สมี คืออะไร ไขข้อสงสัย ทำไม เณรคํา ถูกเรียก สมีคำ
-http://hilight.kapook.com/view/88762-
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เป็นข่าวดังมาหลายสัปดาห์แล้ว กรณี อดีตพระวิรพล ฉัตติโก หรืออดีตหลวงปู่เณรคำ แห่งที่พักสงฆ์ขันติธรรม ในตำบลยาง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ถูกคณะสงฆ์ผู้พิจารณาอธิกรณ์ปรับอาบัติ ให้ขาดจากความเป็นพระภิกษุสงฆ์ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2556 หลังจากต้องคดีพรากผู้เยาว์ รวมทั้งยังมีความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติในครอบครองหลายพันล้านที่ส่อเค้าว่าจะฉ้อโกง หรืออาจพัวพันกับยาเสพติดด้วยนั้น ทำให้ช่วงหลังมานี้ สื่อมวลชนทั้งหลายจึงเรียกขาน "เณรคำ" ใหม่ว่า "สมีคำ"
ทั้งนี้ เนื่องจากยังมีหลายคนไม่ทราบว่า เหตุใดจึงมีการเรียก เณรคำ ว่า สมีคำ และคำว่า สมี คืออะไร หรือมีความหมายอย่างไร ดังนั้นวันนี้เราจึงรวบรวมข้อมูลในเรื่องดังกล่าวมากฝากค่ะ
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ระบุความหมายของคำว่า สมี ดังนี้
สมี [สะหฺมี] น. คําเรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก; (โบ) คําใช้เรียกพระภิกษุ
ขณะที่ พจนานุกรม อ.เปลื้อง ณ นคร ได้ระบุความหมายของคำว่า สมี ดังนี้
สมี [สะ-หฺมี] น. คำเรียกคนถูกไล่สึกจากพระ เพราะต้องอาบัติปาราชิก บุคคลที่เป็นสมีจะบวชอีกไม่ได้ตลอดชีวิต
พจนานุกรม
สำหรับรายละเอียดของการอาบัติปาราชิกนั้น ได้มีบัญญัติไว้ว่า เมื่อพระภิกษุอาบัติปาราชิกแล้ว ต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที แม้จะไม่ยอมสึกออกจากการเป็นพระภิกษุก็ตาม นอกจากนี้ ทางพระวินัยถือว่า พระภิกษุที่อาบัติปาราชิกแล้ว จะไม่สามารถทำกิจร่วมกับพระภิกษุอื่นได้ และไม่สามารถบวชเป็นพระได้อีกตลอดชีวิต ส่วนสาเหตุที่ส่งผลให้อาบัติปาราชิก มี 4 ข้อ ดังนี้
อาบัติข้อที่ 1. เสพเมถุน กรณีที่พระภิกษุเสพสังวาสกับสตรี หรือแม้แต่เดรัจฉานเพศเมีย ถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที แม้จะอยู่ในผ้าเหลืองหรือไม่ก็ตาม ถือว่าขาดจากการเป็นพระขณะที่สำเร็จกิจ
อาบัติข้อที่ 2. ลักขโมย เมื่อมีเจตนาลักขโมยของที่เจ้าของไม่ได้อนุญาตด้วยจิตที่จะลัก
อาบัติข้อที่ 3. ฆ่ามนุษย์ ทั้งฆ่าให้ตายด้วยตนเอง หรือใช้ให้คนอื่นฆ่า กรณีนี้ คือ พระภิกษุมีเจตนาตั้งใจที่จะฆ่าอยู่แล้ว เช่น คิดและมีการวางแผนฆ่าให้ตาย เมื่อไม่ตายก็พยายามแล้วพยายามอีกจนเสียชีวิต
อาบัติข้อที่ 4. พูดอวดคุณวิเศษ ในที่นี้หมายภูมิธรรม อาทิ ไม่ได้เป็นพระโสดาบัน แต่กลับอ้างตัวว่า บรรลุฌานสมาบัติ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การจะต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาและการกระทำของพระภิกษุเป็นเกณฑ์ โดยปกติแล้วจะมีการวินิจฉัยเป็นรายกรณีไป โดยอาจมีการยกเว้นแก่พระสงฆ์ที่กระทำการนั้นโดยไม่รู้ตัว มีจิตฟุ้งซ่าน หรือเป็นบ้า
สำหรับคดีตัวอย่างอันโด่งดังของพระภิกษุสงฆ์ที่อาบัติปาราชิก และถูกเรียกว่า สมี นั้น พบว่า เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ได้แก่ กรณีของ อดีตพระยันตระ อมโรภิกขุ (พระวินัย อมโร) หรือ นายวินัย ละอองสุวร พระสงฆ์นักปฏิบัติธรรมชื่อดัง ที่ขณะนั้นมีผู้คนให้ความศรัทธามากมาย ซึ่งในเวลาต่อมา อดีตพระยันตระ ได้ถูกฟ้องร้องหลายข้อหา ทั้งล่อลวงสีกาเพื่อเสพเมถุน ประพฤติตัวไม่สำรวม และพบหลักฐานว่า มีการใช้จ่ายเงินในสถานบริการทางเพศซึ่งตั้งอยู่ในต่างประเทศ
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2537 อดีตพระยันตระได้ถูกมติมหาเถรสมาคมพิจารณาให้พ้นจากความเป็นพระภิกษุ แต่เจ้าตัวไม่ยอมรับมติสงฆ์ดังกล่าว ซ้ำยังพูดวิพากษ์วิจารณ์ก้าวล่วงถึงขั้นหมิ่นองค์สมเด็จพระสังฆราช ก่อนลักลอบทำหนังสือเดินทางปลอมหลบหนีออกจากประเทศไทย ทำให้ต้องหลบหนีไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน และถูกสื่อมวลชนเรียกขานว่า "สมียันตระ" หรือเรียกแบบเหน็บ ๆ ว่า "สมียันดะ"
จากคดีตัวอย่างในข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมของอดีตพระยันตระและสมีคำนั้น มีความคล้ายคลึงกันในหลายด้าน ซึ่งล้วนตรงตามเกณฑ์ในการอาบัติปาราชิก ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุให้สื่อมวลชนเรียกขานเณรคำที่ถูกตัดสินพ้นจากสภาพพระภิกษุไปแล้วว่า สมีคำ นั่นเอง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
-http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TVRJMU1qUTVORE13T0E9PQ==§ionid=Y25Wd1lXbHRiMlJs&day=TWpBd01TMHhNUzB3TlE9PQ==-
-http://www.komchadluek.net/detail/20130716/163520/%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B0.html#.UeqKE20h-AJ-
ปาราชิก
-http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TVRJMU1qUTVORE13T0E9PQ==§ionid=Y25Wd1lXbHRiMlJs&day=TWpBd01TMHhNUzB3TlE9PQ==-
คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
โดย น้าชาติ ประชาชื่น, nachart@yahoo.com
สวัสดีครับ น้าชาติ
ผมอยากทราบว่าพระสงฆ์ทำผิดอย่างไรจึงเรียกว่า "อาบัติ" และทำผิดอย่างไรจึงเรียกว่า "ปาราชิก" รบกวนน้าชาติอธิบายให้เข้าใจด้วย
/พีระ
ตอบ-พีระ
คำตอบนี้โต๊ะพระของข่าวสดให้มาละเอียดทีเดียว
อาบัติ แปลว่า ต้อง ถูกต้อง หมายถึง ข้อบัญญัติวินัยสำหรับป้องกันความประพฤติของพระภิกษุให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรมอันดีงาม อาบัติแต่ละข้อพระพุทธเจ้าจะทรงบัญญัติตามคำแนะนำและติเตียนของชาวบ้านที่ได้พบเห็นและรู้เรื่องราวความประพฤติของพระ แล้วนำไปฟ้องร้องให้พระพุทธเจ้าทรงรับรู้ ในฐานะพระศาสดา
พระพุทธองค์จะทรงวินิจฉัยและตรากฎบัญญัติหรืออาบัติขึ้นตามเหตุการณ์บ้านเมืองสมัยนั้น ซึ่งมีทั้งหมด 227 ข้อ ประกอบด้วย ปาราชิก 4 สังฆาทิเสส 13 อนิยต 2 นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ 30 ปาจิตตีย์ 92
นอกจากนี้ยังมี ปาฏิเทสนียะ เสขิย ปกิณณกะ อธิกรณสมถะอีกด้วย
อาบัติตั้งแต่สังฆาทิเสสลงมา พระภิกษุที่ถูกต้องแล้วยังไม่จัดว่าพ้นจากความเป็นพระ เฉพาะอาบัติสังฆาทิเสสถือว่าเป็นอาบัติหนัก พระภิกษุที่ต้องแล้วต้องอยู่กรรมจึงจะพ้นผิด ส่วนอาบัติอื่นๆ นั้นพระภิกษุที่ต้องกล่าวแสดงต่อหน้าพระภิกษุให้รับทราบก็จะสามารถพ้นจากอาบัติได้
สำหรับอาบัติปาราชิกนั้น จัดว่าเป็นอาบัติหนักที่สุดซึ่งเมื่อพระภิกษุต้องอาบัตินี้แล้วต้องขาดจากความเป็นพระทันที แม้จะไม่ยอมสึกออกจากการเป็นพระ หรือต้องอาบัติแล้วจะไม่สึกยอมออกไปก็ถือว่าขาดจากการเป็นพระทันทีที่ต้องอาบัติ ทางพระวินัยถือว่าไม่สามารถร่วมสังวาสกับพระภิกษุสงฆ์ได้ด้วย และไม่สามารถบวชเป็นพระได้อีกต่อไป
พระพุทธเจ้าทรงเปรียบพระภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกว่าเป็นเหมือนต้นตาลยอดด้วน ไม่สามารถออกดอกผลได้อีกต่อไป เท่ากับว่าไม่สามารถเจริญงอกงามในพระธรรมวินัยในบวรพระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในฐานะพระภิกษุได้อีก
อาบัติปาราชิก มีอยู่ 4 ข้อ คือ 1.เสพเมถุน 2.ลักขโมย 3.ฆ่ามนุษย์ให้ตาย 4.อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตัวให้ปรากฏ
อาบัติข้อที่ 1.เสพเมถุน กรณีที่พระภิกษุเสพสังวาสกับสตรีหรือแม้แต่เดรัจฉานเพศเมีย ถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที แม้จะอยู่ในผ้าเหลืองหรือไม่ก็ตาม ถือว่าขาดจากการเป็นพระขณะที่สำเร็จกิจ
สำหรับพระภิกษุที่เป็นต้นบัญญัติ ทำโดยไม่รู้ตัวกรณีถูกบังคับ มีจิตฟุ้งซ่าน เป็นบ้า ไม่รู้ตัวว่าทำอะไรลงไป และไม่มีเจตนาถือว่าไม่ต้องอาบัติ ภิกษุต้นบัญญัติ ชื่อพระสุทิน ชาวเมืองเวสาลี
อาบัติข้อที่ 2 ลักขโมย เมื่อมีเจตนาลักขโมยของที่เจ้าของไม่ได้อนุญาตด้วยจิตที่จะลัก ซึ่งพระวินัยกำหนดไว้ คือ ราคา 1 มาสก หรือ 1 บาทขึ้นไป (ราคาสิ่งของในสมัยนั้น) ภิกษุที่เป็นต้นบัญญัติชื่อพระธนิยะ ได้ขโมยไม้หลวง
อาบัติข้อที่ 3 ฆ่ามนุษย์ให้ตายด้วยตนเอง หรือใช้ให้คนอื่นฆ่า กรณีนี้ก็เช่นกัน คือพระภิกษุมีเจตนาอยู่แล้ว ตั้งใจที่จะฆ่า เช่น คิด และมีการวางแผน ฆ่าให้ตาย เมื่อไม่ตายก็พยายามแล้วพยายามอีกจนเสียชีวิต ถือว่าขาดจากการเป็นพระทันที กรณีที่ไม่มีเจตนาไม่ถือว่าต้องอาบัติ
อาบัติข้อที่ 4 พูดอวดคุณวิเศษ ในที่นี้หมายภูมิธรรม อาทิ ไม่ได้เป็นพระโสดาบันอ้างตัวว่าบรรลุฌาน สมาบัติ พระโสดาบัน เป็นต้น ถือว่า พ้นจากความเป็นพระภิกษุทันที ยกเว้น สำคัญผิดคิดว่าตนเองบรรลุ มิได้ประสงค์จะโอ้อวด ภิกษุบ้า มีจิตฟุ้งซ่าน ไม่รู้สึกตัว และพระที่เป็นต้นบัญญัติ
การจะต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาและการกระทำของพระภิกษุเป็นเกณฑ์ พระพุทธองค์ได้ทรงวินิจฉัยเป็นกรณีๆไป