ผู้เขียน หัวข้อ: ทุกขนิเทศ คัมภีร์วิสุทธิมรรค (ชาติทุกข์)  (อ่าน 4452 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

  ทุกขนิเทศ  คัมภีร์วิสุทธิมรรค
                                                 ชาติทุกข์
         วาระนี้ จะได้กล่าวแสดงถึงชาติทุกข์อันมาในขันธ์ทั้งหลาย ที่เป็นไปตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงออกจากครรภ์มารดา มีการก้าวลงสู่ครรภ์เป็นมูลเป็นต้น เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธุชนผู้สนใจในการค้นคว้าหาความจริงในสัจธรรม อันจะเป็นเหตุน้อมนำเข้าสู่ความสุขเกษมสำราญในพระนิพพานสืบต่อไป คือ



         ๑.  ทุกข์มีการก้าวลงสู่ครรภ์เป็นมูล มีอรรถาธิบายว่า ก็สัตว์ที่บังเกิดในมนุษยโลกนี้ เมื่อบังเกิดในครรภ์ของมารดาอยู่ ก็หาได้บังเกิดอยู่ในดอกอุบล ดอกปทุม และดอกบุณฑริกเป็นต้นไม่แล โดยที่แท้จริงแล้วย่อมบังเกิดในส่วนแห่งครรภ์ใต้กระเพาะของอาหารใหม่ เหนือกระเพาะอาหารเก่า ท่ามกลางพื้นท้องและกระดูกสันหลัง คับแคบยิ่งนัก มืดมิดอบอวลไปด้วยกลิ่นอันเหม็นยิ่งซึ่งกลิ่นศพต่างๆ ทำให้เกิดขึ้น น่าเกลียดยิ่งนัก รางกะตัวหนอนอันเกิดอยู่ในปลาเน่า ขนมบูด และหลุมน้ำครำเป็นต้นฉะนั้น สัตว์ผู้เกิดในครรภ์มารดานั้น ถูกไออุ่นอันเกิดในครรภ์ของมารดากระทบเอาตลอด ๑๐ เดือน อบอยู่ดุจข้าวห่อ นิ่งอยู่ดุจก้อนแป้ง เว้นจากการคู้เข้าและเหยียดออกเป็นต้น ย่อมเสวยทุกข์มีประมาณยิ่งนักแล ทุกข์ที่กล่าวมานี้ชื่อว่า คัพโภกกันติมูลกทุกข์ แปลว่า ทุกข์มีการก้าวลงสู่ครรภ์เป็นมูลก่อน ฉะนี้แล

                   
 
         ๒.  ทุกข์มีการบริหารครรภ์เป็นมูล มีอรรถาธิบายว่า อนึ่ง สัตว์นั้นเสวยทุกข์ใดมีประมาณยิ่งนัก ในเพราะการกระทำการงานของมารดา มีการถูกฉุดกระชากลากถู การกระแทกและการผลักเป็นต้น ในเวลาที่ลื่นถลา เวลาเดิน เวลานั่ง เวลาลุกขึ้น และเวลาพลิกเป็นต้น โดยฉับพลัน เหมือนลูกแพะอยู่ในมือของนักเลงสุรา และเหมือนลูกงูอยู่ในมือของหมองู อนึ่ง สัตว์นั้นเสวยทุกข์กล้าอันใด ในเวลาที่มารดาดื่มน้ำเย็น เป็นเหมือนสัตว์ตกสีตนรกคือนรกหนาว ในเวลาที่มารดากลืนข้าวยาคูและภัตรร้อนๆ เป็นต้น ก็เป็นเหมือนกับถูกฝนถ่านเพลิงประพรมโดยรอบ ในเวลาที่มารดากลืนของเค็มและของเปรี้ยวเป็นต้น ก็เป็นเหมือนกับถูกลงโทษด้วยการกรีดสับที่ร่างกายแล้วราดด้วยน้ำกรด ฉะนั้นแล ทุกข์ที่กล่าวมานี้ ชื่อว่า คัพภปริหรณมูลกทุกข์ แปลว่า ทุกข์ที่มีการบริหารครรภ์เป็นมูล ด้วยประการฉะนี้



         ๓.  ทุกข์มีความวิบัติแห่งครรภ์เป็นมูล มีอรรถาธิบายว่า อนึ่ง สัตว์นั้นย่อมเกิดทุกข์ใด ด้วยเหตุมีการตัด การผ่า เป็นต้น ในที่ที่ทุกข์เกิดแก่มารดาผู้มีครรภ์หลงคือขัดมดลูก ซึ่งไม่สมควรเลยที่มิตรอำมาตย์และเพื่อนฝูงเป็นต้นจะพึงดู ทุกข์นี้ ชื่อว่า คัพภวิปัตติมูลกทุกข์ แปลว่า ทุกข์มีความวิบัติแห่งครรภ์เป็นมูลแล

         ๔.  ทุกข์มีการคลอดเป็นมูล มีอรรถาธิบายว่า ทุกข์ใดเกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้ถูกลมกรรมชวาตของมารดาที่กำลังจะคลอดพัดผันให้เคลื่อนไปโดยลำดับ สู่ช่องคลอดอันน่ากลัวยิ่งนัก เหมือนอย่างปล่องเหว การพลัดออกจากทางช่องคลอดอันคับแคบยิ่งนักนั้นก็เหมือนช้างใหญ่ถูกดันออกทางช่องดาล และการที่กำลังคลอดออกทางช่องคลอดนั้นก็เป็นทุกข์ยิ่งนัก เหมือนทุกข์เกิดขึ้นแก่สัตว์นรกที่ถูกสังฆาตบรรพตบดอยู่ ทุกข์นี้ชื่อว่า วิชายนมูลกทุกข์ แปลว่า ทุกข์มีการคลอดเป็นมูล


         ๕.  ทุกข์มีการออกนอกครรภ์เป็นมูล มีอรรถาธิบายว่า อนึ่ง สัตว์ที่เกิดแล้วจะเป็นผู้มีสรีระละเอียดอ่อน เหมือนกับแผลใหม่ๆ ย่อมเกิดเป็นทุกข์ขึ้น ในเมื่อถูกปลายเข็มแทงและถูกคมมีดโกนบาด และในเวลาที่เขาเอามือจับชำระล้างแผลหรือเช็ดแผลด้วยผ้าเป็นต้น ทุกข์นี้ชื่อว่า พหินิกขมนมูลกทุกข์ แปลว่า ทุกข์มีการออกนอกครรภ์เป็นมูลแล

         ๖.  ทุกข์มีการทำร้ายตัวเองเป็นมูล มีอรรถาธิบายว่า เบื้องหน้าแต่ออกนอกครรภ์มารดานั้น ในเมื่อปวัตติกาลดำรงอยู่นั้น สัตว์นั้นย่อมทำร้ายตนด้วยตนเองบ้าง ย่อมประกอบความเพียรที่จะทำตนให้เร่าร้อนบ้าง ย่อมทำการย่างกิเลสโดยรอบด้วยอำนาจอเจลกวัตรบ้าง ย่อมไม่กินอาหารและแขวนตัวเอง ด้วยอำนาจความโกรธบ้าง การกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นทุกข์ ทุกข์นี้ชื่อว่า อัตตุปักกมมูลกทุกข์ แปลว่า ทุกข์ที่มีการทำร้ายตนเองเป็นมูล ฉะนี้แล

         ๗.  ทุกข์ที่มีการทำร้ายแต่ผู้อื่นเป็นมูลนั้น มีอรรถาธิบายว่า อนึ่ง ทุกข์อันใดอันเกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้ได้รับโทษอาชญาต่างๆ มีถูกประหารและถูกจองจำเป็นต้น เพราะความที่สัตว์นั้นได้กระทำกรรมอันชั่วช้าเลวทรามมีฆ่าสัตว์เป็นต้น ด้วยอำนาจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต จึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์แล ทุกข์นี้ ชื่อว่า ปรุปักกมมูลกทุกข์ แปลว่าทุกข์มีการทำร้ายแต่ผู้อื่นเป็นมูล ฉะนี้

         สรุปความว่า อันว่าความทุกข์แม้ทั้งหมดนี้ มีชาติคือความเกิดนี้เป็นที่ตั้งขึ้น เป็นที่บังเกิดขึ้นนั่นเอง เพราะเหตุนั้น พระผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ จึงตรัสความเกิดขึ้นนี้ว่าเป็นทุกข์ก่อนกว่าทุกข์ทั้งปวง ดังนี้ ฉะนี้แล   ฯ


ชาวพุทธ สนทนาธรรมตามกาล
-https://plus.google.com/118388606770518536337/posts/NQe6EyhMaS7

**************************************************

เพื่ออ่าน...
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๑. กามสุตตนิทเทส
หน้าต่างที่   ๕ / ๖.

---------------------.................................
---------------------.................................

  มีเนื้อความว่า สังขตลักษณะ ในข้อความนี้ว่า ชาติ ทฺวีหิ ขนฺเธหิ สงฺคหิตา สังขตลักษณะ สงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๒.
               มีเนื้อความว่า ประสูติ ในข้อความนี้ว่า สมฺปติชาโต อานนฺท โพธิสตฺโต ดูก่อนอานนท์ พระโพธิสัตว์ประสูติบัดเดี๋ยวนี้.
               เนื้อความว่า ปฏิสนธิขณะ โดยอ้อม ในข้อความนี้ว่า ภวปจฺจยา ชาติ ปฏิสนธิขณะมีเพราะภพเป็นปัจจัย. และว่า ชาติปิ ทุกฺขา แม้ปฏิสนธิขณะก็เป็นทุกข์ แต่โดยตรงมีเนื้อความว่า ความปรากฏครั้งแรกแห่งขันธ์นั้นๆ ที่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้บังเกิดอยู่ในภพนั้นๆ.
               หากจะถามว่า ก็เพราะเหตุไร ชาตินี้จึงเป็นทุกข์?
               พึงตอบว่า เพราะเป็นที่ตั้งของทุกข์มิใช่น้อย ก็ทุกข์มิใช่น้อย ได้แก่ ทุกขทุกข์ วิปริณามทุกข์ สังขารทุกข์ ปฏิจฉันนทุกข์ อัปปฏิจฉันนทุกข์ ปริยายทุกข์ นิปปริยายทุกข์.
               บรรดาทุกข์เหล่านี้ ทุกขเวทนาทางกาย ทางใจ ท่านเรียกว่าทุกขทุกข์ เพราะเป็นทุกข์โดยสภาวะด้วย โดยชื่อด้วย.
               สุขเวทนา ท่านเรียกว่าวิปริณามทุกข์ เพราะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ในเมื่อแปรปรวนไป.
               อุเบกขาเวทนาด้วย สังขารที่เป็นไปในภูมิ ๓ ที่เหลือลงด้วย ท่านเรียกว่าสังขารทุกข์ เพราะถูกความเจริญและความเสื่อมบีบคั้น.
               อาพาธทางกายทางใจ คือ ปวดหู ปวดฟัน ความเร่าร้อนเกิดเพราะโทสะโมหะ ท่านเรียกว่าปฏิจฉันนทุกข์ เพราะถามจึงรู้ และเพราะมีความพยายามไม่ปรากฏ.
               อาพาธที่มีการลงโทษ ๓๒ อย่างเป็นต้นเป็นสมุฏฐาน ท่านเรียกว่าอัปปฏิจฉันนทุกข์ เพราะไม่ต้องถามก็รู้ และเพราะมีความพยายามปรากฏ.
               ทุกข์ที่เหลือ นอกจากทุกขทุกข์ มาแล้วในคัมภีร์สัจจวิภังค์.
               ทุกข์แม้ทั้งหมดมีชาติเป็นต้น ท่านเรียกว่าปริยายทุกข์ เพราะเป็นที่ตั้งของทุกข์นั้นๆ ส่วนทุกขทุกข์ ท่านเรียกว่าทุกข์โดยตรง
               บรรดาทุกข์เหล่านั้น ชาติทุกข์นี้ ได้แก่ทุกข์ที่เป็นไปในอบาย แม้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเป็นอุปมาไว้ในพาลปัณฑิตสูตรเป็นต้น และทุกข์ประเภทที่มีความเกิดในครรภ์เป็นมูลเป็นต้นที่เกิดในมนุษยโลก แม้ในสุคติ ชาติเป็นทุกข์เพราะความเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์นั้น.

               ในทุกข์เหล่านั้น ทุกข์ประเภทที่มีความเกิดในครรภ์เป็นมูลเป็นต้น ดังต่อไปนี้.
               ความจริง สัตว์นี้เมื่อบังเกิดในครรภ์ของมารดา มิใช่บังเกิดในดอกอุบล ดอกปทุมและดอกบุณฑริกเป็นต้น ที่แท้บังเกิดในส่วนของร่างกายที่เป็นท้อง ตรงกลางระหว่างแผ่นท้องและกระดูกสันหลัง อยู่ใต้กระเพาะอาหารใหม่ เหนือกระเพาะอาหารเก่า เป็นที่คับแคบอย่างยิ่งมืดตื้อ อบไปด้วยกลิ่นซากศพต่างๆ และมีกลิ่นเหม็นอย่างยิ่งอัดแน่น น่ารังเกียจอย่างยิ่ง เหมือนหนอนในปลาเน่า ขนมสดบูดเน่าและส้วมซึมเป็นต้น สัตว์ที่เกิดในครรภ์นั้นต้องอยู่ในครรภ์มารดาถึง ๑๐ เดือน จึงร้อนเหมือนอาหารที่สุกแต่ความร้อน, จมอยู่เหมือนก้อนแป้ง เว้นจากการคู้เข้าและการเหยียดออกเป็นต้น ย่อมเสวยทุกข์มีประมาณยิ่งแล ทุกข์มีความเกิดในครรภ์เป็นมูล เท่านี้ก่อน.
               สัตว์นั้น เวลาที่มารดาลื่นพลาด เดินนั่งลุกและพลิกตัวโดยพลันเป็นต้น เป็นเหมือนลูกแกะอยู่ในมือของนักเลงสุรา และเหมือนลูกงูอยู่ในมือของคนเล่นงู ย่อมเสวยทุกข์มีประมาณยิ่ง ด้วยความพยายามมีฉุดกระชากลากถูเป็นต้น.
               สัตว์นั้น เวลาที่มารดาดื่มน้ำเย็น ก็เป็นเหมือนตกสีตนรก เวลามารดากลืนกินข้าวยาคูและภัตตาหารที่ร้อน ก็เหมือนถูกโปรยด้วยเม็ดฝนถ่านเพลิง เวลาที่มารดากลืนกินของเค็มของเปรี้ยวเป็นต้น ก็เหมือนถูกลงโทษมีราดด้วยน้ำด่างเป็นต้น ย่อมเสวยทุกข์หนัก นี้เป็นทุกข์ซึ่งมีการบริหารครรภ์เป็นมูล.
               อนึ่ง ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์นั้น ด้วยการตัดและการผ่าเป็นต้น ในที่เกิดทุกข์ ซึ่งแม้มิตรอำมาตย์และเพื่อนเป็นต้นของมารดาผู้หลงครรภ์ ก็ไม่ควรเห็น นี้เป็นทุกข์ซึ่งมีความวิบัติแห่งครรภ์เป็นมูล.
               เมื่อมารดาคลอด ทุกข์ย่อมเกิดแก่สัตว์นั้นผู้ถูกลมกัมมชวาตพัดให้ตกลงตรงทางกำเนิดซึ่งน่ากลัวยิ่งเหมือนตกนรก ถูกคร่าออกทางปากช่องกำเนิดที่คับแคบอย่างยิ่งเหมือนช่องกุญแจ เหมือนสัตว์นรกมหานาคที่ถูกภูเขาบดแหลกละเอียด นี้เป็นทุกข์ซึ่งมีการคลอดเป็นมูล.
               อนึ่ง ในเวลาที่เขาจับมือให้อาบน้ำทำความสะอาดและเช็ดถูด้วยผ้า ซึ่งสรีระของเด็กอ่อนอันเช่นกับแผลอ่อนเป็นต้น ทุกข์เช่นกับการเจาะและการผ่าด้วยคมมีดโกนซึ่งคมเหมือนปากยุง ย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้เกิดแล้ว นี้เป็นทุกข์ซึ่งมีการออกภายนอกครรภ์มารดาเป็นมูล.
               ในความเป็นไปต่อแต่นั้น ทุกข์ย่อมมีแก่สัตว์ผู้ฆ่าตนด้วยตนนั่นแหละ ผู้ประกอบความเพียรด้วยการทรมานตนและการเผากิเลสด้วยการประพฤติวัตรของอเจลกเป็นต้น ผู้ไม่บริโภคอาหารและหงุดหงิดเพราะโกรธ นี้เป็นทุกข์ซึ่งมีความขวนขวายของตนเป็นมูล.
               อนึ่ง ทุกข์ย่อมเกิดแก่สัตว์ผู้เสวยกรรมมีการฆ่าและการจองจำเป็นต้นแต่ผู้อื่น นี้เป็นทุกข์ซึ่งมีความขวนขวายของผู้อื่นเป็นมูล.
               ทุกข์แม้ทั้งหมดนี้ล้วนมีชาติเป็นที่ตั้งทั้งนั้น ด้วยประการฉะนี้. ชาติทุกข์นี้ย่อมติดตามไป.




บทว่า ชราทุกฺขํ ได้แก่ ชรา ๒ อย่าง คือ ลักษณะที่ปรุงแต่ง ๑ ความเก่าแห่งขันธ์ที่เนื่องด้วยเอกภพในสันตติ ที่รู้กันว่าฟันหักเป็นต้น ๑. ชรานั้นท่านประสงค์เอาในที่นี้,
               ก็ชรานี้นั้นเป็นทุกข์ เพราะความเป็นทุกข์ในสังสารวัฏ และเพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ทุกข์ทางกายและทางใจซึ่งมีปัจจัยไม่น้อยเป็นต้นว่า ความหย่อนยานแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ ความมีรูปเปลี่ยนไปเพราะความวิการแห่งอินทรีย์ ความเป็นหนุ่มสาวสิ้นไป ความเพียรอ่อนลง ความปราศจากสติและมติ และความดูแคลนแต่ผู้อื่นนี้ย่อมเกิดขึ้น.
               ชราเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์นั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า :-
                                   สัตว์ย่อมถึงทุกข์ทางกายทุกข์ทางใจ เพราะ
                         อวัยวะหย่อนยาน อินทรีย์ทั้งหลายพิการ ความเป็น
                         หนุ่มสาวสิ้นไป ความบั่นทอนกำลัง ปราศจากสติเป็น
                         ต้น บุตรและทาระของตนไม่เลื่อมใส, ถึงความอ่อน
                         ยิ่งๆ ขึ้น เพราะทุกข์ทั้งหมดนั้นมีชราเป็นเหตุ ฉะนั้น
                         ชราจึงเป็นทุกข์.
---------------------------...........................
---------------------------...........................

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๑. กามสุตตนิทเทส
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=1&p=5
******************************************



เหตุแห่งการเกิดในครรภ์
ภิกษุทั้งหลาย ! การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์
ย่อมมีได้ เพราะการประชุมพร้อมของสิ่ง ๓ อย่าง.
ในสัตว์โลกนี้ แม้มารดาและบิดาเป็นผู้อยู่ร่วมกัน
แต่มารดายังไม่ผ่านการมีระดู และคันธัพพะ (สัตว์ที่จะเข้าไป
ปฏิสนธิในครรภ์นั้น) ก็ยังไม่เข้าไปตั้งอยู่โดยเฉพาะด้วย
การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ ก็ยังมีขึ้นไม่ได้ก่อน.

ในสัตว์โลกนี้ แม้มารดาและบิดาเป็น ผู้อยู่ร่วมกันและ
มารดาก็ผ่านการมีระดู แต่คันทัพพะของเขาไม่เข้าไปตั้งอยู่โดยเฉพาะ
การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ ก็ยังมีขึ้นไม่ได้นั่นเอง.
ภิกษุทั้งหลาย ! แต่เมื่อใด
มารดาและบิดาเป็นผู้อยู่ร่วมกันด้วย
มารดาก็ผ่านการมีระดูด้วย
คันธัพพะก็เข้าไปตั้งอยู่โดย
เฉพาะด้วย
การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ ย่อมสำเร็จได้
เพราะการประชุมพร้อมกันของสิ่ง ๓ อย่าง ด้วยอาการอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย ! มารดา ย่อมบริหารสัตว์ที่เกิดใน
ครรภ์นั้น ด้วยความเป็นห่วงอย่างใหญ่หลวงเป็นภาระหนัก
ตลอดเวลาเก้าเดือนบ้าง สิบเดือนบ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อล่วงไปเก้าเดือนเดือนหรือสิบเดือน
มารดา ย่อมคลอดบุตรนั้นด้วยความเป็นห่วงอย่างใหญ่หลวง
เป็นภาระหนัก ได้เลี้ยงซึ่งบุตรอันเกิดแล้วนั้น ด้วยโลหิต
ของตนเอง.

ภิกษุทั้งหลาย ! ในอริยวินัย คำว่า “โลหิต” นี้
หมายถึงน้ำนมของมารดา.
ภิกษุทั้งหลาย ! ทารกนั้น เจริญวัยขึ้น มีอินทรีย์
อันเจริญเต็มที่แล้ว เล่นของเล่นสำหรับเด็ก เช่น เล่นไถ
น้อยๆ เล่นหม้อข้าวหม้อแกง เล่นของเล่นชื่อโมกขจิกะ
เล่นกังหันลมน้อยๆ เล่นตวงของด้วยเครื่องตวงที่ทำด้วย
ใบไม้ เล่นรถน้อยๆ เล่นธนูน้อยๆ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ทารกนั้น ครั้นเจริญวัยขึ้นแล้ว
มีอินทรีย์อันเจริญเต็มที่แล้ว เป็นผู้เอิบอิ่มเพียบพร้อมด้วย
กามคุณ ๕ ให้เขาบำเรออยู่ทางตาด้วยรูป,
ทางหูด้วยเสียง,
ทางจมูกด้วยกลิ่น,
ทางลิ้นด้วยรส
และทางกายด้วยโผฏฐัพพะ
ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ เป็นที่
ยวนตา ยวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่
เป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัดย้อมใจ และเป็นที่ตั้งแห่ง ความรัก.

ทารกนั้น ครั้นเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมกำหนัด
ยินดีในรูป ที่ยั่วยวนให้เกิดความรัก ย่อมขัดใจในรูป ที่
ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความรัก ไม่เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งสติ อันเป็นไป
ในกาย มีใจเป็นอกุศล ไม่รู้ตามที่เป็นจริง ซึ่งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งธรรมอันเป็นบาป
อกุศลทั้งหลาย.

ทารกนั้น ครั้นได้ยินเสียงด้วยหู... ดมกลิ่นด้วย
จมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมกำหนัดยินดีในธรรมารมณ์
ที่ยั่วยวนให้เกิดความรัก ย่อมขัดใจในธรรมารมณ์ที่เป็นที่
ที่ตั้งแห่งความรัก ไม่เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งสติอันเป็นไปในกาย
มีใจเป็นอกุศล ไม่รู้ตามที่เป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งธรรมอันเป็นบาปอกุศล
ทั้งหลาย.

กุมารน้อยนั้น เมื่อประกอบด้วยความยินดีและ
ความยินร้ายอยู่เช่นนี้แล้ว เสวยเฉพาะซึ่งเวทนาใดๆ
เป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม เขาย่อม
เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งเวทนานั้นๆ.

เมื่อเป็นอยู่เช่นนั้น
ความเพลิน (นันทิ) ย่อมบังเกิดขึ้น
ความเพลินใดในเวทนาทั้งหลาย มีอยู่
ความเพลินอันนั้น เป็นอุปาทาน
เพราะอุปาทานของเขานั้นเป็นปัจจัย
จึงเกิดมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย
จึงเกิดมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
จึงเกิดมีพร้อม
ความก่อขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้แล.

มู. ม. ๑๒/๔๘๕-๔๘๗/๔๕๒-๔๕๓.
1. เจโตวิมุตติ : การหลุดพ้นอันอาศัยสมถะ (สมาธิ).
2. ปัญญาวิมุตติ : การหลุดพ้นอันอาศัยวิปัสสนา (ปัญญา).
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 04, 2017, 03:22:30 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
สาระสำคัญแห่งวิสุทธิมรรค ตอนที่ 13
Published on Oct 25, 2013
โดย วศิน อินทสระ เสียงอ่านโดย สวัสดิ์ อมรสิทธิ์
https://youtu.be/ZfNNPeZckm0


สาระสำคัญแห่งวิสุทธิมรรค ตอนที่ 1 Play All List
https://youtu.be/4p_Ne9cA7RM?list=PL72mK9chQOXPNyXoeNGOPPowQfNOgjRSq