สาวโพสต์คลิปร้อง ถูกตำรวจล่อซื้อจับลิขสิทธิ์เพลงในโน้ตบุ๊กส่วนตัว ชาวเน็ตสงสัยผิดไหม ?
-http://hilight.kapook.com/view/118585-
สังคมออนไลน์วิจารณ์กระหึ่ม หญิงสาวประกาศขายคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กส่วนตัวในเน็ต เจอตำรวจโทรมาล่อซื้อ ก่อนจับลิขสิทธิ์เพลงในโน้ตบุ๊ก สงสัยมีเพลงฟังในเครื่องมีความผิดจริงหรือ ด้านทนายอาสาเข้าช่วยเหลือ มั่นใจชนะคดี
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2558 สังคมออนไลน์ได้มีการแชร์คลิปหญิงสาวคนหนึ่งอัดวิดีโอร้องเรียนว่าถูกตำรวจจับเพราะมาล่อซื้อโน้ตบุ๊กส่วนตัวแล้วตรวจพบว่าในเครื่องมีเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ จึงขอสอบถามและขอความช่วยเหลือ
โดยหญิงสาวในคลิปคือเจ้าของเฟซบุ๊ก ศิตา บุพลับ ได้โพสต์คลิปวิดีโอและเขียนข้อความเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเฟซบุ๊กว่า เธอได้ประกาศขายคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กลงในอินเทอร์เน็ต ในราคา 12,500 บาท จนเวลาประมาณ 2 ทุ่ม มีคนโทรมาขอซื้อ อยากนัดดูของ แต่เนื่องจากเธอนอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาลจึงให้แฟนหนุ่มไปแทน
เมื่อแฟนหนุ่มไปพบกับคนที่ขอซื้อ ทางนั้นได้ขอฟังเพลงในเครื่อง พร้อมกับถ่ายภาพหมายเลขธนบัตรของตัวเองไว้ด้วย แต่ยังไม่ได้ตกลงว่าจะซื้อ จากนั้นตำรวจ สภ.เมืองระยอง ก็ปรากฏตัวมาจับกุมแฟนหนุ่ม เหมือนกับเตรียมการไว้แล้ว และพาแฟนหนุ่มไปสถานีตำรวจโดยจะให้รับผิด แต่ทางแฟนหนุ่มไม่รับ เพราะทางนั้นยังไม่ได้ตกลงซื้อ และ หากตกลงซื้อเขาจะฟอร์แมตเครื่องให้ อีกทั้งเพลงที่มีในเครื่อง เธอก็โหลดมาไว้ฟังส่วนตัว จึงสงสัยว่าการโหลดเพลงมาฟังในเครื่องแบบนี้ผิดด้วยหรือ จึงขอให้ผู้รู้ช่วยเหลือด้วย
ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้นำเงิน 60,000 บาทมาประกันตัวออกไป แต่เนื่องจากไม่มีเงินจึงมีการเจรจาและขอลดเหลือ 30,000 บาท สุดท้ายจึงได้ประกันตัวออกมา
ทั้งนี้หลังจากคลิปดังกล่าวถูกแชร์ไป ก็มีคนแชร์ต่อกันพร้อมแสดงความเห็นว่า การมีเพลงในโน้ตบุ๊กส่วนตัวไม่น่าจะผิดกฎหมาย เพราะมีไว้เพื่อฟัง เพื่อความบันเทิง ไม่ใช่เพื่อการค้า นอกจากนี้ เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์จะไม่มีการล่อซื้อเพื่อจับกุมเด็ดขาด จึงสงสัยว่าตำรวจใช้อำนาจโดยมิชอบหรือไม่
ในเวลาต่อมา คุณศิตา จึงได้โพสต์คลิปที่สอง เล่ารายละเอียดเพิ่มเติมระบุว่า หลังจากเป็นข่าวออกไป ทางตำรวจ สภ.เมืองระยอง ได้โทรศัพท์มาแจ้งว่าให้ช่วยแก้ข่าว เพราะตำรวจ สภ.เมืองระยอง ไม่ได้ไปร่วมจับกุมลิขสิทธิ์ แต่เป็นตำรวจจากที่อื่น หากไม่แก้ข่าวจะมีความผิดฐานหมิ่นประมาท
ทั้งนี้เธอและทนายอาสาก็ต้องต่อสู้คดีนี้ต่อไป โดยจากการสอบถามผู้รู้กฎหมายก็ได้ความว่า เธอไม่มีความผิด และชนะคดีนี้แน่นอน เพราะส่วนที่เธอจะขายคือตัวโน้ตบุ๊ก ตัวฮาร์ดแวร์ ขณะที่เพลงในเครื่องนั้น เธอมีไว้เพื่อฟังเอง ไม่ได้เผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า และการซื้อขายก็ยังไม่จบด้วย เพราะเธอยังไม่ได้รับเงินทั้งหมด
สำหรับ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มีการระบุถึงข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยตามมาตรา 32 คือ การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(๑) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
(๒) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท
(๓) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
(๔) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
(๕) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
(๖) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอน เพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
(๗) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
(๘) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
https://www.youtube.com/watch?v=dsaiwbtRAxM#t=17-https://www.youtube.com/watch?v=dsaiwbtRAxM#t=17-
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ศิตา บุพลับ