10 เทคนิคถ่ายภาพฤดูฝน
-http://travel.sanook.com/816418/10-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%96%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%9D%E0%B8%99/-
หน้าฝนมาถึงแล้ว นักถ่ายภาพหลายคนอาจเก็บกล้องเข้ากระเป๋า เนื่องจากกลัวความเปียกชื้น ซึ่งจะทำให้กล้องเสียหาย แต่ช้าก่อน ในฤดูฝนอย่างนี้แหละที่ป่าเขาจะเขียวชอุ่ม น้ำตกไหลเต็มปรี่ซ่านกระเซ็น งดงาม ควรแก่การบันทึกภาพไว้นักแล ว่าแล้วอย่ารอช้า อ่านข้อแนะนำในการถ่ายภาพธรรมชาติในฤดูฝนแล้วออกลุยเก็บภาพเลยดีกว่า
1. ขาตั้งกล้อง นักถ่ายภาพธรรมชาติขาดสิ่งนี้ไม่ได้ มันช่วยให้กล้องมั่นคงไม่สั่นไหวกับความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ เพราะต้องใช้หน้ากล้องแคบ เพื่อให้เกิดความชัดลึกมากที่สุด
และในป่าที่เต็มไปด้วยสีเขียวของพรรณไม้ แถมยังเป็นช่วงฟ้าครึ้มฝน สภาพแสงต้องน้อยอย่างแน่นอน การใช้มือถือกล้องอาจไม่นิ่งพอ ถ้าไม่มีคนช่วยแบกก็หาซื้อรุ่นที่น้ำหนักเบาหน่อยแล้วใช้กระเป๋ากล้องแขวนถ่วงไว้เพื่อเพิ่มความมั่นคงก็ได้
2. เลนส์ครบทุกช่วง ในป่ามีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย ตั้งแต่วิว ทิวทัศน์ ไปจนถึงโลกเล็กๆ ของดอกไม้ แมลง เตรียมเลนส์ให้ครบตั้งแต่มุมกว้างไปจนถึงเทเลโฟโต้ แถมเลนส์มาโครด้วย ก็จะดี เรื่องน่าเศร้าของนักถ่ายภาพเรื่องหนึ่งก็คือ
เมื่อพบภาพดีๆ ที่น่าสนใจแล้ว แต่ไม่มีเลนส์ที่เหมาะกับงานนั้นๆ ตัวอย่างเช่น เจอแมงมุมลายสวยอยู่กับใยที่มีน้ำค้างเกาะพราวเต็มไปหมด แต่คุณไม่มีเลนส์มาโครติดมาด้วย ครั้นจะกลับไปเอาที่บ้านก็ต้องใช้เวลาเดินทางอีก 2 วัน เป็นต้น เพราะฉะนั้นยอมแบกหน่อยก็จะได้ภาพดีๆ กลับมา
3. ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ สิ่งนี้จำเป็นสำหรับงานที่ต้องการความประณีต เนื่องจากใบไม้ส่วนใหญ่มีลักษณะผิวมัน มีการสะท้อนแสง หากเราใช้ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ตัดแสงสะท้อนออกไป สีสันที่ได้จะอิ่ม
ป่าเขียวชอุ่มไม่ใช่มีสีขาวจากแสงสะท้อนปนเข้ามา จนทำให้ป่ากลายเป็นสีเขียวซีด ประโยชน์ของฟิลเตอร์ชนิดนี้ยังช่วยในการถ่ายภาพน้ำตกหรือลำธารให้ดูดีขึ้นด้วย
4. ชดเชยแสง สีเขียวของใบไม้ หรือสีน้ำตาลของต้นไม้จะมีการสะท้อนแสงน้อยมาก เครื่องวัดแสงภายในกล้องจึงถูกหลอกให้ค่าในการบันทึกภาพมากเกินจริง ภาพที่ได้หากไม่ชดเชยแสงจะค่อนข้างซีดไม่อิ่มตามที่ตาเห็น ควรชดเชยแสงโดยการถ่ายให้อันเดอร์ลงประมาณครึ่งถึงหนึ่งสตอป ก็จะได้ภาพที่มีสีจริงของธรรมชาติออกมา
5. แผ่นสะท้อนแสง สำหรับงานถ่ายมาโครในป่า ไม่ต้องถึงขนาดยกแผ่นสะท้อนแสง (Reflect) ขนาดใหญ่แบบในสตูดิโอไปด้วย เพียงแค่กระดาษแข็งขนาด A4 ที่พอจะใส่ในกระเป๋ากล้องได้ ด้านหนึ่งสีขาว อีกด้านใช้สีพ่นให้เป็นสีเงิน (Silver) แค่นี้ก็ใช้ได้
วิธีใช้งานเมื่อพบภาพสวยๆ สำหรับถ่ายมาโคร เช่นพวกดอกไม้ป่า ลองถ่ายแบบย้อนแสง แล้วใช้แผ่นสะท้อนแสง สะท้อนกลับไปยังด้านหน้าของดอกไม้
เรียกว่าการเปิดเงาจะเห็นแสงสว่างที่ดอกไม้ ลองถ่ายดูจะได้ภาพที่มีมิติกว่าถ่ายตามแสงทั่วไป ส่วนจะเลือกด้านสีขาวหรือสีเงินขึ้นอยู่กับสภาพแสงขณะนั้นว่ามากน้อยเพียงใด?
6. เข้าป่าเจอถ้ำ ในทริปการเดินทางเที่ยวป่า บางครั้งจะมีสถานที่น่าสนใจอย่างถ้ำต่างๆ อยู่ในทริปด้วย ขาตั้งกล้องกับแฟลช (พร้อมแบตเตอรี่ใหม่ๆ) จำเป็นอย่างมาก
แน่นอนว่าสภาพแสงในถ้ำต้องน้อยเป็นธรรมดา โชคดีหน่อยอาจไปช่วงที่มีแสงแดดส่องเข้ามาบ้าง พอเห็นเป็นลำแต่คงไม่สว่างทั่วทั้งถ้ำ
ควรตั้งกล้องด้วยขาตั้งใช้ความเร็วต่ำ หน้ากล้องประมาณ F/11 ด้วยหน้ากล้องแคบขนาดนี้ความเร็วชัตเตอร์อาจราว 3-5 วินาที
เวลาช่วงนี้เราสามารถใช้แฟลชที่ตั้งในโหมดแมนนวลแบ่งกำลังไฟลงเหลือเพียง 1/4 กดยิงแฟลชไปยังซอกหลืบต่างๆ ภายในถ้ำ (ที่อยู่ในเฟรมของภาพ) บางคนอาจใช้ฟิลเตอร์...ปิดที่หน้าไฟแฟลชสร้างบรรยากาศแปลกๆ ออกไปอีก เท่านี้ก็จะได้ภาพที่แสดงรายละเอียดได้ทั่วทั้งภาพ
7. สายน้ำตกพลิ้วไหว เข้าป่าหน้าฝนต้องเจอน้ำตกไหลแรงสวยงาม กางขาตั้งกล้องสวมฟิลเตอร์โพลาไรซ์เข้าหน้าเลนส์ เปิดหน้ากล้องแคบสุดๆ เพื่อจะได้ความเร็วชัตเตอร์ช้าๆ สายน้ำก็จะพลิ้วเหมือนสายไหม (ขึ้นอยู่กับว่าความเร็วชัตเตอร์เปิดนานแค่ไหน)
แต่ใช่ว่าการถ่ายภาพน้ำตกต้องทำให้สายน้ำนุ่มอย่างเดียว บางครั้งลองใช้เลนส์เทเลโฟโต้ถ่ายเจาะไปยังสายน้ำที่ไหลกระแทกโขดหินแล้วใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของน้ำก็จะได้อารมณ์อีกแบบ
8. ฟ้าหลังฝน กรณีถ่ายภาพอยู่แล้ว เกิดฝนเทลงมา แน่นอนต้องหาที่หลบฝน แต่อย่าเพิ่งท้อใจหรือเซ็งเสียก่อน รอจนฝนหายแล้วรีบออกมาดูท้องฟ้า อาจพบรุ้งกินน้ำ หรือแสงสดใส ของฟ้าหลังฝน รับรองว่าจะลืมช่วงต้องหลบฝนอยู่ในเต็นท์ไปเลย ทีเดียว
9. ถุงกันน้ำกับเจลกันชื้น ถ่ายรูปกันสนุกแต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องอุปกรณ์ด้วย เพราะราคาไม่ใช่ถูกๆ ก่อนเดินทางควรเตรียมถุงพลาสติกขนาดใหญ่พับติดกระเป๋ากล้องไว้ ถุงดำใส่ขยะนั่นแหละง่ายดี พับง่ายไม่เปลืองพื้นที่
พอเจอฝนก็เอาออกมาครอบกระเป๋ากล้อง มัดให้ดีก็พอช่วยให้สบายใจได้ แต่ภายในกระเป๋ากล้องควรมีสารกันความชื้นที่เรียกว่า ซิลลิกาเจล หาซื้อได้ตามร้านศึกษาภัณฑ์ แล้วนำมาแบ่งใส่ซองยา เอาเข็ม หรือไม้จิ้มฟันแหลมๆ แทงให้มีอากาศถ่ายเทได้ ซิลลิกาเจลจะช่วยให้ป้องกันความชื้นในกระเป๋ากล้องอันเป็นสาเหตุของราที่ขึ้นตามเลนส์ต่างๆ ครับ
10. ข้อสุดท้ายขอฝากเรื่องการดูแลธรรมชาติ เก็บขยะที่นำไป ทิ้งในที่เหมาะสม ในกรณีที่กางเต็นท์ ก่อกองไฟ ก็ควรดูแลฟืนไฟให้เรียบร้อย ได้ภาพสวยสมใจแล้ว เราต้องไม่เป็นภัยกับสิ่งแวดล้อมช่วยกันรักษาป่าให้คงธรรมชาติด้วยครับ
.