คลังธรรมปัญญา > พรรณาอักษร

ไฮกุ เซนสิบเจ็ดพยางค์ สะท้อน ปรัชญา ‘น้อยคือมาก’ (Less is more)

<< < (2/3) > >>

มดเอ๊กซ:


กติกาการเขียนไฮกุคือ 17 พยางค์  มักใช้คำราว 3-10 คำ ในต้นฉบับญี่ปุ่นมักเขียนเป็นแถวเดียวลงมา แต่บางครั้งก็แยกเป็นสามแถว (ในภาษาอื่นนับเป็นสามบรรทัด)
 
ไฮกุก็ไม่ต่างจากงานนิพนธ์อื่น ๆ  คือเป็นการเล่าเรื่อง เพียงแต่เป็นเรื่องที่คนอ่านต้องคิดและเชื่อมโยงเอาเอง กวีไฮกุนิยมใช้การเขียนแบบนี้ ถ่ายภาพ หรือสะท้อน ความรู้สึกที่เกี่ยวพันความงามในธรรมชาติ คำแต่ละคำในไฮกุเป็นมากกว่าคำบรรยาย มันเป็นปะสบการณ์ทั้งทางโลกและจิตวิญญาณ

มีผู้วิเคราะห์ว่า “ประสบการณ์ไฮกุ” คือการรวมกันของสามองค์ประกอบ อะไร ที่ไหน เมื่อไร

อะไรคือปฏิกิริยาของกวีต่อสิ่งที่ประสบ อาจเป็นภาพ (เช่น ใบไม้ร่วง, พระจันทร์, บ่อน้ำเก่า, กบ) อาจเป็นเสียง (เช่น เสียงน้ำไหล, เสียงลมพัด, เสียงนกร้อง) อาจเป็นกลิ่น (เช่น กลิ่นหอมของดอกไม้) อาจเป็นรส (เช่น รสน้ำชา หรือ ขนม)

ที่ไหน อาจเป็นที่ใดก็ได้ อาจจะเจาะจงชื่อเมือง เช่น เอโดะ ชื่อภูเขา เช่น ฟูจิ ฯลฯ หรือ อาจไม่เจาะจง เช่น วัดโบราณแห่งหนึ่ง เมืองเก่า ชนบท, ทุ่งนา, สวนผลไม้,  ร้านเหล้า ฯลฯ

เมื่อไร เป็นส่วนสำคัญของไฮกุ หลายบทจะบอกช่วงวัน เวลา ฤดูกาล หลายบทไม่บอกตรง ๆ แต่ใช้ ‘ตัวละคร’ บอกทางอ้อม เช่น กบและหวายสีม่วงมักปรากฏในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ ดอกจูงวัวในช่วงฤดูร้อน ดอกเหมยอยู่ในช่วงปีใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อไร ยังอาจเป็นเวลาอดีต ปัจจุบัน หรือ อนาคตก็ได้

มดเอ๊กซ:



กวีไฮกุมองธรรมชาติด้วยสายตาของคนที่เข้าใจโลก หรือ ‘ภูเขาเป็นภูเขา แม่น้ำเป็นแม่น้ำ’ ว่าเป็นความงาม กวีเขียนด้วยญาณทัสนะ ความรู้สึกที่ผูกกับสิ่งที่เห็น

กวีเอกไฮกุ บะโช กล่าวว่า “ จะเขียนไฮกุหรือ ? หาเด็กสูงสามศอกมาสักคน ! ” หมายความว่า เขาเขียนไฮกุด้วยมุมมองและสายตาของเด็ก นั่นคือการมองเห็นโลกที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นครั้งแรก ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ใหม่ และการมองโลกแบบนี้ทำให้เห็นหลายมุมนอกกรอบเดิม
 
ในสายฝนฤดูร้อน
ขาของนกกระสา
สั้นกว่าเดิม

(บะโช)

ไฮกุมองโลกอย่างเป็น ‘เช่นนั้นเอง’ (suchness)  ตรงกับแนวคิดที่ว่า เซนก็คือชีวิตธรรมดาในแต่ละวัน อย่างเช่น :

ข้างหน้าต่าง
งีบบนเตียง
เสื่อไผ่

(บะโช)

โพล้เพล้
อาบต้นฉำฉาแดงกับต้นสน
เถาหวายสีม่วงเบ่งบาน

(ชิโฮตะ)

ช่างสดใสและหวานเสียนี่กระไร
น้ำแห่งขุนเขา
ต่อนักเดินทาง

(คามิโอะ คุมิโกะ)

งานไฮกุมักเกี่ยวกับธรรมชาติ ดังเช่นบทกวีของบะโชที่พูดถึงบ่อยที่สุดบทนี้ :

สระเก่า
กบตัวหนึ่งกระโดดลงไป
เสียงน้ำดังจ๋อม

(บะโช)

นิ่งสงัด
จมหายลงในหิน
เสียงจักจั่น

(บะโช)

กลีบโบตั๋นร่วง
กองทับกันและกัน
สองบ้างสามบ้าง

(บุซน)

มดเอ๊กซ:



ไฮกุจำนวนมากสะท้อน วิถีชีวิตแบบเรียบง่าย พอเพียง สันโดษ ยกตัวอย่างเช่น :

   
ฝนฤดูใบไม้ผลิโปรยปราย
อ้าปากหาวเต็มที่
หญิงงามคนหนึ่ง

(อิตสะ)

ไร้หมวก
ฝนฤดูหนาวหล่นบนตัวข้า ฯ
แล้วทำไม

(บะโช)

ฤดูใบไม้ผลิของข้า ฯ มีเพียงเท่านี้
หน่อไผ่หน่อหนึ่ง
กิ่งหลิวกิ่งหนึ่ง

(อิตสะ)

เดี๋ยว ! หยุด !
ก่อนที่เจ้าจะตีระฆัง
รบกวนดอกซากุระที่บานสะพรั่ง

(อิชุ)

หลับกลางวันของข้า ฯ
หอมหวานขึ้น
ด้วยเสียงเพลงของคนปลูกข้าว

(อิตสะ)

หลายบทสะท้อนเซนอย่างชัดเจน :

บ่อน้ำฤดูหนาว
ถังน้ำเต็มไปด้วย
แสงดาว

(โฮริอุจิ โทชิมิ)

ภูเขาไกลโพ้น
สะท้อนในดวงตา
ของแมลงปอ

(อิตสะ)

ข้าฯ หันหลังของข้าฯ
ให้พระพุทธรูป
จันทร์งามยิ่ง

บางบทสะท้อนเรื่องชีวิต ความเปลี่ยนแปลง ความตายอันเป็นเรื่องธรรมดา ของปรัชญาตะวันออกและเซน :

ป่วยระหว่างการเดินทาง
ฝันถึงท้องทุ่งโรยรา
ท่องเที่ยวไปทั่ว

(บะโช)

สายฝนแผ่วบางในฤดูใบไม้ผลิ
จดหมายที่ถูกทอดทิ้ง
ปลิวผ่านดงไผ่

(อิตสะ)

มดเอ๊กซ:


มีผู้แบ่งประเภทของงานเหล่านี้ ออกตามคุณลักษณะอารมณ์ของมัน เช่น อารมณ์ที่แสดงความรู้สึกโดดเดี่ยวเงียบเหงา ความสงบนิ่ง ความงามสง่า เรียก ซาบิ (sabi) งานที่สะท้อนความเงียบเหงา ความรู้สึกเศร้าว่างโหวงของศิลปินในสภาวะ ‘เช่นนั้นเอง’ เรียกว่า วาบิ (wabi) อารมณ์ที่แสดงความรู้สึกเศร้าโหยหาอดีต เวทนาและการจากไปของโลกบางโลก เรียกว่า อาวาเระ (aware) อารมณ์ที่แสดงความรู้สึกแปลก ลี้ลับ ไม่อาจค้นพบ ความลุ่มลึกที่เข้าถึงยาก เรียกว่า ยูเก็น (yugen)


ตัวอย่างไฮกุแนวซาบิ :

กิ่งไม้เหี่ยวเฉา
อีกาเกาะอยู่
ในค่ำคืนฤดูไบไม้ร่วง

(บะโช)

จากยอดไม้
ความว่างเปล่าโรยตัว
ในเปลือกจักจั่น

(บะโช)

ดื่มสาเก
โดยไร้ดอกไม้และดวงจันทร์
ใครคนนั้นโดดเดี่ยวแท้

(บะโช)

สายตาของกวางตัวผู้
ฟังและรู้สึก
ลมฤดูใบไม้ผลิเริ่มพัด

(ฟุคุดะ คิเนโอะ)


ตัวอย่างไฮกุแนว วาบิ :

บนกิ่งไม้แห้งกรัง
อีกาเกาะอยู่เดียวดาย
ถึงยามค่ำของฤดูใบไม้ผลิแล้ว

(บะโช)

กองสูงสามศอก
พายุในภูเขา
ใบไม้

(บะโช)

สิ้นสุดปี
ยังคงสวมหมวกฟาง
กับรองเท้าแตะ

(บะโช)


ตัวอย่าง ไฮกุ แนว อาวาเระ :

หมู่บ้านเก่าที่รักของข้าฯ
ทุกความทรงจำของบ้าน
แทงดุจหนาม

(อิตสะ)

แม่จ๋า ฉันร้องไห้
เพื่อแม่ ขณะฉันมองทะเล
ทุกครั้งที่ฉันมองทะเล

(อิตสะ)

เศร้าอยู่แล้ว
ยามนี้ยิ่งเหงา
ดุเหว่าภูเขา

(บะโช)

มดเอ๊กซ:


ตัวอย่าง ไฮกุ แนว ยูเก็น :

นอนในวัด
ด้วยใบหน้าที่แท้จริงของข้าฯ
มองจันทร์

(บะโช)

ทุกสิ่งที่เคยอยู่
อันตรธานจากหัวใจชราของข้าฯ
ไร้ร่องรอย

(อิโอะ โซกิ)

มีคำกล่าวว่า ไฮกุที่ดีก็เช่น การโยนก้อนกรวด ลงไปในบ่อน้ำแห่งจิตของผู้ฟัง ขนาดของก้อนกรวดไม่สำคัญเท่าความคงอยู่ของมัน ไฮกุเป็นตัวอย่างของ ปรัชญา ‘น้อยคือมาก’ (Less is more) สิบเจ็ดพยางค์  ที่เรียบง่ายทำงานโดย ให้ความคิดของเราเป็นตัวทำงาน

ผมชอบอ่านบทกวี ไฮกุ (ซึ่งอาจจะสะท้อนนิสัยชอบอะไรรวบรัดก็ได้) และเช่นเดียวกับ การอ่านปรัชญาเต๋าและเซน มักไม่เข้าใจจนถึงระดับถ่องแท้ เพียงแต่ชอบอารมณ์ของบทกวีชนิดนี้ มันเป็นภาวะของการโหยหาอดีต (nostalgia) อยู่มาก แม้จะสั้น หลายบทกลับติดตราตรึงใจนานหลังจากอ่าน และอยากเผยแพร่อารมณ์กวีแบบนี้ต่อผู้อ่านชาวไทยให้กว้างขึ้น โดยหวังลึก ๆ ว่าอาจช่วยทำให้จิตใจชาวเรานุ่มนวลขึ้น และอาจทำให้มองเห็นความงามของธรรมชาติที่เราละเลยมานาน ทั้งที่เราเป็นเมืองเกษตรที่ไกล้ชิดกับธรรมชาติมาแต่บรรพบุรุษ

หนังสือ สี่ฤดู , ทั้งชีวิต เล่มนี้ตั้งใจให้เป็นสมุดภาพแห่งความสุขมากกว่าการพยายามเข้าใจบทกวี หรือตัวตนของกวีอย่างลึกซึ้ง ไฮกุที่นำมาถ่ายทอดทั้งหมดนี้เป็นบทกวีเก่าแก่ เช่นผลงานของ บะโช, อิตสะ ฯลฯ พิสูจน์ว่างานดีนั้นยืนยงผ่านกาลเวลาและเป็นสากล

น่าแปลกเมื่ออ่านกวีบทเก่า ๆ และชีวิตของกวีเหล่านี้แล้ว ผมอดคึดถึง กนกพงค์ สงสมพันธุ์  และหุบเขาฝนโปรยไพรของเขาไม่ได้ คนเหล่านี้เป็นกวีที่หลอมตัวเองเข้าเป็นอณูหนึ่งของธรรมชาติ  ใช้ชีวิตเรียบง่าย  และหายใจเป็นตัวอักษร ทุกยุคทุกสมัยโรคเรามี  บะโช,  อิตสะ และกวีผู้เห็นความงามของโลก ผู้เชื่อมั่นในอำนาจของวรรณกรรม เกิดและตายไปกับความงามของตัวอักษร

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version