับ ตัณหา อุปาทาน ในปัจจุบันเหตุ จึงให้ความหมายที่ต้องการได้เป็นอย่างเดียวกัน แต่การที่ยกอวิชชาขึ้นในฝ่ายอดีต และยกตัณหาอุปาทานขึ้นในฝ่ายปัจจุบัน ก็เพื่อแสดงตัวประกอบที่เด่นเป็นตัวนำ ในกรณีที่สัมพันธ์กับองค์ประกอบข้ออื่นๆ ในภวจักร

 ๒) สังขาร กับ ภพ
 สังขารกับภพ มีคำอธิบายในวงจรคล้ายกันมาก สังขารอยู่ในช่วงชีวิตฝ่ายอดีต และภพอยู่ในช่วงชีวิตฝ่ายปัจจุบัน ต่างก็เป็นตัวการสำคัญ ที่ปรุงแต่งชีวิตให้เกิดในภพต่างๆ ความหมายจึงใกล้เคียงกันมาก ซึ่งความจริงก็เกือบเป็นอันเดียวกัน ต่างที่ขอบเขตของการเน้น

 สังขาร มุ่งไปที่ตัวเจตนา หรือเจตจำนงผู้ปรุงแต่งการกระทำ เป็นตัวนำในการทำกรรม
 ส่วน ภพ มีความหมายกว้างกว่า โดยแบ่งเป็นกรรมภพ กับ อุปปัตติภพ กรรมภพแม้จะมีเจตนาเป็นตัวการสำคัญเหมือนสังขาร แต่ให้ความรู้สึกครอบคลุมมากกว่า  โดยเพ่งเอากระบวนพฤติกรรมทั้งหมดทีเดียว  ส่วน อุปปัตติภพ หมายถึงขันธ์ ๕ ที่เกิดเพราะกรรมภพนั้น
 โดยนัยนี้ สังขาร กับกรรมภพ จึงพูดพ่วงไปด้วยกันได้

 ๓) วิญญาณ ถึง เวทนา กับ ชาติ ชรามรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)
 - วิญญาณ ถึง เวทนา เป็นตัวชีวิตปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุในอดีต มุ่งกระจายกระบวนการออกให้เห็นอาการที่องค์ประกอบส่วนต่างๆ ของชีวิต ซึ่งเป็นฝ่ายผลในปัจจุบัน เข้าสัมพันธ์กันจนเกิดองค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นเหตุปัจจุบัน ที่จะให้เกิดผลในอนาคตต่อไปอีก

 - ส่วน ชาติ ชรามรณะ แสดงไว้เป็นผลในอนาคต ต้องการชี้ให้เห็นเพียงว่า เมื่อเหตุปัจจุบันยังมีอยู่ ผลในอนาคตก็จะยังมีต่อไป จึงใช้เพียงคำว่า ชาติ และชรามรณะ ซึ่งก็หมายถึงการเกิดดับของ วิญญาณ ถึงเวทนา นั่นเอง แต่เป็นคำพูดแบบสรุป และต้องการเน้นในแง่การเกิดขึ้นของทุกข์ เชื่อมโยงกลับเข้าสู่วงจรอย่างเดิมได้อีก

 ดังนั้น ตามหลักจึงกล่าวว่า วิญญาณ ถึง เวทนา กับ ชาติ ชรามรณะ เป็นอันเดียวกัน พูดแทนกันได้
 เมื่อถือตามแนวนี้ เรื่อง เหตุ-ผล ๔ ช่วงในข้อ ๒. จึงแยกองค์ประกอบเป็นช่วงละ ๕ ได้ทุกตอน คือ
 ๑) อดีตเหตุ ๕  = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
 ๒) ปัจจุบันผล ๕ = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
         (= ชาติ ชรามรณะ)
 ๓) ปัจจุบันเหตุ ๕ = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
 ๔) อนาคตผล ๕  = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
           (= ชาติ ชรามรณะ)
 เมื่อนับหัวข้อดังนี้ จะได้ ๒๐ เรียกกันว่า อาการ ๒๐

 ๔. จากคำอธิบายในข้อ ๓. จึงนำองค์ ๑๒ ของปฏิจจสมุปบาท มาจัดประเภทตามหน้าที่ของมันในวงจร เป็น ๓ พวก เรียกว่า วัฏฏะ ๓ คือ
 ๑) อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็น กิเลส คือตัวสาเหตุผลักดันให้คิดปรุงแต่งกระทำการต่างๆ เรียกว่า กิเลสวัฏ
 ๒) สังขาร (กรรม)ภพ เป็น กรรม คือกระบวนการกระทำ หรือกรรมทั้งหลายที่ปรุงแต่งชีวิตให้เป็นไปต่างๆ เรียกว่า กรรมวัฏ
 ๓) วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็น วิบาก คือ
  สภาพชีวิตที่เป็นผลแห่งการปรุงแต่งของกรรม และกลับเป็น
  ปัจจัยแห่งการก่อตัวของกิเลสต่อไปได้อีก เรียกว่า วิปากวัฏ
 วัฏฏะ ๓ นี้ หมุนเวียนต่อเนื่องเป็นปัจจัยอุดหนุนแก่กัน ทำให้วงจรแห่งชีวิตดำเนินไปไม่ขาดสาย ซึ่งอาจเขียนเป็นภาพได้ดังนี้

 ๕. ในฐานะที่กิเลสเป็นตัวมูลเหตุของการกระทำกรรมต่างๆ ที่จะปรุงแต่งชีวิตให้เป็นไป จึงกำหนดให้กิเลสเป็นจุดเริ่มต้นในวงจร เมื่อกำหนดเช่นนี้ก็จะได้จุดเริ่มต้น ๒ แห่งในวงจรนี้ เรียกว่า มูล ๒ ของ ภวจักร คือ
 ๑) อวิชชา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงอดีต ที่ส่งผลมายังปัจจุบัน ถึงเวทนาเป็นที่สุด
 ๒) ตัณหา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงปัจจุบัน ต่อจากเวทนา ส่งผลไปยัง  อนาคต ถึงชรามรณะเป็นที่สุด

 เหตุผลที่แสดงอวิชชาในช่วงแรก และตัณหาในช่วงหลังนั้น เห็นได้ชัดอยู่แล้วอย่างที่กล่าวในข้อ ๓. คือ อวิชชา ต่อเนื่องจาก โสกะ ปริเทวะ ฯลฯ ส่วนตัณหา ต่อเนื่องจากเวทนา ดังนั้น อวิชชา และ ตัณหา จึงเป็นกิเลสตัวเด่นตรงกับกรณีนั้นๆ
 อนึ่ง ในแง่ของการเกิดในภพใหม่ คำอธิบายตามแบบก็ได้แสดงความแตกต่างระหว่าง กรณีที่อวิชชาเป็นกิเลสตัวเด่น กับ กรณีที่ตัณหาเป็นกิเลสตัวเด่น ไว้ด้วย คือ

- อวิชชา เป็นตัวการพิเศษ ที่จะให้สัตว์ไปเกิดในทุคติ เพราะผู้ถูกอวิชชาครอบงำ ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด อะไรเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมพินาศ ย่อมทำการต่างๆ ด้วยความหลง มืดมัว ไม่มีหลัก จึงมีโอกาสทำกรรมที่ผิดพลาดได้มาก

- ภวตัณหา เป็นตัวการพิเศษที่จะให้สัตว์ไปเกิดในสุคติ ในกรณีที่ภวตัณหาเป็นตัวนำ บุคคลย่อมคำนึงถึงและใฝ่ใจในภาวะแห่งชีวิตที่ดีๆ ถ้าเป็นโลกหน้า ก็คิดอยากไปเกิดในสวรรค์ ในพรหมโลก เป็นต้น ถ้าเป็นภพปัจจุบัน ก็อยากเป็นเศรษฐี อยากเป็นคนมีเกียรติ ตลอดจนอยากได้ชื่อว่าเป็นคนดี เมื่อมีความอยากเช่นนี้ ก็จึงคิดการและลงมือกระทำกรรมต่างๆ ที่จะเป็นทางให้บรรลุจุดหมายนั้นๆ เช่น อยากไปเกิดเป็นพรหม ก็บำเพ็ญฌาน อยากไปสวรรค์ ก็ให้ทานรักษาศีล อยากเป็นเศรษฐี ก็ขยันหาทรัพย์ อยากเป็นคนมีเกียรติ ก็สร้างความดี ฯลฯ ทำให้รู้จักยั้งคิด และไม่ประมาท ขวนขวายในทางที่ดี มีโอกาสทำความดีได้มากกว่าผู้อยู่ด้วยอวิชชา

 เรื่องที่ยกอวิชชา และ ภวตัณหา เป็นหัวข้อต้น (มูล) ของวัฏฏะ แต่ก็มิใช่เป็นมูลการณ์นั้น มีพุทธพจน์แสดงไว้อีก เช่น
 ภิกษุทั้งหลาย ปลายแรกสุดของอวิชชาจะปรากฏก็หาไม่ว่า “ก่อนแต่นี้ อวิชชามิได้มี ครั้นมาภายหลัง จึงมีขึ้น” เรื่องนี้ เรากล่าวดังนี้ว่า “ก็แล เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย อวิชชาจึงปรากฏ

 ส่วน ภวตัณหา ก็มีพุทธพจน์แสดงไว้ มีความอย่างเดียวกัน ดังนี้
 ภิกษุทั้งหลาย ปลายแรกสุดของภวตัณหาจะปรากฏก็หาไม่ว่า “ก่อนแต่นี้ ภวตัณหามิได้มี ครั้นมาภายหลัง จึงมีขึ้น” เรื่องนี้ เรากล่าวดังนี้ว่า “ก็แล เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ภวตัณหาจึงปรากฏ

 ข้อที่อวิชชาและตัณหาเป็นตัวมูลเหตุ และมาด้วยกัน ก็มีพุทธพจน์แสดงไว้ เช่น
 ภิกษุทั้งหลาย กายนี้ เกิดขึ้นพร้อมแล้วอย่างนี้ แก่คนพาล แก่บัณฑิต ผู้ถูกอวิชชาปิดกั้น ผู้ถูกตัณหาผูกรัด ก็แล กายนี้นั่นเอง กับนามรูปภายนอก จึงมีเป็น ๒ อย่าง อาศัย ๒ อย่างนั้น จึงมีผัสสะเพียง ๖ อายตนะเท่านั้น คนพาล...บัณฑิต ได้ผัสสะโดยทางอายตนะเหล่านี้ หรือเพียงอันใดอันหนึ่ง จึงได้เสวยความสุขและความทุกข์

 ๖. อาการที่องค์ประกอบต่างๆ ในปฏิจจสมุปบาท สัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กันนั้น ย่อมเป็นไปโดยแบบความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ในบรรดาแบบความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ปัจจัย ๒๔ อย่าง ตามคำอธิบายแบบที่เรียกว่า ปัฏฐานนัย
 อนึ่ง องค์ประกอบแต่ละข้อย่อมมีรายละเอียดและขอบเขตความหมายกว้างขวางอยู่ในตัว เช่น เรื่องวิญญาณหรือจิต ก็แยกออกไปได้อีกว่า วิญญาณหรือจิต ที่ดีหรือชั่ว มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง มีกี่ระดับ จิตอย่างใดจะเกิดได้ ณ ภพใด ดังนี้เป็นต้น หรือในเรื่องรูป ก็มีรายละเอียดอีกเป็นอันมาก เช่น รูปมีกี่ประเภท แต่ละอย่างมีคุณสมบัติอย่างไร ในภาวะเช่นใดจะมีรูปอะไรเกิดขึ้นบ้าง ดังนี้เป็นต้น

 เรื่อง ปัจจัย ๒๔ นั้นก็ดี รายละเอียดโดยพิสดารขององค์ประกอบแต่ละข้อๆ ก็ดี เห็นว่ายังไม่จำเป็นจะต้องนำมาแสดงไว้ในที่นี้ทั้งหมด ผู้สนใจพิเศษพึงศึกษาโดยเฉพาะจากคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม
 จากคำอธิบายข้างต้น อาจแสดงเป็นแผนภาพประกอบความเข้าใจได้ดังนี้

หมายเหตุ: เทียบตามแนวอริยสัจ เรียกช่วงเหตุว่า “สมุทัย” เพราะเป็นตัวการก่อทุกข์  เรียกช่วงผลว่า “ทุกข์” อีกอย่างหนึ่ง เรียกช่วงเหตุว่า “กรรมภพ” เพราะเป็นกระบวนการฝ่ายก่อเหตุ เรียกช่วงผลว่า “อุปปัตติภพ” เพราะเป็นกระบวนการฝ่ายเกิดผล- จุดเชื่อมต่อระหว่าง เหตุ กับ ผล และ ผล กับ เหตุ เรียกว่า “สนธิ” มี ๓ คือ สนธิที่ ๑=เหตุผลสนธิ   สนธิที่ ๒=ผลเหตุสนธิ   สนธิที่ ๓=เหตุผลสนธิ

มีต่อค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 15, 2014, 01:35:05 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



๖. ความหมายในชีวิตประจำวัน
 คำอธิบายที่ผ่านมาแล้วนั้น เรียกว่าคำอธิบายตามแบบ โดยความหมายว่า เป็นคำอธิบายที่มีในคัมภีร์อรรถกถาต่างๆ และนิยมยึดถือกันสืบมา จะเห็นได้ว่า คำอธิบายแบบนั้นมุ่งแสดงในแง่สังสารวัฏ คือ การเวียนว่ายตายเกิด ข้ามชาติข้ามภพ ให้เห็นความต่อเนื่องกันของชีวิตในชาติ ๓ ชาติ คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต และได้จัดวางรูปคำอธิบายจนดูเป็นระบบ มีแบบแผนแน่นอนตายตัว

 ผู้ไม่เห็นด้วย หรือไม่พอใจกับคำอธิบายแบบนั้น และต้องการอธิบายตามความหมายที่เป็นไปอยู่ทุกขณะในชีวิตประจำวัน นอกจากจะสามารถอ้างคำอธิบายในคัมภีร์อภิธรรม ที่แสดงปฏิจจสมุปบาทตลอดสายในขณะจิตเดียวแล้ว ยังสามารถตีความพุทธพจน์ข้อเดียวกันกับที่ฝ่ายอธิบายตามแบบได้ใช้อ้างอิงนั่นเอง ให้เห็นความหมายอย่างที่ตนเข้าใจ นอกจากนั้น ยังสามารถอ้างเหตุผลและหลักฐานในคัมภีร์อย่างอื่นๆ เป็นเครื่องยืนยันความเห็นฝ่ายตนให้หนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีกได้ด้วย คำอธิบายแบบนี้ มีความหมายที่น่าสนใจพิเศษเฉพาะตัวมัน จึงแยกมาตั้งเป็นอีกหัวข้อหนึ่งต่างหาก

 เหตุผลที่อ้างได้ในการอธิบายแบบนี้มีหลายอย่าง เช่นว่า การดับทุกข์ และอยู่อย่างไม่มีทุกข์ของพระอรหันต์ เป็นเรื่องที่เป็นไปอยู่ตั้งแต่ชีวิตปัจจุบันนี้แล้ว ไม่ต้องรอให้สิ้นชีวิตเสียก่อนจึงจะไม่มีชาติใหม่ ไม่มีชรามรณะแล้วจึงไม่มี โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ในอนาคตชาติ แต่โสกะ ปริเทวะ ฯลฯ ไม่มีตั้งแต่ชาติปัจจุบันนี้แล้ว วงจรของปฏิจจสมุปบาทในการเกิดทุกข์ หรือดับทุกข์ก็ดี จึงเป็นเรื่องของชีวิตที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบันนี้เองครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่ต้องไปค้นหาในชาติก่อน หรือรอไปดูชาติหน้า

 นอกจากนั้น เมื่อเข้าใจวงจรที่เป็นไปอยู่ในชีวิตปัจจุบันดีแล้ว ก็ย่อมเข้าใจวงจรในอดีตและวงจรในอนาคตไปด้วย เพราะเป็นเรื่องอย่างเดียวกันนั่นเอง

 ในด้านพุทธพจน์ ก็อาจอ้างพุทธดำรัสต่อไปนี้ เช่น
 ดูกรอุทายี ผู้ใดระลึกขันธ์ที่เคยอยู่มาก่อนได้ต่างๆ มากมาย… ผู้นั้น จึงควรถามปัญหากะเราในเรื่องหนหลัง (ชาติก่อน)  หรือเราจึงควรถามปัญหาในเรื่องหนหลังกะผู้นั้น ผู้นั้นจึงจะทำให้เราถูกใจได้ด้วยการแก้ปัญหาในเรื่องหนหลัง หรือ เราจึงจะทำให้ผู้นั้นถูกใจได้ด้วยการแก้ปัญหาในเรื่องหนหลัง

 ผู้ใดเห็นสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่จุติอยู่ ทั้งที่อุบัติอยู่ ด้วยทิพยจักษุ...ผู้นั้นจึงควรถามปัญหากะเราในเรื่องหนหน้า (ชาติหน้า)  หรือว่า เราจึงควรถามปัญหาในเรื่องหนหน้ากะผู้นั้น ผู้นั้นจึงจะทำให้เราถูกใจได้ด้วยการแก้ปัญหาในเรื่องหนหน้า หรือเราจึงจะทำให้ผู้นั้นถูกใจได้ด้วยการแก้ปัญหาในเรื่องหนหน้า

 ก็แล อุทายี เรื่องหนก่อน ก็งดไว้เถิด เรื่องหนหน้า ก็งดไว้เถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ

 นายบ้าน ชื่อ คันธภัก นั่งลง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดแสดงความอุทัยและความอัสดงแห่งทุกข์ แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”

 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า:- แน่ะท่านนายบ้าน ถ้าเราแสดงความเกิดขึ้นและความอัสดงแห่งทุกข์แก่ท่าน โดยอ้างกาลส่วนอดีตว่า “ในอดีตกาล ได้มีแล้วอย่างนี้” ความสงสัยเคลือบแคลงในข้อนั้น ก็จะมีแก่ท่านได้ ถ้าเราแสดงความเกิดขึ้นและความอัสดงแห่งทุกข์แก่ท่าน โดยอ้างกาลส่วนอนาคตว่า “ในอนาคตกาล จักเป็นอย่างนี้” ความสงสัย ความเคลือบแคลง ก็จะมีแก่ท่านแม้ในข้อนั้นได้อีก ก็แล ท่านนายบ้าน เรานั่งอยู่ที่นี่แหละ จักแสดงความเกิดขึ้นและความอัสดงแห่งทุกข์แก่ท่าน ผู้นั่งอยู่ ณ ที่นี้เหมือนกัน

 ดูกรสิวก เวทนาบางอย่างเกิดขึ้น มีดีเป็นสมุฏฐานก็มี...มีเสมหะเป็นสมุฏฐานก็มี...มีลมเป็นสมุฏฐานก็มี...มีการประชุมแห่งเหตุเป็นสมุฏฐานก็มี...เกิดจากความแปรปรวนแห่งอุตุก็มี...เกิดจากบริหารตนไม่สม่ำเสมอก็มี...เกิดจากถูกทำร้ายก็มี...เกิดจากผลกรรมก็มี ข้อที่เวทนา...เกิดขึ้นโดยมี (สิ่งที่กล่าวมาแล้ว) เป็นสมุฏฐาน เป็นเรื่องที่รู้ได้ด้วยตนเอง ทั้งชาวโลกก็รู้กันทั่วว่าเป็นความจริงอย่างนั้น

 ในเรื่องนั้น  สมณพราหมณ์เหล่าใด มีวาทะ มีความเห็นอย่างนี้ว่า “บุคคลได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เวทนาทั้งหมดนั้น เป็นเพราะกรรมที่กระทำไว้ในปางก่อน”  สมณพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าแล่นไปไกลล่วงเลยสิ่งที่รู้กันได้ด้วยตนเอง แล่นไปไกลล่วงเลยสิ่งที่ชาวโลกเขารู้กันทั่วว่าเป็นความจริง ฉะนั้น เรากล่าวว่าเป็นความผิดของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเอง

 ภิกษุทั้งหลาย บุคคลจงใจ กำหนดจดจ่อ ครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อให้วิญญาณดำรงอยู่ เมื่ออารมณ์มีอยู่ วิญญาณก็มีที่อาศัย เมื่อวิญญาณตั้งมั่นแล้ว เมื่อวิญญาณเจริญขึ้นแล้ว การบังเกิดในภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อการบังเกิดในภพใหม่ต่อไปมีอยู่ ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงมีต่อไป ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีได้อย่างนี้
 
 ความหมายของปฏิจจสมุปบาทตามแนวนี้ แม้จะต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษ ก็ไม่ทิ้งความหมายเดิมที่อธิบายตามแบบ ดังนั้น ก่อนอ่านความหมายที่จะกล่าวต่อไป จึงควรทำความเข้าใจความหมายตามแบบที่กล่าวมาแล้วเสียก่อนด้วย เพื่อวางพื้นฐานความเข้าใจและเพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบต่อไป

มีต่อค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 15, 2014, 01:41:25 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ก. ความหมายอย่างง่าย
๑. อวิชชา (ignorance, lack of knowledge) = ความไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริง ความไม่รู้เท่าทันตามสภาวะ ความหลงไปตามสมมุติบัญญัติ ความไม่เข้าใจโลกและชีวิตตามที่เป็นจริง ความไม่รู้ที่แฝงอยู่กับความเชื่อถือต่างๆ ภาวะขาดปัญญา ความไม่หยั่งรู้เหตุปัจจัย การไม่ใช้ปัญญาหรือปัญญาไม่ทำงานในขณะนั้น

๒. สังขาร (volitional activities) = ความคิดปรุงแต่ง ความจงใจ มุ่งหมาย ตัดสินใจ และการที่จะแสดงเจตนาออกเป็นการกระทำ กระบวนความคิดที่เป็นไปตามความโน้มเอียง ความเคยชิน และคุณสมบัติต่างๆ ของจิตซึ่งได้สั่งสมไว้

๓. วิญญาณ (consciousness) = การรู้ต่ออารมณ์ต่างๆ คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสกาย รู้ต่ออารมณ์ที่มีในใจ ตลอดจนสภาพพื้นเพของจิตใจในขณะนั้นๆ

๔. นามรูป (animated organism) = ความมีอยู่ของรูปธรรมและนามธรรม ในความรับรู้ของบุคคล ภาวะที่ร่างกายและจิตใจทุกส่วนอยู่ในสภาพที่สอดคล้องและปฏิบัติหน้าที่เพื่อตอบสนองในแนวทางของวิญญาณที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนต่างๆ ของร่างกายและจิตใจที่เจริญหรือเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพจิต

๕. สฬายตนะ (the six sense-bases) = ภาวะที่อายตนะที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่โดยสอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ
๖. ผัสสะ (contact) = การเชื่อมต่อความรู้กับโลกภายนอก การรับรู้อารมณ์ หรือประสบการณ์ต่างๆ
๗. เวทนา (feeling) = ความรู้สึกสุขสบาย ถูกใจ หรือทุกข์ ไม่สบาย หรือเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์

๘. ตัณหา (craving) = ความอยาก ทะยานร่านรนหาสิ่งอำนวยสุขเวทนา หลีกหนีสิ่งที่ก่อทุกขเวทนา แยกโดยอาการเป็น อยากได้ อยากเอา อยากเป็น อยากคงอยู่ในภาวะนั้นๆ ยั่งยืนตลอดไป อยากเลี่ยงพ้น อยากให้ดับสูญ หรืออยากทำลาย

๙. อุปาทาน (attachment, clinging) = ความยึดติดถือมั่นในเวทนาที่ชอบหรือชัง รวบรั้งเอาสิ่งต่างๆ และภาวะชีวิตที่อำนวยเวทนานั้นเข้ามาผูกพันกับตัว, การเทิดค่าถือความสำคัญของภาวะและสิ่งต่างๆ ในแนวทางที่เสริมหรือสนองตัณหาของตน

๑๐. ภพ (process of becoming) = กระบวนพฤติกรรมทั้งหมดที่แสดงออก เพื่อสนองตัณหาอุปาทานนั้น (กรรมภพ-the active process) และ ภาวะแห่งชีวิตสำหรับตัวตน หรือตัวตนที่จะมีจะเป็นในรูปใดรูปหนึ่ง (อุปปัตติภพ-the passsive process)  โดยสอดคล้องกับอุปาทานและกระบวน   พฤติกรรมนั้น

๑๑. ชาติ (birth) = การเกิดความตระหนักในตัวตนว่าอยู่หรือไม่ได้อยู่ในภาวะชีวิตนั้นๆ มีหรือไม่ได้มี เป็นหรือไม่ได้เป็นอย่างนั้นๆ

๑๒. ชรามรณะ (decay and death) = ความสำนึกในความขาด พลาด หรือ พรากแห่งตัวตน จากภาวะชีวิตอันนั้น ความรู้สึกว่าตัวตนถูกคุกคามด้วยความสูญสิ้น สลาย หรือพลัดพรากจากภาวะชีวิตนั้นๆ หรือจากการได้มี ได้เป็นอย่างนั้นๆ จึงเกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส พ่วงมาด้วย คือ รู้สึกคับแค้น ขัดข้อง ขุ่นมัว แห้งใจ หดหู่ ซึมเซา หวาด กังวล ไม่สมหวัง กระวนกระวาย และทุกขเวทนาต่างๆ

มีต่อค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 15, 2014, 01:46:17 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

ข. ตัวอย่างแสดงความสัมพันธ์อย่างง่าย
๑. อวิชชา-สังขาร:
  เพราะไม่รู้ตามเป็นจริง ไม่เข้าใจชัดเจน จึงคิดปรุงแต่ง เดา คิดวาดภาพไปต่างๆ
 เหมือนคนอยู่ในความมืด เห็นแสงสะท้อนนัยน์ตาสัตว์ มีความเชื่อเรื่องผีอยู่แล้ว เลยคิดเห็นเป็นรูปหน้าหรือตัวผีขึ้นมาจริงๆ และเห็นเป็นอาการต่างๆ เกิดความกลัว คิดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น วิ่งหนี
 หรือเหมือนคนไม่เห็นของทายที่อยู่ในกำมือ จึงคิดหาเหตุผลมาทายเดา และถกเถียงต่างๆ ฯลฯ
 ยิ้มให้เขา เขาไม่ยิ้มตอบ ไม่ได้สอบสวนหรือพิจารณาว่า เขาอาจไม่ทันมอง เขาสายตาสั้นมองไม่เห็น หรือเขามีอารมณ์ค้าง เป็นต้น จึงโกรธ น้อยใจ คิดฟุ้งซ่านไปต่างๆ
 หรือเห็นเขายิ้ม ไม่รู้ยิ้มอะไร ตัวมีปมในใจ คิดวาดภาพไปว่าเขาเยาะ และผูกอาฆาต
 คนที่เชื่อว่าเทวดาชอบใจจะบันดาลอะไรให้ได้ ก็คิดปรุงแต่งคำอ้อนวอน พิธีบวงสรวงสังเวยต่างๆขึ้น กระทำการเซ่นสรวงอ้อนวอนต่างๆ

๒. สังขาร-วิญญาณ: เมื่อมีเจตนา คือตั้งใจมุ่งหมาย ตกลงจะเกี่ยวข้อง วิญญาณที่เห็น ได้ยิน เป็นต้น จึงจะเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่จำนง ไม่ใส่ใจ ถึงจะอยู่ในวิสัยที่จะรับรู้ได้ วิญญาณก็ไม่เกิดขึ้น (= ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ฯลฯ) เหมือนคนกำลังคิดมุ่งหรือทำงานอะไรอย่างจดจ้องสนใจอยู่อย่างหนึ่ง เช่น อ่านหนังสืออย่างเพลิดเพลิน จิตรับรู้เฉพาะเรื่องที่อ่าน มีเสียงดังควรได้ยินก็ไม่ได้ยิน ยุงกัดก็ไม่รู้ตัว เป็นต้น

 กำลังมุ่งค้นหาของอย่างใดอย่างหนึ่ง มองไม่เห็นคนหรือของอื่นที่ผ่านมาในวิสัยที่จะพึงเห็น
 มองของสิ่งเดียวกันคนละครั้ง ด้วยเจตนาคนละอย่าง เห็นไปตามแง่ของเจตนานั้น เช่น มองไปที่พื้นดินว่างแห่งหนึ่งด้วยความคิดของเด็กที่จะเล่น ได้ความรับรู้และความหมายอย่างหนึ่ง มองไปอีกครั้งด้วยความคิดจะปลูกสร้างบ้าน ได้ความรับรู้และความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง มองไปอีกครั้งด้วยความคิดของเกษตรกร ได้ความรับรู้และความหมายอย่างหนึ่ง มองด้วยความคิดของอุตสาหกร ได้ความรับรู้และความหมายอีกอย่างหนึ่ง มองของสิ่งเดียวกันคนละครั้งด้วยความคิดนึกคนละอย่าง เกิดความรับรู้คนละแง่ละด้าน

 เมื่อคิดนึกในเรื่องที่ดีงาม จิตก็รับรู้อารมณ์ที่ดีงาม และรับรู้ความหมายในแง่ที่ดีงามของอารมณ์นั้น เมื่อคิดนึกในทางที่ชั่วร้าย จิตก็รับรู้อารมณ์ส่วนที่ชั่วร้าย และรับรู้ความหมายในแง่ที่ชั่วร้ายของอารมณ์นั้น โดยสอดคล้องกัน เช่น

       ในกลุ่มของหลายอย่างที่วางอยู่ใกล้กัน และอยู่ในวิสัยของการเห็นครั้งเดียวทั้งหมด มีมีดกับดอกไม้อยู่ด้วย คนที่รักดอกไม้ มองเข้าไป จิตอาจรับรู้เห็นแต่ดอกไม้อย่างเดียว และการรับรู้จะเกิดซ้ำอยู่ที่ดอกไม้อย่างเดียว จนไม่ได้สังเกตเห็นของอื่นที่วางอยู่ใกล้ ยิ่งความสนใจชอบใจ ติดใจในดอกไม้มีมากเท่าใด การรับรู้ต่อดอกไม้ก็ยิ่งถี่ขึ้น และการรับรู้ต่อสิ่งของอื่นๆ ก็น้อยลงไปเท่านั้น ส่วนคนที่กำลังจะใช้อาวุธมองเข้าไป จิตก็จะรับรู้แต่มีดเช่นเดียวกัน และแม้ในกรณีเห็นมีดเป็นอารมณ์ด้วยกัน สำหรับคนหนึ่งอาจรับรู้มีดในฐานะอาวุธสำหรับประหารผู้อื่น อีกคนหนึ่งอาจรับรู้ในแง่สิ่งที่จะใช้ประโยชน์ในครัว อีกคนหนึ่งอาจรับรู้ในฐานะเป็นชิ้นโลหะชิ้นหนึ่ง สุดแต่ผู้นั้นเป็นโจร เป็นคนครัว เป็นคนรับซื้อโลหะเก่า และอยู่ในภาวะแห่งความคิดนึกเจตจำนงอย่างใด ฯลฯ

๓. วิญญาณ-นามรูป: วิญญาณกับนามรูป อาศัยซึ่งกันและกัน อย่างที่พระสารีบุตรกล่าวว่า “ไม้อ้อ ๒ กำ ตั้งอยู่ได้เพราะต่างอาศัยซึ่งกันและกันฉันใด เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ฯลฯ ฉันนั้น ไม้อ้อ ๒ กำนั้น ถ้าเอาออกเสียกำหนึ่ง อีกกำหนึ่งย่อมล้ม ถ้าดึงอีกกำหนึ่งออก อีกกำหนึ่งก็ล้ม ฉันใด เพราะนามรูปดับ วิญญาณก็ดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปก็ดับ ฯลฯ ฉันนั้น”

      โดยนัยนี้ เมื่อวิญญาณเกิดมี นามรูปจึงเกิดมีได้ และต้องเกิดมีด้วย ในกรณีที่สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปพร้อมกันไปด้วย แต่เพราะนามรูปจะมีได้ต้องอาศัยวิญญาณ ในฐานะที่เป็นคุณสมบัติเป็นต้นของวิญญาณ จึงกล่าวว่าสังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ในที่นี้อาจแยกภาวะที่วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปได้ดังนี้

 ๑) ที่ว่าจิตรับรู้ต่ออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เห็นของสิ่งหนึ่ง ได้ยินเสียงอย่างหนึ่งเป็นต้นนั้น แท้จริงก็คือรับรู้ต่อนามรูป (ในที่นี้หมายถึง รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์) ต่างๆ นั่นเอง สิ่งที่มีสำหรับบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง ก็คือ สิ่งที่มีอยู่ในความรับรู้ของเขาในขณะนั้นๆ หรือนามรูปที่ถูกวิญญาณรับรู้ในขณะนั้นๆ เท่านั้น เช่น ดอกกุหลาบที่มีอยู่ ก็คือดอกกุหลาบที่กำลังถูกรับรู้ทางจักษุประสาท หรือทางมโนทวารในขณะนั้นๆ เท่านั้น นอกจากนี้ ดอกกุหลาบ ที่มีอยู่ และที่เป็นดอกกุหลาบอย่างนั้นๆ ก็มิได้มีอยู่ต่างหากจากบัญญัติ (concept) ในมโนทวาร และมิได้ผิดแปลกไปจากเวทนา สัญญา และสังขารของผู้นั้น ที่มีอยู่ในขณะนั้นๆ เลย โดยนัยนี้ เมื่อวิญญาณมี นามรูปจึงมีอยู่พร้อมกันนั่นเอง และมีอยู่อย่างอิงอาศัยค้ำจุนซึ่งกันและกัน

 ๒) นามรูปที่เนื่องอาศัยวิญญาณ ย่อมมีคุณภาพสอดคล้องกับวิญญาณนั้นด้วย โดยเฉพาะนามทั้งหลายก็คือคุณสมบัติของจิตนั่นเอง เมื่อความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) ดีงาม ก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณซึ่งรับรู้อารมณ์ที่ดีงามและในแง่ที่ดีงาม ในขณะนั้น จิตใจก็ปลอดโปร่งผ่องใสไปตาม อากัปกิริยาหรือพฤติกรรมต่างๆ ทางด้านร่างกาย ก็แสดงออกหรือปรากฏรูปลักษณะในทางที่ดีงามสอดคล้องกัน เมื่อคิดนึกในทางที่ชั่ว ก็เกิดความรับรู้อารมณ์ในส่วนและในแง่ที่ชั่วร้าย จิตใจก็มีสภาพขุ่นมัวหม่นหมอง อากัปกิริยาหรือพฤติกรรมต่างๆ ทางร่างกาย ก็แสดงออกหรือปรากฏรูปลักษณะเป็นความเครียดกระด้างหม่นหมองไปตาม ในสภาพเช่นนี้ องค์ประกอบต่างๆ ทั้งในทางจิตใจ และร่างกาย อยู่ในภาวะที่พร้อม หรืออยู่ในอาการที่กำลังปฏิบัติหน้าที่โดยสอดคล้องกับสังขารและวิญญาณที่เกิดขึ้น

 เมื่อรู้สึกรักใคร่มีไมตรี (สังขาร) ก็เกิดความรับรู้อารมณ์ส่วนที่ดีงาม (วิญญาณ) จิตใจก็แช่มชื่นเบิกบาน (นาม) สีหน้าก็สดชื่นยิ้มแย้มแจ่มใส ตลอดจนกิริยาอาการต่างๆก็กลมกลืนกัน (รูป) อยู่ในภาวะที่พร้อมจะแสดงออกในทางที่ดีงามต่อไป

 เมื่อโกรธเคือง ก็เกิดความรับรู้อารมณ์แต่ส่วนที่เลว จิตใจก็ขุ่นมัวขัดข้อง สีหน้ากิริยาอาการก็บึ้งบูดเคร่งเครียด อยู่ในภาวะที่พร้อมจะแสดงอาการและกระทำการต่างๆ ในแนวทางนั้นต่อไป

 นักกีฬาที่อยู่ในสนาม เมื่อการแข่งขันเริ่มขึ้น ความนึกคิด เจตจำนงต่างๆ จะพุ่งไปในกีฬาที่แข่งขันอยู่นั้น ความรับรู้ต่างๆ ก็เกิดดับอยู่ในเรื่องนั้น ด้วยอัตราความถี่มากน้อยตามกำลังของเจตจำนงความสนใจที่พุ่งไปในกีฬานั้น จิตใจและร่างกายทุกส่วนที่เกี่ยวข้องก็อยู่ในภาวะพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่แสดงพฤติกรรมออกมาโดยสอดคล้องกัน

 ความเป็นไปในช่วงนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญส่วนหนึ่งในกระบวนการแห่งกรรมและการให้ผลของกรรม วงจรแห่งวัฏฏะหมุนมาครบรอบเล็ก (อวิชชา:กิเลส - สังขาร:กรรม - วิญญาณ+นามรูป:วิบาก) และกำลังจะเริ่มตั้งต้นหมุนต่อไป นับว่าเป็นขั้นตอนสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้างนิสัย ความเคยชิน ความรู้ ความชำนาญ และบุคลิกภาพ

๔. นามรูป-สฬายตนะ: การที่นามรูปจะปฏิบัติหน้าที่ต่อๆ ไป ต้องอาศัยความรู้ต่อโลกภายนอก หรือดึงความรู้ที่สะสมไว้แต่เดิมมาเป็นเครื่องประกอบการตัดสินหรือเลือกว่า จะดำเนินพฤติกรรมใดต่อไป ในทิศทางใด ดังนั้น นามรูปส่วนที่มีหน้าที่เป็นสื่อหรือช่องทางติดต่อรับรู้อารมณ์ต่างๆ คืออายตนะที่เกี่ยวข้องในกรณีนั้นๆ จึงอยู่ในสภาพตื่นตัวและปฏิบัติหน้าที่สัมพันธ์สอดคล้องกับปัจจัยข้อก่อนๆ ตามลำดับมา เช่น ในกรณีของนักฟุตบอลในสนาม อายตนะที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์อันเกี่ยวกับกีฬาที่เล่นอยู่นั้น เช่น ประสาทตา ประสาทหู เป็นต้น ก็จะอยู่ในสภาพตื่นตัวที่จะรับรู้อารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาที่เล่นด้วยความไวเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกัน อายตนะที่ไม่เกี่ยวกับการรับรู้อารมณ์ที่มุ่งหมายนั้น ก็จะไม่อยู่ในสภาพตื่นตัวที่จะให้เกิดการรับรู้อารมณ์ พูดง่ายๆ ว่า ผ่อนการปฏิบัติหน้าที่ลงไปตามส่วน เช่น ความรู้สึกกลิ่น และความรู้สึกรสอาจไม่เกิดขึ้นเลย ในขณะที่กำลังเล่นอย่างกระชั้นชิดติดพัน เป็นต้น

๕. สฬายตนะ-ผัสสะ: เมื่ออายตนะปฏิบัติหน้าที่ การรับรู้ก็เกิดขึ้น โดยมีองค์ประกอบ ๓ อย่างเข้าบรรจบกัน คือ อายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย มโน อย่างใดอย่างหนึ่ง) กับอารมณ์ภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง) และวิญญาณ (ทางจักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน อย่างใดอย่างหนึ่ง) การรับรู้ก็เกิดขึ้นโดยสอดคล้องกับอายตนะนั้นๆ

๖. ผัสสะ-เวทนา: เมื่อผัสสะเกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องมีความรู้สึกเกี่ยวด้วยสุขทุกข์เกิดขึ้น อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่าง คือ สบาย ชื่นใจ เป็นสุข (สุขเวทนา) หรือไม่ก็ บีบคั้น ไม่สบาย เจ็บปวด เป็นทุกข์ (ทุกขเวทนา) หรือไม่ก็เฉยๆ เรื่อยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ (อุเบกขา หรือ อทุกขมสุขเวทนา)

      ปฏิจจสมุปบาทตั้งแต่หัวข้อที่ ๓ ถึง ๗ คือ วิญญาณ-ถึง-เวทนา นี้ เป็นกระบวนการในช่วงวิบาก คือ ผลของกรรม โดยเฉพาะข้อ ๕-๖-๗ ไม่เป็นบุญเป็นบาป ไม่ดีไม่ชั่วโดยตัวของมันเอง แต่จะเป็นเหตุแห่งความดีความชั่วได้ต่อไป

๗. เวทนา-ตัณหา: เมื่อได้รับสุขเวทนา ก็พอใจ ชอบใจ ติดใจอยากได้ และอยากได้ยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อได้รับทุกขเวทนา ก็ขัดใจ อยากให้สิ่งนั้นสูญสิ้นพินาศไปเสีย อยากให้ตนพ้นไปจากทุกขเวทนานั้น และอยากได้ แส่ ดิ้นรนไปหาสิ่งอื่นที่จะให้สุขเวทนาต่อไป เมื่อได้รับอุเบกขาเวทนา คือรู้สึกเฉยๆ ก็ชวนให้เกิดอาการซึมๆ เพลิน อย่างมีโมหะ และเป็นสุขเวทนาอย่างอ่อนๆ ที่ทำให้ติดใจได้ และเป็นเชื้อให้ขยายตัวออกเป็นความอยากได้สุขเวทนาต่อไป

      ตัณหา นั้น เมื่อแยกให้ชัดโดยอาการ ก็มี ๓ อย่าง คือ
 ๑) กามตัณหา (craving for sense-pleasure) ความอยากได้สิ่งสำหรับสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕
 ๒) ภวตัณหา (craving for self-existence) ความอยากได้สิ่งต่างๆ โดยสัมพันธ์กับภาวะชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือความอยากในภาวะชีวิตที่จะอำนวยสิ่งที่ปรารถนานั้นๆ ได้ ในความหมายที่ลึกลงไป คือ ความอยากในความมีอยู่ของตัวตนที่จะได้จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
 ๓) วิภวตัณหา (craving for non-existence or self-annihilation) ความอยากให้ตัวตนพ้นไป ขาดหาย พรากหรือสูญสิ้นไปเสียจากสิ่งหรือภาวะชีวิตที่ไม่ปรารถนานั้นๆ ตัณหาชนิดนี้ แสดงออกในรูปที่หยาบ เช่น ความรู้สึกเบื่อหน่าย ความเหงา ว้าเหว่ ความเบื่อตัวเอง ความชังตัวเอง ความสมเพชตนเอง เป็นต้น

   ตัณหาจึงแสดงออกในรูปต่างๆ เป็นความอยากได้กามคุณต่างๆ บ้าง อยากได้ภาวะแห่งชีวิตบางอย่าง เช่น ความเป็นเศรษฐี ความเป็นผู้มีเกียรติ ความเป็นเทวดา เป็นต้น ซึ่งจะอำนวยสิ่งที่ปรารถนาให้บ้าง อยากพ้นไปจากภาวะที่ไม่ปรารถนา เบื่อหน่าย หมดอาลัยตายอยาก ตลอดจนถึงอยากตายบ้าง หรือในกรณีที่แสดงออกภายนอก เมื่อถูกขัดหรือฝืนความปรารถนา ก็เป็นเหตุให้เกิดปฏิฆะ ความขัดใจ ขัดเคือง โทสะ ความคิดประทุษร้าย ความคิดทำลายผู้อื่น สิ่งอื่น เป็นต้น

๘. ตัณหา-อุปาทาน: เมื่ออยากได้สิ่งใด ก็ยึดมั่นเกาะติดเหนียวแน่น ผูกมัดตัวตนติดกับสิ่งนั้น ยิ่งอยากได้มากเท่าใดก็ยิ่งยึดมั่นแรงขึ้นเท่านั้น ในกรณีที่ประสบทุกขเวทนา อยากพ้นไปจากสิ่งนั้น ก็มีความยึดมั่นในแง่ชิงชังต่อสิ่งนั้นอย่างรุนแรง พร้อมกับที่มีความยึดมั่นในสิ่งอื่นที่ตนจะดิ้นรนไปหารุนแรงขึ้นในอัตราเท่าๆ กัน จึงเกิดความยึดมั่นในสิ่งสนองความต้องการต่างๆ ยึดมั่นในภาวะชีวิตที่จะอำนวยสิ่งที่ปรารถนา ยึดมั่นในตัวตนที่จะได้จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ยึดมั่นในความเห็น ความเข้าใจ ทฤษฎี และหลักการอย่างใดอย่างหนึ่งที่สนองตัณหาของตน ตลอดจนยึดมั่นในแบบแผน วิธีการต่างๆ ที่สนองความต้องการของตัวตน

๙. อุปาทาน-ภพ: ความยึดมั่นย่อมเกี่ยวข้องไปถึงภาวะชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ความยึดมั่นนั้นแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งสองสิ่ง คือ เป็นการนำเอาตัวตนไปผูกมัดไว้ หรือทำให้เป็นอันเดียวกันกับภาวะชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นภาวะชีวิตที่จะอำนวยสิ่งที่ปรารถนา หรือเป็นภาวะชีวิตที่ช่วยให้พ้นไปจากสิ่งที่ไม่ปรารถนา ในเวลาเดียวกัน เมื่อมีภาวะชีวิตที่ต้องการ ก็ย่อมมีภาวะชีวิตที่ไม่ต้องการอยู่ด้วยพร้อมกัน ภาวะชีวิตที่ถูกยึดเกี่ยวเกาะไว้นี้ เรียกว่า อุปปัตติภพ

      เมื่อยึดมั่นในภาวะชีวิตนั้น จึงคิดมุ่งหมายหรือมีเจตจำนงเพื่อเป็นอย่างนั้นๆ หรือเพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นอย่างนั้นๆ แล้วลงมือกระทำการต่างๆ เริ่มแต่คิดสร้างสรรค์ปรุงแต่งแสวงวิธีการต่างๆ และดำเนินการตามจุดมุ่งหมาย แต่ความคิดและการกระทำทั้งหมดนั้นย่อมถูกผลักดันให้ดำเนินไปในทิศทาง และในรูปแบบที่อุปาทานกำหนด คือ เป็นไปตามอำนาจของความเชื่อถือ ความคิดเห็น ความเข้าใจ ทฤษฎี วิธีการ ความพอใจ ชอบใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนยึดถือไว้ จึงแสดงออกซึ่งพฤติกรรมและกระทำการต่างๆ โดยสอดคล้องกับอุปาทานนั้น

      ตัวอย่างในชั้นหยาบ เช่น อยากเกิดเป็นเทวดา จึงยึดถือในลัทธิคำสอน ประเพณี พิธีกรรม หรือแบบแผนความประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เชื่อว่าจะให้ไปเกิดได้อย่างนั้น จึงคิด มุ่งหมาย กระทำการต่างๆ ไปตามความเชื่อนั้น จนถึงว่า ถ้าความยึดมั่นรุนแรง ก็ทำให้มีระบบพฤติกรรม ที่เป็นลักษณะพิเศษจำเพาะตัวเกิดขึ้นแบบใดแบบหนึ่ง

      หรือตัวอย่างใกล้เข้ามา เช่น อยากเป็นคนมีเกียรติ ก็ย่อมยึดมั่นเอาคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นความมีเกียรติ ยึดมั่นในแบบแผนความประพฤติที่สอดคล้องกับคุณค่านั้น ยึดมั่นในตัวตนที่จะมีเกียรติอย่างนั้นๆ เจตจำนง และการกระทำ ก็มุ่งไปในทิศทางและรูปแบบที่ยึดไว้นั้น พฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกก็มีรูปลักษณะสอดคล้องกัน

       อยากได้ของมีค่าของผู้อื่น จึงยึดมั่นในภาวะที่ตนจะเป็นเจ้าของสิ่งของนั้น จึงยึดมั่นในความเคยชิน หรือวิธีการที่จะให้ได้สิ่งของนั้นมา ไม่รู้โทษและความบกพร่องของวิธีการที่ผิด จึงคิดนึก มุ่งหมาย และกระทำการตามความเคยชินหรือวิธีการที่ยึดไว้ กลายเป็นการลักขโมย หรือการทุจริตขึ้น ความเป็นเจ้าของที่ยึดไว้เดิม กลายเป็นความเป็นโจรไป
      โดยนัยนี้ เพื่อผลที่ปรารถนา มนุษย์จึงทำกรรมชั่ว เป็นบาป เป็นอกุศลบ้าง ทำกรรมดี เป็นบุญ เป็นกุศลบ้าง ตามอำนาจความเชื่อถือความยึดมั่นที่ผิดพลาดหรือถูกต้องในกรณีนั้นๆ
      กระบวนพฤติกรรมที่ดำเนินไปในทิศทางแห่งแรงผลักดันของอุปาทานนั้น และปรากฏรูปลักษณะอาการสอดคล้องกับอุปาทานนั้น เป็นกรรมภพ
      ภาวะแห่งชีวิตที่สืบเนื่องมาจากกระบวนพฤติกรรมนั้น เช่น ความเป็นเทวดา ความเป็นคนมีเกียรติ ความเป็นเจ้าของ และความเป็นโจร เป็นต้น เป็นอุปปัตติภพ อาจเป็นภพ (ภาวะแห่งชีวิต) ที่ตรงกับความต้องการ หรือภพที่ไม่ต้องการก็ได้
      ปฏิจจสมุปบาทช่วงนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญในการทำกรรมและรับผลของกรรม การก่อนิสัย และการสร้างบุคลิกภาพ

๑๐. ภพ-ชาติ: ชีวิตที่เป็นไปในภาวะต่างๆ ทั้งหมดนั้น ว่าตามความหมายที่แท้  ก็คือขันธ์ ๕ ที่เกิด-ดับ เปลี่ยนแปลงไป  โดยมีคุณสมบัติที่สะสมเพิ่ม-ลดในด้านต่างๆ ตามเหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ซึ่งมีเจตจำนงคือเจตนาเป็นตัวนำ ทำให้กระแสโดยรวมหรือกระบวนธรรมนั้นๆ มีลักษณะอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง

      ขันธ์ ๕ ที่รวมเป็นชีวิตนั้น เกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะตลอดเวลา เมื่อกล่าวถึงความจริงนั้นด้วยภาษาตามสมมติ จึงพูดว่าคนเรานี้เกิด-แก่-ตายอยู่ทุกขณะ อย่างที่อรรถกถาแห่งหนึ่งกล่าวว่า

      โดยปรมัตถ์ เมื่อขันธ์ทั้งหลาย เกิดอยู่ แก่อยู่ ตายอยู่ การที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ เธอเกิด แก่ และตายอยู่ ทุกขณะ” ดังนี้ ก็พึงทราบว่าเป็นอันได้ทรงแสดงให้เห็นแล้วว่า ในสัตว์ทั้งหลายนั้นการเล็งถึงขันธ์เสร็จอยู่แล้วในตัว” อย่างไรก็ตาม สำหรับปุถุชน ย่อมมิใช่มีเพียงการเกิด-ดับของขันธ์ ๕ ตามธรรมดาของธรรมชาติเท่านั้น แต่เมื่อมีภพขึ้นตามอุปาทานแล้ว ก็เกิดมีตัวตนซึ่งสำนึกตระหนักขึ้นมาว่า “เรา” ได้เป็นนั่นเป็นนี่ อยู่ในภาวะชีวิตอันนั้นอันนี้ ซึ่งตรงกับความต้องการ หรือไม่ตรงกับความต้องการ พุดสั้นๆ ว่า ตัวตนเกิดขึ้นในภพนั้น จึงมีตัวเราที่เป็นเจ้าของ ตัวเราที่เป็นโจร ตัวเราที่เป็นคนไม่มีเกียรติ ตัวเราที่เป็นผู้ชนะ ตัวเราที่เป็นผู้แพ้ ฯลฯ


 ในชีวิตประจำวันของปุถุชน การเกิดของตัวตนจะเห็นได้เด่นชัดในกรณีความขัดแย้ง เช่น การถกเถียง แม้ในการเถียงหาเหตุผล ถ้าใช้กิเลส ไม่ใช้ปัญญา ก็จะเกิดตัวตนที่เป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมาชัดว่า เราเป็นนาย เราเป็นผู้มีเกียรติ (พร้อมกับ เขาเป็นลูกน้อง เขาเป็นคนชั้นต่ำ) นี่เป็นความเห็นของเรา เราถูกขัดแย้ง ทำให้ความเป็นนั่นเป็นนี่ด้อยลงพร่องลง หรือจะสูญสลายไป ชาติจึงยิ่งชัด เมื่อปรากฏชรามรณะ แต่เพราะมีชาติจึงมีชรามรณะได้

๑๑. ชาติ-ชรามรณะ: เมื่อมีตัวตนที่ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ย่อมมีตัวตนที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตัวตนที่ขาด พลาด หรือพรากจากความเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตัวตนที่ถูกคุกคามด้วยความขาด พลาด หรือพรากไปจากความเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และตัวตนที่ถูกกระทบกระทั่ง ถูกขัดขวาง ขัดแย้ง ให้กระแสความเป็นอย่างนั้นๆ สะดุด หวั่นไหว สะเทือน ลด ด้อยลง พร่องลง เสื่อมลงไป ไม่สมบูรณ์เต็มเปี่ยมอย่างที่อยากให้เป็นและอย่างที่ยึดถืออยู่

 เมื่อตัวตนเกิดมีขึ้นแล้ว ก็อยากจะดำรงอยู่ตลอดไป อยากจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างที่ต้องการ หรืออยากให้ภาวะแห่งชีวิตนั้นอยู่กับตัวตนตลอดไป แต่เมื่อตัวตนเกิดมีขึ้นได้ พองโตใหญ่ขึ้นได้ ตัวตนก็ย่อมเสื่อมสลายได้ แม้เมื่อยังไม่สูญสลาย ก็ถูกคุกคามด้วยความพร่อง ความด้อย และความสูญสลายที่จะมีมา จึงเกิดความหวาดกลัวต่อความถูกหวั่นไหว กระทบกระแทก และความสูญสลาย และทำให้เกิดความยึดมั่นผูกพันตัวตนไว้กับภาวะชีวิตนั้นให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น
 
 ความกลัวต่อความสูญสลายแห่งตัวตนนี้ เกิดสืบเนื่องมาจากความรู้สึกถูกคุกคามและหวาดกลัวต่อความตายของชีวิตนี้นั่นเอง ซึ่งแฝงอยู่ในจิตใจอย่างละเอียดลึกซึ้งตลอดเวลา และคอยบีบคั้นพฤติกรรมทั่วๆ ไปของมนุษย์ ทำให้หวาดกลัวต่อความพลัดพราก สูญสลาย ทำให้ดิ้นรนไขว่คว้าภาวะชีวิตที่ต้องการอย่างเร่าร้อน ทำให้เกรงกลัวและผิดหวังเมื่อได้รับทุกขเวทนา และทำให้เสวยสุขเวทนาอย่างกระวนกระวาย พร้อมด้วยความหวาดกลัวความพลัดพราก ทั้งนี้โดยไม่ตระหนักรู้ว่า ที่แท้นั้น ชีวิตคือขันธ์ทั้ง ๕ เกิด-ตายอยู่แล้วตลอดเวลา

 โดยนัยนี้ เมื่อตัวตนเกิดขึ้นในภาวะชีวิตที่ไม่ต้องการ ไม่เกิดในภาวะชีวิตที่ต้องการก็ดี เมื่อตัวตนเกิดได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยู่ในภาวะชีวิตที่ต้องการ แต่ต้องสูญสลายพรากไปก็ดี ถูกคุกคามด้วยความขาด พลาด และพรากจากภาวะชีวิตที่ต้องการก็ดี ความทุกข์แบบต่างๆ ย่อมเกิดขึ้น คือ เกิดโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส และในภาวะแห่งความทุกข์เช่นนี้ จิตใจก็ขุ่นมัวเศร้าหมอง ไม่รู้ไม่เข้าใจหรือไม่มองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง มีความคับข้องขัดใจ ความหลงใหล และความมืดบอด อันเป็นลักษณะของอวิชชา จึงเกิดการดิ้นรนหาทางออกด้วยวิธีการแห่งอวิชชาตามวงจรต่อไป

 ตัวอย่างง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เมื่อมีการแข่งขัน และมีการชนะเกิดขึ้น สำหรับปุถุชนจะไม่มีเพียงการชนะที่เป็นเหตุการณ์ทางสังคม ซึ่งมีความหมายและวัตถุประสงค์ตามที่ตกลงกำหนดวางกัน (สมมติ) ไว้เท่านั้น แต่จะมีความเป็นผู้ชนะที่ยึดมั่นไว้กับความหมายพิเศษบางอย่างเฉพาะตัวด้วยอุปาทาน (ภพ) ด้วย ในบางโอกาส โดยเฉพาะในกรณีของคนมักหยิ่งผยอง หรือในกรณีเกิดเรื่องกระทบกระเทือนใจ ก็จะเกิดความรู้สึกโผล่ขึ้นมาว่า เราเป็นผู้ชนะ = ตัวเราเกิดขึ้นในความเป็นผู้ชนะ (ชาติ) แต่ความเป็นผู้ชนะของเราในความหมายสมบูรณ์เต็มตัว ต้องพ่วงเอาความมีเกียรติ ความยกย่องเยินยอ ความได้ผลประโยชน์ ความนิยมชมชอบ การยอมรับของผู้อื่น เป็นต้น ไว้ด้วย ความเกิดของตัวเราในความชนะ หรือความชนะของเรา จึงเกิดพร้อมกับการที่จะต้องมีผู้ยอมรับ ยกย่องเชิดชู การทำให้ผู้ใดผู้หนึ่งแพ้ไปได้ การได้ทำหรือแสดงออกอะไรสักอย่างที่สุดขีดของความอยาก ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง

 จากนั้น ในขณะเดียวกับที่ตัวเราในฐานะผู้ชนะ พร้อมทั้งความหมายต่างๆ ที่พ่วงอยู่กับมัน เกิดขึ้น ความสมหวัง หรือไม่สมหวังก็เกิดขึ้น เมื่อสมหวัง ก็จะตามมาด้วยความรู้สึกที่จะต้องผูกพันมัดตัวไว้กับความเป็นผู้ชนะนั้นให้แน่นแฟ้น เพราะกลัวว่าความเป็นผู้ชนะจะสูญสิ้นไปจากตน กลัวว่า ความยอมรับนิยมยกย่องเชิดชูที่ได้รับในฐานะนั้น จะไม่คงอยู่อย่างเดิม จะลดน้อยลง เสื่อมไป หรือหมดไปจากตน เมื่อพบเห็นผู้ใดผู้หนึ่งแสดงอาการไม่เชิดชูให้เกียรติอย่างที่หวัง หรือเท่าที่หวัง หรือการยกย่องเชิดชูเกียรติที่เคยได้อยู่ มาลดน้อยลง ก็ย่อมเกิดความขุ่นมัวหม่นหมองใจและอุปายาส เพราะตัวตนในภาวะผู้ชนะนั้นกำลังถูกกระทบกระแทก หรือถูกบีบคั้นกำจัดให้พรากไปเสียจากภาวะผู้ชนะ คือกำลังถูกคุกคามด้วยความเสื่อมโทรม (ชรา) และความสูญสลาย (มรณะ) จากความเป็นผู้ชนะพร้อมทั้งคุณค่าผนวกต่างๆ ที่ยึดไว้ (ภพ)

 เมื่อภาวการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ ความรู้สึกขุ่นมัวหม่นหมอง กังวล ผิดหวังต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งมิได้ถูกขุดทิ้งโดยสติและสัมปชัญญะ (ปัญญา) ก็จะเข้าหมักหมมทับถมในสันดาน มีผลต่อบุคลิกภาพ สภาพชีวิตจิตใจ และพฤติกรรมของบุคคลนั้น ตามวงจรปฏิจจสมุปบาทต่อไป เป็นการเสวยเวทนาอย่างที่เรียกว่าหมกตัวหรือผูกมัดตัว

 ขอให้ตั้งข้อสังเกตง่ายๆ ว่า เมื่อมีตัวตน (ในความรู้สึก) เกิดขึ้น ก็ย่อมมีความกินเนื้อที่ เมื่อกินเนื้อที่ ก็มีขอบเขต หรือถูกจำกัด เมื่อถูกจำกัด ก็มีการแยกตัวออกต่างหาก เมื่อมีการแยกตัวออกต่างหาก ก็มีการแบ่งว่าตัวเราและมิใช่ตัวเรา เมื่อตัวตนของเราเกิดขึ้นแล้ว ก็ขยายตัวเบ่งพองออก พร้อมด้วยความอยากได้อยากเด่นอยากแสดงต่อตัวตนอื่นๆ พลุ่งออกมา แต่ตัวตนและความอยากนั้นไม่สามารถขยายออกไปอย่างอิสระไม่มีที่สุด ต้องถูกฝืนกดหรือข่มไว้โดยบุคคลนั้นเอง ในกรณีที่เขามีความสำนึกในการแสดงตัวแก่ผู้อื่นว่าตนเป็นคนดี หรือถ้าตนเองไม่กดหรือข่มไว้ ปล่อยให้แสดงออกเต็มที่ ก็ย่อมเกิดการปะทะขัดแย้งภายนอกและแม้แสดงออกได้เต็มที่ ก็ทำให้พลังในตนเองลดน้อยลง เสริมกำลังความอยากให้แรงยิ่งๆขึ้น และความรู้สึกพร่องให้มากขึ้นๆ ในคราวต่อๆไป เป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่ความขัดแย้งและการปะทะที่จะแรงยิ่งๆ ขึ้น และหมดความเป็นตัวของตัวเองลงไปทุกที ความสมบูรณ์เต็มอยากจึงไม่มี และความกดดันขัดแย้งกระทบกระทั่งบีบคั้น ย่อมเกิดขึ้นได้ในทุกกรณี

 อย่างไรก็ดี ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ มุ่งความเข้าใจง่ายเป็นสำคัญ บางตอนจึงมีความหมายผิวเผิน ไม่ให้ความเข้าใจแจ่มแจ้งลึกซึ้งเพียงพอ โดยเฉพาะหัวข้อที่ยากๆ เช่น อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร และ โสกะ ปริเทวะทำให้วงจรเริ่มต้นใหม่ เป็นต้น ตัวอย่างที่แสดงในข้ออวิชชา เป็น เรื่องที่มิได้เกิดขึ้นเป็นสามัญ ในทุกช่วงขณะของชีวิต ชวนให้เห็นได้ว่า มนุษย์ปุถุชนสามารถเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันโดยไม่มีอวิชชาเกิดขึ้นเลย หรือเห็นว่า ปฏิจจสมุปบาทไม่ใช่หลักธรรมที่แสดงความจริงเกี่ยวกับชีวิตอย่างแท้จริง จึงเห็นว่าควรอธิบายความหมายลึกซึ้งของบางหัวข้อที่ยากให้ละเอียดชัดเจนออกไปอีก



ต่อที่ ๗. ความหมายลึกซึ้งขององค์ธรรมบางข้อ
ก. อาสวะหล่อเลี้ยงอวิชชา ที่เปิดช่องแก่สังขาร
ข. ตัณหา อาศัยอวิชชา โดยสัมพันธ์กับทิฏฐิ
ค. อุปาทาน เป็นเงื่อนปมสำคัญ ที่ปั่นวงจรชีวิต
ง. การผ่อนเบาปัญหา เมื่อยังมีอวิชชาและตัณหา