อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > ท่านพุทธทาสภิกขุ
ปณิธาน ๓ ประการ :พุทธทาสภิกขุ
ฐิตา:
รู้จักหัวใจของพุทธศาสนาให้ถูกต้องจะดับทุกข์ได้
ขอให้รู้จักธรรมชาติอันแท้จริง แล้วก็รู้ว่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ที่จะต้องรู้; แต่ก็ไม่มีใครเอามาสอนแล้วบางทีก็ห้าม ห้ามปากเสียเลยว่า อย่าเอามาสอน เรื่องนิพพานอย่าเอามาสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยนี้, แล้วเรื่องที่สูง ๆ เช่น สุญญตา ตถาตา อนัตตา นี้ อย่าเพ่อเอามาสอน อย่าเอามาสอน. อาตมาก็เคยถูกห้าม ถูกห้ามโดยพระมหาเถระที่หวังดีเอ็นดู; แต่ อาตมาก็เป็นคนดื้อ ก็เคารพท่าน แต่ก็ยังฝืนเอามาสอน เพราะว่ามันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา.
อายตนิกธรรม ๕ หมวด คือว่า : ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมวดหนึ่ง, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ หมวดหนึ่ง วิญญาณ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมวดหนึ่ง, ผัสสะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมวดหนึ่ง, เวทนาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมวดหนึ่ง, ๕ หมวดรวมเป็น ๓๐ อย่างนี้เป็นสิ่งที่ต้องรู้จักในฐานะเป็น ก ข ก กา ของพุทธศาสนา. พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ ว่านี่เป็นอาทิพรหมจรรย์ จงตั้งต้นเรียนเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอาทิพรหมจรรย์.
แต่เดี๋ยวนี้เราก็ไม่สอนนี่ พอมาสอนเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็หาว่าลึกไป เลิก ๆ เลิก ห้ามสอน, ก็เลยไม่ต้องรู้กัน; แล้วจะกลับไปสอนให้รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างนี้ยิ่งน่าหัวแหละ, จะรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยอธิบายอย่างนั้นอย่างนี้ แม้แต่เด็ก ๆ มันก็ไม่เข้าใจ.
คนเราจะรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ก็ต่อเมื่อดับทุกข์ได้แล้ว; นี่ข้อนี้ฟังดูแล้วน่าตกใจ; ถ้ายังดับทุกข์ไม่ได้ ยังไม่รู้รสของความดับทุกข์แล้ว ยังไม่มีทางที่จะรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ตัวจริง, มีแต่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์บอกเล่าที่เรียกว่า ปรโต โฆโส เขาสอนเด็กเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์, เขาก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามทัศนะของเขาตามที่ได้ยินได้ฟังมา; นี้มันเป็นจุดตั้งต้น.
แต่ถ้าว่าคนเราได้เรียนเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดทุกข์อย่างไรเพราะทำผิด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว ปฏิบัติถูกดับทุกข์ได้; เมื่อนั้นจะรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม้โดยความเข้าใจ ก็ยังเรียกว่ารู้โดยความเข้าใจ, ถ้าได้ปฏิบัติ แล้วก็รู้โดยการปฏิบัติ แล้วปากนี้ก็จะเปล่งออกมาเองว่า ขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะจนตลอดชีวิต เหมือนอย่างเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในพระบาลี.
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แท้จริงนั้นมีสำหรับคนที่เห็นความดับทุกข์, หรือได้ประสบมาแล้วพูดออกมาโดยไม่ต้องมีใครสอน. เดี๋ยวนี้เราเอามาสอนเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตั้งแต่เด็ก ๆ เป็นต้นไป พระรัตนตรัยจึงเกิดขึ้นเป็น ๒ แบบ คือพระรัตนตรัยนกแก้ว นกขุนทอง นั้นก็แบบหนึ่ง, พระรัตนตรัยแท้จริงของผู้เห็นแล้วพูดออกมามันก็อีกแบบหนึ่ง.
ขอให้เราเลื่อนชั้นการมีพระรัตนตรัยขึ้นไป ๆ ด้วยการปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามหลักของการปฏิบัติ : ตั้งต้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์; วิญญาณ ผัสสะ เวทนา; พอถึงจุดเวทนานั้นแหละ มันเป็นจุดที่จะต้องศึกษากันอย่างยิ่ง อะไร ๆ มันก็มีปัญหาเพราะเวทนา, จะรักก็เพราะเวทนาน่ารัก, จะโกรธก็เพราะเวทนามันน่าโกรธ, จะพะวงหลงใหล ก็เพราะเวทนามันชวนพะวงหลงใหล. เวทนาเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรู้จักและควบคุมให้ได้ แต่จะต้องตั้งต้นมาจาก ก ข ก กา คือเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.
เรื่องนี้แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ท่านก็ทรงเอามาทบทวนเป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง คือเรื่องมีว่า ครั้งหนึ่งรู้ สึกว่าอยู่พระองค์เดียว ก็เลยตรัสออกมากับตัวเองว่า จกขุญจ ปฏิจจ รูเป จ อุปปชชติ วิญญาณ ติณณ ธมมาน สงคติ ผสโส ฯลฯ ท่องไปทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกับเด็ก ๆ ท่องสูตรคูณ อยู่ลำพังพระองค์เอง, นี่เป็นเรื่องที่คงจะไม่เคยได้ยินได้ฟังกันมาก.
อาตมาขอยืนยันว่า มีเรื่องอย่างที่พูดนี้ในพระบาลีในพระไตรปิฎกไม่น้อยกว่า ๔ แห่ง. ทีนี้บังเอิญภิกษุองค์หนึ่งแอบมาข้างหลัง มาแอบฟังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระองค์เองอยู่ตามลำพังอย่างนี้ แล้วพระองค์เหลียวไปเห็นเข้า; อ้าว ๆ เธออยู่ นี่ดีแล้ว; นี่จงรับเอาไป; นี้คืออาทิพรหมจรรย์จงปฏิบัติ จงศึกษาในอาทิพรหมจรรย์ คือเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ถึงกันเข้าแล้วก็เกิดวิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ. เมื่อถึงกันเข้าอย่างนี้เรียกว่า ผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็ออกมาเป็นเวทนา; ถ้าควบคุมมันไม่ได้ก็ต้องเป็นทุกข์. เรามีความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างเพียงพอ, สติไปเอามาควบคุมสถานการณ์ ในขณะที่มันมีผัสสะ มีเวทนาอย่างนี้ แล้วก็ดับทุกข์ได้.
ฉะนั้น ขอให้เข้าใจถึงหัวใจแห่งพุทธศาสนาในแง่ของปริยัติหรือการศึกษา, อีกอย่างหนึ่งว่า จงตั้งต้น ก ข ก กา ของพระพุทธศาสนาที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เถิด. เดี๋ยวนี้เราก็ไปตั้งต้นเรื่องบุญ เรื่องกุศล เรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อะไรที่ไม่อาจจะเข้าใจซึมซาบในใจได้ เราก็ไม่เข้าใจถึงหัวใจของพุทธศาสนา.
ขอร้องว่าให้กำหนดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอะไรมากระทบ, แล้วเกิดอะไร อย่างไร แล้วเป็นทุกข์อย่างไรแล้วจะป้องกันอย่างไร. นี่เรียกว่าเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาในแง่ของปรมัตถ์ เพราะว่าถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว จะเห็นว่าเป็นอนัตตาทั้งนั้น : ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นอนัตตา, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็เป็นอนัตตา, วิญญาณทั้ง ๖ ทางก็เป็นอนัตตา, ผัสสะเป็นอนัตตา, เวทนาเป็นอนัตตา, แล้วนอกจากนั้นจะมีอะไรก็เป็นอนัตตาหมด เพราะมันมารวมอยู่ตรงที่เวทนา.
เราจะต้องรู้เรื่อง ก ข ก กา ของพุทธศาสนา เรียกง่าย ๆ ว่า อายตนิกธรรม คือสิ่งที่เนื่องกันอยู่กับอายตนะมีอยู่ ๕ หมวด หมวดละ ๖ อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ วิญญาณ ๖ ผัสสะ ๖ เวทนา ๖; ๕ หมวดนี้ทรงย้ำมากที่สุด มีในที่มาในพระไตรปิฎกนับไม่หวาดไม่ไหวว่ากี่สิบแห่งกี่ร้อยแห่ง เน้นเรื่องอายตนิกธรรมในฐานะเป็น ก ข ก กา ของพระพุทธศาสนา.
การฝึกมีสติสัมปชัญญะ
ทีนี้ จะมีสติสัมปชัญญะอย่างไร? ก็ต้องฝึกตามแบบมีสติสัมปชัญญะ. ขอแนะนำว่าอานาปานสติภาวนา ๔ หมวดนั่นแหละ มีทางให้เกิดปัญญา เกิดสมาธิ เกิดสัมปชัญญะเพียงพอที่จะมาต่อสู้กับสถานการณ์อันนี้ได้. สติปัฏฐาน ๔ ที่ถูกต้อง ที่ใช้ประโยชน์ได้จริงประยุกต์ได้จริง คือสติปัฏฐาน ๔ ที่ตรัสไว้ในอานาปานสติสูตร อธิบายตามนั้นเท่านั้นพอ; ส่วนมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น มันเป็นสติปัฏฐานสูตรที่เฟ้อ ที่เพียงแต่ท่องจำนี้ก็ยังไม่หวาดไหว.
สติปัฏฐานสูตร มี ๒ ชนิด คือสติปัฏฐานสูตรอย่างมหาสติปัฏฐานสูตร ชื่ออย่างนั้นโดยตรง ชื่อมหาสติปัฏฐานสูตร, แต่ อันหนึ่งไปชื่อว่า อานาปานสติสูตร มีอยู่ในมัชฌิมนิกาย. ที่ในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้นอยู่ในทีฆนิกาย มีคำนำว่ามหา มหานี้ไม่น่าไว้ใจทั้งนั้นแหละ มันเฟ้อเป็นส่วนมาก. พระพุทธเจ้าตรัสยืนยันว่า พระพุทธองค์ตรัสรู้ด้วยอานาปานสติ ภาวนา. แล้วก็จำแนกแจกแจงออกไปเท่าที่มีปรากฏอยู่ในอานาปานสติสูตรมัชฌิมนิกาย. อานาปานสติสูตรจึงมีเครดิตมากถึงอย่างนี้ คือพระพุทธเจ้าตรัสยืนยันว่า ตรัสรู้เพราะการเจริญอานาปานสติ อย่างรัดกุม อย่างพอดี อย่างที่กล่าวไว้ในอานาปานสติสูตรแห่งมัชฌิมนิกาย.
ขอร้องให้สนใจ จะพบอานาปานสติ ที่กะทัดรัดที่สุดอยู่ในวิสัยที่คนธรรมดาจะปฏิบัติได้; แล้วจะให้เกิดสติสัมปชัญญะ สมาธิ และปัญญาสมบูรณ์ สามารถนำมาใช้ควบคุมเวทนาในชีวิตประจำวันได้. แล้วเราจะปฏิบัติอย่างถูกต้องตามความจริงอันนั้น, ดำเนินชีวิตอยู่ในเรื่องอัฏฐังคิกมรรค.
การดำเนินชีวิตต้องอยู่ในมรรคมีองค์ ๘
อัฏฐังคิกมรรค-มรรคมีองค์ ๘ นั้น นั้นแหละเป็นเรื่องที่ได้ตรัสรู้ สำคัญกว่าเรื่องอริยสัจจ์เสียอีก ขอให้ไปดูในพระบาลี ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร นั่นแหละ จะพบว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงนำมาแสดง ว่าไม่ได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อนตรัสรู้เอง คือเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘; ต่อเมื่อตรัสเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วจึงตรัสเรื่องอริยสัจจ์. พระองค์ทรงเสนอวิธีการดับทุกข์ ก่อนเรื่องอื่นทั้งหมด ในการเปิดเผยธรรมะแก่โลก, หลังจากการตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงเรื่องอัฏฐังคิกมรรคแล้วไปตรวจดูรายละเอียดให้ดี ว่าอัฏฐังคิกมรรค, สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป นั้นปัญญา, ปัญญามาก่อน แล้วจึงจะมาถึงเรื่องสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว คือเรื่องศีล, แล้วจึงจะมาถึงเรื่องสัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นเรื่องสมาธิ. ทรงวางแนวว่า ปัญญา ศีล สมาธิ ระบบนี้แหละ เราตถาคตไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน รู้เฉพาะด้วยตนเอง นำมาบอกกล่าว เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา. จงดำเนินในมัชฌิมาปฏิปทา ก็จะเว้นที่สุดโต่ง ๒ อย่าง : คือกามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค เสียได้; อันนั้นมันไม่สำคัญมันเป็นเรื่องอธิบายประกอบว่า ดำรงอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทานั้นคืออย่างไร. นี้มันเป็นกฎของธรรมชาติ ขอให้ช่วยจำกันไว้ว่า เรากล้าพูดว่า พุทธศาสนาสบหลักวิทยาศาสตร์ฝ่ายจิตใจ.
คำว่าวิทยาศาสตร์ต้องมีทางฝ่ายจิตใจด้วย; เดี๋ยวนี้รู้จักกันแต่เรื่องทางวัตถุ นักวิทยาศาสตร์พวกที่แสนจะโง่จะฟังเรื่องพุทธศาสนาไม่ออก เพราะพูดว่าวิทยาศาสตร์นั้นมันเป็นเรื่องทางวัตถุไปเสียหมด มันไม่มีเรื่องทางจิตใจ. วิทยาศาสตร์มี เรื่องทั้งฝ่ายวัตถุและทางฝ่ายจิตใจ ทรงค้นพบกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติ, แล้วจึงตรัสว่าปัญญา-ศีล-สมาธิ.
พออาตมาอธิบายอย่างนี้ เขาหาว่าหลอกลวง, หรือโง่, หรือว่าเอาเอง, หรือตู่พระพุทธเจ้า. นี้คือไม่ตู่พระพุทธเจ้าคือยืนยันตรงตามกฎเกณฑ์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ว่าปัญญา-ศีล-สมาธิ. พูดในหลักปฏิบัติที่จะใช้การได้, ดับทุกข์ได้ต้องพูดว่า ปัญญา-ศีล-สมาธิ; แต่ถ้าจะพูดอย่างหลักทฤษฎีทั่ว ๆ ไป เราก็พูดว่า ศีล สมาธิ ปัญญาได้, คล้ายจะวางลำดับตามคุณค่าที่ มันสูงต่ำ แต่ถ้าจะในการปฏิบัติดับทุกข์โดยตรงในหน้าที่แล้ว ต้องเรียงลำดับว่า ปัญญา-ศีล-สมาธิ. ขอให้เข้าใจจุดหัวใจของเรื่องนี้ไว้ ในฐานะเป็นการตรัสรู้อย่างยิ่งของพระพุทธเจ้า ไม่เคยได้ยินได้ฟังใครมาแต่ก่อน เพื่อจะดับทุกข์ได้, แล้วก็ เรื่องอริยสัจจ์ ๔ นั้นก็แฝงอยู่กับเรื่องอัฏฐังคิกมรรคคือในข้อสัมมาทิฏฐิ มันคลุมอริยสัจจ์ ๔ ไว้หมด.
ฐิตา:
ความสำคัญในเรื่องปัญญา ศีล สมาธิ.
ทีนี้ก็อยากจะพูดว่า เรื่องนี้สำคัญอย่างไร? ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญาคือความรู้ ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างถูกต้อง, ศีลคือเจตนาที่จะได้ผลจากการกระทำนั้น, สมาธิคือการกระทำลงไปจริง ๆ. ปัญญาคือรู้เรื่องที่ควรรู้ เกี่ยวกับสิ่งนั้น ๆ, แล้วก็มี เจตนาที่จะได้สิ่งนั้น นี้เรียกว่าศีล ศีลคือเจตนา เจตนาคือศีล เดี๋ยวนี้มาเข้าใจกันเสียแต่ว่าศีลคือนั่งว่าปาณาติปาตาเวรมณี; นี้เข้าใจเสียอย่างนี้ ต้องเข้าใจว่า ศีลนั้นคือเจตนาที่จะดับทุกข์, เจตนาที่จะดับทุกข์ ศีลเป็นเจตนาที่จะละ จะละนั่นละนี่, เจตนาเป็นตัวศีล.
ถ้าละนั่นละนี่แล้วมันก็ดับทุกข์; ฉะนั้น เจตนาที่จะดับทุกข์นั่นแหละคือศีล; แล้วทีนี้ก็ทำการดับ, กำลังกายกำลังจิตทุ่มเทลงไปหมด นั่นแหละคือสมาธิ. เราจะต้องรู้เรื่องที่เราควรจะรู้เสียก่อน คือมีปัญญาเสียก่อน แล้วจึงมีเจตนาที่จะกระทำ, แล้วก็กระทำลงไปก็จะเป็นสมาธิ แล้วก็ครบ แล้วก็สมบูรณ์ แล้วก็ได้ผล, มีหลักว่า ปัญญา ศีล สมาธิ. ใครจะเถียงพระพุทธเจ้าก็ตามใจซิ, มันก็นอกคอกหรือดื้อรั้นไปเอง; แต่ถ้าจะรับตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว จะต้องยึดหลักว่า ปัญญา-ศีล-สมาธิ.
นี่ ขอยืนยันว่า ชีวิตทุกชนิดรอดตัวอยู่ได้เพราะหลักการอันนี้ : หลักการไตรสิกขา : ปัญญา-ศีล-สมาธิ. ชีวิตคนก็ดี ชีวิตสัตว์เดรัจฉานก็ดี ชีวิตต้นไม้ก็ดี มันมีปัญญา-มีศีล-มีสมาธิ. คนเราต้องมีปัญญารู้ว่าอะไรเป็นอย่างไรเสียก่อน มันจึงอยากจะทำ; ครั้นอยากจะทำแล้วมันจึงทำ มันก็สำเร็จประโยชน์. สัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกันแหละ; มันต้องมีการเป็นอยู่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยหลักเกณฑ์อันนี้ มันก็มีปัญญาที่จะรอบรู้ว่าจะไปกินหญ้าที่ไหน เป็นต้น คือหาอาหารที่ไหน มันต้องรอบรู้ ต้องโคจร, เรื่องสถานที่ เรื่องเหตุการณ์อะไรต่าง ๆ รู้ มีปัญญาแล้ว มันก็มีเจตนาที่จะไปที่นั่นหรือทำอย่างนั้น, นี่เป็นศีลของมัน. ครั้นไปถึงที่นั่นแล้ว มันก็ระดมกำลังกาย กำลังจิต ทำหน้าที่นั้น; เช่นกินหญ้า ๆ มันก็สำเร็จประโยชน์. นี่แม้แต่ สัตว์เดรัจฉาน ก็รอดชีวิตดำรงชีวิตอยู่ได้ ด้วยหลักไตรสิกขา อย่างนี้ คือปัญญา ศีล สมาธิ ตามกฎเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าได้ ทรงวางไว้.
นี้แม้แต่ต้นไม้ ทีนี้ต่ำลงมาจนถึงต้นไม้แล้ว ที่คนเขาดูถูก บางคนเขาพูดว่าต้นไม้ไม่มีจิตไม่มีวิญญาณ; นั่นหลับตาพูด ต้นไม้มีความรู้สึกเหมือนกับสัตว์เหมือนกันแหละ แต่ว่าระดับมันต่ำมาก มันน้อยมาก, มันมีเจตนาโดยสัญชาตญาณที่จะทรงตัวอยู่ จะสืบพันธุ์, จะป้องกันอะไรเหมือนกับคนเหมือนกัน, ต้นไม้นี้ต้องมีความรู้ว่า ทางไหนทิศทางไหนที่มันจะส่งรากออกไปได้น้ำ ได้ธาตุ ได้แร่ธาตุ ได้อะไร มันจึงส่งรากไป, จะยื่นกิ่งยื่นใบไปทางไหนจะได้แสงสว่างพอที่จะหล่อเลี้ยงชีวิต คือว่าทำให้แร่ธาตุที่ดูดขึ้นไป เปลี่ยนสภาพเป็นเนื้อหนังของต้นไม้. ต้นไม้มันจึงมีทั้งปัญญา มีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ; มันรู้ มันต้องมีความรู้เกิดขึ้นก่อนแหละ มันจะรู้มาทางไหนก็สุดแท้แต่ มันต้องมีความรู้เกิดขึ้นก่อนว่า อะไร เป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร แล้วก็มีเจตนาที่จะได้ผลของอันนั้น แล้วมันจึงกระทำ, นี่ มันมีปัญญา มีศีล มีสมาธิ.
ขออภัย อย่าว่าพูดคำหยาบเลย แม้สุนัขมันจะไปที่ไหน มันต้องรู้ว่ามันจะต้องไปที่ไหน มันจะไปที่ไหน ที่นั่นมีอะไร, มันรู้อย่างนี้ก่อน, แล้วมันมีเจตนาที่จะไป มันก็เป็นศีลของมัน แล้วมันก็ไปด้วยกำลังกายกำลังใจทั้งหมดแล้วมันก็ถึง มันก็สำเร็จประโยชน์ตามที่มันต้องการได้; แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ปัญญา-ศีล-สมาธิ ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติอันลึกซึ้งยิ่งกว่าสิ่งใด. ถ้าอยากจะเรียกว่าพระเจ้า ก็เรียกอันนี้แหละว่าเป็นพระเจ้า คือเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่ทำให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างถูกต้อง.
ฉะนั้น ขอวิงวอนอ้อนวอนว่า พวกเราทั้งหลาย จงยึดถือหลักที่พระพุทธองค์ทรงเปิดเผยขึ้นมา โดยอัฏฐังคิกมรรคว่าปัญญา แล้วศีล แล้วสมาธิ ทุกกรณีที่จะกระทำ; จะกินข้าว ก็ต้องรู้ว่ากินอย่างไร, แล้วมีเจตนาที่จะกิน, แล้วจึงกิน. จะอาบน้ำจะอะไรก็ตาม มันจะสมบูรณ์อยู่ด้วยศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ทุก ๆ อิริยาบถ; แล้วมันจะไม่เกิดกิเลส มันจะไม่เพิ่มอนุสัย. มันจะพัฒนาไปแต่ในทางของโพธิ สัญชาตญาณจะวิวัฒนาการไปแต่ในทางของโพธิ เราก็อยู่ด้วยความสำเร็จประโยชน์ในการดำรงชีวิต.
ช่วยจดจำหัวใจของพระพุทธศาสนาว่า ในทางปฏิบัตินั้นจะต้องมีหลักว่า ปัญญา ศีล แล้วสมาธิ; แต่ถ้าจะพูดโดยทฤษฎี แล้ว ก็จะพูดว่าศีล สมาธิ ปัญญา ก็ได้ตามใจ. ในกรณีที่จะพูดเปรย ๆ อย่างนี้ก็มีเหมือนกันที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ แต่ มันมิใช่หลักสำคัญที่จะดับทุกข์. หลักสำคัญที่จะดับทุกข์ ต้องปัญญา แล้วต้องศีล แล้วต้องสมาธิ; ถ้าไม่มีปัญญาแล้วมันรักษาศีลไม่ได้ดอก; ขืนไปรักษาศีลด้วยความยึดมั่นถือมั่น มันก็เป็นสีลัพพตปรามาสไปเสียหมดแหละ, เหมือนกับที่เรามีกันเดี๋ยวนี้มันเป็นสีลัพพตปรามาสเสียหมด เพราะรักษาศีลทั้งที่ไม่รู้จักตัวศีล, ไม่รู้จักเหตุผลอะไรเกี่ยวกับศีล เราจึงไม่ มีศีลที่แท้จริง มีแต่สีลัพพตปรามาส หรือสัจจาภินิเวส. ยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้ดีกูเอาอย่างนี้, สอนกันแต่เพียงให้รู้ว่ายึดมั่นถือมั่นอย่างไร มันไม่สำเร็จประโยชน์.
นี่ถือหลักว่า จะทำอะไร ขอให้ปัญญานำหน้าในกรณีนั้น ๆ, แล้วมีเจตนาเป็นศีลที่จะกระทำมัน, แล้วมีสมาธิคือตัวการกระทำ ด้วยกำลังทั้งหมดทั้งกายและทั้งจิต จะประสบความสำเร็จในทุก ๆ กรณี ในทุก ๆ กรณี, นี่เป็นความลับอันหนึ่ง ซึ่งจะเรียกว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่ไม่ค่อยจะเข้าถึงกัน และไม่ค่อยจะสังเกต ไม่ค่อยจะศึกษา ทั้งที่พระพุทธองค์ตรัสยืนยันอย่างนี้, แล้วตรัสเป็นเรื่องแรก.
คำสอนเรื่องแรกที่พระพุทธองค์ตรัสไม่ใช่เรื่องอริยสัจจ์ อย่าพูดผิด ๆ; มันเป็นเรื่องอัฏฐังคิกมรรค ขอให้เปิดดูทุกตัวอักษรในบาลี ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านตรัสเรื่องอัฏฐังคิกมรรคก่อน, แล้วจึงตรัสเรื่องอริยสัจจ์ ในอริยสัจจ์ก็แฝงอยู่ ในสัมมาทิฏฐิ. ฉะนั้นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงนำมาสอน เป็นเรื่องแรกและเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ก็คือเรื่องอัฏฐังคิกมรรค อริยมรรคมีองค์ ๘ มีหลักคือปัญญา ศีล และสมาธิ. ขอให้ถือเอาประโยชน์ให้สำเร็จ ปฏิบัติให้ตรงตามนี้ มันก็จะสมหวังในฐานะเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาเรื่องหนึ่ง.
อย่างว่าจะมาสวนโมกข์นี้ ปัญญาต้องมาก่อน ต้องรู้เรื่องสวนโมกข์ ว่าจะได้อะไร เป็นอย่างไร, แล้วจึงจะมีศีลคือมี เจตนาที่จะมา, แล้วก็มีการมาซึ่งเป็นสมาธิ นี่จะไปที่ไหน จะทำอะไร, ทุกอย่างต้องเป็นไปในหลักที่ว่า ปัญญา-ศีล-สมาธิ จึงจะสำเร็จประโยชน์; ถ้าเอาศีลมาก่อนมันก็คลานลงคู ลงหนอง ลงคลองหมดแหละ มันไม่รู้ว่าจะไปอย่างไร; มันต้องมี ปัญญามาก่อน. ใครเขาจะสอนอย่างไรกันก็ตามใจ แต่อาตมาขอยืนยันตามหลักของพระพุทธเจ้าว่า ปัญญา-ศีล-สมาธิ นี่ แหละคือ ไตรสิกขา ที่ในขณะที่มีการปฏิบัติหน้าที่.
ปัญญารู้ว่าอะไรเป็นอะไร พูดเหมือนพูดเล่นรู้ว่าอะไรเป็นอะไร, มันก็คือรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร, สิ่งนั้นเกิดมาจากอะไร, สิ่งนั้นมีความหลอกลวงอย่างไร, สิ่งนั้นมีความจริงอย่างไร, มีเสน่ห์จูงคนอย่างไร, มีอัสสาทะแผดเผาคนอย่างไร, แล้วทางออกของมันจากสิ่งนั้นคืออะไร. แต่ในที่สุดก็พบว่า ทุกเรื่องที่มันเป็นปัญหาเป็นความทุกข์อย่างนี้ สิ่งที่เป็นทางออกจากปัญหาเหล่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องอริยอัฏฐังคิกมรรคทั้งนั้นเลย; ท้าให้ไปดูในพระไตรปิฎก. ถ้าพูดถึงนิสสรณะออกจากปัญหาหรือความทุกข์; ไม่ว่าจะตั้งต้นขึ้นมาด้วยกรณีใดพอไปถึงนิสสรณะแล้ว อัฏฐังคิกมรรคทั้งนั้นเลย, อัฏฐังคิกมรรคทั้งนั้นเลย.
ทางออกจากปัญหาทั้งปวงของมนุษย์เรา คืออัฏฐังคิกมรรค : หลักการที่จะมีความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องเสียก่อน, แล้วมีสังกัปปะ คือเจตนาที่จะได้ ที่จะถึง แล้วจึงมีศีล คือสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว เป็นพื้นฐาน จุดตั้งต้นรองรับ, แล้วก็มีสมาธิ วายาโม สติ สมาธิ แล้วมันก็สำเร็จประโยชน์. นี่ดำเนินชีวิตในมัชฌิมาปฏิปทาเถิด แล้วก็จะเป็นพุทธบริษัททั้งแท่ง เป็นทั้งเนื้อทั้งตัว.
ฐิตา:
การปฏิบัติถูก ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา
มัชฌิมาปฏิปทานี้ระวังให้ดี ๆ มันไม่เกี่ยวกับคำว่าเคร่งนะ; ถ้าพูดว่าเคร่งอย่างถูกต้อง ต้องคือมัชฌิมาปฏิปทา; แต่ถ้าเกินมัชฌิมาปฏิปทาแล้วก็ มันเกินเคร่งแล้ว มันบ้าแล้ว ถ้าพอดีนั้นน่ะคือเคร่ง. คนทั้งหลายที่ชอบเคร่ง ชอบคำว่าเคร่ง จะทำอะไรอย่างเคร่งนั้น จงรู้ไว้เถิดว่าคำว่าเคร่งนั้นหมายความว่าพอดี คือมัชฌิมาปฏิปทา; ถ้าเกินพอดีมันก็เป็นอัตตกิลมถานุโยคบ้าง, เป็นกามสุขัลลิกานุโยคบ้าง, ถ้าพอดีก็จะเป็นนั่นน่ะ ถูก. ถ้าจะเคร่งให้ถูกต้องตามความหมายของคำว่าเคร่งแล้ว ก็จงเป็นมัชฌิมาปฏิปทา; เดี๋ยวนี้มันเคร่งอย่างหลับหูหลับตา, เคร่งอย่างสุดโต่ง เคร่งอย่างสุดเหวี่ยง มันไม่ พบกับความจริง.
คำอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจ แล้วจำง่าย ๆ เข้าใจได้ก็คือ คำว่ามัธยัสถ์, มัธยัสถ์ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเข้าใจคำว่ามัธยัสถ์ แล้วไปเห็นว่าเป็นเรื่องขี้เหนียวขี้ตืดไปเสียอีก. มัธยัสถ์นั่นแหละคำเดียวกับมัชฌิมาปฏิปทา; มัธยะ แปลว่ากลาง, อัสถ แปลว่า ตั้งอยู่ คำว่า มัธยัสถ์ แปลว่า ตั้งอยู่ตรงกลาง, ตั้งอยู่ตรงกลางนั่นคือมัธยัสถ์, แล้วมัธยัสถ์ไม่ใช่ประหยัด ขี้เหนียวขี้ตืดอะไร อย่างที่คนโดยมากเข้าใจเอาไปเป็นเรื่องล้อเล่นทางฝ่ายผิด. มัธยัสถ์ คือคำที่ประเสริฐที่สุด ตรงกับคำว่ามัชฌิมาปฏิปทา; คำว่ามัธยัสถ์ แปลว่า ตั้งอยู่ตรงกลาง. ทำอะไรขอให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทาอย่างนี้ ก็จะมีชีวิตชนิดที่เดินตามทำนองคลองธรรมของพุทธศาสนา นี้ว่าโดยหลักทฤษฎีมีหัวใจอย่างนี้.
ทีนี้ จะพูดโดยหลักปฏิบัติโดยตรงบ้าง ว่ามีหัวใจอย่างไร มันก็คือ มัชฌิมาปฏิปทาที่มาทันเวลา หรือว่ามีอยู่เป็นพื้นฐาน, มีชีวิตอยู่โดยหลักมัชฌิมาปฏิปทานี้ เป็นหลักปฏิบัติในชั้นที่เป็นหัวใจ โดยหลักปฏิบัติมันแยกเป็น ๒ อย่าง : -
เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ก็มัชฌิมาปฏิปทาให้มันถูกต้อง, เมื่อไม่มีอารมณ์มากระทบ มันจะปรุงขึ้นมาจากภายใน ก็มี มัชฌิมาปฏิปทาให้ถูกต้อง; ถ้าดำรงอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว อนุสัยจะส่งนิวรณ์ออกมาไม่ได้, จะมีชีวิตที่ปราศจากนิวรณ์อยู่ทั้งวันทั้งคืน เยือกเย็นที่สุด. นี่ควบคุมชีวิตไว้ในลักษณะให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ให้สัญชาตญาณเป็นไปในทางโพธิ อย่าลงมาทางฝ่ายกิเลส, มีสติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธินี้ เป็นหลักปฏิบัติอย่างยิ่ง.
พอมีอะไรมากระทบ สิ่งแรกที่ต้องการจะใช้คือสติ, ระลึกได้ทันทีว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น; แล้วสติไปโดยเร็ว วิ่งไปโดยเร็ว สมตามคำว่าสติ. คำว่า สติ นั้นแปลว่า แล่นไปเร็วเหมือนกับลูกศร; คำว่าลูกศร ก็แปลว่า แล่น คำว่า สติ ก็แปลว่า แล่น, ความหมายอย่างเดียวกัน. คำว่าสติเกิดขึ้นโดยเป็นอาการของลูกศรแล่นไปเร็ว; กิริยาที่แล่นไปเร็วอย่างนั้นเอามาเรียกชื่อว่าสติ, เป็นภาษาธรรมะขึ้นมา.
สติแล่นไปเร็ว ไปถึงปัญญา ตามที่เคยศึกษาไว้อย่างไร อบรมไว้อย่างไร สติไปขนเอาปัญญามาทันเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่อารมณ์กระทบ; ตัวปัญญานั่นแหละ พอมาถึงเฉพาะหน้าเหตุการณ์ มันเปลี่ยนชื่อเรียกว่าสัมปชัญญะ; สัมปชัญญะกับปัญญามีความหมายอย่างเดียวกัน. ปัญญาที่เก็บไว้ในคลังเรียกว่าปัญญา พอเอาออกมาใช้การในขณะเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น โดยสตินำเอามาปัญญานั้นจะเปลี่ยนชื่อเป็นสัมปชัญญะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์แล้วสมาธิก็มาเพิ่มกำลัง-เพิ่มกำลัง-เพิ่มกำลังให้แก่สัมปชัญญะ ต่อสู้สถานะเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ; ไม่ว่าอารมณ์ใด ๆ มันควบคุมได้ ไม่ปรุงแต่งเป็นเวทนา ตัณหา ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์.
ขอให้ทุกคนมีสติรวดเร็วเพียงพอ, มีปัญญาที่ศึกษาไว้เพียงพอ เป็นปัญญาในคลัง และสำหรับสติจะขนเอามาเป็นสัมปชัญญะอย่างเพียงพอ, แล้วมีกำลังของสมาธิทุ่มเทให้แก่สัมปชัญญะ เผชิญหน้ากับอารมณ์ ทำลายอารมณ์ร้ายให้แตกกระจายไป ไม่ปรุงให้เกิดกิเลสขึ้นมาได้. นี่คือวิธีที่จะช่วยตนเอง, ช่วยตนเอง จะเรียกว่าจิตก็ได้ จิตมันก็คือธรรมชาติ รู้สึกนึกคิดอะไร และกระทำไปตามธรรมชาติแห่งกาย, กระทำไปตามความต้องการของจิต; แต่จิตต้องมีสัมมาทิฏฐิ รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร, อะไร ๆ มันก็รวมอยู่ที่จิต. อาการต่าง ๆ ของจิต คือชื่อต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา ฝ่ายชั่วก็ได้ฝ่ายดีก็ได้, อาการของจิตทั้งนั้น.
นี่ ใจความสำคัญของคำว่า ตัวเองจะต้องช่วยตัวเอง มันไม่มีจิตไหนอีกแล้ว มันมีจิตดวงนี้ดวงเดียวเท่านั้น ที่จะเป็นอย่างนี้ ที่จะเป็นอย่างนี้ ที่จะเป็นอย่างนี้; จิตต้องช่วยตัวเอง ด้วยการฝึกฝนไว้ดีแล้ว จะเป็นไปแต่ในทางที่ถูกต้อง. จิตช่วยตัวเอง คือตนเป็นที่พึ่งแห่งตน มีความหมายอย่างนี้; ไม่ใช่ว่ามีตัวตนเป็นอัตตา เป็นอะไรอย่างที่เขาเชื่อกัน. ตนนี้ก็คือจิตที่ มันมีมัชฌิมาปฏิปทามีความถูกต้องทั้ง ๘ ประการกำกับอยู่ มันก็ช่วยตนเองได้.
ฉะนั้นขอให้เราถือหลักช่วยตนเอง ด้วยมีธรรมะ ๔ เกลอ, คงจะแปลกหูบ้าง ที่จะเรียกว่าธรรมะ ๔ เกลอคือสติไปขนเอาปัญญามาเป็นสัมปชัญญะ แล้วมีสมาธิ แล้วระดมลงไป; สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ นี่ธรรมะ ๔ เกลอขาดไม่ได้, ชุดนี้ต้องมาพร้อมกันทั้งสี่. ธรรมะ ๔ เกลอมาครบแล้ว จะแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ อย่าลังเลอย่าเฉื่อยชาในการที่จะอบรมให้มีธรรมะ มีปัญญา มีสัมปชัญญะ แล้วก็มีสมาธิ, แล้วขอยืนยันว่า โดยการปฏิบัติอานาปานสติอย่างเดียว สิ่งทั้ง ๔ เกลอนี้จะมีครบ มีให้ครบ, เชี่ยวชาญชำนาญ มันก็มากขึ้น ก็สะดวกในการที่จะนำมาใช้.
ทีนี้มันก็เป็นเรื่องที่ว่า ปฏิบัตินี้มันไปจุดจบกันที่ไหน? มันกลายเป็นว่าเพื่อให้รู้ถึงที่สุด ความจริงอันสูงสุดที่ดับทุกข์ได้ นั้นเป็นส่วนความรู้ ยอดสุดของความรู้; ทีนี้ยอดสุดของผลของการปฏิบัติคือหลุดพ้นได้, แล้วตัวการปฏิบัติ ก็คือการทำความหลุดพ้นนั่นเอง. ถ้าเอากันที่จำเป็นที่สุดแล้ว คือการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการหลุดพ้นนั่นเอง, เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาในแง่ของการปฏิบัติ. ถ้าเป็นปริยัติก็รู้เรื่องความหลุดพ้น, ถ้าปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น, ถ้าเป็นผลของการปฏิบัติก็คือความหลุดพ้น มรรค ผล นิพพาน เป็นความหลุดพ้น. ฉะนั้นเรื่องมันจึงรวมอยู่คำเดียวที่ว่า หลุดพ้น, หลุดพ้นไม่ติดอยู่ที่ไหน.
ฐิตา:
ความหลุดพ้นปรากฏในพระบาลี
พระบาลีที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย - ธรรมทั้งหลายทั้งปวง คือทุกสิ่งไม่ควรที่จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่น; อภินิเวส แปลว่า ฝังตัวเข้าไป, จิตไม่ควรจะฝังตัวเข้าไปในสิ่งใด โดยความยึดมั่นว่าตัวตนหรือของตน. นี่เรียกว่าไม่ยึดมั่นสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นตัวตนของตน; แม้แต่พระนิพพานซึ่งเป็นความหลุดพ้นอันดับสุดท้าย ก็ไม่ยึดมั่นว่าเป็นตัวตนของใคร, หรือว่าเป็นตัวตนของพระนิพพานเอง, คงถือให้เป็นสภาพธรรม สภาวะตามธรรมชาติ. พูดตามวิทยาศาสตร์ก็ว่า เป็นธาตุชนิดหนึ่ง นิพพานนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่งเหมือนกับธาตุทั้งหลาย, ได้ชื่อว่าเป็นธาตุ แต่มีความหมายเฉพาะว่าเป็นธาตุที่ไม่มีการปรุงแต่ง ปราศจากการปรุงแต่งโดยประการทั้งปวง, เป็นวิสังขาร.
คำว่าสังขาร, สังขาร แปลว่า ปรุงแต่ง; และรู้จักแยกออกให้ชัดว่า ผู้ปรุงแต่ง ก็เรียกว่า สังขาร. สิ่งที่ถูกปรุงแต่งก็เรียกว่า สังขาร. กิริยาอาการที่ปรุงแต่ง ก็เรียกว่า สังขาร. สังขารมันมีความหมายอย่างนี้. เดี๋ยวนี้มักจะมีความรู้แค่หางอึ่งว่า สังขาร คือร่างกาย; นี่มันรู้แค่หางอึ่ง ว่าสังขารคือร่างกาย. สังขารคือการปรุงแต่ง, อยู่ในลักษณะของผู้ปรุงแต่ง ก็เรียกว่าสังขาร, ถูกปรุงแต่งออกมา ก็เรียกว่าสังขาร, กิริยาอาการที่ปรุงแต่ง ก็เรียกว่าสังขาร; เตส วูปสโม สุโข - ระงับสังขารเหล่านั้นเสียได้เป็นความสุขอย่างยิ่งคือหยุดการปรุงแต่งเสียได้, หยุดการปรุงแต่งเสียได้ เรียกว่าวิสังขาร, วิสังขารไม่มี การปรุงแต่ง เหนือสภาพการปรุงแต่ง. เมื่อจิตถึงวิสังขาร อะไรปรุงแต่งจิตอีกไม่ได้ จิตก็ถึงภาวะที่เรียกว่านิพพาน, ไม่มี ความทุกข์อีกต่อไป.
เดี๋ยวนี้มัน มีการศึกษากันน้อยเกินไป เรื่องการปรุงแต่ง เรื่องการยึดมั่นถือมั่น เรื่องการหลุดพ้น, แล้วก็บอกกันว่าไม่ให้ เอามาสอนเสียด้วย ห้ามสอนเสียด้วย. นี่หลักปฏิบัติที่ห้ามสอน เป็นหัวใจของพุทธศาสนา. นี่ขอพูดเสียเลยว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนาโดยพฤติการณ์ในปัจจุบันจริง ๆ กลับถูกห้ามนำมาสอน. มันเป็นอย่างไร คิดดูซิ.
เรื่องอนัตตา-ไม่ใช่ตน เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา แต่กลับถูกห้ามนำมาสอน, เรื่องสุญญตา-ว่างจากตัวตน ก็ถูกห้ามนำมาสอน, ตถาตา-เช่นนั้นเอง ฟังดูเป็นเรื่องพูดเล่นเสียอีก ห้ามนำมาสอน, อิทัปปัจจยตา ไม่ต้องเอามาสอนประชาชน. นั่นเป็นคำพูดที่อันตรายที่สุด เพราะเรื่องอิทัปปัจจยตา คือมันเรื่องทุกสิ่งที่เป็นทุกข์และดับทุกข์ เป็นเรื่องของชีวิตจิตใจโดยตรง กลับห้ามไม่ให้นำมาสอนเสียอีก. ถ้าพูดว่ามัชฌิมาปฏิปทา ก็เห็นเป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับเราชาวบ้านไปเสียอีก; ที่ จริงมันเกี่ยวตั้งแต่จุดตั้งต้นถึงจุดสุดท้าย. เรื่องสามัญญลักษณะ : อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ไม่ให้นำมาสอนกันเสียอีก, หรือมาสอน มาพูดล้อเล่นกันเสียมากกว่า.
นี้เรื่องวิสังขาร เรื่องวิสังขารที่จิตจะต้องถึงนั่นกลับมืดมน ไม่ต้องการเสียด้วย; เพราะว่าไม่ปรุงแต่งนั้น เขาไม่สนุกสนาน, เขาต้องการการปรุงแต่งที่สนุกสนาน. แล้วในที่สุดเรื่องนิพพาน นิพพานก็มืดมิด อยู่ในที่ลับในที่มืด, ไม่เอามาเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าเรารอดตัวอยู่ได้นี้ เพราะพระนิพพานน้อย ๆ. นิพพานตัวอย่างในชีวิตประจำวัน คือความเยือกเย็นที่คอยเกิดขึ้นเป็นระยะยาวพอสมควร เพื่อจะดับความร้อนที่เกิดขึ้นเป็นประจำวัน มี ความเย็นที่ควบคุมอยู่เป็นประจำวัน.
เรื่องอนัตตา หัวใจของพระพุทธศาสนา อย่าเข้าใจเป็นเรื่องพูดเล่น หรือรังเกียจ. คนหนุ่มนักศึกษาปัจจุบันมองคำว่าอนัตตาเป็นเรื่องเหลือวิสัยบ้าง, เป็นเรื่องของคนโง่คร่ำครึอยู่แต่ในวัดบ้าง, แล้วก็อ้างตัวเองจะเป็นผู้แก้ปัญหาของสังคม แก้ปัญหาของโลก นี่บรมโง่ ที่เกลียดเรื่องอนัตตา, แล้วมันตั้งตัวเป็นผู้แก้ปัญหาของสังคมหรือเรื่องของโลก.
ถ้าคนในโลก มีความรู้เรื่องอนัตตา ก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว; เมื่อไม่มีความเห็นแก่ตัว ปัญหาใด ๆ วิกฤตการณ์ใด ๆ ไม่อาจจะเกิดขึ้นในโลก เพราะไม่มีใครเห็นแก่ตัว ตัวเองก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่ทำผู้อื่นให้เป็นทุกข์; เพราะรู้เรื่องอนัตตา มิใช่ตนจนไม่มีความเห็นแก่ตน, ตัดความเห็นแก่ตนได้ ก็ด้วยความรู้เรื่องอนัตตา, ถ้าโลกมีความรู้เรื่องอนัตตาก็จะไม่มีความเห็นแก่ตนในโลกเหลืออยู่. ทำไมองค์การสหประชาชาติไม่สนใจเรื่องนี้ จะมาแก้ปัญหาของโลก มัวแต่นั่งจับปูใส่กระด้ง กี่ ชาติ ๆ มันก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่รู้ธรรมะที่จะมาแก้ปัญหาของโลกอันสำคัญ, เหตุสำคัญก็คือความเห็นแก่ตัว มันต้องสอนเรื่องอนัตตา. องค์การสหประชาชาติ ควรจะใช้สาขายูเนสโกเผยแผ่เรื่องอนัตตา ให้มากออกไป. มากออกไป ความเห็นแก่ตัวก็จะลดลง, ปัญหาต่าง ๆ ก็จะลดลง จะแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น.
นี้เรื่องสุญญตา เรื่องสุญญตาก็เหมือนกัน เมื่อเห็นความว่างจากตน มันก็ลดความเห็นแก่ตน, ลดความเห็นแก่ตนแล้วความเห็นว่าตัวว่าของตัว มันจะลดความรู้สึกเลวร้ายว่าตัวกูว่าของกู ออกไปเสียได้ ด้วยความรู้เรื่องสุญญตา, แล้วมันก็ รักผู้อื่นโดยอัตโนมัติแหละ; ข้อนี้เป็นหน้าที่ของพระธรรม. เราปฏิบัติพระธรรมเพียงว่าลดความเห็นแก่ตัว ความรักผู้อื่นก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ; เดี๋ยวนี้มัวแต่สอนให้รักผู้อื่น รักผู้อื่นแต่ไม่ได้สอนให้ทำลายความเห็นแก่ตัว มันก็เรื่องละเมอเพ้อฝัน; ให้รักผู้อื่น มันต้องสอนให้รู้จักทำลายความเห็นแก่ตัว.
อาตมาชอบใจสัญญลักษณ์ของศาสนาคริสเตียนคือไม้กางเขน สัญญลักษณ์กางเขนอันยืนเป็นอัตตา เป็นตัว I, แล้วก็ตัดเสียซึ่งอัตตา คือ I นี้จะเป็นหลักการที่ช่วยโลกได้. ตัดความเห็นว่าเป็นตัวตน และความเห็นว่าของตนได้ มันก็รักผู้อื่นโดยอัตโนมัติ; ทำลายความเห็นแก่ตัวเถอะจะรักผู้อื่นโดยอัตโนมัติ.
ตถาตานี้ก็เหมือนกัน มันก็ไม่มีตน, ตถาตาไม่มีอะไรที่เป็นตน มันเป็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง, เช่นนั้นเอง ตามธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ. ถ้าทุกคนเห็นตถาตาเช่นนั้นเองแล้ว ก็ไม่มีใครคิดเป็นเจ้าโลก; เดี๋ยวนี้มีคนคิดจะครองโลก แบ่งค่ายจะครองโลกจะช่วยกันเอาโลกมาเป็นของกู แล้วครองโลก เพราะมันไม่เห็น ตถาตา คือเช่นนั้นเอง ถ้ามีความรู้เรื่องตถาตามาแล้วคนที่คิดจะเป็นเจ้าโลกและครองโลกมันก็ไม่มี.
นี่ อาตมาจึงยืนยันว่า หัวใจยอดสุดของพระพุทธศาสนานั้นช่วยโลกได้ ตถาตา สุญญตา อนัตตา ไม่ให้เกิดความเห็นแก่ ตน มันก็รักผู้อื่นได้ เศรษฐีจะรักขอทานก็ได้ ขอทานจะรักเศรษฐีได้ กรรมกรจะรักนายทุนได้ นายทุนจะรักกรรมกรได้ แม้แต่สิงห์โตก็จะรักลูกแกะได้ ลูกแกะก็จะรักสิงห์โตได้ นี้มันจะหมดปัญหาถึงขนาดนี้ แต่เขาห้ามไม่ให้เอามาสอน เรื่องสุญญตา เรื่องอนัตตา.
เราเป็นพุทธบริษัท จงเป็นให้สมชื่อ คือเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้สิ่งที่ควรจะรู้อย่างครบถ้วน สิ้นเชิงแล้วก็ตื่นจากหลับคือความโง่ มันก็เบิกบานเหมือนดอกไม้ที่บาน ไม่รู้จักโรย บานด้วยธรรมะแล้วมันเป็นการบานที่ไม่รู้จักโรย นี่มันจะมาแก้ปัญหาของโลกได้ ด้วยหัวใจของพระพุทธศาสนา คืออนัตตา คือสุญญตา คือตถาตา ถ้ามีความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา จะแก้ปัญหาได้หมด ไม่ว่าปัญหาชนิดไหน ปัญหาทุกชนิดอยู่ในอำนาจของอิทัปปัจจยตา ถ้าเรามีความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา จะแก้ปัญหาได้หมด ปัญหาขี้ปะติ๋ว ปัญหาอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ จนกระทั่งเป็นปัญหาสูงสุด เป็นปัญหาของกิเลส ก็แก้ได้ ด้วยความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา สามารถที่จะควบคุมให้เป็นไปแต่ในทางที่ดับทุกข์.
ส่วนมัชฌิมาปฏิปทานั้น ไม่ต้องพูดถึง อยู่ตรงกลาง ถ้าคนมีความรู้เรื่องมัชฌิมาปฏิปทา มันก็จะไม่โง่ ไม่หลงไปอยู่ใต้ ความหมายของสิ่งที่เป็นคู่ เดี๋ยวนี้มันโง่ มันหลง ไปอยู่ใต้อิทธิพลใต้ความหมายของสิ่งที่เป็นคู่ เช่น ชั่ว ดี บุญ บาป สุขทุกข์ นี้ มันไปหลงยึดติดในความหมายใดความหมายหนึ่งจนเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา คือว่าโดยทั่ว ๆ ไปนี้ ไปหลงติดในความหมายของคำว่า มั่งมี-ยากจน แพ้-ชนะ ได้เปรียบ-เสียเปรียบ กำไร-ขาดทุน; นี่ความหมายเหล่านี้มันครอบงำจิตใจของคนธรรมดาสามัญ ไม่ให้อยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาหรือตรงกลาง.
ศึกษาเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา รู้จักอยู่ตรงกลาง มันเป็นเช่นนั้นเองแหละ ดีหรือชั่ว มันก็เรื่องบ้าเท่ากันแหละ. นี่ขออภัยนะพูดอย่างนี้ ไม่ใช่ทำลายกำลังใจของผู้ที่จะตั้งใจทำดี, ถูกแล้ว มันยังทำอะไรมากไปกว่านั้นไม่ได้ ก็จงทำดีไปเถิด, ละชั่ว แล้วก็ทำดี, ทำดีแล้วก็อย่าบ้าดี อย่าเมาดี อย่าติดดี จึงจะเป็นพุทธศาสนา.
ฉะนั้น ผู้รู้พุทธศาสนา จึงพูดว่า ทั้งชั่ว ทั้งดี ล้วนแต่อัปรีย์; ฟังดูแล้วมันน่าสะดุ้ง ยิ่งเข้าใจคำว่าอัปรีย์ไม่ถูกต้องแล้ว ก็ยิ่งสะดุ้งเป็นการใหญ่ เพราะเรากำลังรักดี หลงดี บูชาดีกันอยู่, ท่านต้องการให้มองเห็นว่า ชั่วมันก็ยุ่งไปตามแบบชั่ว, ดีมันก็ ยุ่งไปตามแบบดี; ไม่ดีไม่ชั่วก็อยู่ตรงกลาง นั่นแหละสบายที่สุด หรือเป็นพระนิพพาน.
ความชั่วนั้นไม่ใช่ความสงบ ถูกแล้ว เห็นได้ง่าย, แต่ความดี ก็มิใช่ความสงบ เพราะมันเป็นสังขาร. ความดีก็เป็นสังขารเท่ากับความชั่ว; เมื่อเป็นสังขารก็มีการปรุงแต่ง มีสิ่งที่ปรุงแต่ง มีสิ่งที่ถูกปรุงแต่ง มันก็วุ่นไปตามแบบหนึ่ง; แม้ว่าจะตรงกันข้ามกับความชั่ว มันก็มิใช่ความสงบ มันต้องเหนือดีขึ้นไปอีกทีหนึ่ง จึงจะถึงความว่าง แล้วก็เป็นความสงบ; ฉะนั้นจากชั่วถึงดี จากดีถึงความว่าง.
ทีนี้ ความว่างนั้นน่ารัก, ความชั่วความดีนั้นอัปรีย์ คือไม่น่ารัก. อัปรีย์ ตัวหนังสือแปลว่า ไม่น่ารัก : อัป แปลว่า ไม่ ปรีย์ แปลว่า น่ารัก, อัปรีย์ แปลว่า ไม่น่ารัก, ทั้งชั่ว ทั้งดีล้วนแต่ไม่น่ารัก ไปยึดมั่นถือมั่นแล้วมันกัดเอาทั้งนั้น. นั่นแหละทั้งชั่วและทั้งดี อย่าไปยึดมั่นเข้า, อยู่ตรงกลางระหว่างชั่วระหว่างดี นั่นแหละไม่ถูกกัด คือไม่เป็นทุกข์. ฉะนั้น ไม่สุขไม่ทุกข์ดี กว่า; ทุกข์มันก็ยุ่งไปตามทุกข์, สุขมันก็บ้าไปตามสุข, มันเป็นการปรุงแต่งที่นั่งก้นไม่ติดพื้นเหมือนกัน. ทั้งสุขทั้งทุกข์มันก็ล้วนแต่อัปรีย์ คือมองดูแล้วมันไม่น่ารัก, มันว่างจากความสุขความทุกข์ คือความว่างนั่นแหละ. ถ้าว่าสุขก็กระโดดโลดเต้นไปตามแบบของความสุข, ทุกข์ก็นอนร้องไห้ไปตามแบบของความทุกข์; ไม่สุขไม่ทุกข์นั้นคือว่าง นั้นน่ะคือเวลาที่เราจะเป็นสุขที่สุด. เวลาที่เราไม่รู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เราจะรู้สึกเป็นสุขอีกชนิดหนึ่ง. สุขชนิดที่ไม่ค่อยมีใครรู้ จักเป็นสุขที่ไม่ประกอบด้วยเหยื่อ เป็นนิรามิสสุข เป็นโลกกุตตรสุข.
โลกุตตรสุขคือไม่สุขและไม่ทุกข์ อย่างในโลกนี้อยู่เหนือความหมายของสุขและทุกข์ทุกชนิดในโลกนี้; นี่คือมัชฌิมาปฏิปทา. อย่าไปหลงของคู่ ดี-ชั่ว แพ้-ชนะ เสียเปรียบ-ได้เปรียบ กำไร-ขาดทุน, นี้มีหลายสิบคู่นะ ซึ่งมนุษย์ในโลกหลงกันจนเป็นบ้าเป็นหลัง. ถ้าเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า มีมัชฌิมาปฏิปทา มีสัมมาทิฏฐิ; เห็นว่าตถาตา ตถาตา มึงก็อย่างนั้น กูไม่เอากับมึง, ก็เลยหลีกออกมาได้ ถอนตัวออกมาได้ เป็นความสงบสุข และอยู่ตรงกลางเป็นมัชฌิมาปฏิปทา.
ดังนั้นคำว่า มัธยัสถ์ มัธยัสถ์ ขอให้ใช้ในขอบเขตที่กว้างขวาง, อย่าเป็นเรื่องเงินเรื่องทองอย่างเดียวเลย ให้เป็นเรื่องของธรรมะทั้งหมด. มัธยัสถ์อยู่ตรงกลาง, อยู่ตรงกลาง ไม่ดี-ไม่ชั่ว ไม่สุข-ไม่ทุกข์ ไม่บุญ-ไม่บาป ไม่แพ้-ไม่ชนะ ไม่กำไร-ไม่ขาดทุน ไม่เอาเปรียบ-ไม่ถูกเอาเปรียบ ไม่อะไรทุก ๆ คู่ ทุก ๆ คู่ที่มนุษย์รู้จัก กระทั่งว่าไม่เป็นหญิงไม่เป็นชาย. คิดดู เถอะ หมดความรู้สึกในความเป็นหญิงเป็นชาย มันก็ปราศจากปัญหาในชั้นลึก, บางทีก็จะเลยไปถึงว่า ไม่ใช่คนและมิใช่ ไม่ใช่คน คือไม่เป็นทั้งคนและทั้งมิใช่คน, ไม่เป็นอะไรไปหมดทุกอย่าง เป็นความว่าง, เป็นความว่าง นั่นสภาพเดิมแท้ คือความว่าง; สภาพเดิมแท้เป็นความว่าง ถูกปรุงแต่งเป็นความวุ่น, สุดเหวี่ยงเข้ามันก็กลับเป็นความว่าง.
ฉะนั้น ชีวิตตั้งต้นด้วยความว่าง ไม่มีตัวตน; คลอดออกมาจากท้องแม่ มันมีตัวตน ๆ มีตัวตน; แล้วมันจะดับทุกข์ได้ ก็ ต้องกลับไปสู่ความว่าง อีกทีหนึ่ง; แต่เป็นความว่างที่กลับวุ่นไม่ได้. ทีแรกมันเป็นความว่างที่วุ่นได้ ครั้นวุ่นได้ แล้วก็ทำให้หายวุ่น, เป็นความว่าง เป็นพระนิพพาน ว่างอย่างธรรมชาติธรรมดาที่ยังปรุงแต่งได้ มันไม่ใช่ว่างจริง เพราะมันว่างชนิดที่วุ่นได้ นี้ต้องอบรมจิตประภัสสรชนิดนี้ยิ่งขึ้น ๆ ๆ จนเป็นประภัสสรถาวร ก่อนนี้ประภัสสรชั่วคราว คือกลับวุ่นได้ ทีนี้อบรม ๆ อบรมตามหลักธรรมะ จนประภัสสรถาวรเป็นพระอรหันต์ ประภัสสรถาวรคือจิตพระอรหันต์ ประภัสสรชั่วคราว ล้มลุกคลุกคลานนั้นเป็นประภัสสรของปุถุชน หรือตามธรรมชาติจิตเป็นประภัสสร ก็เรียกว่ามันตั้งต้นจากประภัสสร ไปสู่ความวุ่นแล้วมันก็กลับไปสู่ประภัสสรถาวรนี้ก็เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่เราจะต้องรู้จัก.
หัวใจพระพุทธศาสนา เรื่องสามัญญลักษณะนี้ คนหนุ่มนักศึกษาสมัยปัจจุบันเห็นว่าเป็นของยายแก่ครึคระ; รู้จักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นแหละ มันจะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเพื่อน, เป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายกันได้. เรามี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา บีบคั้นย่ำยีอยู่ตลอดเวลา เราเป็นเพื่อนกัน มีหัวอกอย่างเดียวกัน มีทุกข์อย่างเดียวกัน หรือสุข ๆ ทุกข์ ๆ อย่างเดียวกัน, เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็จะเห็นอกเห็นใจกัน, กลายเป็นคนคนเดียวกัน จนกระทั่งว่าชีวิตทั้งหมด ทั้งสัตว์มนุษย์เดรัจฉาน ต้นไม้ต้นไล่ ชีวิตทั้งหมดเป็นชีวิตเดียวกัน มันก็ปลอดภัย ก็รอดตัว.
ทีนี้มาถึงคำว่าวิสังขารคตจิต, วิสังขารคตัง-จิตที่ถึงวิสังขาร จิตอบรมดีแล้ว อะไรปรุงแต่งให้เป็นอย่างไรไม่ได้ ไม่เกิดความรู้สึกเป็นชั่ว-เป็นดี เป็นบุญ-เป็นบาป เป็นสุข-เป็นทุกข์ แก่จิตนั้นอีกต่อไป. จิตนั้นดำรงอยู่ในสภาพอะไรปรุงแต่งไม่ได้, ปรุงแต่งไม่ได้; อันนี้ก็คือพระนิพพานนั่นแหละ; เมื่อถึงวิสังขารก็สัมผัสกับพระนิพพาน อะไรปรุงแต่งไม่ได้.
คำว่าพระนิพพานนั้น เป็นสิ่งที่ถึงได้ สัมผัสได้ รู้ได้; พระพุทธเจ้าทรงยืนยันข้อนี้อย่างหนักแน่นที่สุดว่า อตถิ ภิกขเว ตทายตน - อายตนะนั้นมีอยู่ ซึ่งท่านหมายถึงนิพพาน. ท่านจึงตรัสว่า มันมิใช่ดิน มิใช่น้ำ มิใช่ไฟ มิใช่ลม มิใช่อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ มิใช่การไป มิใช่การมา มิใช่การหยุด, คือมิใช่อะไรทุกอย่าง นั่นแหละคือพระนิพพาน ที่จะลุถึงได้, สัมผัสได้ ด้วยจิตที่เป็นวิสังขารคต, ถึงแล้วซึ่งความเป็นจิตที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้ มันก็ปรุงแต่งไม่ ได้ ปรุงแต่งไม่ได้. จิตชนิดนี้จะไม่มีอะไรมาโฆษณาชวนเชื่อให้หลงไปได้, และไม่มีอะไรเป็นของแปลกด้วย. จิตที่ถึงภาวะที่ปรุงแต่งไม่ได้นี้ มันจะรู้สึกไม่มีอะไรถูกปรุงแต่ง; ฉะนั้นการไปโลกพระจันทร์หรืออะไรน่าประหลาดน่าอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นสักร้อยเท่าพันเท่า. จิตนี้ก็รู้สึกว่าเป็นของเด็กเล่นอยู่นั่นแหละ, ไม่มีอะไรมายั่วให้จิตรู้สึกประหลาดหรืออัศจรรย์ใด ๆ ได้. นี่จิตของพระอรหันต์จะไม่มีความรู้สึกประหลาดใจอะไรได้; ส่วนจิตของปุถุชนนี้แม้แต่ดาวหางฮัลเล่ย์ ก็ทำให้บ้ากันทั้งบ้านทั้งเมือง, มันปรุงแต่งได้อย่างนี้.
ฉะนั้นขอให้มุ่งหมายถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาว่าจิตอยู่ในสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้ แล้วก็เป็นนิพพาน คือสภาวะที่เป็นอายตนะ. คำว่า อายตนะ นั้นมันแปลว่า สิ่งที่สัมผัสได้; อายตนะชั้นทั่วไป คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ เป็นสิ่งที่จิตสัมผัสได้ จึงเรียกมันว่าอายตนะ ๖ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์, นี้โดยพื้นฐาน ที นี้อายตนะที่สัมผัสได้ดีไปกว่านั้น สูงไปกว่าระดับธรรมดาก็คืออากาสานัญจายตนะ, วิญญานัญจายตนะ, อากิญ จัญญายตนะ, เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี้ก็เป็นอายตนะที่สัมผัสได้ แต่เป็นสังขาร ยังเป็นสังขาร. แล้วมีอายตนะชั้นวิสังขารคือพระนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อตถิ ภิกขเว ตทายตน, อายตนะนั้นมีอยู่; ถ้าเรารู้เรื่องอายตนะอย่างถูกต้อง เราก็จะรู้จักอายตนะตามธรรมชาติ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์, นี่เป็นอายตนะชั้นที่เป็นความรู้. การศึกษาของคนยุคหนึ่งที่เรียกว่าดีเลิศ คืออรูปฌานทั้ง ๔; แต่ถ้าอย่างของพระพุทธเจ้าแล้ว มีพระนิพพานอย่างเดียว เป็นอายตนะสูงสุด ๑๐๑ ที่ต้องเข้าถึงให้ได้.
ฉะนั้น ขอให้เราเข้าถึงภาวะที่จิตใจมีอะไรปรุงแต่งไม่ได้ ไม่มีอะไรน่ารัก น่าโกรธ น่าเกลียด น่ากลัว น่าวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวงเป็นต้น, ไม่มีอะไรแปลก ไม่มีอะไรน่าเกลียด ไม่มีอะไรน่ากลัว ไม่มีอะไรน่ารัก ไม่มีอะไรน่าอัศจรรย์, ไม่มีอะไรน่าอัศจรรย์ แม้แต่ความรู้ความคิดเรื่องอวกาศ เรื่องปรมาณู อะไรอีกร้อยเท่าพันเท่า ก็เป็นของเด็กเล่น, ไม่น่าอัศจรรย์สำหรับบุคคลผู้มีจิตลุถึงแล้วซึ่งวิสังขารคตะ คือจิตถึงแล้วซึ่งวิสังขาร; นี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นผลของการปฏิบัติ, ยอดสุดของหัวใจของพุทธศาสนาในชั้นที่เป็นผลของการปฏิบัติ.
เราจงรู้จักหัวใจในขั้นปริยัติ สอนเรื่องความหลุดพ้น, รู้จักหัวใจในขั้นปฏิบัติ คือปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น. รู้จักหัวใจแห่งผลของการปฏิบัติ คือปฏิเวธว่าหลุดพ้นแล้ว มันเป็นเรื่องหลุดพ้นอย่างเดียว, หลุดพ้นอย่างเดียว; ทำให้หลุดพ้นอย่างเดียว จะเป็นความรู้ก็ได้, เป็นการปฏิบัติก็ได้, เป็นผลของการปฏิบัติก็ได้, ก็เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาทั้งนั้น.
ดังนั้นขอให้มีความรู้เรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนากันอย่างนี้ สำหรับพุทธบริษัทเราทุกคน ที่จะต้องเข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตน ๆ. ส่วนศาสนาอื่น ศาสนิกของเขาก็เข้าถึงหัวใจของศาสนาของเขาไปตามเรื่องตามราว; แต่เรา พวกเราที่ เป็นพุทธบริษัทนี้ ขอให้เข้าใจถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา กันในลักษณะอย่างนี้เถิด, จะเป็นพุทธบริษัทเต็มตัว หรือว่าค่อย ๆ เต็ม ค่อย ๆ เต็ม ค่อย ๆ เต็มจนเต็มตัว นี่ความสำคัญที่จะต้องรู้จักหัวใจแห่งพระพุทธศาสนา อาตมาจึงได้ยกเอาขึ้นมาเป็นปณิธานข้อแรก, ข้อแรกให้ทุกคนเข้าใจถึงหัวใจแห่งศาสนาของตน แล้วก็จะหมดปัญหา.
นี่ การบรรยายในวันนี้ ก็บรรยายขยายความเรื่องปณิธานข้อแรก ให้ทุกคนเข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตน ๆ หวังว่าท่านทั้งหลายที่ได้มาร่วมประชุมกัน ให้ของขวัญแก่อาตมา งดอาหารกันเสียวันหนึ่งนี้ ก็ขอให้มันรวมอยู่ในการประพฤติ ปฏิบัติ ที่จะเข้าถึงหัวใจแห่งพระพุทธศาสนาด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น. เห็นไหมว่า มันไม่ตายดอก, แล้วมันก็คลายความยึดมั่นถือมั่นลงไปได้ไม่น้อยเหมือนกัน คือจะไม่แยแสกับกิเลสตัณหาหรือความเคยชินของกิเลสตัณหา; วันนี้ล้อมันเล่น ล้ออายุมันเล่นเสียด้วยการไม่กินอาหารเสียสักวันหนึ่ง, หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้รับประโยชน์ จากการกระทำบุญชนิดที่เรียกว่า ล้ออายุ ล้อเลียนอายุ ที่มันน่าล้อด้วยกันได้จงทุก ๆ คนเถิด, จะได้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระพุทธศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดา, มีความก้าวหน้าในทุกวิถีทาง มีความสุขสวัสดีอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ.
ขอยุติการบรรยายภาคเช้า.
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version