ผู้เขียน หัวข้อ: วรรณคดีอยุธยายุคกลาง  (อ่าน 1383 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
วรรณคดีอยุธยายุคกลาง
« เมื่อ: ตุลาคม 29, 2015, 07:58:29 pm »
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๙๙-พ.ศ.๒๒๓๑
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เป็นยุคที่มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตเกิดขึ้นมาก และเป็นยุคที่กวีและงานประพันธ์รุ่งเรืองที่สุด เพราะ
๑. บ้านเมืองอยู่ในความสงบ ปราศจากศึกสงคราม
๒. สมเด็จพระนารายณ์ สิ้นพระทัยในด้านกวีนิพนธ์มาก
๓. มีนักปราชญ์ นักกวี ที่มีความรู้เกิดขึ้นในสมัยนี้มาก
๔. การติดต่อกับชาวต่างประเทศ เป็นไปอย่างกว้างขวาง มีพวกมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่พระศาสนา จึงทรงโปรดให้แต่งหนังสือขึ้นเป็นการเผยแพร่

สมุทรโฆษคำฉันท์
เป็นเรื่องที่มาจากปัญญาชาดก เรื่องสมุทรโฆษชาดก (ชาดกมี ๒ ชุดคือ นิบาตชาดก กับ ปัญญาชาดก (ชาดก ๕๐ เรื่อง)

สมุทรโฆษคำฉันท์นี้ เป็นวรรณคดีที่ประหลาด คือ แต่งหลายสมัย หลายคนจึงจบ ตอนต้นแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยพระมหาราชครู สมเด็จพระนารายณ์ โปรดให้แต่งเป็นบทพากษ์หนังใหญ่ เพื่อแสดงถวายในพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบเบญจเพศของพระองค์ แต่พระมหาราชครูแต่งยังไม่จบก็ถึงแก่อนิจจกรรมเสียก่อน

สมเด็จพระนารายณ์ ทรงนิพนธ์ต่อ ก็ยังไม่จบ เสด็จสวรรคตเสียก่อน จนถึงรัชกาลที่ ๓ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงนิพนธ์ต่อจนกระทั่งจบ

ทั้งสามท่านนี้ นับว่าเป็นนักปราชญ์ที่ยอดเยี่ยมทั้งสิ้น เริ่มแต่งราว พ.ศ. ๒๒๑๐ มาเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๓ เป็นเวลานานถึง ๑๕๐ ปี จึงเบป็วรรณคดีที่ยอดเยี่ยม แต่งหลายคนหลายสมัย ล้วนแล้วแต่นักปราชญ์ชั้นดีของเมืองไทยทั้งสิ้น

ทำนองแต่งเป็นฉันท์ปนกาพย์    เป็นถ้อยคำที่ไพเราะ เมื่อมาแต่งคนละสมัย ย่อมจะมีความรู้เรื่อง ความเป็นมาในสมัยนั้นๆ แตกต่างกันไป นอกจากมีความรู้แล้ว ยังได้รับความเพลิดเพลินจากถ้อยสำนวนภาษาแต่ละยุคอีกด้วย ถ้าพูดถึงเรื่องฉันท์แล้ว สมุทรโฆษคำฉันท์ จึงได้ชื่อว่า เป็นวรรณกรรมที่ยอดเยี่ยมในทางฉันท์ แทรกคติธรรมอันสูง เป็นการเปรียบเทียบสำนวนของนักปราชญ์คนละสมัย ที่มีความยอดเยี่ยมพอๆ กัน ดังเช่น

พระสมุทรโฆษชมป่า
ดาษเดียรเมียรมฤคปักษี        มีสระแลคีรี
ชรลองคูหาห้วยธาร
พระสุริยสายัณห์สำราญ          สัตว์ไพรสบสถาน
สมสรกอกลอยเกรียง
นกหกต่างรวงรัง                และประนังกันแข่งขัน
เหยื่อป้อนปากเมียตน            และตระเหินตระหวนหัน
พระแลคณานก            และตระดกมนะพรรษ์
ใจจงพธูสวรร-            ค และท้าววังเวงใจ

คติเตือนใจ
แม้วหม้ายมากทรัพย์นับแสน  ฤาใครกลัวแกลนกรเลียด บ เบียดบีฑา
ห่อนผู้อำรุงผดุงผกา        คุ้มครองเป็นภาร
เพื่อพำนักนิไป่มี
เสื่อมสูญพูลพิพัฒน์สวัสดี     ดูเฉกกอุคนี
นิราศธุมาอากูล
ผิ บ นั้นคือคงคาสูญ        สายสินธุ์ เพียบพูน
แลโหดแลแห้งแล้งไหล
ผิ บ นั้นคะนึงหนึ่งเวียงไชย     ร่างราชผู้ไอ-
ศวรรย์เสวยราชมี
ผิ บ นั้นหนึ่งรถราชี    เว้นธวัชเป็นศรี
สง่าที่งอนห่อนยล
ล้วนเสื่อมสิ่งสถาพรผล ทั่วผู้หมู่ชน
บ ซร้องสรรเสริญเยินยอ

ตรงนี้ตรงกับกฤษณาสอนน้อง ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้ทรงนิพนธ์สมุทรโฆษ ตอนนี้
โคลงพาลีสอนน้อง ทศรถสอนพระราม โคลงราชสวัสดิ์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระราชนิพนธ์ ความมุ่งหมายเพื่อสั่งสอนข้าราชการ เป็นโคลงสี่สุภาพ

โคลงพาลีสอนน้อง
เจ้าเมืองขีดขินได้สอนสุครีพและองคต ดังเช่น
ทูลผิดกิจแจ้งจัด            ประการใด
คอยดูเมื่อภูวไนย        ผ่องแย้ม
แปรผันบัณฑูรไข            สิงหนาท
จึงค่อยชะรอยเติมเเต้ม    เมื่อท้าวสุขสานต์

โคลงทศรถสอนพระราม
ท้าวทศรถสั่งสอนพระราม     เมื่อจะมอบราชสมบัติ
ให้ครอบครอง เช่น
ความผิดมิตรโทรหเที้ยม        อาธรรม์
จงประคองป้องกันสรรพ์        ชั่วช้า
โทษหนักสลับแสลงปัน        ผจงปลิด
หยุดหยั่งรังรักหล้า            แบ่งให้ทุเล่าเบา

โคลงราชสวัสดิ์ เป็นเรื่องพระพุทธเจ้า ทรงแสดงพุทธโอวาทเกี่ยวกับจรรยามารยาทแก่ข้าราชการเช่น
เตียงตั่งตั้งไว้อย่า        เถลิงกาย
แท่นทองผ่องพรรณราย    เพลิศแพร้ว
ขององค์พงศ์สุทธสาย        กษิรโลก
อย่านั่งจังไรแล้ว            เสนียดร้ายรังแสลง

เสือโคคำฉันท์
พระมหาราชครู เป็นผู้แต่ง พระมหาราชครู เป็นกวีเอกในราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหาราชครูผู้นี้ เป็นคนๆ เดียวกับพระโหราธิบดี ซึ่งเป็นบิดาของศรีปราชญ์

นักปราชญ์บางท่าน ก็ว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน คือ เป็นบิดาของศรีปราชญ์ เป็นทั้งอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์ จึงเรียกว่า มหาราชครู และเป็นทั้งโหรประจำราชสำนัก จึงเรียกว่า โหราธิบดี

อีกฝ่ายหนึ่งค้านว่า ควรจะเป็นคนละคน เพราะปรากฏตามทำเนียบว่า เป็นขุนนางคนละตำแหน่ง ปัญหาจึงยังไม่อาจชี้ชัดลงไปได้

เสือโคคำฉันท์นี้ ได้มาจากปัญญาชาดก ลักษณะเป็นฉันท์ รวม ๖ ชนิด คือ ฉันท์ ๑๑, ๑๒, ๑๔, ๑๕, ๑๙, ๒๑ และเป็นกาพย์ ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครเรื่องคาวีขึ้น โดยเอาเค้าโคลงจากเสือโคคำฉันท์

เป็นฉันท์เรื่องแรกที่จบสมบูรณ์ มีคติสอนใจ การแต่งไม่ถือเอาครุ ลหุ เป็นหลัก เอาจำนวนคำเป็นหัว พรรณนาไพเราะจับใจ เช่น
“ข้าให้โหยหิวหานม        นอนแน่เลวลม
ลำบากก็สุดแรงโรย
มีโคแม่ลูกชายโชย        เดินดั้นดาลโดย
ลำเนาตูข้าวอาศัย
ข้าเห็นคือแม่คลาไคล        ถึงสว่างอาไลย
ก็ขอกษิรามพุกุญช์”

จะเห็นได้ว่า มีถ้อยคำศัพท์ยาก และเป็นคำโบราณน้อย ง่ายแก่การอ่าน และเข้าใจเรื่องเป็นอย่างดี

จินดามณี
พระโหราธิบดีเป็นผู้แต่ง    แม้จะมีปัญหาตกลงแน่ชัดไม่ได้ว่า พระมหาราชครู กับพระโหราธิบดีเป็นคนเดียวกันหรือไม่ ในที่นี้ก็ขอให้ถือว่าเป็นคนละคนกัน แต่งประมาณ พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑ ลักษณะเป็นร้อยแก้วปนกับคำประพันธ์ชนิดต่างๆ เป็นหนังสือแบบเรียนเล่มแรกของเมืองไทย ถือเป็นหลักของภาษาไทย และประสงค์จะให้คนไทยหันมา เอาใจใส่ในหนังสือไทย โดยเกรงว่าคนไทยจะหันไปเข้ารีดในสมัยนั้น ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงห่วงใย และทรงโปรดให้แต่งขึ้น และใช้เป็นแบบเรียนมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วรรณคดีเรื่องนี้กล่าวถึง การอ่านคำ การประสมคำ การใช้อักษร ศ. ส. ษ. อักษรสามหมู่ วิธีผัน การใช้ไม้ม้วน ไม้มลาย ไม้เอก ไม้โท ฯลฯ

การใช้ภาษาค่อนข้างจะยาก สำนวนค่อนข้างจะเก่า ตัวอย่าง เช่น

อักขระเป็นหมู่ สองสามเป็นคู่ ไม้ม้วน ไม้มลาย ไม้เอก ไม้โท เป็นคู่หมู่หมายปาฏิหาริย์ รายฝนทอง ฟองมัน

สถิลธนิต กาพย์กลอนผันติด ชิดรัดเกี่ยวพันธ์ คิดควรจงแม่น อย่าได้
เสรอดสรันอย่าเอาอื่นบรร มาใส่ใช่การ

อันว่ามุนีนารถนักปราชญ์ผู้ใด ใครจักเรียบระเบียบอรรถาภิปราย ย้ายกาพย์กลอนฉันท์พิศาล เรียบอรรถด้วยรัสะฑีฆะ กลระเบียบระบอบประกอบสัพทามหานิทาน ตระการด้วยพฤตโตโทไกร  คัมภีร์ศาสตราคมผสมอรรถ ให้รู้จักกฤตการดังนี้

การใช้ศัพท์ค่อนข้างจะยาก    แต่ก็ใช้เป็นแบบเรียนตลอดมาหลายยุคหลายสมัย

พงศาวดาร กรุงศรีอยุธยา
(ฉบับหลวงประเสริฐ)
หลวงประเสริฐอักษรนิติ ได้พบพงศาวดารนี้ที่จังหวัดเพชรบุรี    เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ พ.ศ. ๖๘๖ จนถึง พ.ศ. ๙๖๖ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกกองทัพไปตีพม่า และสวรรคตที่ห้างหลวง

ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่ง แต่เข้าใจว่า สมเด็จพระ นารายณ์มหาราช ทรงรับสั่งให้เอาจดหมายเหตุของพระมหาราชครูมาเรียบเรียงใหม่เป็นถ้อยความร้อยแก้วธรรมดา

สิ่งที่ได้จากวรรณคดีเรื่องนี้
๑. รู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติไทยในสมัยนั้น คงจะบันทึกโดยพระมหาราชครู
๒. อ่านง่ายเข้าใจง่าย เพราะเป็นร้อยแก้วธรรมดา
๓. สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทรงเข้าพระทัยว่ามี ๒ เล่ม
๔. ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเก่าที่ใช้กันอยู่ในสมัยนั้น แต่อ่านเข้าใจง่าย ดังเช่น
“…ศักราช ๙๐๐ วอกศก วันเสาร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ เสด็จออกสนามให้ชนช้าง แลช้างพญาไฟนั้นงาหักเป็น ๓ ท่อน

อนึ่ง อยู่สองวัน ช้างต้นพระฉัททันต์ไล่ร้องเป็นเสียงสังข์ อนึ่งประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์ เถลิงวันอาทิตยขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าเป็นเหตุ จึงขุนชินราชได้ราชสมบัติ ๔๒ วัน แลขุนชินราชแล แม่ยั่วศรีสุดาจันทร์เป็นเหตุ จึงเชิญสมเด็จพระเธียรราชาธิราชเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น ซึ่งคนรุ่นหลังจะได้รู้เรื่องราวต่างๆ ได้ดี

กาพย์ห่อโคลง พระศรีมโหสถ
พระศรีมโหสถ เป็นกวีเอกประจำราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นกวีท่านแรกที่แต่งกาพย์ห่อโคลงเป็นแบบฉบับ ในสมัยต่อมา

บรรยายชีวิตของคนสมัยกรุงศรีอยุธยา ตลอดทั้งขนบธรรมเนียม การแสดงรื่นเริงต่างๆ อย่างละเอียดและสละสลวย ทั้งภาษาก็คมคาย เข้าใจง่าย

พระศรีมโหสถได้ผลิตผลงานออกมาเป็นแบบฉบับชั้นครูจนทุกวันนี้ ก็คือ

โคลงเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
กาพย์ห่อโคลง
โคลงอักษรสามหมู่
ตัวอย่างกาพย์ห่อโคลง
กลชายหลายลิ้นแลบ     คมแปลบแสบเสียวใจ
เคียวคดกดตรงไฉน    ปราไสยแสร้งแกว่งทอดตัว

กลชายหลายลิ้นล่อ     ลวงหญิง
ความสัจตัดไฉนจริง     หนึ่งน้อย

เคียวคดกดตรงจริง     ฤๅซื่อ
ฝากเปล่าเล้าโลมร้อน     เล่หล้วนลวงหญิง

เรียมฤๅคือบันทัด         ช่างชายตัดขัดเกลาขยัน
ทอดเขียนเรียนพระธรรม     ใช่สันเคียวเบี้ยวบิดงอ

ใจเรียมเทียมดุจด้วย         บันทัด
อันช่างเกลาเหลาตัด         รอบรู้
ทอดเขียนระเมียรอรรถ         ธรรมเมศ
ใช่อันสันเคียวคู้            คดค้อมคมหนา

โคลงเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ตัวอยาง
ตรีมุขสิงหาศน์แก้ง         กรองผสาย
ดุมแว่นแววเรืองฉาย        รุ่งเร้า
โรงธารกำนัลถวาย        อภิวาท
งามเงื่อนนฤมิตเย้า        ยั่วฟ้ามาดิน

มีสินธุสายสิตซึ้ง            ชลใส
เติมแต่เศขรใน            ซอกชั้น
พุพวยหลั่งลงไหล            เซงซ่าน
วางท่อทางด้านดั้น        สู่ท้องวังเวียง

แต่งเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช บรรยายถึงความเจริญรุ่งเรืองของปราสาทราชวังในสมัยนั้น และความเจริญในด้านการประปา เช่น วางท่อทางด้านดั้น สู่ท้องวังเวียง”
จึงได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ว่า ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้วางท่อประปาจากเขามาสู่วังเวียง การประปาจึงเกิดตั้งแต่ในสมัยนั้น นี่คือความรู้ทางประวัติศาสตร์ เป็นจดหมายเหตุ

โคลงอักษรสามหมู่
ลักษณะเป็นโคลงสี่สุภาพ เล่นอักษรและวรรณยุกต์คล้ายกลบท
ไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่มีคุณภาพในด้านวรรณกรรม ศิลปในการเล่นคำในการแต่ง ตัวอย่างเช่น
บึงบัวตูมตุ่มตุ้ม        กลางตม
สูงส่งทางพานลม     ล่มล้ม
แมลงเม้าเม่าเมาฉม     ซมซราบ
รู รู่ รู้ ริมก้ม        พาดไม้ไทรสอง

เป็นการเล่นตัวอักษรได้อย่างคมคาย และไพเราะอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นผลงานชิ้นหนึ่ง ของพระศรีมโหสถ

ทวาทศมาส
ผู้แต่ง รู้ได้จากโคลงบทท้ายว่า
การกลอนนี้ต้องอาทิ         กวี หนึ่งนา
เยาวราชสามนต์ไตร        แผ่นหล้า
ขุนพรหมมนตรีศรี        กวี ราช
สารประเสริฐฤาช้า        ช่วยแกล้งเกลากลอน

จากเนื้อความนี้ ก็พอจะรู้ ท่านที่แต่ง ๔ ท่าน คือ
พระเยาวราช    ขุนพรหมมนตรี
ขุนศรีกวีราช    พระสารประเสริฐ

มีผู้สันนิษฐานว่า พระเยาวราชนี้อาจจะเป็นคนเดียวกับที่แต่งลิลิตพระลอ คือ เจ้าฟ้าอภัย

แต่งด้วยโคลงดั้น วิวิธมาลี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีทั้งหมด ๒๖๐ บท เนื้อเรื่องเป็นทำนองนิราศ เริ่มต้นด้วยการไหว้เทพเจ้าทั้งหลาย ต่อมาก็เรื่องราวเกี่ยวกับนิราศคร่ำครวญจากนางหนึ่ง ตั้งแต่เดือนห้า ถึงเดือนสี่ ครบร้อยปี ส่วนมากเอาแบบอย่างมาจากศรีปราชญ์

เป็นถ้อยคำโบราณ ภาษาเขมร บาลี สันสกฤต ทำให้เข้าใจยาก
ตัวอย่างเช่น
ฤดูไพศาขสร้อง            ฝนสวรรค์
คิดสุมาลยมาไลย        แหล่งน้อง
ฤดูรดีครรภ์                รมเยศ
เจ็บกระอุแทบท้อง        ที่ขว้นน สดึนาง

เดือนหกรยมร่ำไห        ฤาวาย
ยามย่อมชนบทถือ        ท่องหล้า
ธงธวัชโบกโบยปลาย        งอนง่า
คิดว่ากรกวกกข้า            แล่นตาม

โคลงนิราศหริภุญไชย
เดิมเป็นโคลงลาว (ไทยเหนือ) ผู้แต่งชื่อนายทิพย์ ศรีทิพย์ หรือศรีเทพ ไม่แน่นอน ต่อมามีสักกวีไทยผู้รู้ภาษาไทยเหนือได้ดี ได้แปลออกเป็นภาษาไทยกลาง อาจจะโดยกระแสรับสั่งให้ถอดออกมาก็ได้ ในราวสมัย พระเจ้าปราสาททอง ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงสันนิษฐานว่า แต่งไว้อย่างช้าคงจะไม่เกิน พ.ศ. ๒๑๖๑ เป็นปีที่พระพุทธสิหิงค์อยู่เชียงใหม่ เพราะมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์อยู่ด้วย

เป็นนิราศที่เก่าที่สุดในบรรดานิราศทั้งหลาย บรรยายการเดินทางไปนมัสการพระธาตุหริภุญไชย จากเชียงใหม่ไปลำพูน โดยจากสตรีคนรักไป คือเจ้าศรีทิพย์

ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ในสมัยนั้นโบราณคดี สถานที่สำคัญต่างๆ ตามที่ผ่านไป ถ้อยคำมีศัพท์ภาคเหนืออยู่มาก ทำให้เข้าใจยาก ตัวอย่างเช่น
อัสดงคดาคํ่าแล้ว         รอนรอน
สุรส่งเกวียนซอนชอน         คลาดคล้อย
ปักษีส่งเสียงวอน            วอนเจต รักเอย
โอ้อีนดูชู้ส้อย            มิได้สุดาดล

จากเจียมเบี้ยเกลี้ยงกลิ่น     องค์อร
องค์อรสมสมรนอน        พรากขวั้น
พรากขวั้นเดือนแดดอน        อกม่อน มรเอย
อกม่อนมรบาบั้น            บิ่นบ้าในทรวง

ราชาพิลาปคำฉันท์
แต่งในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเข้าใจว่าคงแต่งก่อนจินดามณี เพราะมียกตัวอย่างวรรณคดีเรื่องนี้ด้วย

ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง แต่งเป็นลักษณะฉันท์ เป็นบทพรรณนาครํ่าครวญของพระราม ที่ติดตามนางสีดา แสดงโวหารในเชิงพิศวาส อาลัยอาวรณ์นางสีดาอย่างละเอียด ลึกซึ้ง จุดประสงค์ของผู้แต่งคงจะเพื่อแสดงความสามารถของตนเอง มีถ้อยคำที่ไพเราะกินใจอยู่มาก ถือว่าเป็นวรรณคดีที่ดีเรื่องหนึ่ง ตัวอย่างเช่น
ฉบัง ๑๖
ปางนั้นเบื้องบนเขียวขาว        หมอกมัวเดือนดาว
สุริยชรอื้อชรอํ่าลมฝน
ฟ้าฟื้นหลั่งหล่อโชกโชน        อับแสงสุริยพล
ครคฤกครคฤานเวหา
เมฆังคติมิรังคมิตอา-            กาสถั่งคชิมุดตา
ก้องฟ้าอัคนาอัศสุณี
กึกก้องโอโฆษศัพท์ศรี-            ปาวกาวจรีย์
บับภารร้องเรียงเสียงสาร
ฟังศัพท์เพียงชีพวายปราณ         ฉํ่าพิจิตรดาล
กระเม่นหนังพอสยองขน

ฟังแล้วรู้สึกเกิดภาพพจน์ตามไปด้วย แสดงว่าผู้แต่งเป็นยอดกวีผู้หนึ่ง และถือเป็นแบบฉบับของนักกวีบางท่าน ที่นำไปเป็นตัวอย่างในการแต่งวรรณคดีของตน ในยุคหลังๆ

คำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง
เป็นคำฉันท์ กล่อมช้างในพิธีพราหมณ์ โดยไทยเอาแบบอย่างมาจากเขมร ใช้ในราชพิธีการสมโภชช้างสำคัญในสมัยโบราณ

ผู้แต่งได้แก่ ขุนเทพกวี ซึ่งจะต้องมีความรู้เรื่องช้างเป็นอย่างดี เพราะเกี่ยวกับราชพิธีสมโภชช้างสำคัญ โดยเฉพาะ

ที่ว่าเอาอย่างจากเขมรนั้น เพราะมีศัพท์เขมรปนมาก จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นฉันท์ภาษาเขมรก็ว่าได้ จึงทำให้อ่านยาก ไม่เข้าใจ ต้องเรียนรู้ภาษาเขมรด้วย จึงจะเข้าใจดี ตัวอย่างเช่น
พระกงงมดนำพลผอง         เตริ่วไพรสรดอง
มิเราะกันลองสบนา
และมีนนุมางสบายอุรา     นักสกลสมนา
บูชาดนูพระไพร
เทียนธูปบุษปนุลาชสมไถง     บูชาพระไพร
และไกรแลพระผอง

มีศัพท์ภาษาเขมรเป็นจำนวนมาก จึงแปลความหมายไม่ออก ทำให้ไม่อยากจะอ่าน นอกจากจะถือเป็นตำราในเรื่องเกี่ยวกับพิธีสมโภชช้างสำคัญเท่านั้น

อนิรุทธ์คำฉันท์
ผู้แต่งคือศรีปราชญ์ ศรีปราชญ์ได้รับการยกย่องเป็นกวีเอกในด้านมีปฏิภาณอย่างยอดเยี่ยม

ศรีปราชญ์ เป็นบุตรของพระโหราธิบดี เดิมชื่อศรี เนื่องจากบิดาเป็นนักกวี ศรีปราชญ์จึงได้รับการอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เล็กๆ ในเชิงกวีจนได้กลายเป็นกวีที่เฉียบแหลมว่องไว

อนิรุทธ์คำฉันท์ มีลักษณะฉันท์แต่งปนกับกาพย์ มีร่ายแทรก คล้ายกับสมุทรโฆษคำฉันท์มาก โดยเลียนแบบจากวรรณคดีบางเรื่อง เช่น ลิลิตพระลอ

ความมุ่งหมาย เพื่อเป็นการแสดงให้บิดาและคนทั้งหลายทราบว่า เขามิใช่เก่งแต่ทางแต่งโคลงเท่านั้น ฉันท์ก็แต่งได้ และได้ดี แม้จะไม่ถึงยอดเยี่ยม เป็นลักษณะของการเอาจริงเอาจังของศรีปราชญ์ ซึ่งไม่ยอมแพ้ใคร

เนื้อเรื่อง ไปในทางศาสนาพราหมณ์ เป็นเรื่องราวตอนหนึ่งของพระนารายณ์ โดยมีเรื่องว่า

พระอนิรุทธ์ หลานของพระกฤษณะ แห่งทวาราวดี ออกไปล่าสัตว์ในป่า แล้วพระไทร ซึ่งเป็นเทพารักษ์ อุ้มสมกับนางอุษาธิดาท้าวพานาสูร แห่งเมืองโสนันดร และพากลับเมื่อสว่าง นางอุษาให้นางพิจิตรเลขา วาดรูปนางพิจิตรเลขามาสกดพระอนิรุทธ์ไป พระอนิรุทธ์ถูกจับ พระนารถฤาษี ทราบเรื่อง จึงไปบอกพระกฤษณะให้ยกทัพมาปราบ แล้วทั้งสองก็ได้อยู่ด้วยกัน

ตัวอย่างฉันท์ ๑๐
สองพิศสองเพียรภาคย์    สองเสวยมลากสองเสวยรมย์
สองเพ้าสองแทบชม        ชมเชยชิดคือตรึงตรา
สองเมียงสองบ่ายเบียง     สองประเจียงประอรกา
มาเสพยกรีฑา            สุขเสวยสุไขยสวรรย์
สองสวัสดิ์สองสวาท         สองสองราชหฤหรรษ์
สองเสพสองศัลย์        ถันนาสองประสมสอง

กำสรวลศรีปราชญ์
เป็นผลงานของนักกวีผู้ยิ่งยง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่งเมื่อคราวถูกเนรเทศไปอยู่เมืองนคร โดยราชโองการของสมเด็จพระนารายณ์ เนื่องจากทรงขัดพระทัย กับนางสนมที่ชื่อว่า ศรีจุฬาลักษณ์

การแต่งเป็นประเภท โคลงดั้น บาท กุญชร เกือบทั้งหมด มีร่าย ดั้น นำในตอนต้นเพียงเล็กน้อย

ภาษาใช้ ส่วนมากเป็นภาษาเก่า มีภาษาบาลี สันสกฤต และเขมรปนอยู่มาก เป็นนิราศเรื่องแรกที่เป็นโคลงดั้น
การจากไปสู่เมืองนคร ทำให้เกิดวรรณคดีเรื่องหนึ่งคือ กำสรวลศรีปราชญ์ ด้วยความอาลัยอาวรณ์คนรักเป็นอย่างยิ่ง เช่น
สารนี้นุชแนบไว้             ในหมอน
อย่าแม่อย่าควรเอา        อ่านเหล้น
ยามนอนนาฎเอานอน        เป็นเพื่อน
คืนคํ่าฤาได้เว้น            ว่างใด

การครํ่าครวญออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้เรามองเห็นภาพกำสรวล อาลัยรักอย่างชัดเจน เช่น
โฉมแม่จากฝากฟ้า         เกรงอินทร หยอกนา
อินทรท่านเทอกเอา        สู่ฟ้า
โฉมนางจะฝากดิน        ดินท่าน แล้วแฮ
ดินท่านขดดเจ้าหล้า        สู่สํสองสํ

โฉมแม่ฝากน่านน้ำ         อรรณพ แลฤา
ยยวนาคเชอยชํอก        พี่ไหม้
โฉมแม่รำพึงจบ            ไตรโลกย์
โฉมแม่ใครสงวนได้        เท่าเจ้าสงวนเอง

โคลงตอนนี้ นรินทรธิเบศร์ (อิน) ยอดกวีเอก ผู้หนึ่งของไทยได้เลียนแบบอย่างน่าฟังว่า
โอ้ศรีเสาวลักษ์ลํ้า        แลโลม โลกเอย
แม้ว่ามีกิ่งโพยม            ยื่นหล้า
แขวนขวัญนุชชูโฉม        แมกเมฆ ไว้แม่
กีดบ่มิ่งกิ่งฟ้า            ฝากน้อง นางเดียว

โฉมควรจักฝากฟ้า        ฤๅดิน ดีฤา
เกรงเทพไท้ธรณินทร์        ลอบกลํ้า
ฝากลมเลื่อนโฉมบิน        บนเล่า นาแม่
ลมจะชายชักช้ำ            ชอกเนื้อเรียมสงวน

ถ้าจะพูดถึงความไพเราะแล้ว นรินทร์ธิเบศร์แต่งเพราะกว่า เพราะศรีปราชญ์แต่งเป็นโคลงดั้น

ศรีปราชญ์ ยังได้ชมปราสาทราชวังอย่างงดงาม และอาลัยว่า
อยุธยายศยิ่งฟ้า            ลงดิน แลฤา
อำนาจบุญเพรงพระ        ก่อเกื้อ
เจดีย์ลอออินทร์            ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ        นอกโสรม
นรินทร์ ได้เลียนแบบว่า
อยุธยายศล่มแล้ว         ลอยสวรรค์ ลงฤา
สิงหาสน์ปรางรัตน์บรร        เจิดหล้า
บุญเพรงพระหากสรรค์    ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บังอบายเบิกฟ้า            ฝิกฟื้น ใจเมือง

ศรีปราชญ์ เป็นนักกวีที่มีไหวพริบรวดเร็วในการโต้ตอบ เรียกว่า แต่งสดๆ เช่น การแต่งโคลงหน้าพระที่นั่งว่า
เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม        ถึงพรหม
เทพเจ้าตกจม            จ่อมม้วย
พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม        ทบท่าว ลงนา

มีผู้ถามว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นศรีปราชญ์จะมีชีวิตอยู่อย่างไร คงจะถูกนํ้าท่วมตาย ศรีปราชญ์จึงว่า
หากองนิฏฐพรหมฉ้วย      พี่ไว้ จึ่งคง


ที่มา:โฆฑยากร
http://www.silpathai.net/วรรณคดีอยุธยายุคกลาง/