ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธองค์ทรงแสดง “อนุปุพพิกถา"  (อ่าน 1036 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




พระพุทธองค์ทรงแสดง “อนุปุพพิกถา"

อนุปุพพิกถา หมายถึง การแสดงพรรณนาไปตามลำดับแห่งธรรม ตั้งแต่ระดับเบื้องต้น จนถึงธรรมชั้นสูงเพื่อฟอกจิตของบุคคลผู้ครองเป็นเพศฆราวาสให้เห็นความจริง เกิดความเบื่อหน่ายในโลกียวิสัย น้อมไปเพื่อเนกขัมมะ มี ๕ ประการ คือ

๑) ทานกถา พรรณนาเรื่องทาน คือการให้ การเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่วัตถุสิ่งของ อันสมควรแก่ผู้รับ

๒) ศีลกถา พรรณนาเรื่องศีล คือรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ไม่ล่วงละเมิดวีติกกมโทษ ทางกาย ทางวาจา

๓) สัคคกถา พรรณนาเรื่องสวรรค์ คือกามคุณอารมณ์ หรือ ทิพยสมบัติอันประณีต เป็นอิฏฐิผลอันน่าใคร่น่าปรารถนา น่าชอบใจ ซึ่งเป็นผลแห่งทานและศีล

๔) กามาทีนวกถา พรรณนาเรื่องโทษของกาม คือกามคุณอารมณ์ทั้งหลายนั้น มีความไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีความคับแคบ เพราะถูกบีบคั้นจากเหตุปัจจัยที่ไม่ถูกกันเป็นนิตย์ บังคับบัญชาให้เป็นไปตามใจปรารถนาไม่ได้ มีความคับแคบ เป็นอารมณ์ตัณหาและทิฏฐิ ให้ติดใจหลงใหลมัวเมา

๕) เนกขัมมานิสังสกถา พรรณนาเรื่องอานิสงส์ของการออกบวช คือการหลีกออกจากกามคุณอารมณ์ทั้งหลายแล้ว ไม่มีความคับแค้น เป็นทางปลอดโปร่งในการแสวงหาโมกขธรรม




ครั้งนั้นสมัยแห่งราตรี พระผู้มีพระภาคเจ้าตื่นบรรทมแล้วเสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้ง ได้เห็นทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้เสด็จลงจากที่จงกรมประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ขณะนั้นยสกุลบุตรเปล่งอุทานในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ

ทันทีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะยสกุลบุตรว่า ดูก่อนยส ที่นี่ไม่วุ่นวายหนอ ที่นี่ไม่ขัดข้อง มาเถิดยสนั่งลง เราจะแสดงธรรมแก่เธอ ที่นั้นยสกุลบุตรร่าเริงบรรเทิงใจว่า ได้ยินว่าที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ดังนี้แล้วถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ยสกุลบุตรมีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรดา ได้เกิดแก่พระยสกุลบุตร ณ ที่นั่งนั้น ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทินควรที่ได้รับการย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น

ผลการแสดงธรรมโดย"อนุปุพพิกถา"นั้น ทำให้ผู้ฟังมีจิตสงบ มีจิตอ่อนโยน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน และมีจิตผ่องใส อันสมควรที่จะรับฟังพระธรรมเทศนาขั้นสูงขึ้นไป คือ อริยสัจ ๔ (พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค) กล่าวคือ เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดง “อนุปุพพิกถา” และ “อริยสัจ ๔” จบแล้ว ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทินควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดีฉะนั้น ก็จะเกิดแก่ผู้ฟัง คือ ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล นั่นเอง




ตามปกติ เมื่อพระพุทธองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่
“ฆาราวาส” หรือ “คฤหัสถ์”
ผู้มีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุธรรมพิเศษ จะทรงแสดง
อนุปุพพิกถา” นี้ก่อน
แล้วจึงตรัสแสดงอริยสัจ ๔ เป็นลำดับต่อมา
โดยทรงแสดงอนุปุพพิกถาครั้งสำคัญๆ แก่บุคคลดังต่อไปนี้

๑. พระเจ้ามหากัปปินะ (พระมหากัปปินเถระ เอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ) และอำมาตย์บริวาร
๒. พระนางอโนชาเทวี (พระราชเทวีของพระเจ้ามหากัปปินะ) และหญิงบริวาร (ภริยาของอำมาตย์)

๓. ยสกุลบุตร (พระยสเถระ)
๔. เศรษฐีผู้เป็นบิดาของยสกุลบุตร (อุบาสกรูปแรกของโลก)
๕. มารดาและภรรยาเก่าของยสกุลบุตร
๖. สหายคฤหัสถ์ ๔ คน ของยสกุลบุตร คือ วิมล ๑, สุพาหุ ๑, ปุณณชิ ๑ และ ควัมปติ ๑
ซึ่งเป็นบุตรของสกุลเศรษฐีสืบๆ มา ในพระนครพาราณสี
๗. สหายคฤหัสถ์ ๕๐ คน ของยสกุลบุตร คือ เป็นชาวชนบท ซึ่งเป็นบุตรของสกุลเก่าสืบๆ กันมา
๘. อุคคตคหบดี ชาวหัตถิคาม แคว้นวัชชี เอตทัคคเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้เป็นสังฆอุปัฏฐาก ฯลฯ



ธรรมอำนวยพร
ขอให้.....มีจิตที่รู้ ที่ตื่น ที่เบิกบาน (พุทธะ)
ขอให้.....ทำการงานด้วยความสุข (อิทธิบาทสี่)
ขอให้.....ขจัดทุกข์ได้ด้วยปัญญา (อริยสัจสี่)
ขอให้.....มีดวงตาที่เห็นความจริง (ไตรลักษณ์)
ขอให้.....เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยไตรสิกขา (ศีล, สมาธิ, ปัญญา)

:G+ ศิวะ ทางสายกลาง