วิถีธรรม > จิตภาวนา-ปัญญาบารมี

๓. มหาปรินิพพานสูตร (๑๖)

<< < (3/4) > >>

ฐิตา:


[๑๐๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลาประทับนั่ง
บนอาสนะที่เขาจัดถวาย ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย
ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ธรรม
เหล่านั้น พวกเธอเรียนแล้ว พึงส้องเสพ พึงให้เจริญ พึงกระทำให้มากด้วยดี
โดยประการที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืน ดำรงอยู่ได้นาน เพื่อประโยชน์ของชน
เป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็ธรรมที่เราแสดงแล้ว
ด้วยปัญญาอันยิ่ง ... เหล่านั้นเป็นไฉน คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๕
พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แลที่เรา
แสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ... ฯ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยัง
ความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความปรินิพพานแห่งตถาคต จักมีในไม่ช้า โดย
ล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน ฯ
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้
ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

[๑๐๘] คนเหล่าใด ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาลทั้งบัณฑิต ทั้งมั่งมี
ทั้งขัดสน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า ภาชนะดินที่นายช่าง
หม้อกระทำแล้ว ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งสุกทั้งดิบ ทุกชนิด
มีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ฯ
พระศาสดาได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราเป็นของน้อย เราจักละ
พวกเธอไป เรากระทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล อันดีเถิด จงเป็นผู้
มีความดำริตั้งมั่นดีแล้ว ตามรักษาจิตของตนเถิด ผู้ใด จักเป็นผู้
ไม่ประมาท อยู่ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจักละชาติสงสาร
แล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดังนี้ ฯ
จบภาณวารที่สาม ฯ

[๑๐๙] ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตร
และจีวร เสด็จเข้าไปยังเมืองเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในเมือง
เวสาลีแล้ว เวลาปัจฉาภัต เสด็จกลับจากบิณฑบาต ทอดพระเนตรเมืองเวสาลี
เป็นนาคาวโลก แล้วรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ การเห็นเมืองเวสาลี

ของตถาคตครั้งนี้ จักเป็นครั้งสุดท้าย มาไปกันเถิดอานนท์ เราจักไปยังบ้าน
ภัณฑคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น
พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงบ้านภัณฑคามแล้ว ได้ยินว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บ้านภัณฑคามนั้น ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่ง
กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้ง แทงตลอดธรรม ๔ ประการ

เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้ ๔ ประการเป็นไฉน
เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดศีลอันเป็นอริยะ เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไป
สิ้นกาลนาน เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดสมาธิอันเป็นอริยะ ... ปัญญาอันเป็นอริยะ ...
วิมุตติอันเป็นอริยะ เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดศีลอันเป็นอริยะสมาธิอันเป็น
อริยะ ปัญญาอันเป็นอริยะ วิมุตติอันเป็นอริยะแล้ว ตัณหาในภพเราถอนเสียแล้ว
ตัณหาอันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี ฯ
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้
ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

[๑๑๐] ธรรมเหล่านี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ
อันยอดเยี่ยม อันพระโคดมผู้มียศตรัสรู้แล้ว ดังนั้น พระพุทธเจ้า
จึงตรัสบอกธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อความรู้ยิ่ง พระศาสดา
ผู้กระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ มีพระจักษุ ปรินิพพานแล้ว ฯ

[๑๑๑] ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับ ณ บ้านภัณฑคามนั้น
ทรงกระทำธรรมีกถานี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ
อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญา
อันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว
ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ

[๑๑๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในบ้าน
ภัณฑคามแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า มาไปกันเถิดอานนท์ เรา
จักไปยังบ้านหัตถีคาม อัมพคาม ชัมพุคาม และโภคนคร ท่านพระอานนท์ทูลรับ
พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงโภคนคร
แล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อานันทเจดีย์ ในโภคนครนั้น ณ ที่นั้น
พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง
มหาประเทศ ๔ เหล่านี้ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น
ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังต่อไปนี้

[๑๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส
ข้อนี้ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม
นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้ พวกเธอไม่พึงชื่นชมไม่พึงคัดค้าน
คำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวน
ในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ถ้าสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย
ลงในพระสูตรไม่ได้ เทียบเคียงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า
นี้มิใช่คำของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุนี้จำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึง
ทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงใน
พระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำ
สั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุนี้จำมาถูกต้องแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่หนึ่งนี้ไว้ ฯ

[๑๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
สงฆ์พร้อมทั้งพระเถระ พร้อมทั้งปาโมกข์ อยู่ในอาวาสโน้น ข้าพเจ้าได้ฟังมา
ได้รับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของ
พระศาสดา ดังนี้ พวกเธอไม่พึงชื่นชมไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้ว
พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียง
ในพระวินัย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตร
ไม่ได้ ลงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำสั่งสอนของ
พระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุสงฆ์นั้นจำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้ง
คำกล่าวนั้นเสีย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระ
สูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำสั่งสอนของ
พระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุสงฆ์นั้นจำมาถูกต้องแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สองนี้ไว้ ฯ

[๑๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุ
ผู้เป็นเถระมากรูปอยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูต มีอาคมอันมาถึงแล้ว เป็นผู้ทรงธรรม
ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็น
ธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้ พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึง
คัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้ว พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี
แล้วสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร
เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ ลงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความ
ตกลงในข้อนี้ว่านี้มิใช่คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระเหล่านั้น
จำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร
เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลง
ในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระเหล่านั้น จำมาถูก
ต้องแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สามนี้ไว้ ฯ

ฐิตา:


[๑๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุ
ผู้เป็นเถระอยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูต มีอาคมอันมาถึงแล้ว เป็นผู้ทรงธรรม ทรง
วินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระนั้นว่า นี้เป็นธรรม
นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้ พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้าน
คำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้ว พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบ
สวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียง
ในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ ลงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า

นี้มิใช่คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระนั้นจำมาผิดแล้ว ดังนั้น
พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย
ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำของ
พระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระนั้นจำมาถูกต้องแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สี่นี้ไว้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำ
มหาประเทศทั้ง ๔ เหล่านี้ไว้ ฉะนี้แล ฯ

ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อานันทเจดีย์ในโภคนครนั้น ทรงกระ-
*ทำธรรมีกถานี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้
ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิ
อบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้น
จากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ

[๑๑๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในโภคนครตามความพอ
พระทัยแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจัก
ไปยังเมืองปาวา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น
พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงเมืองปาวาแล้ว ได้ยินว่า
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อัมพวันของนายจุนทกัมมารบุตร ในเมืองปาวานั้น ฯ

ครั้งนั้น นายจุนทกัมมารบุตรได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึง
เมืองปาวา ประทับอยู่ ณ อัมพวันของเราในเมืองปาวา จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง ครั้นนายจุนทกัมมารบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงให้เห็นแจ้ง
ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น นายจุนทกัมมารบุตร
อันพระผู้มีพระภาคให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อม
ด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตของข้าพระองค์ เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาค
ทรงรับด้วยดุษณีภาพ ฯ

ลำดับนั้น นายจุนทกัมมารบุตรทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับแล้ว
ลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ หลีกไปแล้ว นายจุนท-
*กัมมารบุตรให้ตระเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีต และสุกรมัททวะ ๑- เป็นอันมาก
ในนิเวศน์ของตน โดยล่วงราตรีนั้นไป ให้กราบทูลกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว ฯ

ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนายจุนทกัมมารบุตร ประทับนั่ง
บนอาสนะที่เขาจัดถวาย ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้วรับสั่งกะนายจุนท

กัมมารบุตรว่า ดูกรนายจุนทะ ท่านจงอังคาสเราด้วยสุกรมัททวะที่ท่านตระเตรียมไว้
จงอังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยของเคี้ยวของฉัน อย่างอื่นที่ท่านตระเตรียมไว้ นายจุนท
กัมมารบุตรทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงอังคาสพระผู้มีพระภาค
ด้วยสุกรมัททวะที่ตนตระเตรียมไว้ อังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยของเคี้ยวของฉันอย่างอื่น
ที่ตนตระเตรียมไว้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะนายจุนทกัมมารบุตรว่า ดูกร
นายจุนทะ ท่านจงฝังสุกรมัททวะที่ยังเหลือเสียในหลุม เรายังไม่เห็นบุคคลในโลก
@๑. เป็นชื่ออาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งปรุงด้วยเห็ดอย่างหนึ่งซึ่งเห็ดชนิดนั้นหมูชอบกิน

พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์ซึ่งบริโภคสุกรมัททวะนั้นแล้ว จะพึงให้ย่อยไปด้วยดีได้นอกจากตถาคต นาย
จุนทกัมมารบุตรทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงฝังสุกรมัททวะที่ยังเหลือ
เสียในหลุม แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมนั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคยังนายจุนทกัมมารบุตรผู้นั่งเรียบร้อยแล้วให้เห็น
แจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากอาสนะ
เสด็จหลีกไป ฯ

ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว
ก็เกิดอาพาธอย่างร้ายแรง มีเวทนากล้าเกิดแต่การประชวรลงพระโลหิต ใกล้จะ
นิพพาน ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นเวทนา
เหล่านั้นไว้ มิได้ทรงพรั่นพรึง ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า มาไปกันเถิด
อานนท์ เราจักไปยังเมืองกุสินารา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มี
พระภาคแล้ว ฯ

[๑๑๘] ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระปรีชาเสวย
ภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว ทรงพระประชวรอย่าง
หนัก ใกล้จะนิพพาน เมื่อพระศาสดาเสวยสุกรมัททวะแล้ว
การประชวรอย่างหนักได้บังเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคลงพระบังคน
ได้ตรัสว่าเราจะไปยังเมืองกุสินารา ดังนี้ ฯ
(คาถาเหล่านี้ พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ในเวลาทำสังคายนา)

[๑๑๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะจากหนทาง แล้วเสด็จเข้าไป
ยังโคนไม้ต้นหนึ่ง รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิ
ซ้อนกันเป็นสี่ชั้นให้เรา เราเหน็ดเหนื่อยนัก จักนั่ง ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัส
ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง
บนอาสนะที่พระอานนท์ปูถวายแล้ว ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้ว จึงรับสั่ง
กะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำมาให้เรา เราระหาย จักดื่มน้ำ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์

ผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นน้อย ถูกล้อเกวียน
บดแล้ว ขุ่นมัวไหลไปอยู่ แม่น้ำกกุธานทีนี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใสจืด เย็น ขาว
มีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ พระผู้มีพระภาคจักทรงดื่มน้ำในแม่น้ำนี้ และจักทรง
สรงสนานพระองค์ แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคก็ยังรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า
ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำดื่ม มาให้เรา เราระหาย จัดดื่มน้ำ แม้ครั้งที่สอง
ท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เกวียนประมาณ
๕๐๐ เล่ม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นน้อยถูกล้อเกวียนบดแล้ว ขุ่นมัวไหลไปอยู่ แม่น้ำ
กกุธานทีนี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใส จืด เย็น ขาว มีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ พระผู้มี
พระภาคจักทรงดื่มน้ำในแม่น้ำนี้ แล้วจักทรงสรงสนานพระองค์ แม้ครั้งที่สาม

พระผู้มีพระภาคก็ยังรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำมา
ให้เรา เราระหาย จักดื่มน้ำ ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค
แล้วถือบาตรไปยังแม่น้ำนั้น ครั้งนั้น แม่น้ำนั้นถูกล้อเกวียนบดแล้ว มีน้ำน้อยขุ่นมัว
ไหลไปอยู่ เมื่อท่านพระอานนท์เข้าไปใกล้ก็ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัวไหลไปอยู่ ท่าน
พระอานนท์ ได้มีความดำริว่า น่าอัศจรรย์หนอเหตุไม่เคยเป็นมาเป็นแล้ว ความที่
พระตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก แม่น้ำนี้ถูกล้อเกวียนบดแล้ว มีน้ำน้อย
ขุ่นมัว ไหลไปอยู่ เมื่อเราเข้าไปใกล้กลับใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว ไหลไปอยู่ ฯ

ท่านพระอานนท์ตักน้ำมาด้วยบาตรแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์
เหตุไม่เคยเป็นมาเป็นแล้ว ความที่พระตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
เมื่อกี้นี้ แม่น้ำนั้นถูกล้อเกวียนบดแล้ว มีน้ำน้อยขุ่นมัวไหลไปอยู่ เมื่อข้า
พระองค์เข้าไปใกล้ กลับใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว ไหลไปแล้ว ขอพระผู้มีพระภาค
จงเสวยน้ำเถิด ขอพระสุคตจงเสวยน้ำเถิด ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยน้ำแล้ว ฯ

[๑๒๐] ก็สมัยนั้น โอรสเจ้ามัลละนามว่า ปุกกุสะ เป็นสาวกของ
อาฬารดาบสกาลามโคตร ออกจากเมืองกุสินารา เดินทางไกลไปยังเมืองปาวา
ปุกกุสมัลลบุตรได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง จึงเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อโอรสเจ้ามัลละนามว่า ปุกกุสะ นั่งเรียบร้อยแล้ว

ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว พวกบรรพชิต
ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ เรื่องเคยมีมาแล้ว อาฬารดาบสกาลามโคตร
เดินทางไกล แวะออกจากหนทางนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ในที่ไม่ไกล
ครั้งนั้น เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ได้ผ่านอาฬารดาบสกาลามโคตร ติดกันไป

บุรุษคนหนึ่งซึ่งเดินทางตามหลังหมู่เกวียนมา เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร
ถึงที่พัก ครั้นเข้าไปหาแล้วถามท่านอาฬารดาบสกาลามโคตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
ท่านได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่มผ่านไปบ้างหรือ ฯ
อ. ท่านผู้มีอายุ เรามิได้เห็น ฯ
บ. ก็ท่านไม่ได้ยินเสียงหรือ ฯ
เราไม่ได้ยิน ฯ
ท่านหลับหรือ ฯ
เรามิได้หลับ ฯ
ท่านยังมีสัญญาอยู่หรือ ฯ
อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ

ท่านยังมีสัญญา ตื่นอยู่ ไม่ได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่าน
ติดๆ กันไป และไม่ได้ยินเสียง ก็ผ้าของท่านเปรอะเปื้อนไปด้วยธุลีบ้างหรือ ฯ
อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น บุรุษนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์
หนอ เหตุไม่เคยมีมามีแล้ว พวกบรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ
ดังที่ท่านผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่ ไม่ได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่านติดๆ
กันไป และไม่ได้ยินเสียง บุรุษนั้นประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ในอาฬารดาบส
กาลามโคตรแล้วหลีกไป ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสถามปุกกุสมัลลบุตรว่า ดูกรปุกกุสะ ท่านจะสำคัญ
ความข้อนั้นเป็นไฉน ผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่ ไม่เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่าน
ติดๆ กันไป และไม่ได้ยินเสียงอย่างหนึ่ง ผู้ที่ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก
ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ มิได้เห็น และไม่ได้ยินเสียง อย่างหนึ่ง ทั้งสอง
อย่างนี้ อย่างไหนจะทำได้ยากกว่ากัน หรือให้เกิดขึ้นได้ยากกว่ากัน ปุกกุสมัลล
บุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียน ๕๐๐ เล่ม ๖๐๐ เล่ม ๗๐๐ เล่ม
๘๐๐ เล่ม ๙๐๐ เล่ม ๑,๐๐๐ เล่ม ฯลฯ ๑๐๐,๐๐๐ เล่ม จักกระทำอะไรได้ ผู้ที่ยังมี
สัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ มิได้เห็น
และไม่ได้ยินเสียง อย่างนี้แหละ ทำได้ยากกว่า และให้เกิดขึ้นได้ยากกว่า ฯ

ฐิตา:


[๑๒๑] ดูกรปุกกุสะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ในโรงกระเดื่องในเมืองอาตุมา
สมัยนั้น เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ ชาวนาสองพี่น้อง
และโคพลิพัทสี่ตัวถูกสายฟ้าฟาด ในที่ใกล้โรงกระเดื่อง ลำดับนั้น หมู่มหาชน
ในเมืองอาตุมา พากันออกมา แล้วเข้าไปหาชาวนาสองพี่น้องนั้น และโคพลิพัท
สี่ตัว ซึ่งถูกสายฟ้าฟาด สมัยนั้นเราออกจากโรงกระเดื่อง จงกรมอยู่ในที่แจ้ง
ใกล้ประตูโรงกระเดื่อง ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่ง ออกมาจากหมู่มหาชนนั้น เข้ามาหาเรา
ครั้นเข้ามาหาแล้ว อภิวาทเราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเราได้กล่าวกะบุรุษนั้น

ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ หมู่มหาชนนั้นประชุมกันทำไมหนอ ฯ
บ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่
ฟ้าผ่าอยู่ ชาวนาสองพี่น้อง และโคพลิพัทสี่ตัวถูกสายฟ้าฟาด หมู่มหาชน
ประชุมกัน เพราะเหตุนี้ ก็ท่านอยู่ในที่ไหนเล่า ฯ
เราอยู่ในที่นี้เอง ฯ
ก็ท่านไม่เห็นหรือ ฯ
เราไม่ได้เห็น ฯ
ก็ท่านไม่ได้ยินเสียงหรือ ฯ
เราไม่ได้ยิน ฯ

ก็ท่านหลับหรือ ฯ
เราไม่ได้หลับ ฯ
ก็ท่านยังมีสัญญาหรือ ฯ
อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ
ก็ท่านยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้า
ผ่าอยู่ ไม่ได้เห็น และ ไม่ได้ยินเสียงหรือ ฯ
อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ

ดูกรปุกกุสะ ลำดับนั้น บุรุษนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์หนอ
เหตุไม่เคยมีมามีแล้ว พวกบรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ ดังที่ท่าน
ผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ ไม่ได้
เห็น และไม่ได้ยินเสียงบุรุษนั้นประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่งในเรา กระทำ
ประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปุกกุสมัลลบุตรได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์โปรยความเลื่อมใสในอาฬารดาบส
กาลามโคตร ลงในพายุใหญ่ หรือลอยเสียในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิต
ของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอก
ทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้
ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอ
พระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วัน
นี้เป็นต้นไป ฯ

ลำดับนั้น ปุกกุสมัลลบุตรสั่งบุรุษคนหนึ่งว่า ดูกรพนาย ท่านจงช่วยนำ
คู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงของเรามา บุรุษนั้นรับคำปุกกุสมัลล
บุตรแล้ว นำคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงของเขามาแล้ว ปุกกุส
มัลลบุตร จึงน้อมคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนั้น เข้าไปถวาย
แด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคีนี้
เป็นผ้าทรง ขอพระผู้มีพระภาคจงอาศัยความอนุเคราะห์ ทรงรับคู่ผ้านั้นของข้า
พระองค์เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรปุกกุสะ ถ้าเช่นนั้นท่านจงให้เราครอง
ผืนหนึ่ง ให้อานนท์ครองผืนหนึ่ง ปุกกุสมัลลบุตรรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค

แล้ว ยังพระผู้มีพระภาคให้ทรงครองผืนหนึ่ง ให้ท่านพระอานนท์ครองผืนหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคทรงยังปุกกุสมัลลบุตรให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้
รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ปุกกุสมัลลบุตร อันพระผู้มีพระภาคทรงให้เห็นแจ้ง
ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมีกถาแล้วลุกจากอาสนะ ถวาย
บังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ

[๑๒๒] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เมื่อปุกกุสมัลลบุตรหลีกไปแล้วไม่
นาน ได้น้อมคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนั้นเข้าไปสู่พระกาย
ของพระผู้มีพระภาค ผ้าที่ท่านพระอานนท์น้อมเข้าไปสู่พระกายของพระผู้มีพระภาค
นั้น ย่อมปรากฏดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลวฉะนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ เหตุไม่เคยมีมามีแล้ว
พระฉวีวรรณของพระตถาคตบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก คู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี
ซึ่งเป็นผ้าทรงนี้ ข้าพระองค์น้อมเข้าไปสู่พระกายของพระผู้มีพระภาค ย่อมปรากฏ
ดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลว ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้อนี้เป็นอย่างนั้น อานนท์ ในกาลทั้งสอง
กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์ ฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ในกาลทั้งสองเป็นไฉน คือ
ในราตรีที่ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑ ในราตรีที่ตถาคตปรินิพพาน
ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑ ในกาลทั้งสองนี้แล กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์
ฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ดูกรอานนท์ ในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้แล ความ
ปรินิพพานของตถาคตจักมีในระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ในสาลวันอันเป็นที่แวะพัก
ของมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ในเมืองกุสินารา มาไปกันเถิด อานนท์ เราจักไปยัง
แม่น้ำกกุธานที ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ

[๑๒๓] ปุกกุสะนำผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคีเข้าไปถวายพระศาสดา
ทรงครองคู่ผ้านั้นแล้ว มีพระวรรณดังทอง งดงามแล้ว ฯ
[๑๒๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จ
ไปยังแม่น้ำกกุธานที ครั้นแล้วเสด็จลงสู่แม่น้ำกกุธานที ทรงสรงแล้ว เสวย
แล้ว เสด็จขึ้น เสด็จไปยังอัมพวัน ตรัสเรียกท่านพระจุนทกะมารับสั่งว่า ดูกร
จุนทกะ เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้นให้เรา เราเหน็ดเหนื่อยนัก จัก
นอนพัก ท่านพระจุนทกะทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ปูผ้าสังฆาฏิ
ซ้อนกันเป็นสี่ชั้น ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยา โดยพระปรัส
เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาทมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงมนสิการ
อุฏฐานสัญญา ส่วนท่านพระจุนทกะนั่งเฝ้าอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค
ในที่นั้นแหละ ฯ

[๑๒๕] พระพุทธเจ้าผู้ศาสดา ผู้พระตถาคต หาผู้เปรียบมิได้ในโลก
ทรงเหน็ดเหนื่อย เสด็จถึงแม่น้ำกกุธานที มีน้ำใส จืด สะอาด
เสด็จลงแล้วทรงสรงและเสวยน้ำแล้ว อันหมู่ภิกษุแวดล้อม
เสด็จไปในท่ามกลาง พระผู้มีพระภาคผู้ศาสดาทรงแสวงหาคุณ
อันยิ่งใหญ่ ทรงเป็นไปในธรรมนี้เสด็จถึงอัมพวันแล้ว รับสั่ง
กะภิกษุนามว่าจุนทกะว่า เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็น
สี่ชั้นให้เรา เราจะนอน พระจุนทกะนั้น อันพระผู้มีพระภาคผู้
อบรม พระองค์ทรงเตือนแล้ว รีบปูผ้าสังฆาฏิพับเป็นสี่ชั้น
ถวาย พระศาสดาทรงบรรทมแล้ว หายเหน็ดเหนื่อย ฝ่าย
พระจุนทกะนั่งเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ในที่นั้น ฯ

มีต่อค่ะ

ฐิตา:


[๑๒๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกรอานนท์ บางทีใครๆ จะทำความร้อนใจให้เกิดแก่นายจุนทกัมมารบุตรว่า
ดูกรนายจุนทะ มิใช่ลาภของท่าน ท่านได้ไม่ดีแล้ว ที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของ
ท่านเป็นครั้งสุดท้ายเสด็จปรินิพพานแล้ว ดังนี้ เธอพึงช่วยบรรเทาความร้อนใจ
ของนายจุนทกัมมารบุตรเสียอย่างนี้ว่า ดูกร นายจุนทะ เป็นลาภของท่าน ท่าน
ได้ดีแล้ว ที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้าย เสด็จปรินิพพาน
แล้ว เรื่องนี้เราได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า บิณฑบาต
สองคราวนี้ มีผลเสมอๆ กัน มีวิบากเสมอๆ กัน มีผลใหญ่กว่า มีอานิสงส์
ใหญ่กว่าบิณฑบาตอื่นๆ ยิ่งนัก บิณฑบาตสองคราวเป็นไฉน คือ ตถาคตเสวย

บิณฑบาตใดแล้ว ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ อย่างหนึ่ง ตถาคตเสวย
บิณฑบาตใดแล้ว เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุอย่างหนึ่ง บิณฑบาต
สองคราวนี้ มีผลเสมอๆ กัน มีวิบากเสมอๆ กัน มีผลใหญ่กว่า มีอานิสงส์
ใหญ่กว่าบิณฑบาตอื่นๆ ยิ่งนัก กรรมที่นายจุนทกัมมารบุตรก่อสร้างแล้ว เป็น
ไปเพื่ออายุ ... เป็นไปเพื่อวรรณะ ... เป็นไปเพื่อความสุข ... เป็นไปเพื่อยศ ...
เป็นไปเพื่อสวรรค์ ... เป็นไปเพื่อความเป็นใหญ่ยิ่ง ดูกรอานนท์ เธอพึงช่วยบรรเทา
ความร้อนใจของนายจุนทกัมมารบุตร เสียด้วยประการฉะนี้ ฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความนั้นแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

[๑๒๗] บุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้ เวรย่อมไม่ก่อแก่ผู้สำรวมอยู่ คนฉลาด
เทียว ย่อมละกรรมอันลามก เขาดับแล้วเพราะราคะ โทสะ
โมหะ สิ้นไป ฯ
จบภาณวารที่สี่ ฯ

[๑๒๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์
มาไปกันเถิด เราจักไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญวดีเมืองกุสินารา และสาลวัน
อันเป็นที่แวะพักแห่งพวกเจ้ามัลละ ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้
มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จไปยัง
ฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญวดี เมืองกุสินารา และสาลวันอันเป็นที่แวะพักแห่งพวก

เจ้ามัลละ ครั้นแล้วรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยตั้งเตียง
ให้เรา หันศีรษะไปทางทิศอุดร ระหว่างไม้สาละทั้งคู่ เราเหน็ดเหนื่อยแล้ว จัก
นอน ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ตั้งเตียงหันพระเศียร
ไปทางทิศอุดรระหว่างไม้สาละทั้งคู่ พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัส
เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ ฯ

[๑๒๙] สมัยนั้น ไม้สาละทั้งคู่ เผล็จดอกสะพรั่งนอกฤดูกาล ดอกไม้
เหล่านั้นร่วงหล่นโปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชา แม้ดอก
มณฑารพอันเป็นของทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ ดอกมณฑารพเหล่านั้น ร่วงหล่น
โปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชา แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของ
ทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ จุณแห่งจันทน์เหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยัง
พระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชา ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่าก็ประโคมอยู่ในอากาศ เพื่อ
บูชาพระตถาคต แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศ เพื่อบูชาพระตถาคต ฯ

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์
ไม้สาละทั้งคู่ เผล็จดอกบานสพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของ
ตถาคตเพื่อบูชา แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ ดอก
มณฑารพเหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา แม้จุณแห่ง
จันทน์อันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ จุณแห่งจันทน์เหล่านั้น ร่วงหล่น
โปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่าก็ประโคมอยู่ใน
อากาศ เพื่อบูชาตถาคต แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศเพื่อบูชาตถาคต

ดูกรอานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
ด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้ ผู้ใดแล จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตาม
ธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยอด
เพราะเหตุนั้นแหละอานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ดังนี้ ฯ

[๑๓๐] สมัยนั้น ท่านพระอุปวาณะยืนถวายงานพัดพระผู้มีพระภาค
เฉพาะพระพักตร์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงขับท่านพระอุปวาณะว่า ดูกรภิกษุ
เธอจงหลีกไป อย่ายืนตรงหน้าเรา ท่านพระอานนท์ได้มีความดำริว่า ท่านอุปวาณะ
รูปนี้เป็นอุปัฏฐากอยู่ใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคมาช้านาน ก็และเมื่อเป็นเช่นนั้น ใน
กาลครั้งสุดท้าย พระผู้มีพระภาคทรงขับท่านอุปวาณะว่า ดูกรภิกษุ เธอจงหลีกไป
อย่ายืนตรงหน้าเรา ดังนี้ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัย ให้พระผู้มี
พระภาคทรงขับท่านอุปวาณะว่า ดูกรภิกษุ เธอจงหลีกไป อย่ายืนตรงหน้าเรา

ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ท่านอุปวาณะรูปนี้ เป็นอุปัฏฐากอยู่ใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคมาช้านาน ก็แลเมื่อ
เป็นเช่นนั้น ในกาลครั้งสุดท้าย พระผู้มีพระภาคยังทรงขับท่านอุปวาณะว่า ดูกร
ภิกษุ เธอจงหลีกไป อย่ายืนตรงหน้าเรา ดังนี้ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอ
เป็นปัจจัย ให้พระผู้มีพระภาคทรงขับท่านอุปวาณะว่า ดูกรภิกษุ เธอจงหลีกไป
อย่ายืนตรงหน้าเรา ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ เทวดาในหมื่นโลกธาตุมา
ประชุมกันโดยมาก เพื่อจะเห็นตถาคต เมืองกุสินารา สาลวัน อันเป็นที่แวะพัก
แห่งพวกเจ้ามัลละเพียงเท่าใด โดยรอบถึง ๑๒ โยชน์ ตลอดที่เพียงเท่านี้ จะหา
ประเทศแม้มาตรว่าเป็นที่จรดลงแห่งปลายขนทราย อันเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ไม่ถูก
ต้องแล้วมิได้มี พวกเทวดายกโทษอยู่ว่า พวกเรามาแต่ที่ไกลเพื่อจะเห็นพระตถาคต
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จอุบัติในโลก ในบางครั้งบางคราว ใน
ปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ พระตถาคตจักปรินิพพาน ก็ภิกษุผู้มีศักดิ์ใหญ่
รูปนี้ ยืนบังอยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค พวกเราไม่ได้เห็นพระตถาคตใน
กาลเป็นครั้งสุดท้าย ฯ

อ. ข้าแต่องค์ผู้เจริญ ก็พวกเทวดาเป็นอย่างไร กระทำไว้ในใจ เป็น
ไฉน ฯ
มีอยู่ อานนท์ เทวดาบางพวกสำคัญอากาศว่าเป็นแผ่นดิน สยายผม
ประคองแขนทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมา ดุจมีเท้าอันขาดแล้ว
รำพันว่า พระผู้มีพระภาคจะเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุใน
โลก จักอันตรธานเสียเร็วนัก ดังนี้ เทวดาบางพวกสำคัญแผ่นดินว่าเป็นแผ่นดิน
สยายผมประคองแขนทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมา ดุจมีเท้าอันขาด

แล้ว รำพันว่า พระผู้มีพระภาคจักเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระสุคตจักเสด็จ
ปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลก จักอันตรธานเสียเร็วนัก ดังนี้
ส่วนเทวดาพวกที่ปราศจากราคะแล้ว มีสติสัมปชัญญะ อดกลั้น โดยธรรมสังเวช
ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น เหล่าสัตว์จะพึงได้ในสังขารนี้แต่
ที่ไหน ฯ

มีต่อค่ะ

ฐิตา:


[๑๓๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อน พวกภิกษุผู้อยู่จำพรรษาใน
ทิศทั้งหลายย่อมมาเพื่อเฝ้าพระตถาคต พวกข้าพระองค์ย่อมได้เห็น ได้เข้าไปนั่ง
ใกล้ภิกษุเหล่านั้นผู้ให้เจริญใจ ก็โดยกาลล่วงไปแห่งพระผู้มีพระภาค พวกข้าพระ
องค์จักไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้ พวกภิกษุผู้ให้เจริญใจ ฯ

ดูกรอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งเหล่านี้ เป็นที่ควรเห็นของ
กุลบุตรผู้มีศรัทธา สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง เป็นไฉน คือ
๑. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตาม
ระลึกว่า พระตถาคตประสูติในที่นี้ ฯ
๒. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตาม
ระลึกว่า พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ ฯ
๓. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตาม
ระลึกว่า พระตถาคตทรงยังอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ ฯ
๔. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตาม
ระลึกว่า พระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในที่นี้
สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้แล เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ฯ

ดูกรอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จักมาด้วยความเชื่อว่า
พระตถาคตประสูติในที่นี้ก็ดี พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้
ก็ดี พระตถาคตทรงยังอนุตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ก็ดี พระตถาคตเสด็จ
ปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้ก็ดี ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เที่ยว
จาริกไปยังเจดีย์ มีจิตเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง ชนเหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้า
แต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

[๑๓๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติในมาตุคาม
อย่างไร ฯ
การไม่เห็น อานนท์ ฯ
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อการเห็นมีอยู่ จะพึงปฏิบัติอย่างไร ฯ
การไม่เจรจา อานนท์ ฯ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อต้องเจรจา จะพึงปฏิบัติอย่างไร ฯ
พึงตั้งสติไว้ อานนท์ ฯ

[๑๓๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ จะพึงปฏิบัติใน
พระสรีระของพระตถาคตอย่างไร ฯ
ดูกรอานนท์ พวกเธอจงอย่าขวนขวาย เพื่อบูชาสรีระตถาคตเลย จงสืบ
ต่อพยายามในประโยชน์ของตนๆ เถิด จงเป็นผู้ไม่ประมาทในประโยชน์ของ
ตนๆ มีความเพียร มีตนอันส่งไปแล้วอยู่เถิด กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี พราหมณ์
ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตก็ดี ผู้เลื่อมใสยิ่งในตถาคตมีอยู่ เขา
ทั้งหลายจักกระทำการบูชาสรีระตถาคต ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เขาทั้งหลาย จะพึงปฏิบัติในพระสรีระของ
ตถาคตอย่างไร ฯ
ดูกรอานนท์ พึงปฏิบัติในสรีระตถาคต เหมือนที่เขาปฏิบัติในพระสรีระ
พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ
ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ก็เขาปฏิบัติในพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร ฯ

ดูกรอานนท์ เขาห่อพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี
แล้วห่อด้วยผ้าใหม่ โดยอุบายนี้ ห่อพระสรีระพระจักรพรรดิด้วยผ้า ๕๐๐ คู่ แล้ว
เชิญพระสรีระลงในรางเหล็กอันเต็มด้วยน้ำมัน ครอบด้วยรางเหล็กอื่น แล้วกระทำ
จิตกาธารด้วยไม้หอมล้วน ถวายพระเพลิงพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิ สร้างสถูป
ของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง เขาปฏิบัติในพระสรีระพระเจ้า

จักรพรรดิ ด้วยประการฉะนี้แล พวกกษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตเป็นต้น พึงปฏิบัติใน
สรีระตถาคตเหมือนที่เขาปฏิบัติพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิ พึงสร้างสถูปของ
ตถาคตไว้ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ชนเหล่าใดจักยกขึ้นซึ่งมาลัยของหอมหรือจุณ
จักอภิวาท หรือจักยังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้น การกระทำเช่นนั้น จักเป็นไป
เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน ฯ

[๑๓๔] ดูกรอานนท์ ถูปารหบุคคล ๔ จำพวก ถูปารหบุคคล ๔ จำพวก
เป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นถูปารหบุคคลจำพวก
หนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง สาวกของพระตถาคต
เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง ฯ

ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระตถาคตอรหันต-
*สัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมาก ยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้
เป็นสถูปของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้
เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลก
สวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงเป็นถูปารหบุคคล ฯ

ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
จึงเป็นถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้า
แต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์
ข้อนี้แล พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงเป็นถูปารหบุคคล ฯ

ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สาวกของพระตถาคต
จึงเป็นถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของสาวก
ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใส
ในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล สาวกของพระตถาคตจึงเป็นถูปารหบุคคล ฯ

ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระเจ้าจักรพรรดิจึงเป็น
ถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของพระธรรมราชา
ผู้ทรงธรรมนั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ
กายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล
พระเจ้าจักรพรรดิจึงเป็นถูปารหบุคคล ดูกรอานนท์ ถูปารหบุคคล ๔ จำพวกนี้แล ฯ

[๑๓๕] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปสู่วิหาร ยืนเหนี่ยวไม้คันทวย
ร้องไห้อยู่ว่า เรายังเป็นเสขบุคคลมีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่ง
เป็นผู้อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพานเสีย ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งถาม
พวกภิกษุว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์ไปไหน พวกภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ท่านอานนท์นั้น เข้าไปสู่วิหารยืนเหนี่ยวไม้คันทวยร้องไห้อยู่ว่า
เรายังเป็นเสขบุคคล มีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่งเป็นผู้
อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพานเสีย พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งกะภิกษุรูปหนึ่งว่า

เธอจงไปเถิดภิกษุ จงบอกอานนท์ตามคำของเราว่า ท่านอานนท์ พระศาสดา
รับสั่งหาท่าน ภิกษุนั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาท่าน
พระอานนท์ถึงที่ใกล้ ครั้นเข้าไปหาแล้วบอกว่า ท่านอานนท์ พระศาสดา
รับสั่งหาท่าน ท่านพระอานนท์รับคำภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง ฯ

ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านว่า
อย่าเลย อานนท์ เธออย่าเศร้าโศก ร่ำไรไปเลย เราได้บอกไว้ก่อนแล้วไม่ใช่
หรือว่า ความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่นจากของรักของ
ชอบใจทั้งสิ้นต้องมี เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้แต่ที่ไหน สิ่ง
ใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนา
ว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ดูกรอานนท์ เธอได้

อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ซึ่ง
เป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หาประมาณมิได้มาช้านาน เธอ
ได้กระทำบุญไว้แล้ว อานนท์ จงประกอบความเพียรเถิด เธอจักเป็นผู้ไม่มี
อาสวะโดยฉับพลัน ฯ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายใด ได้มีแล้วในอดีตกาล ภิกษุผู้เป็น
อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายนั้นอย่างยิ่ง ก็เพียงนี้เท่านั้น คือเหมือน
อานนท์ของเรา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายใด จักมีในอนาคตกาล
ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายนั้น อย่างยิ่งก็เพียงนี้เท่านั้น คือ

เหมือนอานนท์ของเรา อานนท์เป็นบัณฑิต ย่อมรู้ว่า นี้เป็นกาลเพื่อจะเข้าเฝ้า
พระตถาคต นี้เป็นกาลของพวกภิกษุ นี้เป็นกาลของพวกภิกษุณี นี้เป็นกาลของ
พวกอุบาสก นี้เป็นกาลของพวกอุบาสิกา นี้เป็นกาลของพระราชา นี้เป็นกาล
ของราชมหาอำมาตย์ นี้เป็นกาลของพวกเดียรถีย์ นี้เป็นกาลของพวกสาวก
เดียรถีย์ ฯ

มีต่อค่ะ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version