ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวิตแบบอย่าง :สมเด็จพระญาณสังวร  (อ่าน 1182 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ชีวิตแบบอย่าง
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้นก็ไม่แตกต่างไปจากชีวิตของคนทั่ว ๆ ไป คือมีทั้งผิด หวังและสมหวัง มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว มีทั้งดีใจและเสียใจ แต่โดยที่ทรงมีคุณธรรม หลายประการที่โดดเด่นเป็นแกนหรือเป็นแก่นของชีวิต ชีวิตของพระองค์จึงมีความสมหวัง มากกว่าผิดหวัง มีความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลว และมีความดีใจมากกว่าเสียใจกล่าวโดยรวมก็คือ ด้วยคุณธรรมอันเป็นแกนของชีวิตดังกล่าวพระองค์จึงทรงประสบความสำเร็จ หรือทรง เจริญก้าวหน้าไปตามครรลองของชีวิตจนถึงที่สุด ดังเป็นที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้ หากวิเคราะห์ ตามที่ปรากฏในพระประวัติ ก็จะเห็นได้ว่า พระคุณธรรมที่โดดเด่นในชีวิตของพระองค์ ก็คือ

อดทน
ใฝ่รู้
กตัญญู
ถ่อมตน
คารวธรรม
          พระคุณธรรมประการแรกที่ปรากฏเด่นชัดในชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็คือ ความอดทน (ขันติ) เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมีพระสุขภาพอ่อนแอไม่แข็งแรงมาตั้งเยาว์วัย และมีผลสืบเนื่องมา จนถึงเมื่อทรงบรรพชาเป็นสามเณร พระสุขภาพที่อ่อนแอนับเป็นอุปสรรคสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน พระองค์ต้องทรงใช้ความอดทนอย่างหนักจึงสามารถผ่านพ้นอุปสรรคแต่ละขั้นตอนมาได้ ทรงเล่าว่า บางครั้งเมื่อถึงเวลาสอบ ต้องทรงใช้ผ้าสักหลาดพันรอบอกหลายชั้น เพื่อไม่ให้เกิดอาการหนาวสั่น ในเวลานั่งสอบ นอกจากจะต้องงอดทนต่อความไม่สมบูรณ์ของร่างกายแล้ว ยังต้องงอดทนต่อเสียง ค่อนแคะของเพื่อนร่วมสำนักอีกนานัปการ แต่สิ่งเหล่านี้แทนที่จะทำให้กำลังพระทัยลดน้อยลง แต่กลับทำให้ทรงรู้สึกว่าจะต้องมีความอดทนมากขึ้น

 

          พระคุณธรรมที่โดดเด่นประการต่อมาก็คือ ความใฝ่รู้ (สิกขกามตา) เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้มาโดยตลอดแม้เมื่อทรงเป็นพระมหาเถระแล้ว พระอัธยาศัยใฝ่รู้ของพระองค์ ก็ไม่เคยจืดจาง ได้ทรงแสวงหาความรู้อยู่เสมอด้วยการทรงอ่านหนังสือ ทั้งที่เป็นหนังสือภาษาไทย และภาษาอังกฤษ หนังสือดีมีประโยชน์บางเรื่องที่ทรงอ่านแล้ว ยังทรงพระเมตตาแนะนำให้ ผู้ใกล้ชิดอ่านด้วย โดยมักมีรับสั่งว่า “เรื่องนี้เขาเขียนดี น่าอ่าน”

                         
 
          พระคุณธรรมข้อกตัญญู ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมี พระคุณธรรมข้อนี้อย่างเด่นชัด และทรงหาโอกาสสนองคุณของผู้ที่มีพระคุณต่อพระองค์ แม้เพียงเล็กน้อยอยู่เสมอ ดังเช่น เมื่อทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร ก็ทรงรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ที่ทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร เป็นรูปแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะหาก ไม่มีสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นรูปที่ ๑ ก็คงไม่มีสมเด็จพระญาณสังวร คือพระองค์เอง เป็นรูปที่ ๒ ฉะนั้นเมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษา จึงเสด็จไปถวายสักการะพระรูปสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ที่วัดราชสิทธารามเป็นประจำทุกปีตลอด


 
         อีกกรณีหนึ่ง เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวราภรณ์ และทรงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารใหม่ ๆ (พ.ศ.๒๕๐๔) คราวหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศ ได้ทรงปรารภกับพระองค์ด้วยความห่วงใยว่า “เจ้าคุณ จะเอาวัดบวรไว้อยู่หรือ” ซึ่งหมายความว่า จะปกครองวัดบวรนิเวศวิหารที่เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญทั้งมีพระเถระที่มีอาวุโสมากกว่า อยู่มากองค์ในขณะนั้นให้เรียบร้อยได้หรือ ด้วยพระปรารภดังกล่าวนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงถือว่า สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) ทรงมีพระเมตตาต่อพระองค์ จึงทรงรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสังฆราช พระองค์นั้นอยู่เสมอ เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาจึงทรงไปถวายสักการะ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น นับแต่เมื่อยังมีพระชนม์อยู่และตลอดมาจนบัดนี้

         พระคุณธรรมข้อถ่อมตน (นิวาตะ) เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมีความถ่อมพระองค์มาแต่ต้น เพราะความถ่อมตน เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จึงทรงเป็นพระเถระที่สงบเสงี่ยม สำรวมระวัง ตรัสน้อย และไม่ชอบแสดงตน ดังเช่นในการสอนสมาธิกรรมฐาน พระองค์ก็มิได้แสดงพระองค์ว่าเป็นผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญกว่าใคร ๆ แต่มักตรัสว่า “แนะนำในฐานะผู้ร่วมศึกษาปฏิบัติด้วยกัน”

          บางครั้งมีผู้กล่าวถึงพระองค์ว่า เป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบจะทรงแนะว่า ไม่ควรกล่าวเช่นนั้น เพราะ “ใคร ๆ ไม่ควรที่จะอวดอ้างตนว่าเป็นครูอาจารย์ของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทุกคนมีหน้าที่ต้องถวายงานสนองพระราชประสงค์เท่านั้น”

          อีกตัวอย่างหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จทรงเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมมาตั้งแต่ทรง ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ และทรงเป็นตลอดมาทุกสมัย ในการประชุมมหาเถรสมาคม แต่ละครั้ง เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ประทับเก้าอี้ท้ายแถวเสมอ กระทั่งครั้งหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฎกษัตริยาราม ซึ่งทรงเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมในขณะนั้น ทรงทักแบบ สัพยอกด้วยพระเมตตาว่า “เจ้าคุณสานั่งไกลนัก กลัวจะเป็นสมเด็จหรือไง”


          พระคุณธรรมข้อคารวธรรม คือความเป็นผู้มีความเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพ คารวธรรม ประการแรกของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็คือความเคารพในพระรัตนตรัย ความเคารพในพระพุทธเจ้านั้น ทรงแสดงออกด้วยการเคารพต่อพระพุทธรูปในทุกสถานการณ์ ดังเช่น ทรงแนะนำภิกษุสามเณร อยู่เสมอว่า การลงโบสถ์ทำวัตรเช้าค่ำนั้น ก็เสมือนการไปเฝ้าพระพุทธเจ้าประจำวันทำให้รำลึกถึง พระพุทธคุณ จิตใจไม่ห่างไกลจากพระธรรม ข้อที่ทรงแนะนำอีกประการหนึ่งก็คือ พระพุทธรูป ไม่ควรตั้งวางในที่ต่ำ หรือในที่ที่จะต้องเดินข้ามไปข้ามมาเป็นต้น

          ความเคารพต่อพระธรรมก็ทรงแสดงออกด้วยการเคารพต่อพระคัมภีร์ เช่นพระคัมภีร์ทาง พระพุทธศาสนาทุกชนิดทรงเก็บรักษาไว้ในที่สูงเสมอ ไม่เก็บไว้ในที่ที่ต้องเดินข้ามเดินผ่านเช่นกัน แม้หนังสือธรรมทุกชนิดก็ไม่ทรงวางบนพื้นธรรมดา ต้องวางไว้บนที่สูงเช่น บนโต๊ะ บนพานเป็นต้น หากทรงเห็นใครวางหนังสือธรรมบนพื้น ก็จะตรัสเตือนว่า “นั่นพระธรรม อย่าวางบนพื้น”

          ความเคารพในพระสงฆ์ ก็ทรงแสดงออกโดยทรงมีความเคารพต่อ พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หรือที่เรียกกันว่า พระกรรมฐานเป็นพิเศษ เช่นเมื่อมีพระกรรมฐานเป็น อาคันตุกะ มาสู่พระอาราม แม้จะเป็นผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่าก็ทรงต้อนรับปฏิสันถารด้วยความเคารพ

          พระคุณธรรมข้อนี้ที่ปรากฏต่อสาธารณชนทั่วไปก็คือ ทรงแสดงความเคารพต่อพระเถระ ผู้มีอาวุโสมากกว่าพระองค์ทุกรูป ไม่ว่าพระเถระรูปนั้นจะเป็นภิกษุธรรมดาไม่มียศศักดิ์ อะไรหากมีอาวุโสพรรษามากกว่า พระองค์ก็ทรงกราบแสดงความเคารพเสมอ เมื่อมีพระสงฆ์ จากที่ต่าง ๆ มาเข้าเฝ้า หากมีพระเถระผู้เฒ้ามาด้วย ก็จะทรงถามก่อนว่า “ท่านพรรษาเท่าไร” หากมีอายุ พรรษามากกว่า จะทรงนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะและทรงกราบตามธรรมเนียมทางพระวินัย

          พระคุณธรรมเหล่านี้ ทำให้ชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เป็นชีวิตที่งดงามหรือกล่าวอย่าง ภาษาชาวโลกก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จ เป็นชีวิตที่สามารถยึดถือ เป็นแบบอย่าง ได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตทาง โลกหรือชีวิตทางธรรม

•   พระประวัติ
•   พระชาติภูมิ
•   บรรพชาอุปสมบท
•   การศึกษา
•   สมณศักดิ์
•   คุณค่าในทางวิชาการ
•   คุณค่าด้านการศึกษา
•   คุณค่าด้านการปฏิบัติ
•   คุณค่าชีวิตที่ให้ไว้
•   ชีวิตแบบอย่าง
•   ปฏิปทาแบบอย่าง
•   ปริญญาดุษฎีบัณฑิต

คลิ๊ก.. เพื่อเลือกอ่านหัวข้ออื่นของพระประวัติ พระองค์ท่านต่อค่ะ
- http://www.sangharaja.org/home/index.php?mode=his&id=41