กระแสมนตรยานในนิกายเถรวาทเสถียร โพธินันทะ
มนตรยาน คือลัทธินิกายหนึ่งในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ประมาณเวลาของกำเนิดมนตรยาน เห็นจะไม่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๘ ลัทธินี้มาปรากฏมีอิทธิพลขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ล่วงแล้ว ลักษณะพิเศษของมนตรยานที่แตกต่างจากลัทธิอื่น ๆ คือ
นับถือพิธีกรรมและการท่องบ่นสาธยายเวทมนตร์อาคมเป็นสำคัญ นอกจากนั้นก็มีหลักธรรมไม่สู้แปลกจากลัทธิมหายานเท่าใดนัก ชื่อเวทมนตร์แต่ละบทเรียกว่า ธารณี มีอานิสงส์ความขลังความศักดิ์สิทธิ์พรรณนาไว้วิจิตรลึกล้ำหนักหนา ธารณีมนต์เหล่านี้มีทั้งประเภทยาวหลายหน้าสมุด และประเภทสั้นเพียงคำสองคำ ซึ่งเรียกว่าหัวใจคาถาหรือหัวใจธารณี สามารถทำให้ผู้สาธยายพ้นจากทุกข์ภัยนานาชนิด และให้ได้รับความสุขสวัสดิมงคล โชคลาภตามปรารถนาด้วย
ฉะนั้นเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ลัทธินี้จะได้รับการต้อนรับจากพุทธศาสนิกชนผู้ยังเป็นปุถุชนอยู่
ด้วยสามัญปุถุชนย่อมแสวงหาที่พึ่งไว้ป้องกันภัย ศาสนาพราหมณ์จึงอ้างเอาอานุภาพของพระเป็นเจ้าปกป้อง พระพุทธศาสนาลัทธิมนตรยานจึงแต่งมนต์อ้างอานุภาพพระรัตนตรัย และอ้างอานุภาพของพระโพธิสัตว์ ตลอดจนอานุภาพของเทพเจ้า ซึ่งนับถือกันว่าเป็นธรรมบาล รวมเอาเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์เอาไว้ด้วยก็มี แล้วสั่งสอนแพร่หลายในหมู่พุทธศาสนิกชนได้เจริญสาธยาย นานมามนต์เหล่านี้เพิ่มยาว เป็นการยากแก่การจำของสามัญชน จึงได้ย่อเป็นหัวใจเพื่อสะดวกในการจำและการระลึก ธรรมเนียมเช่นที่กล่าวนี้มิได้จำกัดเฉพาะลัทธิมนตรยานเท่านั้น แม้ในพระพุทธศาสนาผ่ายสาวกยาน มีนิกายเถรวาทเป็นต้นก็มี คือ พระปริตต์ซึ่งประกอบด้วยพุทธมนต์เจ็ดตำนานบ้าง ๑๒ ตำนานบ้าง บางทีจะเป็นการเอาอย่างลัทธิมนตรยานก็ได้ แต่มีข้อแตกต่างกัน คือ
พระปริตต์ของเราแต่งเป็นบาลีภาษา และส่วนใหญ่เป็นพระพุทธภาษิตที่ปรากฏมีอยู่ในพระไตรปิฎก เป็นคติธรรมสอนใจ และการสาธยายอำนวยสวัสดิมงคล ก็ไม่มีพิธีรีตองอะไร และไม่พรรณนาคุณานิสงส์ล้นเหลือ ผิดกับลัทธิมนตรยาน ธารณีของเขา แต่งเป็นภาษาสํสกฤตบ้าง ภาษาปรากฤตบ้าง และมีตำนานบอกกำกับไว้ด้วยว่าจะต้องจัดมณฑลพิธีบูชาอย่างนั้น และจะต้องสวดเท่านั้นจบเท่านี้จบ รายละเอียดเกี่ยวกับลัทธิมนตรยาน ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ไนหนังสือเรื่องปรัชญามหายาน ซึ่งพิมพ์จำหน่ายแล้ว
อิทธิพลลัทธิมนตรยาน ได้แพร่หลายข้ามสมุทรเข้ามาในเกาะลังกา ซึ่งเป็นป้อมปราการของพระพุทธศาสนาเถรวาท ครั้งแผ่นดินพระเจ้าศิลาเมฆเสน เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ก่อนหน้าขึ้นไปก็ปรากฏว่ามีลัทธินิกายมหายานบ้าง ลัทธินิกายสาวกยานอื่นๆ ที่ไม่ใช่เถรวาทบ้าง แพร่หลายเข้ามาเหมือนกัน และสถาบันพระพุทธศาสนาชั้นสูงของลังกาในยุคนั้นแห่งหนึ่ง คือ “
คณะอภัยคีรีวิหาร” ได้ต้อนรับลัทธินิกายเหล่านี้ ผิดกับสถาบันพระพุทธศาสนาชั้นสูงอีกแห่งหนึ่ง คือ “
คณะมหาวิหาร” ซึ่งไม่ยอมรับรองด้วยประการใด ๆ เลย จนถึงรัชสมัยพระเจ้าศิลาเมฆเสนดังกล่าว มีคณาจารย์อินเดียในลัทธิมนตรยานรูปหนึ่งชื่อ
พระนาคโพธิ หรือ พระสมันตภัทราจารย์ เข้ามาสั่งสอนลัทธิในลังกา และสำแดงอภินิหารเป็นที่เคารพเลื่อมใสของกษัตริย์ยิ่งนัก เนื่องด้วยมีคัมภีร์สูตรสำคัญของมนตรยานอยู่สูตรหนึ่งชื่อ
วัชรเสขรสูตร และผู้สำเร็จในลัทธิได้รับยกย่องเป็น
วัชราจารย์ ชาวลังกาจึงเรียกพวกมนตรยานว่า
นิกายวัชรบรรพต ลังกาจึงกลายเป็นศูนย์กลางของลัทธิมนตรยาน
ซึ่งชาวต่างประเทศ ต้องแวะเข้ามาศึกษา ดังปรากฏในจดหมายเหตุของจีนว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๒๘๔ พระอโมฆะวัชระ (ปุคคงกิมกัง) ภิกษุในมนตรยาน เดินทางไปเผยแผ่ลัทธิในประเทศจีนปรารถนาจะศึกษาลัทธินิกายให้แตกฉานพิสดารยิ่งขึ้น พาลูกศิษย์จำนวน ๒๗ คน ลงเรือที่เมืองกวางตุ้ง ผ่านคาบสมุทรอินโดจีนมาเกาะลังกา ได้รับพระราชูปถัมภ์จากพระเจ้าศิลาเมฆเสน เข้าศึกษากับพระนาคโพธิจนสำเร็จวิทยาตามปรารถนาแล้วจึงกลับไป
ในสมัยเดียวกับลัทธิมนตรยาน กำลังแพร่หลายอยู่ในลังกาทวีป ประเทศทางคาบสมุทรมลายู ซึ่ง ณ ยุคนั้นมีจักรวรรดิศรีวิชัยได้เป็นใหญ่อยู่ ก็ได้รับเอา ลัทธิมนตรยานโดยตรงจากมคธและเบงคอลเข้ามานับถือ แล้วส่งผลแพร่หลายเข้าไปในอาณาจักร ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา อาณาจักรขอมโบราณ และอาณาจักรจามปาด้วย ทางประเทศพม่าเล่า ลัทธิมนตรยาน ก็เข้าครอบครองอยู่หลายศตวรรษ แต่เนื่องด้วยต่อมาลัทธิมนตรยานแตกออกเป็นหลายสาขา มีสาขาหนึ่งย่อหย่อนในธรรมปฏิบัติเกินไป สาขานี้แพร่สู่พม่าเหนือช้านาน และที่สุดก็หมดสิ้นไปเมื่อรัชสมัยพระเจ้าอโนรธา ฉะนั้น ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท บัดนี้ล้วนปรากฏว่า ในอดีต ลัทธิมนตรยานเคยรุ่งเรืองอยู่ระยะหนึ่งทั้งนั้น แม้ภายหลังจะเสื่อมสูญไป แต่กระแสของมนตรยานก็มิได้หมดสิ้น เช่นในประเทศไทย
ได้สำแดงออกในรูปของไสยเวท ด้านพุทธาคม การปลุกเสกพระเครื่องราง ลงเลขยันต์อักขรพิธีพุทธาภิเษก พิธีอัญเชิญพระเข้าตัวบุคคล ซึ่งถือกันว่าเป็น
สมถกัมมัฏฐานแบบหนึ่ง ฯลฯ ไสยเวทด้านพุทธาคมเหล่านี้ล้วนมีความขลังความศักดิ์สิทธิ์มาก
ซึ่งเกิดจากอำนาจความยึดมั่นในคุณพระรัตนตรัย และตบะเดชะแห่งกระแสจิตของครูบาอาจารย์ ดังปรากฏเสมอ ในบุคคลผู้มีความอยู่ยงคงกระพันเป็นต้น อุทาหรณ์แห่งกระแสมนตรยานในประเทศไทย ข้าพเจ้าจะยกมาให้เป็นนิทัศนะ นอกจากที่ได้กล่าวแล้ว ยังมีประเภทมนต์ และสูตรอีก เช่น มี
พระอาการวัตตาสูตร ๑ พระอุณหิสวิชัยสูตร ๑