ผู้เขียน หัวข้อ: 09 นิวรณ์ ๕ ( ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา) +ลักขณสูตร  (อ่าน 2144 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

09 นิวรณ์ ๕ ( ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา)
ก. ถามว่า นิวรณ์ ๕ เวลาที่เกิดขึ้นในใจมีลักษณะอย่างไร จึงจะทราบได้ว่าอย่างนี้ คือ กามฉันท์ อย่างนี้คือพยาบาท หรือถีนะมิทธะ อุทธัจจะกุกุจจะ วิจิกิจฉา และมีชื่อเสียงเหมือนกับสังโยชน์ จะต่างกันกับสังโยชน์หรือว่าเหมือนกัน ขอท่านจงอธิบายลักษณะของนิวรณ์แลสังโยชน์ให้ข้าพเจ้าเข้าใจจะได้สังเกตถูก?
ข. ตอบว่า กามฉันทนิวรณ์ คือความพอใจในกาม ส่วนกามนั้นแยกเป็นสอง คือกิเลสกามหนึ่ง วัตถุกามอย่างหนึ่ง เช่น ความกำหนัดในเมถุนเป็นต้น ชื่อว่ากิเลสกาม ความกำหนัดในทรัพย์สมบัติเงินทองที่บ้านนาสวน และเครื่องใช้สอยหรือบุตรภรรยาพวกพ้อง และสัตว์ของเลี้ยงที่เรียกว่าวิญญาณกทรัพย์ อวิญญาณกทรัพย์เหล่านี้ ชื่อว่าวัตถุกาม ความคิดกำหนัดพอใจในส่วนทั้งหลายเหล่านี้ ชื่อว่า กามฉันทนิวรณ์ ส่วนพยาบาทนิวรณ์ คือ ความโกรธเคือง หรือคิดแช่งสัตว์ให้พินาศ ชื่อว่า พยาบาทนิวรณ์ ความง่วงเหงาหาวนอน ชื่อว่า ถีนะมิทธินิวรณ์ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ชื่อว่า อุธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ความสงสัย ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แลสงสัยในกรรมที่สัตว์ทำเป็นเป็นบาป หรือสงสัยในผลของกรรมเหล่านี้ เป็นต้น ชื่อว่าวิจิกิจฉา รวม ๕ อย่างนี้ชื่อว่า นิวรณ์ เป็นเครื่องกั้นกางหนทางดี.



ก. ถามว่า กามฉันทนิวรณ์ อธิบายเกี่ยวไปตลอดกระทั่งวิญญาณกทรัพย์ อวิญญาณกทรัพย์ ว่าเป็นวัตถุกาม ถ้าเช่นนั้นผู้ที่ยังอยู่ครองเรือน ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติอัฐฬสเงินทองพวกพ้อง ญาติมิตร ก็จำเป็นจะต้องนึกถึงสิ่งเหล่านั้น เพราะเกี่ยวเนื่องกับตนก็มิเป็นกามฉันทนิวรณ์ไปหมดหรือ?
ข. ตอบว่า ถ้านึกตามธรรมดาโดยจำเป็นของผู้ที่ยังครองเรือนอยู่ โดยไม่ได้กำหนัดยินดีก็เป็นอัญญสมนา คือ เป็นกลาง ๆ ไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป ถ้าคิดถึงวัตถุกามเหล่านั้นเกิดความยินดีพอใจรักใคร่เป็นห่วง ยึดถือหมกมุ่นพัวพันอยู่ในวัตถุกามเหล่านั้น จึงจะเป็นกามฉันทนิวรณ์

สมด้วยพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า
น เต กามา ยานิ จิตฺรานิ โลเก อารมณ์ที่วิจิตรงดงามเหล่าใดในโลก อารมณ์เหล่านั้นมิได้เป็นกาม
สงฺกปฺปราโค ปุริสฺส กาโม ความกำหนัดอันเกิดจากความดำริ นี้แหละเป็นกามของคน
ติฏฺฐนฺติ จิตฺรานิ ตเถว โลเก อารมณ์ที่วิจิตรงดงามในโลก ก็ตั้งอยู่อย่างนั้นเอง
อเถตฺถธีรา วินยฺนติ ฉนฺทํ เมื่อความเป็นจริงอย่างนี้ นักปราชญ์ทั้งหลายจึงทำลายเสียได้ ซึ่งความพอใจในกามนั้น

นี่ก็ทำให้เห็นชัดเจนได้ว่า ถ้าฟังตามคาถาพระพุทธภาษิตนี้ ถ้าคิดนึกถึงวัตถุกามตามธรรมดาก็ไม่เป็นกามฉันทนิวรณ์ ถ้าคิดนึกอะไร ๆ ก็เอาเป็นนิวรณ์เสียหมด ก็คงจะหลีกไม่พ้นนรก เพราะนิวรณ์เป็นอกุศล.



ก. ถามว่า พยาบาทนิวรณ์นั้น หมายความโกรธเคืองประทุษร้ายในคน ถ้าความกำหนัดในคน ก็เป็นกิเลสกามถูกไหม?
ข. ตอบว่า ถูกแล้ว.
ก. ถามว่า ความง่วงเหงาหาวนอน เป็นถีนะมิทธินิวรณ์ ถ้าเช่นนั้นเวลาที่เราหาวนอนมิเป็นนิวรณ์ทุกคราวไปหรือ?
ข. ตอบว่า หาวนอนตามธรรมดา เป็นอาการของร่างกาย ที่จะต้องพักผ่อน ไม่เป็นถีนะมิทธินิวรณ์ กามฉันทหรือพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วก็อ่อนกำลังลงไปหรือดับไป ในสมัยนั้นมีอาการมัวซัวแลง่วงเหงา ไม่สามารถจะระลึกถึงกุศลได้ จึงเป็นถีนะมิทธนิวรณ์ ถ้าหากนอนตามธรรมดา เรายังดำรงสติสัมปชัญญะอยู่ได้จนกว่าจะหลับไป จึงไม่ใช่นิวรณ์ เพราะถีนะมิทธนิวรณ์เป็นอกุศล ถ้าจะเอาหาวนอนตามธรรมดาเป็นถีนมิทธแล้ว เราก็คงจะพ้นจากถีนะมิทธินิวรณ์ไม่ได้ เพราะต้องมีหาวนอนทุกวันด้วยกันทุกคน.


ก. ถามว่า ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ที่ว่าเป็นอุทธัจจกุกุจจนิวรณ์นั้น หมายฟุ้งไปในที่ใดบ้าง?
ข. ตอบว่า ฟุ้งไปในกามฉันทบ้าง พยาบาทบ้าง แต่ในบาปธรรม ๑๔ ท่านแยกเป็นสองอย่าง อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน กุกกุจจ ความรำคาญใจ แต่ในนิวรณ์ ๕ ท่านรวมไว้เป็นอย่างเดียวกัน.
ก. ถามว่า นิวรณ์ ๕ เป็นจิตหรือเจตสิก?
ข. ตอบว่า เป็นเจตสิกธรรมฝ่ายอกุศลประกอบกับจิตที่เป็นอกุศล.

ก. ถามว่า ประกอบอย่างไร?
ข. ตอบว่า เช่นกามฉันทนิวรณ์ก็เกิดในจิต ที่เป็นพวกโลภะมูล พยาบาทกุกกุจจนิวรณ์ ก็เกิดในจิตที่เป็นโทสะมูล พระพุทธเจ้าทรงเปรียบนิวรณ์ทั้ง ๕ มาในสามัญญผลสูตร ฑีฆนิกายสีลักขันธวรรค หน้า ๙๓ ว่า กามฉันทนิวรณ์ เหมือนคนเป็นหนี้, พยาบาทนิวรณ์ เหมือนคนไข้หนัก, ถีนมิทธนิวรณ์ เหมือนคนติดในเรือนจำ, อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ เหมือนคนเป็นทาส วิจิกิจฉานิวรณ์ เหมือนคนเดินทางกันดารมีภัยน่าหวาดเสียว เพราะฉะนั้น คนที่เขาพ้นหนี้ หรือหายเจ็บหนัก หรือออกจากเรือนจำ หรือพ้นจากทาส หรือได้เดินทางถึงที่ประสงค์พ้นภัยเกษมสำราญ เขาย่อมถึงความยินดีฉันใด ผู้ที่พ้นนิวรณ์ทั้ง ๕ ก็ย่อมถึงความยินดีฉันนั้น แลในสังคารวสูตร ในปัจจกนิบาตอังคุตตรนิกาย หน้า ๒๕๗ พระพุทธเจ้าทรงเปรียบนิวรณ์ด้วยน้ำ ๕ อย่าง ว่าบุคคลจะส่องดูเงาหน้าก็ไม่เห็นฉันใด นิวรณ์ทั้ง ๕ เมื่อเกิดขึ้นก็ไม่เห็นธรรม ความดีความชอบฉันนั้น กามฉันทนิวรณ์ เหมือนน้ำที่ระคนด้วยสีต่าง ๆ เช่น สีครั่ง สีชมพูเป็นต้น พยาบาทนิวรณ์ เหมือนน้ำร้อนที่เดือดพล่าน ถีนะมิทธินิวรณ์ เหมือนน้ำที่มีจอกแหนปิดเสียหมด อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ เหมือนน้ำที่คลื่นเป็นระลอก วิจิกิจฉานิวรณ์ เหมือนน้ำที่ขุ่นข้นเป็นโคลนตม เพราะฉะนั้นน้ำ ๕ อย่างนี้ บุคคลไม่อาจส่องดูเงาหน้าของตนได้ฉันใด นิวรณ์ทั้ง ๕ ที่เกิดขึ้นครอบงำใจของบุคคลไม่ให้เห็นธรรมความดีความชอบได้ก็ฉันนั้น.



ก. ถามว่า ทำไมคนเราเวลาไข้หนักใกล้จะตาย ก็ทำบาปกรรมความชั่วอะไรไม่ได้แล้ว จะกล่าววจีทุจริตปากก็พูดไม่ได้ จะล่วงทำกายทุจริต มือแลเท้าก็ไหวไม่ได้แล้ว ยังเหลือแต่ความคิด นึกทางใจนิดเดียวเท่านั้น ทำไมใจประกอบด้วยนิวรณ์ จึงไปทุคติได้ ดูไม่น่าจะเป็นบาปกรรมโตใหญ่อะไรเลย ข้อนี้น่าอัศจรรย์นัก ของท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ?
ข. ตอบว่า กิเลสเป็นเหตุให้ก่อกรรม กรรมเป็นเหตุให้ก่อวิบาก ที่เรียกว่าไตรวัฏนั้น เช่น อนุสัย หรือสังโยชน์ ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นชื่อว่ากิเลสวัฏ ผู้ที่ไม่เคยประพฤติปฏิบัติก็ทำในใจไม่แยบคาย ที่เรียกว่า อโยนิโส คิดต่อออกไป เป็นนิวรณ์ ๕ หรือ อุปกิเลส ๑๖ จึงเป็นกรรมวัฏฝ่ายบาป ถ้าดับจิตไปในสมัยนั้น จึงได้วิบากวัฏที่เป็นส่วนทุคติ เพราะกรรมวัฏฝ่ายบาปส่งให้ อุปมาเหมือนคนปลูกต้นไม้ ไปนำพืชพันธุ์ของไม้ที่เบื่อเมามาปลูกไม้ ต้นแลใบที่เกิดขึ้นนั้น ก็เป็นของเบื่อเมา แม้ผลแลดอกที่ออกมา ก็เป็นของเบื่อเบา ตามพืชพันธุ์เดิมซึ่งนำมาปลูกไว้นิดเดียว แต่ก็กลายเป็นต้นโตใหญ่ไปได้เหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด จิตที่เศร้าหมองเวลาตาย ก็ไปทุคติได้ฉันนั้น แลเหมือนพืชพันธุ์แห่งผลไม้ที่ดี มีกลิ่นหอมมีรสหวาน บุคคลไปนำพืชพันธุ์มานิดเดียวปลูกไว้ แม้ต้นแลใบก็เป็นไม้ที่ดี ทั้งผลแลดอกที่ออกมา ก็ใช้แลรับประทานได้ตามความประสงค์ เพราะอาศัยพืชที่ดีซึ่งนำมานิดเดียวปลูกไว้ ข้อนี้ฉันใด จิตที่เป็นกุศลผ่องใสแล้วตายในเวลานั้น จึงไปสู่สุคติได้สมด้วยพระพุทธภาษิตที่ว่า จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา เวลาตายจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นหวังได้ จิตฺเต อสงฺกิลิฏเฐ สุคติปาฏิกงฺขา จิตผ่องใสไม่เศร้าหมองเวลาตาย สุคติเป็นหวังได้.



ก. ถามว่าอโยนิโสมนสิการ ความทำในใจไม่แยบคาย โยนิโสมนสิกาโร ความทำในใจแยบคาย ๒ อย่างนั้น คือ ทำอย่างไรจึงชื่อว่าไม่แยบคาย ทำอย่างไรจึงชื่อว่าแยบคาย?
ข. ตอบว่า ความทำสุภนิมิตไว้ในใจ กามฉันทนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็งอกงาม ความทำปฏิฆะนิมิตไว้ในใจ พยาบาทนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็งอกงามอย่างนี้ ชื่อว่าทำในใจไม่แยบคาย การทำอสุภสัญญาไว้ในใจ กามฉันทนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมหายไป การทำเมตตาไว้ในใจ พยาบาทนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมหายไป เช่นนี้เป็นตัวอย่าง หรือความทำในใจอย่างไรก็ตาม อกุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็งอกงาม ก็ชื่อว่าทำในใจไม่แยบคาย หรือจะนึกคิดอย่างไรก็ตามกุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็บริบูรณ์ อย่างนี้ชื่อว่าทำในใจแยบคาย สมด้วยสาวกภาษิตที่พระสารีบุตรแสดงไว้ในพระทสุตตรสูตรหมวด ๒ ว่า



โย จ เหตุ โย จ ปจฺจโย สตฺตานํ สงฺกิเลสสาย
ความไม่ทำในใจโดยอุบายอันแยบคาย เป็นเหตุด้วยเป็นปัจจัยด้วย
เพื่อ
ความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย ๑

โย จ เหตุ โย จ ปจฺจโย สตฺตานํ วิสุทฺธิยา ความทำในใจ โดยอุบายแยบคาย
เป็นเหตุด้วยเป็นปัจจัยด้วย เพื่อจะได้บริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย


( ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา)
>>> F/B Pong Lee


ใบโพธิ สิกขา ได้แชร์รูปภาพของเขา
13 ชม. ·
ใบโพธิ สิกขา
22 ตุลาคม 2014 ·

ลักขณสูตร
(ว่าด้วยลักษณะของพาลและบัณฑิต)

[๔๔๑] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนพาล มีกรรมเป็นลักษณะ บัณฑิต
ก็มีกรรมเป็นลักษณะ มีปัญญาปรากฏในอปทาน(ความประพฤติ) ดูกรภิกษุทั้งหลาย

บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบได้ว่าเป็นคนพาล ธรรม ๓
ประการคืออะไรบ้าง? คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ผู้ประกอบ
ด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล พึงทราบเถิดว่า เป็นคนพาล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบได้ว่า
เป็นบัณฑิต ธรรม ๓ ประการคืออะไรบ้าง? คือ กายสุจริต วจีสุจริต
มโนสุจริต ผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล พึงทราบเถิดว่า เป็นบัณฑิต
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาในข้อนี้ อย่างนี้ว่า บุคคลประกอบด้วย
ธรรม ๓ ประการเหล่าใด พึงทราบได้ว่าเป็นคนพาล เราทั้งหลายจักละเสียซึ่ง
ธรรม ๓ ประการนั้น บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการเหล่าใด พึงทราบได้
ว่าเป็นบัณฑิต เราทั้งหลายจักถือเอาธรรม ๓ ประการนั้นประพฤติ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล.
จบลักขณสูตรที่ ๒.

อรรถกถาลักขณสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในลักขณสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้:-

กรรมที่เป็นไปทางกายทวาร เป็นต้น เป็นลักษณะ คือ เป็นเหตุให้หมาย
รู้บุคคลนั้น เหตุนั้น บุคคลนั้น จึงชื่อว่า มีกรรมเป็นลักษณะ.
ปัญญาที่งามด้วยความประพฤติ (จริต) ชื่อว่า อปทานโสภนีปัญญา.
อธิบายว่า พาลและบัณฑิต ย่อมปรากฏด้วยกรรมที่ตนประพฤติมาแล้ว นั่นแล.

จริงอยู่ ทางที่คนพาลไปแล้ว ย่อมเป็นเหมือนทางไปของไฟป่าซึ่งลาม
ไปเผาไหม้ต้นไม้ กอไม้ คามนิคมเป็นต้น ฉะนั้น ปรากฏเหลือก็แต่เพียงสถาน
ที่ที่ปลูกบ้านเท่านั้น ซึ่งเต็มไปด้วยถ่าน เขม่า และเถ้า. ส่วน ทางที่บัณฑิตไป
เหมือนทางที่เมฆฝน ซึ่งตั้งเค้าขึ้นทั้ง ๔ ทิศ แล้วตกลงมา เต็มหลุมและบ่อ
เป็นต้น นำความงอกงามของรวงข้าวกล้าชนิดต่าง ๆ มาให้ฉะนั้น. สถานที่ที่
มีน้ำเต็ม และมีผลาผลของข้าวกล้าชนิดต่าง ๆ งอกงาม ปรากฏอยู่ในทาง
ที่เมฆฝนซึ่งตั้งเค้าขึ้น ฉันใด ในทางที่บัณฑิตดำเนินไป ก็มีสมบัติอย่างเดียว
เท่านั้น ไม่มีวิบัติเลย ฉันนั้น.
จบอรรถกถาลักขณสูตร.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 29, 2017, 10:44:08 pm โดย ฐิตา »