ผู้เขียน หัวข้อ: ท่องไปในตำนาน :เขาพระสุเมรุ-หิมพานต์  (อ่าน 4292 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


ท่องไปในตำนาน : เขาพระสุเมรุ

เขาพระสุเมรุ ตามคติในศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา คือภูเขาที่เป็นหลักของโลก ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพและภูมิต่างๆ นับแต่สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน ไปถึงมนุษย์นาค ครุฑ ยักษ์มาร คนธรรพ์ ฤๅษี และเทวดา โดยมีปลาอานนท์หนุนอยู่ รอบๆ เขาพระสุเมรุ
เขาพระสุเมรุตั้งอยู่เหนือน้ำ 84,000 โยชน์ มีภูเขารองรับ 3 ลูก โดยส่วนฐานคือ ตรีกูฏ (สามเส้าหรือสามยอด) มีภูเขาล้อมรอบ 7 ทิว เรียกว่า สัณบริภัณฑคีรี คือ ทิวเขา ยุคนธร กรวิก อิสินธร สุทัศ เนมินธร วินตกและอัสกัณ มีเทวดาจตุมหาราชิก และบริวารสถิตอยู่

ภายในจักรวาลมีภูเขาชื่อ หิมวา (หิมาลัย) ของจักรวาลทั้งหมด เป็นเทือกเขายาวติดกัน เป็นพืด เรียกว่าเขาจักรวาล โดยแต่ละจักรวาลมีพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวดึงส์ ยังมีมหาทวีปทั้ง 4 คือ

1.อุตรกุรุทวีป ตั้งอยู่เหนือของภูเขาพระสุเมรุ
2.ปุพพวิเทหะ ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเขาพระสุเมรุ
3.ชมพูทวีป ตั้งอยู่ตอนใต้เขาพระสุเมรุ คือโลกของเรา
4.อมรโคยาน ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเขาพระสุเมรุ



ในมหาทวีปยังมีทวีปน้อย ๆ เป็นบริวารอีก 2000 ทวีป
ในทิศทั้ง 4 ของจักรวาล มีมหาสมุทรทั้ง 4 อันมีน้ำเต็มเป็นนิจ ประกอบด้วย

1.ปิตสาคร ทางทิศเหนือ มีน้ำสีเหลือง
2.ผลิกสาคร ทางทิศตะวันตก มีน้ำใสสะอาด เหมือนแก้วผลึก
3.ขีรสาคร เกษียรสมุทร ทางทิศตะวันออก มีน้ำสีขาว
4.นิลสาคร ทางทิศใต้ มีน้ำสีเขียว

บนยอดเขาพระสุเมรุ คือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนครแห่งเทพที่ชื่อนครไตรตรึงษ์อยู่ มีพระอินทร์เทวราชเป็นผู้ปกครองทำหน้าที่เป็นเทวราชผู้อภิบาลโลก และพิทักษ์คุณธรรมให้แก่มนุษย์ ที่อยู่ของพระอินทร์เรียกว่าไพชยนต์มหาปราสาท ตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานแท่นบัณฑุกัมพลอันเป็นทิพยอาสน์

ตำนานฝ่ายพราหมณ์เล่าว่า พระอิศวรทรงสร้างน้ำด้วยพระเสโท (เหงื่อ) สร้างแผ่นดินด้วยเมโท (ไคล) ของพระองค์ บางตำนานเล่าว่าทรงสำรอกพระมังสะในพระอุระออกมาบันดาลให้เป็นแผ่นดิน
เพราะทุกความรู้....มีไว้เพื่อเเบ่งปัน


โดย: F/B ฅนเป็นครู

**************************************************************

ภูเขาหิมพานต์

ภูเขาหิมพานต์มีความสูงความกว้างหลายร้อยหลายพันโยชน์ และมียอดเขาถึง 84,000 ยอด ที่เชิงเขามีต้นหว้าใหญ่อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำสีทานที นัยว่าดอกของต้นหว้านั้นมีลักษณะงาม มีกลิ่นหอม มีผลใหญ่ แถมมีรสหวานอร่อยเหมือนน้ำผึ้ง และที่แปลกไปกว่านั้นยางของผลหว้าเมื่อร่วงหล่นลงมากลายเป็นทองคำสุกปลั่ง ชื่อว่าชมพูนุท

ถัดจากป่าไม้หว้าที่เชิงเขาแล้ว ก็มีป่าไม้มะขามป้อม และป่าสมอ ซึ่งผลไม้ทั้งสองมีรสชาติหวาน ถัดป่าสมอไปมีแม่น้ำ 7 สาย ถัดแม่น้ำไปแล้วมีป่าไม้นารีผลซึ่งมีลักษณะทรวดทรงงดงาม ถัดจากป่าไม้นารีผลก็เป็นแม่น้ำสมุทร และมีป่าไม้อีก 6 ป่า คือ ป่ากุรภะ ป่าโกรภะ ป่ามหาพิเทหะ ป่าตะปันทละ ป่าโสโมโล ป่าไชยเยศ ป่าไม้เหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยบำเพ็ญบุญของผู้ทรงธรรมทั้งหลาย และป่าไม้นี้มีเนื้อทรายจามรีมากมาย

ในป่าหิมพานต์มีสระใหญ่ถึง 7 สระ คือ สระอโนดาต สระกัณณมุณฑะ สระรถการะ สระฉัททันตะ สระกุณาละ สระมัณฑากิณี สระสีหัปปาตะ บรรดาสระใหญ่ทั้ง 7 นั้น สระใหญ่ทั้ง 7 นี้มีความกว้าง ความลึก และมณฑลโดยรอบเท่ากัน สำหรับสระอโนดาต มีเขา 5 เทือกล้อมรอบ คือ เขาสุทัสสนะ เขาจิตรกูฏ เขากาฬกูฏ เขาคันธมาทน์ เขาไกรลาส

ป่าหิมพานต์หรือเขาไกรลาส เป็นถิ่นฐานที่สถิตของผู้มีคุณวิเศษ ดินแดนที่ไกลแสนไกลยากที่มนุษย์ธรรมดาล่วงไปถึงได้

วรรณคดีที่กล่าวถึงป่าหิมพานต์ มักพรรณนาถึงสัตว์หิมพานต์ไว้ด้วย สัตว์หิมพานต์เป็นจินตนาการที่กวี จิตรกร ประติมากรพรรณนาถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์หรือเขาไกรลาส นอกจากปรากฏในวรรณคดี ยังอยู่ในภาพจิตรกรรมและประติมากรรมที่ประดิษฐานไว้ตามวัดวาอารามหรือปราสาทราชวัง

สัตว์เหล่านั้นได้ชื่อว่าเป็นจอมสัตว์ มีศักดินาเป็นใหญ่บ้าง มีเพศพรรณไม่เหมือนสัตว์ในมนุษย์โลกบ้าง และมีการผสมต่างพันธุ์บ้าง ประกอบด้วยเทวดา สัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์อากาศ ซึ่งช่างต่างประดิษฐ์พลิกแพลงทรงเครื่องให้สวยงามเพื่อความเหมาะสมของสภาพป่าหิมพานต์ หรือเขาไกรลาสที่ปรากฏในวรรณคดีไตรภูมิกถา (ไตรภูมิพระร่วง) และรามเกียรติ์ หรือจำแนกตามหนังสือ "ศิลปไทย" โดยอาจารย์ช่วง สเลลานนท์ ท่านแบ่งสัตว์หิมพานต์เป็น 3 ประเภท คือ สัตว์ทวิบาท (สองขา) สัตว์จตุบาท (สี่ขา) และประเภทปลา

มีความเชื่อว่าเคยมีพวกสัตว์เทพต่าง ๆ อาศัยอยู่แต่ไม่รู้จะจริงหรือไม่

ขอบคุณเด็กดี ดอทคอม
http://www.thammasatu.net/forum/index.php?topic=7764.0
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 30, 2015, 01:38:09 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ท่องไปในตำนาน :เรื่อง ไตรภูมิพระร่วง
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 05, 2013, 11:16:45 pm »




เรื่อง ไตรภูมิพระร่วง
               ไตรภูมิพระร่วง” หรือ “ไตรภูมิกถา” พระราชนิพนธ์ในพระมหาธรรมราชาที่ 1  (พญาลิไทย)เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกสมัยกรุงสุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ.1888   เป็นวรรณคดีที่มีอิทธิพลต่อวรรณกรรม ศิลปกรรม ประเพณีสำคัญต่าง ๆ ของไทย และแทรกอยู่ในวรรณคดีไทยแทบทุกเรื่องมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

               ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามต่าง ๆ จิตรกรรมในสมุดไทย หนังสือใบลาน  การสร้างโบสถ์วิหาร พัทธสีมา ระเบียงคด การสร้างพระเมรุมาศเป็นลักษณะของเขาพระสุเมรุ  ปราสาทราชวังต่าง ๆ  ล้วนได้แนวคิดและเรื่องมาจากไตรภูมิ

               พระมหาธรรมราชาลิไทย ทรงเป็นนักปราชญ์และนักการปกครอง มีพระปรีชารอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก อรรถกถาฎีกา อนุฏีกา และปกรณ์พิเศษต่าง ๆ พระองค์ยังเชี่ยวชาญในวิชาโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ และไสยศาสตร์จนถึงขั้นทรงบัญญัติคัมภีร์ศาสตราคมเป็นปฐมธรรมเนียมสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน  ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าคัมภีร์ต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนามากกว่า 30 คัมภีร์ มีเนื้อหากล่าวถึงจักรวาลวิทยา ปรัชญา จริยศาสตร์ ชีววิทยา และความคิดความเชื่อทางพุทธศาสนา โดยแสดงหลักธรรมที่สำคัญคือ การละเว้นความชั่วประกอบกรรมดี  เป็ยกลวิธีการสอนประชาชนให้ยึดมั่นในคำสอนทางศาสนา เกรงกลัวต่อบาป ประกอบแต่กรรมดี ละเว้นกรรมชั่ว  ซึ่งมีส่วนสำคัญในการดำรงความมั่นคงของประเทศชาติได้

               สาระสำคัญของเรื่องนื้  คือการพรรณนาเรื่องการเกิดการตายของสัตว์ทั้งหลายว่า  “เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิทั้งสาม คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิด้วยอำนาจของบุญและบาปที่ตนได้กระทำแล้ว ไตรภูมิ หรือ ภูมิทั้งสาม รวมทั้งการกำเนิดและการตายของสัตว์"  กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้



               ภูมิที่ 1  : กามภูมิ    เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ อบายภูมิและสุคติภูมิ
                                                   1. อบายภูมิ คือแดนแห่งความเสื่อม แบ่งออกเป็น 4 ภูมิ ได้แก่
                                                                  นรกภูมิ
                                                                  ติรัจฉานภูมิ
                                                                  เปรตภูมิ
                                                                  อสูรกาย

               

                ภูมินรกภูมิ เป็นที่ตั้งของสัตว์ที่ทำบาป ต้องไปรับทัณฑ์ทรมานนานาประการ
                แบ่งออกเป็นขุมใหญ่ ๆ 8 ขุมด้วยกัน คือ   
                               (1) สัญชีพนรก 
                               (2) กาฬสุตตนรก 
                               (3) สังฆาฏนรก 
                               (4) โรรุวะนรก 
                               (5) มหาโรรุวะนรก 
                               (6) ตาปนรก 
                               (7) มหาตาปนรก
                               (8 ) อวีจีนรก หรือ อเวจีนรก

               ในแต่ละนรกยังมีนรกบริวาร เช่น นรกขุมที่ชื่อโลหสิมพลี เป็นนรกบริวารของสัญชีพนรก ผู้ที่เป็นชู้กับสามีหรือภริยาผู้อื่นจะ มาตกนรกขุมนี้จะถูกนายนิรบาลไล่ต้อนให้ขึ้นต้นงิ้วที่สูงต้นละหนึ่งโยชน์ มีหนามเป็นเหล็กร้อนจนเป็นสีแดงมีเปลวไฟลุกโชนยาว ๑๖ นิ้ว ชายหญิงที่เป็นชู้กันต้องปีนขึ้นลง โดยมีนายนิรบาลเอาหอกแหลมทิ่มแทงให้ขึ้นลงวนเวียนอยู่เช่นนี้นับร้อยปีนรก

               สำหรับผู้ที่ทำบาป แต่ไม่หนักพอที่จะตกนรก ก็ไปเกิดในที่อันหาความเจริญมิได้ อื่น ๆ  เช่น เกิดเป็นเปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน พวกที่พ้นโทษจากนรกแล้วยังมีเศษบาปติดอยู่ก็ไปเกิดเป็นเดรัจฉานบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสูรกายบ้าง เป็นมนุษย์ที่ทุพพลภาพพิกลพิการ ตามความหนักเบาของบาปที่ตนได้ทำไว้


                                                   2. สุคติภูมิ เป็นส่วนของกามาพจรภูมิ หรือ กามสุคติภูมิ แบ่งออกเป็นเจ็ดชั้น  คือ มนุษย์ภูมิ 1 และสวรรค์ 6 ชั้นรวมเรียกว่า “ฉกามาพจร” ได้แก่  จตุมหาราชิกาภูมิ ตาวติงสาภูมิ (ดาวดึงส์-ไตรตรึงษ์) ยามาภูมิ ตุสิตาภูมิ (ดุสิต)  นิมมานรดีภูมิ และ  ปรนิมมิตวสวัตดีภูมิ  กามาพจรภูมิทั้งเจ็ดชั้น เป็นที่ตั้งอันเต็มไปด้วยกาม เป็นที่ท่องเที่ยวของสัตว์ที่ลุ่มหลงอยู่ใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นอารมณ์อันพึงปรารถนา เมื่อรวมกับอบายภูมิอีกสี่ชั้นเรียกว่า กภูมิสิบเอ็ดชั้นสาม


                 ภูมิที่ 2 : รูปภูมิ หรือรูปาวจรภูมิ    ได้แก่ รูปพรหมสิบหกชั้น เริ่มตั้งแต่พรหมปริสัชชาภูมิ ที่อยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นหก คือ ปรนิมมิตวสวัตดี มากจนนับระยะทางไม่ได้ ระยะทางดังกล่าวอุปมาไว้ว่าสมมติมีหินก้อนใหญ่เท่าโลหะปราสาทในลังกาทวีป ถ้าทิ้งหินก้อนนี้ทิ้งลงมาจากชั้นพรหมปริสัชชาภูมิ ต้องใช้เวลาถึงสี่เดือนจึงจะตกลงถึงพื้น จากพรหมปริสัชชาภูมิขึ้นไปถึงชั้นที่สิบเอ็ด ชื่อชั้นอสัญญีภูมิ เป็นรูปพรหมที่มีรูปแปลกออกไปจากพรหมชั้นอื่น ๆ คือ พรหมชั้นอื่น ๆ มีรูป มีความรู้สึก เคลื่อนไหวได้ แต่พรหมชั้นอสัญญีมีรูปที่ ไม่ไหวติง ไร้อริยาบท โบราณเรียกว่า พรหมลูกฟัก ครั้นหมดอายุ ฌานเสื่อมแล้วก็ไปเกิดตามกรรมต่อไป

                 รูปพรหมที่สูงขึ้นไปจากอสัญญีพรหมอีกห้าชั้นเรียกว่า ชั้นสุทธาวาส หมายถึงที่อยู่ของผู้บริสุทธิ ผู้ที่จะไปเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาสคือ ผู้ที่สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระอนาคามี คือเป็นผู้ที่ไม่กลับมาสู่โลกนี้ต่อไป ทุกท่านจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วนิพพานในชั้นสุทธาวาสนี้

                 ภูมิที่ 3  : อรูปภูมิ หรืออรูปาพาจรภูมิ   มี 4 ชั้น เป็นพรหมที่ไม่มีรูปปรากฏ ผู้ที่ไปเกิดในภูมินี้คือผู้ที่บำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุฌานโลกีย์ชั้นสูงสุด เรียกว่าอรูปฌานซึ่งมีอยู่สี่ระดับได้แก่ผู้ที่บรรลุอากาสานัญจายตนะฌาน (ยึดหน่วงเอาอากาศเป็นอารมณ์) จะไปเกิดในอากาสานัญจายตะภูมิ ผู้ที่บรรลุวิญญาณัญจายตนะฌาน (ยึดหน่วงเอาวิญญาณเป็นอารมณ์) จะไปเกิดในวิญญาณัญจายตะภูมิ ผู้ที่บรรลุอากิญจัญญายตนะฌาน (ยึดหน่วงเอาความไม่มีเป็นอารมณ์) จะไปเกิดในอากิญจัญญาตนะภูมิ และผู้ที่บรรลุเนวสัญญานสสัญญายตนะฌาน (ยึดหน่วงเอาฌานที่สามให้ละเอียดลงจนเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่) จะไปเกิดในแนว
สัญญานาสัญญายตนะภูมิ พรหมเหล่านี้เมื่อเสื่อมจากฌานก็จะกลับมาเกิดในรูปพรหมภูมิ หรือภูมิอื่น ๆ ได้เช่นกัน

          การกำเนิดและการตายของสัตว์   
          การกำเนิดของสัตว์  การเกิดของสัตว์ในสามภูมิมีอยู่ 4  อย่างด้วยกันคือ
              1.ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ เช่น มนุษย์และสัตว์เดรัจฉานบางชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม
              2.อัณฑชะ เกิดในไข่ ได้แก่สัตว์เดรัจฉานบางชนิด  เช่น นก สัตว์เลื้อยคลานบางชนิด ปลา เป็นต้น
              3.สังเสทชะ เกิดในเถ้าไคล   ได้แก่สัตว์ชั้นต่ำบางชนิดที่ใช้การแบ่งตัวออกไป เช่น ไฮดรา อมิบา
              4.โอปาติกะ เกิดขึ้นเอง เมื่อเกิดแล้วก็จะสมบูรณ์เต็มที่ เมื่อตายไปจะไม่มีซาก   ได้แก่   เปรต   อสูรกาย เทวดา และพรหม เป็นต้น

             การตายของสัตว์ การตายมีสาเหตุสี่ประการด้วยกันคือ
                                  1.  อายุขยะ       เป็นการตายเพราะสิ้นอายุ
                                  2.  กรรมขยะ      เป็นการตายเพราะสิ้นกรรม
                                  3.  อุภยขยะ       เป็นการตายเพราะสิ้นทั้ง อายุ และสิ้นทั้งกรรม
                                  4.  อุปัจเฉทกรรมขยะ    เป็นการตายเพราะอุบัติเหตุ

                         

          นอกจากนั้นแล้ว มีการกล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ ในโลกและในจักรวาล มีภูเขาพระสุเมรุราชเป็นแกนกลาง แวดล้อมด้วยกำแพงน้ำสีทันดรสมุทร และ  ภูเขาสัตตบรรพต อันประกอบด้วย ภูเขายุคนธร   อินิมธร   กรวิก สุทัศนะ  เนมินธร  วินันตกะ  และ อัสสกัณณะ 
 กล่าวถึงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวนพเคราะห์ และดารากรทั้งหลายในจักรวาล เป็นเครื่องบ่งบอกให้รู้วันเวลาฤดูกาล และเหตุการณ์ต่าง ๆ

          กล่าวถึงทวีปทั้งสี่ที่ตั้งอยู่รอบภูเขาพระเมรุมาศ ชมพูทวีปอยู่ทางทิศใต้กว้าง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ มีปริมณฑล ๓๐๐,๐๐๐ โยชน์ มีแผ่นดินเล็กล้อมรอบได้ ๕๐๐ มีแผ่นดินเล็กอยู่กลางทวีปใหญ่สี่ผืน เรียกว่า สุวรรณทวีป กว้างได้ ๑,๐๐๐ โยชน์ มีประมณฑล ๓๐,๐๐๐ โยชน์ เป็นเมืองที่อยู่ของพญาครุฑ

          การกำหนดอายุของสัตว์และโลกทั้งสามภูมิ มี กัลป์ มหากัลป์ การวินาศ การอุบัติ การสร้างโลก สร้างแผ่นดินตามคติของพราหมณ์  ท้ายสุดของภูมิกถา เป็นนิพพานกถาว่าด้วยนิพพานสมบัติของพระอริยะเจ้าทั้งหลาย วิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพาน อันเป็นวิธีตามแนวทางของพระพุทธศาสนา



สร้างโดย:  ศรีสวาสดิ์ บุนนาค
แหล่งอ้างอิง: http://www.thaigoodview.com/node/18553

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 21, 2013, 05:32:10 pm โดย ฐิตา »