ผู้เขียน หัวข้อ: ขุนช้างขุนแผน (ฉบับนิทานข้างกองฟาง)  (อ่าน 2861 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



                              (ภาพประกอบ : www.thaimtb.com)

พระสุรินรทฦๅไชย ฯ (ขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับนิทานข้างกองฟาง)

ประวัติของผู้เรียบเรียง ขุนช้างขุนแผน
(ฉบับนิทานข้างกองฟาง)

นามปากกา   "พจนารถ"
นามจริง   ยังไม่อยากบอก ( มิเช่นนั้นจักตั้งปากกาขึ้นมาทำไมเล่าขอรับ )
เรียนหนังสือ   มูลบทบรรพกิจ ( โดย พระยาศรีสุนทรโวหาร - น้อย อาจารยางกูร )
ปี่พาทย์   (โดยสำนักคุณครู อุทัย แก้วละเอียด - ศิษย์ คุณครู หลวงประดิษฐ์ไพเราะ - ศร ศิลปบรรเลง )
ผลงาน   เรื่องสั้นต่าง ๆ ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย โล่เงินและอื่นๆ

เกิด   นานมาแล้ว ไล่เลียงได้ราวเกือบสี่สิบปี ( ถ้าจำไม่พลาด )
แก่   ไม่แน่นอน เพราะเวลาที่ไปคุยกับเด็ก ๆ พวกเขาก็มักจะบอกว่า แก่จัง แต่ในเวลา ที่อยู่ในวงสนทนากับท่านผู้ใหญ่ ท่านก็มักจะให้กำลังใจว่า ยังหนุ่มอยู่เลยนะคู้ณ
เจ็บ   หลายครั้ง ตามสมควรแก่เหตุ แต่ที่ร้ายแรงที่สุดในชีวิต น่าจะเป็นเมื่อตอนอายุ ราวเจ็ดวัน เป็นอะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว แต่บิดาเล่าให้ฟังว่าครั้งนั้นเกือบไม่รอด
ตาย   ยังไม่ได้กำหนด และยังไม่อยาก

********************

คำนำของผู้เรียบเรียง
ใคร ๆ ก็คงจะรู้จักวรรณคดีเรื่องนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้วนะขอรับ ขุนช้าง - ขุนแผน
ขุนช้าง - ขุนแผน เป็นวรรณคดี คือเรื่องที่แต่งขึ้นอย่างงดงาม ทั้งความหมายโดยอรรถ และ นัยยะอย่างแท้จริง
วรรณคดีเรื่อง ขุนช้าง - ขุนแผนนี้ เป็นบทพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ ร่วมกับ นักปราชญ์ราชบัณฑิตหลายท่าน ที่มาร่วมประพันธ์กันท่านละตอนสองตอน แล้วแต่ความถนัด
ฉะนั้น วรรณคดีเรื่องนี้ จึงมีความงดงามในแบบฉบับที่หลากหลาย ตามบุคลิกของท่านกวีแต่ละท่าน นั้นเอง

ส่วน ขุนช้าง - ขุนแผน ฉบับ นิทานข้างกองฟางนี้ เป็นหนังสือที่กระผมเขียนขึ้นมาด้วยความสนุกโดยแท้ ขอรับกระผม
เพราะกระผมได้อ่านวรรณคดีเรื่องนี้ ด้วยความสนุกอย่างแท้จริง ราวกับกำลังอ่านการ์ตูน หรือนิทาน ตั้งแต่เมื่อสมัยยังเป็นเด็ก ๆ อ่านอย่างกระหาย อยากที่จะติดตามตอนต่อไป
เนื่องจากเมื่อยิ่งอ่านมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็ยิ่งสัมผัสได้ว่า บทบาทที่โลดแล่น ของตัวละครในเรื่องนี้นั้น มันมี ชีวิต ขอรับ

มีชีวิตที่เต็มไปด้วยเลือดเนื้อ ความรู้สึกนึกคิด และวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์โดยแท้ คือ มีทั้งความรัก โลภ โกรธ หลง กิเลส ตัณหา เกียรติยศศักดิ์ศรี ความอ่อนหวานละมุนละไม ความเศร้าสร้อยอาลัยคร่ำครวญ ความอาฆาตแค้น หรือแม้แต่บทตลกโปกฮา ก็ตาม
เรียกว่าครบถ้วนบริบูรณ์ ทุกธาตุแห่งอารมณ์มนุษย์ธรรมดา อย่างแท้จริงทีเดียวเจียวแหละขอรับ
และนี่ก็คือเสน่ห์แห่งวรรณคดีเรื่องนี้ ขุนช้าง -ขุนแผน

นี่เป็นเสน่ห์ที่กระผมไม่อยากให้เลือนหายไป ด้วยกาลเวลาแห่งความเร่งรีบฉาบฉวยในยุคปัจจุบัน ชนิดที่เรียกว่ามีใครสักคนหนึ่ง มาเปิดหนังสือมาเห็นกลอนเสภา แล้วก็สะดุ้ง จากนั้นก็รีบวางลงบนชั้นหนังสือในร้านตามเดิม

กระผมจึงเกิดมานะที่จะเรียบเรียง ขุนช้าง - ขุนแผน ฉบับนิทานข้างกองฟาง นี้ขึ้นมา เพื่อให้ท่านผู้อ่าน สนุก ไปกับกระผมด้วย อย่างไรเล่าขอรับ

และเมื่อใดที่ ท่านผู้อ่านเกิด สนุก ไปกับนิทานข้างกองฟาง ฉบับนี้ ไปกับกระผมด้วยแล้วไซร้ แล้วเกิดนึกสนุกขึ้นมา ด้วยการหันไปหาวรรณคดีฉบับเต็ม ขึ้นมาอ่านด้วยความสนุก เหมือนกระผม เมื่อไหร่แล้วละก้อ…..

เมื่อนั้น ก็คงจะเป็นเวลาที่กระผมควรจะคิดได้ว่า กระผมก็น่าจะรู้สึกสมประสงค์ในการเล่านิทานอิงวรรณคดีเรื่องนี้ ให้ท่านฟังแล้ว ขอรับ.

จากใจจริง
พจนารถ




สารบัญ
๑. ไหว้ครู
๒. พ่อตายเพราะควายเตลิด
๓. บวชเรียน
๔. ร้อน
๕. ในไร่ฝ้าย

๖. จำใจย้ายสำนัก
๗. ลาสิกขา
๘. วัวพันหลัก
๙. ขิงก็ราข่าก็แรง
๑๐. กลับบ้าน

๑๑. แต่งงาน
๑๒. จำพราก
๑๓. โพธิ์อธิษฐาน
๑๔. เสน่ห์สาวเหนือ
๑๕. เพื่อนทรยศ

๑๖. เรือนร้อน
๑๗. ขุนแผนอาละวาด
๑๘. คราวเคราะห์
๑๙. ราชทัณฑ์
๒๐. สองพ่อลูก

๒๑. กุมารทอง
๒๒. ฟ้าฟื้นและสีหมอก
๒๓. ผิดฝาก็ผิดตัว
๒๔. เข้าห้อง
๒๕. กลางไพร

๒๖. หนี
๒๗. สู้
๒๘. ใต้ร่มบุญ
๒๙. ชำระความ
๓๐. ปลาหมอตายเพราะปาก

๓๑. ลูกชาย
๓๒. ศึกชิงนาง
๓๓. ประลองฤทธิ์
๓๔. ยกรบ
๓๕. ช่วยเชลย

๓๖. ท้ารบ
๓๗. จำนน
๓๘. เสร็จศึก
๓๙. ที่พระสุรินท ฯ

โดย: พจนารถ๓๒๒


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




พระสุรินทฦๅไชยฯ (ขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับนิทานข้างกองฟาง) ตอนที่ ๑ ไหว้ครู

ขุนช้างขุนแผน ฉบับนิทานข้างกองฟาง
พระสุรินทฦาไชย ฯ ชุดที่ ๑ ตอนที่ ๑ ไหว้ครู

     สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย เกล้ากระผม นาย'พจนารถ ขออนุญาตรายงานตัวเพื่อทำตนเป็นวณิพกที่ดีตามรอยท่าน ยาขอบ ในเรื่องการเล่านิทาน วรรณคดีเพื่อหาสตางค์ใช้ เพียงแต่กระผมขอเปลี่ยนจากการปูผ้าแดงและจุดตะเกียง ในบรรยากาศของ สามก๊กเป็น นิทานข้างกองฟาง แบบไทย ๆ เท่านั้นแหละขอรับกระผม

     เมื่อท่านทั้งหลายแลเห็นหน้าจั่วพะหัวเรื่อง ขุนช้าง-ขุนแผน ทุก ๆ ท่านก็คงจะคุ้นกับวรรณคดี ในพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรื่องนี้ กันพอสมควรนะครับ แต่พอแหงะลงมาดูหัวเรื่องย่อยซิคราวนี้ ท่านอาจจะงงบ้างว่า ชื่อ พระสุรินทฦาไชย ฯ นี้เป็นใคร นี่แหละครับ เป็นมูลเหตุให้ตัวกระผมอยากที่จะจับรายละเอียดแบบ เส้นผมบังภูเขา บางประการ ของวรรณคดีเรื่องนี้ มาลองอธิบายความนัยให้กระจ่าง ทำนองเล่านิทานสู่กันฟังบ้างแหละครับ

     โดยทั้งนี้กระผมจะขออนุญาตประกาศไว้ ณ ที่นี้ว่า กระผมจะยึดมั่นการเล่าเรื่องครั้งนี้ โดยอาศัยวรรณคดี ขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งทรงชำระโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่เพียงฉบับเดียวเท่านั้น และหากผู้ใดจะได้ทราบความอันใด ที่คัดง้างกับฉบับที่กระผมจะได้เล่าต่อไปนี้ ก็โปรดได้ทราบว่า เหตุที่ฉบับที่ท่านถืออยู่กับฉบับของกระผม มิได้เล่าความตรงกัน หรือมีสำนวนที่เพี้ยนแผกไปจากกันแล้วไซร้ก็เพราะเป็นเพียงว่าวรรณคดีเรื่อง ขุนช้าง-ขุนแผน นั้น เป็นวรรณคดีโบราณซึ่งมาจาก มุขปาฐะหรือเรื่องเล่าสืบกันปากต่อปากมาเป็นเวลานาน และอาจมีผู้รู้ในแต่ละสมัยได้ช่วยกันชำระ มาจนถึงชั้นลูกชั้นหลานกัน หลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ ฉบับนั้นเอง จึงอาจเลือนถ้อยคำหรือข้อความบางประการ ไปตามยุคสมัยที่ผ่านมา แต่มิได้หมายความว่าฉบับที่ถืออยู่ในมือของท่านผู้ใด กลายเป็นผู้ผิดพลาดไปไม่

     อนึ่ง กระผมมีความคิดเห็นที่ใคร่จะเสนออีกประการหนึ่งก็คือ ขุนช้าง-ขุนแผน นั้น กระผมถือเป็นเพียง วรรณคดี คือเรื่องแต่ง อันมีความวิจิตรงดงามเท่านั้น หาใช่ประวัติศาสตร์ หรือ พระราชพงศาวดาร ไม่ เพราะฉะนั้นขอความกรุณาอย่าได้เทียบเคียง ขุนช้าง-ขุนแผน ที่เป็นวรรณคดีนี้ กับ จารึก สมุดข่อย ใบลาน เล่มใดเลย โปรดอ่านเป็นเพียงนิทานเถิด และถ้าจะให้ดี ก็โปรดอย่ามองข้าม นิทานข้างกองฟาง ฉบับนี้เสีย จักเป็นพระคุณยิ่ง


     แต่ก่อนจะกระทำการสิ่งใดก็ตาม บูรพาจารย์ท่านก็สอนไว้หนักหนาว่าจะต้องไหว้ครูเสียก่อน และ ณ ที่นี้กระผมก็จะขอไหว้ครูด้วยบทไหว้ครูเสภา ซึ่งเสด็จ ฯ กรมพระยาดำรง ฯ ท่านได้ทรงชำระหนังสือเสภาเก่าต่าง ๆ จนกระทั่งได้บทไหว้ครูนี้มาจากผักไห่ แขวงกรุงเก่า (ปัจจุบันคือ อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ที่พระองค์ท่านทรงเห็นว่าหมดจดงดงามดี มาขยับกรับให้ฟังกัน ดังนี้
          ...
          สิบนิ้วจะประนมเหนือเกศา
          ไหว้พระพุทธพระธรรมล้ำโลกา
          พระสงฆ์ทรงศีลาว่าโดยจง

          คงคายมนามาเป็นเกณฑ์
          พระสุเมรุหลักโลกสูงระหง
          ดินน้ำลมไฟอันมั่นคง
          จึงดำรงได้รอดมาเป็นกาย

          ไหว้คุณบิดาและมารดร
          ครูพักอักษรสิ้นทั้งหลาย
          อนึ่งจะบังคมองค์นารายณ์
          อันสถิตย์แทบสายสมุทไทย

          เอาพระยานาคราชเป็นอาสน์แก้ว
                    หามีเหตุไม่แล้วหาตื่นไม่
          ทรงสังข์จักรคทาเกรียงไกร
          ไวยกูณฐ์มาเป็นพระรามา

          อนึ่งจะบังคมบรมพงศ์
          ทรงหงศ์เหินระเห็จพระเวหา
          ไหว้องค์พระอิศวรเจ้าโลกา
          พระนารายณ์รามาธิบดี

          ไหว้พระฤาษีสิทธิ์และคนธรรพ์
          พระวิศณุกรรม์อันเรืองศรี
          สาปสรรเครื่องเล่นในธรณี
          จึงได้มีปรากฎแต่ก่อนมา ฯ


     ครั้นว่าไหว้ครูแล้วก็จับบท...ตัวละครตัวแรก ที่กระผมจะจับชีวประวัติ จาก ขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ (ซึ่งต่อไปกระผมจะขออนุญาตใช้คำว่า ฉบับหลวง) มาเล่าให้ท่านฟังก็คือ พระสุรินทฦาไชยมไหสูรย์ภักดี เจ้าเมืองกาญจนบุรีในสมัยนั้น หรือที่รู้จักกันดีในนามของ ขุนแผน นั่นเอง

     ที่กระผมยกประวัติของขุนแผนมาเล่าให้ท่านทั้งหลายฟัง เป็นอันดับแรก ของนิทานข้างกองฟางนี้ ก็เพราะขุนแผนนั้นเป็นตัวดำเนินเรื่องทั้งเรื่อง ราวกับวรรณคดีเรื่องนี้เป็นพวงมาลัย และขุนแผนเป็นด้ายหรือเชือกกล้วย ร้อยเรียงจากความเป็นพลายแก้ว ผ่านขุนแผน จนนั่งอยู่ในตำแหน่งพระสุรินทภาไชย ฯ ผ่านดอกไม้แต่ละดอก หรือตัวละครแต่ละตัว จนกลายเป็นมาลัยวรรณคดีงามเรื่อง ขุนช้าง-ขุนแผน ฉะนั้น

     ขุนแผนนั้นมีนามเดิมโดยกำเนิดว่า พลายแก้ว เป็นบุตรของ ขุนไกรพลพ่าย กับ นางทองประศรี ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่โดยพระบรมราชานุญาตของ สมเด็จพระพันวษา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ว่า " โปรดปรานเป็นทหารอยุธยา มีสง่าอยู่ในเมืองสุพรรณ " เราจะเริ่มมาดูกำเนิดของพลายแก้วกันเสียเลย ณ บัดนี้

     ในพระราชนิพนธ์ฉบับหลวงนั้นงาม เกินกว่าที่กระผมจะถอดความมาเล่าให้ฟัง ท่านว่ามาตั้งแต่แม่ทองประศรีตั้งครรภ์แล้วฝันดี ดังนี้ครับ

          มาจะกล่าวถึงนางทองประศรี
          นอนด้วยสามีในเรือนใหญ่
          นิมิตฝันนั้นว่าท้าวสหัสนัยน์
          ถือแหวนเพชรเม็ดใหญ่เหาะดั้นมา

          ครั้นถึงจึงยื่นแหวนนั้นให้
          นางรับแหวนไว้ด้วยหรรษา
          แสงเพชรส่องวาบปลาบเข้าตา
          ตื่นผวาคว้าทั่วปลุกผัวพลัน

          ขุนไกรลืมตาว่าอะไรเจ้า
          นางจึงเล่าเนื้อความนิมิตฝัน
          ทั้งสองลุกมาล้างหน้าพลัน
          หาหมากพลูสู่กันแล้วทำนาย

          ฝันว่าได้ธำมรงค์วงวิเศษ
          ของโกสีย์ตรีเนตรอันเฉิดฉาย
          เพชรรัตน์อร่ามงามเพริศพราย
          บรรยายว่าเป็นสิ่งมิ่งมงคล

          จะมีครรภ์ลูกนั้นจะเป็นชาย
          ดังทหารพระนารายณ์มาปฏิสนธิ์
          กล้าหาญการณรงค์คงทน
          ฤทธิรณปราบทั่วทั้งแดนไตร

          ซึ่งว่าเพชรรัศมีสีกล้า
          ภายหน้าจะได้เป็นทหารใหญ่
          มียศศักดิ์เป็นพระยาข้าใช้
          ร่วมพระทัยทรงธรรม์พระพันปี

          นางทองประศรียกมือไหว้
          รับพรผัวให้ประเสริฐศรี
          ทั้งสองนอนไปในราตรี
          สุขเกษมเปรมปรีดิ์ทั้งสองรา ฯ

ถ้าจะว่าไปราวกับที่สำนวนเก่าท่านว่า ยังกะตาเห็น ในอนาคตของขุนแผน ก็ต้องว่าพ่อขุนไกรท่านทายแม่น...ในระดับหนึ่ง เท่านั้น
จนกระทั่งถึงเวลาคลอดจริง ท่านก็ว่าไว้ในฉบับหลวงว่า
          ถึงฤกษ์งามยามปลอดคลอดง่ายดาย
          ลูกนั้นเป็นชายร้องแว้แว้
          พี่ป้าน้าอามาดูแล
          ล้างแช่แล้วก็ส่งให้แม่นม

          ทาขมิ้นแล้วใส่กระด้งร่อน
          ใส่เบาะให้นอนเอาผ้าห่ม
          ปู่ย่าตายายสบายชม
          เรือนผมน่ารักดังฝักบัว

          เอาขึ้นใส่อู่แล้วแกว่งไกว
          แม่เข้านอนไฟให้ร้อนทั่ว
          เดือนหนึ่งออกไฟไม่หมองมัว
          ขมิ้นแป้งแต่งตัวน่าเอ็นดู

          พ่อแม่ปรึกษากับย่ายาย
          จะให้ชื่อหลานชายอย่างไรปู่
          ฝ่ายตาตะแกเป็นหมอดู
          คิดคูณเลขอยู่ให้หลานชาย

          ปีขาลวันอังคารเดือนห้า
          ตกฟากเวลาสามชั้นฉาย
          กรุงจีนเอาแก้วอันแพรวพราย
          มาถวายพระเจ้ากรุงอยุธยา

          ให้ใส่ปลายยอดพระเจดีย์ใหญ่
          สร้างไว้แต่เมื่อครั้งเมืองหงสา
          เรียกวัดเจ้าพระยาไทยแต่ไรมา
          ให้ชื่อว่า พลายแก้วผู้แววไว ฯ

     เป็นกำเนิดที่สง่างามสมกับเป็นพระเอกในวรรณคดีเรื่องนี้ทีเดียว และเป็นเรื่องแปลกที่ไม่ทราบว่าบังเอิญหรือเปล่าที่ปรากฎว่า ปีขาล วันอังคาร อันเป็นวันและปีเกิดของพลายแก้วนั้น ตรงกับวันและปีเกิดของ หนุมาน พระยาวานรทหารเอกของ พระนารายณ์อวตารหรือพระรามพอดี ผิดกันแต่เพียงพลายแก้วเกิดเดือนห้า ส่วนหนุมานนั้นเกิดเดือนสาม

     ในขณะใกล้เคียงกับที่พลายแก้วได้เกิดมานั้น ก็มีลูกของชาวบ้านได้เกิดมาร่วมชะตากรรมอีกสองคน คือบุตรของ ขุนศรีวิชัย และ นางเทพทอง
          เมื่อตกฟากฤกษ์พารของหลานชาย
          ช้างเผือกมาถวายพระพันวษา
          จึงให้นามตามเหตุทั้งปวงมา
          หลานรักของข้าชื่อ ขุนช้าง

และบุตรของ พันศรโยธา กับ นางศรีประจัน
          ทรวดทรงส่งศรีไม่มีแม้น
          อรชรอ้อนแอ้นประหนึ่งเหลา
          ผมสลวยสวยขำงามเงา
          ให้ชื่อเจ้าว่า พิมพิลาไลย

     มาถึงตอนนี้ก็เป็นอันว่า นิทานข้างกองฟางของกระผม ก็ได้เล่าถึงการกำเนิดของ พระสุรินทภาไชย ฯ และผู้เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว ส่วนชีวิตของตะแกจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็คงจะต้องเว้นวรรคไว้เสียในบรรทัดนี้ แล้วค่อยพบกันใหม่ในคราวหน้า ขอรับกระผม.

##############################

วารสารสุรสิงหนาท...............กันยายน ๒๕๓๙
นิตยสารโล่เงิน....................มีนาคม ๒๕๔๔
Create Date : 02 ตุลาคม 2550
:http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=012345&month=10-2007&date=02&group=5&gblog=2


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




พระสุรินทฦๅไชยฯ (ขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับนิทานข้างกองฟาง) ตอนที่ ๒ พ่อตายเพราะควายเตลิด

ขุนช้างขุนแผน ฉบับนิทานข้างกองฟาง
ตอนที่ ๒ พ่อตายเพราะควายเตลิด

     พ่อแม่พี่น้องที่เคารพรักครับ มาฟังเหตุการณ์นิดเดียวที่พลิกผันชะตาของครอบครัวธรรมดา ๆ ครอบครัวหนึ่ง ให้ต้องตกระกำลำบากยากเข็ญนานาประการสิครับ กระผมจะเล่าให้ฟัง
ขุนไกรพลพ่าย ผู้ซึ่ง มีสง่าอยู่ในเมืองสุพรรณ นั้น อยู่มาวันหนึ่งก็มีใบบอกจากในกรุงว่า สมเด็จพระพันวษา จะเสด็จประพาสป่าเมืองสุพรรณ และจะทรงมาล่าควายป่า ที่ชุกชุมอยู่ในแถบนั้นด้วย ขอให้ขุนไกรจัดเตรียมพลับพลาที่ประทับ และพะเนียดล้อมควายไว้ให้พร้อม ขุนไกร พลพ่ายก็น้อมรับพระราชโองการ และเตรียมการดังกล่าว โดยทุกสิ้นทุกประการ
ครั้นถึงวันเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระพันวษาก็ทรงกระบวนเสด็จพยุหยาตราทางสถลมารคอย่าง.....งาม....

     กระผมว่าจะเล่าให้ฟังเองแล้วแหละครับ แต่ฉบับหลวงท่านงามเสียจนกระผมต้องยกมาให้ท่านฟังทั้งกระบวน ดังนี้

          ครั้นรุ่งเช้าฝ่ายเจ้าพนักงาน
          เตรียมการโดยกระบวนถ้วนถี่
          กรมช้างจัดช้างที่ตัวดี
          คนขี่ครบทั่วตัวคชา

          จ่าดาบขวาซ้ายก็จ่ายเครื่อง
          ขนเนื่องมาวางไว้ข้างหน้า
          กรมช้างพลางผูกมิทันช้า
          เบาะอานพานหน้าดาราราย

          สองหูพู่จามรีกรอง
          ปกตะพองทองพร้อยห้อยตาข่าย
          แต่ล้วนช้างพระที่นั่งทั้งพังพลาย
          หลากหลายเข้ากระบวนส่วนคชา

          พระที่นั่งพุดตาลสำหรับเสด็จ
          ผูกเสร็จทอดพระแสงแสนสง่า
          นายทรงบาศเป็นควาญชำนาญมา
          ใส่ครุยกรองนุ่งผ้าสมปักลาย

          ผูกทั้งพระที่นั่งกระโจมทอง
          วงพระสูตรรูดคล้องเป็นสองสาย
          เบาะปักหักทองขวางสล้างลาย
          เขนยอิงพิงฝ่ายปฤษฎางค์

          ผูกทั้งพระที่นั่งเถลิงศอ
          พระยี่ภู่ปูคอกันกระด้าง
          พระที่นั่งประพาสโถงแรมทาง
          ต่างต่างแลล้วนละกลกัน ฯ

     งามไหมครับท่าน กระผมว่างามละเมียดละไม งามทั้งกระบวนเสด็จ และงามทั้งกระบวนกลอน !

ครั้นเสด็จถึงเมืองสุพรรณบุรี ในพื้นที่รับผิดชอบของขุนไกรพลพ่าย ท่านขุนก็ได้จัดเตรียมการรับเสด็จ อย่างมิได้ขาดตกบกพร่อง แต่....ความซวย หรือชะตากรรม ก็แล้วแต่จะว่ากันไป ก็บันดาลให้ฝูงควายป่า ซึ่งถูกไล่ราวมาเข้าพะเนียดนั้น ฮือกันเข้ามาทางที่ประทับ อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

ด้วยความที่เกรงว่าฝูงควายเตลิดนั้น จะเป็นอันตรายกับพระเจ้าอยู่หัว ขุนไกรจึงตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวฉับพลัน คว้าหอกประจำตัวโดดขึ้นม้า กระตุ้นเข้าหาฝูงควายป่านั้นเพียง ตัวคนเดียว เข้าไล่แทงสกัดกั้นจนควายเหล่านั้นตายลงต่อหน้าพระที่นั่งมากมาย จนพระเจ้าอยู่หัวพ้นอันตราย

แต่.....วีรกรรมอันห้าวหาญของขุนไกรนั้น ก็กลับกลายเป็นทำคุณบูชาโทษไปจนได้ สมเด็จพระพันวษากลับทรงพระพิโรธ เพราะกลับทรงเห็นไปว่า พระองค์ท่านได้มอบหมายให้ ขุนไกรต้อนควายมาให้พระองค์ล่า แต่ขุนไกรกลับละเมิดพระราชโองการ ด้วยการมาแทงควาย หรือล่าควายต่อเบื้องพระพักตร์ ในพระอารมณ์นั้นจึงมีพระราชดำริว่า ลูกน้องอย่างนี้เอาไว้ไม่ได้ และในพระอารมณ์เดียวกัน จึงทรงลงพระราชอาญาให้ประหารขุนไกรพลพ่าย ให้ตายตกไปตามควาย !
เมื่อได้ยินดังนั้น ในวินาทีแรกขุนไกรพลพ่ายทหารใหญ่แห่งเมืองสุพรรณ ก็แทบบ้าเอาเลยทีเดียว ในฉบับหลวงท่านว่าไว้อย่างน่าเห็นใจ ดังนี้

          ครานั้นฝ่ายว่าตาขุนไกร
          ตกใจดังจะยับเป็นผุยผง
          ตัวสั่นขวัญหนีเหมือนผีลง
          จะดำรงกายนั้นก็เต็มที

          หน้าซีดผาดเผือดจนเลือดหาย
          ภูติพรายในตัวก็หลีกหนี
          สิ้นสติตัวสั่นขวัญไม่มี
          ดังจะดับชีวีในทันใด ฯ

     ครับ....ดวงคนเราจะถึงฆาตนี่ ต่อให้มีวิชาอาคมขลัง ขนาดผูกจิตให้ผีมารับใช้ได้ ผีนั้นก็ยังไม่อยู่คุ้มครองเลย แต่ขุนไกรก็สมกับเป็นผู้มีการศึกษา และมีสติ จึงระงับอารมณ์ได้อย่างรวดเร็ว ตรงกันข้ามกับตอนแรก เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่เขานำตัวไป เข้าหลักประหารนั้น ท่านบรรยายไว้ ดังนี้

          ค่อยระงับดับความโศกา
          ภาวนาประนมมือถือมั่น
          คิดถึงคุณพระพุทธพระธรรมนั้น
          อภิวันท์พระสงฆ์ทรงศีลา

          ทั้งคุณบิดามาตุเรศ
          บังเกิดเกศก่อเกล้าเกศา
          ขออำนาจประกาศแก่เทวา
          ให้ทราบทั่วฟากฟ้าสุธาธาร

          ด้วยตัวข้าขุนไกรกระทำผิด
          ถึงชีวิตจะม้วยสังขาร
          จะตายด้วยความสัตย์ปฏิญาณ
          อย่างพงศ์พลายฝ่ายทหารอันชาญชัย

          ปากว่าตาปิดจิตปลง
          ระงับลงไม่พรั่นหวั่นไหว
          ก้มหน้าหลับตาภาวนาไป
          ได้ที่ให้นิ้วเขาฟันลง

          เพชฌฆาตฟาดด้วยดาบอันคมกล้า
          ขุนไกรชีวาเป็นผุยผง
          ดวงจิตพอระงับดับลง
          ทำมะรงเอาศพไปเสียบไว้ ฯ

     นับว่าสมศักดิ์ศรีจริง ๆ เพราะการประหารในสมัยโบราณนั้น ต้องผูกตานักโทษเพื่อไม่ให้เห็นการรำดาบ และยังแถมด้วยต้องเอาดินเหนียวอุดหู เพื่อไม่ให้ได้ยินเสียงฝีเท้าของเพชฌฆาตที่วิ่งเข้ามาฟันคอ แต่นี่ขุนไกรพลพ่ายนอกจาก ดูเหมือนจะไม่ได้ผูกตาแล้ว ยัง ให้นิ้ว คือเป็นคนออกคำสั่งให้ลงดาบตัวเองด้วยซ้ำ นับว่าเป็นผู้มีมรณานุสติจนวินาทีสุดท้าย และมีจิตใจเด็ดเดี่ยวมั่นคง เรียกว่าตายอย่างชาติเสือแท้
และนับจากนั้น ความเดือดร้อนก็เริ่มจู่โจมเข้าหาครอบครัวของขุนไกร แทบจะทันที ทั้งนี้เพราะโดยบทพระอัยการในสมัยนั้น ได้ระบุไว้ว่า มันผู้ใด แม้จักเป็นขุนนาง หากถูกพระราชอาญาถึงประหารชีวิตแล้วไซร้ ท่านว่าให้ริบราชบาทว์ คือริบข้าวของให้เป็นของหลวง และริบบ่าวไพร่ตลอดจนลูกเมียให้เป็นทาสหลวงเสียโดยทั้งสิ้นด้วย พลายแก้วจึงต้องระหกระเหินจากบ้านที่มีสง่าอยู่ในเมืองสุพรรณ ตั้งแต่บัดนั้น

เพราะก่อนที่ขุนไกรจะถูกประหารนั้น ได้ฝากความกับ หลวงฤทธานนท์ ผู้เพื่อนเกลอ ให้นำความไปบอก นางทองประศรี ให้หอบลูกหนีไปเสียให้ไกล ๆ ก่อนที่กรมการเมืองเขาจะมากุมตัว นางทองประศรีจึงอุ้มพลายแก้วลูกน้อยเข้าสะเอว และหนีเล็ดลอดหูตากรมการเมืองสุพรรณ ที่มาตั้งกองขนาดสุมไฟล้อมจับ ได้ทันเวลา

แต่ต่อจากนั้นก็ลำบากลำบนพอสมควรอยู่เหมือนกัน ฟังกลอนฉบับหลวงแล้ว กระผมก็เห็นใจในความถ้อยทีถ้อยอาศัย ของแม่ลูกผู้ตกระกำลำบากคู่นี้นัก

          พลายแก้วเดินหลังรั้งเอวแม่
          ห้อแห้หน้านิ่วหิวกระหาย
          ร้อนเท้าเจ้าเดินเหยียบกรวดทราย
          เจ้าพลายเหนื่อยอ่อนวอนมารดา

          แม่ขาสุดปัญญาของลูกนี้
          เหลือที่จะล้าเลื่อยเหนื่อยหนักหนา
          คอแห้งคร่องแคร่งแข็งใจมา
          แม่เดินช้าช้าอย่าให้เร็ว

          ลูกก้าวยาวนักก็จักล้ม
          เจ็บระบมตีนแตกจนแหลกเหลว
          แผ่นดินร้อนเหลือใจดังไฟเปลว
          แม่ก็อุ้มใส่สะอวต่องแต่งมา

          เหนื่อยนักยักให้ขึ้นขี่หลัง
          เอากระบุงถือบังไปข้างหน้า
          ครั้นเมื่อยเข้าก็เอาขึ้นบนบ่า
          มือหนึ่งจับขาลูกยาไว้

          เท้านางพุพองค่อยย่องเดิน
          ครั้นเมินสะดุดเหเซไถล
          ลูกพลัดจากบ่าผวาไป
          ล้มกลิ้งอยู่ในพนาลี

          เจ้าพลายลุกขึ้นยังมึนหน้า
          ร้องว่าลูกแทบจะเป็นผี
          เจ็บขัดแข้งขาข้าสิ้นที
          ทีนี้แม่ขาอย่าอุ้มเลย ฯ

     จนกระทั่งหลังจากที่แม่ลูกได้ล้มลุกคลุกคลานเสียหลายเพลา ก็ถึงเมืองกาญจนบุรี ที่นางทองประศรีมุ่งหน้ามา เพราะทราบว่ามีญาติของขุนไกรผู้สามีอยู่ที่ดอนเขาชนไก่ เมื่อมีที่อยู่อาศัยแล้วนางจึงเริ่มกัดฟัน สร้างหลักฐานอยู่ที่เมืองกาญจน์นั้น โดย อยู่กับลูกชายมาหลายปี
คราวนี้ ท่านผู้ฟังนิทานข้างกองฟางที่กำลังรอลุ้นอยู่ ก็คงจะถอนหายใจกันได้เฮือกใหญ่ทีเดียว เพราะพระเอกของเรารอดตายแล้ว ส่วนอีกกี่ปีจะได้เป็นคุณพระสุรินท ฯ นั้น ก็ต้องติดตามกันต่อไป แถว ๆ ข้างกองฟางนี้แหละครับ.


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ขุนช้างขุนแผน ตอนที่ ๓ บวชเรียน
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 09, 2013, 10:24:23 pm »




พระสุรินทฦๅไชยฯ (ขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับนิทานข้างกองฟาง) ตอนที่ ๓ บวชเรียน

ขุนช้างขุนแผน ฉบับนิทานข้างกองฟาง
ตอนที่ ๓ บวชเรียน

    พ่อแม่พี่น้องที่เคารพรักครับ เมื่อตอนที่แล้ว กระผมได้เล่าเรื่องค้างอยู่ ตรงที่ นางทองประศรี แม่ของ พลายแก้ว ได้กระเตงลูกชายหนีราชภัยจากบ้านที่สุพรรณบุรี บุกป่าฝ่าดงมาถึงบ้านของญาติสามีที่กาญจนบุรี จนกระทั่งตั้งตัวปลูกบ้านปลูกช่องได้ และกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงถนอมลูกสืบมาจนเติบใหญ่อยู่ ณ ดอนเขาชนไก่ที่เมืองกาญจน์นั้นเอง

    ต่อไปก็จะได้จับความกันตั้งแต่พอ พลายแก้วอายุได้สิบห้าปี และอยากจะเรียนหนังสือขึ้นมา วิธีเดียวที่จะเรียนหนังสือได้อย่างลึกซึ้งในสมัยนั้น ก็คือต้องบวช พลายแก้วจึงขออนุญาตแม่ เพื่อจะไปบวชเรียนเขียนอ่าน รวมทั้งวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่จะใช้ในการเป็นทหารตามรอยบิดาต่อไป

    ความรู้สึกของคนเป็นแม่เมื่อลูกมาขอลาบวชนั้น ท่านผู้ฟังนิทานข้างกองฟางฉบับนี้ที่เป็นผู้ชาย และเคยบวชมาแล้ว ก็คงจะสัมผัสได้เป็นอย่างดีนะครับ คือพอแม่ได้เห็นลูกมากราบขอบวชละก้อ ในวินาทีนั้นน้ำหูน้ำตาไม่รู้ว่าหลั่งไหลมาแต่ไหน และต่อจากนั้นก็ทุ่มกายทุ่มใจ ทั้งชีวิตและวิญญาณให้กับงานบวชของลูก แม้ในกรณีของพลายแก้วนั้น จะเป็นเพียงการบวชเณรก็ตาม

    เมื่อแม่ทองประศรี ได้เจรจาขอบวชลูกชายกับ พระอาจารย์บุญ วัดส้มใหญ่ ในเมืองกาญจน์นั้นแล้ว ต่อไปก็ถึงเวลาเตรียมงานกันละ ความโกลาหลอลหม่านในความปลื้มปีตินี้ กระผมขออนุญาตให้ฉบับหลวงบรรยายแทน ขอรับกระผม

        ว่าแล้วจึงสั่งพวกบ่าวข้า
        ชวนกันเร็วหวาอย่าช้าได้
        กูจะบวชลูกชายสุดสายใจ
        เอ็งจงไปเที่ยวหาผ้าเนื้อดี

        ทำจีวรสบงสไบลาด
        หาทั้งย่ามบาตรมาตามที่
        ลงมือพร้อมกันในวันนี้
        อ้ายถี อีหล้า มาช่วยกู

        ฝ่ายพวกข้าไทไปหาของ
        หมากพลูใบตองที่มีอยู่
        บ้างก็มาเย็บกรวยช่วยกันดู
        ปอกหมากพันพลูทั้งฟั่นเทียน

        เอาผ้าขาวมาวัดตัดสบง
        เย็บลงฝีเข็มเหมือนเล็มเลี่ยน
        ตัดจีวรสะไบตะไกรเจียน
        เย็บทับจับเนียนเป็นเนื้อเดียว

        อังสะนั้นแพรหนังไก่นุ่ม
        รังดุมหูไหมใส่เย็บเสี้ยว
        มานั่งพร้อมล้อมทั่วตัวเป็นเกลียว
        เอิกเกริกกราวเกรียวด้วยศรัทธา ฯ

    เมื่อพลายแก้วได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็ได้เล่าเรียนที่วิทยาเขตวัดส้มใหญ่ ดังใจปรารถนา อันวิชาที่เรียนก็เป็นไปตามแบบฉบับ ของลูกผู้ชายชาวกรุงศรีอยุธยาโดยทั่วไปแหละขอรับ

        ครานั้นจึงโฉมเจ้าเณรแก้ว
        บวชแล้วร่ำเรียนด้วยเพียรหมั่น
        ปัญญาไวว่องคล่องแคล่วครัน
        เรียนสิ่งใดได้นั่นไม่ช้าที

        จนอาจารย์ขยาดฉลาดเฉลียว
        เถรเณรออกเกรียวอยู่ที่นี่
        จะเปรียบเณรแก้วได้นั้นไม่มี
        บวชยังไม่ถึงปีก็เจนใจ

        หนังสือสิ้นกระแสทั้งแปลอรรถ
        จนสมภารเจ้าวัดไม่บอกได้
        ลูบหลังลูบหน้าแล้วว่าไป
        สิ้นใส้กูแล้วเณรแก้วอา

        ยังแต่สมุดตำรับใหญ่
        พื้นแต่หัวใจพระคาถา
        กูจัดแจงซ่องสุมแต่หนุ่มมา
        หวงไว้จนชราไม่ให้ใคร

        ความรู้นอกนี้ไม่มีแล้ว
        กูรักเณรแก้วจะยกให้
        อยู่คงปล้นสะดมมีถมไป
        เลี้ยงโหงพรายใช้ได้ทุกตา ฯ

    เมื่อท่านอาจารย์บุญผู้เป็นอุปัชฌาย์มีความรู้สึกว่า เณรแก้วได้ความรู้ไปจากท่าน จนหมดภูมิแล้ว ท่านจึงคิดว่าเณรแก้วนี้ น่าจะไปศึกษาต่อ ท่านจึงได้แนะนำว่า ท่าน สมภารมี วัดป่าเลไลย จังหวัดสุพรรณบุรีนั้นมีวิชาดี แถมยังรู้จักคุ้นเคย เป็นเพื่อนเกลอกับ ขุนไกรพลพ่าย ผู้บิดาของเณรเสียด้วย ควรจะไปเล่าเรียนหาความรู้จากท่านต่อไป เณรแก้วได้ฟังพระอาจารย์ ว่าดังนั้นก็ดีใจ รีบห่มจีวรออกจากวัดดิ่งตรงไปปรึกษากับโยมมารดาทันที
แม่ทองประศรีได้ยินลูกเณรว่าดังนั้นก็นึกขึ้นมาได้ ดังในฉบับหลวงท่านว่าไว้ดังนี้

        ทองประศรีดีใจหัวร่อร่า
        จริงแล้วเณรหนาแม่นึกได้
        อันที่เมืองสุพรรณนั้นไซร้
        ทางในท่านดีมีสององค์

        วัดป่าเลไลยท่านสมภารมี
        ทั้งขรัวที่วัดแคแม่เคยส่ง
        กับขุนไกรรักใคร่กันมั่นคง
        จะพาลงไปฝากยากอะไร

        ว่าพลางนางสั่งพวกบ่าวข้า
        เอ็งไปเรียกช้างมาอย่าช้าได้
        ให้เขาผูก พังบู่ กูจะไป
        อ้าย พลายกาง ผูกไว้ให้พ่อเณร

        ข้าวของจัดใส่ในสัปคัป
        ทั้งข้าวกับรีบหาขะมักเขม้น
        ให้พอเพียงเลี้ยงเจ้าทั้งเช้าเพล
        ให้อ้ายเสนกับตาพุ่ม แกคุมไป ฯ

    แล้วขบวนก็เริ่มออกเดินทางจากบ้านเขาชนไก่ จนบรรลุถึงสุพรรณบุรีในเวลาสามวัน แม่ทองประศรีก็พาเณรลูกชาย เข้าไปกราบท่านสมภารมี ซึ่งท่านก็จำได้ และยินดีรับไว้เป็นลูกศิษย์ด้วยความเต็มใจ ท่านว่าไว้อย่างครึกครื้น ดังนี้

        ขรัวมีดีใจหัวเราะร่า
        ไม่เห็นหน้าหลายปีสีกาเหวย
        เณรนี้ลูกใครไม่คุ้นเคย
        ทองประศรีว่าคุณเอ๋ยลูกฉันเอง

        แต่เพียงขุนไกรแกวอดวาย
        ดีฉันนี้เป็นหม้ายอยู่เท้งเต้ง
        บวชลูกจะให้เรียนเป็นบทเพลง
        ก็โก้งเก้งอยู่ไกลมิได้การ

        จะเอามาฝากไว้ให้ขรัวปู่
        โปรดบอกความรู้เอ็นดูหลาน
        ถ้าไม่เรียนร่ำทำเกียจคร้าน
        ทรมานทำโทษโปรดตีโบย

        สมภารจึงว่าอย่าร้อนใจ
        ไม่ฟังสอนเลี้ยงได้หรือยายโหวย
        แต่ทว่าข้าไม่ใคร่ทำโพย
        จะสั่งสอนให้โดยปัญญามัน ฯ

    ตกลงว่าเณรแก้วก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าเลไลยสุพรรณบุรี เป็นวิทยาเขตที่สอง ตั้งแต่บัดนั้น วิชาที่เณรแก้วได้เรียนจากท่านอาจารย์มีนั้นมากมาย มีทั้งประโยชน์แลโทษในเบื้องหน้าของเจ้าเณรซึ่งจะกลายเป็น ขุนแผน และ พระสุรินทภาไชย ฯ ในกาลภายหน้า ถึงตรงนี้แล้ว กระผมก็อยากจะให้ท่านผู้ฟังทราบว่า เณรแก้วนั้นได้เรียนวิชาอะไรมาบ้าง เพราะต่อไปในภาย ภาคหน้า ขุนแผนยังจะได้ฝึกหัดและลองดี กับวิชาที่อาถรรพณ์สาหัสกว่านี้อีกมาก ลองฟังจากฉบับหลวงดูสิครับ

        ครานั้นจึงโฉมเจ้าเณรแก้ว
        ปัญญาคล่องแคล่วใครจะเหมือน
        หมั่นหมักภักดีมิให้เตือน
        หัดเทศน์สามเดือนก็ขึ้นใจ

        มหาชาติธรรมวัตรสารพัดเพราะ
        ถ้อยคำมั่นเหมาะไม่เปรียบได้
        สุ้งเสียงเป็นเสน่ห์ดังเรไร
        เทศน์ที่ไหนคนชมนิยมฟัง

        จนขึ้นชื่อฦาชาว่าเปรื่องปราด
        ชาวบ้านร้านตลาดเจียนจะคลั่ง
        เถรเณรอดเพลคอยไปฟัง
        เข้าไปนั่งพูดจ้อขอเนื้อความ

        เจ้าอุตส่าห์ศึกษาวิชาการ
        เขียนอ่านท่องได้แล้วไต่ถาม
        ตำรับใหญ่พิชัยสงคราม
        สูรย์จันทร์ฤกษ์ยามก็รอบรู้

        อยู่ยงคงกระพันล่องหน
        ภาพยนตร์ผูกใช้ให้ต่อสู้
        รักทั้งเรียนเศกเป่าเป็นเจ้าชู้
        ผูกจิตหญิงอยู่ไม่เคลื่อนคลาย ฯ

    ก็คงต้องขอจบตอนนี้เอาดื้อ ๆ ตรงนี้แหละครับ แต่ขออนุญาตแย้ม ๆ ไว้หน่อยว่า วิชาทั้งพุทธทั้งไสยที่เณรแก้วได้ร่ำเรียนในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดรายการร้อนอกร้อนใจกันในเวลา ใกล้ ๆ นี้แหละครับ แถว ๆ กองฟางที่กระผมกำลังนั่งเล่าให้ท่านฟังอยู่แจ้ว ๆ นี้เอง.


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ขุนช้างขุนแผน ตอนที่ ๔ ร้อน...
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กรกฎาคม 09, 2013, 10:32:46 pm »




พระสุรินทฦๅไชยฯ (ขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับนิทานข้างกองฟาง) ตอนที่ ๔ ร้อน...

ขุนช้างขุนแผน ฉบับนิทานข้างกองฟาง
ตอนที่ ๔ ร้อน.....

     พ่อแม่พี่น้องที่เคารพรักครับ วิชาการที่อัดแน่นอยู่ในมันสมองของมนุษย์นี้ ท่านผู้ฟังนิทานข้างกองฟางของกระผม ก็อาจเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ยิ่งเรียนมาก ยิ่งรู้มาก ก็ยิ่งเกิดประโยชน์โพธิผลมากมาย แต่.....อุทาหรณ์ของ พลายแก้ว ที่กระผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ ก็อาจเป็นแง่มุมอีกประเด็นหนึ่ง ที่ทำให้ท่านผู้ฟังที่รักของผมฉุกคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาได้.....ที่สำนวนโบราณท่านว่า ดาบสองคมอย่างไรเล่าครับ.....

     เณรแก้วของเราเริ่มร้อนเสียแล้วละครับ ร้อนที่หนึ่งคืออาการร้อนวิชา ที่ได้ร่ำเรียนมาจากอาจารย์ทั้งสองสำนัก แต่ร้อนที่สองนั้น ดูจะหนักหนาสาหัสกว่ามากทีเดียวเจียวแหละ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนหนุ่มเลือดระอุกับวิชาที่ว่าด้วย "รักทั้งเรียนเสกเป่าเป็นเจ้าชู้     ผูกจิตหญิงอยู่ไม่เคลื่อนคลาย"

     ยิ่งมันเกิดจะมีเหตุประจวบเหมาะเอาตรงสงกรานต์ของปีนั้นเสียด้วย ! จับบทเปิดฉากนี้ขึ้นมาด้วยความใฝ่การบุญ อันเป็นนิสัยธรรมดาของชาวไทยทั่ว ๆ ไป แต่หนึ่งในจำนวนของ ผู้มาทำบุญที่วัดป่าเลไลยในวันนั้นชื่อ พิมพิลาไลย

     เรื่องมันมีอยู่ว่าพอเดือนห้าย่างเข้าหน้าสงกรานต์ แม่ศรีประจัน มารดาของแม่พิม ซึ่งเป็นเพื่อนกับ แม่ทองประศรี และก็เป็นเศรษฐีนีพอ ๆ กัน ได้พาลูกสาวซึ่งเริ่มจะเป็นสาวแล้ว กับบ่าวไพร่พากันชักแถวมาตักบาตรที่วัดป่าเลไลย ในวันเทศกาลนั้น พอดีที่เณรหนุ่มมารับบาตรแม่สาวพิม แล้วต่างฝ่ายต่างก็จำได้คลับคล้ายคลับคลา ตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนที่พลายแก้วกับแม่ จะจำต้องหนีราชภัยไปถึงเมืองกาญจน์ ก็เคยเล่นหัวกันมอมแมมมาแล้ว แต่มาครั้งนี้ ฉบับหลวงท่านว่า

         เณรใจบึกบึกนึกเป็นครู่
         เหมือนเคยเล่นกับกูกูจำได้
         ชื่อว่าสีกาพิมพิลาไลย
         สาวขึ้นสวยกระไรเพียงบาดตา ฯ

     บอกตรง ๆ ครับ จะบาปก็ยอม ผมเห็นใจเณรแก้วแฮะ พอล่วงเลยเวลาจากเดือนห้ามาถึงเดือนสิบ สงกรานต์ก็ผ่านไปเทศกาลสารทไทยก็เข้ามา ตอนนี้ท่านระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นเดือนสิบ ปีระกา สัปตศก เพราะฉะนั้นเณรแก้วก็จะมีอายุล่วงเข้าสิบเก้าปี

     ครานั้น ท่านผู้มีจิตมั่นในการกุศล โดยมีแม่ศรีประจันเป็นผู้นำ ก็คิดการกันว่า จะต้องจัดให้มีการเทศน์มหาชาติ เพื่อแผ่บุญกุศลอันยิ่งใหญ่ไปทั่วชาวละแวกแถบนั้น จึงได้เตรียมงานกันอย่างมโหฬาร แย่งจองกัณฑ์เทศน์กันยกใหญ่ ก็ปรากฎว่าแม่ศรีประจัน และแม่พิมจองได้กัณฑ์มัทรี

     พ่อแม่พี่น้องครับ ถ้านิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงก็คงต้องโทษความบังเอิญ แต่พอดีเรื่องนี้เป็นนิทาน ก็คงจะดูเหมือนกำหนดการทางวรรณคดีเสียกระมัง เพราะได้ปรากฎว่า ท่านสมภารมีผู้ต้องรับผิดชอบเทศน์กัณฑ์มัทรี ในงานบุญครั้งนี้ เกิดอาพาธไปเทศน์ไม่ไหว จึงได้มอบให้ศิษย์เอกของท่านเทศน์แทน ศิษย์เอกที่ว่าก็คือเณรแก้วนั่นเอง และอะไรมันจะเกิด มันก็ต้องเกิดอยู่ดีแหละขอรับกระผม ขอให้ฟังที่ฉบับหลวงท่านเล่าความไว้แทนเถิดขอรับ กระผมกระดาก...

         พอสบพักตร์เณรพยักให้ทันใด
         ด้วยน้ำใจผูกพันกระสันหา
         เชิญกระหยับมานี่เถิดสีกา
         ท่านสมภารไม่มาอาพาธไป

         จึงให้ข้าเจ้ามาเทศนา
         ท่านเจ้ากัณฑ์จะว่าเป็นไฉน
         นางพิมยิ้มตอบไปทันใด
         ไหนไหนก็เหมือนกันไม่ฉันทา ฯ

     จากความในฉบับหลวงที่ได้ยกมาเล่าสู่กันฟังดังนี้แล้ว ท่านผู้ล้อมวงอยู่ข้างกองฟาง ก็คงจะสัมผัสถึงความรู้สึกของพ่อเณรของเราได้อยู่นะขอรับ แต่ถ้ายังไม่ชัดเจน ในฉบับหลวงท่านก็ได้ขยายความต่อไป ถึงความรู้สึกของเณรแก้ว ภายหลังจากที่ได้เทศน์มหาชาติกัณฑ์มัทรีจบไปแล้ว กลับมานอนก่ายหน้าผากอยู่ในกุฏิตอนดึกของคืนวันนั้น

         ดึกกำดัดลมพัดมาอ่อนอ่อน
         พระจันทรแสงสว่างกระจ่างไข
         เงียบสงัดทั้งวัดป่าเลไลย
         เจ้าเณรน้อยละห้อยไห้คะนึงนาง

         โอ้พิมนิ่มนวลของเณรแก้ว
         เจ้าไปแล้วจะรำลึกถึงพี่บ้าง
         ฤางามปลื้มแม่จะลืมน้ำใจจาง
         แต่ครุ่นครางครวญคิดจนค่อนคืน ฯ

     ตอนที่สี่นี้มีชื่อว่า ร้อน...นะครับท่านผู้ฟัง เช้าวันต่อมา เณรแก้วก็ไปบิณฑบาตที่บ้านแม่พิม แต่แทนที่จะได้พบแม่พิมสมดังเจตนา กลับได้พบกับนางพี่เลี้ยงของแม่พิมที่ชื่อ สายทอง อันจะเป็นชะนวนระเบิดอย่างยิ่งของแม่พิม ทั้งในครั้งนี้ และครั้งต่อ ๆ ไป

     ฝ่ายแม่พิมนั้น โดยวิสัยกุลสตรีโบราณ เมื่อคาดว่าชายที่ตนพึงใจจะต้องพยายามหาทางพบหน้า ก็ให้รู้สึกกระดากจนไม่สามารถจะสู้หน้าหรือสบตาด้วยได้ ในกรณีของแม่พิมจึงได้แต่ส่งแม่สายทองไปตักบาตรให้แทน ส่วนตนนั้นก็ได้แต่แฝงบังเงาม่านคอยเหลือบมองดูแต่เพียงในห้องนอนของตน แต่กระนั้นก็ยังอดถามพี่สายทองไม่ได้ว่า เมื่อตอนที่ตักบาตรนั้น เห็นพูดจากันว่ากระไรบ้าง ข้างแม่สายทองก็ชอบเย้ายั่วแหย่อยู่เป็นทุนเดิมแล้ว จึงแกล้งทิ้งปริศนาด้วยการตอบ คำถามของน้องเลี้ยงของตน อย่างที่แม่พิมจะต้องกระวนกระวายไปทั้งวันว่า
      เจ้ากูเกี้ยวข้าแล้วนะเณรพลาย

     พอได้ยินคำตอบของพี่สายทองในลักษณะนี้เข้า ความรู้สึกเดิมที่แม่พิมมีเพียงพิษรัก มารุมล้อมเท่านั้น ก็ทำให้เกิดเป็นแรงหึง เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็ถูกใจแม่สายทองนัก

     เพราะด้วยความรักน้อง อยากให้น้องมีความสุขสมหวัง แม่สายทองก็ยอมกระทั่งวางเดิมพัน ด้วยความรักของแม่พิมที่มีต่อตน ยั่วจนแม่พิมร้อน

     ตอนที่สี่นี้มีชื่อว่า ร้อน.....
     แม่สายทองลงทุนขนาดที่ยอมไปเล่นน้ำในลำธารข้างวัด เพื่อที่จะได้พบปะเจรจากับเณรแก้ว จะได้นัดแนะให้มาพบแม่พิม เอาขนาดนั้นเชียว

     และตอนค่ำ เมื่อกลับมานอนกับแม่พิมในห้องตามปกติแล้ว ก็ยังอุตส่าห์เห่กล่อม แม่พิม ทั้ง ๆ ที่แม่พิมก็ไม่ใช่เด็กหัวจุก แต่กำลังเป็นสาว...แล้ว... ในฉบับหลวงท่านให้แม่สายทอง กล่อมแม่พิมว่า

         หาวนอนไปนอนเสียเถิดฤา
         จูงมือพิมน้อยไปในที่
         สวมสอดกอดรัดแล้วพัดวี
         นอนเถิดพี่จะกล่อมให้พิมนอน

         โอ้ว่าสงสารกุมารเอ๋ย
         กระไรเลยเตร็ดเตร่เที่ยวเร่ร่อน
         ไม่คิดยากหมายฝากชีวาวอน
         ต่างเมืองอุตส่าห์จรกระเจิงมา

         อกจะหักด้วยความรักไม่เหมือนคิด
         หมายมิตรก็ไม่สมปรารถนา
         จึงหลีกเลี่ยงเลยลัดเข้าวัดวา
         ทรมาบวชเบื่อระทมใจ ฯ

      ได้ฟังบทเห่กล่อมออดอ้อนแบบนี้แล้ว ท่านผู้ฟังลองเอาใจท่านไปใส่ใจ นางสาวพิมพิลาไลย ดูเถิดครับ ถ้าท่านเป็นเธอท่านจะรู้สึกอย่างไร.....

         ผมบอกท่านทั้งหลายมาตั้งสองครั้งแล้วว่า
         ตอนที่สี่นี้มีชื่อว่า ร้อน.....
         คราวหน้าพบกันครับ.