พระสุรินทฦๅไชยฯ (ขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับนิทานข้างกองฟาง)
ตอนที่ ๓ บวชเรียนขุนช้างขุนแผน ฉบับนิทานข้างกองฟาง
ตอนที่ ๓ บวชเรียน
พ่อแม่พี่น้องที่เคารพรักครับ เมื่อตอนที่แล้ว กระผมได้เล่าเรื่องค้างอยู่ ตรงที่ นางทองประศรี แม่ของ พลายแก้ว ได้กระเตงลูกชายหนีราชภัยจากบ้านที่สุพรรณบุรี บุกป่าฝ่าดงมาถึงบ้านของญาติสามีที่กาญจนบุรี จนกระทั่งตั้งตัวปลูกบ้านปลูกช่องได้ และกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงถนอมลูกสืบมาจนเติบใหญ่อยู่ ณ ดอนเขาชนไก่ที่เมืองกาญจน์นั้นเอง
ต่อไปก็จะได้จับความกันตั้งแต่พอ พลายแก้วอายุได้สิบห้าปี และอยากจะเรียนหนังสือขึ้นมา วิธีเดียวที่จะเรียนหนังสือได้อย่างลึกซึ้งในสมัยนั้น ก็คือต้องบวช พลายแก้วจึงขออนุญาตแม่ เพื่อจะไปบวชเรียนเขียนอ่าน รวมทั้งวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่จะใช้ในการเป็นทหารตามรอยบิดาต่อไป
ความรู้สึกของคนเป็นแม่เมื่อลูกมาขอลาบวชนั้น ท่านผู้ฟังนิทานข้างกองฟางฉบับนี้ที่เป็นผู้ชาย และเคยบวชมาแล้ว ก็คงจะสัมผัสได้เป็นอย่างดีนะครับ คือพอแม่ได้เห็นลูกมากราบขอบวชละก้อ ในวินาทีนั้นน้ำหูน้ำตาไม่รู้ว่าหลั่งไหลมาแต่ไหน และต่อจากนั้นก็ทุ่มกายทุ่มใจ ทั้งชีวิตและวิญญาณให้กับงานบวชของลูก แม้ในกรณีของพลายแก้วนั้น จะเป็นเพียงการบวชเณรก็ตาม
เมื่อแม่ทองประศรี ได้เจรจาขอบวชลูกชายกับ พระอาจารย์บุญ วัดส้มใหญ่ ในเมืองกาญจน์นั้นแล้ว ต่อไปก็ถึงเวลาเตรียมงานกันละ ความโกลาหลอลหม่านในความปลื้มปีตินี้ กระผมขออนุญาตให้ฉบับหลวงบรรยายแทน ขอรับกระผม
ว่าแล้วจึงสั่งพวกบ่าวข้า
ชวนกันเร็วหวาอย่าช้าได้
กูจะบวชลูกชายสุดสายใจ
เอ็งจงไปเที่ยวหาผ้าเนื้อดี
ทำจีวรสบงสไบลาด
หาทั้งย่ามบาตรมาตามที่
ลงมือพร้อมกันในวันนี้
อ้ายถี อีหล้า มาช่วยกู
ฝ่ายพวกข้าไทไปหาของ
หมากพลูใบตองที่มีอยู่
บ้างก็มาเย็บกรวยช่วยกันดู
ปอกหมากพันพลูทั้งฟั่นเทียน
เอาผ้าขาวมาวัดตัดสบง
เย็บลงฝีเข็มเหมือนเล็มเลี่ยน
ตัดจีวรสะไบตะไกรเจียน
เย็บทับจับเนียนเป็นเนื้อเดียว
อังสะนั้นแพรหนังไก่นุ่ม
รังดุมหูไหมใส่เย็บเสี้ยว
มานั่งพร้อมล้อมทั่วตัวเป็นเกลียว
เอิกเกริกกราวเกรียวด้วยศรัทธา ฯ
เมื่อพลายแก้วได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็ได้เล่าเรียนที่วิทยาเขตวัดส้มใหญ่ ดังใจปรารถนา อันวิชาที่เรียนก็เป็นไปตามแบบฉบับ ของลูกผู้ชายชาวกรุงศรีอยุธยาโดยทั่วไปแหละขอรับ
ครานั้นจึงโฉมเจ้าเณรแก้ว
บวชแล้วร่ำเรียนด้วยเพียรหมั่น
ปัญญาไวว่องคล่องแคล่วครัน
เรียนสิ่งใดได้นั่นไม่ช้าที
จนอาจารย์ขยาดฉลาดเฉลียว
เถรเณรออกเกรียวอยู่ที่นี่
จะเปรียบเณรแก้วได้นั้นไม่มี
บวชยังไม่ถึงปีก็เจนใจ
หนังสือสิ้นกระแสทั้งแปลอรรถ
จนสมภารเจ้าวัดไม่บอกได้
ลูบหลังลูบหน้าแล้วว่าไป
สิ้นใส้กูแล้วเณรแก้วอา
ยังแต่สมุดตำรับใหญ่
พื้นแต่หัวใจพระคาถา
กูจัดแจงซ่องสุมแต่หนุ่มมา
หวงไว้จนชราไม่ให้ใคร
ความรู้นอกนี้ไม่มีแล้ว
กูรักเณรแก้วจะยกให้
อยู่คงปล้นสะดมมีถมไป
เลี้ยงโหงพรายใช้ได้ทุกตา ฯ
เมื่อท่านอาจารย์บุญผู้เป็นอุปัชฌาย์มีความรู้สึกว่า เณรแก้วได้ความรู้ไปจากท่าน จนหมดภูมิแล้ว ท่านจึงคิดว่าเณรแก้วนี้ น่าจะไปศึกษาต่อ ท่านจึงได้แนะนำว่า ท่าน สมภารมี วัดป่าเลไลย จังหวัดสุพรรณบุรีนั้นมีวิชาดี แถมยังรู้จักคุ้นเคย เป็นเพื่อนเกลอกับ ขุนไกรพลพ่าย ผู้บิดาของเณรเสียด้วย ควรจะไปเล่าเรียนหาความรู้จากท่านต่อไป เณรแก้วได้ฟังพระอาจารย์ ว่าดังนั้นก็ดีใจ รีบห่มจีวรออกจากวัดดิ่งตรงไปปรึกษากับโยมมารดาทันที
แม่ทองประศรีได้ยินลูกเณรว่าดังนั้นก็นึกขึ้นมาได้ ดังในฉบับหลวงท่านว่าไว้ดังนี้
ทองประศรีดีใจหัวร่อร่า
จริงแล้วเณรหนาแม่นึกได้
อันที่เมืองสุพรรณนั้นไซร้
ทางในท่านดีมีสององค์
วัดป่าเลไลยท่านสมภารมี
ทั้งขรัวที่วัดแคแม่เคยส่ง
กับขุนไกรรักใคร่กันมั่นคง
จะพาลงไปฝากยากอะไร
ว่าพลางนางสั่งพวกบ่าวข้า
เอ็งไปเรียกช้างมาอย่าช้าได้
ให้เขาผูก พังบู่ กูจะไป
อ้าย พลายกาง ผูกไว้ให้พ่อเณร
ข้าวของจัดใส่ในสัปคัป
ทั้งข้าวกับรีบหาขะมักเขม้น
ให้พอเพียงเลี้ยงเจ้าทั้งเช้าเพล
ให้อ้ายเสนกับตาพุ่ม แกคุมไป ฯ
แล้วขบวนก็เริ่มออกเดินทางจากบ้านเขาชนไก่ จนบรรลุถึงสุพรรณบุรีในเวลาสามวัน แม่ทองประศรีก็พาเณรลูกชาย เข้าไปกราบท่านสมภารมี ซึ่งท่านก็จำได้ และยินดีรับไว้เป็นลูกศิษย์ด้วยความเต็มใจ ท่านว่าไว้อย่างครึกครื้น ดังนี้
ขรัวมีดีใจหัวเราะร่า
ไม่เห็นหน้าหลายปีสีกาเหวย
เณรนี้ลูกใครไม่คุ้นเคย
ทองประศรีว่าคุณเอ๋ยลูกฉันเอง
แต่เพียงขุนไกรแกวอดวาย
ดีฉันนี้เป็นหม้ายอยู่เท้งเต้ง
บวชลูกจะให้เรียนเป็นบทเพลง
ก็โก้งเก้งอยู่ไกลมิได้การ
จะเอามาฝากไว้ให้ขรัวปู่
โปรดบอกความรู้เอ็นดูหลาน
ถ้าไม่เรียนร่ำทำเกียจคร้าน
ทรมานทำโทษโปรดตีโบย
สมภารจึงว่าอย่าร้อนใจ
ไม่ฟังสอนเลี้ยงได้หรือยายโหวย
แต่ทว่าข้าไม่ใคร่ทำโพย
จะสั่งสอนให้โดยปัญญามัน ฯ
ตกลงว่าเณรแก้วก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าเลไลยสุพรรณบุรี เป็นวิทยาเขตที่สอง ตั้งแต่บัดนั้น วิชาที่เณรแก้วได้เรียนจากท่านอาจารย์มีนั้นมากมาย มีทั้งประโยชน์แลโทษในเบื้องหน้าของเจ้าเณรซึ่งจะกลายเป็น ขุนแผน และ พระสุรินทภาไชย ฯ ในกาลภายหน้า ถึงตรงนี้แล้ว กระผมก็อยากจะให้ท่านผู้ฟังทราบว่า เณรแก้วนั้นได้เรียนวิชาอะไรมาบ้าง เพราะต่อไปในภาย ภาคหน้า ขุนแผนยังจะได้ฝึกหัดและลองดี กับวิชาที่อาถรรพณ์สาหัสกว่านี้อีกมาก ลองฟังจากฉบับหลวงดูสิครับ
ครานั้นจึงโฉมเจ้าเณรแก้ว
ปัญญาคล่องแคล่วใครจะเหมือน
หมั่นหมักภักดีมิให้เตือน
หัดเทศน์สามเดือนก็ขึ้นใจ
มหาชาติธรรมวัตรสารพัดเพราะ
ถ้อยคำมั่นเหมาะไม่เปรียบได้
สุ้งเสียงเป็นเสน่ห์ดังเรไร
เทศน์ที่ไหนคนชมนิยมฟัง
จนขึ้นชื่อฦาชาว่าเปรื่องปราด
ชาวบ้านร้านตลาดเจียนจะคลั่ง
เถรเณรอดเพลคอยไปฟัง
เข้าไปนั่งพูดจ้อขอเนื้อความ
เจ้าอุตส่าห์ศึกษาวิชาการ
เขียนอ่านท่องได้แล้วไต่ถาม
ตำรับใหญ่พิชัยสงคราม
สูรย์จันทร์ฤกษ์ยามก็รอบรู้
อยู่ยงคงกระพันล่องหน
ภาพยนตร์ผูกใช้ให้ต่อสู้
รักทั้งเรียนเศกเป่าเป็นเจ้าชู้
ผูกจิตหญิงอยู่ไม่เคลื่อนคลาย ฯ
ก็คงต้องขอจบตอนนี้เอาดื้อ ๆ ตรงนี้แหละครับ แต่ขออนุญาตแย้ม ๆ ไว้หน่อยว่า วิชาทั้งพุทธทั้งไสยที่เณรแก้วได้ร่ำเรียนในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดรายการร้อนอกร้อนใจกันในเวลา ใกล้ ๆ นี้แหละครับ แถว ๆ กองฟางที่กระผมกำลังนั่งเล่าให้ท่านฟังอยู่แจ้ว ๆ นี้เอง.