ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)  (อ่าน 19811 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ก. อาสวะหล่อเลี้ยงอวิชชา ที่เปิดช่องแก่สังขาร
 ตามปกติ มนุษย์ปุถุชนทุกคน เมื่อประสบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรืออยู่ในสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะแปลความหมาย ตัดสินสิ่งหรือเหตุการณ์นั้น พร้อมทั้งคิดหมาย ตั้งเจตจำนง แสดงออกซึ่งพฤติกรรม และกระทำการต่างๆ ตามความโน้มเอียง หรือตามแรงผลักดันต่อไปนี้ คือ

 ๑. ความใฝ่ในการสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕ (กาม)
 ๒. ความใฝ่หรือห่วงในความมีอยู่คงอยู่ของตัวตน การที่ตัวตนจะได้  เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และการที่ตนจะดำรงคงอยู่ในภาวะที่อยากเป็นนั้นยั่งยืนตลอดไป (ภพ)
 ๓. ความเคยชิน ความเชื่อถือ ความเข้าใจ ทฤษฎี แนวความคิด  อย่างใดอย่างหนึ่งที่สั่งสมอบรมมา และยึดถือเชิดชูไว้ (ทิฏฐิ)
 ๔. ความหลง ความไม่เข้าใจ คือ ความไม่ตระหนักรู้และไม่กำหนดรู้  ความเป็นมาเป็นไป เหตุ ผล ความหมาย คุณค่า วัตถุประสงค์ ตลอด  จนความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ หรือเหตุการณ์ทั้งหลายตามสภาวะ  โดยธรรมชาติของมันเอง ความหลงผิดว่ามีตัวตนที่เข้าไปกระทำ  และถูกกระทำกับสิ่งต่างๆ ไม่มองเห็นความสัมพันธ์ทั้งหลาย ในรูปของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย พูดสั้นๆ ว่า ไม่รู้เห็นตามที่มันเป็น แต่รู้เห็นตามที่คิดว่ามันเป็น หรือคิดให้มันเป็น (อวิชชา)

โดยเฉพาะข้อ ๓ และ ๔ นั้น จะเห็นได้ว่าเป็นสภาพที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน คือเมื่อไม่ได้กำหนดรู้ หลงเพลินไป ก็ย่อมทำไปตามความเคยชิน ความเชื่อถือ ความเข้าใจที่สั่งสมอบรมมาก่อน

 อนึ่ง ข้อ ๓-๔ นี้ มีความหมายกว้างขวางมาก รวมไปถึง นิสัย ความเคยชิน ทัศนคติ แบบแผน ความประพฤติต่างๆ ที่เป็นผลมาจากการศึกษาอบรม ค่านิยมหรือคตินิยมทางสังคม การถ่ายทอดทางวัฒนธรรม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้แสดงอิทธิพลสัมพันธ์กับข้อที่ ๑ และ ๒ นั้น กลายเป็นตัวการกำหนดและควบคุมความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมทั้งหมดของบุคคล ตั้งต้นแต่ว่าจะให้ชอบอะไร ต้องการอะไร จะสนองความต้องการของตนในรูปแบบและทิศทางใด แสดงพฤติกรรมออกมาอย่างไร คือเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ลึกซึ้งในบุคคลและคอยบัญชาพฤติกรรมของบุคคลนั้น โดยเจ้าตัวไม่รู้ตัวเลย


 ในความเข้าใจตามปกติ บุคคลนั้นย่อมรู้สึกว่าตัวเขากำลังกระทำกำลังประพฤติอย่างนั้นๆ ด้วยตนเอง ตามความต้องการของตนเองอย่างเต็มที่ แต่แท้จริงแล้ว นับเป็นความหลงผิดทั้งสิ้น เพราะถ้าสืบสาวลงไปให้ชัดว่า เขาต้องการอะไรแน่ ทำไมเขาจึงต้องการสิ่งที่เขาต้องการอยู่นั้น ทำไมเขาจึงกระทำอย่างที่กระทำอยู่นั้น ทำไมจึงประพฤติอย่างที่ประพฤติอยู่นั้น ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวของเขาเองเลย แต่เป็นแบบแผนความประพฤติที่เขาได้รับถ่ายทอดมาในการศึกษาอบรมบ้าง วัฒนธรรมบ้าง ความเชื่อถือทางศาสนาบ้าง เป็นความนิยมในทางสังคมบ้าง เขาเพียงแต่เลือกและกระทำในขอบเขตแนวทางของสิ่งเหล่านี้ หรือทำให้แปลกไปอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเอาสิ่งเหล่านี้เป็นหลักคิดแยกออกไปและสำหรับเทียบเคียงเท่านั้นเอง สิ่งที่เขายึดถือว่าเป็นตัวตนของเขานั้น จึงไม่มีอะไรนอกไปจากสิ่งที่อยู่ในข้อ ๑ ถึง ๔ เท่านั้นเอง สิ่งเหล่านี้นอกจากไม่มีตัวมีตนแล้ว ยังเป็นพลังผลักดันที่อยู่พ้นอำนาจควบคุมของเขาด้วย จึงไม่มีทางเป็นตัวตนของเขาได้เลย

 ในทางธรรมเรียกสิ่งทั้งสี่นี้ว่า อาสวะ ๔ (inflowing impulses หรือ influxes หรือ biases)
 อย่างที่ ๑ เรียก กามาสวะ (sense-gratification)
 อย่างที่ ๒ เรียก ภวาสวะ (existence หรือ self-centered pursuits)
 อย่างที่ ๓ เรียก ทิฏฐาสวะ (views)
 อย่างที่ ๔ เรียก อวิชชาสวะ (ignorance)
 บางแห่งตัดข้อ ๓ ออก เหลือเพียงอาสวะ ๓

 จึงเห็นได้ว่า อาสวะต่างๆ เหล่านี้ เป็นที่มาแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ปุถุชนทุกคน เป็นตัวการที่ทำให้มนุษย์หลงผิด ยึดถือในความเป็นตัวตนที่พร่ามัว อันเป็นอวิชชาชั้นพื้นฐาน แล้วบังคับบัญชาให้นึกคิดปรุงแต่ง แสดงพฤติกรรม และกระทำการต่างๆ ตามอำนาจของมันโดยไม่รู้ตัวของตัวเอง เป็นขั้นเริ่มต้นวงจรแห่งปฏิจจสมุปบาท คือ เมื่ออาสวะเกิดขึ้น อวิชชาก็เกิดขึ้น แล้วอวิชชาก็เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ในภาวะที่แสดงพฤติกรรมด้วยความหลงว่าตัวตนทำเช่นนี้ กล่าวได้ด้วยคำย้อนแย้งว่า มนุษย์ไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะพฤติกรรมถูกบังคับบัญชาด้วยสังขารที่เป็นแรงขับไร้สำนึกทั้งสิ้น

 กล่าวโดยสรุปเพื่อตัดตอนให้ชัด ภาวะที่เป็นอวิชชา ก็คือ การไม่มองเห็นไตรลักษณ์ โดยเฉพาะความเป็นอนัตตา ตามแนวปฏิจจสมุปบาท คือ ไม่รู้ตระหนักว่า สภาพที่ถือกันว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นั้น เป็นเพียงกระแสแห่งรูปธรรมนามธรรมส่วนย่อยต่างๆ มากมาย ที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อกัน โดยอาการเกิดสลายๆ ทำให้กระแสนั้นอยู่ในภาวะที่กำลังแปรรูปอยู่ตลอดเวลา

 พูดให้ง่ายขึ้นว่า บุคคลก็คือผลรวมแห่งความรู้สึกนึกคิด ความปรารถนา ความเคยชิน ความโน้มเอียง ทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อถือ (ตั้งแต่ขั้นหยาบที่ผิดหรือไม่มีเหตุผล จนถึงขั้นละเอียดที่ถูกต้องและมีเหตุผล) ความคิดเห็น ความรู้สึกในคุณค่าต่างๆ ฯลฯ ทั้งหมดในขณะนั้นๆ ที่เป็นผลมาจากการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม การศึกษาอบรม และปฏิกิริยาต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นภายใน และที่มีต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย อันกำลังดำเนินไปอยู่ตลอดเวลา

 เมื่อไม่ตระหนักรู้เช่นนี้ จึงยึดถือเอาสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นตัวตนของตนในขณะหนึ่งๆ เมื่อยึดถือสิ่งเหล่านี้เป็นตัวตน ก็คือถูกสิ่งเหล่านั้นหลอกเอา จึงเท่ากับตกอยู่ในอำนาจของมัน ถูกมันชักจูงบังคับเอา ให้เห็นว่าตัวตนนั้นเป็นไปต่างๆ พร้อมทั้งความเข้าใจว่า ตนเองกำลังทำการต่างๆ ตามความต้องการของตน เป็นต้น

 ที่กล่าวมานี้ นับว่าเป็นคำอธิบายในหัวข้ออวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ในระดับที่จัดว่าละเอียดลึกซึ้งกว่าก่อน ส่วนหัวข้อต่อจากนี้ไปถึงเวทนา เห็นว่าไม่ยากนัก พอจะมองเห็นได้ตามคำอธิบายที่กล่าวมาแล้ว จึงข้ามมาถึงตอนสำคัญอีกช่วงหนึ่ง คือ ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน ซึ่งเป็นช่วงของกิเลสเหมือนกัน

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ข. ตัณหา อาศัยอวิชชา โดยสัมพันธ์กับทิฏฐิ
 ตัณหาทั้ง ๓ อย่างที่พูดถึงมาแล้วนั้น ก็คืออาการแสดงออกของตัณหาอย่างเดียวกัน และมีอยู่เป็นสามัญโดยครบถ้วนในชีวิตประจำวันของปุถุชนทุกคน แต่จะเห็นได้ต่อเมื่อวิเคราะห์ดูสภาพการทำงานของจิตในส่วนลึก เริ่มแต่มนุษย์ไม่รู้ไม่เข้าใจและไม่รู้จักมองสิ่งทั้งหลายในรูปของกระบวนการแห่งความสัมพันธ์กันของเหตุปัจจัยต่างๆ ตามธรรมชาติ จึงมีความรู้สึกมัวๆ อยู่ว่ามีตัวตนของตนอยู่ในรูปใดรูปหนึ่ง มนุษย์จึงมีความอยากที่เป็นพื้นฐานสำคัญ คือ ความอยากมีอยู่เป็นอยู่ หรืออยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งหมายถึงความอยากให้ตัวตนในความรู้สึกมัวๆ นั้นคงอยู่ยั่งยืนต่อไป

 แต่ความอยากเป็นอยู่นี้ สัมพันธ์กับความอยากได้ คือไม่ใช่อยากเป็นอยู่เฉยๆ แต่อยากอยู่เพื่อเสวยสิ่งที่อยากได้ คือเพื่อเสวยสิ่งที่จะให้สุขเวทนาสนองความต้องการของตนต่อไป จึงกล่าวได้ว่า ที่อยากเป็นอยู่ก็เพราะอยากได้ เมื่ออยากได้ ความอยากเป็นอยู่ก็ยิ่งรุนแรงขึ้น

 เมื่อความอยากเป็นอยู่รุนแรง อาจเกิดกรณีที่ ๑ คือ ไม่ได้สิ่งที่อยากทันอยาก จึงเกิดปฏิกิริยาขึ้น คือ ภพ หรือความมีชีวิตเป็นอยู่ในขณะนั้น ไม่เป็นที่น่าชื่นชม ชีวิตขณะนั้นเป็นที่ขัดใจ ทนไม่ได้ อยากให้ดับสูญไปเสีย ความอยากให้ดับสูญจึงติดตามมา แต่ทันทีนั้นเอง ความอยากได้ก็แสดงตัวออกมาอีก จึงกลัวว่าถ้าดับสูญไปเสีย ก็จะไม่ได้เสวยสุขเวทนาที่อยากได้ต่อไป ความอยากเป็นอยู่จึงเกิดตามติดมาอีก

 ในกรณีที่ ๒ ไม่ได้ที่อยาก หรือกรณีที่ ๓ ได้ไม่เต็มขีดที่อยาก ได้ไม่สมอยาก หรือกรณีที่ ๔ ได้แล้วอยากได้อื่นต่อไป กระบวนการก็ดำเนินไปในแนวเดียวกัน แต่กรณีที่นับว่าเป็นพื้นฐานที่สุดและครอบคลุมกรณีอื่นๆ ทั้งหมด ก็คืออยากยิ่งๆ ขึ้นไป

 เมื่อกำหนดจับลงที่ขณะหนึ่งขณะใดก็ตาม จะปรากฏว่ามนุษย์กำลังแส่หาภาวะที่เป็นสุขกว่าขณะที่กำหนดนั้นเสมอไป ปุถุชนจึงปัดหรือผละทิ้งจากขณะปัจจุบันทุกขณะ ขณะปัจจุบันแต่ละขณะ เป็นภาวะชีวิตที่ทนอยู่ไม่ได้ อยากให้ดับสูญหมดไปเสีย อยากให้ตนพ้นไป ไปหาภาวะที่สนองความอยากได้ต่อไป ความอยากได้ อยากอยู่ อยากไม่อยู่ จึงหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวันของมนุษย์ปุถุชน แต่เป็นวงจรที่ละเอียดชนิดทุกขณะจิต อย่างที่แต่ละคนไม่รู้ตัวเลยว่า ชีวิตที่เป็นอยู่แต่ละขณะของตนก็คือ การดิ้นรนให้พ้นไปจากภาวะชีวิตในขณะเก่า และแส่หาสิ่งสนองความต้องการในภาวะชีวิตใหม่อยู่ทุกขณะนั่นเอง

 เมื่อสืบสาวลงไป ย่อมเห็นได้ว่า ตัณหาเหล่านี้ สืบเนื่องมาจากอวิชชานั่นเอง กล่าวคือ เพราะไม่รู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น ไม่รู้จักมันในฐานะกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน จึงเกิดความเห็นผิดพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องตัวตนขึ้นมาในรูปใดรูปหนึ่ง คือ เห็นว่าสิ่งทั้งหลายมีตัวมีตนเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นแน่นอนตายตัว ซึ่งจะยั่งยืนอยู่ได้  หรือไม่ก็เห็นว่าสิ่งทั้งหลายแตกดับสูญสิ้นสลายตัวหมดไปได้เป็นสิ่งๆ เป็นชิ้นๆ เป็นอันๆไป

 มนุษย์ปุถุชนทุกคนมีความเห็นผิดในรูปละเอียดอยู่ในตัวทั้งสองอย่าง จึงมีตัณหา ๓ อย่างนั้น คือ เพราะเข้าใจมืดมัวอยู่ในจิตส่วนลึกว่า สิ่งทั้งหลายมีตัวตนยั่งยืนแน่นอนเป็นชิ้นเป็นอัน จึงเกิดความอยากในความเป็นอยู่คงอยู่ หรือภวตัณหาได้ และอีกด้านหนึ่ง ด้วยความไม่รู้ ไม่แน่ใจ ก็เข้าใจไปได้อีกแนวหนึ่งว่า สิ่งทั้งหลายเป็นตัวเป็นตน เป็นชิ้นเป็นอันแต่ละส่วนละส่วนไป มันสูญสิ้นหมดไป ขาดหายไปได้ จึงเกิดความอยากในความไม่เป็นอยู่ หรือวิภวตัณหา ได้ ความเห็นผิดทั้งสองนี้ สัมพันธ์กับตัณหาในรูปของการเปิดโอกาสหรือเปิดช่องทางให้

 ถ้ารู้เข้าใจเห็นเสียแล้วว่าสิ่งทั้งหลายเป็นกระแส เป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน ก็ย่อมไม่มีตัวตนที่จะยั่งยืนตายตัวเป็นชิ้นเป็นอันได้ และก็ย่อมไม่มีตัวตนเป็นชิ้นเป็นอันที่จะหายจะขาดสูญไปได้ ตัณหา(ภวตัณหา และวิภวตัณหา) ก็ไม่มีฐานที่ก่อตัวได้

 ส่วนกามตัณหา
ก็สืบเนื่องจากความเห็นผิดทั้งสองนั้นด้วย เพราะกลัวว่าตัวตนหรือสุขเวทนาก็ตามจะขาดสูญสิ้นหายหมดไปเสีย จึงเร่าร้อนแส่หาสุขเวทนาแก่ตน และเพราะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นตัวเป็นตนเป็นชิ้นเป็นอันแน่นอนคงตัวอยู่ได้ จึงดิ้นรนไขว่คว้า กระทำย้ำให้หนักแน่นให้มั่นคงอยู่ให้ได้

 ในรูปที่หยาบ ตัณหาแสดงอาการออกมาเป็นการดิ้นรนแส่หาสิ่งสนองความต้องการต่างๆ การแส่หาภาวะชีวิตที่ให้สิ่งสนองความต้องการเหล่านั้น ความเบื่อหน่ายสิ่งที่มีแล้ว ได้แล้ว เป็นแล้ว ความหมดอาลัยตายอยาก ทนอยู่ไม่ได้โดยไม่มีสิ่งสนองความต้องการใหม่ๆ เรื่อยๆ ไป

 ภาพที่เห็นได้ชัดก็คือ มนุษย์ที่เป็นตัวของตัวเองไม่ได้ ถ้าปราศจากสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕ แล้ว ก็มีแต่ความเบื่อหน่าย ว้าเหว่ ทนไม่ไหว ต้องเที่ยวดิ้นรนไขว่คว้าสิ่งสนองความต้องการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อหนีจากภาวะเบื่อหน่ายตัวเอง ถ้าขาดสิ่งสนองความต้องการ หรือไม่ได้ตามที่ต้องการเมื่อใด ก็ผิดหวัง ชีวิตหมดความหมาย เบื่อตัวเอง ชังตัวเอง ความสุข ความทุกข์จึงขึ้นต่อปัจจัยภายนอกอย่างเดียว เวลาว่างจึงกลับเป็นโทษ เป็นภัยแก่มนุษย์ได้ทั้งส่วนบุคคลและสังคม ความเบื่อหน่าย ความซึมเศร้า ความว้าเหว่ ความไม่พอใจ จึงมีมากขึ้น ทั้งที่มีสิ่งสนองความต้องการมากขึ้น และการแสวงหาความปรนปรือทางประสาทสัมผัสต่างๆ จึงหยาบและร้อนแรงยิ่งขึ้น

 การติดสิ่งเสพย์ติดต่างๆ ก็ดี การใช้เวลาว่างทำความผิดความชั่วของเด็กวัยรุ่นก็ดี ถ้าสืบค้นลงไปในจิตใจอย่างลึกซึ้งแล้ว จะเห็นว่าสาเหตุสำคัญ ก็คือ ความทนอยู่ไม่ได้ ความเบื่อหน่ายจะหนีไปให้พ้นจากภพที่เขาเกิดอยู่ในขณะนั้นนั่นเอง

 ในกรณีที่มีการศึกษาอบรม ได้รับคำแนะนำสั่งสอนทางศาสนา มีความเชื่อถือในทางที่ถูกต้อง หรือยึดถือในอุดมคติที่ดีงามต่างๆ แล้ว (อวิชชาไม่มืดบอดเสียทีเดียว) เกิดความใฝ่จะเป็นในทางที่ดี ตัณหาก็ถูกผันมาใช้ในทางที่ดีได้ จึงมีการทำดีเพื่อจะได้เป็นคนดี การขยันหมั่นเพียร เพื่อผลที่หมายระยะยาว การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อเกียรติคุณ หรือเพื่อไปเกิดในสวรรค์ การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ตลอดจนการอาศัยตัณหาเพื่อละตัณหาก็ได้

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ค. อุปาทาน เป็นเงื่อนปมสำคัญ ที่ปั่นวงจรชีวิต
 กิเลสที่สืบเนื่องจากตัณหา ได้แก่ อุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) ซึ่งมี ๔ อย่าง คือ

 ๑. กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม  (clinging to sensuality): เมื่ออยากได้ ดิ้นรน แส่หา ก็ยึดมั่นติดพันในสิ่งที่อยากได้นั้น เมื่อได้แล้วก็ยึดมั่นเพราะอยากสนองความต้องการให้ยิ่งๆ ขึ้นไป และกลัวหลุดลอยพรากไปเสีย ถึงแม้ผิดหวังหรือพรากไป ก็ยิ่งปักใจมั่นด้วยความผูกใจอาลัย พร้อมกันนั้น ความยึดมั่นก็ยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น เพราะสิ่งสนองความต้องการต่างๆ ไม่ให้
ภาวะเต็มอิ่มหรือสนองความต้องการได้เต็มขีดที่อยากจริงๆ ในคราวหนึ่งๆ จึงพยายามเพื่อเข้าถึงขีดที่เต็มอยากนั้นด้วยการกระทำอีกๆ และเพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของของตนแท้จริง จึงต้องยึดมั่นไว้ด้วยความรู้สึกจูงใจตนเองว่าเป็นของของตนในแง่ใดแง่หนึ่งให้ได้ ความคิดจิตใจของปุถุชนจึงไปยึดติดผูกพันข้องอยู่กับสิ่งสนองความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ และเป็นกลางได้ยาก

 ๒. ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นในทฤษฎีหรือทิฏฐิต่างๆ (clinging to views): ความอยากให้เป็น หรือไม่ให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ตนต้องการ ย่อมทำให้เกิดความเอนเอียงยึดมั่นในทิฏฐิ ทฤษฎี หรือหลักปรัชญาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เข้ากับความต้องการของตน ความอยากได้สิ่งสนองความต้องการของตน ก็ทำให้ยึดมั่นในหลักการ แนวความคิด ความเห็น ลัทธิ หลักคำสอนที่สนอง หรือเป็นไปเพื่อสนองความต้องการของตน เมื่อยึดถือความเห็น หรือหลักความคิดอันใดอันหนึ่งว่าเป็นของตนแล้ว ก็ผนวกเอาความเห็น หรือหลักความคิดนั้น เป็นตัวตนของตนไปด้วย จึงนอกจากจะคิดนึกและกระทำการต่างๆ ไปตามความเห็นนั้นๆ แล้ว เมื่อมีทฤษฎีหรือความเห็นอื่นๆ ที่ขัดแย้งกับความเห็นที่ยึดไว้นั้น ก็รู้สึกว่าเป็นการคุกคามต่อตัวตนของตนด้วย เป็นการเข้ามาบีบคั้นหรือจะทำลายตัวตนให้เสื่อมด้อยลง พร่องลง หรือสลายไป อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงต้องต่อสู้รักษาความเห็นนั้นไว้เพื่อศักดิ์ศรีเป็นต้นของตัวตน จึงเกิดการขัดแย้งที่แสดงออกภายนอก เกิดการผูกมัดตัวให้คับแคบ สร้างอุปสรรค กักปัญญาของตนเอง ความคิดเห็นต่างๆ ไม่เกิดประโยชน์ตามความหมายและวัตถุประสงค์แท้ๆ ของมัน ทำให้ไม่สามารถถือเอาประโยชน์จากความรู้ และรับความรู้ต่างๆ ได้เท่าที่ควรจะเป็น

 ๓. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลและพรต (clinging to mere rule and ritual): ความอยากได้ อยากเป็นอยู่ ความกลัวต่อความสูญสลายของตัวตน โดยไม่เข้าใจกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ผสมกับความยึดมั่นในทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ทำการต่างๆ ไปตามวิธีปฏิบัติที่สักว่ายึดถือมา เป็นแบบแผน หรือประพฤติปฏิบัติไปตามๆ กันอย่างงมงายในสิ่งที่นิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ ที่จะสนองความอยากของตนได้ ทั้งที่ไม่มองเห็นความสัมพันธ์โดยทางเหตุผล
 ความอยากให้ตัวตนคงอยู่ มีอยู่ และความยึดมั่นในตัวตน แสดงออกมาภายนอกหรือทางสังคม ในรูปของความยึดมั่น ในแบบแผนความประพฤติต่างๆ การกระทำสืบๆกันมา ระเบียบวิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิพิธี ตลอดจนสถาบันต่างๆ ที่แน่นอนตายตัว ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ โดยไม่ตระหนักรู้ในความหมาย คุณค่า วัตถุประสงค์ และความสัมพันธ์โดยเหตุผล กลายเป็นว่ามนุษย์สร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาเพื่อกีดกั้น ปิดล้อมตัวเอง และทำให้แข็งทื่อ ยากแก่การปรับปรุงตัว และการที่จะได้รับประโยชน์จากสิ่งทั้งหลายที่ตนเข้าไปสัมพันธ์

 ในเรื่องสีลัพพตุปาทานนี้ มีคำอธิบายของท่านพุทธทาสภิกขุ ตอนหนึ่ง ที่เห็นว่าจะช่วยให้ความหมายชัดเจนขึ้นอีก ดังนี้
 เมื่อมาประพฤติศีล หรือธรรมะข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ไม่ทราบความมุ่งหมาย ไม่คำนึงถึงเหตุผล ได้แต่ลงสันนิษฐานเอาเสียว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เมื่อลงได้ปฏิบัติของศักดิ์สิทธิ์แล้ว ย่อมต้องได้รับผลดีเอง ฉะนั้น คนเหล่านี้จึงสมาทานศีล หรือประพฤติธรรมะ แต่เพียงตามแบบฉบับ ตามตัวอักษร ตามประเพณี ตามตัวอย่าง ที่สืบปรัมปรากันมาเท่านั้น ไม่เข้าถึงเหตุผลของสิ่งนั้นๆ แต่เพราะอาศัยการประพฤติกระทำมาจนชิน การยึดถือจึงเหนียวแน่น เป็นอุปาทานชนิดแก้ไขยาก...ต่างจากอุปาทานข้อที่สองข้างต้น ซึ่งหมายถึงการถือในตัวทิฏฐิ หรือความคิดความเห็นที่ผิด ส่วนข้อนี้ เป็นการยึดถือในตัวการปฏิบัติ หรือการกระทำทางภายนอก

 ๔. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน (clinging to the ego-belief): ความรู้สึกว่ามีตัวตนที่แท้จริงนั้น เป็นความหลงผิดที่มีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยเสริมความรู้สึกนี้อีก เช่นภาษา อันเป็นถ้อยคำสมมติสำหรับสื่อความหมาย ที่ชวนให้มนุษย์ผู้ติดบัญญัติมองเห็นสิ่งต่างๆ แยกออกจากกันเป็นตัวตนที่คงที่ แต่ความรู้สึกนี้กลายเป็นความยึดมั่นเพราะตัณหาเป็นปัจจัย กล่าวคือ เมื่ออยากได้ก็ยึดมั่นว่ามีตัวตนที่เป็นผู้ได้รับและเสวยสิ่งที่อยากนั้น มีตัวตนที่เป็นเจ้าของสิ่งที่ได้นั้น เมื่ออยากเป็นอยู่ ก็อยากให้มีตัวตนอันใดอันหนึ่งเป็นอยู่ คงอยู่ เมื่ออยากไม่เป็นอยู่ ก็ยึดในตัวตนอันใดอันหนึ่งที่จะให้สูญสลายไป เมื่อกลัวว่าตัวตนจะสูญสลายไป ก็ยิ่งตะเกียกตะกายย้ำความรู้สึกในตัวตนให้แน่นแฟ้นหนักขึ้นไปอีก
 ที่สำคัญคือ ความอยากนั้นสัมพันธ์กับความรู้สึกว่ามีเจ้าของผู้มีอำนาจควบคุม คือมีตัวตนที่เป็นนายบังคับบัญชาสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปอย่างที่อยากให้เป็นได้ และก็ปรากฏคล้ายกับว่ามีการบังคับบัญชาได้สมปรารถนาบ้างเหมือนกัน จึงหลงผิดไปว่ามีตัวฉันหรือตัวตนของฉันที่เป็นเจ้าของ เป็นนายบังคับสิ่งเหล่านั้นได้ แต่ความจริงมีอยู่ว่า การบังคับบัญชานั้น เป็นไปได้เพียงบางส่วนและชั่วคราวเท่านั้น เพราะสิ่งที่ยึดว่าเป็นตัวตนนั้น ก็เป็นเพียงปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ไม่สามารถบังคับบัญชาสิ่งอื่นๆ ที่เข้าไปยึด ให้เป็นไปตามที่อยากให้เป็นได้ถาวรและเต็มอยากจริงๆ การที่รู้สึกว่าตัวเป็นเจ้าของควบคุมบังคับบัญชาได้อยู่บ้าง แต่ไม่เต็มสมบูรณ์จริงๆ เช่นนี้ กลับเป็นการย้ำความหมายมั่น และตะเกียกตะกายเสริมความรู้สึกว่าตัวตนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก

 เมื่อยึดมั่นในตัวตนด้วยอุปาทาน ก็ไม่รู้จักที่จะจัดการสิ่งต่างๆ ตามเหตุตามปัจจัยที่จะให้มันเป็นไปอย่างนั้นๆ กลับหลงมองความสัมพันธ์ผิด ยกเอาตัวตนขึ้นยึดไว้ในฐานะเจ้าของที่จะบังคับควบคุมสิ่งเหล่านั้นตามความปรารถนา เมื่อไม่ทำตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย และสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นไปตามความปรารถนา ตัวตนก็ถูกบีบคั้นด้วยความพร่อง เสื่อมด้อย และความสูญสลาย ความยึดมั่นในตัวตนนี้นับว่าเป็นข้อสำคัญ เป็นพื้นฐานของความยึดมั่นข้ออื่นๆ ทั้งหมด

 ว่าโดยสรุป อุปาทานทำให้มนุษย์ปุถุชนมีจิตใจไม่ปลอดโปร่งผ่องใส ความคิดไม่แล่นคล่องไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ไม่สามารถแปลความหมาย ตัดสิน และกระทำการต่างๆ ไปตามแนวทางแห่งเหตุปัจจัยตามที่มันควรจะเป็นโดยเหตุผลบริสุทธิ์ แต่มีความติดข้อง ความเอนเอียง ความคับแคบ ความขัดแย้ง และความรู้สึกถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ความบีบคั้นเกิดขึ้นเพราะความยึดว่าเป็นตัวเรา ของเรา เมื่อเป็นตัวเรา ของเรา ก็ต้องเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น แต่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นไปตามที่เราอยากให้เป็น

 เมื่อมันไม่อยู่ในบังคับของความอยาก กลับเป็นอย่างอื่นไปจากที่อยากให้เป็น ตัวเราก็ถูกขัดแย้งกระทบกระแทกบีบคั้น สิ่งที่ยึดถูกกระทบเมื่อใด ตัวเราก็ถูกกระทบเมื่อนั้น สิ่งที่ยึดไว้มีจำนวนเท่าใด ตัวเราแผ่ไปถึงไหน ยึดไว้ด้วยความแรงเท่าใด ตัวเราที่ถูกกระทบ ขอบเขตที่ถูกกระทบ และความแรงของการกระทบ ก็มีมากเท่านั้น และผลที่เกิดขึ้น มิใช่เพียงความทุกข์เท่านั้น แต่หมายถึงชีวิตที่เป็นอยู่และกระทำการต่างๆ ตามอำนาจความยึดอยาก ไม่ใช่เป็นอยู่และทำการด้วยปัญญาตามเหตุปัจจัย จึงเป็นเหตุให้การงานที่ทำไม่สำเร็จผลดี หรือยากที่จะได้ผลดี กับทั้งยังพ่วงเอาปัญหาจุกจิกวุ่นวายนอกเรื่องตามมาอีกมากมายโดยไม่สมควร

 ต่อจากอุปาทาน กระบวนการดำเนินต่อไปถึงขั้น ภพ ชาติ ชรามรณะ จนเกิด โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น ตามแนวที่อธิบายมาแล้ว เมื่อเกิด โสกะ ปริเทวะ เป็นต้นแล้ว บุคคลย่อมหาทางออกด้วยการคิด ตัดสินใจ และกระทำการต่างๆ ตามความเคยชิน ความโน้มเอียง ความเข้าใจ และความคิดเห็นที่ยึดมั่นสะสมไว้อีก โดยไม่มองเห็นภาวะที่ประสบในขณะนั้นๆ ตามที่มันเป็นของมันจริงๆ วงจรจึงเริ่มขึ้นที่อวิชชา แล้วหมุนต่อไปอย่างเดิม

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ง. การผ่อนเบาปัญหา เมื่อยังมีอวิชชาและตัณหา
 แม้อวิชชาจะเป็นกิเลสพื้นฐาน เป็นที่ก่อตัวของกิเลสอื่นๆ แต่ในขั้นแสดงออกเป็นพฤติกรรมต่างๆ ตัณหาย่อมเป็นตัวชักจูง เป็นตัวบงการและแสดงบทบาทที่ใกล้ชิดเห็นได้ชัดเจนกว่า ดังนั้น ในทางปฏิบัติ เช่นในอริยสัจ ๔ จึงถือว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

 เมื่ออวิชชาเป็นไปอย่างมืดบอดเลื่อนลอย ตัณหาไม่มีหลัก ไม่ถูกควบคุม เป็นไปสุดแต่จะให้สนองความต้องการได้สำเร็จ ย่อมมีทางให้เกิดกรรมฝ่ายชั่วมากกว่าฝ่ายดี แต่เมื่ออวิชชาถูกปรุงแปลงด้วยความเชื่อถือในทางที่ดีงาม ได้รับอิทธิพลจากความคิดที่ถูกต้องหรือจากความเชื่อที่มีเหตุผล ตัณหาถูกชักจูงให้เบนไปสู่เป้าหมายที่ดีงาม ถูกควบคุมขัดเกลา และขับให้พุ่งไปอย่างมีจุดหมาย ก็ย่อมให้เกิดกรรมฝ่ายดี และเป็นประโยชน์ได้อย่างมาก และถ้าได้รับการชักนำอย่างถูกต้อง ก็จะเป็นเครื่องอุปถัมภ์ สำหรับกำจัดอวิชชาและตัณหาได้ต่อไปด้วย

 วิถีอย่างแรกเป็นวิถีแห่งความชั่ว แห่งบาปอกุศล อย่างหลังเป็นวิถีแห่งความดี แห่งบุญกุศล คนดีและคนชั่วต่างก็ยังมีทุกข์อยู่ตามแบบของตนๆ แต่วิถีฝ่ายดีเท่านั้นที่สามารถนำไปสู่ความสิ้นทุกข์ ความหลุดพ้น และความเป็นอิสระได้

 ตัณหาที่ถูกใช้ในทางที่เป็นประโยชน์นั้น มีตัวอย่างถึงขั้นสูงสุด เช่น :-
 ดูกรน้องหญิง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้ยินว่า ภิกษุชื่อนี้ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ ฯลฯ เธอจึงมีความดำริว่า เมื่อไรหนอ เราจักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ฯลฯ บ้าง สมัยต่อมา  เธออาศัยตัณหาแล้วละตัณหาเสียได้ ข้อที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดจากตัณหา พึงอาศัยตัณหา ละตัณหาเสีย  เราอาศัยความ ข้อนี้เองกล่าว

 ถ้าไม่สามารถทำอย่างอื่น นอกจากเลือกเอาในระหว่างตัณหาด้วยกัน พึงเลือกเอาตัณหาในทางที่ดีเป็นแรงชักจูงในการกระทำ แต่ถ้าทำได้ พึงเว้นตัณหาทั้งฝ่ายชั่วฝ่ายดี เลือกเอาวิถีแห่งปัญญา อันเป็นวิถีที่บริสุทธิ์ อิสระ และไร้ทุกข์

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



๘. ปฏิจจสมุปบาทในฐานะมัชเฌนธรรมเทศนา
 ความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาท เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือเห็นถูกต้อง และความเห็นที่ถูกต้องนี้เป็นความเห็นชนิดที่เรียกว่าเป็นกลางๆ ไม่เอียงสุดไปทางใดทางหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นหลักหรือกฎที่แสดงความจริงเป็นกลางๆ ไม่เอียงสุด อย่างที่เรียกว่า “มัชเฌนธรรมเทศนา

 ความเป็นกลางของหลักความจริงนี้ เห็นได้โดยโดยการเทียบกับลัทธิหรือทฤษฎีเอียงสุดต่างๆ และความเข้าใจปฏิจจสมุปบาทโดยถูกต้อง จะต้องแยกออกจากทฤษฎีเอียงสุดเหล่านี้ด้วย ดังนั้น ในที่นี้จึงควรนำทฤษฎีเหล่านี้มาแสดงไว้เปรียบเทียบเป็นคู่ๆ โดยการใช้วิธีอ้างพุทธพจน์เป็นหลัก และอธิบายให้น้อยที่สุด

คู่ที่ ๑: ๑. อัตถิกวาทะ  ลัทธิว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่จริง (extreme realism) ๒. นัตถิกวาทะ  ลัทธิว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีจริง (nihilism)
 ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า “สัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ” ดังนี้ แค่ไหน จึงจะชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ?
แน่ะ ท่านกัจจานะ โลกนี้โดยมากอิง (ทฤษฎีของตน) ไว้กับภาวะ ๒ อย่าง คือ อัตถิตา (ความมี) และนัตถิตา (ความไม่มี) เมื่อเห็นโลกสมุทัยตามที่มันเป็นด้วยสัมมาปัญญา นัตถิตาในโลกก็ไม่มี เมื่อเห็นโลกนิโรธตามที่มันเป็นด้วยสัมมาปัญญา อัตถิตาในโลกนี้ก็ไม่มี
 โลกนี้โดยมากยึดมั่นถือมั่นในอุบาย(systems) และถูกคล้องขังไว้ด้วยอภินิเวส (dogmas) ส่วนอริยสาวก ย่อมไม่เข้าหา ไม่ยึด ไม่ติดอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นในอุบาย ความปักใจ อภินิเวส และอนุสัยว่า       “อัตตาของเรา” ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า “ทุกข์นั่นแหละ เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ เมื่อดับ ก็ย่อมดับ”  อริยสาวกย่อมมีญาณในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่นเลย เพียงเท่านี้แล ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ

 ดูก่อนกัจจานะ ข้อว่า ‘สิ่งทั้งปวงมีอยู่’ นี้เป็นที่สุดข้างหนึ่ง ข้อว่า  ‘สิ่งทั้งปวงไม่มี’ นี้เป็นที่สุดข้างหนึ่ง ตถาคตย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆ ไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองนั้นว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชานั่นแหละสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับไป วิญญาณจึงดับ ฯลฯ” 

พราหมณ์นักโลกายัตคนหนึ่งมาเฝ้าทูลถามปัญหาว่า:
 ท่านพระโคตมะผู้เจริญ สิ่งทั้งปวงมีอยู่หรือ?

 พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า:
 ข้อว่า ‘สิ่งทั้งปวงมี’ เป็นโลกายัตหลักใหญ่ที่สุด
 ถาม:   สิ่งทั้งปวงไม่มีหรือ?
 ตอบ:  ข้อว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่มี’ เป็นโลกายัตที่สอง
 ถาม:  สิ่งทั้งปวงเป็นภาวะหนึ่งเดียว (เอกัตตะ-unity) หรือ?
 ตอบ:  ข้อว่า ‘สิ่งทั้งปวงเป็นภาวะหนึ่งเดียว’  เป็นโลกายัตที่สาม
 ถาม: สิ่งทั้งปวง เป็นภาวะหลากหลาย (ปุถุตตะ-plurality) หรือ?
 ตอบ:  ข้อว่า ‘สิ่งทั้งปวงเป็นภาวะหลากหลาย’ เป็นโลกายัตที่สี่
 ดูก่อนพราหมณ์ ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองข้างเหล่านี้ ย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆ ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะ สังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ


คู่ที่ ๒: ๑. สัสสตวาทะ ลัทธิถือว่าเที่ยง (eternalism)
   ๒. อุจเฉทวาทะ ลัทธิถือว่าขาดสูญ (annihilationism)

 คู่ที่ ๒ นี้ มีกล่าวถึงบ่อยๆ ในที่ทั่วไปอยู่แล้ว จึงไม่แสดงไว้ที่นี้อีก

คู่ที่ ๓: ๑. อัตตการวาทะ หรือ สยังการวาทะ ลัทธิถือว่าสุขทุกข์เป็นต้น ตนทำเอง
  (self-generationism หรือ Karmic autogenesisism)
   ๒. ปรการวาทะ ลัทธิถือว่าสุขทุกข์เป็นต้น เกิดจากตัวการภายนอก
  (other-generationism หรือ Karmic heterogenesisism)

 คู่ที่ ๓ นี้ และคู่ที่ ๔ ที่จะกล่าวต่อไป มีความสำคัญมากในแง่ของหลัก
กรรม
เมื่อศึกษาเข้าใจดีแล้ว จะช่วยป้องกันความเข้าใจผิดในเรื่องกรรมได้
เป็นอย่างมาก  จึงควรสังเกตตามแนวพุทธพจน์ ดังนี้ :-

 ถาม:  ทุกข์ ตนทำเองหรือ?
 ตอบ:  อย่ากล่าวอย่างนั้น
 ถาม:  ทุกข์ตัวการอย่างอื่นกระทำให้หรือ?
 ตอบ:  อย่ากล่าวอย่างนั้น
 ถาม:  ทุกข์ตนทำเองด้วย ตัวการอย่างอื่นทำให้ด้วยหรือ?
 ตอบ:  อย่ากล่าวอย่างนั้น
 ถาม: ทุกข์มิใช่ตนทำเอง มิใช่ตัวการอย่างอื่นทำให้ แต่เกิดขึ้นเอง
  ลอยๆ (เป็นอธิจจสมุปบัน) หรือ?
 ตอบ:  อย่ากล่าวอย่างนั้น
 ถาม:  ถ้าอย่างนั้น ทุกข์ไม่มีหรือ?
 ตอบ:  ทุกข์มิใช่ไม่มี ทุกข์มีอยู่
 ถาม:  ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคตมะ ไม่รู้ ไม่เห็นทุกข์หรือ?
 ตอบ:  เรามิใช่ไม่รู้ ไม่เห็นทุกข์ เรารู้ เราเห็นทุกข์แท้ทีเดียว

 ถาม: ...ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้โปรดบอก โปรดแสดงทุกข์แก่
  ข้าพเจ้าด้วยเถิด
 ตอบ: เมื่อว่า ‘ทุกข์ตนทำเอง’ อย่างที่ว่าทีแรก ก็เท่ากับบอกว่า ‘ผู้นั้นทำ
  ผู้นั้นเสวย(ทุกข์)’ กลายเป็นสัสสตทิฏฐิไป เมื่อว่า ‘ทุกข์ตัวการ
  อย่างอื่นทำให้’ อย่างที่ผู้ถูกเวทนาทิ่มแทงรู้สึก ก็เท่ากับบอกว่า
  ‘คนหนึ่งทำ คนหนึ่งเสวย(ทุกข์)’ กลายเป็นอุจเฉททิฏฐิไป
  ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองข้างนั้น ย่อมแสดงธรรมเป็น
  กลางๆ ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขาร
  เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่
  เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ


 ถาม:  สุขทุกข์ ตนทำเอง หรือ?
 ตอบ:  อย่ากล่าวอย่างนั้น
 ถาม:  สุขทุกข์ ตัวการอย่างอื่นทำให้หรือ?
 ตอบ:  อย่ากล่าวอย่างนั้น
 ถาม:  สุขทุกข์ ตนทำเองด้วย ตัวการอื่นทำให้ด้วยหรือ?
 ตอบ:  อย่ากล่าวอย่างนั้น
 ถาม:  สุขทุกข์ มิใช่ตนทำเอง มิใช่ตัวการอย่างอื่นทำให้ แต่เกิดขึ้น
        เองลอยๆ (เป็นอธิจจสมุปบัน) หรือ?
 ตอบ:  อย่ากล่าวอย่างนั้น
 ถาม:  (ถ้าอย่างนั้น) สุขทุกข์ ไม่มีหรือ?
 ตอบ:  สุขทุกข์มิใช่ไม่มี สุขทุกข์มีอยู่
 ถาม:  ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคตมะ ไม่รู้ ไม่เห็นสุขทุกข์หรือ?
 ตอบ:  เรามิใช่ไม่รู้ ไม่เห็นสุขทุกข์ เรารู้ เราเห็นสุขทุกข์แท้ทีเดียว

 ถาม: ...ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดบอก โปรดแสดงสุขทุกข์แก่
  ข้าพเจ้าด้วยเถิด
 ตอบ: เพราะเข้าใจเอาแต่แรกว่า เวทนาก็นั่น ผู้เสวยเวทนาก็นั่น จึงเกิด
  ยึดถือขึ้นว่า สุขทุกข์ตนทำเอง เราหากล่าว(ว่าเป็น)อย่างนั้นไม่
  เพราะเข้าใจว่า เวทนาก็อย่าง ผู้เสวยเวทนาก็อย่าง จึงเกิดความ
  ยึดถืออย่างที่ผู้ถูกเวทนาทิ่มแทงรู้สึกว่า สุขทุกข์ตัวการอย่างอื่น
  ทำให้ เราหากล่าว(ว่าเป็น)อย่างนั้นไม่ ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้ง
  สองข้างนั้น  ย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆ ว่า  “เพราะอวิชชาเป็น
  ปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ
  สังขารจึงดับ ฯลฯ


 ดูก่อนอานนท์ เรากล่าวว่าสุขทุกข์เป็นปฏิจจสมุปบันธรรม (สิ่งที่ อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น) อาศัยอะไร? อาศัยผัสสะ
 เมื่อกายมีอยู่ อาศัยความจงใจทางกายเป็นเหตุ สุขทุกข์ภายในจึงเกิดขึ้นได้ เมื่อวาจามีอยู่ อาศัยความจงใจทางวาจาเป็นเหตุ สุขทุกข์ภายในจึงเกิดขึ้นได้ เมื่อมโนมีอยู่ อาศัยมโนสัญเจตนาเป็นเหตุ สุขทุกข์ภายในจึงเกิดขึ้นได้
 เพราะอวิชชานั่นแหละเป็นปัจจัย บุคคลจึงปรุงแต่งกายสังขารขึ้นเอง เป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ภายในบ้าง เนื่องจากผู้อื่น (ถูกคนอื่นหรือตัวการอื่นๆ กระตุ้นหรือชักจูง) จึงปรุงแต่งกายสังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ภายในบ้าง รู้ตัวอยู่ จึงปรุงแต่งกายสังขารนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ภายในบ้าง ไม่รู้ตัวอยู่ ย่อมปรุงแต่งกายสังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ภายในบ้าง จึงปรุงแต่งวจีสังขาร...มโนสังขารขึ้นเองบ้าง...เนื่องจากผู้อื่นบ้าง...โดยรู้ตัวบ้าง...โดยไม่รู้ตัวบ้าง เป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ภายใน ในกรณีเหล่านี้ อวิชชาเข้าแทรกอยู่แล้ว (ทั้งนั้น)

คู่ที่ ๔:   ๑. การกเวทกาทิเอกัตตวาท  การถือว่าผู้ทำและผู้เสวยผลเป็นต้น เป็นตัวการเดียวกัน (the extremist view of a self-identical
  soul หรือ the monistic view of subject-object unity)
 ๒. การกเวทกาทินานัตตวาท๒ การถือว่าผู้ทำและผู้เสวยผลเป็นต้น
  เป็นคนละอย่างขาดจากกัน (the extremist view of
  individual discontinuity หรือ the dualistic view of
  subject-object distinction)


 ถาม:  ตัวที่ทำก็อันนั้น ตัวที่เสวย(ผล) ก็อันนั้นหรือ?
 ตอบ: ข้อว่า ตัวที่ทำก็อันนั้น ตัวที่เสวย(ผล) ก็อันนั้น เป็นที่สุดข้างหนึ่ง
 ถาม:  ตัวที่ทำก็อย่าง ตัวที่เสวย(ผล) ก็อย่างหรือ?
 ตอบ: ข้อว่า ตัวที่ทำก็อย่าง ตัวที่เสวย(ผล) ก็อย่าง เป็นที่สุดข้างที่สอง
  ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองข้างนั้น ย่อมแสดงธรรมเป็น
  กลางๆ ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ เพราะ
  อวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ ฯลฯ”

 ถาม:  พระองค์ผู้เจริญ  ชรามรณะ คืออะไร?  ชรามรณะนี้ของใคร?
 ตอบ: ตั้งปัญหายังไม่ถูก ผู้ใดกล่าวว่า ‘ชรามรณะคืออะไร? ชรามรณะนี้
  ของใคร?’ หรือผู้ใดกล่าวว่า ‘ชรามรณะก็อย่าง เจ้าของชรา
  มรณะก็อย่าง’
คำพูดทั้งสองแบบนี้มีความหมายอย่างเดียวกัน
  ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น

   เมื่อมีความเห็นว่า ‘ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น’ การครองชีวิต
  ประเสริฐ (พรหมจรรย์) ก็มีไม่ได้ เมื่อมีความเห็นว่า ‘ชีวะก็อย่าง
  สรีระก็อย่าง’ การครองชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) ก็มีไม่ได้
  ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองนั้น ย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆ
  ว่า “เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี

 ถาม: พระองค์ผู้เจริญ ชาติ...ภพ...อุปาทาน...ตัณหา...เวทนา...
  ผัสสะ...สฬายตนะ...นามรูป...วิญญาณ...สังขาร คืออะไร?
  ของใคร?
 ตอบ: ตั้งปัญหายังไม่ถูก (เนื้อความต่อไปแนวเดียวกับข้อชรามรณะ)
  เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ ความเห็นที่บิดเบือน ส่ายพร่า
  ขัดกัน อย่างใดๆ ก็ตามว่า  ‘ชรามรณะคืออะไร?  ชรามรณะนี้
  ของใคร?’ ก็ดี ‘ชรามรณะก็อย่าง เจ้าของชรามรณะก็อย่าง’ ก็ดี
  ‘ชีวะอันนั้น สรีระก็อันนั้น’ ก็ดี ‘ชีวะก็อย่าง สรีระก็อย่าง’ ก็ดี
  ความเห็นเหล่านั้น ทั้งหมด เป็นอันถูกกำจัด ถอนรากทิ้ง ทำให้
  สิ้นซาก ถึงความไม่มี หมดทางเกิดขึ้นได้ต่อไป

 ถาม:  ใครหนอย่อมผัสสะ (ใครเป็นผู้รับผัสสะ)?
 ตอบ: ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่า ‘ย่อมผัสสะ’ ถ้าเรากล่าวว่า
  ‘ย่อมผัสสะ’ ในกรณีนั้นจึงควรตั้งปัญหาได้ถูกต้องว่า ‘ใครหนอ
  ย่อมผัสสะ?’ แต่เรามิได้กล่าวอย่างนั้น เมื่อเราไม่กล่าวอย่างนั้น
  ผู้ใดถามอย่างนี้ว่า  ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี?’  นี้จึงจะ
  ชื่อว่าตั้งปัญหาถูกต้อง  ในกรณีนั้น ก็มีคำเฉลยที่ถูกต้องว่า

  “เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี  เพราะผัสสะเป็นปัจจัย
  เวทนาจึงมี”

 ถาม:  ใครหนอเสวยเวทนา? ใครหนอทะยานอยาก (มีตัณหา)? ใคร
  หนอย่อมยึดมั่น (มีอุปาทาน)?
 ตอบ: ตั้งปัญหายังไม่ถูก ... ผู้ใดถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัยหนอ 
  เวทนาจึงมี? เพราะอะไรเป็นปัจจัยหนอ ตัณหาจึงมี? เพราะอะไร
  เป็นปัจจัยหนอ อุปาทานจึงมี?’ นี้ชื่อว่าตั้งปัญหาถูกต้อง ใน
  กรณีนั้นๆ ก็มีคำเฉลยที่ถูกต้องว่า “เพราะผัสสะเป็นปัจจัย
  เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ฯลฯ”

ภิกษุทั้งหลาย กายนี้ มิใช่ของพวกเธอ แล้วก็มิใช่ของใครอื่น พึงเห็นว่า กรรมเก่านี้ เป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ถูกจงใจจำนงขึ้นมา (เกิดจากเจตนา หรือมีเจตนาเป็นมูล) เป็นที่ตั้งของเวทนา

 ภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องนั้น อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมพิจารณาสืบสาว (โยนิโสมนสิการ) เป็นอย่างดี ถึงการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันและกัน จึงเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปบาท) ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ กล่าวคือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ
 หลักปฏิจจสมุปบาท แสดงความจริงของธรรมชาติให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายมีลักษณะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เรียกว่าไตรลักษณ์ เป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ไม่มีปัญหาในเรื่องที่ว่า สิ่งทั้งหลายมีหรือไม่มีจริง ยั่งยืนหรือขาดสูญ เป็นต้น แต่ผู้ไม่รู้ความหมายของหลักปฏิจจสมุปบาท มักเข้าใจไตรลักษณ์ผิดพลาด โดยเฉพาะหลักอนัตตานั้น มักได้ยินได้ฟังกันอย่างผิวเผิน แล้วตีความเอาว่า อนัตตา หมายถึงไม่มีอะไร กลายเป็นนัตถิกวาท อันเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างร้ายแรงไปเสีย

 ผู้เข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว ย่อมพ้นจากความเข้าใจผิดแบบต่างๆ ที่แตกแขนงออกมาจากทฤษฎีทั้งหลายข้างต้นนั้น เช่น ความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายมีมูลการณ์หรือเหตุต้นเค้าเดิมสุด (the First Cause) และความเข้าใจว่ามีสิ่งวิเศษนอกเหนือธรรมชาติ (the Supernatural) เป็นต้น ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ตัวอย่างพุทธพจน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น :-

 ภิกษุทั้งหลาย  เมื่อใดอริยสาวกเห็นปฏิจจสมุปบาทนี้ และ ปฏิจจ- สมุปบันธรรม (สิ่งที่อาศัยกันเกิดขึ้นตามหลักปฏิจจสมุปบาท) เหล่านี้ ชัดเจนตามที่มันเป็น ด้วยสัมมาปัญญาแล้ว เมื่อนั้น การที่อริยสาวกนั้นจะแล่นเข้าหาที่สุดข้างต้นว่า ‘ในอดีต เราได้เคยมีหรือไม่หนอ? ในอดีตเราได้เป็นอะไรหนอ? ในอดีต เราได้เป็นอย่างไรหนอ? ในอดีต เราเป็นอะไรแล้วจึงได้มาเป็นอะไรหนอ?’ หรือจะแล่นเข้าหาที่สุดข้างปลายว่า ‘ในอนาคต เราจักมีหรือไม่หนอ?  ในอนาคต เราจักเป็นอะไรหนอ?    ในอนาคต เราจักเป็นอย่างไรหนอ? ในอนาคต เราเป็นอะไรแล้วจักได้เป็นอะไรหนอ?’ หรือแม้แต่จะเป็นผู้มีความสงสัยกาลปัจจุบัน เป็นภายใน ณ บัดนี้ว่า ‘เรามีอยู่หรือไม่หนอ? เราคืออะไรหนอ? เราเป็นอย่างไรหนอ?  สัตว์นี้มาจากที่ไหน แล้วจักไป ณ ที่ไหนอีก?’ ดังนี้  ย่อมเป็น สิ่งที่เป็นไปไม่ได้   เพราะอะไร   ก็เพราะว่า  อริยสาวกได้เห็นปฏิจจ- สมุปบาทนี้ และปฏิจจสมุปบันธรรมเหล่านี้ ชัดเจนแล้วตามที่มันเป็นด้วยสัมมาปัญญา

 โดยนัยนี้ ผู้เห็นปฏิจจสมุปบาท จึงไม่สงสัยในปัญหาอภิปรัชญาต่างๆ ที่เรียกว่า อันตคาหิกทิฏฐิ และจึงเป็นเหตุผลที่พระพุทธเจ้าทรงนิ่งเสีย ไม่ตรัสตอบปัญหาเหล่านี้ ในเมื่อใครก็ตามมาทูลถาม โดยตรัสว่า เป็น อัพยากตปัญหา หรือปัญหาที่ไม่ทรงพยากรณ์ เพราะเมื่อเห็นปฏิจจสมุปบาท เข้าใจการที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยแล้ว ปัญหาเหล่านี้ย่อมกลายเป็นเรื่องเหลวไหลไป ขอยกตัวอย่างพุทธพจน์ที่แสดงเหตุผลในการไม่ตรัสตอบปัญหาเหล่านี้ เช่น :-ถาม: ท่านพระโคตมะผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกปริพาชก

 ผู้ถือลัทธิอื่นทั้งหลาย เมื่อถูกถามอย่างนี้ว่า
๑. โลกเที่ยง (ยั่งยืนนิรันดร) หรือ?
๒. โลกไม่เที่ยงหรือ?
๓. โลกมีที่สุดหรือ?
๔. โลกไม่มีที่สุดหรือ?
๕. ชีวะอันนั้น สรีระก็อันนั้นหรือ?
๖. ชีวะก็อย่าง สรีระก็อย่างหรือ?
๗. สัตว์หลังจากตายแล้ว มีอยู่หรือ?
๘. สัตว์หลังจากตายแล้ว ไม่มีหรือ?
๙. สัตว์หลังจากตายแล้ว ทั้งมี ทั้งไม่มีหรือ?
๑๐. สัตว์หลังจากตายแล้ว จะว่ามีอยู่ ก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่หรือ?จึงพยากรณ์ (ตอบ) ว่า ‘โลกเที่ยง’ บ้าง ‘โลกไม่เที่ยง’ บ้าง ฯลฯ
‘สัตว์หลังจากตายแล้ว จะว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่’ บ้าง? (แต่) อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ท่านพระโคตมะผู้เจริญ เมื่อถูกทูลถามอย่างนั้น จึงไม่พยากรณ์ (ตอบ) ว่า ‘โลกเที่ยง’ หรือ ‘โลกไม่เที่ยง’ ฯลฯ ?

 ตอบ: แน่ะท่านวัจฉะ เหล่าปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น ย่อมเข้าใจว่ารูปเป็นอัตตาบ้าง ว่าอัตตามีรูปบ้าง ว่ารูปอยู่ในอัตตาบ้าง ว่าอัตตาอยู่ในรูปบ้าง เข้าใจว่า เวทนา...สัญญา...สังขาร...เป็นอัตตา บ้าง ฯลฯ เข้าใจว่า วิญญาณเป็นอัตตาบ้าง ว่าอัตตามีวิญญาณบ้าง ว่าวิญญาณอยู่ในอัตตาบ้าง ว่าอัตตาอยู่ในวิญญาณบ้าง เพราะฉะนั้น เหล่าปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้น เมื่อถูกถามอย่างนั้น จึงพยากรณ์ไปว่า ‘โลกเที่ยง’ บ้าง ฯลฯ

 ส่วนพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่เข้าใจเอารูปเป็นอัตตา หรือว่าอัตตามีรูป หรือว่ารูปอยู่ในอัตตา หรือว่าอัตตาอยู่ในรูป ฯลฯ ว่าวิญญาณเป็นอัตตา หรือว่าอัตตามีวิญญาณ หรือว่าวิญญาณอยู่ในอัตตา หรือว่าอัตตาอยู่ในวิญญาณ  เพราะฉะนั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  เมื่อถูกทูลถามอย่างนี้  จึงไม่พยากรณ์ว่า ‘โลกเที่ยง’ หรือว่า ‘โลกไม่เที่ยง ฯลฯ’ ทฤษฎีหรือลัทธิที่ผิด ซึ่งขัดแย้งต่อหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ยังมีอีกบางข้อที่เกี่ยวข้องเป็นพิเศษในแง่ของกรรม แต่จะงดไว้ไม่พูดถึง ณ ที่นี้ก่อน เพราะได้ยกเรื่องกรรมไปอธิบายต่างหากอีกส่วนหนึ่งแล้ว จึงจะได้นำไปรวมแสดงไว้ ณ ที่นั้น

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



หลักธรรมที่สืบเนื่องจากปฏิจจสมุปบาท
 ความจริง หลักธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะมีชื่อใดๆ ล้วนสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น เพราะแสดงถึงหรือสืบเนื่องมาจากหลักสัจธรรมเดียวกัน และเป็นไปเพื่อจุดหมายเดียวกัน แต่นำมาแสดงในชื่อต่างๆ กัน โดยชี้ความจริงเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งคนละส่วนกันบ้าง เป็นความจริงอันเดียวกัน แต่แสดงคนละรูปละแนว เพื่อวัตถุประสงค์คนละอย่างบ้าง

 ด้วยเหตุนี้ หลักธรรมบางข้อจึงเป็นเพียงส่วนย่อยของหลักใหญ่ บางข้อเป็นหลักใหญ่ด้วยกัน ครอบคลุมความหมายของกันและกัน แต่มีแนวหรือรูปแบบการแสดงและความมุ่งหมายจำเพาะในการแสดงต่างกัน

 ปฏิจจสมุปบาทนั้น ถือว่าเป็นหลักใหญ่ที่ครอบคลุมธรรมได้ทั้งหมด เมื่ออธิบายปฏิจจสมุปบาทแล้ว เห็นว่าควรกล่าวถึงหลักธรรมสำคัญชื่ออื่นๆ อันเป็นที่รู้จักทั่วไปไว้ด้วย เพื่อให้เห็นว่าสัมพันธ์กันอย่างไร และเพื่อเสริมความเข้าใจทั้งในหลักธรรมเหล่านั้น และในปฏิจจสมุปบาทเองด้วย

 หลักธรรมที่ควรกล่าวไว้ในที่นี้ มี ๒ อย่าง คือ กรรม และอริยสัจ ๔
๑. กรรม
ก. ตัวกฎ หรือตัวสภาวะ (กรรม)
ข. คุณค่าทางจริยธรรม

ก. ตัวกฎ หรือตัวสภาวะ (กรรม)
 กรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเห็นได้ชัดเมื่อแยกส่วนในกระบวนการนั้นออกเป็น วัฏฏะ ๓ คือ กิเลส กรรม และวิบาก หลักปฏิจจสมุปบาทแสดงถึงกระบวนการทำกรรมและการให้ผลของกรรมทั้งหมด ตั้งต้นแต่กิเลสที่เป็นเหตุให้ทำกรรม จนถึงวิบากอันเป็นผลที่จะได้รับ เมื่อเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว ก็เป็นอันเข้าใจหลักกรรมชัดเจนไปด้วย ดังนั้น ว่าโดยตัวกฎหรือสภาวะ จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องชี้แจงเรื่องกรรมไว้ต่างหาก ณ ที่นี้อีก

 อย่างไรก็ดี มีจุดหรือแง่สำคัญบางประการที่ควรย้ำไว้ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่ร้ายแรงในเรื่องกรรม ดังต่อไปนี้ :-
๑) กรรมในแง่กฎแห่งสภาวธรรม กับกรรมในแง่จริยธรรม
๒) ลัทธิหรือความเห็นผิด ที่ต้องแยกจากหลักกรรม
๓) แง่ละเอียดอ่อนที่ต้องเข้าใจ เกี่ยวกับการให้ผลของกรรมมีพุทธพจน์ว่า
๔) วิธีปฏิบัติต่อกรรม
๕) ทำกรรมเก่าให้เกิดประโยชน์
๖) อยู่เพื่อพัฒนากรรม ไม่ใช่อยู่เพื่อใช้กรรม
๗) กรรมระดับบุคคล-กรรมระดับสังคม


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



๑) กรรมในแง่กฎแห่งสภาวธรรม กับกรรมในแง่จริยธรรม
 ตามหลักพุทธพจน์ว่า
 “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย บุคคลจึงปรุงแต่งกายสังขาร ...วจีสังขาร...มโนสังขาร  ขึ้นเองบ้าง... เนื่องจากตัวการอื่นบ้าง... โดยรู้ตัวบ้าง... ไม่รู้ตัวบ้าง

 และพุทธพจน์ซึ่งปฏิเสธทฤษฎีที่ว่า สุขทุกข์ตนทำเอง ของพวกอัตต-การวาท และทฤษฎีว่า สุขทุกข์ตัวการอื่นทำ ของพวกปรการวาท
 หลักตามพุทธพจน์นี้ เป็นการย้ำให้มองเห็นกรรมในฐานะกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ตนเองก็ดี ผู้อื่นก็ดี จะมีส่วนเกี่ยวข้องแค่ไหนเพียงใด ย่อมต้องพิจารณาความเป็นเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องและเป็นไปในกระบวนการ มิใช่พูดขาดลงไปง่ายๆ ในทันที

 ที่กล่าวมานี้ เป็นการป้องกันความเข้าใจผิดสุดโต่ง ที่มักเกิดขึ้นในเรื่องกรรมว่า อะไรๆ เป็นเพราะตนเองทำทั้งสิ้น ทำให้ไม่คำนึงถึงองค์ประกอบและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเกี่ยวข้อง

 อย่างไรก็ดี ต้องแยกความเข้าใจอีกชั้นหนึ่ง ระหว่างหลักธรรมในแง่ตัวกฎหรือสภาวะ กับในแง่ของจริยธรรม
 ที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นการแสดงในแง่ตัวกฎหรือตัวสภาวะ ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการตามธรรมชาติที่ครอบคลุมเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมด

 แต่ในแง่ของจริยธรรม อันเป็นคำสอนให้ปฏิบัติ ผู้ที่ถูกต้องการให้ปฏิบัติ ก็คือผู้ที่ถูกสอน ในกรณีนี้ คำสอนจึงมุ่งไปที่ตัวผู้รับคำสอน เมื่อพูดในแง่นี้ คือเจาะจงเอาเฉพาะตัวบุคคลนั้นเองเป็นหลัก ย่อมกล่าวได้ทีเดียวว่า เขาต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเต็มที่ ในการกระทำต่างๆ ที่เขาคิดหมายกระทำลงไป และที่จะให้ผลเกิดขึ้นตามที่มุ่งหมาย เช่น พุทธพจน์ว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” นี้ เป็นการเพ่งความรับผิดชอบของบุคคล โดยมองจากตัวเองออกไป

 ในกรณีนี้ นอกจากจะมีความหมายว่าต้องช่วยเหลือตัวเอง ลงมือทำเองแล้ว ในแง่ที่สัมพันธ์กับการกระทำของผู้อื่น ยังหมายกว้างไปถึงการที่ความช่วยเหลือจากผู้อื่นจะเกิดขึ้น จะคงมีอยู่ และจะสำเร็จผล ต้องอาศัยการพึ่งตนของบุคคลนั้นเอง ในการที่จะชักจูง เร้าให้เกิดการกระทำจากผู้อื่น ในการที่จะรักษาการกระทำของผู้อื่นนั้นให้คงอยู่ต่อไป และในการที่จะยอมรับหรือสนองต่อการกระทำของผู้อื่นนั้นหรือไม่เพียงใดด้วย ดังนี้เป็นต้น

 โดยเหตุนี้ หลักกรรมในแง่ตัวสภาวะก็ดี ในแง่ของจริยธรรมก็ดี จึงไม่ขัดแย้งกัน แต่สนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่ต้องทำความเข้าใจให้ถูก

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



๒) ลัทธิหรือความเห็นผิด ที่ต้องแยกจากหลักกรรม
 มีลัทธิมิจฉาทิฏฐิ เกี่ยวกับสุขทุกข์และความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์อยู่ ๓ ลัทธิ ซึ่งต้องระวังไม่ให้เข้าใจสับสนกับหลักกรรม คือ :-

 ๑. ปุพเพกตเหตุวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงเป็นเพราะกรรมเก่า
  (past-action determinism) เรียกสั้นๆ ว่า ปุพเพกตวาท
 ๒. อิสสรนิมมานเหตุวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงเป็นเพราะการ
  บันดาลของเทพผู้เป็นใหญ่ (theistic determinism) เรียกสั้นๆ
  ว่า อิศวรกรณวาท หรือ อิศวรนิรมิตวาท
 ๓. อเหตุอปัจจยวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวง เป็นไปสุดแต่โชค
  ชะตาลอยๆ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย (indeterminism หรือ
  accidentalism) เรียกสั้นๆ ว่า อเหตุวาท

 ทั้งนี้ตามพุทธพจน์ว่า
 ภิกษุทั้งหลาย ลัทธิเดียรถีย์ ๓ ลัทธิเหล่านี้ ถูกบัณฑิตไต่ถาม ซักไซ้ไล่เลียงเข้า ย่อมอ้างการถือสืบๆ กันมา ดำรงอยู่ในอกิริยา (การไม่กระทำ) คือ
 ๑. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นเพราะกรรมที่กระทำไว้ในปางก่อน (ปุพฺเพกตเหตุ)
 ๒. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  สุขก็ดี ทุกข์ ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า (อิสฺสรนิมฺมานเหตุ)
 ๓. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้น ล้วนหาเหตุหาปัจจัยมิได้ (อเหตุอปจฺจย)

 ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ ๓ พวกนั้น เราเข้าไปหา (พวกที่ ๑) แล้วถามว่า ‘ทราบว่า ท่านทั้งหลายมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ จริงหรือ?’ ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถูกเราถามอย่างนี้แล้ว รับว่าจริง เราก็กล่าวกะเขาว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านก็จักต้องเป็นผู้ทำปาณาติบาตเพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อนเป็นเหตุ จะต้องเป็นผู้ทำอทินนาทานเพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อนเป็นเหตุ จะต้องเป็นผู้ประพฤติอพรหมจรรย์...เป็นผู้กล่าวมุสาวาท... ฯลฯ  เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ  เพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อน    เป็นเหตุน่ะสิ’
 ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลมายึดเอากรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่า ‘สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ’ ก็ย่อมไม่มี เมื่อไม่กำหนดถือเอาสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยจริงจังมั่นคงดังนี้ สมณพราหมณ์พวกนี้ ก็เท่ากับอยู่อย่างหลงสติ ไร้เครื่องรักษา จะมีสมณวาทะที่ชอบธรรมเฉพาะตนไม่ได้ นี้แล เป็นนิคหะอันชอบธรรมอย่างแรกของเรา  ต่อสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะ  มีทิฏฐิอย่างนี้

 ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ ๓ พวกนั้น เราเข้าไปหา (พวกที่ ๒) กล่าวกะเขาว่า ‘ท่านจักเป็นผู้ทำปาณาติบาต ก็เพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุ จักเป็นผู้ทำอทินนาทาน.. ประพฤติ อพรหมจรรย์... .กล่าวมุสาวาท...ฯลฯ เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ก็เพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุน่ะสิ’

 ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลมายึดเอาการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า เป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่า ‘สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ’ ก็ย่อมไม่มี ฯลฯ

 ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ ๓ พวกนั้น เราเข้าไปหา (พวกที่ ๓) .กล่าวกะเขาว่า ‘ท่านก็จักเป็นผู้ทำปาณาติบาต โดยไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย จักเป็นผู้ทำอทินนาทาน... ประพฤติอพรหมจรรย์...กล่าวมุสาวาท...ฯลฯ เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยน่ะสิ’

 ภิกษุทั้งหลาย  ก็เมื่อบุคคลมายึดเอาความไม่มีเหตุเป็นสาระ  ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่า ‘สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ’ ก็ย่อมไม่มี ฯลฯ

 โดยเฉพาะลัทธิที่ ๑ คือ ปุพเพกตเหตุวาท นั้น เป็นลัทธิของนิครนถ์ ดังพุทธพจน์ว่า
 ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดที่บุคคลได้เสวย ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะกรรมที่ตัวทำไว้ในปางก่อน โดยนัยดังนี้ เพราะกรรมเก่าหมดสิ้นไปด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ ก็จะไม่ถูกบังคับต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป ก็สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม ก็สิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ ก็สิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ก็จักเป็นอันสลัดทุกข์ได้หมดสิ้น ภิกษุทั้งหลาย พวกนิครนถ์มีวาทะอย่างนี้’

 นอกจากนี้ พุทธพจน์ที่เคยยกมาอ้างข้างต้น ซึ่งย้ำความอันเดียวกัน ก็มีว่า
  ดูกรสิวกะ เวทนาบางอย่างเกิดขึ้น มีดีเป็นสมุฏฐานก็มี ฯลฯ เกิด
 จากความแปรปรวนแห่งอุตุก็มี...เกิดจากการบริหารตนไม่สม่ำเสมอก็มี...
 เกิดจากถูกทำร้ายก็มี...เกิดจากผลกรรมก็มี  ฯลฯ  สมณพราหมณ์
 เหล่าใด มีวาทะ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘บุคคลได้เสวยเวทนาอย่างใด
 อย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี เวทนานั้นเป็นเพราะ
 กรรมที่ทำไว้ปางก่อน’ ฯลฯ เรากล่าวว่า เป็นความผิดของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเอง
 
 พุทธพจน์เหล่านี้ ป้องกันความเห็นที่แล่นไปไกลเกินไป จนมองเห็นความหมายของกรรมแต่ในแง่กรรมเก่า กลายเป็นคนนั่งนอนรอคอยผลกรรมเก่า สุดแต่จะบันดาลให้เป็นไป ไม่คิดแก้ไขปรับปรุงตนเอง กลายเป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง ตามนัยพุทธพจน์ที่กล่าวมาแล้ว

 นอกจากนั้น จะเห็นได้ชัดด้วยว่า ในพุทธพจน์นี้ พระพุทธเจ้าทรงถือความเพียรพยายามเป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าทางจริยธรรมของหลักกรรมและคำสอนเหล่านี้ทั้งหมด

 พุทธพจน์เหล่านี้ มิได้ปฏิเสธกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าก็ย่อมมีส่วนอยู่ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย และย่อมมีผลต่อปัจจุบัน สมกับชื่อที่ว่าเป็นเหตุปัจจัยด้วยเหมือนกัน แต่มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยอยู่นั่นเอง ไม่ใช่อำนาจนอกเหนือธรรมชาติอะไรที่จะไปยึดไปหมายมั่นฝากโชคชะตาไว้ ผู้เข้าใจ ปฏิจจสมุปบาท รู้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยดีแล้ว ย่อมไม่มีปัญหาในเรื่องนี้
 เหมือนกับการที่ใครคนหนึ่งเดินขึ้นตึก ๓ ชั้น ถึงชั้นที่สามแล้ว ก็แน่นอนว่า การขึ้นมาถึงของเขาต้องอาศัยการกระทำคือการเดินที่ผ่านมาแล้วนั้น จะปฏิเสธมิได้ และเมื่อขึ้นมาถึงที่นั่นแล้ว การที่เขาจะเหยียดมือไปแตะพื้นดินข้างล่างตึก หรือจะนั่งรถเก๋งวิ่งไปมาบนตึกชั้นสามเล็กๆ เหมือนอย่างบนถนนหลวง ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ และข้อนี้ก็เป็นเพราะการที่เขาขึ้นมาบนตึกเหมือนกัน ปฏิเสธมิได้ หรือเมื่อเขาขึ้นมาแล้ว จะเมื่อยหมดแรง เดินต่อขึ้นหรือลงไม่ไหว นั่นก็ต้องเกี่ยวกับการที่ได้เดินขึ้นมาแล้วด้วยเหมือนกัน ปฏิเสธไม่ได้

 การมาถึงที่นั่นก็ดี ทำอะไรได้ในวิสัยของที่นั่นก็ดี การที่อาจจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรต่ออะไรในที่นั้นอีก ในฐานะที่ขึ้นมาอยู่กับคนอื่นๆ ท่ามกลางสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ ณ ที่นั้นด้วยก็ดี ย่อมสืบเนื่องมาจากการที่ได้เดินมาด้วยนั้นแน่นอน แต่การที่เขาจะทำอะไรบ้าง ทำสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องที่นั่นแค่ไหน เพียงไร ตลอดจนว่าจะพักเสียก่อนแล้วเดินต่อ หรือเดินกลับลงเสียจากตึกนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่เขาจะคิดตกลงทำเอาใหม่ ทำได้ และได้ผลตามเรื่องที่ทำนั้นๆ แม้ว่าการเดินมาเดิมยังอาจมีส่วนให้ผลต่อเขาอยู่ เช่น แรงเขาอาจจะน้อยไป ทำอะไรใหม่ได้ไม่เต็มที่ เพราะเมื่อยเสียแล้ว ดังนี้เป็นต้น ถึงอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องของเขาอีก ที่ว่าจะคิดยอมแพ้แก่ความเมื่อยหรือว่าจะคิดแก้ไขอย่างไร ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทั้งนั้น ดังนั้น จึงควรเข้าใจเรื่องกรรมเก่าเพียงเท่าที่มันเป็นตามกระบวนการของมัน

 ในทางจริยธรรม ผู้เข้าใจปฏิจจสมุปบาท ย่อมถือเอาประโยชน์จากกรรมเก่าได้ในแง่ เป็นบทเรียน เป็นความหนักแน่นในเหตุผล เป็นความเข้าใจตนเองและสถานการณ์ เป็นความรู้พื้นฐานปัจจุบันของตน เพื่อประกอบการวางแผนทำกรรมปัจจุบัน และหาทางแก้ไขปรับปรุงต่อไป

มีต่อค่ะ
:http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8149/

กฎแห่งกรรม  http://www.electron.rmutphysics.com/news/index.php?option=com_content&task=view&id=246&Itemid=5&limit=1&limitstart=151
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 05, 2014, 03:41:25 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

เสียงอ่าน พุทธธรรม บทนี้มี ๘ ตอน
พุทธธรรม
ภาค ๑ มัชเฌนธรรมเทศนา
หลักความจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติ
หรือ ธรรมที่เป็นกลาง

ตอนที่ ๓ ชีวิตเป็นไปอย่างไร
บทที่ ๕ กรรม  ในฐานะที่เนื่องอยู่ในปฏิจจสมุปบาท

- ความนำ
- กฏแห่งกรรม
- ความหมายและประเภทของกรรม

- ปัญหาเกี่ยวกับความดี - ความชั่ว
   ก. ความหมายของกุศลและอกุศล
   ข. ข้อควรทราบพิเศษเกี่ยวกับกุศลและอกุศล
     ๑) กุศลและอกุศลเป็นปัจจัยแก่กันได้
     ๒) บุญและบาป กับ กุศลและอกุศล
   ค. เกณฑ์วินิจฉัยกรรมดี-กรรมชั่ว

- ผลกรรมในช่วงกว้างไกล
- ข้อควรทราบพิเศษเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด
   ๑) สุขทุกข์ ใครทำให้
   ๒) เชื่ออย่างไรผิดหลักกรรม ?
   ๓) กรรมชำระล้างได้อย่างไร ?
   ๔) กรรมกับอนัตตา ขัดกันหรือไม่ ?

- คุณค่าทางจริยธรรม
- บันทึกพิเศษท้ายบท
 
เสียงอ่านบทนี้มี ๘ ตอน
Download 1  หน้า 151-162
Download 2  หน้า 162-171
Download 3  หน้า 171-187
Download 4  หน้า 187-193
Download 5  หน้า 193-204
Download 6  หน้า 204-213
Download 7  หน้า 213-218
Download 8  หน้า 219-222

เพื่อฟังเสียงอ่านค่ะ : http://www.trisarana.org/talks/B/B-Voice_05.htm


พุทธธรรม
สารบัญเสียงอ่าน

ความนำ สิ่งที่ควรเข้าใจ
ภาคที่ ๑ มัชเฌนธรรมเทศนา

บทที่ ๑ ขันธ์ ๕ : ส่วนประกอบ ๕ อย่างของชีวิต
บทที่ ๒ อายตนะ ๖ : แดนรับรู้และเสพเสวยโลก
บทที่ ๓ ไตรลักษณ์ : ลักษณะโดยธรรมชาติ ๓ อย่างของสิ่งทั้งปวง
บทที่ ๔ ปฏิจจสมุปบาท : การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน ๆ จึงเกิดมี
บทที่ ๕ กรรม ในฐานะหลักธรรมที่เนื่องอยู่ในปฏิจจสมุปบาท
บทที่ ๖ วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน : ประโยชน์สูงสุดที่ควรได้จากชีวิตนี้
บทที่ ๗ ประเภทและระดับแห่งนิพพานและผู้บรรลุนิพพาน
บทที่ ๘ ข้อควรทราบเพิ่มเติมเพื่อเสริมความเข้าใจ
บทที่ ๙ หลักการสำคัญของการบรรลุนิพพาน
บทที่ ๑๐ บทสรุปเรื่องเกี่ยวกับนิพพาน
บทที่ ๑๑ บทความประกอบที่ ๑ : ชีวิตและคุณธรรมพื้นฐานของอารยชน
บทที่ ๑๒ บทความประกอบที่ ๒ ศีลกับเจตนารมณ์ทางสังคม
บทที่ ๑๓ บทความประกอบที่ ๓ : อิทธิปาฏิหาริย์ และเทวดา
บทที่ ๑๔ บทความประกอบที่ ๔ : ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
บทที่ ๑๕ บทความประกอบที่ ๕ : ความสุข

ภาค ๒ มัชฌิมาปฏิปทา
บทที่ ๑๖ บทนำของมัชฌิมาปฏิปทา
บทที่ ๑๗ บุพภาคของการศึกษา : ปรโตโฆสะที่ดี
บทที่ ๑๘ บุพภาคของการศึกษา : โยนิโสมนสิการ
บทที่ ๑๙ องค์ประกอบของมัชฌิมาปฏิปทา ๑ : หมวดปัญญา
บทที่ ๒0 องค์ประกอบของมัชฌิมาปฏิปทา ๒ : หมวดศีล
บทที่ ๒๑ องค์ประกอบของมัชฌิมาปฏิปทา ๓ : หมวดสมาธิ
บทที่ ๒๒ อริยสัจ ๔ : บทสรุป

เพื่อฟังเสียงอ่านค่ะ : http://www.trisarana.org/talks/B/B-VMenu_00.htm