คลังธรรมปัญญา > พรรณาอักษร

ไฮกุ เซนสิบเจ็ดพยางค์ สะท้อน ปรัชญา ‘น้อยคือมาก’ (Less is more)

(1/3) > >>

มดเอ๊กซ:



เซนสิบเจ็ดพยางค์

ญี่ปุ่นรับเซนมาทั้งชีวิตและจิตใจ…

เซนเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ถือกำเนิดในอินเดีย แตกหน่อในจีน และงอกงามในญี่ปุ่น หลังจากได้ดิน การศึกษา การปกครอง วัฒนธรรม ศาสตร์ทางศิลปะสายต่าง ๆ ตั้งแต่การวาดภาพ การเต้นรำ ดนตรี พิธีชงชา (ฉะโด) ศาสตร์คัดลายมือ (โฉะโด) การจัดดอกไม้ (คะโด) การจัดสวน (เบนเซขิ) ไปจนถึง วิทยายุทธ์ ( บุโด )

จะว่าไปแล้ว การที่โลกตะวันตกรู้จักเซนก็เพราะลมหายใจของเซนที่เจือปนอยู่ในวัฒนธรรมอันหลากหลายของญี่ปุ่น จนชาวโลกใช้คำว่า เซน แทนที่จะใช้คำดั้งเดิมภาษาสันสกฤตว่า ธยาน (Dhyana) ภาษาบาลี (ฌาน) หรือ ภาษาจีนว่า ฉาน (Ch’an) และเหตุที่เซนหล่อหลอมเข้ากับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้อย่างแนบแน่นคงเป็นเพราะญี่ปุ่นสามารถซึมซับปรัชญาเซนเข้ากับชีวิตประจำวันที่เรียบง่าย ดังบทสนทนาธรรมที่ว่า

“อะไรคือทางไปสู่ธรรม”
”คือชีวิตประจำวัน”

เมื่อหลักการเรียบง่ายของเซนซึมซาบเข้าไปในงานที่ทำ มันก็จะสะท้อนงานนั้นออกมาอย่างเรียบง่าย ยกตัวอย่างศิลปะการจัดสวนเซนซึ่งจัดหินกับทรายด้วยองค์ประกอบที่เรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ ทิศทางของทรายที่ก่อเกิดด้วยคราดสะท้อนทิศทางการไหลของน้ำ การเลือกหินเป็นไปอย่างพิถีพิถันจนเมื่อมองดูแล้ว จะเชื่อว่าหินเหล่านั้นงอกขึ้นมาจากพื้นตรงนั้นจริง ๆ แต่ที่สำคัญก็คือมันไม่ใช่แค่สร้างแบบจำลองธรรมชาติของขุนเขากับสายน้ำโดยการวางองค์ประกอบต่าง ๆ เข้ากันเฉย ๆ แบบจิ๊กซอร์ แต่คนจัดสวนเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของสวนนี่เองที่ทำให้มันเป็นการจัดสวนที่ไม่ใช่การจัดสวน  เช่นเดียวกับการดื่มชาแบบเซนก็ไม่ใช่แค่การดื่มชา แต่เป็นการทำสมาธิจิตอย่างหนึ่ง

มดเอ๊กซ:


สำหรับศิลปะสายอื่น ๆ ที่ได้รับอิทธิพลของเซนก็มีตั้งแต่จิตรกรรม, ภาพพิมพ์, การคัดลายมือ, ดนตรี ไปจนถึงบทกวีไฮกุ

ในงานจิตรกรรม มีการสืบสานการวาดภาพโดยใช้สีขาวดำแบบจีน แสดงถึงความเรียบง่ายและอิงธรรมชาติซึ่งเป็นหัวใจของเซน ภาพจิตรกรรมมักสะท้อนชีวิตไร้จุดหมาย เรียบง่าย และสภาวะภายในของจิตรกรชั่วขณะจิตที่สงบเรียบ เหมือนพระเซนที่กำลังอยู่ในสมาธิ เมื่อมองแบบเซนจะเห็น ‘ขณะจิต’ แบบนี้มากมาย แสงแดดที่กระทบหุบเขา น้ำค้างบนยอดหญ้า ใบไม้ร่วงบนทางเดิน นกบินกลางหาว น้ำตกไหลไม่หมดสิ้น ฯลฯ ภาพต่าง ๆ เหล่านี้ สะท้อนวิถีเซน จึงไม่แปลกที่พระเซนบางท่านเช่น ฮาคุอิน (Hakuin 1686 - 1769) และ กิบน เซนไก (Gibon Sengai 1750 - 1837) ใช้ศิลปะสายจิตรกรรมเป็นหนึ่งในเครื่องมือถ่ายทอดเซน และก็ไม่แปลกอีกเช่นกันที่มีจิตรกรชั้นเซียนจำนวนมากมายตั้งแต่ ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา เป็นพระเซนและเป็นกวีด้วย เช่น มุโซ โซเซกิ หรือ มุโซ โคคุชิ (Muso Soseki / Muso Kokushi 1275 - 1351) , เซ็ตชู ( Sesshu หรือ Sesshu Toyo 1420 - 1506 ) , โช เด็นสุ (Cho Densu 1351 - 1431) , ชุบุน (Shubun 1414 - 1465), โซกะ จะโซกุ (Soda Jasoku ? - 1483)

เซนมีอิทธิพลแม้แต่ในกายุทธ วิชาดาบ (เคนโด) วิชาธนู (คิวโด) การป้องกันตัว (จูโด) ฯลฯ ก็มีเงาเซนทาบอยู่ แม้แต่ยอดนักดาบ มิยาโมโตะ มุซาชิ (Miyamoto Musashi 1584 - 1645) ก็มีความสามารถในการเขียนภาพ ! เขาบอกว่า “เมื่อข้า ฯ ใช้หลักการยุทธ์สร้างสรรค์งานศิลปะสายต่าง ๆ ข้า ฯ มิจำเป็นต้องมีครูสอน ! ”

มดเอ๊กซ:



ในด้านบทกวี มีการประดิษธิ์สิ่งงดงามอย่างหนึ่งที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากรากเหง้าเซนคือ ไฮกุ (Haiku)

ไฮกุเป็นบทกวีความยาว 17 พยางค์ เรียงเป็นสามท่อน 5-7-5 พยางค์ ในบรรทัดเดียว เมื่อถ่ายทอดเป็นภาษาอื่นก็นิยมแยกเป็นสามบรรทัด การเขียนบทกวีแค่ 17 พยางค์ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ผู้ที่ลองเขียนหนังสือ หรือ บทกวีย่อมเข้าใจซึ้งว่า การเขียนโดยใช้คำน้อยนั้นยากกว่าการเขียนเรื่องยาวนัก กวีไฮกุ ต้องใช้ คำ เสียง จังวะ อย่างละเอียดอ่อนและระมัดระวัง เหมือนการจัดดอกไม้ หรือ จัดสวนหิน มันเป็นทั้งศิลปะและปรัชญา

เซอร์ จอร์จ แซนซัม ( Sir George Sansom 1883 - 1965 ) นักประวัติศาสตร์ด้านญี่ปุ่น  ให้คำจำกัดความไฮกุว่า “หยดเล็ก ๆ ของแก่นสารกวี” ฮาโรล เฮนเดอร์สัน (Harold Henderson 1889 - 1974) นักเขืยนด้านศิลปะญี่ปุ่น บอกว่า “ ไฮกุคือการทำสมาธิที่เป็นจุดเริ่มต้นของขบวนความคิดยาวเหยียด ”

เรจินัลด์ โฮเรซ ไบล์ (Reginaid Harace Blyth 1898 - 1964) นักเขียนชาวอังกฤษผู้อุทิศตนให้แก่งานศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่น และเป็นผู้แปลไฮกุ หลายเล่มกล่าวว่า “วรรณกรรมญี่ปุ่นจะยืน หรือ ล้ม ก็ด้วยไฮกุ” 

มดเอ๊กซ:


ไฮกุ มีรากมาจากงานกวีที่เรียกว่า เร็นกะ (Renga) ในศตวรรษที่ 12 เร็นกะ แปลตรงตัวว่า เพลงที่เชื่อมกัน หรือบทกวีที่เชื่อมกัน คุณลักษณ์ของมันคือ เป็นการเชื่อมบทกวีต่อ ๆ กันระหว่างกวีหลายคน จะว่าไปแล้วมันก็คือการด้นอย่างหนึ่ง (เหมือนศิลปินแจ๊สอิมโพรไวซ์เพลงกัน) เร็นกะ มีลักษณะการใช้คำ 17 พยางค์  (5-7-5) มาเชื่อมกับบทที่มี 14 พยางค์ (7-7) บทเปิดของเร็นกะ เรียกว่า ฮกกุ ( hokku )

ในศตวรรษที่ 16 งานศิลปะ เช่น ละครคาบูกิ และภาพพิมพ์ไม้กลายเป็นศิลปะที่สามัญชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย เร็นกะ ได้พัฒนาต่อไปกว้างขึ้น มีทั้งอารมณ์ขันและความหลักแหลม กลายเป็นสไตล์ที่เรียกว่า เร็นกุ(renku) หรือ ไฮไค-โนะ-เร็นกะ (haikai-no-renga) ซึ่งเป็นที่นิยมมาก และต่อมาอีกมันก็พัฒนาเป็น ไฮไค(haikai)  ซึ่งยังคงสืบสานความงามของ ไฮไค-โนะ- เร็นกะ แต่จัดเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งของบทกวี วางรากฐานอย่างแข็งแร็งโดยสองมหากวี มะสึโอะ บะโช (Matsuo Basho 1644-1694) และ อุเอะชิมะ โอนิทสึระ (Ueshima Onitsura 1661-1738 ) มหากวีทั้งสองและศิษย์ไฮไคนำเสนอชีวิตสามัญทั่วไป ชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องขอทาน ชาวนา ชาวบ้าน คนเดินทาง ซึ่งแตกต่างจากกวีแบบดั้งเดิม

หากมองด้วยสายตาของคนในศตวรรษที่ 17  ไฮไคก็น่าจะเป็นงานทดลองแบบหนึ่ง นั่นคือไม่อยู่ในกรอบระเบียบแบบเดิม ใช้ภาษาธรรมดา ซึ่งเข้ากับสามัญชนมากกว่า ช่วงนี้เองที่บทเปิด 5- 7-5 ของเร็นกะ ที่เรียกว่า ฮกกุ กลายเป็นอิสระในตัวมันเอง สมบูรณ์ในบทเดียว หรือที่ วิลเลียม เจ ฮิกกินสัน (William J. Higginson) ผู้แปลไฮกุ หลายเล่ม เรียกมันว่าเป็น stand-alone –verse (บทกวีบทเดี่ยว)

มดเอ๊กซ:


ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 17 กวีบะโช และศิษย์ได้ยกระดับไฮไคขึ้นไปอีกขั้น งดงามและทรงพลัง

นี่คือที่มาของ ไฮกุ

คำว่า ไฮกุ เป็นที่เพิ่งมาใช้กันในศตวรรษที่ 19 นี่เอง กวี มาซาโอกะ ชิกิ (Masaoka Shiki 1867-1902) เป็นคนบัญญัติขึ้น ไฮ หมายถึง ไม่ปกติ กุ* หมายถึง พยางค์ บาท หรือ บทกวี   ไฮกุ หมายรวมถึง งานฮกกุที่เป็นบทกวีเดี่ยว ๆ ทั้งหมดด้วย จนกระทั่งภายหลัง ฮกกุ กับ ไฮกุ ก็พอใช้แทนกันได้
* กุ (ku) ใน ไฮกุ,  ฮกกุ,  เร็นกุ เป็นคำเดียวกัน เสียงที่ถูกต้องคือ ขุ แต่เนื่องจากเสียง ไฮกุ แพร่ หลายแล้ว จึงใช้คำว่า ไฮกุ,  ฮกกุ,  เร็นกุ ทั้งเล่มนี้

แม้จะมีบทกวีที่โดดเด่น เช่น มะสึโอะ บะโช (Matsuo Basho 1644-1694) , เรียวคัง ไดกุ (Ryokan Daiku 1758-1831), โยซะ บุซน (Yosa Buson 1718-1783), โคบายาชิ อิตสะ (Kobayashi issa 1763-1827), นัตสึเมะ โซเซกึ (Nuatsume Soseki 1867-1916) เป็นต้น แต่เนื่องจากเซนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่สามัญชนทั่วไปก็แต่งไฮกุกัน ในญี่ปุ่นปัจจุบันมีกวีไฮกุสมัครเล่นจำนวนนับล้าน ! หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นก็มักมีเนื้อที่ตีพิมพ์ไฮกุ จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีชนชาติใดในโลกที่ดื่มด่ำกับบทกวีไฮกุเท่าญี่ปุ่น

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version